Advertisement

SHARE

คัดลอกแล้ว

‘ไข่ต้ม’ จาก ‘ภาษาพาที’ หนังสือของนักเรียนชั้น ป.5 ได้กลายมาเป็นประเด็นร้อนขึ้นฟีดโซเชียลมีเดีย และถูกหยิบยกขึ้นมาพูดถึงในสังคมขณะนี้  สำนักข่าว TODAY สรุปเรื่องราวคัดไฮไลต์รวมไว้ดังนี้

เริ่มต้นเรื่อง เมื่อวันที่ 20 เม.ย. 66 เพจเฟซบุ๊ก มาดามแคชเมียร์

ได้โพสต์ภาพหนังสือเรียนภาษาไทย ระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 (ป.5) แสดงความเห็นกับเนื้อหา เรื่องราวของ ‘ใยบัว’ เด็กที่บ้านมีฐานะร่ำรวย ที่มาตัดพ้อกับ ‘ข้าวปุ้น’ เพื่อนรักที่โรงเรียนว่า “อยากตาย” หลังจากพ่อแม่ไม่ยอมเปลี่ยนโทรศัพท์มือถือเครื่องใหม่ให้ เพราะเห็นว่าสิ้นเปลือง

‘ข้าวปุ้น’ ได้ฟังแล้วจึงชวน ‘ใยบัว’ ไปที่บ้านเด็กกำพร้าที่เธออาศัยอยู่ เพื่อให้เพื่อนไปเรียนรู้ชีวิตที่แตกต่าง เผื่อจะเปลี่ยนความคิด และเห็นคุณค่าของชีวิตมากยิ่งขึ้น

ภาพจากเพจเฟซบุ๊ก มาดามแคชเมียร์

เนื้อหาที่เป็นประเด็นวิพากษ์วิจารณ์ เป็นการบรรยายถึงอาหารของคนที่อยู่ในบ้านเด็กกำพร้า ระบุตอนหนึ่งว่า “…เมื่อถึงเวลาอาหารกลางวัน ทุกคนนั่งล้อมวงเป็นวงใหญ่ กับข้าวแบ่งเป็น 2 ชุด จานแรกเป็นผัดผักบุ้ง จานที่ 2 เป็นไข่ต้มผ่าครึ่งตามจำนวนคน โดยแต่ละคนตักผักบุ้งพอรับประทาน และไข่ต้มคนละซีก”

ในเนื้อหาดังกล่าว ยังบอกถึงความในใจของใยบัวที่มองว่ากับข้าวไม่พอกิน  แต่แล้วทางข้าวปุ้น ก็ได้แนะนำให้ใยบัวใช้ช้อนบี้ไข่กับข้าวและเหยาะน้ำปลา เพื่อให้กินข้าวและกับข้าวที่มีอย่างพอดีกัน

เจ้าของโพสต์ ได้แสดงความเห็นว่า “โปรตีนจากไข่ต้มหนึ่งซีก 1.75 กรัม ข้าวคลุกน้ำปลาโซเดียมหนักๆ ผัดผักบุ้งก็มีโซเดียมจากเครื่องปรุงแน่ๆ ความสุขอยู่ที่ใจ พอเพียงน้ำตาจะไหล FYI, เด็กโตวัย 7-14 ปี ต้องการโปรตีนวันละ 1 กรัม ต่อน้ำหนักตัว 1 กก. สมมติว่าเด็กน้ำหนัก 40 กก. ก็ต้องกินโปรตีน 40 กรัมต่อวัน”

[เสียงวิจารณ์ปมโภชนาการ]

หลังโพสต์ดังกล่าวถูกเผยแพร่ออกไปในวงกว้าง มีผู้คนเข้ามาแสดงความเห็นอย่างกว้างขวาง รวมทั้งแสดงออกต่อประเด็นนี้ไปในทิศทาง การกินอาหารของเด็กในเนื้อหานั้นไม่ถูกกับหลักโภชนาการ ทั้งยังตำหนิถึงการกระทำของตัวละครภายในเรื่องว่า สิ่งที่ทำไม่เรียกพอเพียง แต่เรียกอดอยาก เพราะสารอาหารไม่เพียงพอ

ต่อมาวันที่ 21 เม.ย. 66 นพ.จิรรุจน์ ชมเชย กุมารแพทย์เชี่ยวชาญโรคระบบหายใจ กลุ่มงานกุมารเวชกรรม โรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา ได้โพสต์ข้อความระบุว่า “ไข่ครึ่งซีก+ข้าวคลุกน้ำปลาอร่อยที่สุดในโลก” โภชนาการวัยเรียนแบบนี้ได้จริงๆ หรือ สิ่งสำคัญในอาหารที่เด็กควรได้ ไม่ใช่เรื่องของพลังงาน หรือแค่อิ่มท้องอย่างเดียว แต่สิ่งสำคัญนั่น คือ โปรตีนซึ่งส่งผลต่อการเจริญเติบโตของสมอง กล้ามเนื้อ และการทำงานของ เอนไซม์ในระบบต่างๆ ของร่างกาย

