Advertisement

SHARE

คัดลอกแล้ว

ถ้าพูดถึงระบบการชำระเงิน หรือ Payment ถือเป็นหนึ่งสิ่งที่ประสบความสำเร็จอย่างมากในประเทศไทย ทั้งความเร็วในการทำธุรกรรม การยกเว้นค่าธรรมเนียมต่างๆ และพัฒนาการของระบบที่ทำได้ดีไม่แพ้ประเทศอื่นๆ

แต่ระบบ Payment ไม่ได้เป็นเรื่องของธนาคารเท่านั้น เพราะยังมีผู้ให้บริการอีกหลายรายที่ทำหน้านี้ในส่วนนี้ หนึ่งในนั้นคือ ‘ทูซีทูพี’ (2C2P) ผู้ให้บริการระบบการชำระเงินดิจิทัล

วันนี้ TODAY Bizview มีโอกาสพูดคุยกับ ‘ปิยชาติ รัตน์ประสาทพร’ ซีอีโอ บริษัท ทูซีทูพี (ประเทศไทย) จำกัด บริษัทย่อยของทูซีทูพี บริษัท Payment สัญชาติไทยที่เปิดให้บริการมาเกือบ 20 ปีแล้ว

[ ถ้าเคยซื้อของออนไลน์ ต้องเคยใช้ 2C2P ]

ซีอีโอของ 2C2P แนะนำตัวคร่าวๆ ว่า 2C2P คือ ผู้ให้บริการระบบการชำระเงิน (Payment Service Provider) ทำเรื่องเกี่ยวกับ Payment ทั้งหลาย และจะไม่ทำอะไรเลยที่ไม่เกี่ยวกับ Payment

ถ้าพูดถึง Payment จะมีอยู่ 2 ส่วนหลัก คือ 1. รับเงิน และ 2. จ่ายเงิน ซึ่ง 2C2P จะโฟกัสกับระบบการชำระเงินดิจิทัล หรือการทำธุรกรรมทางการเงินออนไลน์เป็นหลัก แตกต่างกับธนาคารที่ยังให้บริการถอนเงินสด หรือการวางเครื่องรูดบัตร (EDC) เพื่อให้บริการ

ยกตัวอย่างเวลาที่เราเข้าไปซื้อของออนไลน์ในร้านค้าอีคอมเมิร์ซต่างๆ และต้องการจ่ายเงิน ธุรกรรมตรงนี้จะเป็นสิ่งที่ 2C2P โฟกัสมากที่สุด ซึ่ง 2C2P มั่นใจว่า ถ้าใครเคยซื้อของออนไลน์กับร้านค้าในประเทศไทย ยังไงก็ต้องเคยใช้บริการของ 2C2P แน่นอน

สำหรับระบบ Payment ของ 2C2P แบ่งเป็น 4 กลุ่มใหญ่ ได้แก่

1. บริการชำระเงินผ่านบัตร (Card) ครอบคลุมบัตรเครดิต เดบิต และบัตรเติมเงิน (Prepaid Card)

2. บริการชำระเงินทางเลือก (Alternative Payments Methods: APMs) หรือบริการ 1 2 3 ครอบคลุมการชำระเงินผ่านอะไรก็ตามที่ไม่ใช่บัตร เช่น การตัดบัญชีธนาคาร การจ่ายเงินสดผ่านเคาท์เตอร์ที่ให้บริการ การโอนเงินจากบัญชีธนาคาร หรือการตัดเงินผ่านตู้ ATM

3. บริการชำระเงินผ่านกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ (Wallet) ซึ่งเป็นบริการที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในตอนนี้ ครอบคลุมทั้ง Wallet ที่เป็นระบบเปิด (Open Loop) ที่ใช้ได้กับทุกร้านค้า และระบบปิด (Close Loop) ที่ใช้ภายในองค์กรเท่านั้น

4. บริการชำระเงินในประเทศ (Local Payment) เป็นช่องทางชำระเงินที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะเป็นข้อกำหนดของรัฐบาลแต่ละประเทศ อย่างของไทย คือ พร้อมเพย์ (PromptPay)

[ ‘รับเงิน-จ่ายเงิน’ บริการได้ครบทั้งวงจร ]

อย่างไรก็ตาม บริการข้างต้นเป็นบริการในฝั่งการรับชำระเงินทั้งหมด แต่ในฝั่งของการจ่ายเงินก็มีโอกาสทางธุรกิจที่น่าสนใจเช่นกัน ส่งผลให้บริษัทฯ เกิดความคิดที่จะเข้ามาทำธุรกิจในฝั่งจ่ายเงินด้วย

