Advertisement

SHARE

คัดลอกแล้ว

       ท่ามกลางการระบาดของโรคโควิด-19 ที่สร้างแรงสั่นสะเทือนให้กับแทบทุกธุรกิจ แต่ถึงกระนั้น ใช่ว่าภัยร้ายจะมาพร้อมวิกฤตเสมอไป เพราะหลายบริษัทก็สามารถค้นหาโอกาสใหม่ๆ ได้ในสถานการณ์เช่นนี้ ดังเช่น “บันลือกรุ๊ป” ที่พลิกช่วงเวลาแห่งความยากเข็ญ เป็นช่วงเวลาแห่งการ “โชว์ของ” ภายใต้การนำทัพของลูกไม้ใต้ต้น “นิว-พิมพ์พิชา อุตสาหจิต”

       หลายคนอาจรู้จัก “บันลือกรุ๊ป” ในฐานะสำนักสร้างสรรค์คอนเทนต์ที่เป็นเจ้าของหนังสือการ์ตูนคู่คนไทยอย่าง ขายหัวเราะ, มหาสนุก, หนูหิ่น, ปังปอนด์ และหน่วยงานผู้บุกเบิกวงการแอนิเมชั่นไทยอย่าง วิธิตา แอนิเมชั่น แต่ในช่วงจวบทศวรรษที่ผ่านมา บันลือกรุ๊ปได้ขยายอาณาจักรไปสู่ธุรกิจโปรดักชั่นในนามของแซลมอนเฮ้าส์, แพลตฟอร์มชุมชนคนผลิตคอนเทนต์อย่างเว็บไซต์ Minimore รวมถึงสื่อออนไลน์อย่าง The Matter และสื่อใหม่มาแรงอย่าง Podcast เช่น Salmon Podcast และ ขายหัวเราะ Studio Podcast ด้วย

       ก้าวย่างในแต่ละหน่วยธุรกิจใต้ร่มเงาของบันลือกรุ๊ปต่างประสบความสำเร็จจากการสร้างสรรค์ผลงานที่สามารถเจาะผู้อ่านได้ตรงเป้าหมาย ขณะที่บางชิ้นยังสร้างปรากฏการณ์จนเป็นที่พูดถึงในวงกว้าง

 

นิว – พิมพ์พิชา อุตสาหจิต กรรมการบริหาร กลุ่มบริษัทบันลือกรุ๊ป

 

       แต่แล้วในปี 2563 การระบาดของโคโรนาไวรัสกลับสร้างผลกระทบต่อเศรษฐกิจของหลายประเทศทั่วโลกอย่างไม่ปรานี บันลือกรุ๊ปเองก็เป็นอีกหนึ่งองค์กรที่ได้รับผลพวงจากการระบาดครั้งนี้เช่นกัน เนื่องจากการปิดห้างร้านชั่วคราวเพื่อลดการแพร่ระบาดของโรค ทำให้ร้านหนังสือต้องปิดไปด้วย และมาตรการ Social Distancing ที่ทำให้การออกกองโปรดักชั่นที่ต้องพบลูกค้านั้นแทบจะทำไม่ได้

       “โควิด-19 กระทบกับเรารุนแรง อย่างตัวเล่มตอนนี้ก็ออกไปขายไม่ได้เพราะว่าร้านปิด ห้างปิด คนไม่ค่อยออก เป็นอีกวิกฤตที่เราไม่เคยเจอมาก่อน เพราะเราเคยผ่านน้ำท่วมมา ผ่านช่วงปีต้มยำกุ้งมา แต่ก็ไม่มีอันไหนที่เหมือนโควิด” นิว-พิมพ์พิชา อุตสาหจิต ทายาทคนโตของ บก.วิติ๊ด หรือ วิธิต อุตสาหจิต ที่เข้ามารับไม้ต่อสืบทอดกิจการแห่งความสร้างสรรค์อย่างบันลือกรุ๊ปตั้งแต่ปี 2557 เล่าถึงสถานการณ์ปัจจุบันให้ทีมงาน Workpoint ฟัง