ยังมีเรื่องของวิตามิน แร่ธาตุที่สำคัญที่ไม่ควรขาดในเด็กอีก อาหารจึงไม่ใช่เพียงแค่อิ่มท้อง หรือแค่อร่อยปาก แต่อาหารที่เหมาะสม จะช่วยเสริมสร้างการเจริญเติบโต พัฒนาการทางสมอง ระบบภูมิคุ้มกัน ถ้าวิสัยทัศน์มีเพียง แค่ “อิ่มท้อง” “สุขใจ” แต่ไม่มองให้เห็นถึงสารอาหารที่จำเป็นต่อเด็กของเรา นี่คือเรื่องน่ากังวลมากๆ สำหรับ “อนาคตของชาติ” ภายใต้การกำหนดทิศทางการศึกษาจากคนบางกลุ่ม ที่ยังล้าหลัง ของบ้านเราแบบนี้

ขณะที่ วิโรจน์ ลักขณาอดิศร อดีตผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. พรรคก้าวไกล บอกว่า “แทนที่จะคิดจัดสวัสดิการดูแล ให้เด็กๆ ลูกหลานของเราได้รับโภชนาการที่ดี หนังสือเรียนในยุครัฐบาลนี้ กลับเขียนเนื้อหาให้เด็กยอมจำนนต่อโชคชะตา ยอมรับสภาพกับการกิน ข้าวเปล่าคลุกน้ำปลา หรือข้าวคลุกน้ำผัดผักบุ้ง เด็กๆ ต้องการอาหาร รัฐบาลต้องเลิกผลาญซื้ออาวุธ ได้แล้วครับ”

ขณะที่ แพรี่ ไพรวัลย์ วรรณบุตร พิธีกรและอินฟลูเอนเซอร์ บอกว่า “ดิฉันเคยโตมาด้วยการกินไข่ต้ม 1 ลูกแบ่งกัน 3 คน ดิฉันจึงอยากบอกว่า การกินหลากหลายจำเป็นมากค่ะ และการขาดสารอาหารตั้งแต่เด็ก ไม่ใช่เรื่องโรแมนติกเลย จบ”

[รมว.ชัยวุฒิ ปล่อยคลิปกินไข่ต้ม]

ก่อนเที่ยงวันที่ 23 เม.ย. 66 ประเด็น ‘ไข่ต้ม’ ร้อนแรงขึ้นทันที เมื่อเพจเฟซบุ๊กของ ชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ในรัฐบาลรักษาการ ซึ่งเป็นรองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ เผยคลิปวิดีโอ นายชัยวุฒิกับลูกชายกินไข่ต้ม บรรยายคลิปว่า “ไข่ต้ม ลูกชาย ชอบกิน อร่อย ดี มีประโยชน์ ครับ” พร้อมติดแฮชแท็ก “#ชัยวุฒิ #ธนาคมานุสรณ์ #พลังประชารัฐ #วีถีพ่อ #Saveไข่ต้ม #ไข่ต้ม #ไข่ต้มเป็นอาหารที่ไม่มีชนชั้น”

[สพฐ. ขออย่าเป็นดราม่า ชี้เรื่องโภชนาการ มีสอนในวิชาอื่น]

ทางด้าน นายอัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาธิการ กพฐ.) สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ให้สัมภาษณ์ในวันนี้ (24 เม.ย. 66) ถึงกระแสวิพากษ์วิจารณ์ เนื้อหาในหนังสือดังกล่าว ที่สังคมตั้งคำถามถึงโภชนาการของเด็กและการมองโลกอย่างโรแมนติกมากเกินไปหรือไม่

โดยนายอัมพร ระบุว่า เรื่องดังกล่าวต้องดูที่เจตนารมณ์ของการจัดการเรียนรู้ว่า เรามีเป้าหมายให้บทเรียนแต่ละบทเรียนสอนเรื่องอะไร โดยกระบวนการเรียนรู้ มีขั้นตอนให้เด็กได้เกิดการเรียนรู้และสื่อประกอบการจัดการเรียนรู้ ประเด็นดังกล่าวที่เกิดขึ้นเป็นสื่อประเภทหนึ่งที่ใช้ประกอบการจัดการเรียนรู้เท่านั้น ไม่ใช่เป็นหนังสือเรียน โดยบทเรียนดังกล่าว เราต้องการให้เด็กนำภาษาไปใช้และการแสดงออกถึงความรู้สึกนึกคิดและเห็นคุณค่าของความสุขผ่านบทวรรณกรรม

