Advertisement

SHARE

คัดลอกแล้ว

ในปัจจุบันนี้ งานวิจัยไม่ต้องเหนื่อยทำเองอีกแล้ว เมื่อมี “การช็อปปิ้งงานวิจัย” จ่ายเงินปั๊บ ได้ชื่อเป็นคนเขียนทันที ซึ่งแน่นอนว่าผิดจริยธรรม และจรรยาบรรณของนักวิชาการอย่างร้ายแรง เรื่องนี้ ส่งผลกระทบหลายอย่างกับประเทศ สำนักข่าว TODAY จะสรุปทุกอย่างให้เข้าใจง่ายที่สุดใน 14 ข้อ

1) สำหรับนักวิชาการ หรืออาจารย์มหาวิทยาลัย “งานวิจัย” มีความหมายอย่างมาก เพราะมันจะช่วยสร้างชื่อเสียงและเพิ่มรายได้ ให้กับอาจารย์คนนั้น

ตัวอย่างเช่นถ้าอาจารย์คนหนึ่งมี “ตำแหน่งทางวิชาการ” พ่วงเข้าไปด้วย จะมีรายได้เพิ่มจากเงินเดือนปกติ ประกาศจากมหาวิทยาลัยกรุงเทพ ระบุว่า ถ้ามีตำแหน่ง ผู้ช่วยศาสตราจารย์ (ผศ.) จะได้รับเงินเดือนเพิ่ม 9,000 บาท , ถ้ามีตำแหน่งรองศาสตราจารย์ (รศ.) จะได้รับเงินเดือนเพิ่มขึ้น 16,000 บาท และ ถ้ามีตำแหน่งเป็นศาสตราจารย์ (ศ.) จะได้รับเงินเดือนเพิ่มขึ้น 30,000 บาทหรือประกาศจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จะได้เงินประจำตำแหน่งทางวิชาการ ถ้าเป็นผู้ช่วยศาสตราจารย์ จะได้เงินเพิ่ม 5,600 บาท, รองศาสตราจารย์ จะได้เพิ่ม 9,900 บาท และ ศาสตราจารย์ จะได้เพิ่ม 15,600 บาท เป็นต้น

ตำแหน่ง ผศ. – รศ. – ศ. เหล่านี้ ถ้าได้รับมาแล้ว จะอยู่ติดตัวอาจารย์คนดังกล่าวไปตลอด ต่อให้ย้ายไปทำงานที่สถาบันไหน ก็จะได้เงินเดือน บวกกับค่าตำแหน่งวิชาการนี้

2) การได้มาซึ่งตำแหน่งทางวิชาการเหล่านี้ ราชกิจจานุเบกษาระบุว่า อาจารย์ที่ยื่นขอตำแหน่ง นอกจากต้องมีประสบการณ์การสอนแล้ว ยังต้องมี “ผลงานการวิจัย” ด้วย โดยผู้ขอ ต้องเป็นผู้ประพันธ์อันดับแรก (First Author) คือในงานวิจัย 1 ฉบับ อาจมีคนช่วยทำกันหลายคนได้ แต่คนที่จะมายื่นขอตำแหน่ง ต้องเป็นผู้วิจัยหลักของงานชิ้นนั้น

การที่ได้ตำแหน่ง ทางวิชาการ จะช่วยเพิ่มความน่าเชื่อถือของอาจารย์คนดังกล่าวให้มีระดับที่สูงขึ้น ซึ่งตำแหน่งพวกนี้ สามารถนำไปต่อยอดในชีวิตประจำวัน ทำรายได้เพิ่มได้อีกหลายทาง

3) สำหรับในไทยนั้น คุณค่าของงานวิจัย นอกเหนือจากจะเอาไปยื่นขอตำแหน่งแล้ว ยังสามารถเอาไป “ของบ” จากมหาวิทยาลัยต่างๆ ได้อีกด้วย อธิบายคือ สถาบันต่างๆ ในประเทศไทยพร้อมสนับสนุนให้นักวิชาการ ออกงานวิจัย ออกเปเปอร์ใหม่ๆ เพื่อนำมาใช้พัฒนาสังคมในอนาคต ดังนั้นงานวิจัยบางอย่าง สามารถขอทุนในการผลิต ได้ถึง 100,000 – 120,000 บาท ต่อหนึ่งชิ้นงานเลยทีเดียว

