SHARE

คัดลอกแล้ว

ลองนึกถึงคลิปวิดีโอปฐมนิเทศของสถาบันการศึกษา ที่เล่าถึงคณะอาจารย์ในมหาวิทยาลัย, หลักสูตร ไปพร้อมๆ กับร้านยำชื่อดังดูสิ!

ไม่น่าแปลกใจเท่าไหร่ที่คลิปวิดีโอปฐมนิเทศของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ปีล่าสุดในชื่อ #ThammasatOrientation2020  จะถูกพูดถึงอย่างหนาหูนับตั้งแต่มันถูกปล่อยออกมากลางเดือนสิงหาคม เพราะตลอดทั้งคลิปความยาวเกือบห้านาที เต็มไปด้วยความสร้างสรรค์ แปลกใหม่และร่วมสมัยอย่างมากด้วยการที่มันฉีกกรอบการเล่าเรื่องที่ชวนเคร่งขรึมอย่างมหาวิทยาลัยด้วยท่าทีสดใหม่ ร่วมสมัย พาคนดูลัดเลาะไปยังรอบๆ มหาวิทยาลัย

ผ่านการนำเที่ยวของ มีน-พีรวิชญ์ อรรถชิตสถาพร นักแสดงหนุ่มซึ่งเป็นหนึ่งในนักศึกษาจากคณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มธ. ทำความรู้จักกับคณะบดีและอาจารย์ที่ปรากฏตัวอย่างเฟี้ยว ตามด้วยเหล่านักศึกษาซึ่งหลากหลายในทุกมิติจนแทบจะกล่าวได้ว่า ไม่มีตัวละครไหนที่คาแรคเตอร์ซ้ำกันเลย ทั้งยังมาพร้อมการแปลงเพลงฮิตที่ทำให้การแนะนำมหาวิทยาลัยยิ่งติดหูมากยิ่งขึ้น

ทั้งหมดนี้จะเกิดขึ้นไม่ได้เลยหากปราศจากการสร้างสรรค์อย่างถี่ถ้วนของทีมงานที่ ‘ฉีกทุกกฎ’ อย่าง โอซรัง – จิรวัฒน์ โตสุวรรณ ผู้กำกับที่ควบตัดต่อ ถ่ายทำและมิกซ์เพลง, ปลื้ม – พลากร อโปกุล ครีเอทีฟและคนแปลงเพลงของทีมกับ กิ๊ก – สุนันทา โสตะ โปรดิวเซอร์ที่คอยประสานงานและดูแลความเรียบร้อย และในฐานะที่ทั้งหมดเป็นบัณฑิตคณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จึงพอจะกล่าวได้ว่างานชิ้นนี้เป็นงานส่งท้ายพวกเขาที่มอบกลับให้สถาบันที่ประสิทธิประสาทวิชามาให้ตลอดสี่ปี

กิ๊ก สุนันทา โสตะ (ซ้าย), ปลื้ม พลากร อโปกุล (กลาง) และโอซรัง จิรวัฒน์ โตสุวรรณ (ขวา)

ผู้ใหญ่เล่นด้วย การทำงานจึงจะสนุก

“โจทย์คืออยากแนะนำทีมคณะผู้บริหาร ทั้งอธิการและรองอธิการบดี คณบดีและองค์กรคณะศึกษา ซึ่งตรงนี้พวกเราพยายามวางคอนเซ็ปต์ด้วยการ ย่อยเนื้อหาที่ดูเข้าใจยาก เข้าถึงยาก ให้มันเข้าใจง่ายที่สุด ทีนี้เราเองก็ถนัดใช้เพลงในการนำเสนอชิ้นงานอยู่แล้ว แล้วก็คิดว่าเพลงเป็นเครื่องมือในการสื่อสารเนื้อหาที่ย่อยได้ยากให้เข้าใจง่ายได้อย่างดี เลยเลือกทำเป็นเพลง” โอซรังซึ่งรับบทเป็นทั้งผู้กำกับและคนถ่ายทำอธิบาย “ในมุมมองการสร้างสื่อเพื่อผู้ชมธรรมศาสตร์ เรารู้สึกว่าธรรมศาสตร์ชอบสื่อที่ฉีกขนบ มีความแปลกแหวกแนว น่าสนใจมากกว่าสื่อที่เล่าตรงๆ ไม่มีชั้นเชิง เรารู้สึกว่าเด็กธรรมศาสตร์ชอบอะไรที่เข้าใจง่าย