โดยเริ่มจากการขอใบอนุญาต Wallet จากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ซึ่งนับมาถึงตอนนี้ก็ได้ไลเซ่นส์มาเกิน 5 ปีแล้ว ซึ่งช่วงแรกที่ได้ไลเซ่นส์มา บริษัทฯ ยังไม่มี End User หรือลูกค้าปลายทางของตัวเอง

ทั้งนี้ เพราะธุรกิจของ 2C2P แตกต่างจากธุรกิจอื่นๆ เช่น ซูเปอร์มาร์เก็ต หรือห้างสรรสินค้า ที่มี End User เข้าไปใช้บริการในร้าน ดังนั้น การทำ Wallet ของ 2C2P จึงต้องเป็นการทำร่วมมือกันกับพาร์ทเนอร์

ที่ผ่านมา 2C2P เป็นผู้ให้บริการระบบชำระเงินร่วมกันพันธมิตรต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการทำระบบเบื้องหลังบัตรของขวัญ (Gift Card) ให้กับโลตัส (Lotus’s) การออกบัตร Prepaid ให้กับไปรษณีย์ไทย

การออกบัตร Prepaid และ Wallet ให้กับซุปเปอร์ริช (SuperRich) รวมถึงการทำ Wallet ให้สารพัดบริษัท เช่น บิ๊กซี (Big C) และเครือโรงแรมของ B2

ถัดมา 2C2P เริ่มมีความคิดในการขยายธุรกิจไปยังระบบ Payment อื่นๆ จึงขอไลเซ่นส์โอนเงินต่างประเทศเพิ่มเติม เพื่อเชื่อมต่อกับ Wallet อื่นๆ ในต่างประเทศ ซึ่งได้รับอนุญาตาแล้วเรียบร้อย ตอนนี้บริษัทฯ เริ่มจับมือกับพาร์ทเนอร์ในต่างประเทศเพื่อให้บริการต่อไป

อีกส่วนที่เพิ่งมาเน้นในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา คือ สินค้าดิจิทัล (Digital Goods) ซึ่งต่อยอดจากบริการจ่ายบิลสมัยก่อนของอีซี่บิล (easyBills) บริการจ่ายบิลค่าน้ำ ค่าไฟ การเติมเงินมือถือ ฯลฯ แต่ตอนนี้มีการเพิ่มบิลสินค้าให้หลากหลายขึ้น รวมถึงเชื่อมต่อกับต่างประเทศ

[ ผู้อยู่เบื้องหลังทุกการช้อปออนไลน์ ]

สำหรับฐานลูกค้าของบริษัทฯ ในปัจจุบัน จะเป็นกลุ่มร้านค้า บริษัทขนาดใหญ่ และบริษัทที่ต้องการขายของออนไลน์

หากแบ่งตามธุรกิจ ส่วนใหญ่จะอยู่ในกลุ่มท่องเที่ยว ยกตัวอย่างสายการบินในไทยทั้งหมดก็ใช้บริการของ 2C2P รวมถึงธุรกิจนำเที่ยว (Travel Agent) ก็ใช้บริการของ 2C2P ทั้งหมด ทั้งในไทยและเอเชีรยตะวันออกเฉียงใต้

ถัดมาคือกลุ่มร้านค้าขนาดใหญ่ที่คนเข้าไปช้อปปิ้ง ซึ่งครอบคลุมมาร์เก็ตเพลส 3 เจ้าใหญ่ในประเทศ ซูเปอร์มาร์เก็ต 3 เจ้าใหญ่ ห้างสรรพสินค้า 2 เจ้าใหญ่ และร้านแฟชั่นต่างๆ

รวมถึงกลุ่มธุรกิจประกัน ก็ใช้บริการของ 2C2P เกือบทั้งหมด นอกเหนือจากนี้ เช่น กลุ่มค้าปลีกคอมพิวเตอร์ แกดเจ็ต และอิเล็กทรอนิกส์ ส่วนระยะหลังมีการเข้าไปซัพพอร์ตกลุ่มมูลนิธิและการศึกษามากขึ้น

สรุปคือ กลุ่มลุกค้าค่อนข้างหลากหลาย แต่โดยหลักแล้ว 2C2P จะซัพพอร์ตกลุ่มลูกค้าขนาดใหญ่และขนาดกลางที่มีโอกาสเติบโตสูงเป็นหลัก เพราะร้านค้าขนาดเล็กมีระบบชำระเงินออนไลน์ (Payment Gateway) อื่นๆ ที่เชื่อมต่อได้ง่ายอยู่แล้ว

