Advertisement

SHARE

คัดลอกแล้ว

หลายๆคนอาจเริ่มคุ้นหูกับชื่อ กชกร วรอาคม ในฐานะหนึ่งในคนไทยที่ได้ยืนบนเวทีโลก โดยได้รับเลือกให้เป็นหนึ่งในผู้ทรงอิทธิพล โดย TIME 100 Next 2019 และเป็นหญิงไทยคนแรกที่ได้ขึ้นเวทีใหญ่อย่าง TedTalk ที่สหรัฐอเมริกา ในบทบาทของนักภูมิสถาปนิก ผู้รังสรรค์พื้นที่สาธารณะเพื่อช่วยให้เมืองรับมือกับ Climate Change

แต่น้อยคนจะรู้จักเธอในบทบาทของนักศิลปะบำบัด ผู้เยียวยาจิตใจผู้คนด้วยศิลปะและดนตรี อีกงานหนึ่งที่เธอกล่าวว่าเป็นเป็นงานอดิเรกที่ทำจากใจรักล้วนๆ ในนามกลุ่ม Artfield Creative Therapy กิจกรรมสู้ซึมเศร้าด้วยศิลป์ โครงการสื่อสร้างสรรค์ศิลปะวัฒนธรรมเพื่อการบำบัดรักษาแบบประคับประคองผู้ป่วยระยะสุดท้าย และการต่อยอดการสร้างการเรียนรู้ที่ยั่งยืน โดย สสส. ซึ่งจัดทำอย่างต่อเนื่องร่วมกับโรงพยาบาลชั้นนำอย่างโรงพยาบาลศิริราช และโรงพยาบาลรามาธิบดี เพื่อผู้ป่วยโรคมะเร็งและเพื่อผู้ป่วยเรื้อรัง

แม้บทบาทการเป็นภูมิสถาปนิกและนักศิลปะบำบัดจะดูไม่ใกล้ แต่ก็ไม่ไกลกันเสียทีเดียว เพราะหากหน้าที่ของงานด้านภูมิสถาปัตยกรรม (Landscape Architecture) คือการ “บำบัดเมือง” อีกบทบาทหนึ่งในฐานะนักศิลปะบำบัดของกชกร คงเปรียบเสมือนการ “บำรุงใจ” ด้วยการใช้ศิลปะและดนตรีเยียวยาผู้คนจากความเศร้า

กชกรเป็นคนไทยเพียงคนเดียว ณ ปัจจุบัน ที่ได้รับเชิญขึ้นเวที TED Talk ที่ประเทศสหรัฐอเมริกา และได้รับการคัดเลือกให้เป็น 1 ใน 15 ผู้หญิงที่ขับเคลื่อนการต่อสู้เพื่อแก้ปัญหาสภาวะโลกร้อนในปี 2019

การมาเจอกันของภูมิสถาปัตยกรรมกับศิลปะบำบัด 

พื้นฐานมาจากการชอบศิลปะตั้งแต่ยังเด็ก ต่อมาก็จับพลัดจับผลูมาเรียนสถาปัตย์คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตอนนั้นเรามีความสุขมากที่ได้วาดรูป ทำโมเดล รู้สึกว่าการทำงานศิลปะทำให้เรามีความสุข หลังจากเรียนจบเรามีโอกาสได้ไปทำงานที่รัฐโคโลราโด สหรัฐอเมริกา และได้รู้จักมหาวิทยาลัยนาโรปะ (Naropa University) ซึ่งเป็นจุดเริ่มแรกที่ทำให้รู้ว่ามีศาสตร์ศิลปะบำบัด หรือการใช้ศิลปะรักษาคน และมีคนทำอาชีพนี้อยู่จริง แต่บังเอิญว่าสายงานอาชีพหลักของเรามาทางภูมิสถาปัตย์ และพอดีมหาวิทยาลัยฮาวาร์ด (Harvard University) ตอบรับเรื่องปริญญาโทมาก็เลยพักที่นาโรปะไว้ก่อน 

