SHARE

คัดลอกแล้ว

ประเด็นระเบียบเรื่องทรงผมของนักเรียนกลับมาเป็นที่พูดถึงอีกครั้ง หลังปรากฎภาพสาวน้อยนักเรียนถูกมัดมือติดกับเก้าอี้ เทปปิดปาก ที่อกมีป้ายแขวนไว้ว่า “นักเรียนคนนี้ประพฤติผิดกฏโรงเรียน ไว้ผมยาวเกินติ่งหู และไว้ผมหน้าม้าทำลายเอกลักษณ์ของนักเรียนไทย เชิญลงโทษนักเรียนคนนี้”

ภาพที่เห็นดึงความสนใจจากคนที่เดินผ่านไปผ่านมา ไม่นานเกินรอภาพดังกล่าวก็ถูกบันทึกไว้และแพร่กระจายสู่โซเชียลเน็ตเวิร์ค ไม่กี่ชั่วโมงต่อมา #เลิกบังคับและจับตัด พุ่งทะยานติด 1 ใน 5 เทรนยอดฮิตของทวิตเตอร์ไทยแลนด์ เนื่องจากชาวเน็ตมากหน้าหลายตาร่วมกันสะท้อนปัญหาเรื่องทรงผมนักเรียนที่ดูจะเกิดขึ้นแทบทุกโรงเรียนในประเทศไทย

เบื้องหลังแคมเปญเล็กๆ ที่ส่งแรงเคลื่อนไหวไปทั้งสังคมภายในช่วงเวลาสั้น ๆ คือกลุ่มนักเรียน 4 คนจากโรงเรียนต่าง ๆ กันที่รวมตัวขึ้นมาในชื่อกลุ่ม ‘นักเรียนเลว’ ขับเคลื่อนให้โรงเรียนที่เพื่อน ๆ ของเขาต้องไปเป็นที่ที่นักเรียนสามารถคงไว้ซึ่งความเป็นมนุษย์มากยิ่งขึ้น

workpointTODAY คุยกับ 3 ใน 4 ผู้ก่อการ ถึงแรงผลักดันที่ทำให้พวกเขาไม่อยู่นิ่งเฉยกับกฎโรงเรียนที่อยู่กับสังคมไทยมากกว่า 50 ปี

“มันเริ่มจากพวกเราประชุมกันในร้านอาหารร้านนึงแล้ววันต่อมาก็เริ่มกันเลย” พลอย เบญจมาภรณ์ นิวาส อายุ 15 เล่า

วันนั้นเธอกับเพื่อน ๆ ไปขอพบปลัดกระทรวงศึกษาธิการผ่านการนัดหมายทางโทรศัพท์กับเจ้าหน้าที่เพื่อยื่นหนังสือรวบรวมข้อร้องเรียนที่รวบรวมจากนักเรียนที่พบปัญหาการใช้อำนาจมิชอบในโรงเรียนทั่วประเทศไทย

แต่เหตุการณ์ไม่ได้เป็นไปอย่างที่คิด เธอได้พบเพียงตัวแทนจากปลัดกระทรวงฯ ทำให้คำตอบที่ได้จาก ‘ผู้ใหญ่’ ไม่มีผลผูกมัดใครอย่างเป็นทางการ ความผิดหวังจากข้อมูลที่ได้มาจากการพูดคุยที่ว่า ปีที่ผ่านมามีเรื่องร้องเรียนถึงกระทรวงศึกษาธิการเพียง 3 เรื่อง ทำให้สมาชิกกลุ่ม ‘นักเรียนเลว’ รู้สึกว่าต้องทำอะไรที่ใหญ่ขึ้นเพื่อให้เรื่องนี้ได้รับความสนใจจากผู้มีอำนาจ

“พี่เขาโทรมาชวน หนูตัดสินใจแค่ 2 นาที” นิ้ง อายุ 15  ปี เล่าถึงตอนที่ถูกชวนมาสมทบ เธอรับบทคนที่เดินเข้าไปตัดผมนักเรียนผิดระเบียบที่นำแสดงโดยพลอย

