SHARE

คัดลอกแล้ว

ถ้าเอ่ยถึง ‘สวนสนุก’ ในประเทศไทย แน่นอนว่าใครๆ ก็ต้องคิดถึงชื่อ ‘ดรีมเวิลด์’ แม้เหตุผลหนึ่งจะเป็นเพราะธุรกิจสวนสนุกนั้นเป็นอีกหนึ่งกิจการปราบเซียนในประเทศไทย ไม่ใช่แค่ว่ามีความหลงใหลและมีเงินอย่างเดียวก็จะทำได้ เพราะหากก้าวผิดก็อาจจะต้องเจ็บตัวแล้วหันหลังจากไป แต่อีกหนึ่งเหตุผลเป็นเพราะตลอด 30 ปีที่ผ่านมา ‘ดรีมเวิลด์’ ยังเป็นสวนสนุกที่อยู่ในใจคนทุกเพศทุกวัยเสมอ

จุดเริ่มต้นของ ‘ดรีมเวิลด์’ เป็นอย่างไร เส้นทางกว่า 30 ปีที่เจ้าของออกปากเองว่า “ทำธุรกิจสวนสนุกนั้นค่อนข้างจะ ‘สวน’ กับคำว่าสนุก” เพราะอะไร TODAY Bizview สรุปมาให้อ่านกัน

[ พ่อทำโรงหนัง ฉันทำสวนสนุก ก่อนมีดรีมเวิลด์ มีแดนเนรมิต ]

ถ้าถามว่า ‘ดรีมเวิลด์’ ถือกำเนิดจากไหนก็ต้องบอกว่าเกิดจากความตั้งใจของคนตระกูล ‘กิติพราภรณ์’ ย้อนกลับไปในยุคก่อนที่สวนสนุกยังไม่แพร่หลายมากนักในประเทศไทย มีเพียง ‘แฮปปี้แลนด์’ เป็นสวนสนุกกลางแจ้งเพียงแห่งเดียว (ปี 2516-2522)

ในเวลานั้น ‘ไมตรี กิติพราภรณ์’ คว่ำหวอดอยู่ในธุรกิจโรงภาพยนตร์ เปิดให้บริการโรงภาพยนตร์หลายแห่งไม่ว่าจะเป็นพาราเมาท์, ฮอลลีวู้ด หรือโคลีเซียม โดยเป็นธุรกิจที่ ‘ตุ๊กตา-พัณณิณ กิติพราภรณ์’ ผู้เป็นลูกเห็นมาตั้งแต่ “ตัวกะเปี๊ยก”

จนกระทั่งในช่วงกลางปี 2518 หรือราว 48 ปีก่อน นักธุรกิจวงการโรงภาพยนตร์ได้รู้จัก ‘สวนสนุก’ รูปแบบที่แตกต่างแปลกใหม่ระหว่างเดินทางไปเยี่ยมเยือนแดนปลาดิบ และเห็นว่าโมเดลของสวนสนุกดิสนีย์แลนด์ประสบความสำเร็จมาก จึงเกิดเป็นไอเดียทำธุรกิจ ‘สวนสนุกกลางแจ้ง’ ในประเทศไทย

เมื่อ ‘ไมตรี’ กลับมาถึงกรุงเทพฯ เขาจึงกลายเป็นผู้ก่อตั้ง ‘แดนเนรมิต’ สวนสนุกกลางแจ้งเต็มรูปแบบแห่งแรกในประเทศไทย ด้วยงบลงทุน 100 ล้านบาท บนที่ดินเช่าสัญญา 25 ปีแถบทุ่งบางเขน (เยื้องเซ็นทรัล พลาซ่า ลาดพร้าว) ขนาด 33 ไร่ และเครื่องเล่นที่นำเข้ามาจากญี่ปุ่นและอิตาลี

ตลอดระยะเวลา 25 ปีก่อนหมดสัญญาเช่าที่ดิน ‘แดนเนรมิต’ มีไฮไลท์ที่อยู่ความทรงจำของคนไทยหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นเครื่องเล่นอย่าง Roller Coaster รถไฟเหาะ, Corkscrew รถไฟเหาะตีลังหา, เรือไวกิ้งส์, บ้านผี, ปราสาทเจ้าหญิง ไปจนถึงพิพิธภัณฑ์สัตว์โลกล้านปี และคอนเสิร์ตจากศิลปินดังหลายๆ คนในยุคนั้น 

จนในท้ายที่สุดเมื่อผู้บริหารพิจารณาแล้วว่า พื้นที่เช่าเดิมของแดนเนรมิตค่อนข้างคับแคบ มีความเป็นเมืองสูง และมีราคาสูงขึ้น ก่อนหมดสัญญาประมาณ 7 ปี ตระกูลกิติพราภรณ์จึงตัดสินใจริเริ่มโปรเจ็ก ‘ดรีมเวิลด์’ ขึ้นด้วยการซื้อที่ดินว่างเปล่าขนาด 160 ไร่ ย่านคลองสาม ปทุมธานี และงบประมาณลงทุน 1,000 ล้านบาท

