Advertisement

SHARE

คัดลอกแล้ว

เกมเมอร์และกลุ่มปกป้องสิทธิคนข้ามเพศโต้เถียงกันเรื่องอะไร และการแบนผลงานของเจ. เค. โรว์ลิงจะไปสุดที่ตรงไหน วศินี พบูประภาพ ลองสรุปปรากฏการณ์ทางสังคมนี้ในเวอร์ชันของตนเองดู

วิวาทะระดับโลกรอบล่าสุดคือการโต้เถียงระหว่างแฟนผลงาน Hogwarts Legacy ซึ่งเป็นเกมล่าสุดจากค่ายวอร์เนอร์ บราเธอส์ และ กลุ่มปกป้องสิทธิคนข้ามเพศ (Trans) ซึ่งเชื่อว่าการสนับสนุนดอกผลของงานเจ. เค. โรว์ลิง นักเขียนชื่อก้องโลกเจ้าของผลงาน แฮร์รี่ พอตเตอร์ คือการสนับสนุนแนวคิดของกลุ่มเฟมินิสต์ที่กีดกันคนข้ามเพศ ปรากฏการณ์นี้ยังเป็นประเด็นโต้เถียงในสมรภูมิอินเทอร์เน็ตประเทศไทย โดยหัวใจหลักอยู่ที่การสนับสนุนเกมเป็นการสนับสนุนแนวคิดในทางอ้อมหรือไม่ และเราจะบริโภคอย่างไรหากไม่ต้องการสนับสนุนแนวคิดดังกล่าว

ก่อนจะเข้าใจเรื่องนี้ เราจำเป็นต้องทราบที่มาที่ไปของแนวคิดแต่ละฝ่าย ไม่ว่าจะเป็น กลุ่มปกป้องสิทธิคนข้ามเพศ (Trans) หรือ แนวคิดเฟมินิสต์แบบเจ. เค. โรว์ลิง

ข้อโต้แย้งเรื่องสิทธิคนข้ามเพศ เป็นข้อโต้แย้งใหญ่ในขบวนการเคลื่อนไหวเรื่องเพศ 

แนวคิดเรื่องสิทธิของคนข้ามเพศ หรือ Transperson ก่อร่างสร้างตัวมาพร้อมกับเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่ทำการผ่าตัด ‘เครื่องเพศ’ จากจู๋เป็นจิ๋ม จากจิ๋มเป็นจู๋ได้ แต่ต่อมาแนวคิดเรื่องการ “ข้าม” ขยายออกจากแค่การข้ามด้านอวัยวะเพศ ไปสู่การข้ามในฐานะกระบวนการ (เช่นบางคนอาจไม่อยากเปลี่ยนแปลงอวัยวะเพศ แต่เลือกที่จะกำหนดขอบเขตการ “ข้าม” ของตัวเองไว้แค่อวัยวะบางส่วนหรือฮอร์โมน ทำนองว่าข้ามไปนิด ๆ แต่ไม่ได้อยากมีร่างกายเป็นหญิงเป็นชายไปเสีย 100% เป็นต้น) 

แนวคิดการข้ามเพศยังขยายไปถึงด้านการนิยามตัวตน กล่าวคือ เริ่มมีการนำเสนอแนวคิดให้ยอมรับชายหรือหญิงที่เข้ากระบวนการข้ามเพศจนถึงจุดที่ตนเชื่อว่าข้ามแล้ว ให้ถูกปฏิบัติเฉกเช่นเดียวกับคนที่กำเนิดมาด้วยเพศนั้น ๆ

ตั้งแต่ปี 70 เป็นต้นมา แวดวงการเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิสตรี เกิดการโต้เถียงกันว่ากลุ่มหญิงข้ามเพศควรได้รับการปกป้องสิทธิแบบเดียวกับผู้มีเพศกำเนิดหญิงหรือไม่ ความเห็นแยกออกเป็นสองกลุ่ม คือ 

