ตีค่าค้าคาร์บอนเครดิตป่าชุมชน?

ใครได้-ใครเสีย จากคาร์บอนเครดิตป่าชุมชนแบบ REDD+

ความเดิมตอนที่แล้ว งาน “ล่า หา ‘คาร์บอนเครดิตเกิน’ ส่องป่าหาคาร์บอนเครดิต ลดโลกร้อนจริงหรือเป็นแค่เครดิต ล้นเกิน” ฉายภาพให้เห็นถึงการเติบโตของตลาดคาร์บอนเครดิตจากโครงการประเภทป่าไม้และพื้นที่สีเขียวในประเทศไทยที่เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ทั้งยังเป็นความหวังในการเร่งลดก๊าซเรือนกระจก ชะลอวิกฤติสภาพภูมิอากาศ

แต่ทว่าเงื่อนไขของโครงการคาร์บอนเครดิตประเภทป่าไม้และพื้นที่สีเขียวในประเทศไทย โดยเฉพาะโครงการประเภทป้องกันการทำลายป่า หรือที่รู้จักกันในนาม REDD+ ซึ่งมุ่งเน้นอนุรักษ์ป่าที่มีอยู่แล้วไม่ให้ถูกทำลายหรือเสื่อมโทรมลง เพื่อรักษาความสามารถในการเก็บกักคาร์บอนเอาไว้ อาจเสี่ยงต่อการเกิด ‘คาร์บอนเกิน’ การคิดคาร์บอนเครดิตเกินจริงจากการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เกิดขึ้น ข้อมูล ณ วันที่ 20 ก.พ. 67 ชี้ให้เห็นว่า โครงการชดเชยคาร์บอนภาคป่าไม้แบบ REDD+ จำนวน 19 จากทั้งหมด 24 โครงการ เป็นโครงการในพื้นที่ป่าชุมชนหรือป่าสงวนของรัฐ ซึ่งมี พ.ร.บ.ป่าชุมชน พ.ศ.2562 หรือ พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507 คุ้มครองไม่ให้เกิดการทำลายและส่งเสริมให้มีกลไกการอนุรักษ์อยู่แล้ว

โครงการเหล่านี้ยังเป็นโครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจ ตามมาตรฐานของประเทศไทย (Standard T-VER) และเป็น “โครงการที่ไม่ต้องพิสูจน์ส่วนเพิ่มเติม (Positive List) หรือมีการดำเนินงานเพิ่มเติมจากการดำเนินงานตามปกติ (Additionality)” ตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดใน ตาม แนวทางการพัฒนาโครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจตามมาตรฐานของประเทศไทย (Standard T-VER) (ฉบับที่ 4.0) กล่าวคือไม่จำเป็นต้องชี้แจงว่าโครงการคาร์บอนเครดิตป่าชุมชนที่มีป่าไม้เดิมอยู่แล้ว ช่วยดูดซับคาร์บอน “เพิ่มขึ้น” กว่ากรณีไม่มีตลาดคาร์บอนเครดิตอย่างไร

ท่ามกลางข้อสงสัยและความไม่ชัดเจนที่เกิดขึ้น ภาครัฐยังคงผลักดันโครงการคาร์บอนเครดิตป่าชุมชน เพื่อลดโลกร้อน สร้างรายได้ และเพิ่มงบประมาณในการดูแลป่าให้กับป่าชุมชนทั่วทุกพื้นที่ของประเทศ ขณะที่เอกชนสนใจร่วมมือกับชาวบ้านลงทุนโครงการคาร์บอนเครดิตป่าชุมชนในฐานะเครื่องมือที่จะช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและบรรลุเป้าหมายเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality)

โมงยามที่โครงการคาร์บอนเครดิตป่าชุมชนที่มีป่าไม้เดิมอยู่แล้วถูกโหมกระพือในทั่วทุกสารทิศ เราอยากชวนคุณทำความเข้าใจผู้มีส่วนได้-ส่วนเสีย ผลกระทบ และข้อท้าทายของโครงการคาร์บอนเครดิตป่าชุมชนแบบ REDD+ 

ใครคือเจ้าของ

คาร์บอนเครดิตป่าชุมชน?

