ใครได้-ใครเสีย จากคาร์บอนเครดิตป่าชุมชนแบบ REDD+
ความเดิมตอนที่แล้ว งาน “ล่า หา ‘คาร์บอนเครดิตเกิน’ ส่องป่าหาคาร์บอนเครดิต ลดโลกร้อนจริงหรือเป็นแค่เครดิต ล้นเกิน” ฉายภาพให้เห็นถึงการเติบโตของตลาดคาร์บอนเครดิตจากโครงการประเภทป่าไม้และพื้นที่สีเขียวในประเทศไทยที่เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ทั้งยังเป็นความหวังในการเร่งลดก๊าซเรือนกระจก ชะลอวิกฤติสภาพภูมิอากาศ
แต่ทว่าเงื่อนไขของโครงการคาร์บอนเครดิตประเภทป่าไม้และพื้นที่สีเขียวในประเทศไทย โดยเฉพาะโครงการประเภทป้องกันการทำลายป่า หรือที่รู้จักกันในนาม REDD+ ซึ่งมุ่งเน้นอนุรักษ์ป่าที่มีอยู่แล้วไม่ให้ถูกทำลายหรือเสื่อมโทรมลง เพื่อรักษาความสามารถในการเก็บกักคาร์บอนเอาไว้ อาจเสี่ยงต่อการเกิด ‘คาร์บอนเกิน’ การคิดคาร์บอนเครดิตเกินจริงจากการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เกิดขึ้น ข้อมูล ณ วันที่ 20 ก.พ. 67 ชี้ให้เห็นว่า โครงการชดเชยคาร์บอนภาคป่าไม้แบบ REDD+ จำนวน 19 จากทั้งหมด 24 โครงการ เป็นโครงการในพื้นที่ป่าชุมชนหรือป่าสงวนของรัฐ ซึ่งมี พ.ร.บ.ป่าชุมชน พ.ศ.2562 หรือ พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507 คุ้มครองไม่ให้เกิดการทำลายและส่งเสริมให้มีกลไกการอนุรักษ์อยู่แล้ว
โครงการเหล่านี้ยังเป็นโครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจ ตามมาตรฐานของประเทศไทย (Standard T-VER) และเป็น “โครงการที่ไม่ต้องพิสูจน์ส่วนเพิ่มเติม (Positive List) หรือมีการดำเนินงานเพิ่มเติมจากการดำเนินงานตามปกติ (Additionality)” ตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดใน ตาม แนวทางการพัฒนาโครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจตามมาตรฐานของประเทศไทย (Standard T-VER) (ฉบับที่ 4.0) กล่าวคือไม่จำเป็นต้องชี้แจงว่าโครงการคาร์บอนเครดิตป่าชุมชนที่มีป่าไม้เดิมอยู่แล้ว ช่วยดูดซับคาร์บอน “เพิ่มขึ้น” กว่ากรณีไม่มีตลาดคาร์บอนเครดิตอย่างไร
ท่ามกลางข้อสงสัยและความไม่ชัดเจนที่เกิดขึ้น ภาครัฐยังคงผลักดันโครงการคาร์บอนเครดิตป่าชุมชน เพื่อลดโลกร้อน สร้างรายได้ และเพิ่มงบประมาณในการดูแลป่าให้กับป่าชุมชนทั่วทุกพื้นที่ของประเทศ ขณะที่เอกชนสนใจร่วมมือกับชาวบ้านลงทุนโครงการคาร์บอนเครดิตป่าชุมชนในฐานะเครื่องมือที่จะช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและบรรลุเป้าหมายเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality)
ผืนป่าชุมชนในประเทศไทยอยู่ภายใต้การดูแลของสํานักจัดการทรัพยากรป่าไม้ กรมป่าไม้ เมื่อชุมชนสนใจเข้าร่วมโครงการคาร์บอนเครดิตป่าชุมชน ในทางกฎหมายจึงจำเป็นต้องขอความเห็นชอบในการเข้าร่วมโครงการกับทางกรมป่าไม้ก่อนการขอขึ้นทะเบียนโครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจตามมาตรฐานของประเทศไทย (T-VER)