ปฏิกิริยาคนที่เดินผ่านไปผ่านมาตอนนั้นไม่ทำให้เธอเสียใจ

“ตอนที่เรากำลังตัดผมอยู่มีคนตะโกนไล่หลังว่าคุณมาจากโรงเรียนอะไรทำอย่างนี้ได้ไง ด้วยอารมณ์ที่โกรธเกรี้ยวเรารู้สึกว่านี่แหละ นี่คือสิ่งที่คนควรจะรู้สึก” นิ้งเผย ขณะที่บอส ภาณุพงศ์ อายุ 17 ปี ซึ่งร่วมทำกิจกรรมด้วยในวันนั้นกล่าวสำทับ

นิ้งถูกตะโกนไล่หลังระหว่างตัดผมพลอย เธอเล่าว่าดีใจ เพราะนี่คือสิ่งที่คนควรจะรู้สึกกับการบังคับตัดผมในโรงเรียน

“อย่างตัวผมเอง ผมเป็นคนไปตัดแล้วก็เป็นภาพแพร่สะพัดไป ก็จะมีคนว่าแบบ โหยตาลุงนี่ตัดเขาได้ยังไง มันเหมาะสมไหมนี่ มันดีไหมนี่ ไร้มนุษยธรรม ซึ่งพอสิ่งนี้เกิดขึ้นในโรงเรียนมันกลายเป็นเรื่องปกติเฉยเลย” เขายักไหล่

ในสายตาคนที่เดินผ่านไปผ่านมา บอสถูกมองว่าเป็น “ลุง” ผู้ “ไร้มนุษยธรรม” ที่ไปตัดผมพลอย

ภาพจำลองสถานการณ์ที่กลุ่มฯแสดงออกในวันนั้นไม่ได้ผิดไปจากความเป็นจริง ในแต่ละปีข่าวครูตัดผมนักเรียนที่ผิดระเบียบปรากฎให้เห็นอย่างสม่ำเสมอ สิ่งที่นักเรียนกลุ่มนี้ทำเพียงแค่นำเหตุการณ์จริงที่เกิดขึ้นหลังรั้วโรงเรียนมาจัดวางใหม่ในที่สาธารณะ น่าสังเกตว่าพอปราศจากรั้วโรงเรียนสิ่งเหล่านี้ก็กลายเป็นเรื่องที่รับไม่ได้ ทำให้คำถามถูกตั้งขึ้นมาทันทีว่าแล้วเหตุใดเมื่อเกิดขึ้นภายในโรงเรียนจริงกลายเป็นเรื่องธรรมดาสามัญ

“ผมว่าเป็นความเคยชิน” บอสอธิบาย “เขาส่งมาเราก็รับไปส่งต่อ รุ่นที่แล้วเขาก็ส่งมา รุ่นเรามันก็เลยยังมีอยู่”

แล้วทำไม บอส นิ้ง พลอย และสมาชิกของกลุ่มอีกหนึ่งคนถึงไม่รับมาแล้วส่งต่อ เกิดอะไรขึ้นกับเด็กรุ่นใหม่ อะไรทำให้เขากบฎ?

“เห็นในโซเชียลในข่าวที่มีนักเรียนโดนจับตัดผมเราก็เริ่มรู้สึกว่าทำไมหน้าเราไม่เข้ากับผมสั้น ๆ แบบติ่งหูเลย ทำไมทำผมแบบนี้แล้วดูน่าเกลียดจังไม่เหมือนตอนไว้ผมยาวมีหน้าม้าถักเปียได้เลย มันก็เลยวูบขึ้นมาว่านั่นสินะแล้วทำไมถึงต้องเป็นแบบนี้ แล้วก็เลยมองมันเปลี่ยนไปว่ามันไม่ใช่สิ่งที่ควรเป็นปกติได้” นิ้งอธิบายถึงกระบวนการตกผลึกของตัวเอง