“พอดีกับปีก่อน เคยทำงานชิ้นนี้มาแล้ว คืองานของคณบดีนี่แหละ เราก็ทำเป็นเพลงมิวสิคัลของอะลาดิน ทีนี้พอมาปีนี้ โจทย์ก็คืออยากให้มันหวือหวาและทันสมัยขึ้นมาอีกหน่อย เราเลยลองมาดูเพลงแร็ปที่เป็นกระแสนิยมในปัจจุบัน จนสุดท้ายได้สามเพลงคือ เปรตป่ะ ของ TangBadVoice, Sour Candy ของเลดี้ กาก้ากับวง BLACKPINK และเพลง How You Like That ของ BLACKPINK อีกเพลง”

จาก เปรตป่ะ สู่ BLACKPINK การเลือกเพลงที่ติดหู ช่วยให้ติดเทรนด์

บทเพลงนี่เองที่เป็นหนึ่งในกุญแจสำคัญที่ทำให้เนื้อหาของเพลงซึ่งอธิบายองค์ประกอบของสถาบันธรรมศาสตร์กลายเป็นที่จดจำและติดหู เพราะพวกเขาเลือกเพลงที่กำลังไต่ชาร์ตอยู่ในเวลานั้นจากศิลปินดังหลายๆ คน “คือถ้าศึกษาจริงๆ คือติดลิขสิทธิ์ คือมันเป็นการใช้ลิขสิทธิ์แหละ แต่ว่างานมันเป็น Parody มันไม่ได้ทำขึ้นเพื่อพาณิชย์และตัวชิ้นงานไม่ได้ส่งผลกระทบด้านลบต่อเจ้าของลิขสิทธิ์ เลยไม่ได้กระทบ ไม่ฟ้องร้องกัน”

พวกเขาเสริมว่า ประเด็นแรกที่พวกเขาวาดภาพไว้คือ ธรรมศาสตร์เป็นมหาวิทยาลัยที่เปิดเสรีภาพทางความคิด ดังนั้นนับตั้งแต่ขั้นตอนแรกของการคิดสตอรี่บอร์ดของวิดีโอจึงเต็มไปด้วยความสดใหม่และฉูดฉาด ซึ่งจะเกิดขึ้นไม่ได้หากปราศจากการสนับสนุนหรืออนุมัติจากฝั่งอาจารย์ที่ปรึกษา “เวลาเราเสนอตัวงานหรือคอนเซ็ปต์ เราก็จะบอกเหตุผลว่าที่เราใช้วง BLACKPINK หรือเลดี้ กาก้าเพราะมันกำลังทันสมัยนะ กลุ่มเป้าหมายเราที่เป็นนักศึกษาใหม่จะเข้าถึงนะ ชื่นชอบนะ แล้วอาจารย์เขาก็เข้าใจ”

ปลื้มขยายความ “เราหยิบจับเทรนด์ในสังคมตอนนี้มาด้วย อย่างจะมีเนื้อเพลงที่บอกว่า อธิการบดีแปลว่าอิสระ เราก็หยิบเทรนด์แม่สิตางศุ์ (สิตางศุ์ บัวทอง) มาใช้ในงานเพราะเป็นเนื้อหาที่สอดคล้องกันอยู่แล้วด้วยว่า ที่นี่ คณบดีมีความอิสระและเปิดกว้าง เลยเอามาใส่ให้ลงตัวพอดี หรืออย่างเวลาบรีฟแอ็กชั่นต่างๆ เขาก็ฟัง ช่วยกันปรับจูนว่าเป็นอย่างนั้นอย่างนี้จะดีกว่าไหม”

“ใช่ครับ” ผู้กำกับเสริม “คือคณบดีทุกท่านที่มาร่วมเฟรมกับเราก็สนับสนุนและซัพพอร์ตพวกเรามากๆ ลองนึกภาพว่าถ้าอาจารย์ทุกคนไม่ยอมทำก็คงไม่สำเร็จ นี่คือทุกคนเล่นด้วยกับเรา” โอซรังยกตัวอย่าง ‘ฉากจำ’ ที่ทำคนดูอ้าปากค้างคือเมื่อ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ปริญญา เทวานฤมิตรกุล อาจารย์ประจำภาควิชากฎหมายมหาชน คณะนิติศาสตร์ และรองอธิการบดีฝ่ายความยั่งยืนและบริหารศูนย์รังสิต ไถรองเท้าโรลเลอร์เบรดมาเข้าฉากแบบเท่ๆ “อาจารย์ปริญญานี่เตรียมมาเองนะครับ เอารองเท้าโรลเลอร์เบรดมาเอง”

