SHARE

คัดลอกแล้ว

บทสรุป ประเด็นสำคัญ

โรงเรียนไม่ใช่สถานที่แรกที่ได้รับพิจารณาให้เปิดทำการเหมือน สถานที่/กิจการ อย่างห้างสรรพสินค้า ร้านอาหาร ธนาคาร ฯลฯ ความไม่แน่นอนยังคงมีอยู่ทุกเมื่อ การสอนทางไกล ปิดโรงเรียน ไปจนถึงเลื่อนเปิดเทอมทั้งประเทศอาจเกิดขึ้นอีก (หลาย) ครั้ง แต่การเรียนรู้ของเด็กเป็นสิ่งที่เลื่อนไม่ได้

การปิดโรงเรียน รวมถึงการปรับรูปแบบจาก On-site สู่การเรียนทางไกล ส่งผลกระทบต่อระบบการศึกษาทั่วประเทศทั้งในแง่ การเข้าถึงการศึกษา ภาวะการเรียนรู้ถดถอย สุขภาพจิตของผู้เรียน และความเหลื่อมล้ำของคุณภาพการศึกษา ผู้เขียนจึงเสนอแนวทางระยะสั้น และ ระยะกลาง ทั้งหมด 6 ข้อที่สามารถทำได้ทั้งในระดับโรงเรียน ระดับพื้นที่ และ ระดับนโยบาย เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าวและพลิกสถานการณ์ก่อนที่การศึกษาไทยจะวิกฤติไปกว่านี้

ขอบเขตของปัญหา และ ผลกระทบ

จากการระบาดของโควิด-19 ศบค. ได้ออกมาตรการเปิด-ปิดสถานที่/กิจการต่างๆ ตามความจำเป็น ซึ่งมีบางแห่งที่มีความจำเป็นได้รับอนุญาตให้เปิด แต่โรงเรียนซึ่งเป็นสถานที่เรียนรู้หลักของเด็กทั่วประเทศกลับไม่ถูกจัดลำดับความสำคัญอันดับแรกในการกลับมาเปิดทำการอีกครั้ง สวนทางการเปิดร้านอาหาร หรือ ห้างสรรพสินค้าที่ได้เปิดก่อน

3 เทอมที่ผ่านมา โรงเรียนโดนเลื่อนเปิดเทอมช้ากว่าที่ปฏิทิน ทำให้วันเรียนหายไปรวมเกือบ 30 วันประมาณ 10% ของเวลาเรียนทั้งหมดเป็นอย่างน้อย แต่เมื่อเปิดเทอมแล้วในพื้นที่ระบาดรุนแรง หรือ พื้นที่สีแดงเข้ม นักเรียนก็ยังไม่สามารถมาเรียนที่โรงเรียน (On-site) ได้ตามปกติ ต้องเรียนทางไกล (Remote learning) แทน ในขณะเดียวกัน โรงเรียนในพื้นที่อื่นๆ แม้จะมีการระบาดที่เบากว่า ก็ใช่ว่าจะสอนแบบ On-site ได้เสมอไป

จากข้อมูลการเปิดเรียนและรูปแบบการจัดการเรียนการสอนในโรงเรียนสังกัด สพฐ. ในช่วงปลายเดือนสิงหาคมที่ผ่านมายังพบอีกว่า มีโรงเรียนที่ไม่สามารถเปิดเรียนแบบ On-site ได้อย่างน้อย 12,000 แห่งจากเกือบ 3 หมื่นโรง กระทบต่อนักเรียนกว่า 3 ล้านคน ในจำนวนนี้มีโรงเรียนจากพื้นที่สีแดง และ สีส้ม ซึ่งมีมาตรการผ่อนคลายกว่ารวมอยู่ด้วยถึง 3,400 แห่ง

