-
-
- อาชีพเกษตรกรรมที่คิดเป็น 40% ของประชากรประเทศกลับสร้าง GDP เพียง 10%
- ตั้งแต่ประเทศไทยเผชิญกับปัญหาโควิด-19 ในปี 2563 มีตัวเลขของแรงงานในเมืองที่ย้ายกลับบ้านเกิดไม่ต่ำกว่า 1 ล้านคน โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่
- เกษตรกรไทยเผชิญความเหลื่อมล้ำไม่จบไม่สิ้น จึงต้องการเรียนรู้การเป็นผู้ประกอบการ ทักษะใหม่ๆ และเทคโนโลยี เพื่อให้ก้าวทันโลก
-
รู้หรือไม่ว่าตั้งแต่ประเทศไทยเผชิญกับปัญหาโควิด-19 ในปี 2563 มีตัวเลขของแรงงานในเมืองที่ย้ายกลับบ้านเกิดไม่ต่ำกว่า 1 ล้านคน โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ที่มองว่าการทำงานในเมืองไม่แน่นอนเหมือนเดิมอีกต่อไป เกษตรกรรมเป็นตัวเลือกลำดับต้นๆ ของคนที่ครอบครัวหวังให้ไปสานต่อมรดกบนผืนดิน แต่ในอีกด้านหนึ่ง อาชีพเกษตรกรรมที่คิดเป็น 40% ของประชากรประเทศกลับสร้าง GDP เพียง 10% เท่านั้น อาชีพที่เราเรียกว่าเป็นกระดูกสันหลังของชาติกลับ “ทำมากแต่ได้น้อย” ซึ่งในโลกที่ทุกประเทศแข่งขันกันส่งออกผลผลิตของตัวเอง เราควร “ทำน้อยแต่ได้มาก” เพื่อลดต้นทุนและปรับตัวให้เข้ากับบริบททางสังคม
นี่เป็นที่มาของ “Clubhouse Series” ครั้งที่ 2 ในหัวข้อ Local Economy ต่อจากครั้งแรกที่ได้พูดคุยกันเรื่อง New Tourism ภายใต้โปรเจกต์ Lessons from the Crisis ที่ Thailand Policy Lab (ห้องปฏิบัติการนโยบายที่ก่อตั้งโดยสภาพัฒน์ฯ และ UNDP) และ Thailand Future Foundation จับมือกันเป็นตัวกลางชวนผู้มีส่วนร่วมทั้งจากภาครัฐและเอกชนมาพูดคุยสะท้อนปัญหา และร่วมกันหาทางออกที่ดีที่สุดเพื่อหานโยบายที่ตอบโจทย์ปัจจุบัน
แขกรับเชิญที่ได้มาร่วมเสวนาในครั้งนี้มีทั้งหมด 3 หน่วยงาน ได้แต่ ดร.สีลาภรณ์ บัวสาย ประธานแผนงานการพัฒนาภูมิภาคและจังหวัด 4.0 ภายใต้แผนงานยุทธศาสตร์เป้าหมายด้านสังคม, คุณพงษ์ศักดิ์ ยิ่งชนม์เจริญ นายกสมาคมสันนิบาตเทศบาลฯ และนายกเทศมนตรีเทศบาลนครยะลา และคุณอุกฤษ อุณหเลขกะ ผู้ร่วมก่อตั้งสตาร์ทอัพเกษตร Ricult ซึ่งทั้ง 3 คนได้พบเจอกับปัญหาต่างๆ ที่เกี่ยวกับเศรษฐกิจท้องถิ่น โดยเฉพาะปัญหาที่เกิดในภาคการเกษตร และมีมุมมองที่น่าสนใจเพื่อแก้ไขสิ่งต่างๆ
