ถ้าพูดชื่อ ‘กรณ์ จาติกวณิช’ หลายคนอาจจะนึกถึงมุกเกี่ยวกับความกล้าหาญ ซึ่งมีที่มาจากการตั้งชื่อพรรคว่า ‘กล้า’ (ก่อนจะเป็นชาติพัฒนากล้าในภายหลัง)
แต่ขาการเมืองเก่าจะรู้จักเขาเป็นอย่างดีในฐานะทายาทพรรคประชาธิปัตย์ ที่เริ่มทำงานควบคู่มากับอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี
แต่ใครจะคิดว่า ตลอดระยะเวลาครึ่งชีวิตในเส้นทางการเมืองที่อาศัยอยู่ภายใต้บ้านประชาธิปัตย์ กรณ์จะตัดสินใจเซ็นลาออกจากพรรค และหันมาตั้งพรรคกล้า และรวมกับพรรคชาติพัฒนา จนเป็นชาติพัฒนากล้าในภายหลัง โดยให้เหตุผลการย้ายบ้านว่า “พรรคเก่าไม่ตอบโจทย์ผมอีกต่อไป”
ทางเลือกหรือทางรอด: ในวันที่ยกมือเลือกประยุทธ์เป็นนายกฯ
กรณ์เล่าให้ฟังว่าการเดินทางในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมานี้เป็นอะไรที่ท้าทาย ได้เป็น ส.ส. – ลาออกจากตำแหน่ง-ลาออกจากพรรค-ตั้งพรรคใหม่ และมาถึงวันนี้ ลงรับสมัครเลือกตั้งอีกครั้งในฐานะแคนดิเดตนายกของพรรคใหม่
ถึงอย่างนั้น หนึ่งในคำถามและเสียงวิจารณ์ที่กรณ์ยังหนีไม่พ้นจนถึงวันนี้ แม้จะผ่านมากว่า 4 ปีแล้ว ย้อนกลับไปในวันเลือกนายกรัฐมนตรีในสภา อะไรคือเหตุผลที่กรณ์ตัดสินใจรับตำแหน่ง ส.ส. และยกมือเลือก ประยุทธ์ จันทร์โอชา แทนที่จะเลือกลาออกเหมือนเพื่อนร่วมอาชีพอย่าง อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ
กรณ์บอกว่าสิ่งที่เขาทำเป็นการรักษาพันธสัญญาที่มอบให้ไว้กับประชาชนในช่วงหาเสียง กรณ์เป็นส่วนหนึ่งของทีมนโยบาย ดังนั้นเขารู้สึกว่าการเป็น ส.ส. เพื่อดำเนินนโยบายให้สำเร็จเป็น ‘ความรับผิดชอบ’ จึงตัดสินใจทำงานต่ออีก 1 ปีเพื่อทำเป้าให้สำเร็จ
ในส่วนของการยกมือเลือก ประยุทธ์ กรณ์ให้เหตุผลว่า นายกฯ คนเดียวในความคิดเขาเวลานั้นคือ ‘อภิสิทธิ์’ แต่ในเมื่อนายกฯ ในใจไม่ได้รับสิทธิ์แข่งขันในสภา เขาจึงใช้เกณฑ์คะแนน Popular Vote ของพรรคพลังประชารัฐ และพรรคอนาคตใหม่ เป็นตัววัด จึงตัดสินใจให้ประยุทธ์เป็นนายก
แต่ถึงเช่นนั้น กรณ์ไม่ได้บอกว่าเขารู้สึกเสียดายหรือเสียใจกับการตัดสินใจครั้งนั้น “ผมไม่เคยมีส่วนร่วมโดยตรงกับการบริหารงานภายใต้คุณประยุทธ์ ไม่ว่าทางใดทางหนึ่ง”
เพียงแต่รับผิดชอบสิ่งที่เคยรับปากประชาชน และจนมาถึงวันนี้ กรณ์ได้เป็นอิสระในทางเดินของตัวเอง และตั้งใจจะโฟกัสไปที่การทำงานเพื่อประชาชนและประเทศต่อไป
“ผมยืนหยัดในทุกการตัดสินใจที่ผมทำไปในอดีต
และมองไปในอนาคต”
กรณ์ และการเมืองในอุดมคติ
ตลอดเวลา 1 ชั่วโมง เราได้พูดคุยกันถึงการเมืองในช่วงต่างๆ จนมาถึงช่วงที่กรณ์เล่าว่ามีเวลาหนึ่งที่เขาเรียกว่าเป็นช่วงที่ดีที่สุดของการเมือง นั่นคือช่วงที่อภิสิทธิ์เป็นนายกรัฐมนตรี เขามองว่านั่นคือห้วงเวลาที่ประเทศเดินทางเข้าใกล้ประชาธิปไตยเสรีนิยมมากที่สุด
แนวคิดประชาธิปไตยเสรีนิยมในมุมของกรณ์ คือช่วงเวลาที่นักการเมืองยึดติดกับกฎระเบียบของการเมือง และพยายามสร้างสภาพแวดล้อมที่ทุกๆ ความเห็นได้รับการรับฟัง ณ เวลานั้นประเทศไทยเจอความท้าทายทั้งจากในและนอกประเทศ
