SHARE

คัดลอกแล้ว

นี่คือดราม่าสำคัญที่จะมีผลต่อชีวิตของกลุ่ม LGBT นับจากนี้ไป หลังจาก พ.ร.บ.คู่ชีวิต ผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีเรียบร้อยแล้ว มันส่งผลให้ในตอนนี้ ความเห็นของคนไทย แบ่งเป็นสองกลุ่มอย่างชัดเจน คือกลุ่มที่ “ยินดีรับ พ.ร.บ.คู่ชีวิต” กับอีกกลุ่มที่ “ไม่รับ และเชื่อในเรื่องสมรสเท่าเทียม”

จุดเริ่มต้นของเรื่องนี้คืออะไร และเหตุผลของทั้ง 2 ฝ่าย คืออะไรกันแน่ workpointTODAY จะสรุปสาระสำคัญให้เข้าใน 15 ข้อ

1) ย้อนกลับไปในเดือนสิงหาคม พ.ศ.2555 คู่รักชาย-ชาย ชื่อนายนที และนายอรรถพล เดินทางไปที่สำนักทะเบียนอำเภอจังหวัดเชียงใหม่ เพื่อขอจดทะเบียนสมรส แต่นายทะเบียนพิจารณาตามข้อกฎหมาย ปรากฏว่า ทั้ง 2 คนเป็นชายทั้งคู่ จึงไม่สามารถอนุญาตให้จดทะเบียนได้

2) นายทะเบียนอ้างอิงจากประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1448 ที่กำหนดไว้ชัดเจนว่า การสมรสจะทำได้ก็ต่อเมื่อ “ชาย และ หญิง” มีอาย 17 ปีบริบูรณ์ ดังนั้นความมาเป็น ชาย และชาย ของนายนที และนายอรรถพล จึงไปขัดต่อข้อกฎหมาย และไม่สามารถให้สมรสกันได้

ซึ่งทั้งคู่มองว่า นี่คือการละเมิดสิทธิ์ เพราะทำไมกฎหมายต้องกำหนดว่า คู่ที่แต่งงานกันต้องมีเพียงแค่หญิงชายเท่านั้น ทั้งสองคนจึงไปร้องเรียนกับสภาผู้แทนราษฎร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหลายแห่ง นั่นทำให้สภาได้ตั้งคณะทำงานขึ้นเพื่อศึกษาข้อกฎหมาย ว่าคนเพศเดียวกันสามารถจดทะเบียนสมรสกันได้จริงหรือไม่

3) ด้วยการต่อต้านของกลุ่มอนุรักษ์นิยมจำนวนมาก ทำให้ข้อสรุป ณ เวลานั้นคือ คนเพศเดียวกันไม่สามารถทำการ “สมรส” กันได้ ดังนั้นทางคณะกรรมาธิการการกฎหมายฯ ของสภา จึงเสนอแนวคิดขึ้นมาว่า ถ้าหากไม่สามารถสมรสกันได้ แต่คู่รักเพศเดียวกันอยากใช้ชีวิตร่วมกัน มันก็ควรจะมีร่างกฎหมายฉบับใหม่ขึ้นมาเลย เพื่อใช้โดยเฉพาะกับกลุ่ม LGBT โดยไม่ต้องไปแตะ กฎหมายสมรสเดิมที่มีอยู่แล้ว ซึ่งเมื่อได้แนวคิดนี้ขึ้นมา จึงเริ่มกระบวนการ “ร่างพ.ร.บ.คู่ชีวิต” เพื่อพัฒนาสู่การเป็นกฎหมายต่อไป

4) การตั้งพ.ร.บ. คู่ชีวิต ในกลุ่มเพศทางเลือกก็มีความเห็นแบ่งเป็นสองฝ่าย ฝ่ายแรกไม่เห็นด้วยนัก เพราะคิดว่าคนเพศที่สามก็ควร “สมรส” ได้เหมือนชาย และหญิง ในมุมของกลุ่มนี้ ต้องการให้รัฐแก้กฎหมาย มาตรา 1448 ที่ระบุว่ามีแค่ “ชาย กับ หญิง” ถึงจะสมรสกันได้ แต่ทุกเพศไม่ว่าจะเป็น “ชาย-ชาย” หรือ “หญิง-หญิง” ก็ควรได้สิทธิการสมรสเท่ากันทั้งหมด

