
พ.ต.อ.ชาคริต สวัสดี รองผู้บังคับการกองปราบปราม
รอง ผบก.กองปราบ ยันออกหมายเรียกผู้เกี่ยวข้องอีก 8 คน รับทราบข้อกล่าวหาและชี้แจงที่มาทรัพย์สินและหุ้นเชื่อมโยงบูม บิทคอยน์ หากไม่มาพบพนักงานสอบสวนก็จะดำเนินการออกหมายจับทันที
วันที่ 17 ส.ค. 2561 พ.ต.อ.ชาคริต สวัสดี รองผู้บังคับการกองปราบปราม (รอง ผบก.ป.) กล่าวถึงความคืบหน้ากรณีออกหมายเรียกผู้ที่เกี่ยวข้องกับคดีโกงเงินบิตคอยน์ว่า พนักงานสอบสวนจะนำหมายเรียกไปส่งให้ผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหมด 8 คน มาชี้แจงข้อมูลและรับมนาบข้อกล่าวหา โดยผู้ที่ถูกออกหมายเรียกครั้งนี้แบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ
กลุ่มแรก 5 คน พนักงานสอบสวนมีพยานหลักฐานชัดเจน และพร้อมจะแจ้งข้อกล่าวหาในข้อหา ฉ้อโกงทรัพย์ ประกอบด้วย 1.นายจิรัชพิสิษฐ์ จารวิจิต หรือบูม ดารานักแสดงหนุ่ม, 2.นายปริญญา จารวิจิต พี่ชายของนายบูม, 3.นายธนสิทธิ์ จารวิจิต น้องของนายปริญญา, 4.นายชาคริส อาห์มัด ผู้ถือหุ้นใหญ่ บริษัท เอ็กเปย์ จำกัด และ 5.นายประสิทธิ์ ศรีสุวรรณ เจ้าพ่อตลาดหุ้นเมืองไทย โดยให้ทั้ง 5 คน ต้องเข้าพบพนักงานสอบสวนวันที่ 28-29 ส.ค.นี้ ส่วนกรณีนายปริญญา ที่ยังหลบหนีอยู่ต่างประเทศก็ต้องออกหมายเรียกไปตามขั้นตอน หากไม่มาพบพนักงานสอบสวนก็จะดำเนินการออกหมายจับทันที
กลุ่มที่สอง 3 คน เป็นกลุ่มที่จะต้องเรียกมาสอบปากคำก่อน คือ นางเลิศฉัตรกมล และนายสุวิทย์ จารวิจิตร พ่อแม่ของนายบูม ที่รับโอนเงินเข้าบัญชี 90 ล้านบาท ให้เข้ามาให้ปากคำในวันที่ 27 ส.ค.นี้ และนายธรรมนัส พรหมเผ่า ที่รับโอนหุ้นจากพี่ชายบูม จะต้องชี้แจงที่มาของทรัพย์สินและหุ้นว่าได้มาโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ในวันที่ 28 ส.ค.นี้ หากไม่สามารถชี้แจงได้ ก็จะเข้าข่ายความผิดฐานฟอกเงินเช่นกัน
‘บิทคอยน์’ ผิดกฎหมายไทยหรือไม่
เมื่อเดือนมิถุนายน 2561 สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ได้ออกมาให้ความชัดเจนว่า สามารถซื้อ-ขายแลกเปลี่ยนสินทรัพย์ดิจิทัลในไทยได้อย่างถูกกฎหมาย ภายใต้พระราชกำหนด (พ.ร.ก.) การประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล พ.ศ. 2561 โดยต้องผ่าน 7 สกุลเงินดิจิทัลที่กำหนดเท่านั้น ซึ่งบิทคอยน์เองก็เป็นหนึ่งในนั้น
สำหรับ บิทคอยน์ (Bitcoin) ถูกคิดค้นมาตั้งแต่ปี 2552 เป็นสกุลเงินสมมติที่ถูกสร้างขึ้นในรูปแบบดิจิทัล เพื่อเป็นตัวกลางในการแลกเปลี่ยนสินค้าและบริการ โดยไม่ขึ้นกับสกุลเงินใด ๆ ไม่มีรูปร่างและไม่สามารถจับต้องได้เหมือนธนบัตรหรือเหรียญทั่วไป บิทคอนย์เริ่มมาเป็นกระแสในเมืองไทย จากกรณีที่มีกลุ่มแฮกเกอร์ไปปล่อยไวรัสเรียกค่าไถ่ “WannaCry” เรียกเก็บเงินกับผู้ที่ติดไวรัสเป็นสกุลเงินบิทคอยน์ ทำให้สกุลเงินนี้เป็นที่พูดถึงกันอย่างมาก และกลายเป็นช่องทางที่ทำให้หลายๆ คนสบโอกาสในการทำกำไร โดยการลงทุนในบิทคอยน์ซึ่งสามารถแบ่งได้เป็น 2 วิธีหลัก ๆ คือ
- การขุด (Mining) อธิบายง่าย ๆ ก็คล้าย ๆ กับการที่เราเข้าไปขุดทองในเหมือง แต่แค่เปลี่ยนรูปแบบมาทำในระบบคอมพิวเตอร์แทน โดยจะต้องนำคอมพิวเตอร์ของเราไปเป็นเซิร์ฟเวอร์ให้ระบบบิทคอยน์ใช้ในการเก็บธุรกรรมต่าง ๆ จึงจะได้รับค่าตอบแทนคือเงินบิทคอยน์ แต่การจะได้ค่าตอบแทนนั้นจะต้องแก้ไขสมการทางคณิตศาสตร์ให้ได้ ซึ่งต้องแข่งกับคนอื่น ถ้าทำสำเร็จเราก็จะเป็นเจ้าของบิทคอยน์ที่เกิดขึ้นมาใหม่
- เทรดด้วยสกุลเงินอื่น เราสามารถนำเงินสกุลอื่นๆ ที่ได้รับการยอมรับไปแลกเพื่อเก็งกำไรมูลค่าของบิทคอยน์ได้จากนักขุด โดยมีร้านรับแลกแบบออนไลน์เกิดขึ้นมากมาย ที่ทำหน้าที่เสมือนธนาคาร อัตราแลกเปลี่ยนจะขึ้นกับกลไกลการตลาดกำหนด
มูลค่าของบิทคอยน์เปลี่ยนแปลงตลอดเวลาตามกลไกตลาด ช่วงไหนที่ความต้องการบิทคอยน์ มีมากกว่าปริมาณบิทคอยน์ที่มีในระบบจะส่งผลให้มูลค่าบิทคอยน์เพิ่มขึ้น เช่น ในช่วงที่มัลแวร์เรียกค่าไถ่ด้วยเงินบิทคอยน์ กลับกันหากบิทคอยน์ในระบบมีมากเกินความต้องก็จะทำให้มูลค่าลดลง
อ้างอิงข้อมูลจาก ธนาคารแห่งประเทศไทย