มิ้นมีประสบการณ์จากโรงเรียนที่มีระเบียบเรื่องทรงผมแตกต่างกัน โรงเรียนประถมของนิ้งอนุญาตให้นักเรียนไว้ผมยาวได้ แต่เมื่อเธอต้องเปลี่ยนโรงเรียนระหว่างขึ้นชั้นม.ต้น ระเบียบเรื่องทรงผมจึงเข้ามา เธอพบว่าผมสั้นหรือผมยาวไม่ได้ส่งผลให้การเรียนของตนเปลี่ยนไปเลย มิหนำซ้ำยังเสริมความมั่นใจระหว่างทำกิจกรรมการแสดงหรือแต่งกายด้วยชุดไทย

ส่วนพลอยเชื่อว่าเธอได้รับอิทธิพลของสื่อที่ทำให้เข้าถึงแนวคิดที่หลากหลาย “แต่ไม่ใช่โดนปั่นนะคะ แค่โซเชียลมีเดียเป็นแพลตฟอร์มที่ทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนได้ง่าย ความคิดพวกนี้เลยสะท้อนออกมาง่ายขึ้น”

หลากหลายความคิดแลกเปลี่ยนถึงเหตุผลที่ควรให้นักเรียนเลือกทรงผมเอง ตั้งแต่แนวคิดพื้นฐานเรื่องสิทธิของเนื้อตัวร่างกาย ไปจนถึงความคิดง่าย ๆ แต่ก็เป็นสัจธรรมว่าทุกคนล้วนอยากดูดี

“ถ้าเราตัดทรงนักเรียนเราก็จะขาดความมั่นใจ คนอื่นจะมองเรายังไง เราจะดูดีในสายตาคนอื่นไหม ซึ่งการอยากดูดีไม่ใช่เรื่องผิดปกติ เราล้วนอยากดีในสายตาคนอื่นอยู่แล้ว” บอสบอก

พลอยเสริมว่าเรื่องนี้เกี่ยวโยงกับสุขภาพจิตของนักเรียนในระยะยาวด้วย “บางคนหน้าผากสูงเขาต้องตัดหน้าม้า แต่พอโรงเรียนบอกให้เขาห้ามตัดหน้าม้า มันก็ทำให้เขาถูกบูลลี่เรื่องหน้าผากของเรา มันทำให้ความมั่นใจในตัวเขาลดลง แล้วบางทีมันก็ทำลายสุขภาพจิตของนักเรียนด้วยค่ะ”

เธอยังกล่าวไปถึงความสัมพันธ์เชิงอำนาจที่ถ่ายทอดผ่านการจัดวางระเบียบ “เวลาที่เขาตัดผมเรามันเหมือนเขาทำให้เราตัวเล็กลง ในเวลาเดียวกันมันก็แสดงว่าเขามีอำนาจเหนือว่า”

ผู้สัมภาษณ์ไม่ได้ถามว่านักเรียนอายุ 15 ปีอย่างพลอยรู้จักมิเชล ฟูโกต์หรือเปล่า แต่สิ่งที่เธอพูดฟังดูเหมือนแนวคิดเรื่อง “ร่างกายใต้บงการ (The docile body)” ที่กว่าหลายคนจะรู้จักก็ขึ้นชั้นมหาวิทยาลัย

แต่จะว่าไป อายุไม่เกี่ยวกันเลยว่าเธอจะรู้จักแนวคิดเรื่องนี้หรือไม่ หรือถ้าเธอไม่รู้จัก ก็ใช่ว่าเธอจะคิดมันออกมาเองไม่ได้

“เด็กก็มีความคิดเป็นของตัวเอง คือเด็กก็เป็นมนุษย์คนนึงเหมือนกัน มีความคิด มีความรู้สึกเหมือนกัน” เธอกล่าว “มันก็เป็นเรื่องปกติของเขา ที่เขาจะออกมาพูดเกี่ยวกับร่างกายของเขาที่ถูกบังคับให้ทำอย่างนั้นอย่างนี้”

