SHARE

คัดลอกแล้ว

https://www.facebook.com/WorkpointNews/videos/469102250655091/?__xts__[0]=68.ARCt3sUXT2v4CL2hFTpOn93-28qUKXc1U-ArDNzVfoJW8Lay_izZN_T9jzQD1spcSLZD_-Q0cOLDxXenqZhtt2UC3UFKGa-WhmUVKaIVLo_oaz5Jfi4d1XToU-WNc6AJg-2P3O3T6T3yMCMYHRME2iURsYQ71a8LSs5GE_q9-zm3yvZQgJRyB1J1KUqovb2V4DiYHpU4GxIZibvhIuxT_rxquN4I15C3Qr3HuREiwulXQbed16QKYQ81FHH6DX02VkptQ298vz-6fb_o18tMThERibP4yACsfdfBeImrLFDF6jVBHzos-6fpgI2H_C98mATf_dIfTbFOxDYMLAC1iwsOOIz9pCt_PL8&__tn__=H-R

“กฎหมายมีไว้ใช้กับแมลงปีกอ่อน ส่วนแมลงปีกแข็งจะรอดไปได้หมด” เขาเปรียบเปรยอย่างนั้น ประยงค์ ดอกลำใย ที่ปรึกษาขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (P-Move) ตั้งข้อสังเกตต่อกรณีที่ดิน 1,700 ไร่ ของปารีณา ไกรคุปต์ ส.ส. พรรคพลังประชารัฐ ว่า “การเลือกปฏิบัติ” ทำให้คนรวยหรือผู้มีอิทธิพลทางการเมืองสามารถครอบครองที่ดินของรัฐได้ โดยไม่ถูกดำเนินการตามกฎหมาย

เปรียบเทียบกับกรณีของชาวบ้านกว่า 46,600 คดี ตลอดช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ประยงค์บอกว่า 80 – 90 เปอร์เซ็นต์ในจำนวนคดีทั้งหมด เป็นคดีของคนจนและเกษตรกรทั่วไปที่อาศัยที่ทำกิน ไม่เกิน 10 หรือ 20 ไร่ เขาจึงตั้งข้อสังเกตต่อมาว่า เหตุใดเจ้าหน้าที่จึงตรวจสอบไม่พบที่ดินขนาดใหญ่ 600 – 700 ไร่ ของ ส.ส. ปารีณา

ประยงค์ ดอกลำใย ที่ปรึกษาขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (P-Move)

ชาวบ้านตกเป็นผู้ต้องหาทันที

ความขัดแย้งระหว่าง เจ้าหน้าที่รัฐ กับ ประชาชนผู้อาศัยทำกินอยู่ในป่า เกิดขึ้นมานานกว่า 30 ปี โดยเฉพาะช่วง 5 ปีที่ผ่านมา หลังคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ดำเนินนโยบายทวงคืนผืนป่า

เพราะเพียงปีแรกที่คำสั่ง คสช. ที่ 64/2557 และ 66/2557 ถูกบังคับใช้ ก็มีชาวบ้านถูกดำเนินคดีในเขตป่าสงวนแห่งชาติเพิ่มขึ้น 38 เปอร์เซ็นต์ และในเขตอุทยานแห่งชาติเพิ่มขึ้น 18 เปอร์เซ็นต์

“กรณีป่าสงวนฯ เจ้าหน้าที่จะอ้างว่าเป็นการกระทำผิดซึ่งหน้า ไม่จำเป็นต้องออกหมาย ไม่ต้องพิสูจน์ก่อน ไม่ต้องรังวัดเลย ชาวบ้านจะตกเป็นผู้ต้องหาทันทีหากใช้ประโยชน์อยู่ในแปลง เจ้าหน้าที่สามารถควบคุมตัวได้เลย และถ้าไม่มีเงินประกันตัวก็ต้องติดคุกรอการพิจารณาคดี”

ประยงค์ บอกอีกว่า ชาวบ้านหลายคนมีใบเสียภาษีบำรุงท้องที่ (ภ.บ.ท.5) เช่นเดียวกับ ส.ส.ปารีณา และชำระภาษีมาก่อนที่กระทรวงมหาดไทยจะสั่งยกเลิกไปในปี 2551 เช่นกัน ซึ่งทุกกรณีเจ้าหน้าที่ยืนยันว่า ภ.บ.ท.5 ไม่ใช่เอกสารสิทธิ์