อย่างไรก็ตาม ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา 2C2P พัฒนาผลิตภัณฑ์ ‘ควิก’ (Qwik) เพื่อซัพพอร์ตกลุ่มลูกค้าขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) มากขึ้น ปัจจุบันมี SMEs เข้ามาใช้บริการมากกว่า 1,000 รายแล้ว

นอกเหนือจากร้านค้าในประเทศแล้ว กลุ่มร้านค้าระหว่างประเทศ เช่น แอปเปิ้ล (Apple) ซาร่า (ZARA) ดีเอชแอล (DHL) ฯลฯ ที่เข้ามาในอาเซียน ก็เข้ามาใช้บริการ เพราะสามารถเชื่อมต่อกับ 2C2P เพื่อให้บริการในภูมิภาคได้ทันที

เหตุผลที่ทำให้แบรนด์ดังระดับโลกวางใจใช้บริการ เพราะ 2C2P มีศักยภาพเทียบใกล้เคียงกับธนาคาร ในการเชื่อมต่อกับระบบบัตรต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นวีซ่า (Visa) มาสเตอร์การ์ด (Mastercard) อเมริกัน เอ็กซ์เพรส (American Express) ฯลฯ

รวมถึงช่องทาง APM ที่กล่าวไปขั้นต้น และการขยายไปยัง Payment ใหม่ๆ เช่น การซื้อก่อนจ่ายทีหลัง (Buy Now Pay Later: BNPL) ซึ่งกำลังได้รับความนิยมอย่างมาก

‘คนที่ใช้บริการเรามี 2 แบบ คือ แบบรู้ตัว กับ แบบไม่รู้ตัว แบบรู้ตัว คือ เวลาจ่ายเงินก็กระโดดมาที่หน้าของ 2C2P จะเห็นโลโก้ของ 2C2P ชัดเจน แบบไม่รู้ตัว คือ ร้านค้าดังๆ จะทำ API Integration เป็นหน้าตาของร้านค้านั้นๆ ซึ่งอาจจะไม่มีคำว่า 2C2P หรือถ้ามีก็เป็น Support by 2C2P หรือมีชื่อแค่ในข้อความยืนยันเท่านั้น’

[ ตลาด Payment เรื่องง่ายๆ แต่มูลค่าไม่ธรรมดา ]

สำหรับผลการดำเนินการ 2C2P ในช่วงที่ผ่านมา รายได้สามารถเติบโตเข้าเป้าทุกปี เฉลี่ย 30-50% โดยในปีล่าสุด (2564) บริษัทฯ มีรายได้ในไทยราว 2,000 ล้านบาท และหากรวมทั้งกลุ่ม จะมีรายได้มากกว่า 100 ล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 3.8 พันล้านบาท)

แม้แต่ในช่วงโควิด-19 ธุรกิจ Payment ก็ยังเติบโตค่อนข้างสูง เพราะคนหันมาซื้อของออนไลน์และใช้จ่ายผ่านช่องทางดิจิทัลมากขึ้น รวมถึงการเติบโตของอีคอมเมิร์ซ

ส่วนในช่วงเวลาปกติ ก็ได้ปัจจัยหนุนจากพฤติกรรมของลูกค้าที่เริ่มเปลี่ยนมาชำระเงินผ่านช่องทางออนไลน์มากขึ้น รวมถึงโครงการสนับสนุนจากภาครัฐ เช่น คนละครึ่ง ก็เป็นอีกส่วนที่ทำให้คนเริ่มคุ้นเคยกับการจ่ายเงินออนไลน์

ขณะที่ปีนี้ (2565) คาดว่ารายได้ของบริษัทฯ จะเติบโตต่อเนื่อง 30-50% ใกล้เคียงกับการเติบโตของอุตสาหกรรม

โดยภาพรวมตลาดชำระเงินออนไลน์ของอาเซียนในปี 2564 มีมูลค่าธุรกรรมสูงกว่ากว่า 5-6 พันล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 1.9-2.3 แสนล้านบาท) ซึ่งเทรนด์การเติบโตในภูมิภาค หากเป็นการเติบโตปกติ (Organic Growth) จะตกปีละ 20-30%