ตอนเด็กๆ เราจะถูกปลูกฝังว่าเป็นหมอจะได้ช่วยเหลือรักษาคนอื่นได้ ซึ่งเราไม่ได้เรียนหมอ แต่เราก็อยากช่วยเหลือคนอื่น เพราะมันทำให้เรารู้สึกดี ได้รับการเติมเต็มทางใจ มีรางวัลทางด้านจิตใจอะไรบางอย่าง ไม่อย่างนั้นเราก็จะคิดแต่เรื่องของตัวเอง คือตั้งแต่อนุบาลมาเราจะได้รางวัลน้ำใจดีตลอด ส่วนรางวัลเรื่องเรียนนี่ไม่ค่อย (หัวเราะ)

แต่จุดที่เริ่มต้นเกี่ยวกับศิลปะบำบัดที่เป็นรูปเป็นร่างก็เป็นหลังกลับจากเรียนจบปริญญาโท มีอยู่ช่วงหนึ่งเรื่องความรักไม่สมหวัง แล้วก็รู้สึกเต็มอิ่มกับงานด้านภูมิสถาปัตย์ ในช่วงที่เศร้า ที่ท้อแท้ พอเราเริ่มศึกษาศิลปะบำบัด และทำงานศิลปะไปเรื่อยๆ มันช่วยหยุดความคิดวกวนของเรา และทำให้เราก็มีสมาธิจดจ่อกับสิ่งตรงหน้า ซึ่งเป็นทริค (trick) ที่ทำให้หลุดออกจากความเศร้าความซึมได้ ตอนเศร้าเราต้องหยุดการอยู่กับตัวเอง แล้วพาตัวเราออกไปข้างนอก ไปเจอผู้อื่น ช่วยเหลือผู้อื่น นี่คือสิ่งที่เราเรียนรู้จากประสบการณ์ ประกอบกับเพื่อนสนิท (พริม พิศลยบุตร) สนใจด้านศิลปะบำบัดเหมือนกัน แล้วช่วงนั้นต่างคนต่างก็มีเรื่องเศร้าๆ เข้ามาในชีวิตพอดี เลยรู้สึกว่าต้องการแรงบันดาลใจใหม่ๆ แทนที่จะนั่งเศร้า เราก็จับมือร่วมกันเขียนโครงงานขอทุนจาก สสส. เพื่อเริ่มโครงการเกี่ยวกับศิลปะบำบัด จนนำมาสู่การก่อตั้ง Artfield Creative Therapy

กชกร วรอาคม ภูมิสถาปนิกแถวหน้าของเมืองไทย

ศิลปะบำบัดในแนวทางของ Artfield Creative Therapy เป็นแบบไหน

เป็นแนว Expressive Art คือรู้สึกอย่างไร ก็ระบายหรือสื่อสารออกมาอย่างนั้นผ่านสื่อศิลปะ แต่ศิลปะบำบัดไม่ได้มีมิติแค่ ‘Express’ (สื่อสาร) อย่างเดียว ทว่ามีอีกสเต็ปหนึ่งคือ ‘Reflect’ (สะท้อน) ในลักษณะ เช่น อ้าว เธอก็เป็นเหมือนกันเหรอ’ ‘ของเธอเป็นแบบนั้น ของฉันเป็นแบบนี้’ ‘อ้าว เกิดการเห็นใจกันแล้วถัดมาก็อาจจะมีการวาดภาพให้กำลังใจกัน คือถ้าคุณสามารถให้กำลังใจคนอื่นได้ คุณก็ไม่ได้ซึมเศร้าแล้วนะ และมันก็กลายเป็นการสร้างความหวังใหม่ขึ้นมา ในคอร์สบำบัดได้อีกด้วย

ครั้งหนึ่ง มีผู้เข้าร่วมกิจกรรมคนหนึ่งวาดตนเองเป็นสัตว์ประหลาดอยู่ในเหว จากนั้นในกิจกรรมนี้ก็ให้จับคู่กับคนอื่น เพื่อให้เติมภาพของคนที่จับคู่ด้วย บางคนก็วาดต่อเติมเป็นภาพดอกไม้ในเหว หรือบางคนก็เติมรอยยิ้มบนหน้าของสัตว์ประหลาด 

