SHARE

คัดลอกแล้ว

ตัวเลขคาดการณ์สภาวะตลาดแรงงานล่าสุดของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ฯ เรียกได้ว่าน่าหวั่นใจไม่น้อย เพราะนอกจากวิกฤติโควิด-19 ที่เศรษฐกิจต้องหยุดชะงักไปร่วมเดือนแล้ว ภาคเกษตรของไทยเองก็เผชิญภาวะภัยแล้งตั้งแต่กลางปี 2562
ทั้งสองปัจจัยส่งผลให้แรงงานเสี่ยงตกงานถึง 8.4 ล้านคน แบ่งออกเป็น 3 กลุ่มหลักคือแรงงานในภาคท่องเที่ยวที่ได้รับผลกระทบจากนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ลดจำนวนลง กลุ่มที่สองคือแรงงานภาคการผลิต เพราะกำลังซื้อที่ลดลงทั้งในประเทศและต่างประเทศ และสุดท้ายคือการจ้างงานในภาคบริการอื่น เช่น สถานศึกษา ตลาดสด และสนามกีฬา ที่อาจไม่สามารถเปิดดำเนินการได้ตามปกติ
ทั้งนี้ ในปี 2563 คาดว่าอัตราการว่างงานของไทยจะอยู่ที่ 3–4% หรือมีคนว่างงานกว่า 2 ล้านชีวิต
แล้วเราจะรับมือโจทย์ใหญ่อย่างการว่างงานหลังวิกฤติโควิด-19 อย่างไร?
กลุ่มประเทศโออีซีดี (The Organisation for Economic Co-operation and Development: OECD)ได้พัฒนานโยบายแก้ไขปัญหาการว่างงานที่ค่อนข้างประสบความสำเร็จ ทุ่มใช้งบประมาณเฉลี่ยในสัดส่วนสูงถึง 0.5% ของจีดีพี โดยมีชื่อเรียกว่านโยบายตลาดงานเชิงรุก (Active Labor Market Policies: ALMP) ซึ่งแบ่งออกเป็น 5 เสาหลักคือ

1. สร้างคุณค่าเพิ่มให้ทรัพยากรมนุษย์
‘อัพสกิล-รีสกิล’ (upskill – reskill) ไม่ใช่เรื่องใหม่ของสังคมไทย แต่วิกฤติโควิด-19 บังคับให้การเปลี่ยนผ่านสู่โลกดิจิตอลเป็นไปอย่างรวดเร็วมากยิ่งขึ้น การฝึกฝนทักษะใหม่หรือเพิ่มพูนทักษะเดิมเพื่อให้เหมาะกับตำแหน่งงานว่างในอุตสาหกรรมยุคใหม่จึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง โดยการฝึกสอนในห้องเรียนจะสามารถทดแทนประสบการณ์ทำงานจริงได้บ้างส่วน แต่มีการศึกษาพบว่าการทำงานไปเรียนรู้ไป (on-the-job training) มีประสิทธิผลมากกว่าถึง 30%
เพื่อให้การฝึกอาชีพนำไปสู่การจ้างงานจริง รัฐบาลจะต้องประเมินทักษะที่จำเป็นสำหรับตลาดงานในปัจจุบันและมองให้ไกลถึงตลาดงานอนาคต เช่น ทักษะด้านดิจิตอล หรือการจัดการคลังสินค้า มีการมอบใบรับรองคุณวุฒิที่ชัดเจน รวมถึงทางเลือกเพื่อเชื่อมต่อแรงงานที่ผ่านการฝึกอบรมไปทำงานจริงกับภาคเอกชนที่กำลังมองหาบุคลากร
รัฐบาลในกลุ่มประเทศโออีซีดีโดยเฉพาะในสหภาพยุโรปทุ่มงบประมาณส่วนใหญ่ไปกับการฝึกอบรม โดยพบว่าเป็นการลงทุนที่คุ้มค่าเพราะสามารถเพิ่มการจ้างงานและสร้างรายได้ให้กับผู้ว่างงานได้ในระยะกลางและระยะยาว อย่างไรก็ดี มาตรการลักษณะนี้อาจไม่เห็นผลมากนักในระยะสั้น แต่เป็นการสร้างความเข้มแข็งให้แรงงานเพื่อพร้อมรับภาวะเศรษฐกิจถดถอยในอนาคต