1. กลุ่มหนึ่งต่อต้าน โดยเชื่อว่าอย่างไรเสีย หญิงข้ามเพศก็ไม่มีทางเป็นหญิงไปได้ ความเป็นหญิงและประสบการณ์ความเป็นหญิงผูกติดอยู่กับมดลูก เมื่อคนเราเกิดมาเป็นผู้ชายก็มีความได้เปรียบของผู้ชาย ต่อให้ข้ามเพศมาก็จะมาเอาเปรียบผู้หญิงอยู่ดี ส่วนคนข้ามเพศที่ข้ามเพศไปเป็นชายก็ถูกครอบงำด้วยแนวคิดชายเป็นใหญ่จึงใฝ่ฝันอยากมีลักษณะเหมือนผู้ชาย เป็นต้น 

กลุ่มนักสิทธิสตรีกลุ่มแรกนี้ถูกฝ่ายตรงข้ามเรียกว่า TERF ซึ่งย่อมาจาก แรดิคัลเฟมินิสต์ที่ไม่เอาทรานส์ (trans-exclusionary radical feminist) คำนี้เจือน้ำเสียงในแง่ลบ ผู้ที่มีความเชื่อนี้จึงชอบเรียกตนเองว่ากลุ่มผู้วิพากษ์เพศวิถี (Gender Critical) มากกว่า คนกลุ่มนี้ยึดถือ “เพศทางชีววิทยา (Biological Sex)” เป็นหลักในการแบ่งคน นักต่อสู้เพื่อสิทธิสตรีชื่อดังที่ยึดถือแนวคิดนี้มีจำนวนไม่น้อยแม้กระทั่งนักสิทธิสตรีที่ได้รับการนับหน้าถือตา เช่น Chimamanda Ngozi Adichie นักสิทธิสตรีชาวไนจีเรียซึ่งเขียนหนังสือเรื่อง We Should All be Feminist 

หนึ่งในข้อถกเถียงที่ทำให้แนวคิดนี้ถูกพิจารณาอย่างกว้างขวางคือข้อถกเถียงว่าเราควรให้ทรานส์ร่วมแข่งขันกับบุคคลที่มีเพศกำเนิดตรงกับเพศสภาพหรือไม่ (cis gender) ผู้สนับสนุนแนวคิดนี้มองว่าแม้มีการข้ามเพศแล้วแต่สภาพร่างกายย่อมเหนือกว่าตามหลักชีววิทยา ทรานส์จึงไม่ควรใช้สิทธินี้ ‘เบียดบัง’ คนที่มีเพศกำเนิดหญิง

ทางการแพทย์มีแค่ชาย-หญิงหรือไม่ ต้องเข้าใจว่ามีความพยายามฉีกคำอธิบายทางการแพทย์นี้ด้วยเหมือนกัน หนึ่งในงานที่ถูกหยิบมาพูดถึงมากที่สุดคือเรื่องการกำหนดเพศในระดับโครโมโซมว่า อาจไม่ได้มีเพียงสองเพศ หญิง (XX) – ชาย (XY) ไม่สามารถแบ่งกันได้ขาดเป็นขั้วตรงข้าม แต่มีลักษณะเป็นสเปคตรัมที่ขึ้นอยู่กับร่างกายของแต่ละคนที่มีความโน้มเอียงไปทางหญิงหรือชายมากกว่ากันเท่านั้น ความโน้มเอียงนี้บางทีโน้มเอียงไม่ไปทางใดทางหนึ่งเสียทีเดียว จึงเกิดบุคคล Intersex ขึ้นมา กล่าวคือมีทั้งลักษณะของความเป็นหญิงและชายในร่างกายเดียวกัน (XO, XXY, XXX เป็นต้น) 

