SHARE

คัดลอกแล้ว

กระแสรถยนต์ไฟฟ้าหรือ ‘EV’ มาแรงจนทำให้ผู้ผลิตรถยนต์ทั่วโลกต่างเดินหน้าเต็มกำลังกับรถยนต์ไฟฟ้ากันทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นเจ้าตลาดอย่าง ‘Tesla’ จากสหรัฐอเมริกา หรือแบรนด์จีนที่กรุยทางมาก่อนอย่าง ‘BYD’ และ ‘MG’ ก็ขับเคี่ยวกันเข้มข้น

แม้แต่ Mercedes-Benz, Audi, Porsche รวมถึง Volkswagen จากฝั่งยุโรป ก็กระโดดไปกับรถไฟขบวนนี้เช่นเดียวกัน

สวนทางกับกลยุทธ์ของ ‘Toyota’ ค่ายรถจากญี่ปุ่นที่เราคุ้นชื่อกันดี ที่เพิ่งจะเริ่มขยับตัวทีหลัง ทั้งที่เคยเป็นผู้ที่บุกเบิกรถยนต์ระบบไฮบริดมากว่า 20 ปี จากความสำเร็จของ ‘Toyota Prius’ รถยนต์ไฮบริดมอเตอร์ไฟฟ้ารุ่นแรกของโลกที่ออกวางขายจริง

แม้ว่าเพิ่งจะมีการเปิดตัว ‘bZ3’ ที่เป็นการร่วมพัฒนากับ Subaru มาเป็นรถยนต์ไฟฟ้า 100% ซึ่งเป็นรุ่นที่สองจากโตโยต้าตามมาจากรุ่น ‘bZ4X’ และโตโยต้ายังมีเป้าหมายเปิดตัว EV ทั้งหมดถึง 30 รุ่นภายใน 9 ปี

แต่ก็ถือว่าโตโยต้าออกมาช้ามาก ถ้าเทียบกับค่ายรถคู่แข่งยักษ์ใหญ่อย่าง General Motors และ Ford และแถมล่าสุดยังมีข่าวหลุดออกมาว่ากำลังปรับแผนทั้ง 30 รุ่นกันใหม่ รวมไปถึงหยุดการพัฒนาในบางรุ่นไปชั่วคราวด้วย

เกิดอะไรขึ้นกับโตโยต้า? การก้าวไปสู่ EV ทั้งคันช้ากว่าคนอื่นนี้เป็นความตั้งใจหรือแค่ตกขบวนกันแน่? TODAY Bizview ชวนวิเคราะห์ไปด้วยกัน

[ รถยนต์ไฟฟ้าเป็นแค่ทางเลือก แต่ไม่ใช่ทางออกสุดท้าย ]

โตโยต้าย้ำมาหลายปีแล้วถึงความไม่พร้อมของเทคโนโลยีที่จะเปลี่ยนให้รถทั้ง 100% บนโลกกลายเป็นรถยนต์ไฟฟ้าได้ทันที ด้วยปัญหาหลักจากเวลาการชาร์จ และระยะทางที่วิ่งได้ต่อการชาร์จยังไม่สามารถสู้เครื่องยนต์สันดาปหรือรถยนต์ไฮบริดได้

ผู้บริหารของโตโยต้าเชื่อว่าแต่ละพื้นที่บนโลกจะมีความสามารถในการเปลี่ยนมาใช้รถยนต์ไฟฟ้า 100% ได้แตกต่างกัน ซึ่งจะช้าหรือเร็วก็ขึ้นอยู่กับโครงสร้างพื้นฐานของท้องถิ่น รวมไปถึงการจัดการพลังงาน

เรื่องนี้ตอกย้ำโดย ‘กิลล์ แพรตต์’ หัวหน้านักวิทยาศาสตร์และซีอีโอของสถาบันวิจัยโตโยต้า (Toyota Research Institute) ที่ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีนี้ว่า “เราไม่สามารถบังคับให้ทุกคนบนโลกเปลี่ยนมาใช้วิธีเดียวกันได้ แม้แต่ในเรื่องสิ่งแวดล้อม เราก็ต้องมีวิธีให้ทุกคนสามารถช่วยกันลดมลภาวะได้ด้วยวิธีที่เหมาะสมที่สุดสำหรับแต่ละคน”