อีกประเด็นหนึ่งที่ทั้งสามคนเห็นด้วย คือการบังคับทำผมตามระเบียบยิ่งเป็นการปิดกั้นนักเรียนจากการเรียนรู้กาลเทศะในชีวิตจริง หากนักเรียนรู้เพียงว่าการทำผมเรียบร้อยคือการทำผมนักเรียน เมื่อเติบโตไป ไม่มีทรงผมนักเรียนแล้ว พวกเขาจะมีทักษะเลือกทรงผมต่าง ๆ ให้เหมาะกับสถานการณ์ได้อย่างไร การให้นักเรียนเลือกด้วยตนเองจึงจะสร้างทักษะนี้ขึ้นมาได้ด้วยการลองผิดลองถูกซึ่งจะพัฒนาตามกาลเวลาก่อนที่จะออกจากรั้วโรงเรียนไปสู่ชีวิตจริง

นิ้ง บอส พลอย บอกเราว่าวันนี้เขาอยู่ในทรงผมที่ตัวเองมั่นใจและสุภาพเรียบร้อย แม้ไม่ได้เป็นตามระเบียบโรงเรียน (ภาพโดย นลิน อรุโรทยานนท์)

เมื่อช่องว่างระหว่างวัยกลายเป็นความหวาดกลัว

Action = Reaction เมื่อใดมีการกระทำ ที่นั่นย่อมมีกระแสตีกลับ โดยเฉพาะเมื่อมีการท้าทายสิ่งที่อยู่มายาวนานจนสร้างความเป็นสถาบันไปแล้ว กระแสตีกลับยิ่งมาจากคนหลากยุคหลากสมัยที่ผ่านกฎระเบียบนี้มา บอสเชื่อว่าความไม่เห็นด้วยส่วนหนึ่งมาจากช่องว่างระหว่างวัยที่บดบังจินตนาการของคนรุ่นเก่า

“คนสมัยก่อนเขาเห็นลูกเขาผิดไปจากคนอื่นนิดเดียวก็กังวลแล้ว เขามองว่าการเหมือนกัน การเป็นแบบเดียวกันมันคือสิ่งที่โอเค แต่เราอยู่ในยุคนี้สมัยนี้ ก็คือความแตกต่างเป็นเรื่องปกติ”

จากการเรียกร้องแค่ประเด็นทรงผม ทำให้ทั้งสามคนตกเป็นเป้าการโจมตีที่ไปไกลกว่าต้นเรื่องมาก มีการเชื่อมโยงการต่อต้านระเบียบทรงผมไปถึงพฤติกรรมอื่น ๆ ที่ดูไม่น่าจะเกี่ยวกันได้ ตั้งแต่การถูกมองว่าเป็นเด็กดื้อ เมื่อโตไปคงไม่เคารพกฎหมาย โตไปไม่มีวันได้ดี ทั้งสามคนตอบถึงข้อกล่าวหาเหล่านี้ได้โดยไม่ต้องคิดนาน

บอสเห็นว่ามีกฎหมายมากมายที่สมเหตุสมผล ทำให้คนพร้อมปฏิบัติตาม ห้ามฆ่าคน ห้ามขโมยของ เพราะจะก่อให้เกิดความสูญเสีย แต่การห้ามไว้ผมยาวไม่ได้มีเหตุผลในลักษณะนี้มารองรับ

“เพื่อนสนิทหนูเขาก็ไม่ยอมตัดผมไม่ทำตามที่ครูบังคับ” นิ้งเล่าจากประสบการณ์คนใกล้ตัว “ครูก็บอกว่าอย่างเธอน่ะไม่มีวันได้ดีหรอก เธอโตขึ้นไปในสังคมเธอก็ทำอะไรไม่ได้เพราะว่าเธอไม่เคารพกฎนี่ไง แต่ว่าหนูก็เห็นเขาได้โรงเรียนดีๆ ผลการเรียนดีมีเพื่อนเยอะ เป็นคนน่ารัก เป็นที่รักของเพื่อน ๆ ทุกคน ทรงผมหรือการแหกกฎของเขาไม่ได้ทำให้เขาเป็นคนไม่ดีหรือว่าแย่ลงเลย”

