SHARE

คัดลอกแล้ว

14 พฤศจิกายน 2020 – เขาประกาศจะแถลงว่าตอนนี้ “ภาพยนตร์ของประชาชน” เรื่อง 1410 เดินหน้าหรือมีอะไรขยับไปถึงไหนแล้ว

ผมไม่แน่ใจว่ายังเหลือคนสนใจหนังที่พยายามบอกผู้คนฝ่ายประชาธิปไตยว่า “เราคือนายทุน” เรื่องนี้สักกี่มากน้อย และยิ่งไม่แน่ใจหนักว่าการแถลงครั้งนี้จะปรากฏเนื้อหนังเป็นรูปธรรมใดๆ เพิ่มขึ้น นอกจากความพยายามถมอุดช่องโหว่อันเกิดจากพฤติกรรมที่เจ้าของโครงการได้แสดงออกสู่สาธารณะมาโดยตลอด

สว่างจ้าว่าเขาไม่ยอมรับการวิพากษ์วิจารณ์ ผลักไสคำถามแย้งด้วยชุดคำสำเร็จรูปทางการเมือง กดปุ่มบล็อกเสียงที่หงุดหงิดรำคาญใจไปเอง ปิดบัญชีทวิตเตอร์ของโครงการไม่ให้เข้าถึงแบบสาธารณะเมื่อไม่อยากตอบคำถามอีกต่อไป โจมตีว่าร้ายการตรวจสอบตั้งประเด็น และยังล้ำเส้นเลยเถิดไปถึงขั้นเปิดเผยข้อมูลส่วนตัวของอีกฝ่าย ทุกอย่างห่างไกลจากความโปร่งใส ไม่ได้สมดุลกับตัวเลข 100 ล้านบาท ที่ใช้สร้างความฮือฮาเรียกยอด reach ยอด engagement จากประชาชน (และสื่อ) ที่เชื่อว่าพวกเขามีอุดมการณ์เดียวกัน

ก็บอกแล้วมันเป็นสลิ่มแฝงตัวมา” บ้าง “คิดการใหญ่อย่าไปสนใจสลิ่ม” บ้าง “มาดูกันว่าพี่จะจัดการยังไงกับการป่วนของสลิ่มนางนี้” บ้าง ไม่ต้องถึงขั้นรู้จักส่วนตัวหรือเคยเห็นอ่านความคิดทางการเมืองของใครที่ถูกเจ้าของโครงการป้ายสี ก็ควรผิดสังเกตในพฤติกรรมกล่าวหาเหวี่ยงแห เพราะเมื่อถูกสะกิดเตือนหรือมีข้อสนับสนุนชัดเจนว่าหลายคำถามไม่ได้มาจากสลิ่มหรือกองทัพไอโอเผด็จการที่ตั้งใจบิดเบือนก่อกวน เขาก็โบ้ยไปว่า สลิ่มไม่ใช่แค่คนเป่านกหวีด” หรือ “ถึงมึงจะชุบตัวด้วยการเปลี่ยนโปรไฟล์ชูสามนิ้วหรือถ่ายรูปคู่กับหมุดคณะราษฎร์แต่มันก็ไม่มีวันปกปิดความสลิ่มในตัวมึงได้” เพื่อสร้างความชอบธรรมให้การสาดสลิ่มไม่เลือกหน้าของตัวเองกับกลุ่มผู้ยกยอ

บางคนก็คงอยากพูดว่า ต่อให้เคยทำวิดีโอให้พรรคการเมืองฝ่ายประชาธิปไตยตอนช่วงหาเสียงเลือกตั้ง เคยเป็นผู้ร่วมเสวนาในเวทีขั้วตรงข้ามสลิ่ม หรือให้สัมภาษณ์เรื่องการเมืองในรายการสนทนาได้เข้าหูคนฟังที่ต้านเผด็จการ มันก็ไม่มีวันปกปิดความสลิ่มในตัว(คุณ)ได้เหมือนกัน (บางคนใช้คำว่าฟาสซิสต์ด้วยซ้ำ แต่ผมคงไม่ไปถึงขั้นนั้น)

