สารคดีเชิงข่าว ชุด “ SLAPPs ฟ้องปิดปาก ปิดเสียง” ทีมข่าวเวิร์คพอยท์นำเสนอเรื่องราวของ 4 บุคคล ใน 4 จังหวัดที่ลุกขึ้นมาปกป้องสิทธิ์จนถูกฟ้องในคดีต่างๆ
ตอนที่ 5 ออกอากาศวันที่ 30 ส.ค. 62 หลังนำเสนอเรื่องราวของ 4 บุคคล 4 สถานที่ ที่ต้องต่อสู้กับการฟ้อง SLAPPs การฟ้องปิดปากเพื่อไม่ให้มีส่วนร่วม วันนี้ทีมข่าวเวิร์คพอยท์เสนอตอนสุดท้ายกับมุมมองนักวิชาการด้านกฎหมาย อัยการ ต่อทางออกของปัญหา
https://www.youtube.com/watch?v=8raMVsyPZvk
SLAPPs การฟ้องปิดปาก หรือ คดีที่ผู้ฟ้องมีเป้าหมายสร้างความหวาดกลัว กลั่นแกล้งให้ผู้ถูกฟ้องเผชิญความยากลำบาก และหยุดการเรียกร้องหรือแสดงความคิดเห็น ซึ่งส่วนใหญ่ ถูกนำมาใช้ในคดีการมีส่วนร่วมของประชาชน ตรวจสอบการทุจริต และเรียกร้องความยุติธรรมจากหน่วยงานรัฐ
สถานการณ์ SLAPPs ในประเทศไทย สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชนสำรวจพบว่า ตั้งแต่ปี 2540-พฤษภาคม 2562 มี 212 คดี ส่วนใหญ่เป็นคดีอาญา มากถึง 196 คดี โดย 153 คดี ร้องทุกข์กล่าวโทษโดยหน่วยงานรัฐ มีประชาชนเป็นผู้ถูกฟ้องมากกว่า 100 คน
คดีอาญาถูกนำมาใช้ฟ้องมากที่สุด เช่น ข้อหาหมิ่นประมาท , ข้อหาเกี่ยวกับความมั่นคง ความผิดตามพ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะ เป็นต้น โดยพบว่าการต่อสู้ในชั้นศาล ประชาชนเป็นฝ่ายเสียเปรียบ จากภาระค่าใช้จ่ายและหลักการพิจารณาคดี

ไพโรจน์ พลเพชร ที่ปรึกษาสมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน (สสส.)
ฟ้อง SLAPPs เป็นการคุกคามสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกทางความคิด ขัดต่อสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานที่ถูกรับรองภายใต้กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง หรือ ICCPR ข้อ 19

รศ.ปกป้อง ศรีสนิท ผช.อธิการบดีฝ่ายกฎหมาย นิติศาสตร์ มธ.
คดี SLAPPs ส่วนใหญ่เข้าสู่ศาลเพราะอัยการเป็นสั่งฟ้อง โดยมีหน่วยงานรัฐเป็นผู้ร้อง

มาร์ค เจริญวงศ์ อัยการประจำสำนักงานอัยการสูงสุด
มีข้อเสนอให้พนักงานสอบสวนและพนักงานอัยการร่วมกันตรวจสอบความจริง และนำหลักการรัฐธรรมนูญมาพิจารณาประกอบ ซึ่งจะสามารถลดคดีฟ้อง SLAPPs ได้
แต่หากสู่ชั้นศาล นักวิชาการด้านกฎหมายเสนอให้ใช้ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 161/1 และ มาตรา 165/2 ในชั้นไต่สวนมูลฟ้อง ทั้ง 2 มาตรามีความคล้ายกฎหมาย Anti – Slapp Law
แต่ในความจริง การพิจารณาคดีในชั้นไต่สวนมูลฟ้องในคดีที่อัยการเป็นโจทก์ จะไม่มีการไต่สวนเพิ่ม ด้วยเหตุผล ว่ามีการกลั่นกรองคดีมาแล้ว
นักสิทธิมนุษยชนเสนอว่า การแก้ปัญหาคดีฟ้องSLAPPs ที่ดีที่สุด คือ การเคารพสิทธิ์และเสียงของประชาชนอย่างเท่าเทียมกัน เมื่อเสียงทุกฝ่ายดังเท่ากัน ปัญหาฟ้องปิดปากจะไม่เกิด
เรื่องที่เกี่ยวข้อง