อย่างไรก็ดี การอธิบายในลักษณะนี้ยังไม่เป็นวงกว้างในแวดวงการแพทย์กระแสหลักที่แบ่งเพศเป็นแค่ชาย-หญิง และจัด Intersex ออกไปเป็นกลุ่มอาการที่มีความ “ผิดปกติ” จึงอาจกล่าวได้ว่าความรับรู้การจำแนกเพศในวงกว้าง โดยเฉพาะในกลุ่มนักสตรีนิยมที่กีดกันทรานส์จึงยังเชื่อว่าในทางชีววิทยามีเพียงชายหญิงเท่านั้น

2. ส่วนนักสตรีนิยมอีกกลุ่มหนึ่งเชื่อว่าหญิงข้ามเพศก็คือผู้หญิง เนื่องจากพวกเธอไม่ได้รู้สึกเป็นชายตั้งแต่แรก เมื่อข้ามเพศมาแล้วประสบการณ์หรือปัญหาต่าง ๆ ในชีวิตของทรานส์ย่อมมีส่วนที่ทับซ้อนกับประสบการณ์ของผู้หญิงโดยกำเนิด และการที่หญิงข้ามเพศไม่ได้รับการยอมรับเสมอเหมือนกับหญิงโดยกำเนิดสร้างปัญหาให้พวกเธอตามมา แนวคิดนี้เป็นที่นิยมในกลุ่มนักสตรีนิยมที่เชื่อในอำนาจทับซ้อนของอัตลักษณ์ต่าง ๆ ที่ผสมปนเปกัน (Intersectionality)  

แนวคิดนี้ก็เป็นที่แพร่หลายในบางประเทศด้วยเหมือนกัน เห็นได้จากการเริ่มเปลี่ยนนโยบายการระบุคำนำหน้าของประเทศต่างทั่วโลก ๆ เช่น เบลเยียม สวิตเซอร์แลนด์ โปรตุเกส บราซิล ปากีสถาน ประเทศเหล่านี้สามารถเปลี่ยนคำนำหน้าตามเพศที่ตนเองระบุได้ บางประเทศกำหนดเกณฑ์ว่าต้องมีคำสั่งศาลเสียก่อน เช่น เยอรมนี ฝรั่งเศส ขณะที่บางพื้นที่มีความพยายามนำเข้ามาถกเถียงเป็นกฎหมายแต่สร้างการถกเถียงอย่างกว้างขวางและยังไม่ได้ฉันทามติ เช่น สกอตแลนด์ และสเปน 

ในกรณีของไทย การถกเถียงแนวคิดในเรื่องนี้ที่ผ่านมาแสดงออกผ่านประเด็นต่าง ๆ เช่น กลุ่มทรานส์จะเลือกเข้าห้องน้ำหญิงชายอย่างไร หรือต้องสร้างห้องน้ำไม่ระบุเพศ การแต่งกายในเครื่องแบบที่กำหนดเพียงชาย-หญิง ประเด็นการเกณฑ์ทหาร ส่วนในประเด็นของการเปลี่ยนคำนำหน้านามแม้จะไม่มีการทำข้อเสนอเชิงนโยบายอย่างเป็นทางการ แต่ที่ผ่านมาก็มีการบอกเล่าประสบการณ์การต้องเดินทางด้วยพาสปอร์ตที่ระบุเพศกำเนิดไม่ตรงกับเพศสภาพ ส่งผลให้ถูกเรียกกักตัวในขณะต้องต่อเครื่องบินหลายต่อหลายครั้ง ขณะที่หลายมหาวิทยาลัยให้ตัวเลือกไม่ต้องการให้เรียกคำนำหน้าระหว่างพิธีรับปริญญาสำหรับบัณฑิตที่ไม่ต้องการถูกเรียกเช่นนั้น เป็นต้น 

เจ. เค. โรว์ลิง และข้อถกเถียงว่าเธอเหยียดเพศหรือไม่ 

เจ. เค. โรว์ลิง ออกตัวเป็นเฟมินิสต์และถูกมองเป็นเช่นนั้นมาตลอด จนกระทั่งปี 2018 ที่เธอกดไลก์ทวิตเตอร์ที่เขียนว่า ทรานส์หญิงแท้จริงแล้วก็เป็นแค่ “ผู้ชายใส่ชุดกระโปรง” เท่านั้น 