2. อุดหนุนให้เกิดการจ้างงาน
นโยบายอุดหนุนการจ้างงานคือการสร้างแรงจูงใจทางการเงินให้นายจ้างเปิดตำแหน่งงานเพื่อจ้างพนักงานใหม่ โดยรัฐสนับสนุนผ่านการชดเชยเงินเดือนบางส่วน เสนอสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ ให้คำปรึกษาจากผู้เชี่ยวชาญ ไปจนถึงมอบเงินให้เปล่า นับว่าเป็นนโยบายที่มีประสิทธิผลอย่างยิ่งต่อการกระตุ้นการจ้างงานในระดับมหภาค เพราะเป็นการลดต้นทุนการจ้างงาน โครงการลักษณะนี้มักตั้งเป้าไปที่กลุ่มแรงงานผู้เปราะบาง เช่น ผู้ว่างงานเป็นระยะเวลานาน แรงงานหนุ่มสาวที่ระดับการศึกษาไม่สูงนัก และแรงงานสูงอายุ นโยบายอุดหนุนให้เกิดการจ้างงานถือว่าเป็นทางเลือกอันดับต้นๆ สำหรับเร่งการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจภายหลังการเกิดวิกฤติ
ตัวอย่างเช่นโครงการ Zaposli.me โดยสำนักจัดหางานประเทศสโลวีเนีย (Employment Service of Slovenia: ESS) เพื่อจัดการกับปัญหาคนว่างงานหลังวิกฤติซับไพรม์ เว็บไซต์ดังกล่าวเป็นตัวกลางรวบรวมข้อมูลของทั้งผู้ต้องการหางานทำและบริษัทที่ผ่านเกณฑ์เข้าร่วมโครงการ รัฐบาลจะจ่ายเงินสนับสนุน 5,000 ยูโร (ราว 175,000 บาท) ให้แก่ผู้ประกอบการต่อการจ้างงานหนึ่งตำแหน่ง โดยมีเงื่อนไขว่าจะต้องจ้างแรงงานดังกล่าวเป็นเวลาอย่างน้อย 12 เดือน

3. อุดหนุนให้แรงงานหางานทำ
นโยบายกลุ่มนี้คล้ายคลึงกับนโยบายอุดหนุนให้เกิดการจ้างงาน แต่มอบแรงจูงใจทางการเงินให้แก่แรงงานแทนที่จะมอบให้ผู้ประกอบการ โดยการเพิ่มเงินบางส่วนให้กับแรงงานที่มีรายได้ต่ำหรือทำให้การตกงานมีต้นทุนสูงยิ่งขึ้น การจ้างงานผ่านโครงการภาครัฐในระยะสั้นก็จัดอยู่ในนโยบายประเภทนี้เช่นกัน
ยกตัวอย่างเช่นในหลายประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร รวมถึงสิงคโปร์ มีระบบที่เรียกว่า Workfare ซึ่งเป็นส่วนผสมระหว่างการทำงาน (Work) และสวัสดิการ (Welfare) โดยรัฐบาลจะมอบสวัสดิการให้แก่ครอบครัวที่ยากจน ในขณะที่คนในครอบครัวนั้นจะต้องมาทำงานให้โครงการระยะสั้นในท้องถิ่นซึ่งไม่จำเป็นต้องใช้ทักษะระดับสูง ไม่ว่าจะเป็นการก่อสร้างถนน ซ่อมบำรุงระบบชลประทาน หรือการปลูกป่า เป็นการยิงปืนนัดเดียวได้นกสองตัว ทั้งการสร้างรายได้ให้ครอบครัวที่ยากไร้ ในขณะเดียวกันชุมชนในพื้นที่ห่างไกลก็มีโครงสร้างสาธารณูปโภคพื้นฐานที่เอื้อต่อการพัฒนาคุณภาพชีวิต
อย่างไรก็ดี การอุดหนุนลักษณะนี้จะไม่ช่วยเพิ่มรายได้หรือการจ้างงานแก่แรงงานในระยะยาว แต่ภายใต้สถานการณ์ที่เต็มไปด้วยความไม่แน่นอน การอุดหนุนให้แรงงานหางานทำหรือการจ้างงานโดยภาครัฐคือตาข่ายความปลอดภัยทางสังคม (Social Safety Net) เพื่อบรรเทาความยากจนและกระจายทรัพยากรให้แก่ครอบครัวที่มีรายได้ต่ำ

