ล่า หา
‘คาร์บอนเครดิตเกิน’

ส่องป่าหาคาร์บอนเครดิต ลดโลกร้อนจริง หรือเป็นแค่เครดิตล้นเกิน

ท่ามกลางการตื่นตัวทั่วโลกในการเร่งลดก๊าซเรือนกระจก ภาครัฐไทยกำลังชูโรงให้ ‘ตลาดคาร์บอนเครดิตแบบสมัครใจ’ กลายเป็นหนึ่งในกลไกสำคัญ ในการทำตามคำสัญญาลดก๊าซเรือนกระจกตามเป้าหมายภายใต้ความตกลงปารีส (Paris Agreement)

‘คาร์บอนเครดิต’ ได้รับความสนอย่างมาก ในฐานะกลไกช่วยแก้ปัญหาโลกร้อน ที่เอกชนและประชาชนสามารถมีส่วนร่วมและสร้างรายได้ไปพร้อมกัน

ในประเทศไทย ตลาดหลักที่มีการซื้อขายแลกเปลี่ยนคาร์บอนเครดิตกัน คือผ่านโครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจตามมาตรฐานประเทศไทย (Thailand Voluntary Emission Reduction Project) หรือที่เรียกกันว่า T-VER

โดยในช่วงปี 2559-2565 ปริมาณการซื้อขายคาร์บอนเครดิตในไทยเติบโตขึ้น 144% ในขณะที่ราคาการซื้อก็สูงขึ้นถึง 131%

คาร์บอนเครดิตที่มีการซื้อขายในไทยมากที่สุด

คือ คาร์บอนเครดิตจากโครงการประเภทป่าไม้ ซึ่งพุ่งสูงสุดทำสถิติออลไทม์ ในราคา 2,000 บาท/tCO2e* ถือว่าแพงขึ้นกว่าสิบเท่าในเวลาไม่ถึง 7 ปี และมีราคาแซงหน้าคาร์บอนเครดิตจากโครงการด้านอื่นๆ เช่น โครงการพลังงานชีวมวล ชีวภาพ หรือแสงอาทิตย์ไปหลายเท่าตัว

* tCO2e หมายถึง ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า เป็นหน่วยในการวัดปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่สามารถลดได้หรือถูกดูดกลับจากกิจกรรมลดคาร์บอนต่างๆ

แนวโน้มราคาคาร์บอนจากด้านป่าไม้ที่สูงนี้สอดคล้องกับความต้องการคาร์บอนเครดิตด้านป่าไม้ของโลก เนื่องจากเป็นโครงการประเภทที่ให้เครดิตได้ในระยะยาว และยังมีประโยชน์พ่วงให้ผู้ซื้อ เช่น สามารถสร้างภาพลักษณ์รักษ์โลกที่สื่อสารได้ง่ายกับผู้บริโภคอีกด้วย

แต่ในขณะเดียวกัน คาร์บอนเครดิตจากโครงการป่าไม้ กำลังถูกกล่าวหาว่า กลายเป็น ‘คาร์บอนเครดิตเกิน’ ที่ทำให้ผู้ก่อมลพิษที่ซื้อเครดิตไปได้รับประโยชน์เต็มๆ แต่กลับไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาโลกร้อน ดังเช่นรายงานข่าวจาก The Gardian ร่วมกับ SourceMaterial ซึ่งทำการศึกษาและรายงานให้เห็นว่า กว่า 90% ของคาร์บอนเครดิตจากโครงการป่าไม้เป็น ‘คาร์บอนผี’ (phantom credits) ที่อาจไม่ควรช่วยชดเชยการปล่อยคาร์บอนได้จริง ซ้ำยังส่งผลประทบต่อคนในพื้นที่ใกล้ป่าซึ่งเปราะบางและมีอำนาจต่อรองต่ำเป็นทุนเดิม

คาร์บอนเครดิตโครงการป่าไม้ที่ถูกโปรโมทอย่างหนักในประเทศไทย
กำลังเข้าข่ายการเป็น ‘คาร์บอนเครดิตเกิน’ ที่คนทำได้ประโยชน์
แต่ที่จริงไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาโลกร้อนด้วยหรือเปล่า?

คาร์บอนเครดิต (Carbon credit) คืออะไร

สำหรับผู้ก่อมลพิษคาร์บอนเครดิต คือ ใบอนุญาตที่ให้ผู้ซื้อสามารถปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ได้ในปริมาณที่ต้องการ เพื่อชดเชยการปล่อยคาร์บอน หรือเพื่อบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน ทั้งระดับองค์กร บุคคล การจัดกิจกรรม หรือการผลิต โดยคาร์บอนเครดิตมีหน่วยเป็นตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า (tCO2e) สามารถนำไปแลกเปลี่ยนหรือซื้อขายได้

โดยทั่วไป คาร์บอนเครดิตมีที่มาจากการดำเนินโครงการ 2 รูปแบบ คือ หนึ่ง การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เช่น การใช้พลังงานทดแทน และ สอง การกักเก็บก๊าซเรือนกระจก เช่น การปลูกป่า เป็นต้น

แปะราคาให้คาร์บอน
แล้วจะลดก๊าซเรือนกระจก ลดโลกร้อนได้อย่างไร? 

