ประเด็นคือ – ผู้เสียหาย ถูกหลอกให้ลงทุนในสหกรณ์ออมทรัพย์ครู ลักษณะแชร์ลูกโซ่ โร่เข้าแจ้งความกับตำรวจกองปราบ หลังถูกเชิดเงินสูญไป รวมกับพวกกว่า 200 ล้านบาท
น.ส.พิชชาฬส บุญซ้อน ผู้เสียหาย พร้อม ทนายความ เดินทางเข้าแจ้งความ กับตำรวจกองบังคับการปราบปราม เมื่อวันที่ 21 ธ.ค. เนื่องจากได้รับความเสียหาย จากการถูกหลอกให้นำเงินไปลงทุนในลักษณะแชร์ลูกโซ่ โดยอ้างว่า เป็นการลงทุนในสหกรณ์ออมทรัพย์ครู
น.ส.พิชชาฬส เล่าว่า เข้าไปร่วมลงทุน ตั้งแต่เดือนตุลาคมปี 2559 และ ได้ผลตอบแทนมาตลอด แต่ช่วงเดือนกันยายนที่ผ่านมา ผู้ดูแลที่ติดต่อด้วยแจ้งว่า ไม่ได้ผลตอบแทนแล้ว จากนั้นไม่สามารถติดต่อผู้ดูแลซึ่งเป็นคนถือเงิน ที่ตนลงทุนไปทั้งหมดได้อีก เมื่อตรวจสอบไปแล้วปรากฏว่า ไม่มีการจัดตั้งสหกรณ์แต่อย่างใด จึงขอให้เจ้าหน้าที่ได้ช่วยเร่งรัด เพราะ อาจมีครูอีกจำนวนมาก ที่จะตกเป็นเหยื่อถูกหลอกเหมือนกับพวกตน
น.ส.พิชชาฬส ระบุว่า มีผู้เสียหายเข้าแจ้งความไว้ในกรณีเดียวกันแล้ว จำนวน 7 คน มูลค่าความเสียหาย รวมกว่า 200 ล้านบาท แต่ยังไม่ขอเปิดเผยชื่อผู้ถูกกล่าวหา
“แชร์ลูกโซ่” จะเน้นการระดุมทุนจากสมาชิก จูงใจด้วยผลตอบแทนสูง และมักอ้างว่า นำไปลงทุนในธุรกิจที่มีกำไรดี แต่จริง ๆ แล้วต้องการที่จะหาสมาชิกใหม่ให้ได้มาก ๆ เพื่อนำเงินจากรายใหม่มาจ่ายให้รายเก่า ซึ่งจะทำแบบนี้เป็นทอด ๆ กันเป็นลูกโซ่ ท้ายที่สุดจนเมื่อถึงจุดที่ธุรกิจหมุนเงินไม่ทัน ก็จะเริ่มเลื่อนการจ่ายผลตอบแทน และหนีไปในที่สุด ทิ้งสมาชิกจำนวนมากไว้เบื้องหลัง คดีที่เกี่ยวข้องกับแชร์ลูกโซ่ เกิดขึ้นในสังคมไทยมากมาย
เฉพาะคดี ที่กรมอสบสวนคดีพิเศษ หรือ ดีเอสไอ รับเป็นคดี ตั้งแต่ปี 2547 – 2558 มีคดีที่เกี่ยวข้องกับแชร์ลูกโซ่ 99 คดี แบ่งเป็น 3 กลุ่ม คือ ประชาชนรากหญ้า แฝงมารูป ฌาปนกิจสงเคราะห์ , ประชาชนทั่วไป มาในรูปแบบชักชวนลงทุนซื้อสินค้าและบริการ และ ผู้มีเงินทุนสูง เช่น การลงทุนเก็งกำไรอัตราแลกเปลี่ยน รวมถึงการลงทุน โดยอ้าง สหกรณ์ออมทรัพย์ต่างๆ