หลังจากที่พายุโซนร้อนปาบึกพัดผ่านภาคใต้ของประเทศไทย ซึ่งแม้จะมีการอพยพประชาชนจากพื้นที่เสี่ยงเพื่อดูแลด้านความปลอดภัย แต่ผลกระทบต่ออาคารและภาคธุรกิจ จากการประเมินยังมีสูงมาก
วันที่ 6 ม.ค. นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวภายหลังการประชุมฉุกเฉินกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อเยียวยาผู้ประกอบการโรงงาน ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี และวิสาหกิจชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากพายุปาบึก ใน 4 จังหวัด คือ นครศรีธรรมราช, ปัตตานี, สุราษฎร์ธานี และสงขลา พบมีโรงงานได้รับผลกระทบเกือบ 2,000 แห่ง ประเมินความเสียหายเบื้องต้น 200 ล้านบาทแต่คาดว่าตัวเลขความเสียหายน่าจะสูงขึ้นโดยส่วนใหญ่เป็นเอสเอ็มอีกว่าร้อยละ 95
สำหรับมาตรการที่จะช่วยเหลือจะมีทั้ง การสนับสนุนการทำความสะอาดโรงงาน เครื่องจักร ตรวจเช็กรถยนต์ รถจักรยานยนต์ และจะยกเว้นค่าธรรมเนียมรายปี 5 ปีให้โรงงานที่ได้รับความเสียหาย
ส่วนมาตรการทางการเงิน ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (เอสเอ็มอีแบงก์) จะพักชำระหนี้ให้ลูกค้า 3,200 ล้านบาท และมีวงเงินเพิ่มให้อีกรายละ 1-5 ล้านบาท คิดดอกเบี้ยร้อยละ 0.415 ต่อเดือน ขณะที่กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม มีวงเงินฉุกเฉิน 50,000 – 200,000 บาทต่อราย คิดดอกเบี้ยร้อยละ 1 ต่อปี จากเดิมร้อยละ 4 เตรียมวงเงินไว้ 30 ล้านบาท ในส่วนของกองทุนฟื้นฟูเอสเอ็มอีจากสสว. มีมาตรการยืดชำระหนี้ออกไปนาน 6 เดือน เป็นต้น
นอกจากนี้จะดูแลด้านการตลาดด้วยการช่วยเหลือทั้งช่องทางการตลาดปกติและออนไลน์ เพื่อให้ผู้ประกอบการกลับมาจำหน่ายสินค้าและบริการได้
“ทุกมาตรการจะลงมือ “ทำทันที” โดยมุ่งซ่อมสร้างฟื้นฟูคืนความเป็นอยู่ปกติให้เร็วที่สุดแก่พี่น้องประชาชนและผู้ประกอบการทุกระดับตั้งแต่โรงงานไปจนถึงเอสเอ็มอีคนตัวเล็กและวิสาหกิจชุมชน ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะเดินเครื่องนำมาตรการเหล่านี้ลงไปช่วยเหลือให้ถึงมือแก่ผู้ประสบภัยในทุกพื้นที่โดยเร็วและรายงานผลให้ผมทราบเป็นระยะ โดยงานนี้ผมได้มอบหมายให้ท่านปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมเป็นแม่งานใหญ่นำพาความปรารถนาดีและความห่วงใยจากกระทรวงอุตสาหกรรมไปช่วยเหลือแก่พี่น้องและผู้ประกอบการชาวใต้ทุกคน” นายอุตตมกล่าว