       นอกจากที่เธอว่าแล้ว ผลกระทบอีกด้านยังมาจากงานที่ต้องทำร่วมกับลูกค้าหรือคู่ค้า ที่เมื่อเขาได้รับผลกระทบโดยตรง โปรเจกต์ต่างๆ ที่วางไว้ร่วมกันก็ต้องเลื่อนออกไปก่อน รวมถึงยังส่งผลสะเทือนกับแผนกลยุทธ์ในปีนี้ที่บันลือกรุ๊ปวางไว้ ก็ต้องเลื่อนออกไปด้วย

       เธอบอกว่า ก่อนที่การระบาดของโควิด-19 จะเข้ามา บันลือกรุ๊ปวางแผนไว้ว่าปีนี้จะเน้นการประสานการทำงานของแต่ละหน่วยธุรกิจในองค์กรมากขึ้น เป็นการรวมพลังแล้วสร้างปรากฏการณ์ที่ยิ่งใหญ่กว่าเดิม นอกจากนี้ยังวางแผนการทำงานให้เป็นระบบมากขึ้นจากการมีหน่วยงานอย่าง แซลมอนแล็บ (Salmon Lab) ที่เป็นดั่งคอนเทนต์เอเจนซี่ของเครือคอยประสานงานให้ลูกค้า

       ขณะที่อีเวนต์ที่วางแผนว่าจะจัดในปีนี้อย่างงานแนะนำองค์กรที่จะเปิดให้คนนอกเข้ามาดูว่าบันลือกรุ๊ปทำอะไรได้บ้าง ก็ต้องพับไปก่อนเช่นกัน

       “ด้วยความที่เราคิดว่าเรามีของดีในองค์กรมาก แต่ยังไม่ได้รวมพลังกันเท่าที่ควร และยังไม่ได้บอกใครว่าเราทำอะไรได้บ้าง อย่างขายหัวเราะ คนอาจรู้ว่าทำการ์ตูนเล่ม แต่จริงๆ เรามีเซอร์วิสที่สามารถไปร่วมกับแบรนด์ต่างๆ ได้ ตัวการ์ตูนของเราสามารถเป็นคอนเทนต์มาร์เก็ตติ้งให้แบรนด์ต่างๆ ได้ แต่พอมีโควิด-19 อีเวนต์ก็ต้องพับไปก่อน เราเองก็ต้องทำแผนงานใหม่ เพราะมันกระทบกับหลายอย่างที่เราวางไว้” พิมพ์พิชา ระบุ ก่อนจะบอกว่า แม้จะต้องเลื่อนแผนงานออกไป แต่ในขณะเดียวกันก็มีการปรับตัวเพื่อให้รับมือกับวิกฤตนี้ให้ได้

 

โอกาสในวิกฤต

       การปรับตัวเพื่อแก้ปัญหาของบันลือกรุ๊ป เริ่มตั้งแต่การหันมาโฟกัสการขายหนังสือผ่านช่องทางออนไลน์ โดยปรับกลยุทธ์การขายไม่ว่าจะเป็นการจัดโปรโมชั่น, การ Live ขายของบนหน้าเพจเฟซบุ๊ก

       นอกจากนี้ยังมีการเกาะเทรนด์เพื่ออยู่เคียงข้างคนอ่านรักษาฐานแฟนๆ อย่างการแจกภาพของขายหัวเราะเพื่อใช้เป็นภาพพื้นหลังเวลาประชุมออนไลน์, การขยายไปแพลตฟอร์มสุดฮิตอย่าง TikTok ทั้งยังประกาศสร้างกลุ่ม TICO เพื่อเป็นช่องทางสื่อสารของนักวาดภาพประกอบและเหล่าคอนเทนต์ครีเอเตอร์ให้ได้มีพื้นที่โปรโมทผลงานตัวเอง

 

 

       แต่ที่ไม่พูดถึงไม่ได้ คือการที่ขายหัวเราะประกาศสนับสนุนหน่วยงานสาธารณสุขต่างๆ ด้วยการวาดการ์ตูนให้ข้อมูลความรู้ หรือ InfoComic ตามแบบฉบับขายหัวเราะในช่วงโควิด-19 โดยไม่คิดค่าใช้จ่าย ซึ่งผลงานที่เผยแพร่ไปแล้วคือการร่วมมือกับหลายองค์กร อาทิ กรมควบคุมโรค, กลุ่มแพทย์ผู้นำยุคใหม่ สถาบันพระปกเกล้า, องค์การอาหารและยา (อย.), กรมอนามัย, กระทรวงวัฒนธรรม, ทันตแพทยสภา, Covid Bot, องค์การอนามัยโลก (WHO) ประเทศไทย เป็นต้น