เธอยังได้แสดงความคิดเห็นในหลาย ๆ วาระ ผ่านมุมมองยืนยันความเป็นหญิงของผู้หญิงโดยเพศกำเนิดเท่านั้น เช่น เธอวิพากษ์วิจารณ์สำนักข่าวที่เลือกใช้คำว่า “ผู้มีประจำเดือน” แทนคำว่า “ผู้หญิง” หรือทวีตว่า “ถ้าเพศกำเนิดไม่มีจริง ดังนั้นรักเพศเดียวกันก็ไม่มีจริง ชีวิตที่ผู้หญิงประสบอยู่ทุกวันรอบโลกก็ไม่เป็นจริง” ซึ่งอิงตามแนวคิดการต่อสู้ของสิทธิสตรีบางระลอกที่วางประสบการณ์ปัญหาของผู้หญิงผ่านรากฐานด้านเพศกำเนิดและมดลูก

มีนักสตรีนิยมบางคนสนับสนุนแนวคิดนี้ด้วยเช่นกัน แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าทัศนคติเป็นประเด็นร้อนขึ้นเรื่อย ๆ จนดาราหลายคนที่แสดงในแฟรนไชส์แฮร์รี พอตเตอร์ ออกมาประกาศจุดยืนไม่เห็นด้วย เช่น แดเนียล แรดคลิฟฟ์, เอ็มมา วัตสัน, รูเพิร์ต กรินต์, เอ็ดดี้ เรดเมย์น เป็นต้น มีเพียง เรล์ฟ ไฟนส์ ที่ออกมาปกป้องเจ. เค.โดยบอกว่าความเกลียดชังที่เธอได้รับเป็นเพราะคนทนฟังความเห็นต่างไม่ไหว 

กลางปี 2020 เธอก็เขียนความเรียงยาว 3,700 คำอธิบายแนวคิดของตนเรื่องเพศกำเนิดและเพศสถานะ โดยวรรคทองที่คนหยิบมาพูดบ่อยคือเธอเขียนว่า เธอปฏิเสธที่จะ “ก้มหัวให้กับขบวนการที่เธอเชื่อว่าสร้างภัยให้กับผู้หญิง” เธอบอกว่าเธอเคยเป็นเหยื่อความรุนแรงในครอบครัว ทำให้รู้สึกไม่ปลอดภัยอย่างยิ่งถ้าจะอนุญาตให้หญิงข้ามเพศที่เคยเป็นชายเข้ามาในพื้นที่อย่างห้องลองเสื้อผ้าหรือห้องน้ำสาธารณะ ความเรียงนี้ต่อมาถูกส.ว.สหรัฐอเมริกาหยิบเข้าไปอ้างอิงในอภิปรายในวุฒิสภาสหรัฐฯ เพื่อคัดค้านการออกกฎหมายเพื่อความเท่าเทียมทางเพศในสหรัฐฯ เมื่อปี 2020 ด้วย

เจ. เค. โรว์ลิง อธิบายตนเองว่าอย่างไร เธอชี้ในความเรียงดังกล่าวว่าเธอไม่ได้เกลียดกลัวทรานส์ คำว่า ‘TERF’ เป็นคำที่ถูกสร้างขึ้นโดยกลุ่มนักกิจกรรมคนข้ามเพศที่เหมารวมความเห็นของผู้หญิงจากหลากหลายที่มาที่ไม่กล้าเข้าร้านเสื้อผ้าที่ยอมให้ “ผู้ชาย” กำหนดเพศตัวเองเป็นอะไรก็ได้เพื่อเข้าห้องลองเท่านั้น ทั้งที่หลายคนไม่เคยเป็นแรดิคัลเฟมินิสต์มาก่อนด้วยซ้ำ เธอเห็นใจชายข้ามเพศที่พยายามหนีความเป็นหญิง อย่างไรก็ดี เธอทวีตคำว่า “TERF wars” หลังแชร์บทความนี้ 

