Advertisement

SHARE

คัดลอกแล้ว

หลังจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ประกาศว่า สนใจการเมือง มีหนทางของการกลับมาเป็น “นายกรัฐมนตรี” อีกสมัย! ได้อย่างไรบ้าง ในการเลือกตั้ง ที่จะเกิดขึ้นต้นปี 2562  

ได้ฤกษ์วันที่ 24 กันยายน 2561 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ประกาศเสียงดังฟังชัดว่า “ผมสนใจงานการเมือง”

แต่จะตัดสินใจอย่างไร จะสนับสนุนใคร? เป็นเรื่องอีกระยะหนึ่งที่จะ “เฉลย” ต่อไป แต่กระนั้น พล.อ.ประยุทธ์ ยืนยันว่า จะไม่ออกจากตำแหน่ง หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ หัวหน้าคสช. ที่มีอำนาจบริหารราชการแผ่นดินในขณะนี้ ( อ่านข่าว ยังไม่ตกผลึก! นายกฯ รับสนใจการเมือง  )

สำหรับเส้นทางการเป็นนายกรัฐมนตรีต่อ ของพล.อ.ประยุทธ์ สามารถทำได้ถึง 3 เส้นทาง ดังนี้

 

เส้นทางแรก

พล.อ.ประยุทธ์ ไปลงเป็น 1 ใน 3 ของ “บัญชีรายชื่อนายกรัฐมนตรี” ของพรรคการเมืองใดการเมืองหนึ่ง ที่จะเสนอให้ประชาชนตัดสินใจในการเลือกตั้ง ส.ส. ที่กำลังจะมาถึง

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 88 ระบุว่า ในการเลือกตั้งทั่วไป ให้พรรคการเมืองที่ส่งผู้สมัครรับเลือกตั้ง แจ้งรายชื่อบุคคลซึ่งพรรคการเมืองนั้นมีมติว่า จะเสนอให้สภาผู้แทนราษฎรเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี ไม่เกิน 3 รายชื่อ ต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ก่อนปิดการรับสมัครรับเลือกตั้ง และให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง ประกาศรายชื่อบุคคลดังกล่าวให้ประชาชนทราบ และให้นำความในมาตรา 87 วรรคสองมาใช้บังคับโดยอนุโลม

พรรคการเมือง จะไม่เสนอรายชื่อบุคคลตามวรรคหนึ่งก็ได้

มาตรา 89 การเสนอชื่อบุคคลตามมาตรา 88 ต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ ดังต่อไปนี้

(1) ต้องมีหนังสือยินยอมของบุคคลซึ่งได้รับการเสนอชื่อ โดยรายละเอียดตามที่คณะกรรมการการเลือกตั้งกำหนด

(2) ผู้ได้รับการเสนอชื่อต้องเป็นผู้มีคุณสมบัติ และไม่มีลักษณะต้องห้ามที่จะเป็นรัฐมนตรี ตามมาตรา 160 และไม่เคยทำหนังสือยินยอมตาม (1) ให้พรรคการเมืองอื่นในการเลือกตั้งคราวนั้น

การเสนอชื่อบุคคลใดที่มิได้เป็นไปตามวรรคหนึ่ง ให้ถือว่า ไม่มีการเสนอชื่อบุคคลนั้น

มาตรา 160 รัฐมนตรีต้อง

(1) มีสัญชาติไทยโดยการเกิด

(2) มีอายุไม่ต่ำกว่า 35 ปี

(3) สำเร็จการศึกษาไม่ต่ำกว่าปริญญาตรีหรือเทียบเท่า

(4) มีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์

(5) ไม่มีพฤติกรรมอันเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง

(6) ไม่มีลักษณะต้องห้ามมาตรา 98

(7) ไม่เป็นผู้ต้องคำพิพากษาให้จำคุก แม้คดีนั้นจะยังไม่ถึงที่สุด หรือมีการรอการลงโทษ เว้นแต่ในความผิดอันได้กระทำโดยประมาท ความผิดลหุโทษ หรือความผิดฐานหมิ่นประมาท

(8) ไม่เป็นผู้เคยพ้นจากตำแหน่ง เพราะเหตุกระทำการอันเป็นการต้องห้ามตามมาตรา186 หรือมาตรา 187 มาแล้วยังไม่ถึง 2 ปี นับถึงวันแต่งตั้ง

และตามที่บัญญัติไว้ใน มาตรา 13 พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (พ.ร.ป. ส.ส.) กำหนดให้พรรคการเมืองส่งผู้สมัครโดยให้แจ้งรายชื่อบุคคลที่พรรคการเมืองนั้น มีมติว่า จะเสนอให้สภาพิจารณาให้ความเห็นชอบแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีไม่เกิน 3 รายชื่อ ต่อคณะกรรมการเลือกตั้ง ก่อนการรับสมัครเลือกตั้ง เมื่อพรรคการเมืองแจ้งรายชื่อบุคคลใดแล้ว ห้ามบุคคลนั้น หรือพรรคการเมืองนั้นถอดถอนรายชื่อ เว้นแต่บุคคลนั้นตาย หรือขาดคุณสมบัติ 

ถ้าเป็นเส้นทางนี้ ก็ต้องรอดูการตัดสินใจของ พล.อ.ประยุทธ์ ว่า จะไปอยู่กับพรรคใด ? เพราะแม้จะเกินกรอบเวลา 90 วัน ที่ผู้จะสมัคร ส.ส. ต้องสังกัดพรรคการเมือง แต่ “พล.อ.ประยุทธ์” ยังไม่ได้เปิดเผยว่า จะไปอยู่กับพรรคใด ก็ไม่มีผล เพราะถ้าจะเป็นนายกรัฐมนตรี กฎหมายไม่ได้กำหนดว่า จะต้องเป็น “ส.ส.” 

