ข้อมูลจากกรมสุขภาพจิตระบุว่า ในปี 2560 คนไทยฆ่าตัวตายสำเร็จ 3,934 คน คิดแล้วเฉลี่ยประมาณ 300-400 คนต่อเดือน หรือเท่ากับ 1 คน ในทุกๆ 2 ชั่วโมง ขณะที่มีคนไทยอีกมากกว่า 50,000 คน พยายามฆ่าตัวตายแต่ทำไม่สำเร็จ

คนที่ฆ่าตัวตายและพยายามฆ่าตัวตายมีตั้งแต่เด็กนักเรียนไปจนถึงผู้สูงอายุ ยกตัวอย่างเช่น เมื่อวันที่ 20 ก.ย. ที่ จ.อุทัยธานี นักเรียนหญิง อายุ 16 ปี เดินลงสระน้ำฆ่าตัวตาย ย้อนกลับไปไม่กี่วัน ที่ จ.บุรีรัมย์ ดาบตำรวจ อายุ 50 ปี ใช้อาวุธปืนประจำตัวยิงตัวตาย หรือกรณีที่เป็นข่าวดังเมื่อสัปดาห์ก่อน ‘เก๋ เลเดอเรอร์’ นางแบบเซ็กซี่กินยาฆ่าหญ้าแล้วกระโดดตึกฆ่าตัวตาย จะเห็นว่ามีรายงานข่าวการฆ่าตัวตายเกือบทุกวัน แต่ในความเป็นจริงยังมีเหตุฆ่าตัวตายอีกจำนวนมากที่ไม่เป็นข่าว
แพทย์ระบุว่า คนส่วนใหญ่มักฆ่าตัวตายด้วย 3 สาเหตุหลัก คือ 1. มีปัญหาด้านความสัมพันธ์กับครอบครัว คนรัก คนรอบข้าง 2. เจ็บป่วยเรื้อรัง 3. มีปัญหาทางเศรษฐกิจ และร้อยละ 15 ของคนที่พยายามฆ่าตัวตาย มีโอกาสจะพยายามฆ่าตัวตายซ้ำภายใน 1 ปี
อย่างไรก็ตาม ครอบครัวและคนรอบข้างสามารถสังเกตอาการของคนที่เสี่ยงจะฆ่าตัวตายได้ เช่น มีพฤติกรรมเปลี่ยนไปจากปกติ เก็บตัว ท้อแท้หมดหวัง ตำหนิตัวเอง พูดว่าอยากตาย หรือพูดสั่งเสีย เหล่านี้เป็นสัญญาณเตือน ซึ่งคนใกล้ชิดสามารถช่วยได้โดยการพูดคุยและ ‘รับฟัง’ ปัญหาของพวกเขา แต่หากสังเกตว่าอาการไม่ดีขึ้นควรพาไปพบแพทย์
ติดตามข่าวที่น่าสนใจได้ที่ workpointnews.com
Facebook / facebook.com/WorkpointNews/
Instagram / instagram.com/workpointnews/
Twitter / twitter.com/WorkpointShorts