นอกจากนั้น งานวิจัยบางชิ้น ถ้าถูกนำไปตีพิมพ์จาก Journal ของต่างประเทศ อาจารย์คนดังกล่าวอาจได้รางวัลพิเศษ จากภาควิชาและจากคณะเป็นเงินก้อนใหญ่อีก รวมแล้วอาจสูงถึง 60,000 บาท ยิ่งไปกว่านั้น เมื่อมีงานวิจัยในระดับคุณภาพสูงถูกตีพิมพ์แล้วล่ะก็ ก็เปรียบเสมือนอาจารย์คนดังกล่าว ได้คะแนน KPI ประจำปีที่สูงขึ้น เป็นหนึ่งปัจจัยที่จะพิจารณาในการเพิ่มเงินเดือนให้ด้วย

ดังนั้น สำหรับอาจารย์มหาวิทยาลัย และนักวิชาการ จึงให้ความสำคัญกับงานวิจัยเป็นอย่างมาก ส่วนหนึ่งเพื่อพัฒนาความรู้ของตัวเองให้เก่งขึ้น และอีกส่วน มันเป็นกุญแจสำคัญในการสร้างรายได้ให้เพิ่มขึ้นจากที่ได้รับโดยปกติ

4) ประเด็นที่เป็นข่าวใหญ่ตอนนี้ จริงๆ เกิดขึ้นตั้งแต่วันที่ 19 ตุลาคม 2022 เมื่อเว็บไซต์ For Better Science มีการแฉว่า ปัจจุบันมีการ “ช็อปปิ้ง” งานวิจัยเกิดขึ้น กล่าวคือจะมีเว็บต่างประเทศ ที่มีคนทำงานวิจัยไว้เสร็จสมบูรณ์แล้วในหัวข้อต่างๆ ถ้าหากอาจารย์ท่านไหนของประเทศอะไร อยากได้งานวิจัยแบบไหน ก็เข้ามาดูหัวข้อ แล้วจ่ายเงินซื้อได้เลย

โดยราคาก็มีหลากหลายกันไป เช่น ถ้าเป็น First Author ราคาจะแพงหน่อย (900 ดอลลาร์สหรัฐฯ) ถ้าเป็นนักวิจัยลำดับรองๆ ลงมา ก็ราคาถูกลง และทันทีที่จ่ายเงินเสร็จสมบูรณ์ งานวิจัยชิ้นนั้น ก็พร้อมเสิร์ฟ สามารถตีพิมพ์ในชื่อของอาจารย์ผู้จ่ายเงินทันที

นี่เป็นข่าวที่น่าตกใจมาก เพราะแปลว่า งานวิจัยเดี๋ยวนี้ ไม่ต้องลงพื้นที่ ไม่ต้องหากลุ่มตัวอย่างใดๆ ทั้งสิ้น แค่จ่ายเงินก็จบ ได้ชื่อเอามาประดับไว้ง่ายๆ แบบนั้น ซึ่งคนที่มีงานวิจัยเป็นของตัวเอง สามารถเอางานวิจัยไปขอตำแหน่งทางวิชาการได้เลย

5) ตอนแรกน่าตกใจ แต่ยังไกลตัว แต่พอวันที่ 7 มกราคม 2023 ดร.อนันต์ จงแก้ววัฒนา นักไวรัสวิทยาจากสถาบันไบโอเทค ของสวทช. เปิดเผยว่า มี “อาจารย์ชาวไทย” ที่เกี่ยวข้องกับการซื้องานวิจัยด้วย อย่างน้อย 2 คน จึงเป็นเรื่องที่สะเทือนวงการวิชาการทันที

เอกสารที่ ดร.อนันต์ นำมาเปิดเผยนั้น อ้างอิงถึง อาจารย์ 2 คน คนแรกได้แก่ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. สุภัทร ชูประดิษฐ์ อาจารย์ประจำภาควิชากิจกรรมบำบัด คณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ส่วนคนที่สองคือ นายวานิช สุขสถาน อาจารย์ประจำคณะพยาบาลศาสตร์วิทยาลัยวิทยาศาสตร์การแพทย์เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์