กลไกราคาคาร์บอน
เป็นกลไกตลาดรูปแบบหนึ่งที่ทำให้การปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์มี “ต้นทุน” ที่ต้องจ่ายขึ้นมา ไม่สามารถปล่อยมลพิษได้ฟรีๆ เพื่อจูงใจให้ผู้ก่อมลพิษลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลง

ปัจจุบัน ประเทศไทยมีเพียงกลไกการซื้อขายคาร์บอนเครดิตผ่าน “ตลาดคาร์บอนแบบภาคสมัครใจ” เท่านั้น ยังไม่มีกลไกอื่นๆ ในการลดคาร์บอน เช่น การเก็บภาษีคาร์บอน หรือการกำหนดโควต้าการปล่อยคาร์บอน เช่นที่มีในหลายประเทศ

ไทยใช้กลไกไหนบ้าง


ภาษีคาร์บอน (carbon Tax)

รัฐกำหนดอัตราภาษีต่อหน่วยการปล่อยคาร์บอนจากแหล่งปล่อยมลพิษหรือการใช้ประโยชน์ ทำให้ผู้ปล่อยมลพิษหรือผู้บริโภคมีแรงจูงใจปล่อยคาร์บอนหรือใช้สินค้าบริการที่เก็บภาษีคาร์บอนลดลง

ระบบการซื้อขายสิทธิในการปล่อยก๊าซเรือนกระจก
(Emission Trading Scheme: ETS)

รัฐกำหนดเพดานปริมาณการปล่อยคาร์บอนโดยรวมไว้ และกำหนดให้องค์กรสามารถปล่อยคาร์บอนได้ตามปริมาณที่ได้รับจัดสรรสิทธิ โดยอนุญาตให้ขายสิทธินี้ระหว่างกันได้ ทำให้องค์กรที่อยู่ในอุตสาหกรรมหรือธุรกิจมีแรงจูงใจในการลดการปล่อยคาร์บอน หรือซื้อ-ขายสิทธิการปล่อยคาร์บอนเพื่อทำตามเพดานข้อกำหนด

การซื้อขายคาร์บอนเครดิต

มีตลาดซื้อขายคาร์บอนเครดิตเป็นสื่อกลางซื้อขายคาร์บอนเครดิตที่ได้รับการรับรองแล้ว ผู้ปล่อยมลพิษซื้อคาร์บอนเครดิตเพื่อชดเชยคาร์บอนที่ปล่อย ผู้ขายคาร์บอนมีแรงจูงใจในการพัฒนาโครงการลดหรือกักเก็บคาร์บอนเพื่อนำคาร์บอนเครดิจมาขาย

ตลาดคาร์บอนแบบภาคสมัครใจ

ป่าซ่อน ‘คาร์บอนเครดิตเกิน’ โครงการแบบไหนที่ต้องถูกจับตา!

คาร์บอนเครดิตจากโครงการภาคป่าไม้จัดเป็นคาร์บอนเครดิตเนื้อหอมทรงเอ ที่สร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับผู้ทำโครงการ เราจึงพบเห็นโครงการประเภทนี้เกิดขึ้นมากมาย ข้อมูลจากธนาคารโลก พบว่า จากโครงการชดเชยคาร์บอนทั้งหมดทั่วโลกที่ขึ้นทะเบียนใหม่ในปี 2565 มีโครงการภาคป่าไม้และการใช้ประโยชน์จากที่ดินสูงถึง 54% คาร์บอนเครดิตเหล่านี้ถูกซื้อไปใช้ชดเชยการปล่อยคาร์บอนโดยบริษัทชั้นนำต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น Disney, Shells, Gucci และอีกมากมาย

รายงานจาก UC Berkeley ชี้ให้เห็นว่าโครงการคาร์บอนเครดิตภาคป่าไม้กำลังสร้าง ‘คาร์บอนเครดิตเกิน’ หรือ ‘เครดิตผี’ (phantom credits) ที่เคลมการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเกินจริง ทำให้ปัญหาโลกร้อนไม่ถูกแก้แถมอาจยังเลวร้ายกว่าเดิม เพราะคาร์บอนเครดิตจากโครงการที่คาดว่าจะหักลบชดเชยกับคาร์บอนที่ผู้ก่อมลพิษปล่อยได้ กลับไม่สามารถลดการปล่อยคาร์บอนได้จริงตามปริมาณที่ซื้อไป