นั่นทำให้ ในขณะที่โตโยต้าทุ่มงบกว่า 2.8 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพื่อลงทุนพัฒนารถยนต์ไฟฟ้าทั้ง 30 รุ่น ให้สำเร็จในปี 2030 แต่โตโยต้าก็ยังคงลงทุนในรถยนต์ไฮบริดอย่าง ‘Prius’ และทางเลือกอื่นๆ ที่จะมาเทียบเคียงกับ BEV ได้ อย่างรถยนต์พลังไฮโดรเจนซึ่งรวมถึง ‘Mirai’ รุ่นที่สองด้วย

โดยรถยนต์พลังไฮโดรเจนมีการทำงานภายในคล้ายกับรถยนต์ไฟฟ้าแบตเตอรี่ แต่ขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้าที่เกิดจากไฮโดรเจนและออกซิเจน ทำให้มันไม่มีการปล่อยไอเสียโดยสิ้นเชิง จะมีก็แค่ไอน้ำออกมาจากท่อไอเสียเท่านั้น ซึ่งตัวรถสามารถเติมไฮโดรเจนได้ในเวลาใกล้เคียงกับการเติมน้ำมันรถยนต์ทั่วไป

อย่างไรก็ตาม รถยนต์พลังไฮโดรเจนก็ต้องเจออุปสรรคเช่นเดียวกันกับ EV พูดง่ายๆ คือ โตโยต้าต้องวางสถานีเติมไฮโดรเจนใหม่ทั่วโลก ให้เทียบเท่าสถานีน้ำมันแบบดั้งเดิม ซึ่ง “คนจะไม่ซื้อรถถ้าไม่มีสถานีมากพอ” และ “นักลงทุนก็ไม่อยากสร้างสถานีถ้ายังไม่มีรถยนต์มากพอ”

นอกจากไฮโดรเจนแล้ว โตโยต้าเองก็ให้ความสนใจไปทางการวิจัยเชื้อเพลิงสังเคราะห์ (E-Fuels) ซึ่งเป็นพลังงานทางเลือกรูปแบบใหม่ที่ไม่สร้างมลพิษทางอากาศ เพื่อจะมาทดแทนการใช้น้ำมันในรถยนต์ที่ไม่ได้ใช้ไฟฟ้าขับเคลื่อนอีกด้วย

ที่น่าสนใจคือ โตโยต้าไม่ได้ยืนสวนกระแสนี้อยู่แค่ลำพัง เพราะเครือ Stellantis รวมถึงค่ายรถญี่ปุ่นอีกหลายเจ้าเอง ก็ยังยืนยันที่จะไม่ทิ้งรถยนต์น้ำมันและไฮบริดไปเหมือนที่หลายแบรนด์ชั้นนำออกมาจับมือเลิกผลิตรถยนต์ใช้น้ำมันภายในปี 2040

[ วัตถุดิบผลิตมีไม่พอต่อเป้าหมายของค่ายรถทั่วโลกรวมกัน ]

เพื่อไปถึงเป้าการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์หรือ Net Zero ภายในปี 2050 ได้ เราอาจต้องเปลี่ยนรถยนต์บนโลกให้เป็น EV ถึง 2,000 ล้านคัน ซึ่งนั่นก็หมายถึงการใช้แร่ที่มีจำกัดในจำนวนมหาศาลในการผลิตแบตเตอรี่ไฟฟ้าแบบ ‘ลิเธียมไอออน’ (Li-ion)

‘อากิโอะ โทโยดะ’ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารโตโยต้า เชื่อว่าวัตถุดิบที่ใช้ผลิตแบตเตอรี่ไฟฟ้าอย่างลิเธียมและนิกเกิลเกรดที่ใช้ผลิตแบตเตอรี่จะ “ขาดแคลนอย่างมาก” ในอีก 5-10 ปีข้างหน้า