ระหว่างนั้นสหราชอาณาจักรมีข้อถกเถียงระหว่างสิทธิคนข้ามเพศ และสิทธิสตรี-เลสเบี้ยนอย่างเผ็ดร้อน เกิดคดีอย่าง คดีของ อลิซัน ไบลีย์ ทนายความเลสเบี้ยนที่เชื่อใน ”เพศทางชีววิทยา” ฟ้องสำนักงานทนายความของเธอและมูลนิธิ Stonewall ซึ่งเป็นมูลนิธิเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิของคนข้ามเพศ ว่ากีดกันเธอจากโอกาสในการว่าความหลังเธอแสดงความเชื่อในเรื่องเพศทางชีววิทยาต่างออกไปจากองค์กร ทางสำนักงานตอบโต้ว่าสิ่งที่เธอทำเป็นการฟอกขาวให้ความคิดเหยียดคนข้ามเพศ แต่เธอบอกว่ามีคนมากมายในชุมชน LGBT ที่สนับสนุนสิทธิของคนข้ามเพศแต่เธอไม่เห็นด้วยกับแนวคิดเรียกร้อง “สิทธิทรานส์ล้นเกิน” ที่มูลนิธิ Stonewall กำลังสนับสนุน

คดีนี้เป็นที่พูดถึงอย่างกว้างขวาง โดยเจ. เค. โรว์ลิง สนับสนุนอย่างเปิดเผยว่าเธอบริจาคเงินสนับสนุนการฟ้องคดีของอลิซัน ทำให้ฝ่ายสนับสนุนสิทธิคนข้ามเพศมองว่าเธอไม่เพียงแต่เชื่อในแนวคิดเรื่องเพศทางชีววิทยาอย่างแม่นมั่น แต่ยังส่งทรัพยากรสนับสนุนการสกัดกั้นองค์กรที่เคลื่อนไหวในการเรียกร้องสิทธิของคนข้ามเพศด้วย

การรณรงค์ต่อต้านการสนับสนุนผลงานของเจ. เค. โรว์ลิง เริ่มขึ้นมาเรื่อย ๆ มีการถกเถียงขึ้นมาทุกครั้งที่แฟรนไชส์แฮร์รี่ พอตเตอร์ออกผลิตภัณฑ์ใหม่ ในปี 2022 ที่ HBO Max ออกสารคดีเฉลิมฉลองครบรอบ 20 ปี แฮร์รี่ พอตเตอร์ ก็ไม่ได้มีการสัมภาษณ์ตัวนักเขียน มีเพียงฟุตเทจเก่าจากปี 2019 มาฉาย นิตยสารเอนเตอร์เทนเมนต์ วีคลีย์ รายงานว่าทีมถ่ายทำได้เชิญเจ. เค.ให้มาร่วมสัมภาษณ์ด้วยแต่ตัวเธอระบุว่าแค่ฟุตเทจเก่าก็เพียงพอแล้ว และปฏิเสธว่าไม่เกี่ยวอะไรกับการที่ดาราที่แสดงภาพยนตร์ดังกล่าวออกมาเปิดหน้าวิจารณ์เธอเรื่องสิทธิคนข้ามเพศ

Hogwarts Legacy เปิดตัวอย่างยิ่งใหญ่ท่ามกลางการรอคอยของแฟนคลับ

ล่าสุด ต้นเดือนกุมภาพันธ์ 2023 ที่ผ่านมา วอร์เนอร์ บราเธอร์ เปิดตัว Hogwarts Legacy เกมสเกลใหญ่ยักษ์ซึ่งพัฒนาโดยบริษัทลูก Avalanche Software