และนี่คือข้อสรุปจากการพูดคุยตลอด 2 ชั่วโมงในวันนั้น
เกษตรไทยไม่ได้พังเพราะโควิด แต่พังเพราะโครงสร้างและความเหลื่อมล้ำ
ดร.สีลาภรณ์เริ่มต้นบทสนทนาด้วยการชวนทุกคนกลับไปทำความเข้าใจความหมายของคำว่า “เศรษฐกิจฐานราก” อีกครั้ง หมายถึงเศรษฐกิจที่อยู่บนฐานใหญ่ที่สุด ซึ่งก็คือภาคการเกษตรที่เป็นแหล่งทุนทางทรัพยากรและทุนทางวัฒนธรรม สถานการณ์โควิดที่ผ่านมาไม่ได้ส่งผลต่อต้นทุนทางทรัพยากรสักเท่าไหร่ เพราะธรรมชาติฟื้นตัวมากขึ้น แต่ที่กระทบต่อเกษตรกรมากคือการจัดการ Supply Chain และ Logistics รวมทั้งการบริโภคที่ลดลงจนทำให้เกิดอุปทานล้นเกิน (Oversupply) ในขณะที่ตัวเลขการส่งออกยังอยู่ในเกณฑ์ดี
ปัญหาในเกษตรกรรมไทยอาจเกิดตั้งแต่เกษตรกรไทยยังขาดแนวคิดเป็นผู้ประกอบการ ทั้งๆ ที่ในตลาดยังมีโอกาสอีกมาก เช่น การแปรรูปผลผลิต หรือหาช่องทางการตลาดขายตรงไปยังผู้บริโภคโดยไม่ต้องผ่านตัวกลาง แต่การทำเช่นนั้นแปลว่าคนจะต้องมีทักษะและต้องมีปัจจัยพื้นฐานด้านอินเทอร์เน็ตและเทคโนโลยี
ดร.สีลาภรณ์ยกตัวอย่างว่ามีเกษตรกรที่รู้จักคนหนึ่งในจังหวัดนครศรีธรรมราชปลูกส้มโอทับทิมสยามทั้งหมด 80 ไร่ คำนวณว่าไร่หนึ่งปลูกได้ 25 ต้น ต้นหนึ่งได้ประมาณ 200 ลูกซึ่งจะขายได้ลูกละ 300 บาท นั่นแปลว่าสวนนี้มีรายได้ประมาณ 10 ล้านบาทต่อปี แต่ลูกชายของเจ้าของสวนกลับเลือกที่จะทำงานเป็นวิศวกรได้เงินเดือนละ 30,000 บาท แต่ตอนนี้เงื่อนไขในเมืองบังคับให้คนรุ่นใหม่ต้องกลับบ้าน เขาอาจจะเริ่มเห็นว่าภาคการเกษตรคือทองคำ เป็นทองคำเขียวใต้แผ่นดิน สามารถสร้างอะไรได้เยอะ
คุณพงษ์ศักดิ์แชร์ต่อว่าตัวเองเป็นนายกเทศมนตรีมา 18 ปีแล้ว เขาบอกว่าตอนนี้ภาคใต้จนที่สุดถ้าตัดภาคการท่องเที่ยวตาม GDP ออกไป ที่ผ่านมาตัวเลขการท่องเที่ยวบดบังความจริงไว้ ถ้าภาคใต้ฟื้นฟูการเกษตรให้ดีขึ้นได้ คนจะมีรายได้มากขึ้น และจะนำเงินมาใช้จ่ายให้หมุนเวียนเป็นวัฏจักร อย่างเช่น จังหวัดยะลามีต้นทุนที่ดีมาก ที่นั่นปลูกส้มโชกุนขายลูกละ 30 บาท ดินดีปลูกอะไรก็ขึ้น คุณพงษ์ศักดิ์แบ่งพืชในยะลาออกเป็น 4 ประเภทคือ
-
-
- ยางพารา ซึ่งถือว่าเป็นสินค้าที่ตายแล้ว