รายงานฉบับดังกล่าวชี้ให้เห็นด้วยว่า โครงการคาร์บอนเครดิตภาคป่าไม้ที่มีแนวโน้มสร้าง ‘คาร์บอนเครดิตเกิน’ มากที่สุด คือโครงการประเภทป้องกันการทำลายป่า หรือที่รู้จักกันในนาม REDD+ ซึ่งมุ่งเน้นอนุรักษ์ป่าที่มีอยู่แล้วไม่ให้ถูกทำลายเพื่อรักษาความสามารถในการเก็บกักคาร์บอนเอาไว้ โดยจากรายงานพบว่ามีเพียงโครงการประเภทนี้ 1 จาก 13 โครงการเท่านั้นที่ได้คาร์บอนเครดิตที่น่าเชื่อถือพอ (legitimate) โดยกว่าครึ่งหนึ่งของโครงการประเภทนี้ไม่สามารถป้องกันการทำลายป่าได้จริง และมีปัญหาในการคิดคิดคำนวณคาร์บอนเครดิตเกินจริง

เมื่อ ‘คาร์บอนเครดิตเกิน’ เจอกับ ตลาดสมัครใจ เป้าหมายลดโลกร้อนอาจยิ่งห่างไกล

โดยทั่วไปการซื้อขายคาร์บอนเครดิตทำได้ผ่านกลไกตลาด 2 รูปแบบ คือ ตลาดคาร์บอนภาคบังคับ (Mandatory carbon market) และ ตลาดคาร์บอนแบบภาคสมัครใจ (Voluntary carbon market) ทั้งนี้ ตลาดทั้งสองแบบตอบโจทย์เป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกได้ดีไม่เท่ากัน

การซื้อคาร์บอนเครดิตและการลดการปล่อยคาร์บอนของผู้ก่อมลพิษ

ผ่านกลไกลตลาดคาร์บอนเครดิต 2 รูปแบบ

แตะเพื่อดูปริมาณที่ซื้อ

สำหรับ ตลาดคาร์บอนภาคบังคับ
ภาครัฐจะกำหนดเพดานปริมาณคาร์บอนหรือสิทธิที่ผู้ปล่อยมลพิษสามารถปล่อยคาร์บอนได้ โดยอนุญาตให้ซื้อคาร์บอนเครดิตบางส่วนมาเพื่อชดเชยแทนการลดคาร์บอนด้วยตัวเองได้ ระบบที่เรียกว่า cap-and-trade นี้ มีขึ้นเพื่อให้ผู้เข้าร่วมในตลาดต้องมีพันธะทางกฎหมายในการลดคาร์บอนเองด้วย

ในขณะที่ ตลาดคาร์บอนภาคสมัครใจ
ผู้ก่อมลพิษที่เข้าร่วมซื้อขายไร้พันธะตามกฎหมายในการลดคาร์บอนด้วยตนเอง ดังนั้นจึงสามารถเลือกซื้อคาร์บอนเครดิตตามประเภทโครงการที่สนใจได้ ซึ่งมักมีแรงจูงใจที่เลือกโครงการที่มีผลประโยชน์ร่วมอื่นๆ เป็นของแถม และสร้างภาพลักษณ์ที่ดีได้ เช่น เป็นการเพิ่มพื้นที่สีเขียว หรือส่งเสริมอาชีพชุมชน เป็นต้น

จากการศึกษาตลาดคาร์บาร์บอนทั่วโลกพบว่า ตลาดคาร์บอนภาคบังคับที่มีกลไกในการดำเนินการที่ดีนั้นสามารถตอบเป้าหมายลดก๊าซเรือนกระจกได้เป็นอย่างดี

ในทางกลับกันบทเรียนและการศึกษาในหลายประเทศต่างชี้ให้เห็นว่า ตลาดคาร์บอนภาคสมัครใจ มักขาดประสิทธิภาพในการลดก๊าซเรือนกระจก และถูกบิดเบือนวัตถุประสงค์ได้ง่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับโครงการชดเชยคาร์บอนภาคป่าไม้แบบ REDD+ ที่สุ่มเสียงต่อการเกิดเครดิตเกินอยู่แล้ว

ตลาดคาร์บอนเครดิตในไทยถึงไหนแล้ว?

นับตั้งแต่ปี 2564 ประเทศไทยได้ประกาศเจตนารมย์ยกระดับการแก้ปัญหาภูมิอากาศโดยการประกาศ เป้าหมายเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ภายในปี 2593 (ค.ศ. 2050) และปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปี 2608 (ค.ศ.2065) นอกจากนี้ ประเทศไทยยังได้ประกาศเป้าหมายระยะกลางในการลดก๊าซเรือนกระจกลงร้อยละ 40 จากระดับที่ปล่อยในปี 2564 ภายในปี 2573 (ค.ศ. 2030)

ปัจจุบันตลาดคาร์บอนหลักของไทยที่มีพัฒนาการมากที่สุดคือ การซื้อขายคาร์บอนเครดิตภาคสมัครใจ จากโครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจตามมาตรฐานประเทศไทย (Thailand Voluntary Emission Reduction: T-VER) โดยองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์กรมหาชน) หรือ อบก. เป็นผู้ให้การขึ้นทะเบียนโครงการและรับรองปริมาณคาร์บอนเครดิตที่ได้จากโครงการด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งเริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2557