แฟน ๆ แฮร์รี่ พอตเตอร์รอวิดีโอเกมสเกลใหญ่อย่างนี้มานานมาก เทียบกับเกมอื่น ๆ ที่เคยออกมา การได้เล่นเกมนี้เหมือนฝันเป็นจริงที่จะได้โลดแล่นในโลกเวทมนตร์ จิบบัตเตอร์เบียร์ เข้าห้องนั่งเล่นกริฟฟินดอร์ หรือเที่ยวหมู่บ้านฮอกมีตส์ แวดล้อมไปด้วยกราฟิกอลังการ ปฏิเสธไม่ได้ว่าใคร ๆ ก็อยากเล่น แต่ทันทีที่เกมเปิดตัวออกมา ข้อถกเถียงเรื่องเจ. เค. ก็ผุดมาอีกครั้ง แฟน ๆ หลายคนที่สนับสนุนการปกป้องสิทธิคนข้ามเพศก็เกิดอาการลังเลว่าจะเล่นดีหรือไม่ 

เจ. เค. มีส่วนร่วมกับเกมนี้อย่างไร ตัวของเธอไม่ได้มีส่วนในการสร้างเกมนี้ แต่ในฐานะผู้ถือลิขสิทธิ์ของแฮร์รี่ พอตเตอร์ เธอย่อมได้รับส่วนแบ่งจากการขายเกมนี้ และ the Blair Partnership ซึ่งเป็นบริษัทครีเอทีฟของเจ. เค. เองก็ทำงานกับนักพัฒนาเกมในการตัดสินใจรายละเอียดปลีกย่อยต่าง ๆ ตลอดการพัฒนาเกม 

อย่างไรก็ดี ทาง Avalanche ได้พยายามแสดงท่าทีฉีกตัวเองออกจากความคิดของนักเขียน หลังเจ. เค. ออกความเรียงแสดงจุดยืนต่อบุคคลข้ามเพศในปี 2020 บลูมเบิร์กรายงานว่านักพัฒนาเกมหลายคนในทีมรู้ดีว่าจะมีดราม่า และพยายามเปลี่ยนโปรเจคของเกมที่จะสร้างจากเรื่องแฮร์รี่ พอตเตอร์เป็นเรื่องอื่น หรือเรียกร้องให้บริษัทออกแถลงการณ์บางอย่างออกมา แต่วอร์เนอร์ บราเธอส์ยืนยันกับพนักงานว่า เจ. เค. โรว์ลิง มีสิทธิแสดงความคิดเห็นของตัวเอง สตูดิโอตัดสินใจเพิ่มตัวละคร  Sirona Ryan ซึ่งถูกระบุว่าเป็นตัวละครข้ามเพศไปในเกมด้วย แต่ไม่วายเป็นเรื่องอยู่ดี

การบอยคอตเกม และขบวนการเรียกร้องการบริโภคโดยคำนึงถึงจริยธรรม

สำหรับคนที่ไม่ได้สนใจเรื่องสิทธิคนข้ามเพศ หรือคนที่ตัดใจไม่สนับสนุนผลงานของ เจ. เค. โรว์ลิง ได้เด็ดขาด ตัวเลือกของเขาไม่ยากเลย คือเล่นอยู่ดี หรือไม่ก็เลิกเล่นไปโดยปริยาย  

แต่สำหรับกรณีที่เกิดขึ้นในประเทศไทย หลังเกม Hogwarts Legacy ออกมา เอก HEARTROCKER นักแคสเกมแถวหน้าของเมืองไทยก็เป็นหนึ่งในเกมเมอร์ที่นำเกมนี้มารีวิว ก็เกิดกระแสตั้งคำถามถึงจุดยืนของเขาว่าไม่สนใจสิทธิคนข้ามเพศหรือไม่ 