ผืนป่าชุมชนในประเทศไทยอยู่ภายใต้การดูแลของสํานักจัดการทรัพยากรป่าไม้ กรมป่าไม้ เมื่อชุมชนสนใจเข้าร่วมโครงการคาร์บอนเครดิตป่าชุมชน ในทางกฎหมายจึงจำเป็นต้องขอความเห็นชอบในการเข้าร่วมโครงการกับทางกรมป่าไม้ก่อนการขอขึ้นทะเบียนโครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจตามมาตรฐานของประเทศไทย (T-VER) 

อีกทั้งยังต้องทำตาม ระเบียบกรมป่าไม้ว่าด้วยการแบ่งปันคาร์บอนเครดิตจากการปลูก อนุรักษ์ และฟื้นฟูป่าในพื้นที่ป่าไม้ พ.ศ. 2564 ที่ระบุให้กรมป่าไม้เป็น เจ้าของโครงการ ซึ่งหมายถึง เจ้าของกรรมสิทธิ์ในคาร์บอนเครดิต 'กรมป่าไม้' ในฐานะเจ้าของโครงการสามารถทำสัญญาตกลงแบ่งปันคาร์บอนเครดิตกับ ผู้พัฒนาโครงการ ได้ และอาจมีคณะกรรมการป่าชุมชนแต่ละแห่งเป็นเจ้าของโครงการร่วมได้โดยมีสิทธิ์ในคาร์บอนเครดิต นอกจากนี้ตามระเบียบฯ ยังระบุว่าผู้ที่จะเข้าร่วมโครงการ ไม่ว่าจะเป็นผู้พัฒนาโครงการหรือเจ้าของโครงการร่วมต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจากการพัฒนาโครงการ T-VER ทั้งหมด

กว่าจะเป็นคาร์บอนเครดิตป่าชุมชนต้องทำอะไรและจ่ายเท่าไหร่บ้าง?
สำรวจ
กระบวนการและรายจ่ายโครงการคาร์บอนเครดิตป่าชุมชน
กรณีชุมชนดำเนินการเอง

กรณีสมมุติพื้นที่โครงการ 1,000 ไร่ โดยมีระยะเวลาดำเนินโครงการ 10 ปี (ตามเงื่อนไขของ T-VER ประเภทป่าไม้) และขึ้นขอรับรองคาร์บอนเครดิต 3 ครั้งตลอดโครงการ

= ชุมชนจ่าย

เมื่อค่าใช้จ่ายสูงลิ่ว

ใครจะช่วยชุมชนจ่าย?

“จริงๆ มันมีหลายชุมชนที่เขาเคยวางแปลงไปแล้ว แต่เขามาติดอุปสรรคตอนที่จะทวนสอบนี่แหละ เพราะราคาค่อนข้างสูง”

วิชัย เป็งเรือน

ประธานคณะกรรมการป่าชุมชนบ้านต้นผึ้ง และประธานเครือข่ายป่าชุมชนตำบลแม่โป่ง จังหวัดเชียงใหม่

ความซับซ้อนของการจัดทำเอกสาร และ ต้นทุนการค้าป่าคาร์บอนที่เป็นจำนวนเงินหลักแสนถึงหลักล้าน อาจเป็นปราการด่านสำคัญที่ทำให้ชุมชนจำนวนมากไม่สามารถรับผิดชอบค่าใช้จ่ายได้ด้วยตัวเอง ชุมชนที่ต้องการพัฒนาโครงการคาร์บอนเครดิตจึงต้องการแรงสนับสนุน ทั้งการเงินและการดำเนินการ

วิธีการแก้ปัญหารูปแบบหนึ่งที่เกิดขึ้นคือ การร่วมมือกันของ “ภาคประชาสังคม” “เอกชน” และ “รัฐ” เพื่อระดมทุนและให้ความช่วยเหลือแก่ “ชุมชน” ผ่าน “โครงการจัดการคาร์บอนเครดิตในป่าเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน” ที่ริเริ่มโดยมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ ในปี 2564 โครงการดังกล่าวให้การสนับสนุนชุมชนที่ต้องการพัฒนาโครงการคาร์บอนเครดิต ทั้งในด้านการจัดเตรียมเอกสาร ด้านความช่วยเหลือทางเทคนิค ด้านการดำเนินโครงการ รวมไปถึงด้านเงินทุน

ภาพอุปกรณ์การลงพื้นที่สำรวจป่า และทวนสอบ

ภายใต้โครงการนี้ มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ ทำหน้าที่เป็นตัวกลางในการระดมทุน ประสานให้ความช่วยเหลือเรื่องการจัดทำเอกสาร และดำเนินการเชิงเทคนิคในบางขั้นตอน เช่น การวางแปลงตัวอย่าง และการดำเนินการขึ้นทะเบียนโครงการ ชุมชนจะได้รับการสนับสนุนค่าธรรมเนียมที่เกี่ยวข้องกับโครงการ T-VER ทำให้ชาวบ้านไม่จำเป็นต้องควักเงินตัวเองในการลงทุน โดยจัดสรรเป็นเงินกองทุนชุมชนสนับสนุนชุมชน 300 บาท/ไร่/ปี ในระยะเวลา 3 ปีแรก เงินทุนนี้สามารถนำไปใช้ทั้งประโยชน์ด้านการดูแลป่าและการพัฒนาอาชีพ ซึ่งเดิมทีแต่ละชุมชนไม่ได้รับงบประมาณในการดูแลป่าโดยเฉพาะจากรัฐ แต่อาจได้รับงบประมาณตามโครงการที่กรมป่าไม้จัดตั้งขึ้นเป็นกรณีไป เช่น โครงการเกี่ยวกับไฟป่า 50,000 บาท/ปี หรือได้เงินรางวัลจากการประกวดป่าชุมชน เป็นต้น

ปัจจุบันมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ จึงทำหน้าที่เป็นเสมือนจุดเชื่อมต่อระหว่างภาคเอกชนที่ต้องการบรรลุเป้าหมายการลดปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์ด้วยการซื้อคาร์บอนเครดิต กับชุมชนที่ต้องการงบประมาณในการทำนุบำรุงและพื้นฟูป่าไม้ รวมทั้งต้องการรายได้เข้ามาหล่อเลี้ยงชุมชน

ส่องโครงการ
P-REDD+ คาร์บอนเครดิตชุมชนในประเทศไทย

เมื่อมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯเป็นโต้โผใหญ่

โครงการการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการทำลายป่าและความเสื่อมโทรมของป่าและการเพิ่มพูนการกักเก็บคาร์บอนในพื้นที่ป่าในระดับโครงการ P-REDD+ ที่ขึ้นทะเบียน T-VER Standard โดย อบก. ณ วันที่ 27 ก.พ. 67 มีทั้งหมด 24 โครงการ โดยมี 19 โครงการที่พัฒนาและดำเนินการร่วมกันระหว่างกรมป่าไม้ มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ และชุมชน 

โครงการลด ดูดซับ และกักเก็บก๊าซเรือนกระจกป่าไม้และพื้นที่สีเขียว (FOR)
ที่ มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ร่วมพัฒนาโครงการกับกรมป่าไม้และป่าชุมชน 19 โครงการ

กดสำรวจรายละเอียดโครงการ

วิธีอ่าน
2557
2560
2561
2562
2563
2564
2565
2566

ที่มาข้อมูล: อบก.

“ถ้าชุมชนดูแลพื้นที่ป่าได้ดี เอกชนก็สามารถนำคาร์บอนเครดิต (Carbon credits) มาใช้ Offsets หรือในการ Net-zero pathways ได้ เราก็กำลังหาวิธีการในการที่จะทำให้เราสามารถที่จะสเกลธุรกิจไปได้เร็ว เพราะเราก็เห็นว่าปัจจัยเรื่องเกี่ยวกับการอนุรักษ์ธรรมชาติเป็นสิ่งที่ต้องเร่ง ต้องเดินให้เร็ว แล้วก็ต้องมั่นใจว่าเมื่อเราเดินไปแล้วก็ต้องเดินได้อย่างถูกต้อง ตามกฎตามเกณฑ์กติกาต่างๆ แล้วก็ไม่ไปล้ำหน้าวิทยาศาสตร์ที่มีอยู่ และไม่เกิดประเด็น Greenwashing พยายามที่จะแสดงให้เห็นเลยว่าถ้าชุมชนได้รับโอกาส ธรรมชาติก็จะได้รับการดูแล”

หม่อมหลวงดิศปนัดดา ดิศกุล
ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ในพระบรมราชูปถัมภ์กล่าวในบทความ “ม.ล.ดิศปนัดดา ดิศกุล กับภารกิจ มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ โมเดล ส่งต่อสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน” เผยแพร่ผ่านเว็บไซต์ไทยรัฐ ออนไลน์ ณ วันที่ 26 พ.ย. 66

“หลักการทำคาร์บอนเครดิตของเรา  เราจะไม่ตัดต้นไม้ก่อนแล้วค่อยปลูก แบบนั้นไม่ใช่วิธีการของเรา เพราะมันจะทำให้ขาดความหลากหลายทางชีวภาพ ตรงนี้เป็นเรื่องสำคัญ”

หม่อมหลวงดิศปนัดดา ดิศกุล
ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ในพระบรมราชูปถัมภ์ ให้สัมภาษณ์ผ่านบทความ “หม่อมหลวงดิศปนัดดา ดิศกุล - "ขับเคลื่อน แม่ฟ้าหลวง-ต่อยอดธุรกิจ-พัฒนาคนให้สังคม"” ในเว็บไซต์ ททบ.5 เมื่อวันที่  14 ก.พ. 67

เงินสนับสนุนจากเอกชน

ไปสู่ชุมชนเท่าไหร่?

