Advertisement

SHARE

คัดลอกแล้ว

explainer ประเทศไทยใกล้ได้วัคซีนยี่ห้อที่ 3 เมื่อราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ จัดหา Sinopharm นำมาฉีดให้ประชาชนได้สำเร็จ เรื่องนี้ถือว่าสร้างความประหลาดใจมาก เพราะแม้แต่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขก็ยังยอมรับว่า เขาเองไม่รู้เรื่องมาก่อน

เหตุการณ์ทั้งหมดเป็นอย่างไร workpointTODAY อธิบายแบบโพสต์เดียวจบ เคลียร์เลยใน 18 ข้อ

1) ณ ปัจจุบัน ประเทศไทย มีวัคซีนใช้งานเพียง 2 ยี่ห้อเท่านั้น คือ AstraZeneca กับ Sinovac

ไทยได้รับ AstraZeneca ล็อตแรกจากเกาหลีใต้ในเดือนกุมภาพันธ์ จำนวน 117,000 โดส และเตรียมผลิตเองในประเทศไทยโดย บริษัทสยามไบโอไซเอนซ์ ซึ่งรัฐบาลยืนยันว่า ในส่วนที่ผลิตเอง จะสามารถนำมาใช้ได้งานได้ตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2564 เป็นต้นไป

2) แต่ด้วยความที่โควิด-19 ยังคงมีการระบาดกันอยู่ ในขณะที่ชาติอื่นก็ทยอยฉีดวัคซีนกันไปแล้ว ทำให้ไทยจะไปรอ AstraZeneca อย่างเดียว ในเดือนมิถุนายนก็ไม่ได้ รัฐบาลจึงนำเข้า Sinovac จากประเทศจีน เข้ามาเสริมกำลังอีกหนึ่งยี่ห้อด้วย

โดยนับจนถึงเดือนพฤษภาคม 2564 ไทยมี AstraZeneca ทั้งหมด 117,000 โดส และ Sinovac 6 ล้านโดส ซึ่งเพียงพอสำหรับประชากรราว 3 ล้านคน

3) ด้วยปริมาณวัคซีนที่ยังน้อยเกินไป ส่งผลให้การฉีดยังคงล่าช้า ทำให้ประชาชนเรียกร้องว่า รัฐบาลควรเปิดทางให้เอกชน นำเข้าวัคซีนยี่ห้ออื่นได้อย่างอิสระ เพื่อช่วยภาครัฐอีกแรง ประเทศไทยจะได้มีปริมาณผู้ฉีดวัคซีนเพิ่มขึ้นเร็วๆ และเศรษฐกิจจะได้กลับมาเดินหน้าได้เสียที จะให้รอแต่ AstraZeneca ผลิตอย่างเดียว ก็ช้าเกินไปแล้ว

4) อย่างไรก็ตาม รัฐบาลอธิบายว่า เอกชนไม่สามารถนำเข้าวัคซีนได้ เพราะผู้ผลิตจะไม่ยอมขายให้ เนื่องจากวัคซีนโควิดจะเป็นการขึ้นทะเบียนแบบฉุกเฉิน (EUA) คือผลิตเสร็จแล้ว ทดลองกับกลุ่มตัวอย่าง ก็ใช้เลยทันที ดังนั้นผู้ผลิตเองก็กลัวโดนเอกชนฟ้องร้องเหมือนกัน ถ้ามีอาการแทรกซ้อนเกิดขึ้นจากวัคซีน ดังนั้นผู้ผลิตจึงต้องการขายวัคซีนโดยตรงกับหน่วยงานรัฐของแต่ละประเทศเท่านั้น พร้อมคำยืนยันว่า ฝั่งภาครัฐจะรับผิดชอบเอง ในกรณีที่คนฉีดเกิดผลข้างเคียงขึ้น