เมื่อมีคนตั้งคำถามถึงความโปร่งใส และประสิทธิภาพของกระบวนการสร้าง ที่ประกาศว่าจะเลือกใช้ (“นายทุน 1 หมื่นคนแรกจะได้มีส่วนร่วมในการเสนอแนวเรื่อง เนื้อหา และคัดเลือกนักแสดงร่วมกับผู้กำกับ”) สมดุลระหว่างตัวเลขทุนสร้างที่เรียกรับกับตัวงานที่ตั้งใจจะสร้าง ทั้งที่ยังไม่มีข้อมูลหรือแผนการในระดับที่สามารถประเมินทุนสร้างได้ใกล้เคียงสถานการณ์จริง (“เมื่อรวบรวมนายทุนครบ 1 ล้านคน หรือโครงการมีเงินจำนวนครบ 100 ล้านบาทสำเร็จ ถึงจะเริ่มการถ่ายทำ”) และการบริหารเงินที่ได้รับสมทบทุนจากประชาชน (หากโครงการต้องสะดุด/พัก/พับ/ล้มไป จะจัดการกับเงินในบัญชีอย่างไร?) แล้วแรงโต้กลับเป็นดังกล่าวข้างต้น ก็ยิ่งผูกมัดเจ้าของพฤติกรรมไว้กับคำถามที่มีเพิ่มเติมมากขึ้นเรื่อยๆ

ไม่ได้ต้องการเอกสารแจกแจงในระดับบัญชีทรัพย์สินผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองหรอก ผมเข้าใจว่ามันยากที่ทุกอย่างจะครบถ้วนกระบวนความได้ในระยะเวลาอันสั้น เพราะตัวโครงการเองก็เกิดขึ้นด้วยความเร็วแบบฉวยกระแส ในจังหวะเวลาที่คนมีชื่อเสียงถูกเรียกร้องให้แสดงออกทางการเมืองเคียงข้างประชาชน เกิดทวีตที่จินตนาการถึงภาพยนตร์ของฝ่ายประชาธิปไตย โดยเสนอชื่อนักแสดงและผู้กำกับเป็นคนดังที่สื่อมวลชนถือกล้องวิ่งไมค์เข้าหาหลังพวกเขาเปิดหน้าพูดเรื่องการเมือง เสียงตอบรับล้นหลามมาพร้อมๆ กับแรงดีดส่งของข่าวตัวแทนบริษัทผู้สร้างภาพยนตร์ไทยเดินตาม ส.ส. พรรคพลังประชารัฐเข้าทำเนียบรัฐบาลเพื่อเสนอนโยบายด้านวัฒนธรรม ในวงสนทนาที่ไม่มีประเด็นเรื่องสิทธิเสรีภาพ

ลำพังคว้าไอเดียมาใช้ แล้วทำ PR stunt เรียกกระแสด้วยการเป็นหนังร้อยล้านพร้อมภาพคนดังในทวีตต้นทาง ทั้งที่ยังไม่ได้สอบถามความสมัครใจของใครเป็นจริงเป็นจัง แล้วอาศัยตามน้ำไปกับความเข้าใจคลาดเคลื่อนของผู้คน (จนหนึ่งในนั้นต้องออกมาพูดว่ายังไม่ได้รับการติดต่อ) ก็สมควรแล้วที่จะเกิดข้อสงสัย ยิ่งเลี่ยงบาลีด้วยวิธีทำเก๋ากลบเกลื่อน ก็ยิ่งกระตุ้นให้ถามต่อว่าประชาธิปไตยในหนังเรื่องนี้จะยังใช่ประชาธิปไตยอย่างเดียวกับที่มวลชนเรียกร้องอยู่หรือเปล่า การชี้แจงตรงไปตรงมาว่าขณะนี้มีอะไรอยู่ในมือแล้วบ้าง หรือบอกกล่าวว่ามีสิ่งใดที่ยังต้องรอพิจารณาเงื่อนไขข้อจำกัดแวดล้อม ไม่ใช่เรื่องยาก ถ้าคิดจะทำ