ภายใต้ “โครงการจัดการคาร์บอนเครดิตในป่าเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน” เอกชนจะร่วมลงทุนสนับสนุนชุมชนผ่านมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ เป็นเงิน 2,500 บาท/ไร่ ในช่วงระยะเวลา 6 ปีแรกของการดำเนินโครงการ โดยจะต้องมีการประเมินพื้นที่จริงก่อน เงินดังกล่าวจะถูกจัดสรรให้ชุมชนนำไปใช้ประโยชน์เป็นสองส่วน คือ “กองทุนชุมชน” และ “งบสนับสนุนการทำระบบและขึ้นทะเบียนป่าชุมชน”

จากเอกชนไปยังชุมชน

แนวทางการจัดสรรงบประมาณของมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ

มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง

จัดสรรงบสนับสนุนการทำระบบ และขึ้นทะเบียน โครงการ T-VER จำนวนรวม 700 บาท/ไร่ สำหรับระยะเวลา 6 ปี

ชุมชน

จากกองทุนชุมชน แต่ละชุมชนจะได้รับเงินจำนวน 300/ไร่/ปี ในช่วง 3 ปีแรก โดยชุมชนมีอิสระในการจัดสรรเพื่อใช้จ่ายตาม "กองทุนดูแลป่า" และ "กองทุนเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน" ทั้งนี้ชุมชนจะต้องผ่านกระบวนการตรวจสอบกับมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ ปีละ 2 ครั้ง และห้ามใช้งบดังกล่าวเพื่อประโยชน์ทางการเมือง การสร้าง ถนน และประโยชน์ส่วนบุคคล

ส่วนในปีที่ 4-6 ชุมชนจะได้รับจัดสรรงบ ประมาณ 300 บาท ต่อคาร์บอนเครดิตต่อปี ทั้งนี้เงื่อนไขดังกล่าวยังอยู่ในการพิจารณาโดยมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ และอาจมีการเปลี่ยนแปลงในอนาคต
สำรวจ
กระบวนการและรายจ่ายโครงการคาร์บอนเครดิตป่าชุมชน
กรณี “โครงการจัดการคาร์บอนเครดิตในป่าเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน” โดยมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ

กรณีสมมุติพื้นที่โครงการ 1,000 ไร่ โดยมีระยะเวลาดำเนินโครงการ 10 ปี (ตามเงื่อนไขของ T-VER ประเภทป่าไม้) และขึ้นขอรับรองคาร์บอนเครดิต 3 ครั้งตลอดโครงการ

= ได้รับการสนับสนุนจากโครงการ

คาร์บอนเครดิตแบ่งกันอย่างไร?

คำถามสำคัญที่ตามคือเมื่อได้คาร์บอนเครดิตจากการดำเนินโครงการมาแล้ว คาร์บอนเครดิตเหล่านั้นจะถูกแบ่งให้กับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียแต่ฝ่ายไม่ว่าจะเป็น ชุมชน เอกชน มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ และภาครัฐอย่างไร? ในสัดส่วนเท่าไหร่? แบบไหนที่เรียกว่าเป็นธรรม?

แน่นอนว่าแรงจูงใจสำคัญประการหนึ่งที่ผลักดันให้เอกชนเข้าร่วมสนับสนุนโครงการในลักษณะนี้ คือ การได้รับ “คาร์บอนเครดิต” เพื่อใช้ในการชดเชยการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในการดำเนินธุรกิจของตนเอง ตามเป้าหมาย Carbon Neutrality หรือ Net Zero Emissions ในระดับองค์กร ที่เป็นกระแสกดดันให้ภาคเอกชนรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ในขณะที่ชุมชนเองก็ต้องการรายได้เพื่อสนับสนุนการดูแลป่าและการพัฒนาความเป็นอยู่ในพื้นที่ ตอบแทนการลงแรงรักษาดูแลป่าเช่นกัน

ว่ากันตามเงื่อนไขของภาครัฐ การแบ่งสรรปันส่วนคาร์บอนเครดิตจากโครงการป่าไม้ในพื้นที่ป่าของรัฐไม่สามารถทำได้ตามอำเภอใจ แต่มีการกำหนดกรอบแนวทางเอาไว้ตามระเบียบของหน่วยงานที่ได้ชื่อว่าเป็น “เจ้าของป่า” ไม่ว่าจะเป็น กรมป่าไม้ กรมอุทยานแห่งชาติ และกรมทรัพยากรทางทะเลและสิ่งแวดล้อม โดยเงื่อนไขจะแตกต่างกันไปขึ้นกับประเภทของป่า เช่น เป็นป่าอนุรักษ์ หรือป่าชายเลน และตามประเภทโครงการ โดยแบ่งเป็น 2 ประเภทใหญ่คือ โครงการปลูกและบำรุงป่า และโครงการการอนุรักษ์ ฟื้นฟูและจัดการป่าชุมชน

สำหรับโครงการการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการทำลายป่าและความเสื่อมโทรมของป่าและการเพิ่มพูนการกักเก็บคาร์บอนในพื้นที่ป่าในระดับโครงการ P-REDD+ หรือโครงการคาร์บอนเครดิตป่าชุมชนที่เรากำลังพูดถึงกันนี้ มีเงื่อนไขแบ่งผลประโยชน์ตาม ระเบียบคณะกรรมการนโยบายป่าชุมชน ว่าด้วยการปกครอง ดูแลบำรุงรักษา ใช้ประโยชน์จากไม้ และใช้ประโยชน์ในพื้นที่ป่าชุมชน พ.ศ. 2566 โดยกำหนดสัดส่วนการแบ่งปันคาร์บอนเครดิต ให้คณะกรรมการจัดการป่าชุมชนร้อยละ 40 ให้ผู้ยื่นคำขอร้อยละ 50 และให้กรมป่าไม้ ร้อยละ 10

อย่างไรก็ตามในกรณี “โครงการจัดการคาร์บอนเครดิตในป่าเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน” ที่ดำเนินการโดยมีมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ เป็นผู้พัฒนาโครงการร่วมในฐานะที่ปรึกษาของชุมชนนั้น จากการสอบถามไปยังสำนักจัดการป่าชุมชน กรมป่าไม้ ถึงแนวทางการแบ่งคาร์บอนเครดิต วันที่ 17 เม.ย. 67 พบว่าป่าชุมชนที่ดำเนินโครงการระยะที่ 1-2 พ.ศ. 2563-2564 จะแบ่งสัดส่วนในลักษณะให้คณะกรรมการจัดการป่าชุมชนชนร้อยละ 90 และให้กรมป่าไม้ร้อยละ 10 ซึ่งสอดคล้องกับระเบียบคณะกรรมการนโยบายป่าชุมชนฯ พ.ศ.2566 ข้อ 48 ที่ระบุว่า “ผู้พัฒนาโครงการร่วมจะไม่ได้รับสิทธิในการขอแบ่งปันคาร์บอนเครดิตตามระเบียบนี้” แต่โครงการระยะถัดมาจะแบ่งสัดส่วนตามมาตรา 18 ให้คณะกรรมการจัดการป่าชุมชนร้อยละ 40 ให้มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ ร้อยละ 50 และให้กรมป่าไม้ ร้อยละ 10

ส่องความคลุมเครือ

ของ “ผลประโยชน์” ป่าคาร์บอนเครดิต

โครงการคาร์บอนเครดิตป่าชุมชนแบบ REDD+ ดึงดูดให้ภาคเอกชนเข้ามาสนับสนุน และสร้างแรงจูงใจให้ชาวบ้านในชุมชนดูแลและหวงแหนป่าชุมชนมากขึ้นจากเงินสนับสนุนที่ได้รับจากมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ แต่ในมุมมองของชาวบ้านพวกเค้าได้ “ผลประโยชน์” แค่ไหนจากโครงการลักษณะนี้

วิชัย เป็งเรือน

ประธานคณะกรรมการป่าชุมชนบ้านต้นผึ้ง และประธานเครือข่ายป่าชุมชนตำบลแม่โป่ง จังหวัดเชียงใหม่

วิชัย เป็งเรือน ได้บอกเล่าที่มาที่ไป กระบวนการ และงบประมาณที่ได้รับ เป็นตัวอย่างหนึ่งของความเห็นจากชุมชน เอาไว้ว่า

“ปี 2564 เราได้รับการติดต่อจากศูนย์ส่งเสริมวนศาสตร์ชุมชนที่ 1 เชียงใหม่และสำนักงานจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 1 เชียงใหม่ว่าจะมีมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ มาดำเนินการในโครงการชื่อว่าโครงการคุณดูแลป่า เราดูแลคุณ มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงก็มาประเมินชุมชน ประเมินผู้นำหมู่บ้านประเมินชาวบ้านว่าสนใจอยากเข้าร่วมไหม”

“ที่ชุมชนเราได้รับ หนึ่ง งบประมาณ เขาจะให้เงินมาตามจำนวนไร่ที่เรามีต่อปี และให้ชุมชนผ่านกระบวนการประชาคมหมู่บ้าน ร้อยละ 70 ขึ้นกับว่าเงินที่มีอยู่จะแยกออกเป็นสองกองทุนอย่างไร กองทุนดูแลป่าชุมชนใช้ดูแลรักษาป่า อีกกองทุนนึงคือกองทุนพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืน เพื่อที่ชาวบ้านจะสามารถพัฒนาต่อยอดกิจกรรมอาชีพ หรือจะพัฒนาชุมชน ให้เกิดความเข้มแข็ง แล้วแต่หมู่บ้านจะทำอะไร ซึ่งในส่วนของบ้านต้นผึ้งเราเอง เราเอามาทำโครงการจานใบไม้จากใบตองตึงจากวิสาหกิจชุมชนบ้านต้นผึ้ง