ดังนั้นคนเขียนจึงออกแบบด้วยการกำหนดตัวละครขึ้นในชีวิตจริงมีทั้งคนจนและคนรวย และคนที่เลือกเกิดไม่ได้ ซึ่งเป็นบทบาทสมมุติของครอบครัวที่ร่ำรวยอยู่สุขสบาย แต่หาความสุขไม่เจอ แต่อีกครอบครัวที่ยากลำบากมีไข่ชิ้นเดียวแบ่งปันกันด้วยความสุข ซึ่งไข่ต้มในบทวรรณกรรมนั้น ไม่พูดถึงโภชนาการ แต่เล่าถึงความสุขง่ายๆ จากการแบ่งปัน

ทั้งนี้ไม่อยากให้มีเรื่องดราม่าเกิดขึ้น เพราะการเรียนรู้เรื่องหลักโภชนาการของนักเรียน ที่เด็กต้องเรียนรู้มีอยู่ในหลักสูตรวิชาสังคมศึกษา หมวดสุขศึกษาอยู่แล้ว อีกทั้งการจัดทำอาหารกลางวันในกลุ่มเด็กประถมศึกษาทุกคน จะต้องได้รับโภชนาการที่ครบ 5 หมู่ จากการทำแผนผัง School lunch

ย้ำบทเรียนดังกล่าวเป็นการเปรียบเทียบให้เด็กวิเคราะห์ว่า ความสุขที่แท้จริงอยู่ตรงไหนมากกว่า ดังนั้น สพฐ. ไม่กังวลว่า ดราม่าที่เกิดขึ้นจะเบี่ยงประเด็นไปในรูปแบบไหน เพราะสพฐ. อยู่ภาคการศึกษา ซึ่งเรายินดีที่จะรับฟัง เนื่องจากทุกความคิดมีประโยชน์และทุกคนมีวิจารณญาณในการวิเคราะห์

อีกทั้งการจัดทำหนังสือหนึ่งเล่มเราไม่ได้ทำคนเดียว ต้องผ่านกระบวนการการตั้งคณะกรรมการและการตรวจสอบจากนักวิชาการ

“เข้าใจดีว่า เมื่อเวลาผ่านไป สถานการณ์ผ่านไป อาจจะต้องปรับเนื้อหาหนังสือให้มีความทันสมัยมากขึ้น อย่างไรก็ตาม สพฐ. เปิดโอกาสให้สำนักพิมพ์เสนอขอปรับปรุงสื่อการสอนของตัวเองมาได้ ซึ่งสื่อที่ผลิตใหม่นำเสนอใหม่ ถ้ามีหลักสูตรใหม่เกิดขึ้นมา หลักสูตรเก่าก็ต้องไม่มีการใช้สอนอยู่แล้ว” เลขาธิการ กพฐ. ระบุ

[ผู้เชี่ยวชาญเด็ก จี้ตัด-แก้ไขเนื้อหา]

รศ.นพ.สุริยเดว ทรีปาตี ผู้อำนวยการศูนย์คุณธรรม (องค์การมหาชน) และกุมารแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านเด็กและวัยรุ่น อธิบายผ่าน บันทึกหมอเดว ได้ออกมาพูดถึงเรื่องนี้ โดยกรณีความเหลื่อมล้ำ ที่มีครอบครัวร่ำรวย สอนลูกไม่เป็น ไม่ซื้อโทรศัพท์ รุ่นใหม่ให้ลูก (ในตำรา) จนเด็กสะท้อน บ่นอยากตาย

นพ.สุริยเดว ระบุว่า ความจริงถ้าหากแก้ไขได้ อยากให้ตัดประเด็นบ่นอยากตายออกไป แม้อาจจะบอกว่าชีวิตจริงก็อาจจะมีให้พบเห็นได้ แต่นี่คือตำราเรียนมาตรฐาน ชั้น ป.5 ที่กระทรวงรับรองเพื่อใช้ทั่วไป (ความพยายามอยากตาย Suicidal idea จากภาวะซึมเศร้าจะพบในเด็กวัยรุ่น ส่วนใหญ่ ระดับมัธยม) แต่ในวัยเรียนมักเกิดจากภาวะน้อยใจ พูดประชด เลียนแบบ เด็กบางคนเลียนแบบไปทำจริง

ฉะนั้น การที่ตำราสะท้อนคำนี้ ออกมาในช่วงวัยแบบนี้ ที่ยังไม่เข้าใจเรื่อง death perception ที่ดีพอ อาจเกิดความเข้าใจผิดต่อเด็กกันเองได้  ยังไม่นับกรณีที่ หากช่วยให้เด็กเข้าใจ sense of property ผ่านตำราบทนี้จะดีมาก กล่าวคือ โทรศัพท์ที่พ่อแม่ซื้อมาให้ลูกนั้น เป็นของพ่อแม่ ไม่ใช่ของลูก เพียงแต่ พ่อแม่ให้ยืมใช้ แต่ทุกวันนี้ผู้ใหญ่ยังเข้าใจคลาดเคลื่อน เหมือนซื้อยกให้ลูกเลย จึงทำให้เด็กเกิดวัตถุนิยมเกิดขึ้นเต็มไปหมด