5) ส่วนอีกฝ่ายนั้น เห็นด้วยกับ พ.ร.บ.คู่ชีวิต เพราะมองว่าจะทำให้กลุ่มเพศทางเลือกได้ “สิทธิ” ที่ควรได้รับ จากแต่เดิมไม่มีอะไรเลย และในสังคมที่คนส่วนใหญ่เป็นอนุรักษ์นิยมการค่อยๆเดินทีละก้าว ก็น่าจะเป็นเรื่องง่ายกว่า โดย รศ.สมชาย ปรีชาศิลปกุล อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า “การมี พ.ร.บ.คู่ชีวิตจึงทำให้รู้ว่าบนโลกใบนี้มีชุดความคิดอื่นๆเกิดขึ้น ซึ่งหลายคนต้องยอมรับความแตกต่างในส่วนนี้ โดยกฎหมายฉบับดังกล่าวจะเป็นการบ่งชี้ได้ว่าโลกได้เปลี่ยนไปแล้ว”

โดยในมุมของ รศ.สมชาย การมีพ.ร.บ.คู่ชีวิตก็เป็นเหตุเป็นผล เพราะเมื่อมีกฎหมายนี้ขึ้นมา ผู้คนจะยอมรับความรักหลายรูปแบบมากขึ้น เพราะได้เห็นว่าแม้แต่ภาครัฐยังออกกฎหมายมาสนับสนุนความรักของกลุ่มชาย-ชาย และ หญิง-หญิง

6) ร่างพ.ร.บ.คู่ชีวิต ร่างแรกเกิดขึ้นในปี พ.ศ.2556 ในยุครัฐบาลของน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อย่างไรก็ตาม ประชาชนไม่ยอมรับนัก เพราะสิทธิ์ที่ได้รับจาก พ.ร.บ.คู่ชีวิตมันน้อยมาก แตกต่างจาก “การสมรส” ของชาย-หญิงอย่างสิ้นเชิง ตัวอย่างเช่น
– ไม่มีสิทธิในการตัดสินใจ เรื่องการรักษาพยาบาลของคู่รัก ตัวอย่างเช่น ถ้ามีเหตุการณ์คนประสบอุบัติเหตุบาดเจ็บสาหัส แล้วหมอต้องการ การตัดสินใจทันทีว่าจะรักษาอย่างไร สามารถตัดขาเพื่อช่วยชีวิตได้ไหม ถ้าเป็น “คู่สมรส” อีกฝ่ายจะมีสิทธิ์ตัดสินใจทันที แต่ถ้าเป็น “คู่ชีวิต” อีกฝ่ายจะไม่สามารถตัดสินใจแทนได้ทางกฎหมาย
– คู่ชีวิตไม่สามารถรับบุตรบุญธรรมมาเลี้ยงดูได้ ตามกฎหมาย ซึ่งคู่สมรสทำได้
– ไม่สามารถรับสวัสดิการจากรัฐของอีกฝ่ายได้ เช่นภรรยาจะได้สิทธิ์รักษาพยาบาลถ้าสามีเป็นข้าราชการ แต่ถ้าเป็นคู่ชีวิตจะไม่ได้สิทธิ์นี้
– คู่ชีวิตไม่มีสิทธิ์เปลี่ยนมาใช้นามสกุลเดียวกับอีกฝ่าย เหมือนคู่สมรส
– ไม่มีสิทธิ์เข้าถึงการลดหย่อนภาษีของอีกฝ่าย ตัวอย่างเช่น ถ้าภรรยาไม่ได้ทำงาน สามีสามารถนำภรรยามาเป็นช่วยลดหย่อนภาษีรายปีได้ แต่วิธีนี้คู่ชีวิตทำไม่ได้

7) ดังนั้น พ.ร.บ.คู่ชีวิต จึงไม่ได้รับการยอมรับจากสังคมเสียที จนต้องปรับแก้ไขร่างมาเรื่อยๆ จนถึงปีปัจจุบัน พ.ศ.2563 ผ่านมาแล้ว 7 ปีเต็ม การแก้กฎหมายเข้าสู่ร่างที่ 6 แล้ว และในคราวนี้ ภาครัฐได้ปรับแก้แทบทุกจุด จน พ.ร.บ.คู่ชีวิต ได้รับสิทธิ์ในระดับที่ใกล้เคียงมากๆ กับ พ.ร.บ.คู่สมรส

– คู่ชีวิตสามารถเข้าถึงทรัพย์สินร่วมกัน และร่วมกันทำธุรกรรมได้ เช่น กู้ร่วมซื้อบ้าน สามารถทำได้แล้ว
– คู่ชีวิตสามารถอุปการะบุตรบุญธรรมได้แล้ว
– คู่ชีวิตสามารถฟ้องหย่าอีกฝ่ายได้เหมือนคู่สมรส และฟ้องร้องค่าอุปการะเลี้ยงดูได้
– คู่ชีวิตสามารถรับมรดกตามกฎหมาย ในกรณีที่คู่รักเสียชีวิต