อีกกิจกรรมหนึ่งให้มีการไปจับคู่กับเพื่อน แล้วเล่าความเศร้าให้เพื่อนฟัง ด้วยกิจกรรมทำให้ต้องเล่าเรื่องความเศร้าหลายครั้ง ถ้าต้องเล่าไป 4 รอบ ก็จะมีคำถามว่า เล่าครบ 4 รอบ เป็นอย่างไรบ้าง เล่าครั้งแรกเรื่องมันก็ยังดูหนักนะ ครั้งที่ 2 ก็จะเบาขึ้น พอเล่ารอบสุดท้าย เราก็อาจจะได้มุมมองอื่นๆ สำหรับเรื่องที่เราเคยคิดว่าหนักมากๆ

 

คนเป็นโรคซึมเศร้า กับ คนที่รู้สึกซึมเศร้า สองกลุ่มนี้แตกต่างกันอย่างไร เราสามารถแยกออกจากกันได้หรือไม่

บางคนเมื่อรู้สึกหดหู่ ซึมเศร้านานๆ ก็จะคิดว่าตนเองเป็นโรคซึมเศร้า แต่จริงๆ แล้วเราอาจจะแค่รู้สึกเศร้าในบางบริบท แต่เราไม่ได้เป็นโรคซึมเศร้าก็มี อย่างเช่น เราอกหักนาน 2 เดือน เอ๊ะ เราเป็นโรคซึมเศร้าหรือเปล่า ก็อาจจะเป็นได้ โดยจุดเริ่มต้นอาจมาจากเรื่องเศร้าบางอย่างในชีวิตที่ไม่ได้รับการสื่อสารออกไป หรือตนเองไม่ตระหนักรู้ความรู้สึกของตนจริงๆ ก็ทำให้ขยายความออกไปต่อ โดยเฉพาะเมื่อคนคนนั้นถูกขังอยู่ในความคิดของตัวเองอยู่คนเดียว แต่เมื่อคุณเห็นความเศร้าของตัวเอง คุณก็จะไม่เป็นความเศร้านั้นแล้ว

ศิลปะบำบัดกับพื้นที่เพื่อความเห็นอกเห็นใจ

การจัดคอร์สศิลปะบำบัดในลักษณะกลุ่มเป็นอย่างไร

การที่ให้คนที่เผชิญกับโรคซึมเศร้ามาเจอคนที่ซึมเศร้าเหมือนกันมันก็ช่วยนะ เหมือนลบเจอลบกลายเป็นบวก ตอนแรกนึกว่าจะเศร้ากันทั้งคอร์สบำบัด ร้องไห้ฟูมฟายกันหมด แต่ก็ไม่นะ เช่น กิจกรรมหนึ่งให้คนจับคู่กัน แล้วมองตากัน และเราก็มีดนตรีสดคลอตาม ปรากฏมองตากันไปมาก็น้ำตาไหล แต่ไม่รู้จักกัน เหมือนเค้าสื่อสารกัน โดยไม่ต้องพูด แล้วพอเริ่มให้เขียนข้อความหากัน ปรากฏว่าผู้เข้าร่วมกิจกรรมบางคนประหลาดใจมากว่าคุณรู้ได้ยังไงว่าเรารู้สึกอย่างนี้ ทั้งที่ไม่รู้จักกัน จนมันนำไปสู่ความรู้สึกว่าเราอยากช่วยคนคนนี้ ก็จะมีปฏิสัมพันธ์แบบที่ไม่ต้องมีคำพูด ฉะนั้นศิลปะจะช่วยตรงนี้ได้ เมื่อคำพูดมันถึงที่สุดแล้ว มันอธิบายความรู้สึกออกมาไม่ได้ แค่มีเพื่อนนั่งทำหน้าเข้าใจก็พออะไรอย่างนี้ สิ่งเหล่านี้จะไม่เกิดถ้าไม่มีสื่อก็คือศิลปะ นอกจากนี้ กิจกรรมกลุ่มมันทำให้เกิดพื้นที่ในการแสดงออกถึงการเห็นอกเห็นใจกันด้วย