ปัจจุบัน ผู้ที่มีความต้องการซื้อหรือขายคาร์บอนเครดิตสามารถเจรจาต่อรองราคาและซื้อขายกันเองได้โดยตรง เพื่อเลือกซื้อคาร์บอนเครดิตจากโครงการที่สนใจ

โครงการที่ได้รับการขึ้นทะเบียนภายใต้โครงการ T-VER
ทั้งหมด 350 โครงการ

ที่มาข้อมูล: อบก. ณ วันที่ 20 ก.ย. 2566

ปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ได้รับการรับรองจากโครงการ

16,092,167 tCO2eq

3 อันดับประเภทโครงการที่มีจำนวนมากที่สุด

การพัฒนาพลังงานทดแทน (AE)
172 โครงการ

การเพิ่มประสิทธิภาพพลังงาน (EE)
77 โครงการ

ป่าไม้และพื้นที่สีเขียว (FOR)
49 โครงการ

จำนวนโครงการ และปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่คาดว่าจะลดได้

จำแนกตามประเภทโครงการ

ที่มาข้อมูล: อบก. ณ วันที่ 20 ก.ย. 2566

คาร์บอนเครดิตภาคป่าไม้ในไทยมาจากโครงการแบบไหน?

จากข้อมูล ณ วันที่ 20 ก.ย. 66 โครงการป่าไม้และพื้นที่สีเขียว (FOR) มีจำนวน 49 จาก 350 โครงการ หรือคิดเป็น 14% ของโครงการทั้งหมดที่ขึ้นทะเบียนกับ T-VER โดยมีปริมาณคาร์บอนที่คาดว่าจะได้รับรวมจากโครงการประเภทนี้ 118,915 ตันคาร์บอน หรือคิดเป็นเพียง 0.7% ของปริมาณคาร์บอนทั้งหมดจากโครงการภายใต้ T-VER ซึ่งนับว่าน้อยมาก

ทั้งนี้หากนับเฉพาะโครงการที่มีระเบียบวิธีการลดก๊าซเรือนกระจกที่ระบุว่าเป็นโครงการป่าไม้อย่างเดียว ไม่รวมการเกษตร ภายใต้โครงการป่าไม้และพื้นที่สีเขียว (FOR) จะพบว่ามีทั้งสิ้น 48 โครงการ

โครงการป่าไม้และพื้นที่สีเขียว (FOR) ภายใต้การรับรองของ T-VER ปัจจุบันมีด้วยกัน 4 ประเภท ซึ่งใช้ระเบียบวิธีการลดก๊าซเรือนกระจก (methodology) แตกต่างกันไป ดังนี้

1

การปลูกป่าอย่างยั่งยืน

(ระเบียบวิธีการ T-VER-METH-FOR-01)

2

การลดการปล่อนก๊าซเรือนกระจกจากการทำลายป่าและความเสื่อมโทรมของป่าและการเพิ่มพูนการกักเก็บคาร์บอนในพื้นที่ป่าในระดับโครงการ P-REDD+

(ระเบียบวิธีการ T-VER-METH-FOR-02)

3

การปลูกป่าอย่างยั่งยืน โครงการขนาดใหญ่

(ระเบียบวิธีการ T-VER-METH-FOR-03)

4

สวนป่าเศรษฐกิจโตเร็ว

(ระเบียบวิธีการ T-VER-METH-FOR-04)

โครงการประเภทที่มีมากที่สุดคือ P-REDD+ มีผู้พัฒนาโครงการเลือกทำโครงการประเภทนี้ถึง 24 โครงการ ตามเอกสารอธิบายระเบียบวิธีการของอบก. ระบุไว้ว่าโครงการในกลุ่มนี้เป็นโครงการประเภทฟื้นฟูป่า โดยต้องมีการดำเนินการดังนี้

“มีส่วนสำคัญต่อการลดก๊าซเรือนกระจกจากการเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์ที่ดินจากป่าไม้ไปเป็นรูปแบบอื่น โดยโครงการต้องมีกิจกรรมที่ป้องกันการตัดไม้ทำลายป่า กิจกรรมป้องกันความเสื่อมโทรมของป่า และกิจกรรมเพิ่มพูนการกักเก็บคาร์บอนในพื้นที่ป่าอย่างใดอย่างหนึ่ง”

โครงการลด ดูดซับ และกักเก็บก๊าซเรือนกระจกป่าไม้และพื้นที่สีเขียว (FOR)

ข้อมูลจากอบก. ณ 20 ก.ย. 66

2557 2560 2561 2562 2563 2564 2565 2566 กดสำรวจรายละเอียดโครงการ วิธีอ่าน

กดเลือกกรองข้อมูล

นอกจาก P-REDD+ โครงการที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในบรรดาโครงการป่าไม้และพื้นที่สีเขียวทั้งหมดอยู่ในโครงการประเภทนี้ คือ โครงการโดยมูลมูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ที่จังหวัดน่าน ขึ้นทะเบียนในปี 2561 โดยมีพื้นที่โครงการกว่า 105,868 ไร่ และมีปริมาณคาร์บอนที่คาดว่าจะเก็บกักได้ได้ 176,704 ตันคาร์บอนไดออกไซต์เทียบเท่าต่อปี