ส่วนปีที่มีปัจจัยพิเศษเข้ามาสนับสนุนก็อาจเติบโตมากกว่า 30% เช่นในปี 2564 ก็สามารถเติบโตได้ราว 30-50% จากอานิสงส์การเติบโตของอีคอมเมิร์ซและการใช้จ่ายผ่านช่องทางดิจิทัล

สำหรับปี 2565 คาดว่าการเติบโตจะยังสูงต่อเนื่อง และมีโอกาสเติบโตสูงกว่าปกติ เพราะธุรกรรมจากธุรกิจท่องเที่ยวที่กลับมา ซึ่งเดิมก่อนเกิดโควิด-19 เป็นภาคธุรกิจที่มีปริมาณธุรกรรมใหญ่ที่สุด ถ้ายกตัวอย่างให้เห็นภาพ คือ ถึงอีคอมเมิร์ซจะเติบโตเท่าตัว ก็ยังไม่สามารถเทียบเท่ากับท่องเที่ยวได้

ด้วยอัตราการเติบโตที่สูงต่อเนื่อง และเทรนด์คนมาใช้จ่ายผ่านช่องทางออนไลน์ คาดว่าในปี 2568 หรือภายในอีก 2-3 ปีข้างหน้านี้ จะเห็นการเติบโตแตะ 2 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 7.5 ล้านล้านบาท) ด้วยจำนวนผู้ใช้งาน 200 ล้านราย

[ 2C2P กับความสามารถที่เข้าตา Ant Group ]

เมื่อสอบถามถึงแผนธุรกิจ ซีอีโอของ 2C2P กล่าวว่า สามารถแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ 1. การเติบโตแนวตั้ง (Vertical Growth) คือ การเติบโตของผลิตภัณฑ์ ทั้งฟีเจอร์และฟังก์ชั่นของผลิตภัณฑ์ที่มีอยู่ รวมถึงผลิตภัณฑ์ใหม่ที่สร้างขึ้นมา

เช่น การเพิ่มช่องทางชำระเงิน การเชื่อมต่อเชิงลึก (Deep Link/ Deep Integration) ระหว่างร้านค้ากับโมบายแบงก์กิ้งของธนาคาร ซึ่งต้องทำต่อเนื่องเพื่อให้บริการของ 2C2P เป็นเบอร์ 1 ในตลาด

และ 2. การเติบโตแนวนอน (Horizontal Growth) คือ การขยายออกไปให้บริการในต่างประเทศ ซึ่งปัจจุบันบริการของ 2C2P ครอบคลุมเกือบทั้งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้แล้ว ขณะที่ในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา ก็มีการเข้าไปให้บริการในฮ่องกง และในปีนี้จะเริ่มให้บริการในยุโรปเพิ่มเติม

อย่างไรก็ตาม 2C2P ยังไม่หยุดมองหาโอกาสในภูมิภาคอื่นๆ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายการเป็นผู้ให้บริการะบบการชำระเงินระดับโลก

โดยเมื่อต้นปี 2565 ‘แอนท์ กรุ๊ป’ (Ant Group) กลุ่มการเงินยักษ์ภายใต้อาลีบาบา (Alibaba) ประกาศเข้ามาลงทุนเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ใน 2C2P ซึ่งก็เชื่อว่าการเข้ามาของ Ant Group จะมีส่วนช่วยในการเติบโตของบริษัทฯ และสนับสนุนให้ 2C2P เติบโตไปเป็นบริษัทระดับโลกได้เร็วมากยิ่งขึ้น

‘เราเป็นบริษัทในประเทศไทย เปิดมาตั้งแต่ปี 2003 สิ้นปีนี้ก็เกือบจะ 20 ปีแล้ว เรามีวิชั่นว่า ประเทศไทยอย่างเดียวอาจจะไม่พอ อย่างน้อยเราต้องเป็น Regional และความตั้งใจจริงๆ ของเราคือต้องเป็น Global’

[ 2C2P นอนแบงก์ที่กำลังร่วมพัฒนา CBDC กับแบงก์ชาติ ]

สำหรับสกุลเงินดิจิทัลที่ออกโดยธนาคารกลาง (Central Bank Digital Currency: CBDC) ที่กำลังได้รับความสนใจในตอนนี้ จริงๆ ก็คือคริปโตเคอร์เรนซีที่ออกโดยธนาคารกลาง ซึ่งในที่นี้คือแบงก์ชาติ แต่มีสกุลเงินรองรับ ซึ่งในที่นี้คือเงินบาท เพราะฉะนั้น 1 CBDC จะเท่ากับ 1 บาท