นอกจากนั้น ชาวบ้านยังไม่มีโอกาสนำชี้ที่ดินของตนเองเพราะถูกจับกุมทันที จึงปรากฏกรณีที่ถูกฟ้องร้องเอาผิดด้วยจำนวนที่ดินที่มากเกินความเป็นจริง

เช่น อาแม อามอ ถูกพิพากษาจำคุก 2 ปี 6 เดือน ในข้อหาบุกรุกป่าสงวนแห่งชาติ ป่าแม่โป่ง จ.ลำปาง จำนวน 80 ไร่ ทั้งที่ความจริงแล้วอาแมมีที่ดินแค่ 30 ไร่ แต่กลายเป็นว่าเจ้าหน้าที่นำที่ดินแปลงใกล้เคียงอีก 3-4 แปลง ซึ่งจับใครไม่ได้ มาบวกรวมด้วย

 

ผู้ยากไร้ไม่ถูกคุ้มครอง

แม้คำสั่ง คสช. ที่ 66/2557 จะระบุไว้ในข้อ 2.1 ว่า “การดำเนินการใดๆ ต้องไม่ส่งผลกระทบต่อประชาชนผู้ยากไร้ ผู้ที่มีรายได้น้อย และผู้ไร้ที่ดินทำกิน ซึ่งได้อาศัยอยู่ในพื้นที่เดิมนั้นๆ ก่อนคำสั่งนี้มีผลบังคับใช้” เพื่อแสดงเจตนารมณ์ของนโยบายว่า ต้องการทวงคืนผืนป่าจากทุน

แต่ในทางปฏิบัติ ที่ปรึกษา P-Move มองว่า คำสั่ง คสช. อาจเป็นหมัน

“ตลอดเวลา 5 ปี รัฐยึดที่ดินคืนได้ประมาณ 750,000 ไร่ โดยมีชาวบ้านถูกดำเนินคดีจำนวนมาก เราพบหลายกรณีที่ถือเป็นโศกนาฏกรรม ชาวบ้านถูกจับทั้งหมู่บ้าน เช่น ที่ห้วยน้ำหิน อ.นาน้อย จ.น่าน ถูกทวงคืนทั้งชุมชนรวม 298 ราย”

เมื่อถูกจับกุมชาวบ้านมักจะถูกดำเนินคดี 3 ข้อหา ได้แก่ หนึ่ง บุกรุก แผ้วถาง ครอบครอง ตาม พ.ร.บ.ป่าไม้  สอง บุกรุกป่าสงวนแห่งชาติ  และสาม บุกรุกอุทยานแห่งชาติ

“คุณสู้ว่าคุณอยู่มาก่อนอุทยานได้ ก็กลายเป็นผู้บุกรุกป่าสงวนแห่งชาติ ซึ่งประกาศมาตั้งแต่ปี 2507 หรือถ้าสู้จนกระทั่งว่าคุณอยู่มาก่อนป่าสงวนแห่งชาติ สุดท้ายคุณก็ไม่รอด พ.ร.บ.ป่าไม้ 2484 พูดได้ว่าร้อยเปอร์เซ็นต์ ชาวบ้านที่ถูกจับกุม ศาลต้องพิพากษาจำคุก เพียงแต่ว่าจะรอลงอาญาหรือไม่รอลงอาญา”

ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2556 ถึงกันยายน 2561 มีชาวบ้านถูกดำเนินคดีข้อหาบุกรุกป่า 34,804 คดี และบุกรุกอุทยานฯ 11,796 คดี รวมเป็น 46,600 คดี

สองมาตรฐาน ?