อีกทั้งยังต้องทำตาม ระเบียบกรมป่าไม้ว่าด้วยการแบ่งปันคาร์บอนเครดิตจากการปลูก อนุรักษ์ และฟื้นฟูป่าในพื้นที่ป่าไม้ พ.ศ. 2564 ที่ระบุให้กรมป่าไม้เป็น เจ้าของโครงการ ซึ่งหมายถึง เจ้าของกรรมสิทธิ์ในคาร์บอนเครดิต 'กรมป่าไม้' ในฐานะเจ้าของโครงการสามารถทำสัญญาตกลงแบ่งปันคาร์บอนเครดิตกับ ผู้พัฒนาโครงการ ได้ และอาจมีคณะกรรมการป่าชุมชนแต่ละแห่งเป็นเจ้าของโครงการร่วมได้โดยมีสิทธิ์ในคาร์บอนเครดิต นอกจากนี้ตามระเบียบฯ ยังระบุว่าผู้ที่จะเข้าร่วมโครงการ ไม่ว่าจะเป็นผู้พัฒนาโครงการหรือเจ้าของโครงการร่วมต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจากการพัฒนาโครงการ T-VER ทั้งหมด
กรณีสมมุติพื้นที่โครงการ 1,000 ไร่ โดยมีระยะเวลาดำเนินโครงการ 10 ปี (ตามเงื่อนไขของ T-VER ประเภทป่าไม้) และขึ้นขอรับรองคาร์บอนเครดิต 3 ครั้งตลอดโครงการ
หมายเหตุ
“จริงๆ มันมีหลายชุมชนที่เขาเคยวางแปลงไปแล้ว แต่เขามาติดอุปสรรคตอนที่จะทวนสอบนี่แหละ เพราะราคาค่อนข้างสูง”
วิชัย เป็งเรือน
ประธานคณะกรรมการป่าชุมชนบ้านต้นผึ้ง และประธานเครือข่ายป่าชุมชนตำบลแม่โป่ง จังหวัดเชียงใหม่
ความซับซ้อนของการจัดทำเอกสาร และ ต้นทุนการค้าป่าคาร์บอนที่เป็นจำนวนเงินหลักแสนถึงหลักล้าน อาจเป็นปราการด่านสำคัญที่ทำให้ชุมชนจำนวนมากไม่สามารถรับผิดชอบค่าใช้จ่ายได้ด้วยตัวเอง ชุมชนที่ต้องการพัฒนาโครงการคาร์บอนเครดิตจึงต้องการแรงสนับสนุน ทั้งการเงินและการดำเนินการ
ได้แก่
ภาพอุปกรณ์การลงพื้นที่สำรวจป่า และทวนสอบ
ภายใต้โครงการนี้ มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ ทำหน้าที่เป็นตัวกลางในการระดมทุน ประสานให้ความช่วยเหลือเรื่องการจัดทำเอกสาร และดำเนินการเชิงเทคนิคในบางขั้นตอน เช่น การวางแปลงตัวอย่าง และการดำเนินการขึ้นทะเบียนโครงการ ชุมชนจะได้รับการสนับสนุนค่าธรรมเนียมที่เกี่ยวข้องกับโครงการ T-VER ทำให้ชาวบ้านไม่จำเป็นต้องควักเงินตัวเองในการลงทุน โดยจัดสรรเป็นเงินกองทุนชุมชนสนับสนุนชุมชน 300 บาท/ไร่/ปี ในระยะเวลา 3 ปีแรก เงินทุนนี้สามารถนำไปใช้ทั้งประโยชน์ด้านการดูแลป่าและการพัฒนาอาชีพ ซึ่งเดิมทีแต่ละชุมชนไม่ได้รับงบประมาณในการดูแลป่าโดยเฉพาะจากรัฐ แต่อาจได้รับงบประมาณตามโครงการที่กรมป่าไม้จัดตั้งขึ้นเป็นกรณีไป เช่น โครงการเกี่ยวกับไฟป่า 50,000 บาท/ปี หรือได้เงินรางวัลจากการประกวดป่าชุมชน เป็นต้น
ปัจจุบันมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ จึงทำหน้าที่เป็นเสมือนจุดเชื่อมต่อระหว่างภาคเอกชนที่ต้องการบรรลุเป้าหมายการลดปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์ด้วยการซื้อคาร์บอนเครดิต กับชุมชนที่ต้องการงบประมาณในการทำนุบำรุงและพื้นฟูป่าไม้ รวมทั้งต้องการรายได้เข้ามาหล่อเลี้ยงชุมชน
โครงการการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการทำลายป่าและความเสื่อมโทรมของป่าและการเพิ่มพูนการกักเก็บคาร์บอนในพื้นที่ป่าในระดับโครงการ P-REDD+ ที่ขึ้นทะเบียน T-VER Standard โดย อบก. ณ วันที่ 27 ก.พ. 67 มีทั้งหมด 24 โครงการ โดยมี 19 โครงการที่พัฒนาและดำเนินการร่วมกันระหว่างกรมป่าไม้ มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ และชุมชน
โครงการลด ดูดซับ และกักเก็บก๊าซเรือนกระจกป่าไม้และพื้นที่สีเขียว (FOR)
ที่ มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ร่วมพัฒนาโครงการกับกรมป่าไม้และป่าชุมชน 19 โครงการ
กดสำรวจรายละเอียดโครงการ
ที่มาข้อมูล: อบก.