สอง ความจริงใจ ที่ทางโครงการได้มีให้กับชุมชน ชุมชนกระตือรือร้นดูแลรักษาป่ามากขึ้น เราดูแลป่ามาตลอด ไม่เคยหวังว่าเราจะมีคาร์บอนเครดิตมีอะไร แต่เรากลับได้ รับเงินทุนที่สามารถที่จะให้เรามีกำลังที่จะให้เราทำกิจกรรมที่เราอยากทำกับป่าชุมชนของเรา”  

อย่างไรก็ตามเมื่อสอบถามประโยชน์เชิงรูปธรรมจากการจัดสรรแบ่งคาร์บอนเครดิตที่เกิดขึ้นจากโครงการ กลับพบความไม่มั่นใจและความเข้าใจที่ไม่ชัดเจน ชุมชนไม่ได้เห็นสัญญาการดำเนินโครงการและรายละเอียดอย่างเป็นลายลักษณ์อักษรก่อนเริ่มโครงการ ทำให้ไม่ทราบที่แน่ชัดเรื่องการจัดสรรงบประมาณสนับสนุน และการแบ่งปันคาร์บอนเครดิตจากโครงการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงระยะเวลาการดำเนินการปีที่ 4-6 ที่ยังขาดความชัดเจนจากมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ เอง

“มูลค่าคาร์บอนเครดิตต่อ tCO2eq 1,800 บาท ตอนนี้เราได้รับมา 3 ปีแล้ว ปีละ 300 บาท ก็เท่ากับ 900 บาท อีก 900 บาทก็คือไปลุ้นเอาว่าการรับรองคาร์บอนเครดิตของเราจะได้เท่าไหร่แล้วก็น่าจะเอาไปคูณ 900 ตรงนี้ในตามที่ชุมชนเข้าใจนะครับ ปีที่ 4 ทางเราจะต้องประชุมสรุปกับแม่ฟ้าหลวงอีกทีนึง”

เป็นที่น่าตั้งคำถามว่าความไม่ชัดเจนและการได้รับข้อมูลที่ไม่ครบถ้วนนี้ ส่งผลต่ออำนาจต่อรองของชุมชนในการปกป้องประโยชน์ของตนเองมากน้อยแค่ไหน? และผลประโยชน์ที่ได้รับนี้คุ้มค่ากับการลงแรงของชุมชนในการดูแลรักษาป่าชุมชนเพียงใด?

คำถามเหล่านี้คือการทบทวน “คุณภาพของคาร์บอนเครดิต” เพื่อนำไปสู่การแก้ปัญหาโลกร้อนอย่างแท้จริง ซึ่งคาร์บอนเครดิตที่มีคุณภาพนั้นนอกจากจะเป็นคาร์บอนเครดิตที่เกิดจากการลดก๊าซเรือนกระจกอย่างมีนัยสำคัญแล้วยังต้องสร้างผลกระทบทางลบต่อสังคมน้อยที่สุด และที่สำคัญต้องเป็นธรรมกับชุมชนซึ่งเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียหลักของโครงการ เพื่อไม่ให้โครงการลักษณะนี้เป็นเพียง “การฟอกเขียว” ที่เอื้อประโยชน์ให้ผู้ก่อมลพิษที่ได้รับประโยชน์จากการซื้อคาร์บอนเครดิตมาชดเชยเท่านั้น

ท่ามกลางฝุ่นควันพร่าเลือนที่ยังไม่มีใครมองเห็นปลายทางของการแบ่ง “ผลประโยชน์” จากโครงการป่าชุมชนคาร์บอนเครดิตอย่างชัดเจน โครงการชดเชยคาร์บอนภาคป่าไม้แบบ REDD+ หลายโครงการกำลังอยู่ในระยะเริ่มต้นเท่านั้น ในปัจจุบันมีเพียงโครงการป่าชุมชนบ้านโค้งตาบาง จังหวัดเพชรบุรี ขึ้นทะเบียนรับรองคาร์บอนเครดิตแล้ว โดยมีปริมาณคาร์บอนที่ได้รับการรับรองทั้งสิ้น 5,259 (tCO2eq) คิดเป็นมูลค่าประมาณการ 2,629,500* บาท โครงการดังกล่าวมีกรมป่าไม้เป็นทั้งเจ้าของโครงการและผู้พัฒนาโครงการ และยังไม่ได้มีการซื้อขายคาร์บอนผ่านตลาดแต่อย่างใด

กฤษฎา บุญชัย

เลขาธิการสถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา

กฤษฎา บุญชัย ฉายภาพให้เห็นว่า การที่ภาคอุตสาหกรรมฟอสซิลถูกกดดันให้ต้องเร่งลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซต์โดยด่วน ส่งผลให้ตลาดคาร์บอนเครดิตเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว เป็นเสมือนการติดกระดุมผิดตั้งแต่เม็ดแรก ด้วยการเปิดช่องให้เอกชนสามารถปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้เช่นเดิม โดยซื้อคาร์บอนเครดิตมาชดเชยแทนการลดมลพิษด้วยตัวเองได้