ต่อให้อ้างว่าหนังขอเงิน “นายทุน” แค่คนละ 100 บาท หรือต่อให้มีนายทุนรุ่น “สิเน่หา” ที่ยินดีสมทบทุนโดยไม่มีเงื่อนไขคำถามใดๆ ก็ไม่ใช่เหตุผลรองรับความชอบธรรมให้ตั้งแง่หรือกล่าวร้ายการตรวจสอบ (ความพยายามกล่าวอ้างเหตุผลนี้ถือเป็นตรรกะวิบัติร้ายแรง เพราะถึงจะไม่ได้รับผิดชอบเงินเป็นแสนเป็นล้านของคนคนเดียว แต่เงินเล็กๆ น้อยๆ ของคนจำนวนมาก สุดท้ายต้องไปกองรวมเป็นแสนเป็นล้านอยู่ที่คุณ)
สำนักข่าวฝ่ายตรงข้ามจ้องรอซ้ำเมื่อเกิดข้อครหา (ทำไปแล้วหนักๆ หลังกรณีระรานละเมิดความเป็นส่วนตัวพร้อมขู่ฟ้อง) และมีผู้ร้องเรียนเรื่องความไม่โปร่งใสเข้าไปถึงสมาคมผู้กำกับภาพยนตร์ไทย ต่อให้ไม่คิดต้องการสถานะ ภาระรับผิดชอบ หรือการตรวจสอบในระดับนี้ ก็สายเกินไปแล้ว ในเมื่อเลือกเดินเข้าหาแสงด้วยเกมนี้เองตั้งแต่ต้น เลือกเองที่จะเป็น “ภาพยนตร์ของประชาชน”

หลายเสียงคงยังไว้ใจ ยุทธเลิศ สิปปภาค เพราะบทสัมภาษณ์ต่างๆ หรือเมื่อย้อนดูหนังเก่าก็อาจสังเกตได้ว่าเขาเคยเล่นสัญญะรหัสสีทางการเมืองไว้ในหนังแอ็คชั่นรวมดารา บางกอกกังฟู (2011), มือปืนดาวพระเสาร์ (2010) ที่จนถึงขณะนี้ก็ยังเป็นหนังไทยฉายโรงเรื่องเดียวที่บันทึกภาพพื้นที่ชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดงในปี 2553 ก่อนถูกทหารสลายการชุมนุมไว้บนจอ และ ดอกฟ้า_หมาแจ๊ส (2017) ก็เป็นหนังไทยฉายโรงเรื่องแรกที่นำเสนอช่วงเวลาเปลี่ยนรัชกาลอย่างชัดเจน แต่หลายเสียงคงเริ่มไม่ไว้ใจเมื่อพิจารณาทัศนคติต่อตัวละครหญิงและเพศหลากหลายในผลงานส่วนใหญ่ บางคนตัดสัมพันธ์ง่ายๆ เพราะไม่เคยคิดว่าเขาทำหนังดีอยู่แล้วตั้งแต่ต้น หรืออีกกลุ่มก็พบว่า ปิตุภูมิ หรือ ราชิดา (2012/2020) ที่ฉายคู่ขนานไปกับการชุมนุมเมื่อวันที่ 19 กันยายน กลับนำเสนอความขัดแย้งในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ได้ตื้นเขินและมีทีท่าสนับสนุนทหารไทย

ขอเอาความจริงง่ายๆ ข้อหนึ่งมาขายคืนสวนมะพร้าว เมื่อความสนใจและอารมณ์ร่วมของกระแสสังคมอาจลดทอนน้ำหนักของความจริงข้อนี้ลงไป – หนังประชาธิปไตยไม่ได้ต้องมีแค่เรื่องเดียว