คนที่เจอการโจมตีหนักที่สุดคือพลอยที่เป็นใบหน้าของการเคลื่อนไหวนี้ไปแล้ว

“มันเป็นคำหยาบนะพี่” เธอเตือน “เราโดนด่าว่า -ี สก๊อย -ี -่าน -ี แ-ด อะไรแบบนี้ อยากไว้ผมยาวอยากมีผัวหรอ มีผัวมากี่คนแล้ว เรายังจำชื่อคนที่ด่าเราได้อยู่เลยนะ”

“ผมสั้นหรือผมยาวก็ไม่มีผัว แถมผมสั้นก็เป็นสก๊อยได้เหมือนกัน” เธอบ่นอุบ แต่ก็บอกว่าไม่เก็บเอาเรื่องนี้มารำคาญใจ เธอต้องการให้คนที่โจมตีขบวนการณ์รณรงค์นี้โจมตีด้วยเหตุผลมากกว่า เพราะเธอก็พร้อมจะถกเถียงว่าสรุปแล้วแนวทางไหนเป็นประโยชน์ต่อการศึกษามากกว่ากันแน่

จริง ๆ แล้วสิ่งที่ทั้งสามคนเจอไม่ผิดแปลกจากความคาดการณ์นัก ทุกคนพูดตรงกันว่าก็คิดอยู่แล้วว่าต้องมีคนไม่เห็นด้วยแน่ แต่ความนึกถึงคนรุ่นหลังทำให้ตัดสินใจแสดงออกในครั้งนี้

“สุดท้ายเราก็รู้สึกว่าการกระทำของเราอาจจะส่งผลให้น้อง ๆ อาจจะไม่ต้องตัดผมแล้วก็ได้ ถึงจะมีใครมาว่าเรา แต่ถ้าเราทำให้สังคมได้เห็น มันก็คุ้มค่าที่จะโดนว่า” เสียงจากนิ้ง

“เราไม่อยากให้รุ่นลูกรุ่นหลานเราเจออะไรแบบนี้แล้ว เราอยากจะให้มันจบที่รุ่นเรา ถ้าเกิดว่ารุ่นเราไม่ลุกขึ้นมาเปลี่ยนแปลงระบบอำนาจนิยมในโรงเรียนก็จะมาถูกส่งต่อมายังรุ่นลูกรุ่นหลานเรา ซึ่งเราเป็นห่วง ถ้าไม่เป็นเรา ถ้าเราไม่ทำแล้วใครจะทำ” เสียงจากพลอย

เมื่อโรงเรียน อาจเป็นฝ่ายผิดระเบียบกระทรวงศึกษาธิการเสียเอง

น้อยคนจะรู้ ว่าข้อเรียกร้องของกลุ่ม ‘นักเรียนเลว’ ไม่ได้มากไปกว่าระเบียบกระทรวงศึกษาธิการที่ออกเมื่อ 1 พฤษภาคม 2563 ที่ผ่านมาเลย

ระเบียบกระทรวงศึกษาธิการ ว่าด้วยการไว้ทรงผมของนักเรียน พ.ศ. 2563 ระบุว่านักเรียนหญิงชายจะไว้ผมสั้นหรือผมยาวก็ได้ตามความเหมาะสม โรงเรียนจะออกรายละเอียดเพิ่มเติมใด ๆ ก็ได้ แต่ห้ามขัดกับระเบียบนี้ และการออกระเบียบ แม้ผู้อำนวยการจะเป็นผู้ตัดสินใจท้ายสุด แต่ก็ต้องคำนึงถึงความมีส่วนร่วมของนักเรียนด้วย