“ถ้าชุมชนดูแลพื้นที่ป่าได้ดี เอกชนก็สามารถนำคาร์บอนเครดิต (Carbon credits) มาใช้ Offsets หรือในการ Net-zero pathways ได้ เราก็กำลังหาวิธีการในการที่จะทำให้เราสามารถที่จะสเกลธุรกิจไปได้เร็ว เพราะเราก็เห็นว่าปัจจัยเรื่องเกี่ยวกับการอนุรักษ์ธรรมชาติเป็นสิ่งที่ต้องเร่ง ต้องเดินให้เร็ว แล้วก็ต้องมั่นใจว่าเมื่อเราเดินไปแล้วก็ต้องเดินได้อย่างถูกต้อง ตามกฎตามเกณฑ์กติกาต่างๆ แล้วก็ไม่ไปล้ำหน้าวิทยาศาสตร์ที่มีอยู่ และไม่เกิดประเด็น Greenwashing พยายามที่จะแสดงให้เห็นเลยว่าถ้าชุมชนได้รับโอกาส ธรรมชาติก็จะได้รับการดูแล”
“หลักการทำคาร์บอนเครดิตของเรา เราจะไม่ตัดต้นไม้ก่อนแล้วค่อยปลูก แบบนั้นไม่ใช่วิธีการของเรา เพราะมันจะทำให้ขาดความหลากหลายทางชีวภาพ ตรงนี้เป็นเรื่องสำคัญ”
ภายใต้ “โครงการจัดการคาร์บอนเครดิตในป่าเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน” เอกชนจะร่วมลงทุนสนับสนุนชุมชนผ่านมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ เป็นเงิน 2,500 บาท/ไร่ ในช่วงระยะเวลา 6 ปีแรกของการดำเนินโครงการ โดยจะต้องมีการประเมินพื้นที่จริงก่อน เงินดังกล่าวจะถูกจัดสรรให้ชุมชนนำไปใช้ประโยชน์เป็นสองส่วน คือ “กองทุนชุมชน” และ “งบสนับสนุนการทำระบบและขึ้นทะเบียนป่าชุมชน”
จากเอกชนไปยังชุมชน
แนวทางการจัดสรรงบประมาณของมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ
มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง
จัดสรรงบสนับสนุนการทำระบบ และขึ้นทะเบียน โครงการ T-VER จำนวนรวม 700 บาท/ไร่ สำหรับระยะเวลา 6 ปี
ชุมชน
หมายเหตุ:
หมายเหตุ:
กรณีสมมุติพื้นที่โครงการ 1,000 ไร่ โดยมีระยะเวลาดำเนินโครงการ 10 ปี (ตามเงื่อนไขของ T-VER ประเภทป่าไม้) และขึ้นขอรับรองคาร์บอนเครดิต 3 ครั้งตลอดโครงการ
หมายเหตุ
คำถามสำคัญที่ตามคือเมื่อได้คาร์บอนเครดิตจากการดำเนินโครงการมาแล้ว คาร์บอนเครดิตเหล่านั้นจะถูกแบ่งให้กับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียแต่ฝ่ายไม่ว่าจะเป็น ชุมชน เอกชน มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ และภาครัฐอย่างไร? ในสัดส่วนเท่าไหร่? แบบไหนที่เรียกว่าเป็นธรรม?