- ทุเรียน พืชเศรษฐกิจทดแทน ถือว่าเป็นดาวรุ่งในตอนนี้ มีพันธุ์ดีอย่างมูซังคิงที่แพงกว่าหมอนทอง
- ลองกอง ผลไม้ที่สามารถนำไปทำเป็นสินค้าพรีเมี่ยมได้
- กาแฟ ยะลาปลูกกาแฟมาแล้ว 50-60 ปี ทำให้ดินมีอโรม่าเหมาะแก่การปลูกต่อไป
-
เทศบาลยะลาเคยนำปัญหาต่างๆ ของด้านการเกษตรมาวิเคราะห์ แล้วพบประเด็นที่น่าสนใจดังนี้
- ทัศนคติของเกษตรกร เป็นเรื่องสำคัญที่ต้องร่วมกันเรียนรู้
- เทคโนโลยี เป็นสิ่งที่คนทำไม่เคยคิด และยังใช้วิธีดั้งเดิมอยู่
- แบรนดิ้ง ไม่เคยทำ ไม่เคยบอกคนอื่นว่าสินค้าของเรามีคุณภาพ
- ไม่เรียนรู้ เทศบาลจึงต้องลงไปช่วยส่งเสริมซึ่งใช้เวลาและทรัพยากรเยอะพอสมควร
คุณพงษ์ศักดิ์บอกว่าเมืองไทยมีต้นทุนที่ดีมากเพาะปลูกได้หมด ผลไม้ที่ยะลาปลูกอาจไม่ใช่พืชเศรษฐกิจหลักของประเทศ แต่รัฐบาลควรสนับสนุนคนในพื้นที่โดยเข้าไปทำวิจัยให้ท้องถิ่น ตรงนี้จะสามารถสร้างความเข้มแข็งเชิงพื้นที่ได้ ทำให้เศรษฐกิจรากฐานมีความเข้มแข็ง เช่น คุณพงษ์ศักดิ์กำลังคิดโปรเจกต์ดอกดาหลายะลาเพื่อส่งไปขายที่เมืองจีน เพราะคนจีนนิยมให้กระเช้าแบบแจกันสูง และดอกดาหลามีความสูงระดับอก สีสันสวยงาม ทนทานเหมาะแก่การส่งออก
คุณพงษ์ศักดิ์เสนอต่อว่ากำลังคิดให้เทศบาลปล่อยเช่าที่ดินเป็นระยะเวลา 3 ปี เพื่อชักชวนให้คนในพื้นที่มารวมกลุ่มทำการเกษตร โดยปลูกพืชที่มีศักยภาพ เช่น ใบกระท่อม ซึ่งจะช่วยกันควบคุมดูแลให้สินค้ามีคุณภาพ ถึงตรงนี้ ดร.สิลาภรณ์ได้เสริมประเด็นเกี่ยวกับเรื่องที่ดินว่าการใช้ประโยชน์ที่ดินกับการถือครองที่ดินเป็นคนละเรื่อง การเช่าที่ทำให้เรามีผลผลิต แต่บางคนกลับไปจับประเด็นการถือครองที่ดิน ซึ่งดร.สิลาภรณ์มองว่า เราไม่จำเป็นต้องแก้ปัญหาที่ยากก่อน เพราะเจ้าของที่บางคนก็ไม่ได้คิดค่าเช่าแพง เมื่อมีคนมาใช้ประโยชน์ เขาก็ไม่ต้องเสียภาษี ถ้าเกษตรกรจัดการพื้นที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ก็ได้ประโยชน์ด้วยกันทั้ง 2 ฝ่าย
ปัญหาความเหลื่อมล้ำและยากจน แก้ได้ด้วยเทคโนโลยี