แต่เมื่อมีการเปิดใจสื่อสารออกมาแล้วนั้น ก็ต้องมีการรับฟัง โดยเป็นการฟังอย่างตั้งใจ ฟังอย่างไม่ตัดสิน และฟังในฐานะที่เป็นผู้ที่มีประสบการณ์คล้ายกัน (Peer) คือไม่ได้แบ่งแยกว่าเธอเป็นคนซึมเศร้านะส่วนฉันเป็นคนปกติที่เข้มแข็ง มีคนหนึ่งที่เคยเข้าคอร์สศิลปะกับทาง Artfield บอกว่าเขาเบื่อมากเลยที่มีคนมาปลอบ คือเขาเข้าใจนะว่าตัวเองเป็นโรคซึมเศร้า แต่ไม่ได้อยากให้คนมาสงสาร ไม่ต้องมาปลอบว่าเดี๋ยวมันก็ดีนะ แต่เขาต้องการแค่คนรับฟัง ไปเที่ยวด้วย เหมือนเขาไม่ได้เป็นอะไร แต่แค่ฟังเฉยๆนะ ฟังอย่างตั้งใจ โดยไม่ตัดสิน ซึ่งการทำกลุ่มศิลปะบำบัดสามารถตอบโจทย์ตรงนี้ได้

แสดงว่าบทบาทของนักศิลปะบำบัดก็เป็นสิ่งสำคัญเช่นกัน 

เราต้องมีการเทรนนิ่งนักศิลปะบำบัด ไม่ใช่ว่าใครก็ทำได้ มันไม่ใช่ว่าต้องเก่งศิลปะ แต่นักศิลปะบำบัดต้องเชื่อในศิลปะว่าเป็นสื่อหรือเครื่องมือที่มีพลังในการบำบัดจริงๆ อันนี้สำคัญมาก เพราะถ้าคุณไม่เชื่อมันก็จะไม่เกิด นอกจากนี้ นักศิลปะบำบัดก็ต้องมีจิตวิทยา เข้าใจคน ทัศนคติของนักศิลปะบำบัดก็สำคัญ ต้องเป็นคนที่ไม่ตัดสินแต่รับฟัง และกิจกรรมที่ทำมันก็เป็นกระบวนการ ดังนั้น คุณก็ต้องเป็นผู้ร่วมทางที่ดีในการที่จะรับฟังร่วมสืบค้นไปกับอีกคนหนึ่ง

การคุยบำบัดกับจิตแพทย์โดยตรงกับการใช้กลุ่มศิลปะบำบัดแตกต่างกันอย่างไร

ด้วยความที่ใช้ศิลปะเป็นสื่อ มันจะเพิ่มการสื่อสารแสดงออกในรูปแบบอวัจนภาษา และบรรยากาศที่ทำให้รู้สึกมีคนที่มีประสบการณ์คล้ายกัน มีคนที่พร้อมเข้าใจคุณ การไปพบจิตแพทย์บางครั้งมันจะมีรูปแบบความเป็นทางการ เช่น หมออาจจะนั่งอยู่ตรงข้ามคุณ ให้คุณทำบททดสอบทางการแพทย์ แล้วบอกว่าคุณเป็นหรือไม่เป็นโรคซึมเศร้า และเป็นในระดับใด แต่ถ้าใช้ศิลปะเป็นสื่อ หมอก็จะเข้ากับคุณในอีกรูปแบบ หมอจะรับฟัง มันจะเป็นการเปลี่ยนแนวทางการสื่อสารด้วย ซึ่งในการทำคอร์สศิลปะบำบัดที่ผ่านมานั้นเราจะมีอาจารย์หมอมาร่วมบรรยายเช่นกัน” 