จากพัฒนาโครงการสู่การรับรองคาร์บอนเครดิต T-VER
มีขั้นตอนและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องอะไรบ้าง

ที่น่าสนใจก็คือโครงการ P-REDD+ กว่า 19 โครงการ เป็นโครงการที่มีกรมป่าไม้ ซึ่งเป็นหน่วยงานรัฐ เป็นเจ้าของโครงการ โดยมี 18 โครงการที่มีเจ้าของโครงการร่วมเป็นชุมชน และมี 19 โครงการที่มีผู้พัฒนาโครงการเป็นชุมชน และผู้พัฒนาโครงการร่วมเป็นกรมป่าไม้ และ มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ซึ่่งถือเป็นองค์กรที่มีบทบาทอย่างมากในการพัฒนาโครงการ P-REDD+ ร่วมกับชุมชน

‘คาร์บอนเครดิตคุณภาพดี’
ไม่เฟ้อไม่เกิน ต้องมีคุณสมบัติอย่างไร

อย่างที่ทราบกันดีว่าการใช้คาร์บอนเครดิตในการชดเชยการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Carbon offsets) เป็นวิธีการที่ถูกนำไปใช้โดยองค์กรต่างๆ ทั่วโลก เพื่อรับปัญหาโลกร้อนที่รุนแรงและเร่งด่วน เพื่อให้การแก้ปัญหามีประสิทธิภาพและแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมได้จริง จึงเกิดกระแสการติดตามตรวจสอบ ‘คุณภาพ’ ของคาร์บอนเครดิตที่ใช้ในการชดเชยตามมา เพื่อตรวจจับและป้องกันไม่ให้เกิดการสร้าง ‘คาร์บอนเครดิตเกิน’ ที่นอกจากจะไม่ช่วยบรรเทาปัญหา ยังอาจหมายถึงการสูญเสียทรัพยากรและโอกาสอันมีค่าในการเร่งแก้ปัญหาที่เร่งด่วนจนรอไม่ได้นี้ไปอย่างยอมรับไม่ได้

แต่เราจะสามารถเช็ค ‘คุณภาพ’ ของคาร์บอนเครดิตได้อย่างไรกัน? Carbon Offset Research and Education หรือ CORE โดยความร่วมมือของ Stockholm Environment Institute (SEI) และ Greenhouse Gas Management Institute (GHGMI) องค์กรที่ทำหน้าที่ติดตามการจัดการก๊าซเรือนกระจก ได้นิยาม ‘คุณภาพ’ คาร์บอนเครดิตว่าหมายถึง “ระดับความมั่นใจที่ผู้ซื้อสามารถมั่นใจได้ว่าคาร์บอนเครดิตนั้นใช้ชดเชยการปล่อยก๊าซเรือนกระจกแทนการลดการปล่อยด้วยตนเองได้จริง” โดยให้เกณฑ์คาร์บอนเครดิตคุณภาพดีเอาไว้ดังนี้

ลองเช็คกันดูว่า T-VER ของไทย มีการระบุเงื่อนไขเหล่านี้ไว้ไหม

*โครงการ T-VER มาตรฐานขั้นสูง (Premium T-VER)
เป็นโครงการภายใต้อบก.ที่ยกระดับขึ้นจากโครงการ T-VER ให้ทัดเทียมมาตรฐานสากลมากขึ้น

ส่องเงื่อนไขคาร์บอนเครดิตโครงการป่าไม้ในไทย จะสร้าง ‘เครดิตคุณภาพ’ หรือ ‘เครดิตเกิน’?

“เพื่อสร้างความเชื่อมั่นต่อคุณภาพของคาร์บอนเครดิตที่ได้จากโครงการ T-VER ในการวางแผนและดำเนินโครงการลดก๊าซเรือนกระจกฯ ตลอดจนการคำนวณ ติดตามผล และทวนสอบ ปริมาณการลดปล่อยและ/หรือดูดกลับก๊าซเรือนกระจก จึงยึดหลักการพื้นฐานสำคัญ 6 ประการ ประกอบด้วย ความตรงประเด็น ความสมบูรณ์ ความสอดคล้อง ความถูกต้อง ความโปร่งใส่ และความอนุรักษ์” คู่มือพัฒนาโครงการ T-VER (อบก.)