เอก HEARTROCKER อธิบายในไลฟ์สดของเขาในวันถัดมาว่า ตนเองไม่ได้เป็นแฟนจักรวาลแฮร์รี่ พอตเตอร์ และไม่รู้จัก เจ. เค. โรว์ลิง ตลอดจนเรื่องราวของเธอ ตอนที่เกมจะวางขายก็มีคนถามว่าจะเล่นไหม ตอนนั้นก็ตอบว่าขอดูยอดรีวิวก่อน แต่เมื่อยอดรีวิวพุ่งสูงจึงตัดสินใจนำมาเล่นในช่องของตนเอง ต่อมาจึงมีคนให้ข้อมูลว่า เจ. เค. โรว์ลิง เคยแสดงจุดยืนเรื่องสิทธิคนข้ามเพศอย่างไร ทำให้เอกกล่าวว่า “สำหรับผม ผมถือว่าหนัก” และชี้ว่าตนเพิ่งทราบเรื่องราวดังกล่าว 

การโต้เถียงแตกออกไปในหลายประเด็นสำหรับผู้ที่ไม่มีเจตนาสนับสนุนการกีดกันคนข้ามเพศ

1.เล่นเพราะไม่รู้เรื่องราวเบื้องหลังผิดหรือไม่

2.หากอยากเล่นเกมจริง ๆ การบริโภคโดยตระหนักรู้สามารถเกิดขึ้นได้หรือไม่ 

มีการแสดงความคิดเห็นอย่างหลากหลาย เช่น หากไม่มีเจตนาก็ไม่ควรถือว่าเป็นความผิดบาป หรือเป็นการตั้งใจสนับสนุนการกีดกันคนข้ามเพศ หรืออีกฝ่ายก็บอกว่า หากทราบแล้วก็ควรแสดงความเสียใจกับการสนับสนุนที่ผ่านไป เป็นต้น 

ผู้แสดงความคิดเห็นอื่น ๆ ยังมองว่า การอยากเล่นเกมโดยที่ไม่ได้มีแนวคิดสนับสนุนเจ. เค. โรว์ลิงเป็นเรื่องที่เข้าอกเข้าใจได้ หรือบางฝ่ายก็บอกว่า หากเล่นโดยที่ทราบว่าตนก็สนับสนุนแนวคิดที่ทำร้ายผู้อื่นก็ควรแอบเล่นโดยไม่ป่าวประกาศและต้องรับคำวิพากษ์วิจารณ์ด้วย 

ไปจนถึง บางฝ่ายมองว่าการบริโภคสินค้าที่เราไม่ได้เห็นด้วยกับแนวคิดของผู้เป็นเจ้าของผลงานเป็นเรื่องปกติทั่วไป โดยยกตัวอย่างการเล่นทวิตเตอร์ของคนที่ไม่ได้สนับสนุนอีลอน มัสก์ ขณะที่ฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยมองว่าสินค้าที่มีสิ่งอื่นทดแทนได้กับสินค้าที่มีความเฉพาะด้านไม่ควรใช้เกณฑ์เดียวกันในการประเมินการสนับสนุน

อย่างไรก็ดี นอกจากเรื่องการบริโภคเกมโดยที่ไม่เห็นด้วยกับแนวคิดผู้ถือลิขสิทธิ์แล้ว ยังมีการเปิดประเด็นเรื่องวิธีการการรณรงค์อีกด้วย 

คอมเมนต์บางส่วนในอินเทอร์เน็ตกล่าวว่าไม่ได้สนใจเรื่องเจ. เค. จะกีดกันคนข้ามเพศหรือไม่ แต่ไม่ชอบวิธีการรณรงค์ด้วยถ้อยคำ “รุนแรง” และ “ด่าเทสาดเทเสีย” ต่างหาก

เอก HEARTROCKER ระบุในไลฟ์เดียวกันว่า สำหรับข้อความที่ “ด่าผมแบบสารชั่วเลย บาปหนักชิบหาย อันนี้บอกไว้ก่อนผมไม่พูดเยอะ แต่ให้น้องชายแคปไว้แล้ว” 