คุณอุกฤษเล่าถึงสตาร์ทอัพทางการเกษตรที่ตั้งขึ้นมาด้วยประสบการณ์ทำงานในซิลิคอลวัลเล่ย์ เขาอยากนำเทคโนโลยี AI มาช่วยขับเคลื่อนภาคการเกษตรและแก้ไขปัญหาความยากจน เพราะปัจจุบันรายได้ต่อครัวเรือนของคนที่ทำอาชีพเกษตรกรเฉลี่ยได้เดือนละ 5,000 บาทเท่านั้น แอปพลิเคชันของเขามีผู้ใช้มากกว่า 5 แสนคน แต่ก็ถือว่าเป็นจำนวนน้อยมาก เมื่อเทียบกับเกษตรกรทั้งประเทศที่มีประมาณ 15 ล้านคน เขาแชร์ให้ฟังว่าโรงงานแปรรูปแห่งหนึ่งในประเทศไทยส่งน้ำสับปะรดให้แบรนด์ Mark and Spencer ซึ่งสะท้อนได้ว่าเมืองไทยอุดมสมบูรณ์มาก เขาเห็นด้วยกับ ดร.สิลาภรณ์ว่าเกษตรกรไทยยังไม่ได้มองตัวเองเป็นผู้ประกอบการ ที่ต้องเข้าใจการลงทุนและต้องรู้จักตลาดของตัวเอง ปัจจุบันเกษตรกรไทยมองที่ผลผลิตเท่านั้น อย่างเช่น ไม่เคยบอกว่าปลูกอ้อยไปจะขายใคร ขายยังไง ซึ่งการจะส่งเสริมให้เกษตรกรเป็นผู้ประกอบการได้ต้องเกิดจากการบูรณาการหลายภาคส่วน และไม่มีนโยบายใดนโยบายเดียว (One Size Fit For All) จะสามารถตอบโจทย์ได้หมด เราจำเป็นต้องเข้าใจความแตกต่างระหว่างพืชไร่ พืชสวน เกษตรยุคใหม่ เกษตรยุคเก่า
ทางออกในตอนนี้คือต้องลดการผลิตพืชที่ได้กำไรน้อย หันไปปลูกผักหรือผลไม้ที่พรีเมี่ยมมากขึ้น ซึ่งตอนนี้ถือเป็นโอกาสดีที่คนรุ่นใหม่จะได้นำเทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามาใช้ทำการเกษตรเพื่อให้เกิดความหลากหลายทางการเกษตรดังเช่นที่รัฐบาลญี่ปุ่นทำ เพราะไม่อย่างนั้นรัฐจะต้องนำภาษีไปอุ้มการเกษตร และไม่สามารถสร้างสินค้าระดับพรีเมี่ยมได้
สิ่งที่คุณอุกฤษเป็นห่วงนอกจากเรื่องโควิด-19 ก็คือการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) และสังคมผู้สูงวัย (Aging Society) อย่างเรื่องสภาพอากาศ เกษตรกรพึ่งพาน้ำฝนกว่า 80% ซึ่งตอนนี้เรายังไม่มีระบบชลประทานที่ดี หมายความว่าถ้าฝนไม่ตกหมายถึงขาดทุนทันที และจะกลายเป็นปัญหาของรัฐบาลด้วย ทุกคนต้องช่วยกันป้องกันปัญหาเหล่านี้ เพราะหากเกิดปัญหากับเศรษฐกิจฐานราก ก็จะกระทบกับเศรษฐกิจทั้งประเทศแน่นอน
เพิ่มทักษะให้เกษตรกร แล้วเศรษฐกิจไทยจะไปไกลกว่าเดิม
ผู้ประกอบการภาคการเกษตรลงทุนสูงแต่ผลตอบแทนต่ำ โดยเฉพาะข้าวซึ่งประเทศไทยผลิตเยอะมาก แต่ไม่มีอำนาจในการควบคุมราคา กลายเป็นความเสี่ยงสูงที่ตามมา ทำไมเรายังมีแค่ข้าวขาวกับข้าวหอมมะลิ? เรามีพันธุ์ข้าวแปลกๆ ได้หรือไม่? เราสร้างมาตรฐานของข้าวเหมือนกาแฟได้หรือเปล่า? อนาคตเราต้องไปในทิศทางไหน? นี่คือคำถามที่ต้องรีบหาคำตอบให้เร็วที่สุด
