SHARE

คัดลอกแล้ว

หากย้อนไปในปี 2554 น้ำท่วมใหญ่ในปีนั้นคงเป็นฝันร้ายที่ไม่ว่าใครก็ไม่อยากให้มันเกิดขึ้นอีก

แต่ถึงอย่างนั้น หลายปีที่ผ่านมา ปัญหาสภาพอากาศเปลี่ยนแปลงที่ทั่วโลกยังแก้ไม่ได้ ส่งผลให้ภัยพิบัติยังคงเกิดขึ้นต่อเนื่องมาตลอด ไม่ว่าจะเป็นฝนตกหนัก ภัยแล้ง พายุ น้ำทะเลหนุน จนมีการคาดการณ์ว่าในอนาคตกรุงเทพฯ อาจจะจมอยู่ใต้บาดาล

[ คนไทย 34% เสี่ยงประสบภัยพิบัติ ]

ดร.การดี เลียวไพโรจน์ ผู้อำนวยการบริหาร ‘ฟิวเจอร์เทลส์ แล็บ by MQDC’ ศูนย์วิจัยอนาคตศึกษา เล่าให้ฟังว่า ปี 2022 ที่ผ่านมามีภัยพิบัติเกิดขึ้นทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็น น้ำท่วม ไฟป่า ฯลฯ หรือแม้แต่ในปี 2023 ที่ผ่านมาเพียงไม่กี่เดือนก็มีเหตุการณ์ภัยพิบัติเกิดขึ้นแล้ว

“สหประชาชาติ หรือ UN ประเมินว่าหากทั่วโลกไม่ทำอะไรเลยเพื่อแก้ปัญหาสภาพแวดล้อม เราจะเจอภัยพิบัติมากกว่า 500 ครั้งต่อปี”

ภัยพิบัติเหล่านี้สร้างความเสียหายมหาศาล อย่างในปี 2022 โดยรวมแล้วน้ำท่วมทำเศรษฐกิจโลกสูญเงินกว่า 1 แสนล้านเหรียญสหรัฐฯ และคาดว่าเศรษฐกิจจะเสียหายสูงถึง 5.6 ล้านล้านเหรียญในอีก 30 ปีข้างหน้า

หรือใกล้ตัวเราเข้ามาอีกนิด ในปี 2011 หรือปี 2554 ที่เกิดเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ มีการประเมินว่าไทยเสียหายทางเศรษฐกิจถึง 1.4 หมื่นล้านเหรียญ

ที่น่าสนใจคือ ประเทศไทยมีสัดส่วนประชากรที่เสี่ยงประสบกับภัยพิบัติถึง 34% หรือถ้าเทียบกับจำนวนประชากรตอนนี้ก็คิดเป็นราวๆ 25 ล้านคนเลยทีเดียว

[ หากไม่รีบแก้ไข กรุงเทพฯ จะจมน้ำถาวร ]

รศ.ดร.เสรี ศุภราทิตย์ ผอ.ศูนย์การเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ และที่ปรึกษาด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและภัยพิบัติ ฟิวเจอร์เทลส์ แล็บ บอกว่า สถานการณ์ตอนนี้เรียกได้ว่า “โลกทั้งใบกำลังป่วย” ซึ่งเป็นผลมาจากอุณหภูมิโลกที่สูงขึ้นกว่าปกติ

“สหประชาชาติส่งสัญญาณเตือนว่าอุณหภูมิสูงขึ้นตลอด เกิดคลื่นความร้อนตามมา ทำให้น้ำจากพื้นโลกระเหยขึ้นไปเยอะ เกิดปัญหาภัยแล้ง ไม่เพียงเท่านั้น เมื่อน้ำระเหยขึ้นไปอยู่ในรูปไอน้ำ พอเจอกับความเย็นในช่วงฤดูฝน ฝนก็จะตกลงมาหนัก ถ้าเป็นพื้นที่เปราะบางก็จะเจอกับน้ำท่วม

“ที่น่ากังวลคือโลกเรามีพื้นที่ทะเลคิดเป็น 2 ใน 3 ถ้าทะเลร้อนขึ้น ระดับน้ำทะเลสูงขึ้น กรุงเทพฯ ที่อยู่ในระดับไม่ต่างจากน้ำทะเลมากนักก็ยิ่งเสี่ยงเจอน้ำท่วม”

ทั้งนี้ จากข้อมูลน้ำท่วมในพื้นที่ภาคกลาง กรุงเทพฯ และปริมณฑล สามารถจัดกลุ่มความเสี่ยงน้ำท่วมได้เป็น 3 ประเภท คือ