ขณะที่เขียนบทความนี้ผู้สื่อข่าวเข้าไม่ถึงข้อความที่ถูกระบุว่ามีการใช้ถ้อยคำรุนแรง เนื่องจากบัญชีต้นทางได้ถูกล็อกเป็นที่เรียบร้อย ขณะที่ภายในกลุ่มแฟนคลับของ HEARTROCKER เชื่อว่าจะมีการดำเนินคดีตามมา

จนปัจจุบัน ความขัดแย้งยังขยายประเด็นไปอีก เช่นกรณี Bay Riffer สตรีมเมอร์อีกราย ระบุว่าดำเนินคดี “ชาวทวิตเตอร์” ที่โจมตีตน ระหว่างที่พูดเนื้อหามีการแสดงท่าทีปัสสาวะไปด้วย และแสดงจุดยืนว่า เมื่อจ่ายเงินไปแล้วก็ควรบริโภคอะไรที่ตนต้องการได้ ไม่ต้องมายัดเยียดชุดความคิดคับแคบให้ตน นำมาสู่การถกเถียงโต้ตอบกันระหว่างบัญชีชื่อ Kiri Tuwajit ที่แสดงจุดยืนสนับสนุนกลุ่ม “ชาวทวิต” และ “เฟมทวิต” ล่าสุด Bay Riffer โพสต์ว่าเคลียร์ใจกันแล้วพร้อมโพสต์คลิปขอโทษของหญิงสาวที่กล่าวว่าเป็นเจ้าของบัญชีดังกล่าว และกล่าวว่าตนยกเลิกการฟ้องหมิ่นประมาทอีกฝ่ายแล้ว

เขาโพสต์ว่า “อย่างที่เห็นในคลิปเลยครับน้องยังเรียน เป็นเด็กผู้หญิงคนหนึ่งที่มีอนาคตดี ๆ รออยู่เบื้องหน้า อาจจะเบียวแดกบ้าง ทำพลาดบ้าง มันก็ตามวัย ผมเองก็เคยอายุเท่าน้องเขา แม้ผมมันจะหมั่นไส้แค่ไหน แต่ผมขอเลือกที่จะไม่ตัดอนาคตน้องเขาดีกว่าครับ โดนไปขนาดนี้น่าจะบทเรียนแล้ว” และ “ขอความร่วมมือ หยุดด่าก่อกวนน้องนะครับ ตำหนิตักเตือนกันไป เข้าใจได้ ผมบรีฟแล้ว แต่อย่าไปด่าแรง ๆ อีก น้องเขาวางอาวุธแล้วครับ หยุดซ้ำเติมแล้วหันมาให้สติกันดีกว่า”

ข้อถกเถียงเรื่องการแสดงออกทางอารมณ์ในการรณรงค์เป็นเรื่องที่มีการโต้เถียงมานานว่าสมควรทำหรือไม่ ฝ่ายหนึ่งชี้ว่าการแสดงออกทางอารมณ์ของผู้ถูกกดทับเป็นความชอบธรรมทุกประการและผู้รับสารควรแยกแยะเนื้อหาได้ ส่วนอีกฝ่ายมองว่าเป็นการผลักคนออกห่าง และไม่ชวนรับฟัง ข้อถกเถียงนี้ดูไม่มีทีท่าจะหาข้อสรุปได้ในเร็ววัน

จากการแตกกันของแนวคิดแบบสตรีนิยม คำถามและข้อถกเถียงเรื่องสิทธิของคนข้ามเพศ การแสดงจุดยืนของ เจ. เค. โรว์ลิง และการแบนสินค้า มาสู่การโต้เถียงเรื่องการรณรงค์ในประเทศไทย และอาจมีการพยายามดำเนินคดีตามมาในที่สุด 

podcast

LATEST
OUR PICKS
HOT
กำลังโหลดบทความถัดไป...

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า