ดร.สีลาภรณ์ยกตัวอย่างประสบการณ์ของตัวเองที่เคยเข้าไปช่วยเกษตรกรทำบัญชีรายรับ-รายจ่ายจนกลายเป็นเครื่องมือมหัศจรรย์ พอถึงสิ้นเดือนก็เอาตัวเลขมาคุยกันทั้งหมู่บ้าน เริ่มเปรียบเทียบว่าทำไมค่าปุ๋ยของหมู่บ้านตัวเองถึงแพงกว่าหมู่บ้านอื่นถึง 11 ล้านบาททั้งที่ปลูกเหมือนกัน พอเริ่มสงสัยก็พยายามลดต้นทุนตัวเอง เกษตรกรคนหนึ่งที่เธอรู้จักปลูกดอกมะลิ 50 ไร่อยู่ที่จังหวัดนครปฐม เริ่มทำบัญชีรายรับ-รายจ่ายจริงจังจนสามารถปลดหนี้เกือบ 2 ล้านบาท เพราะการทำบัญชีทำให้เกษตรกรรายนี้ลดการใช้ปุ๋ยเคมีที่มีต้นทุนเดือนละ 30,000 บาท ไปใช้ปุ๋ยชีวภาพเดือนละ 5,000 บาท
ดร.สีลาภรณ์ชี้ว่า จุดบอดของเกษตรกรไทยคือควบคุมต้นทุนไม่ได้ เกือบร้อยละร้อยไม่เคยจดต้นทุนเลย พวกเขาไม่มีทักษะประกอบการซึ่งเป็นข้อเสียเปรียบที่สุด เพราะการทำบัญชีช่วยลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นลงได้ ยิ่งถ้ารวมกลุ่มกันกับคนในชุมชน ก็สามารถซื้อของโดยได้ต้นทุนที่ถูกกว่า
ดร.สีลาภรณ์แบ่งวิธีแก้ปัญหาตามลักษณะผู้ประกอบการออกเป็น 3 กลุ่มคือ
-
-
- กลุ่มทักษะน้อย ทุนน้อย ต้องสอนทักษะประกอบการเบื้องต้น สอนทำบัญชี ให้เขารวมกลุ่มเพื่อสร้างข้อต่อรองกับพ่อค้า สร้างมาตรฐานและความแตกต่างของสินค้า ใช้วิธีง่ายๆ เข้าใจได้ง่าย ไม่ต้องแฟนซีหรือไฮเทคมาก
- กลุ่มมีทักษะ แต่ทุนน้อย ต้องสอนเรื่องการรวมกลุ่มเพื่อให้เข้าถึงแหล่งทุน สอนการเข้าใจตลาด อย่างประเทศญี่ปุ่น ก่อนปลูกต้องรู้ก่อนว่าจะเอาไปขายใคร ราคาที่ลูกค้ารับได้อยู่ที่เท่าไหร่เพื่อจะได้วางแผนทำการเกษตรได้อย่างถูกต้อง เน้น Demand มากกว่า Supply ไม่อย่างนั้นก็จะขาดทุนไปตลอด
- กลุ่มมีทักษะ และมีทุน ต้องเติมเทคโนโลยีให้เขา กำหนดมาตรฐานผลผลิต และหาผู้ซื้อให้ได้ทั้งแพลตฟอร์มและโลจิสติก สอนเรื่องการจัดการความเสี่ยง และเติมความรู้เข้าไป
-