หากว่ากันตามตัวอักษรใน เอกสารแนวทางการพัฒนาโครงการ Standard T-VER ภาคมาตรฐานซึ่งเป็นมาตรฐานโครงการหลักและมีโครงการมากที่สุดในประเทศไทยปัจจุบัน เราอาจพอกล่าวได้ว่าหลักการและหลักเกณฑ์ของ T-VER มีส่วนที่ระบุเป็นเงื่อนไขไว้สอดคล้องกับแนวทาง ‘คาร์บอนเครดิตคุณภาพดี’ ที่ CORE ให้ไว้เป็นเกณฑ์เบื้องต้น*

*หมายเหตุ: ในทางปฏิบัติเงื่อนไขการดำเนินโครงการ Standard T-VER ที่ตรงกับคุณสมบัติคาร์บอนเครดิตคุณภาพดีอื่นๆ ตาม CORE อาจมีมากกว่าที่กล่าวถึงในงานชิ้นนี้ แต่ ณ ที่นี้จะให้ความสำคัญที่หลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่ระบุเป็นข้อกำหนดชัดเจนใน เอกสารแนวทางการพัฒนาโครงการของอบก. เพื่อการตั้งข้อสังเกตโดยเบื้องต้น

ที่มาข้อมูล : แนวทางการพัฒนาโครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจ ตามมาตรฐานของประเทศไทย (Standard T-VER) (ฉบับที่ 4.0)

‘ข้อยกเว้น’
ที่อาจนำไปสู่คาร์บอนเครดิตส่วนเกิน

จากข้อยกเว้นที่พบในเงื่อนไขโครงการ Standard T-VER เราอาจตั้งข้อสังเกตที่น่าสนใจเกี่ยวกับการดำเนินโครงการคาร์บอนเครดิตป่าไม้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งโครงการป่าไม้ประเภท กิจกรรมการลดการดูดซับ และการกักเก็บก๊าซเรือนกระจกจากภาคป่าไม้ หรือ P-REDD+ ที่อาจต้องสงสัยเสี่ยงสร้างคาร์บอนเครดิตอยู่ได้เบื้องต้น เพื่อติดตามและจับตาดูต่อไป

ยกเว้นไม่ต้องมีส่วนเพิ่มก็ได้

“มีการดำเนินงานเข้าข่ายโครงการลดก๊าซเรือนกระจกที่ไม่ต้องพิสูจน์ส่วนเพิ่มเติม (Positive List) หรือมีการดำเนินงานเพิ่มเติมจากการดำเนินงานตามปกติ (Additionality) ตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการกำหนด” แนวทางการพัฒนาโครงการ T-VER (อบก.)

โดยหลักการแล้ว คาร์บอนเครดิตที่มีคุณภาพดีควรเกิดจากเป็นโครงการชดเชยคาร์บอนที่ลดคาร์บอนเพิ่มขึ้นจริงจากระดับที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน แต่ภายใต้หลักเกณฑ์ Standard T-VER กลับพบว่ามีโครงการจำนวนหนึ่งที่ได้รับการยกเว้น เข้าข่ายโครงการที่ไม่ต้องพิสูจน์ส่วนเพิ่ม หรือเรียกว่าเป็น Positive List

Positive List นี้กำหนดเกณฑ์ยกเว้นตามขนาดโครงการ โดยโครงการขนาดเล็กมาก (Micro scale) และโครงการขนาดเล็ก (Small scale) จะได้รับการยกเว้นทั้งหมดไม่ว่าเป็นโครงการประเภทไหน แต่โครงการขนาดใหญ่จะได้รับยกเว้นโดยทันทีหากเป็นโครงการ “ป่าไม้และพื้นที่สีเขียว” และ “การเกษตร” ในขณะที่โครงการอื่นๆ จะต้องพิสูจน์ทางเทคโนโลยีอีกขั้นหนึ่ง

“เป็นกิจกรรมที่ดำเนินการเพิ่มเติมจากที่กฎหมายกำหนด” แนวทางการพัฒนาโครงการ (อบก.).

นอกจากนี้แม้จะมีการระบุเงื่อนไขในเอกสารของอบก.ว่าโครงการภายใต้ Standard T-VER จะต้อง “เป็นกิจกรรมที่ดำเนินการเพิ่มเติมจากที่กฎหมายกำหนด” แต่กลับไม่มีกรอบรายละเอียดที่ชัดเจน หากพิจารณาโครงการภาคป่าไม้ในปัจจุบัน จะพบว่าโครงการประเภท P-REDD+ ซึ่งเป็นการอนุรักษ์และลดการเสื่อมโทรมของป่า จำนวน 19 จากทั้งหมด 24 โครงการเป็นโครงการพื้นที่ที่ป่าชุมชนหรือป่าสงวนของรัฐ ซึ่งมี พ.ร.บ.ป่าชุมชน พ.ศ.2562 และ พ.ร.บ.ป่าสวงนแห่งชาติ พ.ศ.2507 คุ้มครองไม่ให้เกิดการทำลายและส่งเสริมให้มีกลไกการอนุรักษ์อยู่แล้ว

2557 2560 2561 2562 2563 2564 2565 2566 กดสำรวจรายละเอียดโครงการ

ที่มาข้อมูล : อบก.