“เอกชนสนใจสนับสนุนโครงการคาร์บอนเครดิตชุมชน ร่วมมือกับชุมชน ดูจะวินวินได้ประโยชน์กันทั้งคู่ แต่องค์กรต่างๆ เคยบอกชาวบ้านไหมว่าคนซื้อซื้อไปทำอะไร ผมว่าประเด็นนี้ตอบกันอย่างคลุมเครือเสมอ คุณต้องบอกให้ชัดเลยว่าเขาจะมาซื้อสิทธิที่จะปล่อยคาร์บอน คุณดูแลป่าไป ฟื้นฟูให้เต็มที่แล้วเขาจะให้ตังค์คุณเพื่อซื้อสิทธิเหล่านั้นไปให้เขาปล่อยคาร์บอน แล้วแบบนี้โลกมันจะไม่ร้อนขึ้นหรือ เราจะไม่เป็นนั่งร้านให้กับอุตสาหกรรมฟอสซิลและอุตสาหกรรมต่างๆ สร้างปัญหามลภาวะต่อไปหรือ ซึ่งอันนี้ผมคิดว่าอบก. หรือภาคส่วนต่างๆ ก็ไม่เคยบอกชาวบ้านแบบนี้ บอกอยู่อย่างเดียวคือคุณจะได้ตังค์ ผมคิดว่านี่เป็นการบอกที่ไม่รอบด้านและไม่แฟร์กับชาวบ้าน”

กฤษฎา ยังตั้งคำถามถึงความเป็นธรรมในการแบกรับภาระการดูแลป่าของชาวบ้านโดยรอบป่าชุมชนเอาไว้ว่า

“โครงการนี้จะต้องใช้เวลาเป็น 10 ปี คำถามก็คือในระยะ 10 ปี ภาระของการดูแลเป็นของใคร ซึ่งตรงนี้มันยังไม่ชี้แจงให้ชัดว่าตกลงภาระแบบไหนที่เป็นธรรม เช่น คุณจ่ายเงินค่าจ้างชาวบ้านไปหรือคุณจ่ายเงินเป็นค่าป่าไม้ หรือคุณจะแบ่งสัดส่วนคาร์บอนเครดิตเท่าไหร่ แต่อย่าลืมว่าชาวบ้านจะต้องมีหน้าที่ในการดูแลป่าแบบนี้ให้ต่อเนื่องเป็นเวลา 10 ซึ่งภาระเหล่านี้เป็นธรรมหรือเปล่า”

*หมายเหตุ ประมาณการโดยอ้างอิงจากราคาซื้อขาย T-VER โครงการป่าไม้ปีงบประมาณ 2567 ที่มีราคาต่ำสุดอยู่ที่ 500 บาทต่อ tCO2eq เผยแพร่ทาง carbonmarket.tgo.or.th ณ 1 มี.ค. 67

แม้ปัจจุบันจะมีความพยายามในการแก้ปัญหาการขาดแคลนทรัพยากรของชุมชนในการลงทุนโครงการคาร์บอนเครดิตป่าชุมชนแบบ REDD+ ด้วยการดึงภาคเอกชนมาร่วมลงทุน แต่ความไม่ชัดเจนโดยเฉพาะอย่างยิ่งแนวทางการแบ่งผลประโยชน์ระหว่างผู้ร่วมลงทุนและชุมชนผู้ดูแลป่า กลับทำให้โครงการคาร์บอนเครดิตลักษณะนี้มีความเสี่ยงที่จะสร้าง ‘คาร์บอนเครดิตคุณภาพต่ำ’ ที่สร้างผลกระทบทางลบแก่ชุมชนและสังคมได้

ปัจจุบันอบก.ได้ผลักดันโครงการ Premium T-VER หรือโครงการ T-VER มาตรฐานขั้นสูง เป็นการยกระดับคุณภาพโครงการจาก T-VER Standard ซึ่งเป็นมาตรฐานการขึ้นทะเบียนของโครงการป่าไม้ทั้งหมดในปัจจุบัน (ข้อมูล ณ พ.ค. 2567) ให้ทัดเทียมมาตรฐานสากลมากขึ้น โดยโครงการตามมาตรฐานดังกล่าวจะต้องสามารถลดก๊าซเรือนกระจกได้อย่างแท้จริง สนับสนุนการพัฒนาที่ยั่งยืน และมีการป้องกันและไม่ก่อให้เกิดผลกระทบด้านลบ

อย่างไรก็ตาม เป็นเรื่องสำคัญที่เราจะต้องติดตามและจับตาโครงการคาร์บอนเครดิตป่าชุมชนที่เกิดขึ้นแล้วในปัจจุบันซึ่งดำเนินการอยู่บนมาตรฐานที่ต่ำกว่า รวมทั้งตั้งคำถามถึงความชัดเจนของเงื่อนไขการดำเนินการจากหน่วยงานและองค์กรต่างๆ ที่เข้ามาดำเนินการร่วมกับชุมชน เพื่อปกป้องผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย รวมทั้งเฝ้าระวังผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับสังคมและสิ่งแวดล้อมโดยรวมอีกด้วย