ดร.สิลาภรณ์เห็นว่ามหาวิทยาลัยเป็นตัวกลางในการจัดการเรื่องนี้ได้ดีที่สุด เพราะมีองค์ความรู้ และไม่ได้ทำไปเพื่อผลประโยชน์ของคนใดคนหนึ่ง โดยเฉพาะเรื่อง Digital Infrastructure และ Digital Literacy ซึ่งเป็นระบบสำคัญในยุคปัจจุบันที่ต้องวางให้เกษตรกรไทยอย่างเข้มแข็ง
คุณอุกฤษเสริมในมุมมองวิถีชีวิตเกษตรกรไทยว่าพวกเขาอยากมีชีวิตที่ดีขึ้นเหมือนเราทุกคน คุณอุกฤษเคยเจอเกษตรกรที่เปิดคลิปใน Youtube เพื่อหาเทคโนโลยีใหม่ๆ ไว้เอามาใช้กับสวนตัวเอง และสั่งซื้ออุปกรณ์เองเพื่อเปลี่ยนวิธีทำการเกษตรแบบดั้งเดิม เขาเคยสังเกตว่าชาวบ้านชอบดูว่าใครทำอะไรแล้วได้ดี ก็จะเข้าไปถามแล้วเอามาทำตาม เหมือนเป็นอินฟลูเอนเซอร์ ดังนั้นเราน่าจะหาเกษตรกรต้นแบบให้กับเกษตรกรไทย เพราะตอนนี้เราไม่ได้แข่งกันเองในประเทศ ถ้าไม่ปรับเกษตรกรจะโดนบี้ตาย
คุณอุกฤษทิ้งประเด็นที่ยังเป็นห่วงอยู่คือเรื่องกฎและข้อบังคับต่างๆ ที่บางครั้งกลายเป็นข้อจำกัดให้กับเกษตรกร สมมติว่าชาวบ้านหนึ่งคนอยากเปิดร้านอาหารแบบถูกกฎหมาย เขาต้องไปขอใบอนุญาตประมาณ 4-5 ใบ เมื่อเขาเจอความยุ่งยากเหล่านี้ ก็เลือกที่จะทำแบบไม่ถูกกฎหมายดีกว่า ทำให้เกิดอุปสรรคในการสร้าง SME
หรือขั้นตอนในการปลูกไม้พะยูงในบ้านเรา ก็มีกฎหมายแต่ละกระทรวงพัวพันกันไปหมด เกษตรกรหนึ่งคนทำเรื่องขอตัดไม้ไปที่กรมป่าไม้แล้ว แต่ส่งออกไปจีนไม่ได้เพราะกระทรวงพาณิชย์ไม่อนุญาต มันยิบย่อยไปหมด ผลกระทบคือทำให้ธุรกิจใหม่ๆ หรือทฤษฎีใหม่ๆ เกิดช้า
อยากสร้างท้องถิ่นให้เข้มแข็ง รัฐต้องเปลี่ยนวิธีคิดใหม่
เมื่อเราถามถึงนโยบายและการสนับสนุนของภาครัฐ คุณพงษ์ศักดิ์บอกว่าที่ผ่านมามันบิดเบี้ยวตั้งแต่โครงสร้างแล้ว เขายกตัวอย่างว่าในจังหวัดยะลามีเกษตรกร 70-80% แต่ไม่มีนักวิชาการด้านการเกษตรอยู่ในหน่วยงานราชการส่วนท้องถิ่นเลย ส่วนนโยบายระดับภูมิภาคก็มักจะไปยึดโยงกับส่วนกลาง ส่วนกลางบอกว่าช่วงนี้ให้เลี้ยงวัว แต่พื้นที่ตรงนั้นอาจเลี้ยงวัวไม่ได้ นี่คือความบิดเบี้ยวในความสัมพันธ์เชิงอำนาจ ซึ่งต้องเอามาคิดใหม่
คุณพงษ์ศักดิ์แชร์โครงการที่ได้ทดลองส่วนนำร่องกับเกษตรกรไปแล้ว คือรับซื้อลองกองในราคาที่สูงกว่าตลาด ช่วงหนึ่งราคาลองกองตกลงมาที่กิโลกรัมละ 2 บาท เทศบาลจึงชวนเจ้าของสวนมาประชุมแล้วถามความสมัครใจว่าใครอยากเข้าร่วมโครงการบ้าง โดยมีเงื่อนไขว่าจะรับซื้อกิโลกรัมละ 60 บาท แต่รับเฉพาะเกรดพรีเมี่ยมเท่านั้น