ภายใต้ พ.ร.บ.ป่าสงวน พ.ศ.2507

3 โครงการ

ภายใต้ พ.ร.บ.ป่าสงวน พ.ศ.2562

19 โครงการ

ข้อกำหนดการดำเนินโครงการตามระเบียบวิธีการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจ สำหรับการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการทำลายป่าและความเสื่อมโทรมของป่า และการเพิ่มพูนการกักเก็บคาร์บอนในพื้นที่ป่า

มีมาตรการในการป้องกันการเปลี่ยนแปลงพื้นที่ป่าไปใช้ประโยชน์ในรูปแบบอื่น

มีกิจกรรมในการลดความเสื่อมโทรมของพื้นที่ป่า

มีกิจกรรมในการเพิ่มพูนคาร์บอนในพื้นที่ป่า

ตัวอย่างบทบัญญัติใน พ.ร.บ.ป่าชุมชน พ.ศ.2562 ที่เกี่ยวข้อง

ที่มาข้อมูล : พ.ร.บ.ป่าชุมชน พ.ศ.2562

นั่นหมายความว่า โครงการบางประเภทเช่น P-REDD+ โดยเฉพาะที่อยู่บนพื้นที่ที่มีกฎหมายคุ้มครองการทำลายป่าและกำหนดให้มีการฟื้นฟูป่าอยู่แล้ว อาจมีโอกาสทำให้เกิด ‘คาร์บอนเกิน’ ได้หรือไม่?

ยกเว้นให้ดำเนินโครงการมาก่อนก็ได้

“โครงการใดที่ประสงค์จะพัฒนาเป็นโครงการ Standard T-VER ต้องเป็น
- กิจกรรมที่ยังไม่เริ่มดำเนินการ หรือ
- เป็นกิจกรรมที่มีวันเริ่มดำเนินโครงการและก่อให้เกิดการลดก๊าซเรือนกระจกย้อนหลังไม่เกิน 3 ปีนับจากวันที่ของเอกสารข้อเสนอโครงการ (Project Design Document: PDD) ฉบับสุดท้ายที่ผ่านการตรวจสอบความใช้ได้และต้องมีเอกสารหลักฐานยืนยันวันเริ่ม ดำเนินโครงการ…ยกเว้นโครงการประเภทการลด ดูดซับ และการกักเก็บก๊าซเรือนกระจกจากภาคป่าไม้และการเกษตร” แนวทางการพัฒนาโครงการ (อบก.).

จากเงื่อนไขของอบก. โครงการคาร์บอนเครดิตป่าไม้ประเภท P-REDD+ กรณีพื้นที่ไม่มีต้นไม้ จะสามารถคิดเครดิตได้ภายใน 2 ปี นับจากวันที่จัดทำเอกสารข้อเสนอโครงการฉบับสุดท้ายแล้วเสร็จ และผ่านการตรวจสอบความใช้ได้ แต่กรณีพื้นที่มีต้นไม้ สามารถคิดเครดิตได้ทันที นับตั้งแต่วันที่สำรวจค่ากรณีฐานของโครงการแล้วเสร็จและมีความถูกต้องสมบูรณ์ ไม่เกิน 2 ปี นับจากวันที่จัดทำเอกสารข้อเสนอโครงการฉบับสุดท้ายแล้วเสร็จ และผ่านการตรวจสอบความใช้ได้

นั่นหมายความว่าคาร์บอนเครดิตของโครงการป่าไม้แบบ P-REDD+ มีโอกาสถูกนับและได้รับการรับรองเป็นคาร์บอนเครดิต โดยยังไม่เริ่มดำเนินโครงการแต่อย่างใด ซึ่งอาจทำให้เกิดการคิด ‘คาร์บอนเครดิตเกิน’ ได้หรือไม่?

การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และอุณหภูมิโลกที่เพิ่มสูงขึ้นเป็นวาระสำคัญทางสิ่งแวดล้อมในปัจจุบันที่เร่งด่วนจนแทบรอไม่ได้

แม้กลไกราคาคาร์บอนและการชดเชยคาร์บอนด้วยการซื้อขายแลกเปลี่ยนเครดิตผ่านตลาอดคาร์บอน เป็นกลไกหนึ่งที่ถูกพัฒนาขึ้นเพื่อหวังให้หลายฝ่ายมามีส่วนร่วมรับมือกับปัญหา แต่ความพยายามที่หวังดีนี้อาจไม่เกิดผล ซ้ำยังอาจส่งผลเสียต่อสิ่งแวดล้อมได้ หากมีช่องว่างที่ทำให้เกิดการบิดเบือนให้เกิด ‘เครดิตเกิน’ ดังที่ปรากฎในทางปฏิบัติในหลายประเทศทั่วโลก

แต่การบิดเบือนคุณภาพของคาร์บอนเครดิตที่อาจเกิดขึ้นด้วยเงื่อนไขที่เป็นอยู่ในปัจจุบันอาจทำให้เราต้องสูญเสียทรัพยากรและ

ท่ามกลางการส่งเสริมคาร์บอนเครดิตโดยเฉพาะภาคป่าไม้ในปัจจุบัน อาจถึงเวลาที่เราควรหยุดคิดทบทวนและตั้งคำถามว่า ทำอย่างไรถึงจะใช้กลไกที่มีอยู่สร้างคาร์บอนเครดิตคุณภาพดีเพื่อรับมือปัญหาโลกร้อนได้อย่างแท้จริง