“ตามนโยบายทวงคืนผืนป่า เขาให้ตั้งข้อสังเกตว่าใครถือครองที่ดินของรัฐเกิน 25 ไร่ ให้ถือว่าเป็นนายทุน เจ้าหน้าที่ต้องดำเนินการทวงคืน แต่ทำไมกรมป่าไม้ถึงเอ็กซเรย์ไม่เจอที่ดินของคุณปารีณา ซึ่งอ้างว่าถือครองมานานแล้ว ป่าสงวน 46 ไร่ ที่ดิน ส.ป.ก. 600 กว่าไร่ ทำฟาร์มไก่ขนาดใหญ่อยู่ในพื้นที่ แบบนี้มีพฤติกรรมเป็นนายทุนหรือไม่” ประยงค์กล่าว

เขาตั้งข้อสังเกตต่อไปอีกว่า ช่วงปี 2559 คสช. ยังออกคำสั่งที่ 36/2559 ให้อำนาจ ส.ป.ก. ทวงคืนที่ดินจากนายทุนที่ครอบครองที่ดิน ส.ป.ก. เกิน 500 ไร่ด้วย

โดยใน ต.รางบัว อ.จอมบึง จ.ราชบุรี ก็มีการกำหนดเป้าหมายทวงคืนเอาไว้เช่นกัน คือบริเวณหมู่ 8 ประมาณ 400 กว่าไร่ แต่เหตุใดที่ดิน 600 ไร่ ของคุณปารีณาซึ่งอยู่ตำบลเดียวกัน กลับไม่ปรากฏในเป้าหมายทวงคืนของ ส.ป.ก.

“ถ้าไม่เป็นข่าวครึกโครมขึ้นมา ผมคิดว่ากรณีนี้ก็ยังใช้ที่ ส.ป.ก. ใช้ที่ป่าไม้ ได้อีกต่อเนื่องยาวนาน ไม่มีใครดำเนินการอะไร”

 

ห่วงซอยแปลงย่อย ให้คนงานสวมสิทธิ์

จากประสบการณ์ทำงานเรื่องที่ดิน ที่ปรึกษา P-Move พบหลายกรณีนายทุนพยายามซอยที่ดิน ส.ป.ก. ออกเป็นแปลงย่อยๆ ไม่เกิน 50 ไร่ แล้วใช้ชื่อลูกจ้างมาถือแทน เพื่อให้ตนเองยังถือครองที่ดินได้ต่อ เช่น กรณีสวนปาล์มขนาด 3,000-5,000 ไร่ ทางภาคใต้

“ที่ดินของรัฐ ที่ดิน ส.ป.ก. คือที่ดินผืนสุดท้าย ตามกฎหมายแล้วมีเจตนารมณ์ที่จะสงวนรักษาไว้ให้กับเกษตรกรรายย่อยและผู้ยากไร้ แต่อย่างที่เราทราบกัน เกินครึ่งหนึ่งของที่ดินในความดูแลของ ส.ป.ก. หรืออย่างน้อย 15 ล้านไร่ จากประมาณ 30 ล้านไร่ ได้เปลี่ยนมือไปแล้ว” ประยงค์บอก

ทั้งยังระบุอีกว่า มีพรรคการเมืองหนึ่งพยายามผลักดันให้ที่ดิน ส.ป.ก. เข้าสู่ระบบตลาด “โฉนดทองคำ ส.ป.ก. ทองคำ คือจะแก้กฎหมายให้ที่ดิน ส.ป.ก. ซึ่งเป็นที่ดินของรัฐสามารถซื้อขาย ครอบครองได้อย่างถูกต้อง ทีนี้มันจะไม่เหลือที่ดินสำหรับเกษตรกรและคนยากจนอีกแล้ว”

พื้นที่ฟาร์มไก่ ของปารีณา ไกรคุปต์ ส.ส. พรรคพลังประชารัฐ

คนส่วนใหญ่เข้าไม่ถึงที่ทำกิน

จากประชากรทั้งหมด 70 ล้านคน มีคนไทยเพียงแค่ 15 ล้านคน ที่มีโฉนดที่ดินของตนเอง และในจำนวน 15 ล้านคนนี้ หากแบ่งออกเป็น 5 กลุ่มตามความร่ำรวย เราจะพบว่าคน 20 เปอร์เซ็นต์แรก ซึ่งถือครองทรัพย์สินมากที่สุด มีที่ดินรวมกันกว่า 79 เปอร์เซ็นต์ ของที่ดินทั้งหมด

“สรุปง่ายๆ ว่าโฉนดที่ดินซึ่งออกโดยกรมที่ดินขณะนี้ เกือบ 80 เปอร์เซ็นต์ อยู่ในมือของคนประมาณ 3.9 ล้านคนเท่านั้น”