มีข้อมูลจำนวนมากที่บ่งชี้ว่าการเรียนทางไกลยังเป็นอุปสรรคกับนักเรียนไทย เช่น

  • ผลการสำรวจ ICT ภายในครัวเรือนโดยสำนักงานสถิติแห่งชาติปี 2562 พบว่าครัวครัวเรือนที่มีเด็กอายุต่ำกว่า 15 จำนวนมากไม่มีคอมพิวเตอร์ใช้ โดยแบ่งเป็น 74.1% ในเขตเทศบาล และ 88.1% นอกเขตเทศบาล
  • ข้อมูลจาก OECD (การจัดสอบ PISA 2018) พบว่านักเรียนในโรงเรียนที่มีฐานะทางเศรษฐกิจและสังคมกลุ่ม 25% ล่างสุด1 สามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้เพียง 61% ในขณะที่มีนักเรียนถึง 1 ใน 4 จากทั้งหมดที่ไม่มีพื้นที่เงียบสงบสำหรับเรียนหนังสือภายในบ้าน

จากการปิดโรงเรียน ภายใต้เวลาเรียนเหลืออย่างจำกัด และ การเปลี่ยนวิธีการจัดการเรียนการสอนมาเป็นรูปแบบทางไกลอย่างเร่งด่วน ได้ส่งผลกระทบต่อผู้เรียนอย่างน้อย 4 ข้อ

  1. การเข้าถึงการศึกษาที่ลดลง เมื่อการเรียนทางไกลคือการเรียนจากภายนอกโรงเรียน หรือก็คือเรียนจากที่บ้านเป็นหลัก สถานะเศรษฐกิจของครัวเรือนกลายมาเป็นปัจจัยหลักที่กำหนดความพร้อมในการเรียนของผู้เรียน ไม่ว่าจะเป็นความพร้อมด้าน ICT อย่าง สมาร์ทโฟน แท็บเล็ต คอมพิวเตอร์ โทรทัศน์ หรือ ซิมอินเทอร์เน็ต ความพร้อมด้านอุปกรณ์การเรียน (เครื่องเขียน สมุด โต๊ะ เก้าอี้) การเข้าถึงไฟฟ้า รวมถึงพื้นที่นั่งเรียนภายในบ้านที่มีความสงบเพียงพอ ตามที่กล่าวถึงไปในข้างต้น ที่ผ่านมา กสทช. ได้ดำเนินการแจกซิมฟรีให้กับนักเรียน แต่มาตรการดังกล่าวเพิ่งดำเนินการหลังการระบาดได้ผ่านไปแล้วกว่า 1 ปี
  2. ภาวะการเรียนรู้ถดถอย ในขณะที่หลายประเทศเริ่มมีการวัดผลเพื่อประเมิน Learning loss จากการปิดโรงเรียน แต่ประเทศไทยยังคงไม่มีการวัดผลการเรียนรู้อย่างเป็นระบบในช่วงปีที่ผ่านมา อย่างไรก็ตามผลกระทบดังกล่าวย่อมเกิดขึ้นอย่างแน่นอน เมื่อชั่วโมงเรียนลดลง นักเรียนได้เรียนไม่ครบตามหลักสูตร (แม้จะครบก็อาจเป็นการเร่งสอนอย่างรวบรัด) รวมถึงการขาดความคุ้นชิน กับการสอนทางไกลของผู้สอน ย่อมนำไปสู่ปัญหาในเชิงคุณภาพ และ ผลลัพธ์ผู้เรียนที่ต่ำลงตามมาทั้งนี้ กลุ่มเด็กเล็ก (ระดับชั้นอนุบาล) ดูจะได้รับผลกระทบรุนแรง จากการปิดโรงเรียน งานวิจัยโดยมหาวิทยาลัยหอการค้าไทยร่วมกับกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) พบว่าการปิดโรงเรียนทำให้การเรียนรู้ของเด็กเล็กลดลงเหลือเพียง 1-2% จากการเรียนรู้ 100% เมื่อเปิดโรงเรียนปกติ
  3. การขาดปฏิสัมพันธ์และสภาพจิตใจที่เปราะบางยิ่งขึ้น การเรียนทางไกลทำให้นักเรียนขาดการปฏิสัมพันธ์กับเพื่อนและครู แม้บางโรงเรียนใช้การเรียน Online แบบเห็นหน้า ย่อมไม่สามารถทดแทนการมีปฏิสัมพันธ์กับคนรอบข้างแบบ Offline ได้ อีกประการคือการจ้องหน้าจอเป็นเวลานานไม่ว่าจะเป็น โทรทัศน์ คอมพิวเตอร์ นำมาซึ่งความอ่อนล้า ความเครียด2 และ ปัญหาสุขภาพจิต โดยเฉพาะกับเด็กเล็ก
  4. ความเหลื่อมล้ำที่เพิ่มขึ้น เดิมที ความเหลื่อมล้ำมีปรากฏให้เห็นอยู่แล้วในประเทศไทย แต่เมื่อความพร้อมด้านอุปกรณ์ในการเรียนที่บ้านของนักเรียน ประกอบกับความพร้อมในการจัดการศึกษาที่แตกต่างกันระหว่างโรงเรียนขนาดใหญ่ที่มีทรัพยากรพร้อมมากกว่าโรงเรียนขนาดเล็ก จะยิ่งถ่างความเหลื่อมล้ำของคุณภาพการศึกษากว้างยิ่งขึ้นในระยะยาว