5) ในขณะที่ประชาชนโวยว่า แล้วทำไมรัฐไม่นำเข้าเสียที รออะไรอยู่ วันที่ 20 พฤษภาคม 2564 นายอนุทิน ชาญวีรกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข อธิบายว่า วัคซีนทางเลือกเหล่านี้ เช่นของ Moderna ถ้าหากภาคเอกชนต้องการ ให้ไปรวบรวมจำนวนมา แล้วแจ้งความต้องการมาที่ภาครัฐ จากนั้นองค์การเภสัชกรรม จะเป็นคนไปคุยต่อให้ ถ้าหากเรียบร้อยดี ก็คาดว่าจะได้วัคซีนอย่างเร็วคือ ในเดือนตุลาคมเป็นต้นไป

6) แรงกดดันจากสังคม เรื่องความต้องการวัคซีนเพิ่มสูงขึ้น พร้อมกับความกังวลใจว่า เดือนมิถุนายน ถ้า AstraZeneca ไม่สามารถผลิตได้ตามกำหนดล่ะ ประเทศไทยจะทำอย่างไร ยิ่งมีข่าวว่า ผู้ที่จองวัคซีนผ่าน “หมอพร้อม” เอาไว้แล้ว ที่มีกำหนดฉีดวันที่ 7 มิถุนายน โดนแคนเซิล หรือเลื่อนไปฉีดเดือนกรกฎาคมแทน ยิ่งทำให้ผู้คนว้าวุ่นเข้าไปอีก ว่าวัคซีนจะมีไม่พอ

7) วันที่ 26 พฤษภาคม 2564 มีประกาศจากราชกิจจานุเบกษาว่า “ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์” มีอำนาจที่จะนำเข้าวัคซีนจากต่างประเทศได้ และเดินหน้าเตรียมจัดหา “วัคซีนทางเลือก” เป็นการเร่งด่วน เพื่อเอามาเสริมกับสองยี่ห้อที่ประเทศไทยมีอยู่

8 ) ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ คือองค์กรอะไร? นี่คือสถาบันการวิจัยในด้าน สิ่งแวดล้อม วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และการแพทย์ โดยมีประธานคือ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ พระขนิษฐา (น้องสาว) ของในหลวงรัชกาลที่ 10 นั่นเอง

สังคม และสื่อมวลชนบางสำนักจึงตั้งข้อสังเกตว่า เมื่อเห็นรัฐบาลผิดพลาดในการจัดหาวัคซีน ฝั่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับราชวงศ์จึงเข้ามา Take Action เพื่อดำเนินการหาวัคซีนให้ได้เร็วที่สุด โดยเว็บไซต์ผู้จัดการออนไลน์ ใช้คำว่า “เหมือนฟ้าประทานทำให้พสกนิกรชาวไทยปลาบปลื้ม”

9) ศ.นพ. นิธิ มหานนท์ เลขาธิการราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ยืนยันว่าการนำเข้าวัคซีนทางเลือก เป็นเรื่องจริง โดยกล่าวว่า ราชวิทยาลัยฯ จะมาช่วยจัดหาวัคซีนตัวเลือกมาให้ และเมื่อไหร่ก็ตามที่ประเทศไทยสามารถผลิตได้อย่างเพียงพอกับการระบาด เมื่อนั้นทางราชวิทยาลัยจะค่อยๆลดปริมาณวัคซีนที่นำเข้า ขณะที่ประเด็นว่า การกระทำของสถาบันจะเป็นการข้ามหน้าข้ามตารัฐบาลหรือเปล่า ศ.นพ.นิธิระบุว่า การหาวัคซีน “เป็นเครื่องมือสนับสนุนรัฐบาล และกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งเป็นหน่วยงานหลักของประเทศ”

โดยคีย์เวิร์ดสำคัญ ศ.นพ. นิธิ ระบุว่า “ใช้ศักยภาพของราชวิทยาลัยเรื่องวิชาการ วิจัย และการประสานงานติดต่อกับต่างประเทศ” จึงมีการวิเคราะห์ว่า การกระทำแบบนี้ เป็นการตบหน้ารัฐบาลโดยตรงเลยหรือไม่ ว่าแค่การติดต่อกับต่างประเทศ ในการนำเข้าวัคซีนยังไม่สามารถทำได้เลย