ทั้งสองคน ได้ร่วมกันทำงานวิจัยเกี่ยวกับ “วัสดุนาโน” ทั้งๆ ที่สาขาที่เรียนมา ไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรกับนาโนเลย โดยในงานวิจัยดังกล่าว นอกจากนักวิชาการไทยแล้ว ยังมีนักวิชาการซาอุดีอาระเบีย, อิรัก, อินเดีย และ อิหร่าน ร่วมมือกันทำวิจัยฉบับนี้ คำถามคือ พวกเขาได้ร่วมมือกันจริงๆ หรือต่างคนต่างจ่ายเงิน จนได้มีชื่อร่วม ว่าเป็นผู้วิจัยกันทั้งหมด

6) นี่เป็นเรื่องใหญ่มากๆ ในประเทศไทย เพราะถ้าคุณไม่ได้วิจัยเอง คุณจะไปสอนนักศึกษาอย่างไรว่าให้ซื่อตรงต่อหน้าที่ นอกจากนั้นการไม่ได้วิจัยเอง ก็ไม่ได้ช่วยเพิ่มให้องค์ความรู้ของประเทศเพิ่มขึ้นด้วย

นอกจากนั้นยังเป็นช่องทางในการหารายได้พิเศษให้ตัวเองอีกต่างหาก รศ.ดร.วีรชัย พุทธวงศ์ จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์เล่าว่า “อาจารย์จากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่คนหนึ่ง ไปตีพิมพ์ในเรื่องวัสดุนาโน โดยจ่ายค่าตีพิมพ์ไป 30,000 บาท ทั้งๆ ที่ตัวเองอยู่ในสายงานเทคนิคการแพทย์ แล้วเอาบทความที่ตีพิมพ์มาเบิกกับมหาวิทยาลัยเป็นจำนวน 120,000 บาท” เท่ากับว่า ถ้าเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นจริง อาจารย์จากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ที่โดนอ้างถึง จะทำเงินได้เปเปอร์ละ 90,000 บาทเลยทีเดียว

7) สำหรับ ผศ.ดร. สุภัทร ที่เป็นข่าวนั้น เมื่อดูประวัติการตีพิมพ์บทความภาษาอังกฤษแล้ว จะพบว่า มีงานวิจัยเกี่ยวกับคริปโตเคอร์เรนซี่, การรักษามะเร็งเต้านม, เศรษฐศาสตร์การเงิน เรียกได้ว่า ความรู้กระจัดกระจายมาก ถ้าหากไม่มีความรู้แบบพหูสูตรู้รอบด้านจริงๆ ก็อาจมีส่วนพัวพันกับธุรกิจการซื้องานวิจัย

8) ล่าสุดมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ออกแถลงการณ์ว่า “ถือเป็นเรื่องด่วนที่ต้องดำเนินการอย่างจริงจัง ได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการสอบวินัยร้ายแรง เพื่อดำเนินการทางวินัยกับบุคคลดังกล่าว มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ขอยืนยันที่จะดำเนินการในเรื่องดังกล่าว ตามหลักธรรมาภิบาล และคุณธรรมทางวิชาการต่อไป”

9) ขณะที่กรณีของ อาจารย์วานิช สุขสถานนั้น เว็บไซต์ Loop Frontiersin ระบุว่า ในรอบปี 2022 ที่ผ่านมา อาจารย์วานิช มีงานวิจัยทั้งหมด 23 ผลงาน หรือเฉลี่ยทำเดือนละ 2 ชิ้น และแต่ละชิ้น ก็มีความรู้ที่กระจัดกระจายมาก เช่น “ศึกษาไลฟ์สไตล์ และการควบคุมอาหารของเด็กอายุ 2-18 ปี ในประเทศอิหร่าน” หรือ “ศึกษาคุณภาพของผลิตภัณฑ์ที่ทำจากปลา ด้วยเทคนิคการเก็บรักษาที่แตกต่างกัน” แต่ ณ เวลานี้ ยังไม่มีการออกมาเทกแอ็กชั่นของผู้เกี่ยวข้องแต่อย่างใด

10) นี่คือเรื่องใหญ่มากของวงการวิชาการ เพราะเป็นการตบหน้า อาจารย์และนักศึกษาที่ใช้เวลาทำงานของตัวเองตามขั้นตอน กลายเป็นว่าขอแค่คุณมีเงินซื้อ ไม่ต้องทดลองอะไรเอง ก็สามารถได้รับคำชื่นชมจากสังคม และ เงินทองมากมาย ทั้งๆ ที่ตัวเองไม่ได้ทำงานชิ้นนั้นจริงด้วยซ้ำ