ข้อเสนอ/ แนวทางแก้ไข ปัญหา

จากตัวเลขผู้ติดเชื้อรายวันที่กำลังลดลงเรื่อยๆ จำนวนผู้ได้รับวัคซีนที่สูงขึ้น โรงเรียนเริ่มกลับมาจัดการเรียนการสอนแบบ On-site ตามปกติมากขึ้น แต่ผลกระทบจากโควิด-19 ต่อการศึกษาโดยเฉพาะ Learning Loss ได้เกิดขึ้นแล้ว สิ่งที่สำคัญที่สุดในขณะนี้คือการชดเชย/บรรเทาภาวะการเรียนรู้ถดถอยให้กลับมาสู่ระดับก่อนเกิดการระบาดโควิด-19 ข้อเสนอเพื่อบรรเทาปัญหาดังกล่าวในระยะสั้น และ กลาง มีทั้งหมด 6 ข้อพร้อมรายละเอียดเพื่อพิจารณาดังนี้

ระยะสั้น

  1. รับมือ Learning loss ของนักเรียนรายบุคคล ลำดับแรกควรเริ่มดำเนินการฟื้นฟูภาวะการเรียนรู้ถดถอย (Recovery program) ซึ่งภาวะการถดถอยของนักเรียนแต่ละคนแตกต่างกัน ไม่ว่าจะเพราะความยากลำบากในการเรียนทางไกล หรือ วิธีการเรียนที่ไม่ถนัด ดังนั้นทุกโรงเรียนจำเป็นต้องประเมินช่องว่างระหว่างโดยอาจใช้ Formative Assessment เพื่อเปรียบเทียบช่องว่างระหว่าง ผลลัพธ์การเรียนรู้ที่นักเรียนควรจะไปถึง กับ ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นจริง และนำข้อมูลมาเตรียมให้การสนับสนุนตามที่นักเรียนต้องการ ปัจจุบันมีหลายประเทศที่เริ่มออกนโยบายการฟื้นฟูแล้ว ตัวอย่างเช่น
  2. ลดเนื้อหา เพิ่มวิธีรู้ อุปสรรคใหญ่ในการสอนคือเวลาเรียนที่ลดลงจากการเลื่อนเปิดเทอม รวมถึงครูใช้เวลาเตรียมการสอนเพิ่มขึ้น3 เพื่อปรับเนื้อหาเป็นการสอนทางไกล ลำดับแรก ครูจำเป็นต้องลดเนื้อหาที่ไม่จำเป็น หันมาให้ความสำคัญกับตัวชี้วัดประเภท “ต้องรู้” ซึ่งได้กำหนดไว้แล้วในหลักสูตรแกนกลาง  ต่อมาคือการเพิ่มวิธีสอน ใช้เครื่องมือให้หลากหลายเพื่อรับมือกับความต้องการของนักเรียนที่แตกต่างกันช่วง 1 ปีที่ผ่านมาเราได้เห็นเป็นที่ประจักษ์แล้วว่าครูไทยจำนวนมาก