แน่นอนว่าแรงจูงใจสำคัญประการหนึ่งที่ผลักดันให้เอกชนเข้าร่วมสนับสนุนโครงการในลักษณะนี้ คือ การได้รับ “คาร์บอนเครดิต” เพื่อใช้ในการชดเชยการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในการดำเนินธุรกิจของตนเอง ตามเป้าหมาย Carbon Neutrality หรือ Net Zero Emissions ในระดับองค์กร ที่เป็นกระแสกดดันให้ภาคเอกชนรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ในขณะที่ชุมชนเองก็ต้องการรายได้เพื่อสนับสนุนการดูแลป่าและการพัฒนาความเป็นอยู่ในพื้นที่ ตอบแทนการลงแรงรักษาดูแลป่าเช่นกัน
ว่ากันตามเงื่อนไขของภาครัฐ การแบ่งสรรปันส่วนคาร์บอนเครดิตจากโครงการป่าไม้ในพื้นที่ป่าของรัฐไม่สามารถทำได้ตามอำเภอใจ แต่มีการกำหนดกรอบแนวทางเอาไว้ตามระเบียบของหน่วยงานที่ได้ชื่อว่าเป็น “เจ้าของป่า” ไม่ว่าจะเป็น กรมป่าไม้ กรมอุทยานแห่งชาติ และกรมทรัพยากรทางทะเลและสิ่งแวดล้อม โดยเงื่อนไขจะแตกต่างกันไปขึ้นกับประเภทของป่า เช่น เป็นป่าอนุรักษ์ หรือป่าชายเลน และตามประเภทโครงการ โดยแบ่งเป็น 2 ประเภทใหญ่คือ โครงการปลูกและบำรุงป่า และโครงการการอนุรักษ์ ฟื้นฟูและจัดการป่าชุมชน
แนวทางการแบ่งปันคาร์บอนเครดิตตามระเบียบเงื่อนไขต่างๆ
สำหรับโครงการการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการทำลายป่าและความเสื่อมโทรมของป่าและการเพิ่มพูนการกักเก็บคาร์บอนในพื้นที่ป่าในระดับโครงการ P-REDD+ หรือโครงการคาร์บอนเครดิตป่าชุมชนที่เรากำลังพูดถึงกันนี้ มีเงื่อนไขแบ่งผลประโยชน์ตาม ระเบียบคณะกรรมการนโยบายป่าชุมชน ว่าด้วยการปกครอง ดูแลบำรุงรักษา ใช้ประโยชน์จากไม้ และใช้ประโยชน์ในพื้นที่ป่าชุมชน พ.ศ. 2566 โดยกำหนดสัดส่วนการแบ่งปันคาร์บอนเครดิต ให้คณะกรรมการจัดการป่าชุมชนร้อยละ 40 ให้ผู้ยื่นคำขอร้อยละ 50 และให้กรมป่าไม้ ร้อยละ 10
อย่างไรก็ตามในกรณี “โครงการจัดการคาร์บอนเครดิตในป่าเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน” ที่ดำเนินการโดยมีมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ เป็นผู้พัฒนาโครงการร่วมในฐานะที่ปรึกษาของชุมชนนั้น จากการสอบถามไปยังสำนักจัดการป่าชุมชน กรมป่าไม้ ถึงแนวทางการแบ่งคาร์บอนเครดิต วันที่ 17 เม.ย. 67 พบว่าป่าชุมชนที่ดำเนินโครงการระยะที่ 1-2 พ.ศ. 2563-2564 จะแบ่งสัดส่วนในลักษณะให้คณะกรรมการจัดการป่าชุมชนชนร้อยละ 90 และให้กรมป่าไม้ร้อยละ 10 ซึ่งสอดคล้องกับระเบียบคณะกรรมการนโยบายป่าชุมชนฯ พ.ศ.2566 ข้อ 48 ที่ระบุว่า “ผู้พัฒนาโครงการร่วมจะไม่ได้รับสิทธิในการขอแบ่งปันคาร์บอนเครดิตตามระเบียบนี้” แต่โครงการระยะถัดมาจะแบ่งสัดส่วนตามมาตรา 18 ให้คณะกรรมการจัดการป่าชุมชนร้อยละ 40 ให้มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ ร้อยละ 50 และให้กรมป่าไม้ ร้อยละ 10
โครงการคาร์บอนเครดิตป่าชุมชนแบบ REDD+ ดึงดูดให้ภาคเอกชนเข้ามาสนับสนุน และสร้างแรงจูงใจให้ชาวบ้านในชุมชนดูแลและหวงแหนป่าชุมชนมากขึ้นจากเงินสนับสนุนที่ได้รับจากมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ แต่ในมุมมองของชาวบ้านพวกเค้าได้ “ผลประโยชน์” แค่ไหนจากโครงการลักษณะนี้