11) ในเรื่องนี้ ส่งผลเสียหายต่อภาพลักษณ์ของสถาบันการศึกษาไทย ว่าอาจารย์ยังสามารถใช้เงินซื้องานวิจัยได้ แล้วจะเอาอะไรไปสอนนักศึกษาได้ คนที่เป็นครูบาอาจารย์ ควรเป็นแบบอย่างที่ดีให้ศิษย์ได้เดินตาม ไม่ใช่ ใช้ช่องว่างหาผลประโยชน์ให้ตัวเองในลักษณะนี้

12) สำหรับสถานการณ์ล่าสุด ต้องรอฟังคำอธิบายจาก ผศ.ดร.สุภัทร และ อาจารย์วานิช ว่ามีความเกี่ยวพัน ตามที่โดนอ้างอิงจริงหรือไม่ ขณะที่ ณ เวลานี้ มีการสืบค้นที่มากกว่าเดิม และอาจมีอาจารย์มหาวิทยาลัยมากกว่า 2 คน ในประเทศไทย ที่เคยใช้ “การซื้องานวิจัย” เอามาสร้างประโยชน์ให้ตัวเอง

13) ศ.ดร. เพทาย เย็นจิตโสมนัส อาจารย์จากศิริราช มองลึกลงไปยิ่งกว่าปัญหาตัวบุคคล แต่ระบุว่า เรื่องนี้เป็นปัญหาเชิงโครงสร้างแต่แรกแล้ว เพราะ มหาวิทยาลัยในประเทศไทย อยากมี Ranking สูงๆ ในการจัดอันดับของสถาบันการศึกษาระดับโลก และวิธีที่จะได้ Ranking สูงๆ ก็ต้องมีงานวิจัยเยอะๆ ดังนั้นจึงมีแรงกดดันใส่อาจารย์ผู้สอนให้ออกงานวิจัยบ่อยๆ

“อาจารย์ถูกบังคับให้ทำวิจัยในสภาพที่ขาดแคลนเกือบจะทุกอย่าง และเงินทุนวิจัยก็น้อย เหมือนทหารที่ถูกส่งออกไปแนวหน้าโดยขาดอาวุธยุทโธปกรณ์ แถมผลงานวิจัยยังถูกผูกกับสัญญา และเกี่ยวพันกับการปรับเลื่อนเงินเดือน และตำแหน่งวิชาการอีกด้วย”

“อาจารย์บางคนจึงใช้วิธีลัด คือแทนที่จะทำเอง จึงใช้วิธีซื้อผลงานวิจัย โดยจ่ายเงินเพื่อให้มีชื่อลงไปในเปเปอร์ที่คนอื่นทำได้เลย”

ศ.ดร. เพทายกล่าวว่า ประเทศไทย ไม่ให้ความสำคัญกับเรื่องงานวิจัยแต่แรกอยู่แล้ว อยากให้มีนวัตกรรมใหม่ๆ เยอะๆ แต่ไม่ลงทุนด้าน R&D อย่างเพียงพอ ในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา งบด้านวิจัยยังอยู่เท่าเดิม ที่ 13,000 – 20,000 ล้านบาท ไม่ได้มีการเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ

14) ดังนั้นสุดท้ายแล้ว ปัญหาที่เกิดขึ้นในครั้งนี้ ส่วนหนึ่งก็เป็นเรื่องของตัวบุคคล ที่ทุจริตเอง เลือกทำผิดจริยธรรม แต่อีกส่วนหนึ่งก็เป็นเพราะระบบ ที่ให้คุณค่ากับงานวิจัยจนเกินไป ขอแค่มีงานวิจัยก็จะยกระดับชีวิตได้ จนบางคนต้องทำทุกอย่าง ที่ผิดจรรยาบรรณ เพื่อเอางานวิจัยมาให้ได้

ดังนั้นคงต้องติดตามกันต่อไปว่า เมื่อมี Case Study ที่รุนแรงเกิดขึ้นขนาดนี้แล้ว จะมีการเปลี่ยนแปลงอะไรอย่างเป็นรูปธรรมหรือไม่ เพราะถ้าไม่ ก็อาจมี “การช็อปปิ้งงานวิจัย” เกิดขึ้นเป็นกรณีที่ 3 4 5 6 ต่อไปเรื่อยๆ จนไม่รู้จะไปจบที่ตรงไหน

 

podcast

LATEST
OUR PICKS
HOT
กำลังโหลดบทความถัดไป...

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า