สิ่งที่น่าสังเกตอีกประการหนึ่งคือ เราแทบไม่ได้เห็นตัวละครใดในเรื่องใส่ชุดนักศึกษาเต็มชุดเลย อย่างมากที่สุดคือมีน-พีรวิชญ์ที่ก็สวมชุดนักศึกษากึ่งลำลองในฉากแรกๆ ให้เห็นเท่านั้น และทั้งหมดนี่คือความตั้งใจของทีมงาน “เรารู้สึกว่าอย่างน้อยมันน่าจะรีพรีเซนต์ความเป็นมหาวิทยาลัยด้วยประมาณหนึ่ง แต่จริงๆ แล้วก็เปิดอิสระด้วยการที่ทั้งคลิป ทุกคนไม่จำเป็นต้องใส่ ใครจะใส่ชุดนักศึกษาก็ได้หรือไม่ใส่ก็ได้” กิ๊กบอก “และชุดที่ใส่ก็ไม่ได้ทางการ ไม่ได้มีเนกไท คือเหมือนถ้าเด็กธรรมศาสตร์จะใส่ชุดนักศึกษามาเรียนก็จะใส่ประมาณนี้”

สิ้นสุดยุคสมัย มายาคติ Beauty Privilege

ความหลากหลายของตัวละครที่ปรากฏตลอดทั้งคลิป เหล่านักศึกษาที่อยู่ในวิดีโอมีความหลากหลายทั้งเรื่องรูปร่าง เพศและรสนิยม อันจะเห็นได้ชัดว่าทางทีมงานพยายามทำลายมายาคติที่ว่าพื้นที่การแนะนำมหาวิทยาลัยเป็นพื้นที่ของคนหน้าตาดีหรือ Beauty Privilege อย่างที่เห็นกันเรื่อยมาเท่านั้น “เราอยากให้ BLACKPINK ของเราเป็นเวอร์ชั่นที่เต็มไปด้วยความหลากหลายของสมาชิกในวง หรือกาก้าด้วย คือประเด็น Beauty Privilege ก็เป็นที่ถกเถียงมากด้วยในรั้วธรรมศาสตร์ ไม่ว่าจะในชมรมหรือเรื่องผู้นำเชียร์ แอมบาสเดอร์” ปลื้มบอก

โอซรังเสริมว่า “เราเองก็ยอมรับว่าวิดีโอก็ยังมีมีนที่เป็นคนมีชื่อเสียงในวงการ และเราก็พยายามเกลี่ยซีนให้ได้ทุกแบบ ทุกคนออกมาในเวลาเท่าๆ กัน ไม่ได้เอามีนมาเพื่อดึงคนตามขนบการทำสื่อแบบเดิม เราเองมีนมาก็จริงเพราะเขาเป็นเพื่อนเราด้วย และดึงเขามาใช้ในวิดีโอช่วงแรกๆ แล้วปล่อยเลย ให้ตัวละครอื่นๆ มาพยุงคลิปต่อ และเราก็พบว่าก็เอาอยู่กันหมด

“เราพยายามเน้นที่ความสามารถของตัวบุคคลด้วย อย่างมีนนี่เขาแร็ปได้จริงๆ เราเลือกเขามาก็เพราะความสามารถเขาด้วยส่วนหนึ่ง เสียงที่ได้ยินคือเสียงมีนจริงๆ ทีม BLACKPINK ก็เต้นเก่งกันทุกคน เราจงใจเลือก”

และในฐานะนักศึกษาที่กำลังจะจบ ทำวิดีโอแนะนำมหาวิทยาลัยเพื่อคนรุ่นใหม่ๆ เราอดถามเขาถึงการเคลื่อนไหว ‘โบขาว’ ของเหล่าเด็กนักเรียนซึ่งในวันข้างหน้า คนใดคนหนึ่งอาจจะเข้ามาเรียนที่ธรรมศาสตร์เช่นเดียวกับพวกเขา ว่ามองการเคลื่อนไหวครั้งนี้อย่างไร “เรารู้สึกใจฟู” โอซรังตอบอย่างรวดเร็ว “รู้สึกว่าเด็กรุ่นใหม่เขากล้าคิด กล้าทำ ซึ่งเป็นเรื่องที่ดีกับประเทศชาติ กล้าออกมาตั้งคำถาม แสดงจุดยืนที่สมัยนั้นเราไม่กล้า ไม่เคยตั้งคำถาม ดีใจที่เห็นน้องๆ ลุกขึ้นมาแสดงเสียงของตัวเองตั้งแต่อายุเท่านี้ หรือในเชิงผลงาน เราก็รู้สึกว่าเด็กรุ่นใหม่พร้อมจะสร้างสรรค์งานใหม่ๆ ด้วย”

podcast

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า