วิชัย เป็งเรือน
ประธานคณะกรรมการป่าชุมชนบ้านต้นผึ้ง และประธานเครือข่ายป่าชุมชนตำบลแม่โป่ง จังหวัดเชียงใหม่
วิชัย เป็งเรือน ได้บอกเล่าที่มาที่ไป กระบวนการ และงบประมาณที่ได้รับ เป็นตัวอย่างหนึ่งของความเห็นจากชุมชน เอาไว้ว่า
“ปี 2564 เราได้รับการติดต่อจากศูนย์ส่งเสริมวนศาสตร์ชุมชนที่ 1 เชียงใหม่และสำนักงานจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 1 เชียงใหม่ว่าจะมีมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ มาดำเนินการในโครงการชื่อว่าโครงการคุณดูแลป่า เราดูแลคุณ มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงก็มาประเมินชุมชน ประเมินผู้นำหมู่บ้านประเมินชาวบ้านว่าสนใจอยากเข้าร่วมไหม”
“ที่ชุมชนเราได้รับ หนึ่ง งบประมาณ เขาจะให้เงินมาตามจำนวนไร่ที่เรามีต่อปี และให้ชุมชนผ่านกระบวนการประชาคมหมู่บ้าน ร้อยละ 70 ขึ้นกับว่าเงินที่มีอยู่จะแยกออกเป็นสองกองทุนอย่างไร กองทุนดูแลป่าชุมชนใช้ดูแลรักษาป่า อีกกองทุนนึงคือกองทุนพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืน เพื่อที่ชาวบ้านจะสามารถพัฒนาต่อยอดกิจกรรมอาชีพ หรือจะพัฒนาชุมชน ให้เกิดความเข้มแข็ง แล้วแต่หมู่บ้านจะทำอะไร ซึ่งในส่วนของบ้านต้นผึ้งเราเอง เราเอามาทำโครงการจานใบไม้จากใบตองตึงจากวิสาหกิจชุมชนบ้านต้นผึ้ง
สอง ความจริงใจ ที่ทางโครงการได้มีให้กับชุมชน ชุมชนกระตือรือร้นดูแลรักษาป่ามากขึ้น เราดูแลป่ามาตลอด ไม่เคยหวังว่าเราจะมีคาร์บอนเครดิตมีอะไร แต่เรากลับได้ รับเงินทุนที่สามารถที่จะให้เรามีกำลังที่จะให้เราทำกิจกรรมที่เราอยากทำกับป่าชุมชนของเรา”
อย่างไรก็ตามเมื่อสอบถามประโยชน์เชิงรูปธรรมจากการจัดสรรแบ่งคาร์บอนเครดิตที่เกิดขึ้นจากโครงการ กลับพบความไม่มั่นใจและความเข้าใจที่ไม่ชัดเจน ชุมชนไม่ได้เห็นสัญญาการดำเนินโครงการและรายละเอียดอย่างเป็นลายลักษณ์อักษรก่อนเริ่มโครงการ ทำให้ไม่ทราบที่แน่ชัดเรื่องการจัดสรรงบประมาณสนับสนุน และการแบ่งปันคาร์บอนเครดิตจากโครงการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงระยะเวลาการดำเนินการปีที่ 4-6 ที่ยังขาดความชัดเจนจากมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ เอง
“มูลค่าคาร์บอนเครดิตต่อ tCO2eq 1,800 บาท ตอนนี้เราได้รับมา 3 ปีแล้ว ปีละ 300 บาท ก็เท่ากับ 900 บาท อีก 900 บาทก็คือไปลุ้นเอาว่าการรับรองคาร์บอนเครดิตของเราจะได้เท่าไหร่แล้วก็น่าจะเอาไปคูณ 900 ตรงนี้ในตามที่ชุมชนเข้าใจนะครับ ปีที่ 4 ทางเราจะต้องประชุมสรุปกับแม่ฟ้าหลวงอีกทีนึง”
เป็นที่น่าตั้งคำถามว่าความไม่ชัดเจนและการได้รับข้อมูลที่ไม่ครบถ้วนนี้ ส่งผลต่ออำนาจต่อรองของชุมชนในการปกป้องประโยชน์ของตนเองมากน้อยแค่ไหน? และผลประโยชน์ที่ได้รับนี้คุ้มค่ากับการลงแรงของชุมชนในการดูแลรักษาป่าชุมชนเพียงใด?