พัฒนาศักยภาพตนเองจนสามารถมีสื่อสอนทางไกล ทั้งสร้าง learning box หรือ อัดคลิป VDO ของตนเอง การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างครู ผอ. ด้วยกันผ่าน PLC ทั้งภายในโรงเรียน และ ระหว่างโรงเรียน เอื้อให้เกิดการแบ่งปันเครื่องมือ รวมถึงสื่อการสอนต่างๆ ซึ่งจะช่วยเปิดโอกาสให้นักเรียนได้เรียนรู้ผ่านสื่อที่หลากหลายขึ้น
  3. เปิดโรงเรียนอย่างปลอดภัย ปิดเป็นที่สุดท้าย การประกาศปิดโรงเรียนอาจไม่ช่วยลดการระบาดหรืออัตราการเสียชีวิตได้มากนัก เนื่องจากอัตราการชีวิตจากการติดโควิด-19 ในกลุ่มเยาวชนอยู่ในระดับที่ต่ำมาก (<1%) รวมถึงการแพร่เชื้อภายในครอบครัวมักเกิดจากพ่อแม่แพร่มาสู่เด็กมากกว่า ดังนั้นในอนาคต การพิจารณาปิดสถานที่/กิจการต่างๆ ควรคำนึงถึงความจำเป็นของเยาวชนไทย หากโรงเรียนไม่มีการระบาด ไม่ควรสั่งปิดแบบปูพรม หรือหากมีการระบาดเกิดขึ้นควรมีมาตรการเร่งด่วนเพื่อให้กลับมาเปิดได้อีกครั้งนอกจากนี้มาตรการในการเปิดโรงเรียน ทั้งติดตั้งเครื่องวัดอุณหภูมิหน้าโรงเรียน จัดห้องเรียนแบบเว้นระยะห่างยังไม่เพียงพอในการรับมือกับการระบาดได้ ดังนั้น ทุกโรงเรียนจำเป็นต้องมีตารางการตรวจเชื้อด้วย Rapid Antigen Test ให้กับทั้งนักเรียน และ บุคลากรในโรงเรียนอย่างเคร่งครัด ซึ่งการตรวจนี้จะช่วยให้โรงเรียนสามารถรับมือกับการระบาด กลับเปิดการเรียนการสอนได้อย่างปกติภายใต้สถานการณ์ที่ไม่ปกติ รวมถึงลดความเสี่ยงการนำเชื้อกลับไปติดคนในครอบครัว อังกฤษเป็นประเทศหนี่งที่ใช้นโยบายดังกล่าวโดยให้มีการตรวจเชื้อนักเรียนมัธยม 2 ครั้งทันทีเมื่อกลับมาเรียนที่โรงเรียน หลังจากนั้นให้นักเรียนและครูตรวจเองที่บ้านอีกอาทิตย์ละ 2 ครั้ง หากมีผลเป็นบวกให้กักตัวทันที(ดูแนวทางเพิ่มเติมได้ที่นี่)