อยากลองทำศิลปะบำบัด แต่ไม่เก่งเรื่องศิลปะจะมีผลอะไรไหม 

ศิลปะที่ใช้มีความหลากหลาย มีวาดภาพ มีการปั้น และอื่นๆ แน่นอนว่าบางคนก็วาดรูปเก่ง แต่สุดท้ายแล้วเราไม่ได้ทำศิลปะบำบัดเพื่อใช้สร้างคุณค่าอะไร แต่เพื่อการสื่อสาร เป็นสื่อของคุณ ถ้าคุณคิดว่าอันนี้สวย เราก็ว่าสวยของมันแล้วล่ะ ไม่มีการเปรียบเทียบและเวลาเห็นภาพที่ผู้เข้าร่วมกิจกรรมวาดขึ้น เราไม่สามารถตัดสิน  แต่เราต้องถามผู้วาด ป็นการสืบค้นเข้าไปในจิตใจของเขา 

อุปกรณ์ศิลปะที่ใช้เอง ก็มีความหลากหลายตามคอร์สบำบัดที่ทางนักศิลปะบำบัดออกแบบ เช่น ถ้าอยากให้มีบรรยากาศสนุกสนานก็ใช้เพลงแบบหนึ่ง ถ้าอยากให้จดจ่ออยู่กับปัจจุบัน ก็อาจจะใช้สีน้ำ เพราะสีน้ำป้ายทับไม่ได้ มันจะเละ ส่วนถ้าต้องการเปลี่ยนมุมมองใหม่จากภาพวาดเดิม ก็จะให้ใช้สีอะครีลิค เพราะป้ายทับได้ สีน้ำมันก็เปลี่ยนไปได้เรื่อยๆ เช่นกัน แต่ถ้าจะให้อยู่กับปัจจุบันตลอดเวลา ก็จะเป็นกิจกรรมปั้น ก็จะทำให้เค้าเห็น เพราะดินจะเปลี่ยนฟอร์มไปเรื่อยๆ หรือการทำภาพปะติด (Collage) ก็จะเป็นการเอาภาพนั้น หรือการเอามิตินั้น มาติดกับข้อความนี้ นำคำนี้ไปติดกับคำนั้น เป็นการเรียบเรียงความคิดจากหลากหลายสื่อ มันก็จะเป็นภาษาจากใจของผู้ทำประมาณหนึ่ง

 แล้วการทำศิลปะบำบัดจะให้ผลการรักษาที่ยั่งยืนได้หรือเปล่า จะเหมือนกับการใช้ยาที่ต้องทานอย่างต่อเนื่องไหม

ในเคสที่เป็นหนักจริงๆ และไม่ไหวจริงๆ การใช้ยาและเข้ารับการรักษาจากแพทย์เฉพาะทางก็จำเป็นค่ะ เพื่อให้บรรเทาอาการในเบื้องต้น แล้วค่อยมาพัฒนาทีหลังด้วยการบำบัด เช่น การทำศิลปะบำบัด เพื่อเป็นการรักษาที่ต้นเหตุจริงๆ ก็คือ ใจ ของเรานี้เอง

เราเคยคุยกับคุณหมอภุชงค์ (ผศ.นพ. ภุชงค์ เหล่ารุจิสวัสดิ์) คุณหมอเปรียบเทียบให้ฟังว่าเมื่อเกิดฝุ่น คนก็มักไปโทษไปเพ่งโทษที่ฝุ่น แต่จริงๆ แล้วเราควรไปแก้ที่จุดกำเนิดของฝุ่น ไม่ใช่แก้ตัวฝุ่น ดังนั้นการรักษาโรคซึมเศร้าอย่างยั่งยืนก็ควรเป็นการปรับทัศนคติของผู้ป่วยเองเพราะการใช้ยาอย่างเดียว คนที่ใช้ยาอาจจะไม่รู้สึกถึงการที่ต้องลุกขึ้นมาเปลี่ยน 

เมื่อทำศิลปะคนเราจะมีความรู้สึกว่า เราเป็นคนทำ เราเป็นผู้กำหนด ไม่เหมือนเวลาเราไม่สบาย เราจะถูกฉีดยา ถูกผ่า เราจะถูกกระทำถูกกำหนด แต่ตอนทำศิลปะ มันจะตรงกันข้าม คือให้คนที่ถูกกระทำถูกกำหนด เป็นคนกระทำ มันก็จะทำให้รู้สึกว่าเรากำหนดชีวิตตัวเองได้  ทีีนี้พอเรารู้สึกกำหนดชีวิตตัวเองได้  เราก็จะรู้สึกว่าเราจะต้องรับผิดชอบ ว่าเราควรเปลี่ยนแปลงตัวเองอะไรบางอย่าง 