กรณีไข่ต้มกับภาวะโภชนาการ ที่อาจทำให้ทั้งเด็กและผู้ใหญ่เข้าใจผิด เรื่องสภาวะโภชนาการ กุมารแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านเด็กและวัยรุ่น มีความเห็นว่า หากจะยกตัวอย่างบ้านกำพร้า อย่าสร้างประเด็นซ้อนประเด็น ให้เป็นโภชนาการที่ครบหมู่ สไตล์บ้านๆ ที่สะท้อนเรียบง่ายแต่มีความสุข แบ่งปันกัน ก็พอแล้ว ไม่ควรสร้างประเด็นซ้อนเพิ่ม ให้สับสนว่า กินแบบนี้ก็ได้ในตำรา กินแค่ไข่ต้มน้ำปลา น้ำผัก แล้วก็มีความสุข  (โปรดเข้าใจด้วยว่า หากแม้ในสังคมผู้ใหญ่ยังสามารถตีความได้สับสน จะนับประสาอะไรกับเด็กที่เรียนตำรา) สู้ทำ story กินครบหมู่ แต่แบ่งปันกันมีความสุข จะดีกว่า

นพ.สุริยเดว ยังระบุถึง กรณีความเข้าใจผิดกับการดำเนินชีวิตอย่างพอเพียงว่า “ในฐานะที่ทำงาน ศูนย์คุณธรรม อยากทำความเข้าใจ ปรัชญาพอเพียงนะครับ ว่า พอเพียง มิใช่หมายถึง การสะท้อนให้เห็นความยากจนทนกัดก้อนกินเกลือ อย่างมีความสุข  หรือ หมายถึงการมีน้อยๆ ใช้น้อยๆ หากแต่ปรัชญาพอเพียงนั้น สะท้อนให้ทุกคนทุกชีวิต ต่อให้ร่ำรวย ยากจน จะเป็นเด็กหรือ ผู้ใหญ่ในเมือง ชนบทล้วน ต้องมีความพอประมาณ มีเหตุผล มีภูมิคุ้มกัน บนเงื่อนไขความดี และใช้ปัญญา ฉะนั้นการดราม่าโชว์ การกินไข่ต้ม สะท้อนตนเองว่า กำลังใช้ชีวิตอย่างพอเพียงนั้น จึงเป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน”

“ฝากถึงกระทรวงศึกษาธิการ หากตำราลักษณะนี้ออกมา ท่านต้องเตรียมความพร้อมครูให้เล่นบทกระบวนกร เพื่อเปิดโอกาสให้เด็ก ผู้เรียน สะท้อนความรู้สึก สะท้อนความคิดเห็น สะท้อนการแก้ปัญหา เวลาเด็กเผชิญเหตุ หากให้อ่านและเข้าใจเอาเอง ไม่แบ่งกลุ่มเล็ก บนสามคำถามที่หมอตั้งข้อสังเกต (รู้สึกอย่างไร คิดเห็นอย่างไร แก้ปัญหาอย่างไร) เท่ากับว่าท่านกำลังสอนและให้เด็กเข้าใจคลาดเคลื่อน ปฏิบัติคลาดเคลื่อน ยิ่งมีคำว่า บ่นอยากตาย อาจก่อให้เกิดการเลียนแบบขึ้นมา จึงขอฝาก สพฐ. เตรียมกระบวนการเรียนการสอนให้มีคุณภาพคู่ขนานกันไปด้วย” กุมารแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านเด็กและวัยรุ่น ทิ้งท้าย

 

กระแสเรื่องนี้ยังร้อนแรงต่อเนื่อง มีภาพการ์ตูนล้อเลียนในเชิงเปรียบเทียบ ‘ไข่ต้ม’ ได้กลายเป็น ‘คอสเพลย์คนจน’ ไปแล้ว อินฟลูเอนเซอร์ หลากหลายวงการออกมาแสดงความเห็น ทั้งแตกประเด็นไปถึงเนื้อหาอื่นๆ ในหนังสือ ‘ภาษาพาที’ ที่มองเห็นความไม่สมเหตุสมผลอีกมากมายด้วย

กรมอนามัย ยัน ‘ไข่ต้มคลุกน้ำปลา’ สารอาหารไม่พอกับเด็กวัยเรียน

podcast

LATEST
OUR PICKS
HOT
กำลังโหลดบทความถัดไป...

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า