4. เพิ่มโอกาสจับคู่แรงงานและนายจ้าง
นโยบายเพิ่มโอกาสจับคู่แรงงานและนายจ้างมีเป้าหมายเพื่อบรรเทาการขาดแคลนข้อมูลของทั้งสองฝั่ง เพิ่มโอกาส ประสิทธิภาพ และคุณภาพของการจ้างงาน ให้ลูกจ้างได้งานที่ชอบและเหมาะสมกับความสามารถ ในขณะเดียวกันนายจ้างก็ได้แรงงานที่ใช่เข้าไปเป็นพนักงานของบริษัท โดยทั่วไปแล้วระบบการจัดหางานภาครัฐจะนำเอากระบวนการเข้ารับความช่วยเหลือในการหางานเป็นข้อผูกมัดสำหรับผู้ที่ได้รับผลประโยชน์การว่างงาน หรืออาจตัดผลประโยชน์บางส่วนหากผู้ว่างงานไม่เข้าร่วมกระบวนการจัดหางานตามเงื่อนไข
ความยุ่งยากอยู่ที่การประเมินว่าผู้ว่างงานแต่ละคนควรได้รับความช่วยเหลือในการหางานมากน้อยเพียงใด
เมื่อราวทศวรรษที่ผ่านมา ประเทศไอร์แลนด์ได้ทำการปฏิรูปกระบวนการจัดหางานทั้งหมด โดยให้ผู้ขอรับผลประโยชน์การว่างงานต้องทำแบบสอบถามเพื่อประเมินระดับความน่าจะเป็นที่จะหางานได้ (Probability of Exit: PEX) สำหรับผู้ได้คะแนนสูงจะได้รับความช่วยเหลือในการหางานที่ตรงกับความสามารถ ส่วนกลุ่มที่ได้คะแนนระดับกลางจะต้องเข้ากลุ่มรับคำปรึกษาเพื่อหาโครงการเพิ่มศักยภาพก่อนจะมองหานายจ้าง ขณะที่คนที่ได้คะแนนต่ำหรือว่างงานติดต่อกันเกิน 12 เดือน จะได้รับคำปรึกษาตัวต่อตัวกับผู้เชี่ยวชาญที่ออกแบบแผนพัฒนาความสามารถและเส้นทางอาชีพส่วนบุคคล
การเพิ่มโอกาสจับคู่แรงงานและนายจ้างมีประสิทธิผลและคุ้มทุนอย่างยิ่ง อีกทั้งยังเหมาะกับการใช้ในช่วงฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังวิกฤติเพราะจะส่งผลอย่างมีนัยสำคัญต่อการจ้างงานในระยะสั้น การศึกษาชิ้นหนึ่งพบว่านโยบายดังกล่าวในกลุ่มประเทศโออีซีดีช่วยเพิ่มสัดส่วนการหางานทำได้ของแรงงานที่ว่างงานราว 15-30%

5. แรงจูงใจไม่ให้พนักงานถูกเลิกจ้าง
พิษเศรษฐกิจมักส่งผลให้พนักงานจำนวนมากถูกเลิกจ้าง แต่หนึ่งในกลไกบรรเทาผลกระทบคือนโยบายป้องกันไม่ให้พนักงานถูกเลิกจ้างโดยใช้แรงจูงใจทางการเงิน เช่น การอุดหนุนเงินเดือนพนักงานภาคเอกชนโดยรัฐบาลในช่วงเวลาที่บริษัทเผชิญปัญหาสภาพคล่อง นโยบายดังกล่าวนอกจากจะจำกัดจำนวนผู้ว่างงานให้ต่ำลงแล้ว ยังช่วยให้บริษัทไม่ต้องเผชิญความยุ่งยากในการว่าจ้างและฝึกฝนพนักงานรายใหม่เมื่อวิกฤติคลี่คลาย
ระบบดังกล่าวได้รับความนิยมอย่างยิ่งในสหภาพยุโรปซึ่งมีต้นแบบจากนโยบาย Kurzarbeit หรือการจ้างงานระยะสั้นของประเทศเยอรมันที่ภาคเอกชนสามารถสมัครขอรับเงินอุดหนุนจากรัฐบาลเพื่อนำมาจ่ายเป็นเงินเดือนพนักงาน อย่างไรก็ดี ระบบดังกล่าวใช้งบประมาณมหาศาลโดยเฉพาะในช่วงวิกฤติ ล่าสุดสหภาพยุโรปได้ริเริ่มโครงการสนับสนุนการบรรเทาความเสี่ยงจากการว่างงานในสภาวะฉุกเฉิน (Support to mitigate Unemployment Risks in an Emergency: SURE) เพื่อปล่อยสินเชื่อให้ประเทศสมาชิกวงเงินสูงถึง 1 แสนล้านยูโร สร้างสภาพคล่องเพื่อให้รัฐบาลฟันฝ่าวิกฤติไปได้โดยจำกัดจำนวนแรงงานที่อาจตกงาน
ท่ามกลางความไม่แน่นอนทั้งการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีและการระบาดของโควิด-19 นโยบายตลาดงานเชิงรุกทั้ง 5 เสาหลักซึ่งประสบความสำเร็จในต่างประเทศ นับเป็นกรณีศึกษาที่น่าสนใจสำหรับประเทศไทย เพราะความท้าทายที่ทั่วโลกเผชิญอยู่ในปัจจุบัน การกระตุ้นการจ้างงานเชิงรับอาจไม่เพียงพออีกต่อไป

อ้างอิง
https://ec.europa.eu/social/BlobServlet?docId=12462&langId=en
https://www.oecd.org/els/emp/Employment-Outlook-2013-chap3.pdf
https://openknowledge.worldbank.org/bitstream/handle/10986/17053/762120BRI0Box30OWLEDGE0NOTES0SERIES.pdf?sequence=1&isAllowed=y
https://www.ilo.org/wcmsp5/groups/public/@dgreports/@inst/documents/publication/wcms_459117.pdf
https://izajole.springeropen.com/articles/10.1186/s40172-015-0025-5
http://ftp.iza.org/dp10321.pdf
http://www.oecd.org/coronavirus/policy-responses/public-employment-services-in-the-frontline-for-employees-jobseekers-and-employers-c986ff92/#boxsection-d1e28
https://www.brookings.edu/research/life-after-coronavirus-strengthening-labor-markets-through-active-policy/#footnote-1

podcast

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า