SHARE

คัดลอกแล้ว

‘พ.ร.ก. นิรโทษกรรมวัคซีน’ อีกปมร้อนที่ผุดขึ้นมา ท่ามกลางการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 สังคมกังขา จะเหมาเข่ง ? ฟังเสียง-ความเห็นจากหลายฝ่าย

ที่มาที่ไปของ พ.ร.ก.นิรโทษกรรมวัคซีน มาจากที่ประชุมศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉิน ด้านการแพทย์และสาธารณสุข กรณีโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) วันที่ 26 กรกฎาคม 2564

ชื่อเต็มๆ ของพ.ร.ก.นิรโทษกรรมวัคซีน คือ “พระราชกำหนดจำกัดความรับผิดสำหรับบุคลากรสาธารณสุขในการรักษาพยาบาลผู้ป่วยโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) พ.ศ. … ”

สาระสำคัญ ที่ทำให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ ว่าจะไม่ใช่กฎหมายเพื่อคุ้มครอง ‘บุคลากรทางการแพทย์’ เท่านั้น เพราะในร่างพ.ร.ก.ฉบับนี้ มีการกำหนด บุคคลที่ได้รับการคุ้มครอง ไม่ต้องรับผิดตามกฎหมาย 7 กลุ่ม และ 3 สถานพยาบาล 

ซึ่งไฮไลต์ คือ กลุ่มที่ 7  บุคคล/คณะบุคคลที่ได้รับการแต่งตั้งหรือมอบหมายจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการจัดหาหรือบริหารวัคซีน

ที่จะได้รับการคุ้มครอง ไม่ต้องรับผิดตามกฎหมาย ทั้ง ความรับผิดทางแพ่ง, ความรับผิดทางอาญา, ความรับผิดทางวินัย และความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่

ยกเว้น การกระทำนั้นเป็นไปโดยไม่สุจริต, การกระทำนั้นเป็นไปโดยประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง และการกระทำนั้นเกิดหรือมูลเหตุมาจากการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมต่อบุคคลตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ

คำชี้แจงจากผู้เกี่ยวข้อง

วันที่ 9 ส.ค. 2564 กระทรวงสาธารณสุข ได้เปิดแถลงข่าว โดย นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (กรม สบส.) กล่าวว่า โรคโควิด-19 เป็นโรคติดต่ออันตราย และประกาศเป็นภาวะฉุกเฉิน ถือเป็นภัยพิบัติต่อสาธารณะที่ทำให้เกิดความทั้งเสียหาย ประชาชนเจ็บไข้ได้ป่วยจำนวนมาก การระดมสรรพกำลังทั้งภาครัฐ เอกชน ประชาชนองค์กร อาสาสมัครต่างๆ มาช่วยดูแลประชาชน ประเด็นสำคัญคือโรคนี้เป็นโรคที่ใหม่มาก แนวทางการรักษาเรื่องยาที่ใช้ในการรักษา วิธีการ และเมื่อจำนวนผู้ป่วยที่มากขึ้นจากการระบาดหลายครั้ง มีการเปลี่ยนแปลงสายพันธุ์ ความจำกัดในทรัพยากรด้านสาธารณสุขต่างๆ จนต้องเปิดโรงพยาบาลสนาม แต่แน่นอนว่า อาจมีเรื่องที่ดูไม่ทั่วถึงทั้งหมด การที่จำเป็นจะต้องมี คล้ายๆ ภูมิคุ้มกันให้กับบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข เป็นเรื่องสำคัญ

“การที่มีภูมิต้านทานในการที่จะถูกฟ้องร้อง จะทำให้บุคลากรมีขวัญกำลังใจในการทำงาน ซึ่งตรงนี้เป็นเรื่องสำคัญในภาวะอย่างนี้ รวมทั้งมีข้อเสนอจากองค์กรวิชาชีพ จากสภาวิชาชีพต่างๆ และทางสมาคมโรงพยาบาลเอกชนได้เสนอให้มีกฎหมายในลักษณะนี้ขึ้น “

กระทรวงสาธารณสุข จึงได้ตั้งคณะกรรมการยกร่างกฎหมายดังกล่าว โดยมอบหมายให้ กรมสบส. เป็นหน่วยงานหลัก และมีผู้แทนจากภาคส่วนต่างๆ เช่น ภาควิชาชีพ ภาคกฎหมาย เพื่อพิจารณากลไกคุ้มครองผู้ทำงานในช่วงภัยพิบัติโรคระบาดให้ทำหน้าที่ได้เต็มความสามารถ โดยไม่ต้องกังวลว่าจะถูกฟ้องร้อง

นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์

ขณะที่ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ก็ชี้แจงสอดคล้องกันว่า ร่างพ.ร.ก.ฉบับนี้ จะออกมาเพื่อ สร้างความมั่นใจกับผู้ปฏิบัติหน้าที่เกี่ยวกับโรคโควิด 19 คลายความกังวล เช่น การวินิจฉัยโรคและรักษาพยาบาล ก็ต้องทำความมั่นใจว่าเขาจะได้รับความเป็นธรรม โดยเฉพาะเรื่องของการฟ้องร้อง หากทำโดยเจตนาสุจริต ศาลก็ไม่เคยลงโทษ แต่เราไม่ต้องการให้บรรดาแพทย์ พยาบาล มีความวิตกกังวลหากถูกฟ้องร้อง แม้จะมั่นใจว่า ชนะ ก็ยังมีความวิตกกังวลระดับหนึ่ง เราต้องการให้แพทย์ พยาบาล มีขวัญกำลังใจเต็มที่ จะได้ทุ่มเทในการรักษาพยาบาล วัคซีนก็ต้องจัดหาเข็มสาม เพื่อความปลอดภัยในการไปรักษาคนไข้ มีความกังวลให้น้อยที่สุด ซึ่งสุดท้ายประชาชน คนไข้ก็ได้ประโยชน์

อนุทิน ชาญวีรกูล-แฟ้มภาพ

อย่างไรก็ตาม วันที่ 10 ส.ค. 2564 นายอนุทิน ได้ให้สัมภาษณ์ในรายการเจาะลึกทั่วไทย วันที่ 10 ส.ค. 2564 ยืนยันว่า ร่างพ.ร.ก.นิรโทษกรรมไม่ใช่การออกมาเพื่อนิรโทษกรรมตัวเอง

“ผมพูดได้เลยนะครับ ตั้งแต่มีสถานการณ์โควิดมานี่ ในเรื่องนโยบายไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรเลย การซื้อยาเป็นหน้าที่ใครล่ะ เป็นหน้าที่กรมควบคุมโรค กรมการแพทย์ สำนักปลัดกระทรวงสาธารณสุข การซื้อวัคซีนก็เป็นการเจรจาระหว่างสถาบันวัคซีนแห่งชาติ กรมควบคุมโรค องค์การเภสัชกรรม ซึ่ง มีบอร์ด คณะกรรมการกำกับดูแลอีกชั้นหนึ่ง กับบริษัทผู้ผลิตวัคซีน ทั้งหมดทั้งหลายทั้งปวง ทางฝ่ายนโยบายแทบไม่ได้ไปยุ่งอะไรเลย”

และว่า “ผมว่าตัวเขาไม่ได้กลัว ข้าราชการที่ทำงานไม่ได้ออก แต่ว่าหัวหน้าส่วนราชการ มีความเป็นห่วงผู้ใต้บังคับบัญชา ในหลายๆ ประเด็น เขาก็ต้องมองทุกมิติ ผมไม่ได้ถามท่านปลัด (สธ.) แต่ผมว่าเริ่มแรกท่านปลัดก็คงห่วงแพทย์ ห่วงไปห่วงมาก็อาจจะมาห่วงตัวเองด้วยก็ได้ เพราะว่าประเทศนี้ใช้ระบบกล่าวหา”

 

เสียงจากฝ่ายคัดค้าน

ทางด้านเครือข่าย Nurses Connect ผุดแคมเปญ คัดค้าน พ.ร.ก.นิรโทษกรรมแบบเหมาเข่ง โดยระบุว่า “หยุดอ้างว่านี่คือการปกป้องคนทำงาน หยุดอ้างว่านี่คือการให้กำลังใจบุคลากรด่านหน้า เพราะบุคลากรด่านหน้า และอาสาสมัครต่างๆ ทำงานเต็มที่โดยอยู่บนมาตรฐานวิชาชีพอย่างสูงสุดเท่าที่สถานการณ์จะเอื้อให้ทำได้ และพวกท่านทั้งหลายจงหยุดอ้างว่า ทั้งหมดเพื่อผลประโยชน์ของประชาชน แต่พวกท่านจงระลึกว่า เพราะการทำงานของพวกท่านนั่นเองที่นำพาประเทศและการสาธารณสุขให้ดิ่งลงเหวมาจนถึงจุดนี้ และพวกท่านนั่นแหละต้องรับผิดชอบกับการกระทำของตนเอง”

วิโรจน์ ลักขณาอดิศร-แฟ้มภาพ

นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคก้าวไกล ผู้เปิดเอกสาร ร่างพ.ร.ก.ฉบับนี้ เมื่อวันที่ 6 ส.ค. 2564  อ่านข่าวนี้ ได้กล่าวว่า พรรคก้าวไกลยืนยันว่าไม่ควรออกกฎหมายนิรโทษกรรมใดๆ เพื่อให้คณะบุคคล หรือบุคคลใดที่มีส่วนเกี่ยวข้อง ในการตัดสินใจเชิงนโยบายให้พ้นผิดโดยปราศจากกระบวนการสอบสวนข้อเท็จจริง และอีกประการหนึ่ง สัญญาณที่ออกมาว่า น่ากังวลอย่างมาก การออกกฎหมายก็ควรต้องออก โดยใช้อำนาจนิติบัญญัติ คือออกเป็นพระราชบัญญัติ ใช่หรือไม่