คนที่เหลือเมื่อต้องการที่ดินทำกินจึงบุกรุกป่า ประยงค์บอกว่าปัจจุบันมีคนไทยประมาณ 1 ใน 5 อาศัยอยู่ในเขตป่าไม้ อย่างไรก็ตาม ประชาชนจำนวน 10-15 ล้านคนนี้ ไม่ใช่แค่ผลลัพธ์ของความเหลื่อมล้ำด้านที่ดินเพียงอย่างเดียว หากแต่เป็นผลลัพธ์จากความลักลั่นของนโยบายจัดการทรัพยากรป่าในอดีตด้วย

 

ย้อนไทม์ไลน์ทำไมคนไปอยู่ในป่า

  • 2484  ตราพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ.2484 โดยนิยาม ‘ป่า’ ว่าหมายถึง ที่ดินที่ยังมิได้มีบุคคลได้มาตามกฎหมายที่ดิน  ซึ่งในความเป็นจริงหลายพื้นที่ไม่มีสภาพป่าแล้ว
  • 2507  ตราพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507 โดยรัฐประกาศเขตป่าสงวนฯ ทับลงไปในพื้นที่ ‘ป่า’ เป็นจุดๆ รวมทั้งสิ้น 1,225 ป่าทั่วประเทศ และให้สัมปทานทำไม้กับบริษัทต่างๆ จึงมีการขนคนงานเข้าไปตั้งแคมป์ ก่อนที่จะกลายเป็นชุมชนในเวลาต่อมา
  • 2515-2521  รัฐส่งเสริมการปลูกพืชเชิงเดี่ยวเพื่อการส่งออก ตัดถนนสายยุทธศาสตร์และเอาชุมชนเข้าไปตั้งเป็นแนวกันชนพรรคคอมมิวนิสต์ ซึ่งหลังเหตุการณ์สงบลงชุมชนเหล่านั้นยังคงอยู่ในเขตป่า
  • 2532-2533  ยกเลิกสัมปทานไม้ทั่วประเทศ รัฐตั้งเป้าเพิ่มป่าไม้ให้ได้ 40 เปอร์เซ็นต์ของพื้นที่ประเทศ มีการสำรวจพื้นที่ป่าแล้วผนวกให้เป็นอุทยาน บริษัททำไม้ย้ายออกจากพื้นที่ แต่ชุมชนซึ่งตั้งรกรากมานานกว่า 20-30 ปี ยังอยู่ที่เดิม และกลายเป็นปฏิปักษ์กับเจ้าหน้าที่

นี่เป็นพัฒนาการของความขัดแย้งตั้งแต่อดีต ถ้าเรามองย้อนไป ปัญหาเรื่องคนกับป่าส่วนหนึ่งมันเกิดจากนโยบายที่มีความลักลั่นกัน ระหว่างการพัฒนากับการอนุรักษ์” ประยงค์สรุป

 

เสนอ 3 ทางออก แก้ปัญหาที่ดินอย่างยั่งยืน

  • โฉนดชุมชน  ให้สิทธิการใช้ประโยชน์ที่ดินเป็นของสมาชิกแต่ละคน ส่วนกรรมสิทธิ์เป็นของชุมชน ป้องกันการขายที่ดินให้คนภายนอก และกำหนดกติการ่วมกันเพื่อแก้ปัญหาการบุกรุกป่าเพิ่ม ซึ่งจำเป็นต้องพิจารณาแก้ไข พ.ร.บ.ป่าไม้  พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ  และ พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ  เพื่อรับรองสิทธิชุมชนให้บริหารจัดการทรัพยากรได้ด้วยตนเอง
  • ภาษีที่ดินอัตราก้าวหน้า  เก็บภาษีเพิ่มขึ้นเป็นขั้นบันไดตามขนาดการถือครองที่ดินของบุคคลนั้นๆ เพื่อให้เกิดการกระจายการถือครองที่ดิน (พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ที่กำลังจะบังคับใช้ในปี 2563 ยังไม่ช่วยแก้ปัญหานี้เพราะมีการยกเว้นภาษีแปลงละ 50 ล้านบาท)
  • ธนาคารที่ดิน  นำเงินจากภาษีที่ดินอัตราก้าวหน้ามาส่งเสริมให้เกษตรกรรายย่อย คนจน ชนชั้นกลาง ที่ต้องการซื้อที่ดินและที่อยู่อาศัย สามารถเข้าถึงแหล่งทุน

 

podcast

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า