       พิมพ์พิชา บอกว่า นอกจากคำชมที่ได้รับว่าขายหัวเราะเป็นสถาบันการ์ตูนที่ช่วยสื่อสารเรื่องโควิด-19 แล้ว ผลพลอยได้นอกจากการทำประโยชน์ให้สังคม ยังทำให้คนได้รู้ว่าการ์ตูนของขายหัวเราะไม่ได้เป็นการ์ตูนไร้สาระหรือการ์ตูนตลกเพียงอย่างเดียว แต่ยังสามารถสื่อสารเรื่องยากให้เป็นเรื่องง่ายได้ทุกเรื่อง เพราะฉะนั้น นี่จึงเป็นโอกาสที่จะได้รับความสนใจจากพาร์ทเนอร์ในอนาคต

       ขณะที่ฟากฝั่งแซลมอนเฮ้าส์ ก็เรียกเสียงฮือฮาให้วงการโปรดักชั่นเฮ้าส์ด้วยผลงานมิวสิกวิดีโอ ‘Until We Meet Again’ สุดน่ารักที่ถ่ายทำและตัดต่อกันได้แม้ในยาม work from home ซึ่งทำให้เกิดแรงกระเพื่อมว่า วิกฤติหยุดความคิดเราไม่ได้ เป็นการแสดงศักยภาพให้ลูกค้าเห็นว่าพวกเขาสามารถทำงานได้แม้จะอยู่ในสถานการณ์แบบนี้ก็ตาม ส่งผลให้ได้ลูกค้าใหม่ๆ ทันทีจากงานชิ้นนี้

       “จริงๆ ถ้ามองว่าเป็นวิกฤตมันก็เป็นวิกฤต แต่ถ้ามองว่าเป็นโอกาสมันก็เป็นอีกโอกาสหนึ่งที่ให้เราได้ลองปรับตัว และสำรวจตัวเองว่าเรายังไม่ได้ใช้ทรัพยากรอะไรอีกบ้าง แล้วก็เป็นโอกาสมากกว่าที่ให้คนได้เห็นว่าแม้เราทำแบบเดิมๆ ไม่ได้ แต่เราก็ทำแบบใหม่ๆ ได้” พิมพ์พิชาผู้ที่ปัจจุบันนั่งตำแหน่งกรรมการบริหารของกลุ่มบันลือกรุ๊ปกล่าว

 

 

จักรวาลขายหัวเราะไปอยู่ได้ทุกที่

       ปฏิเสธไม่ได้ว่าสถานการณ์การระบาดของไวรัสโคโรนาทำให้วิถีชีวิต รวมถึงพฤติกรรมหลายอย่างของผู้บริโภคเปลี่ยนไปจนเกิดภาวะ New Normal อย่างเช่น การหันมาซื้อของผ่านช่องทางออนไลน์แทนการไปซื้อที่หน้าร้าน สร้างความท้าทายให้กับวงการหนังสืออีกครั้ง

       “วงการหนังสือเป็นอะไรที่ควรปฏิวัติตัวเองมาเรื่อยๆ อยู่แล้ว ด้วยสภาวการณ์ของตลาด โควิด-19 อาจจะเป็นแค่ปัจจัยที่มาช่วยให้เราหาทางใหม่ได้เจอเร็วขึ้นก็ได้”

       อย่างไรก็ตาม สำหรับบันลือกรุ๊ปแล้ว พิมพ์พิชาบอกว่าเธอยังไม่สามารถประเมินได้แน่ชัดว่าหลังโควิด-19 ผ่านพ้น พฤติกรรมผู้อ่านจะเปลี่ยนไปอย่างไร เพราะขณะนี้ยังมีดีมานด์สั่งซื้อหนังสือเป็นเล่มอยู่ ทั้งขายหัวเราะเองก็มีแฟนอ่านตามหัวเมืองต่างจังหวัดที่ยังชอบหนังสือเป็นเล่ม การปรับตัวเพื่อรับความเปลี่ยนแปลงใหม่จึงอาจต้องรอดูสถานการณ์อีกครั้ง