แต่ผ่านช่วงเวลาที่ยากลำบากมาได้ เพราะพยายามยึดติดกับระเบียบที่สร้างขึ้นภายใต้อุดมการณ์ทำเพื่อประโยชน์ของคนส่วนใหญ่ แต่หลังจากนั้นทุกอย่างก็เปลี่ยนไป
“การถกเถียงกัน ในฉบับการเมืองสร้างสรรค์
มันหายไปท่ามกลางเสียงของความขัดแย้ง
แล้วความขัดแย้งนั้นก็ยังเป็นแบบนั้นต่อไป
ผมคิดว่ามันยังอยู่จนถึงตอนนี้ด้วยซ้ำ
มันยังไม่จบ ซึ่งนั่นคือปัญหา”
ความขัดแย้งที่ว่านี้เป็นอีกหนึ่งเหตุผลที่ทำให้กรณ์ตัดสินใจลาออกจากพรรคประชาธิปัตย์ แล้วมาตั้งพรรคกล้า กรณ์ย้ำให้เห็นว่า ในช่วงเวลา 7 ปีที่ผ่านมา เรามองเห็นแล้วว่า
แม้แต่ช่วงเวลาที่เต็มไปด้วยความขัดแย้ง ก็ยังมีคนที่เสพสุขได้ผลประโยชน์จากมัน เพียงแต่ผู้ได้ประโยชน์นั้นไม่ใช่ประชาชน ไม่ใช่ประเทศชาติที่พวกเขาอยู่อาศัย
“นักการเมืองผลัดเปลี่ยนกันมามีอำนาจ
แล้วก็เสพสุขกับผลประโยชน์
แต่ประเทศกลับไม่ได้อะไรตอบแทน
ประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศไม่ได้สิ่งนั้น”
การแข่งขันแบบเสรีที่เป็นธรรม และเชื่อในการแทรกแซงของรัฐ
“ผมเชื่อในการแข่งขัน
ถ้าให้ผมนิยามตัวเองในการทางเมือง
ผมจะบอกว่าตัวเองเป็นพวกเสรีประชาธิปไตย”
ด้วยพื้นฐานของกรณ์อยู่กับเรื่องตัวเลข การเงิน และการตลาดมาตั้งแต่เด็กๆ เมื่อได้รับโจทย์ให้วิเคราะห์ทางออกของปัญหาความเหลื่อมล้ำในประเทศไทย
กรณ์เลือกให้ “การแข่งขันแบบเสรีและเป็นธรรม” คือวิธีลดช่องว่างความเหลื่อมล้ำระหว่างคนชนชั้นกลางถึงล่าง และคนรวย และทางที่ทำวิธีนี้ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ต้องให้รัฐเข้ามาแทรกแซง ช่วยเหลือให้คนด้อยโอกาส สามารถแข่งขันกับคนที่เกิดมาพร้อมกับโอกาสได้อย่างเท่าเทียม
กรณ์กล่าวว่า แข่งขันที่เสรีและเป็นธรรม ตัวอย่างเช่น การเข้าถึงแหล่งเงินทุนที่เหมาะสม จะทำให้คนมีโอกาสที่จะเติบโตและยืนได้ด้วยตัวเอง แต่ทั้งนี้ ด้วยบริบทของประเทศมันมีหลายสิ่งหลายอย่างที่ต้องต่อสู้ยิ่งกว่าความวิริยะส่วนตัว นั่นคือ กลุ่มอำนาจที่ครองตลาดอยู่ในปัจจุบัน
การต่อสู้กับกลุ่มอำนาจเป็นอีกหนึ่งความท้าทายครั้งใหญ่ของกรณ์และพรรคชาติพัฒนากล้า เพราะปัญหาหลายๆ อย่างที่ประชาชนเผชิญอยู่ตอนนี้ ไม่สามารถแก้ไขได้ด้วยการอุดหนุนเงิน หรือกู้เพิ่ม แต่ต้องแก้ที่แก่น นั่นคือโครงสร้างและรากฐานของธุรกิจและเศรษฐกิจ ที่ฝังรากลึกอยู่ใต้พรมที่ถูกปูเพื่อปกปิดปัญหา
แล้วกลุ่มอำนาจที่ว่านั้น คือใครกันล่ะ…?
กรณ์ตอบชัดเจนว่า กลุ่มอำนาจที่ครองตลาดอยู่ คือนายทุน รัฐวิสาหกิจบางประเภท และในบางกรณีคือกฎระเบียบที่ขัดขวางการขยับขยายของตลาดและเศรษฐกิจ สิ่งเหล่านี้ได้กลายมาเป็นเรื่องพื้นฐานที่อยู่กับคนไทยมานาน จนหลายๆ คนชินชากับปัญหา แทนที่จะตระหนักถึงมันในฐานะสิ่งที่ต้องต่อสู้
กรณ์บอกว่านี่คือเป้าหมายที่เขาและเพื่อนร่วมพรรคต้องจัดการ
“ครับ พวกเราพยายามใช้แนวทางที่แตกต่างออกไป แนวทางที่ยากขึ้น
แต่เป็นสิ่งที่จำเป็นต้องทำ”
ติดตามคลิปสัมภาษณ์ภาษาอังกฤษ : https://youtu.be/zq_4EzhIdbI
ติดตามบทศิษย์เก่าประชาธิปัตย์ สู่ DNA “ชาติพัฒนากล้า” : https://youtu.be/pgSoIL2JRys