การงุบงิบรวบรัดตัดตอน ที่จะออกเป็น พ.ร.ก. แบบนี้ ก็สะท้อนถึงความไม่ชอบมาพากล ที่ประชาชนต่างสงสัยได้ ประชาชนหลายคนสงสัยว่า มีอะไรในกอไผ่หรือไม่ หรือรัฐบาลได้รู้ตัวดีหรือไม่ว่าได้ก่อกรรมทำเข็ญอะไรไว้กับประชาชน จึงต้องรวบรัดตัดตอนเพื่อให้ตัวเองพ้นผิด

วิษณุ เครืองาม-แฟ้มภาพ

มือกฎหมายรัฐบาล เบรก ออกเป็น พ.ร.ก.!

อย่างไรก็ตาม ในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 10 ส.ค. 2564 มีรายงานว่า นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ได้สอบถามที่มาที่ไป ร่างพ.ร.ก.ฉบับนี้ กับนายอนุทิน ซึ่งนายอนุทินก็ได้อธิบายว่ายังยกร่างไม่เสร็จ และย้ำว่า ถึงอย่างไรกระทรวงสาธารณสุขจะต้องมาปรึกษากับนายวิษณุอยู่แล้ว

สุดท้าย นายวิษณุ ได้บอกว่า ที่จริงถ้ากังวลกันมาก ต้องการความมั่นใจ ต้องการความคุ้มครอง ทางออกก็มีโดยไม่ต้องออกเป็น พ.ร.ก. ก็ได้ แต่ให้ดึงบุคลากรทางการแพทย์ด่านหน้าทั้งหมดมาเป็นเจ้าพนักงานของ ศบค. ก็จะได้รับความคุ้มครองภายใต้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน แต่ถ้ายังไม่มั่นใจอีกแล้วต้องการออกเป็นพ.ร.ก.จริงๆ ก็อยากให้นำเรื่องที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชน หรือเรื่องที่ต้องการแก้ไขอื่นๆ เช่น เรื่องวัคซีน โรงพยาบาลสนาม ให้มารวมใน พ.ร.ก.ฉบับนี้ด้วย ไม่ใช่นิรโทษกรรมเพียงเรื่องเดียว อ่านข่าวนี้

ปลัดสธ. นำแถลงขอให้คุ้มครองผู้ปฏิบัติงาน

วันที่ 11 ส.ค. 2564 นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข นำอ่านแถลงการณ์ ขอให้คุ้มครองผู้ปฏิบัติงานในสถานการณ์โควิด-19 โดยกล่าวว่า ผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข รองปลัดกระทรวง อธิบดีทุกกรม เลขาธิการ อย. สถาบันวัคซีนแห่งชาติ สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข สถาบันการแพททย์ฉุกเฉินแห่งชาติ องค์การเภสัชกรรม แพทยสภา สภาการพยาบาล ทันตแพทย์สภา สภาเภสัชกรรม สภาเทคนิคการแพทย์ สภากายภาพบำบัดและแพทยสมาคม เห็นพ้องต้องกันว่า โรคโควิด-19 เป็น โรคอุบัติใหม่ร้ายแรง ที่มีผลกระทบในวงกว้างทุกมิติ ทำให้มีผู้คนเจ็บป่วยจำนวนมาก และบางครอบครัวต้องสูญเสียบุคคลอันเป็นที่รัก ระบบสาธารณสุขไทยได้ต่อสู้กับโรคนี้มานาน เกือบ 2 ปี

ด้วยสรรพกำลัง ทั้งภาครัฐ เอกชน จิตอาสา ประชาสังคม และประชาชน ด้วยสถานการณ์ทุกด้านมีความเร่งด่วน ต้องการความร่วมมือร่วมใจ ในการควบคุมป้องกันโรค การรักษาพยาบาลในทุกวิถีทางที่จะทำได้ รวมทั้งการจัดหายา เวชภัณฑ์ และวัคซีน ซึ่งการตัดสินใจ และการทำงานในภาวะเร่งด่วน รวมทั้งมีข้อจำกัดในเรื่ององค์ความรู้และทรัพยากร อาจก่อให้เกิดความไม่สมบูรณ์ หรืออาจเกิดข้อผิดพลาด จากการปฏิบัติงานโดยสุจริตใจได้

ดังนั้น กระทรวงสาธารณสุข จึงร่วมกับภาคีเครือข่ายด้านสุขภาพข้างต้น ขอเสนอให้รัฐบาลได้โปรดพิจารณาดำเนินการ หามาตรการในการปกป้องคุ้มครอง ผู้ปฏิบัติงาน ตลอดจนนักวิชาการต่างๆ เพื่อลดความวิตกกังวล และสร้างความมั่นใจในการทำงาน ที่จะเป็นประโยชน์สูงสุดให้กับประชาชนต่อไป

podcast

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า