เส้นทางที่สอง

“รอ” เป็นนายกรัฐมนตรีคนนอก ในกรณีที่ไม่สามารถเลือกนายกรัฐมนตรีได้

มาตรา 272 ใน รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักร พุทธศักราช 2560 ระบุว่า ในระหว่าง 5 ปีแรก นับแต่วันที่มีรัฐสภาชุดแรกตามรัฐธรรมนูญนี้ การให้ความเห็นชอบบุคคล ซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี ดำเนินการตามมาตรา 159  เว้นแต่การพิจารณาให้ความเห็นชอบตามมาตรา 159 วรรคหนึ่ง ให้กระทำในที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภา และมติที่เห็นชอบการแต่งตั้งบุคคลใดให้เป็นนายกรัฐมนตรี ตามมาตรา 159 วรรค 3 ต้องมีคะแนนเสียงมากกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภา

ในระหว่างเวลาตามวรรคหนึ่ง หากมีกรณีไม่อาจแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีจากผู้มีชื่ออยู่ในบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองแจ้งไว้ตามมาตรา 88 ไม่ว่าด้วยเหตุผลใด และสมาชิกของทั้งสองสภารวมกันจำนวนไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภาเข้าชื่อเสนอต่อ ประธานรัฐสภา

ขอให้รัฐสภามีมติยกเว้นเพื่อไม่ต้องเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีจากผู้มีชื่ออยู่ในบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองแจ้งไว้ตามมาตรา 88

ในกรณีเช่นนั้น ให้ประธานรัฐสภาจัดให้มีการประชุมร่วมกันของรัฐสภาโดยพลัน และในกรณีที่รัฐสภามีมติด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่าสองในสาม ของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภาให้ยกเว้นได้ ให้ดำเนินการตามวรรคหนึ่งต่อไป โดยจะเสนอชื่อผู้อยู่ในบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองแจ้งไว้ตามมาตรา 88 หรือไม่ก็ได้

 

เส้นทางที่สาม

กรณีนี้จะเกี่ยวข้องกับการเลือกตั้ง ส.ส. ที่ตามเป้าหมายจะเลือกกันในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ ปี 2562  คือ “การไม่สามารถเปิดการประชุมสภาเพื่อเลือกนายกรัฐมนตรีได้” ทั้งนี้ มาตรา 127 ของ พ.ร.ป. ส.ส. ระบุว่า ในการเลือกตั้งทั่วไป ให้กกต. ประกาศผลการเลือกตั้ง ส.ส. แบบแบ่งเขตเลือกตั้งได้ เมื่อตรวจสอบเบื้องต้นแล้วมีเหตุอันควรเชื่อว่า ผลการเลือกตั้งเป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม และมีจำนวนไม่น้อยกว่าร้อยละ 95 ของเขตเลือกตั้งทั้งหมด ซึ่งคณะกรรมการต้องตรวจสอบเบื้องต้น และประกาศผลการเลือกตั้งให้แล้วเสร็จโดยเร็ว แต่ต้องไม่ช้ากว่า 60 วันนับแต่วันเลือกตั้ง

กกต.จะต้องรับรอง ส.ส. จำนวนร้อยละ 95 หรือ 475 เสียงจึงจะเปิดการประชุมได้

แต่หากมีปัญหา เช่น ผู้สมัครที่ชนะการเลือกตั้ง ส.ส. ของเขตนั้น มีคะแนนน้อยกว่าเสียงโหวตโน หรือ ไม่ประสงค์ลงคะแนนเลือกใคร จะต้องจัดการเลือกตั้งใหม่ (โดยพรรคการเมืองจะต้องส่งผู้สมัครใหม่ ห้ามส่งคนเดิมที่ประชาชนไม่เลือก) ซึ่งหากเกิดกรณีเช่นนี้หลายเขตเลือกตั้ง ก็ต้องใช้เวลาเพิ่มขึ้น

ในกรณีที่มีการเลือกตั้งใหม่ กำหนดเวลาประกาศผลการเลือกตั้งตามวรรคหนึ่ง ให้เริ่มนับตั้งแต่วันที่มีการเลือกตั้งใหม่ หมายความว่า ถ้ามีการเลือกตั้งใหม่หลายเขต การรับรองผล ส.ส.ก็อาจจะยืดออกไป

ดังนั้น คณะรัฐมนตรี (ครม.) และคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่จะสิ้นสุดเมื่อ ครม.ชุดใหม่ เข้าถวายสัตยปฏิญาณ จะทำหน้าที่ต่อไป

podcast

LATEST
OUR PICKS
HOT
กำลังโหลดบทความถัดไป...

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า