[ ก่อร่างสร้างดินแดนแห่งฝัน ‘ดรีมเวิลด์’ จากที่ดินว่างเปล่า ]

12 พฤศจิกายน 2536 หรือ 30 ปีก่อนจึงเป็นจุดกำเนิดของสวนสนุก ‘ดรีมเวิลด์’ (Dream World) ที่ ณ เวลานั้นมี ‘ตุ๊กตา-พัณณิณ กิติพราภรณ์’ ที่ได้ลาออกจากตำแหน่งอาจารย์ในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์มาช่วยกิจการครอบครัวแล้วเป็นหัวเรือใหญ่

ย้อนกลับไป ‘ตุ๊กตา-พัณณิณ กิติพราภรณ์’ นั้นเรียนจบระดับมัธยมศึกษาจากโรงเรียนมาแตร์เดอีวิทยาลัย ประเทศไทย ก่อนจะบินไปเรียนต่อต่างประเทศในระดับอุดมศึกษา ด้วยนิสัยรักการผจญภัยจึงทำให้เธอย้ายมหาวิทยาลัยไปหลายแห่ง ก่อนจะเรียนจบระดับปริญญาโทจากมหาวิทยาลัยมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย เบิร์กลีย์

ก่อนจะเดินทางกลับมาเมืองไทยเข้ารับตำแหน่งอาจารย์ประจำคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เป็นเวลา 1 ปี และได้ลาออกมาช่วยกิจการครอบครัวในเวลาที่ ‘ไมตรี กิติพราภรณ์’ ตัดสินใจจะเริ่มต้นสร้างแดนเนรมิต

พอถึงคราวของการสร้าง ‘ดรีมเวิลด์’ ที่อยู่ไกลถึงปทุมธานีตอน 30 ปีที่แล้วไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะไกลจนลูกค้าคิดว่าไม่คุ้มกับการเดินทางมาเล่นเครื่องเล่นที่ในเวลานั้นยังไม่ได้มีมากเท่ากับตอนนี้ และภูมิทัศน์ยังไม่ถูกปรับให้ร่มรื่นน่าเดิน ลูกค้าจึงไม่ถึงเป้าหมายที่ตั้งไว้

‘ตุ๊กตา-พัณณิณ’ ที่เป็นทั้งเจ้าของและกรรมการผู้จัดการสวนสนุกดรีมเวิลด์ จึงใช้เวลาหลายปีหลังจากนั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังจากแดนเนรมิตปิดตัวทุ่มเทอย่างเต็มที่ให้กับดรีมเวิลด์ โดยเธอเล่าว่า 3 สิ่งที่สำคัญที่ทำให้ดรีมเวิลด์เข้าไปวางรากฐานในใจลูกค้าได้ คือ

หนึ่ง เครื่องเล่น ต้องเพิ่มจำนวนให้เหมาะสม มีเครื่องเล่นใหม่ 1-2 เครื่องต่อปี

สอง ภูมิทัศน์ ต้องตกแต่งพื้นที่ให้สวยงาม ร่มรื่น มีมิติ และสร้างสรรค์

สาม ความบันเทิง จะต้องกลมกล่อมลงตัวกับสวนสนุก

เมื่อดรีมเวิลด์เพิ่มองค์ประกอบ 3 ข้อนี้จนถึงจุดที่ทำให้ลูกค้ารู้สึกคุ้มค่ากับการเดินทางแล้ว ประกอบกับ ‘คาแรคเตอร์’ ของดรีมเวิลด์ที่เน้น ‘เข้าถึงคนทุกเพศ ทุกวัย ทุกครอบครัว’ เพราะเชื่อว่าช่วงเวลา 1 วันในสวนสนุกแตกต่างกับ 1 วันในการไปท่องเที่ยวที่อื่นๆ เพราะทุกคนจะได้มีประสบการณ์ร่วมกัน

จึงทำให้ ‘ดรีมเวิลด์’ ก็เข้าไปอยู่ในใจลูกค้าได้สำเร็จ จนมีลูกค้าทะลุ 2 ล้านคนแล้วในช่วงก่อนโควิด

[ อุปสรรคไม่สู้ ‘อึด-อดทน’ เป็นคนไม่ยอมแพ้ ]

ตอนนี้ถ้าพูดถึง ‘ดรีมเวิลด์’ ทุกคนก็มักจะคิดถึงภาพสวนสนุกสดใสที่มาพร้อมกับหลายๆ จุดขาย อย่างบ้านหิมะ บ้านยักษ์ ไวกิ้ง เฮอร์ริเคน ทอร์นาโด ไปจนถึงซูเปอร์สแปลช แต่จริงๆ แล้ว ‘พัณณิณ’ มักจะพูดเสมอว่า ธุรกิจนี้ค่อนข้างสวนกับความสนุก