จากการที่โครงการลักษณะนี้เกี่ยวข้องกับผู้คนและชุมชนที่อาศัยอยู่ในป่า ซึ่งเป็นประเด็นสำคัญไม่แพ้กัน และต้องติดตามทบทวนกันต่อไป

อ้างอิงข้อมูลจาก

ภาษาไทย

  • กฤษฎา บุญชัย. “การแปลงป่าเป็นทุนครั้งใหม่ด้วยคาร์บอนเครดิต (ตอนที่ 1)”, ศูนย์มนุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน), 3 มีนาคม 2566. (Link)
  • กฤษฎา บุญชัย. “การแปลงป่าเป็นทุนครั้งใหม่ด้วยคาร์บอนเครดิต (ตอนที่ 2)”, ศูนย์มนุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน), 9 มีนาคม 2566. (Link)
  • กองประสานการจัดการการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ. “แผนปฏิบัติการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศ ปี พ.ศ. 2564 - 2573 รายสาขา”, ไม่ระบุวันที่ (Link)
  • ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม P-move, คลิปสัมมนา “คาร์บอนเครดิต กู้วิกฤตโลกร้อนจริงไหม? ชุมชนได้-เสียอะไร ?”. 28 สิงหาคม 2566 (Link)
  • คู่มืออ้างอิงการพัฒนาโครงการลดก๊าซเรือน กระจกภาคสมัครใจตามมาตรฐานของประเทศไทย สาขาป่าไม้และการเกษตร (Thailand Voluntary Emission Reduction Program Reference Manual: Forestry and Agriculture Sector). องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน), นนทบุรี, 2560. (Link)
  • พระราชบัญญัติ ป่าชุมชน พ.ศ.2562. (2562, 29 พฤษภาคม) (Link)
  • สุรินทร์ อ้นพรม. “ทำไมเราต้องสงสัยพีอาร์ “ปลูกป่าลดโลกร้อน” ของกลุ่มทุนอุตสาหกรรม”, Greenpeace Thailand, 16 ตุลาคม 2566. (Link)
  • สถาบันวิจัยและพัฒนาพลังงานนครพิงค์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่. “Roadmap ของประเทศไทยในการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศ”, 5 กรกฎาคม 2564 (Link)
  • Prapan Leenoi. “คาร์บอนเครดิต กลไกพิชิตเป้าหมายความยั่งยืน”, วิจัยกรุงศรี, 19 ตุลาคม 2566. (Link)
  • Rattanasiri Kittikongnapang และ Tara Buakamsri. “การแปลงผืนป่าให้เป็นคาร์บอนเครดิตไม่ช่วยลดโลกเดือด”, Greenpeace Thailand, 16 ตุลาคม 2566. (Link)
  • ThaiPublica. “SCB EIC วิเคราะห์ตลาดคาร์บอนเครดิตไทยกับความท้าทายสำคัญที่มองข้ามไม่ได้”, ThaiPublica, 4 เมษายน 2566. (Link)

ภาษาอังกฤษ

  • Ben Elgin. “These Trees Are Not What They Seem”, Bloomberg, December 29, 2020. (Link)
  • Carbon Offset Guide. “High-Quality Offsets,” n.d. (Link)
  • Greenfield, Patrick. “Revealed: More than 90% of Rainforest Carbon Offsets by Biggest Certifier Are Worthless, Analysis Shows.” The Guardian, January 18, 2023. (Link)
  • Gwyneth Cheng. “Clearing the air: Questioning Singapore’s carbon credits decisions”, Kontinentalist, October 25, 2023 (Link)
  • Haya, Barbara K., Kelsey Alford-Jones, William R. L. Anderegg, Betsy Beymer-Farris, Libby Blanchard, Barbara Bomfim, Dylan Chin, et al. “Quality Assessment of REDD+ Carbon Credit Projects.” Berkeley Carbon Trading Project, September 15, 2023. (Link)
  • James Temple, and Lisa Song. “The climate solution actually adding millions of tons of CO2 into the atmosphere”. MIT Technology Review. April 29, 2021. (Link)
  • Patrick Greenfield. “Rainforest carbon credit schemes misleading and ineffective, finds report”. The Guardian, September 15, 2023. (Link)
  • SourceMaterial. “The Carbon Con – The World’s Biggest Companies, from Netflix to Ben & Jerry’s, Are Pouring Billions into an Offsetting Industry Whose Climate Claims Appear Increasingly at Odds with Reality,” January 18, 2023. (Link)
  • SourceMaterial, and Anton Delgado. “‘Blueprint for Disaster’ Singapore’s Carbon Hub Threatens Global Climate Targets.” SourceMaterial, October 9, 2023. (Link)
  • United Nations Framework Convention on Climate Change. “What Is REDD+?,” n.d. (Link)

ขอบคุณข้อมูลจาก

  • กรมป่าไม้ (Link)
  • องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) (Link)

สร้างสรรค์โดย

เรื่องและการผลิต : Punch Up

ผลงานชิ้นนี้ได้รับทุนสนับสนุนจาก : Earth Journalism Network โดย Internews

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า