ที่ต้องทำแบบนี้ เพราะ ธปท.อยากทำให้เงินบาทเป็นดิจิทัลมากขึ้น  เบื้องต้นคาดว่าโครงการนำร่อง CBDC ของไทยจะเริ่มภายในสิ้นปีนี้ (2565) หรือต้นปีหน้า (2566) โดยมีธนาคาร 2 แห่ง คือ ธนาคารไทยพาณิชย์ และธนาคารกรุงศรีอยุธยา รวมถึงสถาบันการเงินที่ไม่ใช่ธนาคาร (Non-bank) 1 ราย ซึ่งก็คือ 2C2P เข้ามาร่วมทดสอบ

โจทย์คือให้ทั้ง 3 สถาบันมาร่วมออก CBDC ซึ่งในที่นี้คือการสร้างกระเป๋าเงินดิจิทัลของแบงก์ชาติ เพื่อให้กลุ่มลูกค้านำร่อง 10,000 ราย สามารถนำ CBDC ไปทดลองใช้กับร้านค้าออฟไลน์และออนไลน์ ถ้าประสบความสำเร็จ ก็จะเอาออกมาใช้เป็นการทั่วไป

นอกจากไทยแล้ว ธนาคารกลางทั่วโลกกว่า 70-80% ก็กำลังอยู่ระหว่างพัฒนา CBDC เหมือนกัน ซึ่งในอนาคตเวลาจะทำธุรกรรมทางการเงินระหว่างประเทศ แทนทีจะคุยกันทีละแบงก์ ก็เอา CBDC ของแต่ละรัฐบาลมาคุยกัน เพื่อชำระเงินระหว่างประเทศ (Cross-border Payment) เช่น สมมติเราไปเที่ยวสิงคโปร์ ก็สามารถใช้ CBDC สแกนจ่ายเพื่อตัดเป็นเงินบาทไทยได้ทันที เป็นต้น

สำหรับ 2C2P บริการ CBDC เป็นเหมือนช่องทางใหม่ที่เพิ่มเข้ามา ลูกค้าหรือผู้จ่ายเงินมีทางเลือกมากขึ้นในการจ่ายเงิน เพียงแต่ทางเลือกนี้ เป็นทางเลือกที่ออกโดยแบงก์ชาติ จึงดูมีน้ำหนักและอนาคตมากกว่าที่เอกชนทำ

[ เปรียบเทียบระหว่าง 2C2P กับ PayPal ]

เมื่อสอบถามถึงการกลับมาให้บริการของ ‘เพย์พาล’ (PayPal) ในประเทศไทย ซีอีโอของ 2C2P มองว่า เป้าหมายของ PayPal คือการสนับสนุนร้านค้าขนาดเล็ก ซึ่งแตกต่างจาก 2C2P ที่เน้นร้านค้าขนาดใหญ่

นอกจากนี้ ช่องทางการรับชำระเงินของ PayPal ก็มีค่อนข้างจำกัด โดยรับชำระบัตรเครดิตและ Wallet เท่านั้น แต่เพราะเป็นผู้ให้บริการ Payment รายแรกๆ รวมถึงเริ่มต้นให้บริการในสหรัฐฯ ทำให้มีร้านค้าในมือค่อนข้างเยอะ และเป็นที่รู้จักในประเทศแถบนั้น

อย่างไรก็ตาม 2C2P ก็ไม่ได้กังวลกับการกลับมาของ PayPal เพราะมองว่าทั้ง 2 บริษัทมีความแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง อย่างร้านค้าขนาดเล็กอาจจะเชื่อมต่อกับ PayPal ได้สะดวก แต่มีข้อเสียตรงค่าใช้จ่ายที่ค่อนข้างสูง และมีค่าธรรมเนียมหลายจุด

ส่วน 2C2P ที่มีบริการรองรับร้านค้าขนาดเล็ก แต่มีการกำหนดวงเงินเพื่อป้องกันความเสี่ยง ส่วนบริษัทที่เชื่อมต่อกับร้านค้าขนาดใหญ่ ปกติแล้วลูกค้าต้องมีความพร้อมทางเทคนิคระดับหนึ่ง เพราะมีลูกเล่นในการชำระเงินค่อนข้างเยอะ จึงต้องทำเซิร์ฟเวอร์มาต่อเชื่อม

podcast

LATEST
OUR PICKS
HOT
กำลังโหลดบทความถัดไป...

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า