หลังจากเสร็จสิ้นฤดูกาล ทางเทศบาลก็เรียกสมาชิกมาประชุมอีกครั้งหนึ่งเพื่อสรุปผลการดำเนินงาน พบว่าลองกองเกรดพรีเมี่ยมมีเพียง 20% จากผลผลิตทั้งหมด แต่เมื่อคำนวณเป็นรายได้แล้ว ยังสูงกว่าขายลองกองทั้งหมดที่กิโลกรัมละ 2-5 บาท จากประสบการณ์นี้ทำให้คุณพงษ์ศักดิ์อยากนำเสนอทฤษฎี “ทำน้อยได้มาก” เหมือนการปลูกเมล่อนในประเทศญี่ปุ่น เกษตรกรเขาดูกันทีละลูก ทุกลูกมีที่มาที่ไป เพราะโลกมันเปลี่ยนไปแล้ว วิธีการก็ต้องเปลี่ยนไปด้วย
สิ่งที่น่ากลัวของเกษตรกรคือไม่มีของจะขาย หมายถึงพอผลไม้ออกดอกมา แต่พายุฝนก็เข้าจนทำให้ดอกร่วงหมด ความแปรปรวนทางสภาพอากาศเป็นธรรมชาติที่เราคุมไม่ได้ เกษตรกรจึงต้องมีความเข้าใจเรื่องสิ่งแวดล้อมเพื่อลดปัญหาที่จะเกิดขึ้น อย่างที่ประเทศจีนเขาสร้างโรงเรือนเพื่อควบคุมการผลิต ไม่ได้หวังพึ่งแต่ธรรมชาติอย่างเดียว
คุณอุกฤษปิดท้ายการเสวนาด้วยความหวัง เขามองว่าถึงแม้เศรษฐกิจฐานรากของเมืองไทยจะมีวิกฤตแต่ก็มีโอกาสอยู่ เพราะการส่งออกสินค้าการเกษตรยังไม่ค่อยได้รับผลกระทบมากจากสถานการณ์ของโลก และยังเป็นโอกาสที่ดีให้คนรุ่นใหม่ได้กลับไปช่วยที่บ้านสร้างความเปลี่ยนแปลง ให้เกษตรสมัยก่อนกลายเป็นเกษตรสมัยใหม่ที่จะมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น และเป็นโอกาสดีที่รัฐจะได้ออกนโยบายเพื่อเปลี่ยนแปลงเรื่องเทคโนโลยีในชุมชนให้มีความก้าวหน้ายิ่งขึ้น และหาทางสนับสนุนเศรษฐกิจฐานรากอย่างสินค้าเกษตรได้ไปต่อให้ไกลกว่านี้
บางทีการออกนโยบายให้เกษตรกรรมไทยก้าวกระโดดอาจไม่ใช่การทำอะไรที่ไกลตัว แต่คือการหันกลับมามองและใส่ใจผู้คนที่เป็นกระดูนสันหลังอย่างเกษตรกรไทย พวกเขาล้วนต้องการนโยบายที่ช่วยสร้างทักษะที่เหมาะกับตนเองและยุคสมัย ไม่ว่าจะเป็นการบริหารจัดการเงิน การเป็นผู้ประกอบการ หรือการใช้เทคโนโลยี และรัฐเองต้องกระจายอำนาจในการออกนโยบาย เพื่อให้นโยบายตอบโจทย์กับแต่ละท้องถิ่นอย่างแท้จริง
นโยบายเหล่านี้ จะช่วยให้เกษตรกรไทยมีรายได้มากขึ้น หลุดจากบ่วงความเหลื่อมล้ำ และพัฒนาเศรษฐกิจไทยภาคการเกษตรได้อย่างยั่งยืน