อย่างไรก็ตาม มีสิทธิ์บางอย่างที่ คู่ชีวิตยังไม่ได้ เช่น สิทธิ์การรับสวัสดิการถ้าอีกฝ่ายเป็นข้าราชการ และ เรื่องการขอสัญชาติไทยให้กับคู่ชีวิต

8) หลังผ่านการร่างมา 6 รอบ เมื่อมีการเพิ่มสิทธิของคู่รักเพศเดียวกันมากขึ้นเรื่อยๆ กระแสของสังคมก็เริ่มยอมรับมากขึ้น และสุดท้ายคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบให้ผลักดัน พ.ร.บ.คู่ชีวิต ร่างที่ 6 เข้าสู่กระบวนการสร้างเป็นกฎหมายต่อไป

9) อย่างไรก็ตาม นายธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์ ส.ส.จากพรรคก้าวไกล เสนอความเห็นว่า ในตอนนี้ พ.ร.บ.คู่ชีวิตผ่านมติครม.แล้วก็จริง แต่เขาเองมีข้อเสนอว่า แทนที่จะออกกฎหมาย พ.ร.บ.คู่ชีวิต เพื่อใช้สำหรับคนเพศที่สามโดยเฉพาะ ทำไมไม่เปลี่ยนกฎหมายคู่สมรส หรือมาตรา 1448 ล่ะ น่าจะเป็นคำตอบที่ถูกต้องกว่า

10) มุมของธัญวัจน์ชี้ว่า ปัจจุบันกฎหมายไทย ระบุว่าการสมรสจะเกิดขึ้นได้ระหว่าง ชายกับหญิง ดังนั้นถ้าแค่เปลี่ยนคำ จากชายกับหญิงเปลี่ยนเป็น การสมรสจะเกิดขึ้นได้จากคนทุกเพศ เพียงแค่นี้ปัญหาก็จบแล้ว คู่รัก ทุกรูปแบบในประเทศ ไม่ว่าจะเป็นเพศไหนก็จะได้สิทธิ์ในฐานะคู่สมรสเหมือนกันหมดแบบ 100%

ธัญวัจน์ระบุว่า ทำไมการสมรส ถึงต้องถูกใช้งานเพียงแค่ ชายกับหญิงเท่านั้น เพราะต่อให้เป็นชาย-ชาย หรือหญิง-หญิง ก็สมควรจะ “สมรส” กันได้ และทำไมคนที่รักเพศเดียวกัน ต้องหลีกเลี่ยงไปใช้ พ.ร.บ.คู่ชีวิตที่ได้สิทธิน้อยกว่าคู่รักชาย-หญิง ทั้งๆก็เป็นคนไทยที่จ่ายภาษีให้รัฐเหมือนกัน

11) ดังนั้นในเวลานี้ จึงเป็นการต่อสู้กันของสองกลุ่มความคิด ซึ่งก็มีคนสนับสนุนทั้งสองฝ่าย ฝ่ายแรกคือรับร่างพ.ร.บ.คู่ชีวิต และฝ่ายที่สองคือ ไม่รับร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต แต่ไปแก้ไขมาตรา 1448 แทน

12) กลุ่มที่บอกว่า “ควรรับร่าง” ให้เหตุผลว่า จากเดิมคนเพศเดียวกันรักกัน ไม่เคยมีสิทธิ์อะไรเลย แต่ตอนนี้กำลังจะได้สิทธิ์ในระดับ 80-90% ของคู่รักชาย-หญิง ซึ่งในประเทศอื่นในโลก มีไม่กี่ประเทศเท่านั้น ที่คนรักเพศเดียวกันจะได้สิทธิ์มากมายในระดับนี้

นอกจากนั้น ถ้าไม่รับ พ.ร.บ.นี้ และตั้งใจจะแก้กฎหมายเดิม คือมาตรา 1448 ต้องใช้เวลาอีกนานแค่ไหน การแก้กฎหมายเดิมที่มีอยู่ ไม่ใช่เรื่องง่าย นอกจากต้องส่งเรื่องเข้าให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาแล้ว ต้องไม่ได้รับการต่อต้านจากกระแสสังคมด้วย ซึ่งคนไทยจำนวนมาก ก็ยังเป็นอนุรักษนิยมอยู่ ถ้าคนกลุ่มนี้ออกมาต่อต้านอย่างเต็มตัว ก็อาจทำให้การแก้ไขมาตรา 1448 ไม่เกิดขึ้น และถ้าคุณปัด พ.ร.บ.ชีวิตคู่ตกไปแล้ว จะกลายเป็นว่ากลุ่มคนเพศที่ 3 จะไม่ได้สิทธิ์อะไรเลยแม้แต่อย่างเดียว