1.น้ำท่วมเมือง – หรือน้ำรอการระบาย เกิดจากฝนตกหนักในเมืองมากเกินกว่าความสามารถระบบระบายน้ำ

2.น้ำล้นจากฝั่งแม่น้ำ – เกิดจากปริมาณฝนตกหนักเกินความจุลำน้ำ ทำให้น้ำล้นฝั่งเข้าท่วมชุมชน

3.น้ำท่วมชายฝั่ง – เกิดขึ้นกับชุมชนหรือเมืองที่อยู่ริมชายฝั่งทะเล เมื่อต้องเผชิญกับระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้นอย่างถาวร

รศ.ดร.เสรี บอกว่า น้ำท่วมทั้ง 3 ประเภทนี้มีแนวโน้มที่จะเกิดถี่ขึ้นและรุนแรงมากขึ้น เนื่องจากสภาพอากาศเปลี่ยนแปลงเร็วขึ้น อีกทั้งสภาพที่ทำกินยังมีการเปลี่ยนแปลง

โดยมีการประเมินว่า ในอนาคต ฝนที่ตกหนัก 1 วันในพื้นที่กรุงเทพฯ จะเพิ่มขึ้น 20-30% ปริมาณฝน 100 ปีซึ่งหมายถึงฝนที่ตกในปริมาณมากๆ จะเพิ่มขึ้นจาก 200 มม./วัน เป็น 250 มม./วัน อีกทั้งจำนวน ‘วันที่ฝนตกหนัก’ ยังมีโอกาสเพิ่มขึ้นถึง 60-80% ดังนั้น เหตุการณ์น้ำท่วมรอระบายจึงมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น

ในขณะเดียวกัน ปริมาณฝนตกสะสม 6 เดือน (พฤษภาคม-ตุลาคม) ที่ทำให้เกิดน้ำท่วมในลุ่มน้ำเจ้าพระยา ก็มีโอกาสเพิ่มขึ้น 20-30% เช่นกัน

นั่นหมายความว่า ฝน 100 ปีหรือฝนที่ตกในปริมาณมากๆ จนถึงขั้นเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ปี 2554 มีโอกาสจะเกิดขึ้นในทุกๆ 10 ปีเลยก็ว่าได้

นอกจากนี้ ในเรื่องน้ำท่วมชายฝั่ง คณะทำงาน IPCC ประเมินว่าระดับน้ำทะเลจะสูงขึ้นที่สถานีป้อมพระจุลจอมเกล้า บริเวณปากแม่น้ำประมาณ 0.39 ม., 0.73 ม. และ 1.68 ม. ในปี 2573, 2593 และ 2643 ตามลำดับ ซึ่งจะทำให้ “พื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล จมน้ำอย่างถาวร” หากไม่มีมาตรการรับมือ

ดร.การดี เลียวไพโรจน์, รศ.ดร.เสรี ศุภราทิตย์ และคุณธนพร ฐิติสวัสดิ์

[ เปิดตัวฮับข้อมูลสภาพแวดล้อม เตรียมพร้อมรับมือภัยพิบัติ ]

ดร.การดี บอกว่า ฟิวเจอร์เทลส์ แล็บ มีความสนใจเรื่องของความเป็นอยู่ที่ดี (For all well – being) มองเห็นผลกระทบจากความเสี่ยงดังกล่าว และหากเราไม่เตรียมพร้อมรับมือ แน่นอนว่าจะเกิดผลกระทบและความสูญเสียมหาศาล

ทำให้ฟิวเจอร์เทลส์ แล็บ ร่วมมือกับ ‘บริษัท อีเอสอาร์ไอ (ประเทศไทย) จำกัด’ หรือ ESRI ผู้นำด้าน Location Intelligence หรือการวิเคราะห์ภูมิสารสนเทศในมุมมองใหม่ พัฒนาแพลตฟอร์มฮับข้อมูลสภาพแวดล้อม “Urban Hazard Studio” ขึ้นมา

หน้าตาของ Urban Hazard Studio แสดงคาดการณ์การเกิดฝนร้อยปี หรือเหตุการณ์ที่จะเกิดฝนตกปริมาณมากๆ

โดยมีเป้าหมายในการนำข้อมูลมาวิเคราะห์ ประเมิน และเผยแพร่ให้แก่สาธารณะ เพื่อสร้างความตระหนักต่อประชาชนและสังคม รวมทั้งเพื่อเตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์ในอนาคตของประเทศต่อไป