ในช่วงเริ่มต้นของการรักษาบางครั้งหมอไม่รู้หรอกว่าเราเป็นหรือไม่เป็น แต่พอทำบททดสอบแล้วมันบอกว่าคุณเป็น หมอก็มีหน้าที่ให้ยา พอคนรู้สึกว่าได้ยา ก็จะรู้สึกว่าตนเองเป็นแน่นอน จากเดิมที่เป็นคนกระทำ กลับเป็น คนถูกกระทำ ไปแล้ว แต่จริงๆ มันไม่ควรให้มีความรู้สึกมีใครกระทำใคร

เมื่อกลางเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา กชกร มีชื่อปรากฎอยู่ใน TIME 100 Next ประจำปี 2019 เป็น 1 ใน 100 บุคคลผู้ทรงอิทธิพลทางด้านนวัตกรรม

ฟีดแบ็กจากกิจกรรมศิลปะกลุ่มบำบัดกลุ่มที่ผ่านมาเป็นอย่างไรบ้าง

คนมักจะชอบถามว่าศิลปะบำบัดวัดผลยังไง (หัวเราะ) เพราะติดกับการชี้วัด คือถ้าเรารู้สึกดี มันวัดไม่ได้ไง มันอาจจะวัดได้ผ่านตัวชี้วัดแบบสอบถาม แต่มันไม่สามารถวัดได้ว่าน้ำแก้วนึง รู้สึกดีหรือไม่ดี ซึ่งฟังดูยังไม่วิทยาศาสตร์สำหรับวงการแพทย์หรือสำหรับบางคน แต่จริงๆ มันเห็นการเปลี่ยนแปลง เช่น สีหน้าสีตาของผู้เข้าคอร์ส ตอบได้ด้วยความรู้สึกของเขา บางคนเข้ามาแรกๆ หน้านี่ดูหมอง แต่พอออกไปสีหน้าเปลี่ยนเลย ศิลปะจะดึงให้เราอยู่กับปัจจุบัน และโดยเฉพาะถ้าอยู่ในกระบวนการสื่อสารให้รู้ว่าจริงๆ แล้ว เราเชื่อมโยงกันนะ สิ่งที่เธอรู้สึก ฉันก็รู้สึก สิ่งที่เธอมี ฉันก็มี แต่ว่าไม่ใช่พูดเพื่อให้เขารู้สึกดีนะ แต่เป็นในฐานะที่เราเท่าเทียม มันก็จะช่วย

เคยมีการทำวิจัยกับทางโรงพยาบาลศิริราชในกลุ่มผู้ป่วยที่เป็นอัมพฤกษ์อัมพาต วัย 50 ปีขึ้นไป หมอก็สังเกตได้ว่าคนไข้มีอาการซึมเศร้า เมื่อไม่สามารถเคลื่อนไหวร่างกาย ระดับ self-esteem ก็ต่ำลง จึงถูกวินิจฉัยว่าเป็นโรคซึมเศร้า แต่พอเข้ามาในคอร์สบำบัดก็ เราสังเกตได้ว่าจริงๆ เขาไม่ได้เป็น แต่แค่เขาไม่มีคนพูดคุย ไม่มีคนรับฟังเฉยๆ และในภาพรวมผลวิจัยก็แสดงให้เห็นชัดว่าศิลปะช่วยลดความวิตกกังวล (Anxiety) และ (Depression) ในคนไข้อัมพฤกษ์อัมพาตได้จริง

ทุกวันนี้งานด้านภูมิสถาปัตยกรรมน่าจะรัดตัวอยู่แล้ว แต่ก็ยังปลีกตัวมาทำงานศิลปะบำบัดควบคู่ไปด้วย เพราะอะไร