วัลลภ ตังคณานุรักษ์ หรือครูหยุย วุฒิสมาชิกได้อธิบายว่า พ.ร.บ.คู่ชีวิต ไม่ได้มีจุดเริ่มต้นจากการมองคนไม่เท่าเทียมกัน แต่ในประเทศไทยการแก้กฎหมายที่มีอยู่แล้ว ทำได้ยาก และใช้เวลานานมาก ต้องผ่านอีกหลายขั้นตอน ซึ่งจะกินเวลาหลายปี และไม่รู้ว่าสุดท้ายจะได้รับการอนุมัติหรือไม่ ดังนั้น เจตนาของพ.ร.บ.คู่ชีวิต คือมีกฎหมายให้กลุ่มเพศทางเลือกได้ใช้งานทันที ได้รับสิทธิ์ที่พวกเขาควรจะได้รับโดยเร็วก่อน

ถ้ามีพ.ร.บ.คู่ชีวิต คนรักเพศเดียวกันก็สามารถกู้ซื้อบ้านร่วมกัน หรืออุปการะบุตรบุญธรรมได้ทันที โดยไม่ต้องรออย่างไร้จุดหมาย กับการแก้มาตรา 1448

13) อย่างไรก็ตาม ความเห็นอีกด้านของสังคมคือ “ไม่ควรมี พ.ร.บ.คู่ชีวิต” แต่ควรไปแก้มาตรา 1448 นั่นเพราะ พ.ร.บ.คู่ชีวิต เป็นการแบ่งแยกว่าคนรักเพศเดียวกัน ควรได้สิทธิ์เท่านี้ แต่คู่รักชาย-หญิง กลับได้สิทธิ์มากกว่า ทั้งๆที่ไม่ว่าจะเพศอะไร ก็เป็นประชาชนไทยเหมือนกัน เสียภาษีให้รัฐเหมือนกัน แล้วทำไมถึงควรได้รับสิทธิ์น้อยกว่า

ความเห็นของคนกลุ่มนี้ ไม่ได้มองเพียงแค่เรื่องสิทธิที่ได้รับเท่านั้น แต่มองในเรื่องของศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ด้วย การออกกฎหมายแยกกัน แปลว่ารัฐพยายามจะแบ่งแยก ว่าความสัมพันธ์ของ ชาย-หญิง กับ ชาย-ชาย หรือ หญิง-หญิง ควรได้รับการปรนนิบัติที่แตกต่างกัน ซึ่งเป็นสิ่งที่ผิดต่อรัฐธรรมนูญไทย ในมาตรา 30 ที่ระบุว่า “บุคคลย่อมเสมอกันในกฎหมาย ชายและหญิงมีสิทธิเท่าเทียมกัน การเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมต่อบุคคลเพราะความแตกต่างเรื่องเพศ จะกระทำมิได้”

14) ในกระแสสังคม คนทั้งสองกลุ่ม กำลังตอบโต้กันอยู่ บางคนก็บอกว่ารับพ.ร.บ.คู่ชีวิตไปดีกว่า โอกาสมาอยู่ตรงหน้าแล้ว แม้จะไม่ได้สิทธิ์ 100% เท่าชาย-หญิง แต่ก็ถือว่าได้รับแล้ว อนาคตค่อยหาทางแก้รายละเอียดใน พ.ร.บ.ชีวิตคู่เอา เพราะถ้าไปแก้มาตรา 1448 ไม่รู้จะกระบวนการจะจบเมื่อไหร่

แต่อีกกลุ่มมีความเชื่อในเรื่อง “สมรสเท่าเทียม” ถ้าไม่ได้ความเท่าเทียมอย่างแท้จริงก็ไม่เอา เพราะคนเราไม่ว่าจะรักเพศอะไร ก็สมควรได้สิทธิ์เท่าเทียมกันอย่างสมบูรณ์ ในฐานะประชาชนไทย แม้จะต้องใช้เวลาในการแก้กฎหมาย ก็ดีกว่ารับพ.ร.บ.ที่ให้สิทธิ์เพศทางเลือกแบบไม่เต็มร้อย

15) ขณะที่ขั้นตอนต่อไป พ.ร.บ.คู่ชีวิต จะเข้าสู่ขั้นตอนคือ สภาผู้แทนราษฎร ไปรับฟังความคิดเห็น และถ้าไม่มีเสียงคัดค้าน จะส่งต่อไปสู่วุฒิสภาเพื่อพิจารณาขั้นตอนสุดท้ายก่อนนำขึ้นทูลเกล้าฯ และถูกนำมาใช้เป็นกฎหมายต่อไป อย่างไรก็ตามแม้จะถูกนำเข้าสภา แต่หากมีแรงต้านจากประชาชน อาจทำให้ส.ส.ไม่กล้าผลักดันเพื่อใช้เป็นกฎหมายได้เช่นกัน

podcast

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า