โดยเริ่มต้นทำการศึกษาภัยจากน้ำท่วมบริเวณพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล หากเกิด ‘ฝนร้อยปี’ ที่นับเป็นความเสี่ยงอันดับต้นๆ ของประเทศ

‘ธนพร ฐิติสวัสดิ์’ ประธานบริษัท ESRI ประเทศไทย อธิบายว่า Urban Hazard Studio เป็นแพลตฟอร์มที่ใช้ความสามารถจากเทคโนโลยี GIS ซึ่งเป็นระบบที่นำข้อมูลเชิงพื้นที่ที่เป็นตัวเลขหรือข้อความ เข้ามาทำงานร่วมกับ AI แล้ววิเคราะห์ คาดการณ์ หรือสร้างสถานการณ์จำลองของอนาคตให้ออกมาเป็นภาพ มีเฉดสีต่างๆ ที่ทำให้เข้าใจง่ายมากขึ้น

Urban Hazard Studio จะช่วยขับเคลื่อนการแก้ปัญหาในมุมของ Climate Crisis ต่างๆ ใน 3 เรื่องหลัก คือ

1.ช่วยประเมินผลกระทบในรูปแบบแผนที่

2.ช่วยวิเคราะห์เพื่อชี้เป้าพื้นที่เสี่ยงหรือจุดเสี่ยงในอนาคต

3.ช่วยหาโซลูชันที่เป็นแนวทางสู่การบริหารจัดการกับภัยจากธรรมชาติด้วยความเข้าใจ

ระบบ GIS ยังสามารถใช้ร่วมกับเทคโนโลยีอื่นๆ เพื่อเพิ่มความสามารถของการวิเคราะห์เชิงพื้นที่ได้มากขึ้น ทำให้สามารถวางแผนรับมือกับปัจจุบันและเตรียมตัวสำหรับอนาคตได้ดีขึ้น

นอกจากนี้ ยังสามารถรู้จุดเกิดเหตุภัยต่างๆ รวมถึงคาดการณ์อนาคต ตลอดจนผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิต ทั้งคน สัตว์ และพืช สามารถประเมินความเสียหาย รวมถึงความเสี่ยงในเชิงพื้นที่

ตัวอย่างการใช้เทคโนโลยี GIS เข้าไปช่วยในเรื่อง Climate Change คือ ฟิลิปปินส์ ที่กังวลในเรื่องของ Urban Heat จากข้อมูลด้านการปล่อยพลังงานความร้อนในพื้นที่เมืองที่เพิ่มขึ้นเฉลี่ย 2 องศา ทางแก้คือการเพิ่มพื้นที่สีเขียว

ซึ่งเทคโนโลยี GIS สามารถช่วยวิเคราะห์และชี้เป้าให้ได้ว่าควรเพิ่มพื้นที่สีเขียวตรงไหน ในรูปแบบใด และสามารถคำนวณได้ว่า เมื่อเพิ่มพื้นที่สีเขียวในจุดนั้นๆ แล้ว จะช่วยลดพลังงานความร้อนลงไปได้มากขึ้นอย่างไร

หรืออย่าง MQDC เองก็มีการนำระบบ GIS มาช่วยวิเคราะห์และช่วยตัดสินใจในการเลือกทำเลเพื่อพัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์ต่างๆ ของ MQDC เป็นต้น

“หัวใจสำคัญคือช่องทางการสื่อสารไปยังผู้ที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้เห็นถึงภาพและผลกระทบ รวมทั้งช่วยตัดสินใจในการหาแนวทางตั้งรับ อย่างประชาชนทั่วไป ก็สามารถเข้ามาใช้งาน Urban Hazard Studio ได้ แล้วประเมินว่าพื้นที่บ้านที่เราอยู่เสี่ยงเจอน้ำท่วมหรือไม่ และควรทำอย่างไรต่อไป”

โดยสามารถเข้าไปใช้งาน Urban Hazard Studio ได้ที่ http://www.urbanhazardstudio.com/

ส่วนในอนาคต ESRI และ ฟิวเจอร์เทลส์ แล็บ จะพัฒนา Urban Hazard Studio ให้นำเสนอข้อมูลที่เกี่ยวกับภัยพิบัติจากธรรมชาติอื่นๆ ได้ ไม่ว่าจะเป็นด้านสึนามิ ฝุ่น PM2.5 ต่อไป

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง:

podcast

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า