ระยะกลาง

  1. เพิ่มความยืดหยุ่น ในอนาคต สถานการณ์อาจบีบบังคับให้โรงเรียนต้องสอนสลับไปมา ทั้งแบบ On-site และ Online บุคลากรโดยเฉพาะครูจำเป็นต้องพัฒนาวิธีการสอน เพิ่มความยืดหยุ่นสามารถเปลี่ยนวิธีสอนไปพร้อมๆ กับคำนึงถึงความพร้อมของนักเรียนไปด้วยกัน โดยใช้เครื่องมือแบบต่างๆ ได้ทั้ง Bandwidth ต่ำและสูง  ดังนั้นการผลิตครูโดยคณะครุศาสตร์ทั่วประเทศ รวมถึงอบรมพัฒนาครูในปัจจุบัน (In-service training) จำเป็นต้องทบทวนเนื้อหาและปรับตัวขนานใหญ่เพื่อปิดช่องโหว่นี้ให้ทันการโดยยึดตามความต้องการตามบริบทพื้นที่
  2. ทุกหน่วยงานต้องปรับตัว มุ่งลดภาระ การจะเพิ่มความยืดหยุ่นให้เกิดขึ้นได้จริงนั้น สำนักต่างๆภายใต้กระทรวงศธ. ต้องปรับตัวตามสถานการณ์ไปด้วยกัน แต่การแก้ไขในเรื่องดังกล่าวยังไม่เห็นมากนัก ทั้งหลักสูตรแกนกลางของไทยยังมีข้อกำหนดด้านโครงสร้างเวลาเรียนที่ค่อนข้างแข็งตัว การกำหนดปฏิทินจัดสอบที่ไม่ปรับตามสถานการณ์ รวมถึงการลดหรือยกเว้นโครงการจากหน่วยงานต่างๆและภาระงานอื่นที่เพิ่มขึ้นโดยไม่จำเป็นกระทรวง ศธ.ต้องสื่อสารอย่างชัดเจน มีมาตรการอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้ปฏิบัติ โดยก่อนการระบาดของโควิด-19 สำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.) ได้สำรวจภาระงานของครู พบว่าครูใช้เวลากับภาระงานอื่นนอกการสอนและเตรียมการสอนมากถึง 13 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ คิดเป็น 32.5% ของเวลาทั้งหมดใน 1 ปีการศึกษา
  3. พลิกบทบาทส่วนกลาง การสนับสนุนด้านวิชาการจาก กระทวง ศธ. ระหว่างที่มีการระบาดโควิด-19 เป็นไปอย่างจำกัด ทั้งในแง่สื่อการเรียนรู้ที่มีเพียง DLTV, DLIT การจัดอบรมครูทั่วประเทศที่มีเนื้อหาหลักเกี่ยวกับการใช้เครื่องมือข้างต้น แต่ในปัจจุบัน มีผู้เกี่ยวข้องจากหลายภาคส่วนที่ได้พัฒนาสื่อการสอน เครื่องมือประเมิน ไปจนถึงระบบบริหารจัดการการเรียนรู้ (Learning management system) มีรูปแบบหลากหลายทั้ง Offline, Online, Blendedบุคลากรจากส่วนกลางทั้งระดับกระทรวง ระดับจังหวัดหรือแม้กระทั่ง เขตพื้นที่ สามารถพลิกบทบาทจากการเป็น  Service Provider มาเป็น Facilitator เป็นตัวกลาง รวบรวมเครื่องมือต่างๆ อย่างหลากหลาย และสื่อสารสร้างการรับรู้ นำเสนอทางเลือกให้โรงเรียนสามารถนำ solution เหล่านี้ไปแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นตรงตามบริบทของตนเองตัวอย่างเช่น  รัฐบริติช โคลัมเบีย ประเทศแคนาดา ได้พัฒนา “Openschool”  เป็น platform กลาง รวบรวมและสื่อการสอนจำนวนมาก รวมถึงช่วยให้คำแนะนำการออกแบบการสอนแก่ครู

ข้อเสนอข้างต้นเป็นมาตรการระยะสั้น-กลาง เพื่อบรรเทา Learning Loss ที่ผู้เกี่ยวข้องสามารถทำได้ทันที และไม่เพิ่มภาระทางด้านงบประมาณมากนัก แต่ในระยะยาวนั้น ต้องไม่ลืมว่าคุณภาพการศึกษาไทยเดิมทีมีปัญหาอยู่แล้ว การระบาดโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบซ้ำลงไปนั้น ยิ่งทำให้ปัญหาดังกล่าวใหญ่ขึ้น ซับซ้อนขึ้น และ ยากขึ้น การยกระดับคุณภาพกลับมาให้ดีเท่าเดิม ยังไม่เพียงพอต่อการรับมือกับความท้าทายในอนาคตที่ปั่นป่วนยิ่งขึ้น การปฏิรูปในเชิงโครงสร้างเป็นสิ่งที่ต้องพูดคุยร่วมกัน กำหนดแผนนโยบาย และ ลงมือปฏิบัติให้มีประสิทธิภาพ ในลำดับถัดไป

1วัดโดยดัชนี Economic, Social, and Cultural Status หรือดัชนี ESCS ซึ่งทำขึ้นโดย PISA
2ผลการสำรวจจาก สพฐ. ยังพบว่ามีนักเรียนเพียง 56% เท่านั้นที่มีความสุขจากการเรียนทางไกล (สพฐ)
3ผลสำรวจครูในโครงการ Teach For Thailand โดย Bains & Company พบว่าครูมากกว่า 72% ต้องใช้เวลาในการเตรียมการสอนเพิ่มขึ้นอีกวันละ 2 ชั่วโมง

podcast

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า