“กฎกระทรวงที่ออกมาค่อนข้างโอเคนะ แต่ว่าที่มันเป็นปัญหา มันคือการบังคับใช้ของโรงเรียนมากกว่า” บอสกล่าว หลังพบว่าแม้มีระเบียบการทรวงใหม่ออกมา แต่โรงเรียนก็ยังไม่กระตือรือร้นที่จะปรับปรุงกฎเรื่องทรงผมที่มีอยู่แต่เดิมให้สอดคล้องกับกฎใหม่

กฎของโรงเรียนส่วนใหญ่ขัดระเบียบกระทรวงนี้ชัดเจน เนื่องจากหลายโรงเรียนยังสั่งว่าห้ามไว้ผมยาว นอกจากนี้ในกระบวนการออกกฎก็ไม่มีนักเรียนเข้ามาเกี่ยวข้อง อย่างไรก็ดีกลุ่มของเขาถูกโต้แย้งว่าแต่กฎกระทรวงก็เขียนไว้ด้วยเหมือนกันว่าให้เป็นอำนาจของแต่ละสถานศึกษาในการตัดสินใจ เช่นนี้แล้วตัดสินใจให้ใช้กฎเดิมที่ขัดกับระเบียบกระทรวงได้หรือไม่

3 กรกฎาคม 2563 ‘นักเรียนเลว’ เข้าพอปลัดกระทรวงศึกษาธิการอีกรอบ คราวนี้ได้รับคำยืนยันท่ามกลางสื่อมวลชนที่มาเป็นสักขีพยาน ว่าโรงเรียนต่าง ๆ ต้องออกกฎใหม่เพื่อปรับปรุงกฎเดิมที่อาจขัดระเบียบกระทรวงศึกษา และต้องคำนึงถึงการมีส่วนร่วมของนักเรียนเป็นสำคัญ ทั้งจะส่งหนังสือกำชับให้โรงเรียนต่าง ๆ เข้าใจตรงกันตามนี้

อย่างไรก็ดี ระหว่างการสัมภาษณ์ พวกเขากังวลว่าสุดท้ายเรื่องนี้จะไม่มีสภาพบังคับจริงจังจากประสบการณ์ที่พวกเขาได้รับจากสำนักงานเขตพื้นที่การศึึกษาที่ทำให้การร้องทุกข์แต่ละครั้งเป็นเรื่องยากลำบาก

ปลดล็อกระเบียบผมได้ แล้วยังไงต่อ?

เราขอให้พวกเขาบอกถึงประโยชน์ของการปลดล็อกระเบียบเรื่องทรงผม คาดหวังแค่คำตอบพื้น ๆ อย่างนักเรียนจะได้รับเสรีภาพ แต่เปล่าเลย พวกเขาทำให้เราเซอร์ไพรส์ได้จนตอนจบ

พลอยบอกว่าแค่ปลดล็อกทรงผมนักเรียนอาจได้ความเป็นคนกลับคืนมา “เราว่าการให้อิสระเกี่ยวกับทรงผมเด็กมันคือการฝึกให้เรามีวิจารณญาณ ฝึกให้เรามีกาลเทศะ มันเป็นการฝึกให้เราคิดเป็นฝึกให้เราเลือกเป็นค่ะ มันเป็นการฝึกให้คนเป็นคน”

ส่วนนิ้งมองไปไกลถึประโยชน์ที่ประเทศชาติจะได้รับจากการปล่อยให้นักเรียนอยู่นอกกรอบ “รู้สึกว่าถ้านักเรียนได้เป็นตัวของตัวเอง มันจะทำให้เรามีความคิดที่สร้างสรรค์มากขึ้น เหมือนกรอบที่เราเคยถูกตีกดทับเอาไว้ถูกเอาออกไปแล้ว เราสามารถเป็นสิ่งที่ตัวเราได้เป็น ถามว่าการที่ได้ทำผมทรงอะไร มันก็ทำให้เราได้ปลดปล่อยความเป็นตัวเองออกมา แล้วมันก็อาจนำไปสู่การคิดสร้างสรรค์งานหรือว่าสิ่งมีประโยชน์อื่น ๆ ที่จะนำมาสู่สังคมในการต่อไป”

podcast

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า