14 ตุลา สงครามประชาชน (บัณฑิต ฤทธิ์ถกล, 2001) อาจช่วยเสริมภาพด้านหนึ่งให้องค์ความรู้เรื่องคนเดือนตุลาของ กนกรัตน์ เลิศชูสกุล เช่นเดียวกับ 6 ตุลาคม 2519 ในฐานะชะตากรรมของ October Sonata รักที่รอคอย (สมเกียรติ วิทุรานิช, 2009) ในฐานะผีแห่งอดีตของ ลุงบุญมีระลึกชาติ (อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล, 2010) และในฐานะภาพแทนของ ดาวคะนอง (อโนชา สุวิชากรพงศ์, 2016) ความอัดอั้นของคนเสื้อแดง นักเรียนไทย ความเป็นไทยใน ตั้งวง (คงเดช จาตุรันต์รัศมี, 2013) ปากคำประวัติศาสตร์ในปีที่ ประชาธิปไทย (เป็นเอก รัตนเรือง & ภาสกร ประมูลวงศ์, 2013) ต้องดูดเสียง สุลักษณ์ ศิวรักษ์ กับ วรเจตน์ ภาคีรัตน์ ไปจนถึงการสังหารหมู่ราชประสงค์ใน Democracy After Death (เนติ วิเชียรแสน, 2016) ซึ่งฉายขึ้นจอที่สนามหลวงเมื่อวันที่ 19 กันยายน, จินตนาการถึงเมืองไทยในทศวรรษหน้าของ Ten Years Thailand (อาทิตย์ อัสสรัตน์–วิศิษฏ์ ศาสนเที่ยง–จุฬญาณนนท์ ศิริผล–อภิชาติพงศ์ฯ, 2018), Forget Me Not (จุฬญาณนนท์ฯ, 2018) ที่ตีความและต่อเรื่อง “ข้างหลังภาพ” ไปถึงคณะราษฎร, 100 Times Reproduction of Democracy (จุฬญาณนนท์ฯ, 2019) ที่มีหมุดคณะราษฎรเป็นจุดโฟกัส, และการเดินทางของพรรคอนาคตใหม่ใน Breaking the Cycle (เอกพงษ์ สราญเศรษฐ์ & ธนกฤต ดวงมณีพร, ยังไม่มีกำหนดฉาย)

มีอีกพอสมควรที่ไม่ได้กล่าวถึง และมีหนังสั้นหรือหนังลับแลจำนวนมากจากคนทำหนังที่ฝังตัวบันทึกเหตุการณ์และ/หรือมุ่งสะท้อนอุดมการณ์ประชาธิปไตย นับตั้งแต่การชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรฯ ปี 2548 เป็นต้นมาถึงประชาชนปลดแอกกับคณะราษฎร 2563 เพียงแต่ดำรงอยู่อย่างกระจัดกระจายและยังไม่เป็นที่รู้จัก

สถานะเสมือนตัวแทนประชาธิปไตยเพียงหนึ่งเดียวของ 1410 เกิดขึ้นด้วยส่วนผสมระหว่างจังหวะกระแสสังคม และทัศนคติของผู้คนต่อหนังไทยกับการเมือง เมื่ออุตสาหกรรมบันเทิงกระแสหลักยังถือครองภาพจำ (ที่มีสัดส่วนความจริงสูง) ว่าเป็นพื้นที่สนับสนุนคุณค่าฝ่ายจารีตและเชิดชูสภาวะวางเฉยทางการเมือง แม้จะมีคนทำหนังกับศิลปินไทยไม่น้อยที่แสดงตัว สร้างงาน หรือมีส่วนร่วมสนับสนุนประชาธิปไตย ส่วนมากก็ถูกจัดประเภทว่าเป็นกระแสรองหรือชายขอบ

ยุทธเลิศจึงกลายเป็นคนทำหนังไทยกระแสหลักฝ่ายประชาธิปไตยที่เสียงดังเป็นที่จดจำของแนวร่วมขณะนี้มากที่สุด สอดคล้องกับจังหวะที่ ธัญญ์วาริน สุขะพิสิษฐ์ เข้าสภา และบทบาทหน้าสื่อเรื่องการเมืองของ วิศิษฏ์ ศาสนเที่ยง กับ ชูเกียรติ ศักดิ์วีระกุล ลดความเข้มข้นลง ยิ่งกระแสเริ่มต้นพร้อมรายชื่อคนดังที่แนวร่วมรับรอง (มารีญา, ทราย, แอมมี่) และพยายามเข้าหาผู้มีบทบาทในการชุมนุม (ทาบทามดาวปราศรัย มายด์-ภัสราวลี มาร่วมแสดง) ก็ยิ่งตอกย้ำให้รู้สึกถึงความพยายามจะเป็นตัวแทนหรือ “ทางการ” ของมัน