ซึ่งก็สอดคล้องไปกับที่องค์กรพลังงานระหว่างประเทศ (IEA) คาดการณ์ว่าลิเธียมจะขาดแคลนภายในปี 2025 ตามมาด้วยโคบอลต์ภายในปี 2030 และนิกเกิลภายในปี 2040

และแม้ว่าโตโยต้าจะมีการเตรียมแบตเตอรี่แบบ ‘โซลิดสเตต’ (Solid-State) ซึ่งชาร์จไฟได้เร็วกว่า น้ำหนักเบากว่า และมีประสิทธิภาพมากกว่าแบบ ‘ลิเธียมไอออน’ (Li-ion) เพื่อนำมาใช้วางขายจริงในปี 2025 แต่โตโยต้ากลับเลือกนำมาใส่ในรถยนต์ไฮบริดก่อน

โดยโตโยต้าให้เหตุผลว่าแบตเตอรี่แบบใหม่นี้จะยังมีราคาในการผลิตที่สูง ดังนั้นการนำไปใช้ในรถยนต์ไฮบริดที่ใช้แบตเตอรี่ขนาดเล็กกว่า จะทำให้สามารถคุมราคาของรถยนต์ได้มากกว่า ส่วนเรื่องอายุการใช้งานจะมีประสิทธิภาพแค่ไหน ก็ต้องวัดจากรถยนต์ไฮบริดอีกที

ด้วยทั้งสองเหตุผลด้านแบตเตอรี่ ก็พอจะเห็นได้ว่ากลยุทธ์ผลักดันรถยนต์ไฮบริดของโตโยต้าก็ดูมีความสมเหตุสมผลอยู่พอสมควร

[ รถยนต์ไฟฟ้ายังไม่ใช่กระแสหลัก รักษ์โลกเป็นเพียงคำโฆษณา ]

อากิโอะ โทโยดะ ย้ำมาตั้งแต่ก่อนเกิดกระแส EV ว่า “ยิ่งเราเหยียบคันเร่งเข้าสู่สังคม EV เร็วเท่าไหร่ จะกลับยิ่งเป็นการทำลายโลก”

เขายังอ้างถึงการผลิตพลังงานไฟฟ้าในประเทศญี่ปุ่น ซึ่งทุกวันนี้หลักๆ ยังมาจากถ่านหิน และก๊าซธรรมชาติ ซึ่งถ้าทั้งโลกยังคงผลิตไฟฟ้ามาจากแหล่งเดิม มันก็ยังทำให้เกิดมลพิษอยู่ดี

โดย 61% ของไฟฟ้าทั้งโลกในปี 2021 ถูกผลิตจาก ‘เชื้อเพลิงฟอสซิล’ เช่น ถ่านหิน, ก๊าซธรรมชาติหรือปิโตรเลียม

นอกจากนั้น เรื่องโครงสร้างพื้นฐานก็เป็นปัจจัยสำคัญในการผลักดัน EV โดยถ้ายกตัวอย่างจากประเทศญี่ปุ่นที่แม้จะครองแชมป์อุตสาหกรรมยานยนต์ แต่ในด้านสถานีชาร์จก็ยังมีจำนวนน้อย และเนื่องจากคนญี่ปุ่นส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในพื้นที่ที่มีประชากรหนาแน่น ลำพังแค่การมีที่จอดรถก็ยากแล้ว ยังไม่ต้องพูดถึงการติดตั้งแท่นชาร์จในบ้านด้วยซ้ำ

สิ่งนี้สะท้อนกลับไปที่ความเชื่อของเหล่าผู้บริหารโตโยต้าที่บอกว่าไม่ใช่ทุกพื้นที่จะพร้อมรับการเปลี่ยนแปลงของ EV ในทันที และ ‘อากิโอะ โทโยดะ’ ยังเสริมอีกว่านโยบายแบนรถยนต์น้ำมันในสหรัฐฯ ยุโรป และจีน “อาจทำไม่ได้จริง” ด้วยซ้ำ