ขอบคุณข้อมูลจาก

กฤษฎา บุญชัย

เลขาธิการสถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา

ธนพงศ์ ดวงมณี

ผู้อำนวยการด้านนโยบายสิ่งแวดล้อม และวิศวกรสิ่งแวดล้อม ศูนย์เรียนรู้ด้านการจัดการพลังงานและสิ่งแวดล้อม มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ในพระบรมราชูปถัมภ์

วิชัย เป็งเรือน

ประธานคณะกรรมการป่าชุมชนบ้านต้นผึ้ง และประธานเครือข่ายป่าชุมชนตำบลแม่โป่ง จังหวัดเชียงใหม่

ละออ อ่อนศรี

ประธานคณะกรรมการป่าชุมชนเขาเขียว

  • กรมป่าไม้ (Link)
  • องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) (Link)

อ้างอิงข้อมูลจาก

  • กฤษฎา บุญชัย. “การแปลงป่าเป็นทุนครั้งใหม่ด้วยคาร์บอนเครดิต (ตอนที่ 1)”, ศูนย์มนุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน), 3 มีนาคม 2566. (Link)
  • กฤษฎา บุญชัย. “การแปลงป่าเป็นทุนครั้งใหม่ด้วยคาร์บอนเครดิต (ตอนที่ 2)”, ศูนย์มนุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน), 9 มีนาคม 2566. (Link)
  • คู่มืออ้างอิงการพัฒนาโครงการลดก๊าซเรือน กระจกภาคสมัครใจตามมาตรฐานของประเทศไทย สาขาป่าไม้และการเกษตร (Thailand Voluntary Emission Reduction Program Reference Manual: Forestry and Agriculture Sector). องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน), นนทบุรี, 2560. (Link)
  • ไทยรัฐ ออนไลน์. “ม.ล.ดิศปนัดดา ดิศกุล กับภารกิจ มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ โมเดล ส่งต่อสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน”,ไทยรัฐ ออนไลน์, 26 พฤศจิกายน 2566. (Link)
  • พระราชบัญญัติ ป่าชุมชน พ.ศ.2562. (2562, 29 พฤษภาคม) (Link)
  • ระเบียบกรมป่าไม้ว่าด้วยการแบ่งปันคาร์บอนเครดิตจากการปลูก อนุรักษ์ และฟื้นฟูป่าในพื้นที่ป่าไม้ พ.ศ. 2564   (2564, 10 สิงหาคม) (Link)
  • สฤณี อาชวานันทกุล. “คาร์บอนเครดิตป่าไม้ ทำอย่างไรจึง ‘ยุติธรรม’ และ ‘ไม่ฟอกเขียว’”, Thairath Plus: ไทยรัฐพลัส, 12 พฤศจิกายน 2566. (Link)
  • องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน), โอกาสของป่าชุมชนและป่าเมืองในการซื้อขายคาร์บอนเครดิต 17 สิงหาคม 2566, 17 สิงหาคม 2566 (Link)
  • องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน). “T-VER-S-METH-13-02 ระเบียบวิธีการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจ สำหรับการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการทำลายป่าและความเสื่อมโทรมของป่า และการเพิ่มพูนการกักเก็บคาร์บอนในพื้นที่ป่าในระดับโครงการ(Reducing Emission from Deforestation and Forest Degradation and Enhancing Carbon Sequestration in Forest Area Project Level: P-REDD+)”, 1 มีนาคม 2566. (Link)
  • องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้, “มาตรฐานโครงการคาร์บอน”, ไม่ระบุวันที่ (Link)
  • @pracha. “หม่อมหลวงดิศปนัดดา ดิศกุล - "ขับเคลื่อนแม่ฟ้าหลวง-ต่อยอดธุรกิจ-พัฒนาคนให้สังคม"”, สถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบก, 14 กุมภาพันธ์ 2567. (Link)
  • Carbon Markets Club.“อบรม T-VER ภาคป่าไม้ เกษตร Bangchak”ไม่ระบุวันที่ (Link)

สร้างสรรค์โดย

  • เรื่องและการผลิต : Punch Up

  • เรื่องและการผลิต : กรกมล ศรีวัฒน์

  • สัมภาษณ์และภาพถ่าย : ชเลฝัน ดิษฐ์ผู้ดี

  • ภาพถ่าย : จิรัฏฐ์ วรรัตนวงศ์

ผลงานชิ้นนี้ได้รับทุนสนับสนุนจาก : Earth Journalism Network โดย Internews

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า