       “จริงๆ ขายหัวเราะไม่ได้ยึดติดว่าตัวเองเป็นหนังสือ จักรวาลขายหัวเราะไปอยู่ได้ทุกที่ ตราบใดที่เป็นเรื่องของการ์ตูน คาแร็กเตอร์ อารมณ์ขัน และ story telling สี่เรื่องนี้สามารถใช้ได้กับทุกวงการ ไม่ว่าจะเป็นการ์ตูนเพื่อการตลาด, edutainment, การศึกษา หรือว่าอื่นๆ มากมาย” พิมพ์พิชาระบุ ก่อนจะบอกอีกว่า วิสัยทัศน์ของขายหัวเราะคือสามารถไปอยู่กับผู้อ่านได้ทุกที่ ไม่ว่าชีวิตประจำวันของพวกเขาจะเปลี่ยนไปแค่ไหนก็ตาม

       “ถ้าหนังสือไม่มีแล้ว เราก็พร้อมที่จะปรับตัวถ้าพฤติกรรมคนไม่รับหนังสือ”

       พิมพ์พิชา ย้ำชัดว่า การปรับตัวเป็นสิ่งที่บันลือกรุ๊ปทำมาเรื่อยๆ ตั้งแต่ก่อนโควิด-19 ด้วยซ้ำ เพียงแต่โควิด-19 เป็นชนวนสู่การปรับตัวในอีกสนามหนึ่งที่ท้าทายขึ้นกว่าเดิม

       “ของเดิมเราแข่งขันกันในแลนด์สเคปที่เทคโนโลยีเข้ามาทำให้สื่อต้องปรับตัวให้เปลี่ยนแปลงไป แต่พอมีโควิด-19 เหมือนล้มกระดาน เทคโนโลยีก็ต้องแข่ง โควิดก็ต้องดูว่าจะเป็นอย่างไร แต่สิ่งสำคัญคือทุกธุรกิจเขาเจอปัญหานี้เหมือนเรา เพราะฉะนั้นเราจะไม่เอาเรื่องนี้มาทำให้เราท้อหรือทำให้เรารู้สึกไม่สู้ จะเกิดอะไรเราก็ต้องปรับตัวให้ได้ ต้องอยู่ให้ได้ เราจะอยู่เคียงข้างคนอ่านต่อไป นี่คือเป้าหมายของเรา”

 

 

ก้าวเดินต่อไปของ “บันลือกรุ๊ป”

       แม้จะยังไม่อาจคาดการณ์สถานการณ์หลังจากนี้ได้มากนัก แต่พิมพ์พิชาชี้ว่าเป้าหมายและกลยุทธ์ของบันลือกรุ๊ปยังเหมือนเดิม แต่อาจจะมีการปรับวิธีการเพื่อให้รับกับสถานการณ์โควิด-19 มากขึ้น ซึ่งจะต้องพิจารณาจากหลายปัจจัย ไม่ว่าจะเป็น ช่วงเวลาที่เหมาะสม, สภาพเศรษฐกิจ และกำลังซื้อของผู้บริโภค

       “ปีนี้ของเดิมคิดว่าน่าจะเป็นปีที่สนุกของเรา มีโปรเจกต์น่าสนใจเกิดขึ้นมากมายจากที่วางแผนไว้ต้นปี นอกจากสนุกแล้วก็ยังท้าทายด้วย คาดเดาไม่ได้ด้วย เป็นอีกอันหนึ่งที่ต้องดูเหมือนกันว่าจะไปในทิศทางไหนต่อ อาจจะดีกว่าเดิมก็ได้” พิมพ์พิชากล่าว

       เธอทิ้งท้ายว่าเธอยังพยายามมองในแง่ดี เพราะที่แน่ๆ คือโควิด-19 ทำให้ทุกคนได้ลองทำอะไรใหม่ๆ ที่ในสภาวะปกติอาจจะไม่ได้ทำ และอย่างน้อยวิกฤตครั้งนี้ก็เป็นบทเรียนสำคัญที่ถ้าหาก “บันลือกรุ๊ป” ข้ามผ่านไปได้ บริษัทก็จะแข็งแกร่งขึ้น

podcast

LATEST
OUR PICKS
HOT
กำลังโหลดบทความถัดไป...

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า