คำถามเหล่านี้คือการทบทวน “คุณภาพของคาร์บอนเครดิต” เพื่อนำไปสู่การแก้ปัญหาโลกร้อนอย่างแท้จริง ซึ่งคาร์บอนเครดิตที่มีคุณภาพนั้นนอกจากจะเป็นคาร์บอนเครดิตที่เกิดจากการลดก๊าซเรือนกระจกอย่างมีนัยสำคัญแล้วยังต้องสร้างผลกระทบทางลบต่อสังคมน้อยที่สุด และที่สำคัญต้องเป็นธรรมกับชุมชนซึ่งเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียหลักของโครงการ เพื่อไม่ให้โครงการลักษณะนี้เป็นเพียง “การฟอกเขียว” ที่เอื้อประโยชน์ให้ผู้ก่อมลพิษที่ได้รับประโยชน์จากการซื้อคาร์บอนเครดิตมาชดเชยเท่านั้น
ท่ามกลางฝุ่นควันพร่าเลือนที่ยังไม่มีใครมองเห็นปลายทางของการแบ่ง “ผลประโยชน์” จากโครงการป่าชุมชนคาร์บอนเครดิตอย่างชัดเจน โครงการชดเชยคาร์บอนภาคป่าไม้แบบ REDD+ หลายโครงการกำลังอยู่ในระยะเริ่มต้นเท่านั้น ในปัจจุบันมีเพียงโครงการป่าชุมชนบ้านโค้งตาบาง จังหวัดเพชรบุรี ขึ้นทะเบียนรับรองคาร์บอนเครดิตแล้ว โดยมีปริมาณคาร์บอนที่ได้รับการรับรองทั้งสิ้น 5,259 (tCO2eq) คิดเป็นมูลค่าประมาณการ 2,629,500* บาท โครงการดังกล่าวมีกรมป่าไม้เป็นทั้งเจ้าของโครงการและผู้พัฒนาโครงการ และยังไม่ได้มีการซื้อขายคาร์บอนผ่านตลาดแต่อย่างใด
กฤษฎา บุญชัย
เลขาธิการสถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา
กฤษฎา บุญชัย ฉายภาพให้เห็นว่า การที่ภาคอุตสาหกรรมฟอสซิลถูกกดดันให้ต้องเร่งลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซต์โดยด่วน ส่งผลให้ตลาดคาร์บอนเครดิตเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว เป็นเสมือนการติดกระดุมผิดตั้งแต่เม็ดแรก ด้วยการเปิดช่องให้เอกชนสามารถปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้เช่นเดิม โดยซื้อคาร์บอนเครดิตมาชดเชยแทนการลดมลพิษด้วยตัวเองได้
“เอกชนสนใจสนับสนุนโครงการคาร์บอนเครดิตชุมชน ร่วมมือกับชุมชน ดูจะวินวินได้ประโยชน์กันทั้งคู่ แต่องค์กรต่างๆ เคยบอกชาวบ้านไหมว่าคนซื้อซื้อไปทำอะไร ผมว่าประเด็นนี้ตอบกันอย่างคลุมเครือเสมอ คุณต้องบอกให้ชัดเลยว่าเขาจะมาซื้อสิทธิที่จะปล่อยคาร์บอน คุณดูแลป่าไป ฟื้นฟูให้เต็มที่แล้วเขาจะให้ตังค์คุณเพื่อซื้อสิทธิเหล่านั้นไปให้เขาปล่อยคาร์บอน แล้วแบบนี้โลกมันจะไม่ร้อนขึ้นหรือ เราจะไม่เป็นนั่งร้านให้กับอุตสาหกรรมฟอสซิลและอุตสาหกรรมต่างๆ สร้างปัญหามลภาวะต่อไปหรือ ซึ่งอันนี้ผมคิดว่าอบก. หรือภาคส่วนต่างๆ ก็ไม่เคยบอกชาวบ้านแบบนี้ บอกอยู่อย่างเดียวคือคุณจะได้ตังค์ ผมคิดว่านี่เป็นการบอกที่ไม่รอบด้านและไม่แฟร์กับชาวบ้าน”