10) นักข่าวไปถามนายอนุทิน ชาญวีรกูลว่า ราชวิทยาลัยจะนำเข้าวัคซีนแบบนี้ ในฐานะรัฐมนตรีที่รับผิดชอบโดยตรง คิดอย่างไรบ้าง นายอนุทินตอบว่า “ผมไม่ทราบมาก่อน เพิ่งเห็นผ่านไลน์เมื่อคืนเหมือนกัน จำเป็นต้องถามรองนายกฯ วิษณุ ว่าจะซ้ำซ้อนกับงานของกระทรวงสาธารณสุขไหม”

11) นักข่าวไปถามนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ซึ่งก็ได้คำตอบว่า ก่อนหน้านี้ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ไม่มีคุณสมบัติจะนำเข้าวัคซีนได้ แต่ราชวิทยาลัยมีอำนาจทางกฎหมายที่จะประกาศให้ตัวเอง มีคุณสมบัติได้ทันที ซึ่งพอประกาศมาแล้วแบบนั้น จึงสามารถดำเนินการต่อได้เลย โดยไม่ติดขัดปัญหาอะไรอีก อย่างไรก็ตามวัคซีนยี่ห้ออะไรก็ตาม ที่จะนำเข้ามา ต้องได้รับการรับรองอย่างถูกต้องผ่าน อย. เสียก่อน จึงจะนำไปใช้งานได้

อธิบายโดยง่ายคือ เมื่อก่อนราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ แต่เดิมไม่มีอำนาจนำเข้าวัคซีน แต่ราชกิจจานุเบกษาก็ประกาศเพิ่มอำนาจให้องค์กร สามารถทำงานร่วมกับกระทรวงสาธารณสุขในการจัดหาวัคซีนได้ทันที

12) สำหรับวัคซีนทางเลือก ที่ราชวิทยาลัยฯ จะนำเข้ามาคือ Sinopharm จากประเทศจีน โดย Sinopharm เป็นหนึ่งในหก วัคซีนของโลก ที่องค์การอนามัยโลก หรือ WHO ยอมรับให้ใช้งานฉุกเฉินได้แล้ว คือในจีนจะมีวัคซีน 2 ตัว ที่ใช้กันอย่างแพร่หลายคือ Sinopharm กับ Sinovac แต่ Sinopharm จะมีประสิทธิภาพดีกว่า และถูกยอมรับมากกว่า

13) อย่างไรก็ตามข้อควรระวังก็คือ วัคซีน Sinopharm แบ่งออกเป็น Sinopharm ที่ผลิตจากห้องแล็บในกรุงปักกิ่ง ในชื่อว่า BBIBP-Corv กับ ที่ผลิตจากห้องแล็บในอู่ฮั่น ชื่อว่า WIBP-Corv

โดยวัคซีนที่ผลิตจากห้องแล็บปักกิ่ง ได้รับการยอมรับแล้ว 41 ประเทศทั่วโลก รวมถึงได้รับการยอมรับจาก WHO แล้ว สหภาพยุโรปแจ้งว่านักท่องเที่ยว สามารถเดินทางเข้าประเทศยุโรปได้ หากได้รับวัคซีนที่ถูก EU หรือ WHO รับรองแล้ว แปลว่าใครก็ตามที่ฉีด Sinopharm จากแล็บปักกิ่ง สามารถไปเที่ยวในยุโรปได้ทันที

แต่ตรงข้ามกับวัคซีนตัวที่ผลิตจากอู่ฮั่น ถูกรับรองแค่ในจีนประเทศเดียว และ WHO ยังไม่ได้รับการรับรอง ดังนั้นในจุดนี้ สังคมจึงต้องการทราบจาก ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ว่า Sinopharm ที่ตั้งใจจะนำเข้า ความจริงเป็นของแล็บปักกิ่ง หรือแล็บอู่ฮั่นกันแน่ ซึ่งถ้าเป็นของแล็บอู่ฮั่น ก็แทบไม่ได้ต่างกับ Sinovac เลย เพราะ WHO ยังไม่รับรองเหมือนกัน