ไม่แปลกและไม่ใช่เรื่องผิดที่หลายปัจจัยจะเกื้อหนุนให้ 1410 ดังที่สุดและได้พื้นที่สื่อมากกว่า แต่ต้องถือเป็นเรื่องเสียโอกาส ถ้าแนวร่วมของการชุมนุมประท้วงที่มีประเด็นและวิธีแสดงออกหลากหลายที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์การเมืองไทย จะรู้จักหรือมอบฉันทามติให้หนังเพียงเรื่องเดียวที่ยังแจกแจงความโปร่งใสของตนเองไม่ได้ ในกรณีของฮ่องกง นับเฉพาะหนังยาวก็มีผลงานที่บันทึกประวัติศาสตร์การเรียกร้องประชาธิปไตยร่วมสมัยแล้วไม่ต่ำกว่า 20-30 เรื่อง ทั้งหนังเล่าเรื่องและสารคดี ทั้งจากคนทำหนังชาวฮ่องกงและต่างชาติ ทั้งดิ้นรนฉายโรงฉายเทศกาลและเผยแพร่ออนไลน์ ไม่มีเหตุผลที่ต้องอดอยากปากแห้งรอ 1410 สร้างเสร็จ เพียงเพื่อให้พูดได้เต็มปากว่ามีหนังไทยที่สนับสนุนประชาธิปไตย หรือเกิดขึ้นได้เพราะมวลชนฝ่ายประชาธิปไตย

หนังสั้นที่กระจัดกระจายออนไลน์อยู่ในขณะนี้อาจทรงพลังยิ่งขึ้น ถ้ามีโต้โผตัวกลางจัดการในรูปแบบเดียวกับ Sunflower Occupation (2014) ซึ่งบันทึกการชุมนุมของขบวนการนักศึกษาทานตะวันผ่านสารคดีขนาดสั้น 9 เรื่องที่เล่าประเด็นแตกต่างหลากหลายในร่มเดียวกัน – คนทำหนังทั้งมืออาชีพและสมัครเล่นที่ฝังตัวอยู่ในการประท้วงอาจรวมตัวกันทำหนังอย่างสารคดีชิลี Propaganda (2014) ที่แจกงานให้คนทำหนังกว่า 20 ชีวิตตระเวนบันทึกภาพแต่ละซอกมุมหลากประเด็นของการเลือกตั้งประธานาธิบดีในปี 2013 ท่ามกลางการชุมนุมประท้วงครั้งใหญ่ของนักศึกษา มาร้อยเรียงเป็นหนึ่งบันทึกประวัติศาสตร์ – หรือหากไม่ต้องการหนังสารคดีก็ยังมี Ten Years ฮ่องกง (2015) เป็นแม่แบบ

สุดท้ายแล้วจะเป็นหนังที่ขอเงินเพื่อนร่วมอุดมการณ์แบบสาธารณะ เข้ากระบวนการยื่นเอกสารขอทุนแบบหนังอิสระ โชคดีได้นายทุนเงินถังที่พร้อมเสี่ยงลงเรือลำเดียวกัน จะเป็นสารคดีดิบสดที่ใช้ภาพเหตุการณ์จริงหรือบทสัมภาษณ์ เป็นหนังย้อนอดีตตีความประวัติศาสตร์ใหม่ เป็นหนังไทยที่มีอยู่แล้วแต่ประชาชนอาจเผลอมองข้ามหรือไม่เคยรู้จักมาก่อน

“หากเป็นผลงานที่มองเห็นประชาธิปไตย ต่อให้จะดิบเกินไป อาร์ตเกินไป สุภาพเกินไป ระแวดระวังตัวเกินไป ปากหมาเกินไป ขี้แซะเกินไป มองแคบเกินไป ก็ล้วนมีสิทธิ์ได้รับประทับตราว่าเป็นภาพยนตร์ของประชาชนทั้งสิ้น – เพราะประชาชนย่อมคิดต่างและตั้งคำถามแย้งได้”

podcast

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า