ต้นทุนของธุรกิจสวนสนุกค่อนข้างสูงและแน่นอนว่าส่งต่อยาก เครื่องเล่น 1 เครื่องมีราคาหลายสิบล้านไปจนถึงร้อยล้านบาท แต่ขายต่อไม่ได้ต้องขายเป็นเศษเหล็กเท่านั้น รวมถึงไม่มีโมเดลที่แน่นอนว่า เครื่องเล่นแบบไหนที่จะถูกใจลูกค้ามากหรือถูกใจน้อย อย่างดรีมเวิลด์ต้องใช้เวลาเป็นสิบปีกว่าจะสามารถคืนทุน

ล่าสุดกับสถานการณ์โควิด-19 ทำให้ ‘ดรีมเวิลด์’ ต้องปิดๆ เปิด และปิดตัวเป็นปี พึ่งจะเริ่มต้นเปิดให้บริการได้ในช่วงปลายปี 2021 และกลับมาเปิดให้บริการปกติตลอดปีในปี 2022 ที่ผ่านมา ระหว่างการปิดตัว ‘ดรีมเวิลด์’ แบกค่าใช้จ่ายในการจ้างงานพนักงานกว่า 400 คน การดูแลเครื่องเล่น การเตรียมพร้อมเปิดตลอดเวลา

ตอนนั้น ‘พัณณิณ’ ออกมาให้สัมภาษณ์หลายครั้ง เพื่อเรียกร้องให้รัฐมองเห็นว่า สวนสนุกไม่ใช่ที่อันตรายและต้องการกลับมาเปิดให้บริการอีกครั้งเช่นเดียวกับธุรกิจอื่นๆ จนกระทั่งได้เปิดให้บริการ 100% และลูกค้ากลับมาอย่างรวดเร็วในที่สุด

แม้ตอนนี้ลูกค้าจะยังกลับมาไม่เท่ากับก่อนโควิด แต่แนวโน้มก็ดีขึ้นเรื่อยๆ เคล็ดลับของ ‘พัณณิณ’ ในการทำธุรกิจสวนสนุก คือ ‘อดทน’ ในระดับที่เธอเรียกว่า “อึด” ถ้ายังมีโอกาสก็จะยังไม่ยอมแพ้

จากสวนสนุกแถวคลองสามที่ถนนสองเลน หมู่บ้านน้อย คนน้อย และขนส่งสาธารณะน้อยในตอนนั้น ตอนนี้คลองสาม ปทุมธานีพัฒนาขึ้นมา เช่นเดียวกันกับ ‘ดรีมเวิลด์’ ที่เติบโตมาไกลตลอด 30 ปีจนได้รับการยอมรับว่าประสบความสำเร็จ 

โดย ‘พัณณิณ’ บอกว่า แม้กว่าจะถึง 30 ปี ดรีมเวิลด์จะลำบากมาเยอะ แต่รางวัล คือ รอยยิ้ม เสียงหัวเราะ เสียงกรี๊ด ความสุขของลูกค้า ปีนี้ดรีมเวิลด์จะเฉลิมฉลองตลอดทั้งปีด้วยโปรโมชันและเครื่องเล่นใหม่ที่ลงทุนครั้งใหญ่อีกครั้งอย่าง อันเดอร์ เดอะ ซี ที่จะเปิดให้บริการช่วงปลายปีนี้

พอถามถึงอนาคตที่ว่าเธอจะยังยืนหยัดเป็นสวนสนุกไม่กี่เจ้าในประเทศไทยต่อไหม ‘พัณณิณ’ ก็ยืนยันว่า จะยังเดินหน้าดรีมเวิลด์ต่อไปเรื่อยๆ เหมือนที่เห็นครอบครัวทำมาตลอดตั้งแต่ตัวกะเปี๊ยก โดยยังมีลูกหลานของตระกูลกิติพราภรณ์อีกหลายคนที่ขยับเข้ามาช่วยบริการดรีมเวิลด์ต่อไป

ทั้งนี้ นอกจากธุรกิจสวนสนุก ‘ดรีมเวิลด์’ ที่อยู่ภายใต้บริษัท อะมิวส์เม้นท์ ครีเอชั่น จำกัดแล้ว ตระกูลกิติพราภรณ์ยังมีกิจการ ‘สยามนิรมิต ภูเก็ต’ ภายใต้บริษัท สยามนิรมิต (ภูเก็ต) จำกัด และธุรกิจสวนสนุกภายในห้าง ‘Skippy Land’ ภายใต้บริษัท เมจิกเวิลด์ จำกัด ที่เปิดให้บริการมาตั้งแต่ปี 2534 ปัจจุบันมีสาขารวมกว่า 140 สาขา

ข้อมูลอ้างอิง

podcast

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า