14) ล่าสุดในการแถลงข่าววันนี้ ศ.นพ.นิธิระบุว่า Sinopharm ที่จะนำเข้ามา มาจากแล็บปักกิ่ง โดยจะนำเข้าเบื้องต้น 1 ล้านโดส โดยการฉีดจะมีค่าใช้จ่ายส่วนหนึ่งเพราะเป็นวัคซีนทางเลือก แต่จะไม่แพงมาก เพราะราชวิทยาลัยไม่ได้หวังจะเอากำไรกับประชาชน ขณะที่สาเหตุทำไมต้องเลือกยี่ห้อ Sinopharm ศ.นพ.นิธิบอกว่า เพราะเป็นยี่ห้อที่องค์การอนามัยโลกยอมรับให้ใช้การได้แล้ว

15) เมื่อเป็น Sinopharm จากแล็บปักกิ่ง ก็ถือเป็นเรื่องน่ายินดี เพราะหากอ้างอิงจากองค์การอนามัยโลก Sinopharm มีประสิทธิภาพป้องกันการติดได้สูงถึง 78.1% ขณะที่ AstraZeneca มีประสิทธิภาพ 76% ส่วน Sinovac มีประสิทธิภาพอยู่ที่ 67% แต่ถ้าเป็นวัคซีนจากแล็บอู่ฮั่น มีการเปิดเผยว่ามีประสิทธิภาพ 72.51% แต่ก็เป็นรายงานเฉพาะกลุ่มตัวอย่างในประเทศจีนเท่านั้น

16) พร้อมกันนั้น ในวันนี้เช่นกัน (28 พฤษภาคม 2564) นพ.ไพศาล ดั่นคุ้ม เลขาธิการองค์การอาหารและยา (อย.) คอนเฟิร์มว่า อย. รับรอง Sinopharm จากแล็บปักกิ่งเรียบร้อยแล้ว ในช่วงเวลาก่อนเที่ยง แบบสดๆร้อนๆ เป็นกระบวนการทำงานที่รวดเร็วมาก นั่นทำให้ อย.ของไทย อนุมัติใช้วัคซีนทั้งหมด 5 ยี่ห้อในขณะนี้ ได้แก่ AstraZeneca, Sinovac, Johnson&Johnson, Moderna และล่าสุดคือ Sinopharm (แล็บปักกิ่ง)

17) ประเด็นเรื่อง Sinopharm ก่อนหน้านี้ มีดราม่ากันอยู่ เนื่องจากมีเอกสารจากบริษัท แอคแคป แอสเซ็ทส์ จำกัด ว่าเสนอขายวัคซีนให้รัฐบาล 20 ล้านโดส แต่ติดต่อนายกฯ และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขไม่ได้ จึงเข้าไปติดต่อกับราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์แทน แต่ล่าสุด ศ.นพ.นิธิ เลขาธิการของราชวิทยาลัยฯ ยืนยันแล้วว่า ใครๆก็อ้างได้ว่าเป็นตัวแทนนำเข้าวัคซีน แต่เชื่อได้ว่า บริษัทที่กล่าวอ้าง มีแนวโน้มจะเป็นตัวแทนไม่จริงเสียมากกว่า

18) บทสรุปของเรื่องนี้ ต้องติดตามต่อไปว่า Sinopharm จะเข้ามาได้จริงๆเมื่อไหร่ จากแถลงข่าวระบุว่า จะได้วัคซีนไม่เกินเดือนมิถุนายนนี้ ขณะที่เรื่องวัคซีนทางเลือกตัวอื่นทั้ง Moderna และ Johnson & Johnson ก็ต้องรอดูเช่นกันว่า ประชาชนต้องรอไปถึงไตรมาส 4 ตามที่นายอนุทินยืนยันไว้จริงหรือไม่

============

บทความโดย : วิศรุต สินพงศพร

podcast

LATEST
OUR PICKS
HOT
กำลังโหลดบทความถัดไป...

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า