เพราะฉะนั้นรถยนต์น้ำมันและไฮบริดก็ยังคงมีความจำเป็นและสะดวกกว่าสำหรับคนอีกมากที่ไม่พร้อมเปลี่ยนไป EV ในมุมมองของโตโยต้า

[ ตั้งใจหรือตกขบวน ]

ที่ผ่านมา ในขณะที่ค่ายอื่นกระหน่ำเปิดตัว EV กันมาหลายต่อหลายรุ่น โตโยต้ายังคงประกาศชัดเจนว่ารอเวลาที่เหมาะสม จนกระทั่งมาเปิดแผนผลิตกว่า 30 รุ่น ท่ามกลางเสียงวิพากษ์วิจารณ์ถึงความ “ช้า” ครั้งนี้

แต่ความเป็นจริงในแง่ของการวิจัยและพัฒนา โตโยต้าเคยบุกเบิกผลิตรถยนต์ไฟฟ้า 100% วางขายในสหรัฐอเมริกา ในรุ่น ‘RAV4 EV’ ที่มาก่อนกาลตั้งแต่ปลายทศวรรษที่ 1990 แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จพับรถรุ่นนี้กลับไป

จึงเป็นคำถามที่ตอบไม่ได้แน่ชัดว่าโตโยต้าตั้งใจวางกลยุทธ์ในการรอให้ตลาดเริ่มเข้าที่ มีโครงสร้างพื้นฐานให้พร้อมก่อนที่จะวางขาย หรืออาจจะแค่ตกขบวนเพราะเข็ดจากความล้มเหลวในอดีตกันแน่

แต่การเปลี่ยนแปลงก็เกิดขึ้นได้เสมอ และก็คงต้องใช้เวลาเป็นเครื่องพิสูจน์ความมั่นใจของโตโยต้าเช่นกัน

อ้างอิง:

https://www.just-auto.com/analysis/why-toyota-leads-the-global-automotive-sales-chart/

https://global.toyota/en/newsroom/toyota/38131700.html?_ga=2.39535907.1447361724.1666670581-305967133.1666670581

https://cleantechnica.com/2022/08/01/record-ev-sales-month-globally-12-share-for-bevs/

https://www.autofun.co.th/news/toyota-hybrid-มีที่มาอย่างไร-ทำไมจึงได้รับความนิยมทั่วโลก-22879

https://www.cnbc.com/2021/12/14/toyota-ceo-announces-automakers-battery-ev-plans.html

https://www.carscoops.com/2022/04/toyota-invests-383-million-into-us-four-cylinder-engine-production/

https://asia.nikkei.com/Spotlight/Environment/Climate-Change/COP26/6-automakers-agree-to-phase-out-fossil-fuel-cars-by-2040-UK-says

https://www.powersys.com/2020/07/japan-toyota-nissan-and-honda-research-e-fuel-as-new-fuel/

https://www.weforum.org/agenda/2022/07/electric-vehicles-world-enough-lithium-resources/

https://www.caranddriver.com/news/a38711469/toyota-solid-state-batteries-2025/

https://observer.com/2020/12/toyota-akio-toyoda-electric-vehicle-japan-transition/

https://www.wsj.com/articles/toyotas-chief-says-electric-vehicles-are-overhyped-11608196665

https://www.barrons.com/articles/toyota-plays-tesla-spoiler-sees-mismatch-in-cost-vs-goals-for-ev-industry-51608216505

https://workpointtoday.com/japan-ev-car/

https://www.iea.org/fuels-and-technologies/electricity

https://asia.nikkei.com/Spotlight/Electric-cars-in-China/Toyota-to-debut-electric-sedan-powered-by-BYD-batteries-in-China

https://www.reuters.com/business/autos-transportation/exclusive-toyota-scrambles-ev-reboot-with-eye-tesla-2022-10-24/

podcast

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า