 ที่ยังทำทุกวันนี้ เพราะมันเยียวยาตัวเราเองด้วยนะ เหมือนเราได้เติมเต็มตัวเอง ในส่วนที่เป็นมนุษย์อยากช่วยเหลือคน และทำให้เรารู้สึกว่าเราก็เป็นคนในชนเผ่านะ ก็เหมือนเราได้เป็นส่วนหนึ่ง และเรามาค้นพบว่าทั้งงานด้านภูมิสถาปัตย์และศิลปะบำบัดมีความเชื่อมโยงกันมากจริงๆ งานด้านภูมิสถาปัตย์คือการออกแบบพื้นที่และธรรมชาติภายนอก แต่สุดท้ายก็เพื่อวัตถุประสงค์เพื่อพื้นที่ภายในหรือจิตใจของมนุษย์นั่นเอง การได้มาทำศิลปะบำบัดมันทำให้เราเข้าใจความเชื่อมโยงของพื้นที่ภายในกับพื้นที่ภายนอกได้ดีขึ้น

ตอนที่ทำสวนสาธารณะและสวนบำบัดในโรงพยาบาล ทำให้เราเข้าใจอย่างลึกซึ้งว่าแม้เราจะออกแบบภูมิสถาปัตย์ แม้จะคิดเรื่องว่าทำยังไงให้พื้นที่สวย และรู้สึกดีกับการอยู่กับธรรมชาติ แต่จริงๆ แล้วหัวใจของการออกแบบทางภูมิสถาปัตย์ก็คือการดึงคนให้เข้ามาอยู่กับธรรมชาติ  ให้คนมาใช้พื้นที่ร่วมกัน เป็นการสร้างพื้นที่ให้ผู้คนมาพบปะพูดคุยในรูปแบบหนึ่ง เป็นการออกแบบพื้นที่เพื่อสร้างกระบวนการบำบัดในจิตใจ หรือเรียกได้ว่าเป็น Art (Therapy) in Space นั่นเอง

เราทิ้งท้ายการสนทนาด้วยการคุยเรื่องวันข้างหน้า กชกร เล่าว่า ในอนาคตจะยังคงมุ่งมั่นกับงานด้านศิลปะบำบัดต่อไป เพราะวันหนึ่งเธออาจรู้สึกอิ่มตัวกับงานทางด้านภูมิสถาปัตยกรรม  แต่สำหรับศิลปะบำบัดแล้ว ไม่ว่าอย่างไรก็ยังมีคนที่ต้องการการเยียวยาจิตใจต่อไป นอกจากนี้ เธอมุ่งหวังที่จะผลักดันให้ศิลปะบำบัดกลายเป็น section หนึ่งของโรงพยาบาลที่ผู้ป่วยหรือผู้ที่จำเป็นสามารถเข้าถึงได้ตลอด โดยไม่ต้องรอแต่ทุนสนับสนุนแต่เพียงอย่างเดียว

กชกร วรอาคม ภูมิสถาปนิกแถวหน้าของเมืองไทย หรือจะเรียกว่าระดับโลกก็คงไม่ผิดนัก การันตีด้วยผลงานที่คว้ารางวัลชนะเลิศจากการประกวดภูมิสถาปัตยกรรมระดับโลกหลายต่อหลายงาน ไม่ว่าจะเป็น รางวัล ASLA American Society of Landscape Architects, รางวัล Best of Best Iconic Architecture จาก German Design Council และรางวัลชนะเลิศจาก Architecture Masterprize

รวมทั้งผลงานในนาม LANDPROCESS ที่หลายคนคงคุ้นหูหรือมีโอกาสได้ไปเยือนกันมาแล้ว อาทิเช่น การออกแบบอุทยาน 100 ปี จุฬาฯ, สวนป๋วย PUEY Park for the People, สวนบำบัดลอยฟ้า โรงพยาบาลรามาธิบดี และ Siam Green Sky ที่ให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อม ทั้งยังตอบโจทย์การสร้างพื้นที่สีเขียวในเมืองด้วย

บทความโดยอัจฉรา เมฆราตรี นักวิเคราะห์การตลาด

เรียบเรียงโดยสุธาสินี สุขโข

 

 

 

 

 

podcast

LATEST
OUR PICKS
HOT
กำลังโหลดบทความถัดไป...

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า