กฤษฎา ยังตั้งคำถามถึงความเป็นธรรมในการแบกรับภาระการดูแลป่าของชาวบ้านโดยรอบป่าชุมชนเอาไว้ว่า
“โครงการนี้จะต้องใช้เวลาเป็น 10 ปี คำถามก็คือในระยะ 10 ปี ภาระของการดูแลเป็นของใคร ซึ่งตรงนี้มันยังไม่ชี้แจงให้ชัดว่าตกลงภาระแบบไหนที่เป็นธรรม เช่น คุณจ่ายเงินค่าจ้างชาวบ้านไปหรือคุณจ่ายเงินเป็นค่าป่าไม้ หรือคุณจะแบ่งสัดส่วนคาร์บอนเครดิตเท่าไหร่ แต่อย่าลืมว่าชาวบ้านจะต้องมีหน้าที่ในการดูแลป่าแบบนี้ให้ต่อเนื่องเป็นเวลา 10 ซึ่งภาระเหล่านี้เป็นธรรมหรือเปล่า”
*หมายเหตุ ประมาณการโดยอ้างอิงจากราคาซื้อขาย T-VER โครงการป่าไม้ปีงบประมาณ 2567 ที่มีราคาต่ำสุดอยู่ที่ 500 บาทต่อ tCO2eq เผยแพร่ทาง carbonmarket.tgo.or.th ณ 1 มี.ค. 67
แม้ปัจจุบันจะมีความพยายามในการแก้ปัญหาการขาดแคลนทรัพยากรของชุมชนในการลงทุนโครงการคาร์บอนเครดิตป่าชุมชนแบบ REDD+ ด้วยการดึงภาคเอกชนมาร่วมลงทุน แต่ความไม่ชัดเจนโดยเฉพาะอย่างยิ่งแนวทางการแบ่งผลประโยชน์ระหว่างผู้ร่วมลงทุนและชุมชนผู้ดูแลป่า กลับทำให้โครงการคาร์บอนเครดิตลักษณะนี้มีความเสี่ยงที่จะสร้าง ‘คาร์บอนเครดิตคุณภาพต่ำ’ ที่สร้างผลกระทบทางลบแก่ชุมชนและสังคมได้
ปัจจุบันอบก.ได้ผลักดันโครงการ Premium T-VER หรือโครงการ T-VER มาตรฐานขั้นสูง เป็นการยกระดับคุณภาพโครงการจาก T-VER Standard ซึ่งเป็นมาตรฐานการขึ้นทะเบียนของโครงการป่าไม้ทั้งหมดในปัจจุบัน (ข้อมูล ณ พ.ค. 2567) ให้ทัดเทียมมาตรฐานสากลมากขึ้น โดยโครงการตามมาตรฐานดังกล่าวจะต้องสามารถลดก๊าซเรือนกระจกได้อย่างแท้จริง สนับสนุนการพัฒนาที่ยั่งยืน และมีการป้องกันและไม่ก่อให้เกิดผลกระทบด้านลบ
ขอบคุณข้อมูลจาก
กฤษฎา บุญชัย
เลขาธิการสถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา
ธนพงศ์ ดวงมณี
ผู้อำนวยการด้านนโยบายสิ่งแวดล้อม และวิศวกรสิ่งแวดล้อม ศูนย์เรียนรู้ด้านการจัดการพลังงานและสิ่งแวดล้อม มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ในพระบรมราชูปถัมภ์
วิชัย เป็งเรือน
ประธานคณะกรรมการป่าชุมชนบ้านต้นผึ้ง และประธานเครือข่ายป่าชุมชนตำบลแม่โป่ง จังหวัดเชียงใหม่
ละออ อ่อนศรี
ประธานคณะกรรมการป่าชุมชนเขาเขียว
อ้างอิงข้อมูลจาก
สร้างสรรค์โดย
เรื่องและการผลิต : Punch Up
เรื่องและการผลิต : กรกมล ศรีวัฒน์
สัมภาษณ์และภาพถ่าย : ชเลฝัน ดิษฐ์ผู้ดี
ภาพถ่าย : จิรัฏฐ์ วรรัตนวงศ์
ผลงานชิ้นนี้ได้รับทุนสนับสนุนจาก : Earth Journalism Network โดย Internews
เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า