SHARE

คัดลอกแล้ว

เรียกได้ว่าเป็นปรากฏการณ์ใหม่ที่พลิกโฉมการเมืองไทยให้ต่างไปจากรูปแบบเดิมๆ สำหรับชัยชนะในสนามเลือกตั้งผู้ว่ากรุงเทพมหานครของ ‘ชัชชาติ สิทธิพันธ์ุ’ ที่เรียกเสียงฮือฮามาตั้งแต่การหาเสียง ไปจนถึงวันแรกที่เข้าทำงาน อาจจะไม่ผิดนัก หากจะพูดว่าเขาคือชายผู้ที่กำลังถูกจับตามากที่สุดในช่วงเวลานี้ 

เบื้องหลังความสำเร็จก้าวสำคัญของ อ.ชัชชาติ ล้วนแต่ผ่านการวางแผนไตร่ตรองมาเป็นอย่างดี อย่างที่เขาเปิดเผยในงานเลี้ยงอาหารค่ำของสมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศแห่งประเทศไทย (FCCT) เมื่อวันที่ 22 มิ.ย. ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นการปรากฏตัวและร่วมมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างนักการเมืองที่ชนะการเลือกตั้งกับผู้สื่อข่าวต่างประเทศเป็นครั้งแรกนับตั้งเกิดรัฐประหารในปี 2549

WorkpointTODAY จะมาสรุปเรื่องราวการเดินทางกว่าจะถึงวันนี้ของ อ.ชัชชาติ และแผนการในอนาคตต่อจากนี้ ผ่านคำบอกเล่าจากปากเขาให้ฟังกันคร่าวๆ 

⚫️ การวางแผนหาเสียงเริ่มมาตั้งแต่สามปีที่แล้ว ในขณะที่ อ.ชัชชาติ ตัดสินใจสมัครชิงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี แต่พอพลาดจากการเป็นนายกรัฐมนตรี ก็มีการกลับมาตั้งคำถามทบทวนตัวเอง โดยเริ่มจาก 3 คำถามที่ว่า 

  • เราเป็นผู้เชี่ยวชาญในสิ่งที่กำลังทำหรือเปล่า และจากคำถามนี้ก็ได้นำไปสู่การสร้างทีมอาสาสมัคร และหาผู้ที่มีความเชี่ยวชาญในสายงานต่างๆ มารวมตัวกัน
  • สิ่งที่กำลังทำอยู่ยังทันสมัยอยู่หรือเปล่า หรือล้าสมัยไปแล้ว เพราะการทำงานของนักการเมืองต้องสัมพันธ์เกี่ยวข้องกับสิ่งที่นานาประเทศทั่วโลกกำลังทำกัน และในขณะเดียวกันก็ต้องสัมพันธ์กับบริบทของสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในประเทศด้วย 
  • กลุ่มอาสาสมัครยังทำงานกับสนุกอยู่หรือไม่ ความสนุกในการทำงานเป็นเรื่องสำคัญที่จะทำให้งานออกมามีประสิทธิผลและเป็นไปตามวัตถุประสงค์ ยิ่งไปงานอาสาสมัครที่ไม่มีค่าตอบแทนเป็นตัวเงิน ยิ่งสำคัญมากที่ต้องทำให้ทีมงานสนุกและมีความสุขกับงานที่ทำ 

⚫️ในตอนที่เริ่มหาเสียง มีโจทย์ใหญ่เข้ามา คือเรายังไม่มีความรู้เกี่ยวกับการบริหารกรุงเทพฯ มากนัก แต่ด้วยความที่เปิดตัวเป็นผู้สมัครอิสระ ทำให้สามารถดึงดูดอาสามัครที่มีความเชี่ยวชาญด้านต่างๆ มาร่วมงานได้ง่ายขึ้น เพราะก้าวข้ามการแบ่งพรรคแบ่งฝ่ายออกไป การทำงานเลยโฟกัสไปที่สิ่งที่เราจะทำให้กับกรุงเทพฯ เท่านั้น จนตอนนี้มีอาสาสมัครมาร่วมทีมเพื่อนชัชชาติมากกว่า 10,000 คน

⚫️ อีกหนึ่งโจทย์ใหญ่ก็คือการสื่อสาร มีการตั้งคำถามขึ้นมาว่าจะใช้ช่องทางสื่อสารช่องทางใดให้เข้าถึงประชาชนได้มากที่สุด และโลกออนไลน์ก็ตอบโจทย์นี้เป็นอย่างดี ทำให้ อ.ชัชชาติมีแม้กระทั่ง Tiktok ซึ่งคนที่ใช้ส่วนใหญ่มักเป็นเด็กๆ แต่เขามองว่า เด็กๆ นี่แหละที่มีอิทธิพลกับพ่อแม่ของพวกเขามากๆ ถึงกับไปบอกให้พ่อแม่เลือก อ.ชัชชาติมาเป็นผู้ว่าฯ ได้  

⚫️ ขณะเดียวกัน กลุ่มคนสูงอายุหรือคนทั่วๆ ที่อาจไม่ถนัดเรื่องเทคโนโลยีก็ไม่ควรถูกมองข้าม จึงมีการออกแบบใบปลิวหาเสียงมาเป็นหนังสือพิมพ์ ซึ่งเป็นสื่อที่ใครๆ ก็คุ้นเคย และอยู่ในชีวิตประจำวันของผู้คนมาจนถึงตอนนี้ อ่านหนังสือพิมพ์เสร็จ ยังถูกนำมาใช้ประโยชน์ต่อ มาปูโต๊ะ ห่อของ ห่อดอกไม้ หรือกระทั่งทำเป็นว่าวเล่นได้ด้วย

⚫️ ส่วนเรื่องป้ายหาเสียง อ.ชัชชาติเล่าว่า เขาได้ไอเดียป้ายหาเสียงเล็กๆ แบบนี้มาจากการหาเสียงเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ และมองว่าจริงๆ แล้วป้ายหาเสียงไม่จำเป็นต้องมีขนาดใหญ่เกะกะ แค่ทำให้ดูน่าสนใจ น่าค้นหา ก็เพียงพอแล้ว ในขณะเดียวกันก็เพิ่มความน่าดึงดูดของแคมเปญหาเสียงด้วยการถ่ายทอดนโยบายผ่านการ์ตูน ซึ่งนับเป็นเรื่องท้าทายมาก เพราะการจะสื่อสารนโยบายออกมาให้คนเข้าใจได้นั้น จะต้องมีความเข้าใจในรายละเอียดของนโยบายเป็นอย่างดี ซึ่งสุดท้ายประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก 

⚫️ อ.ชัชชาติแชร์ต่อว่า การหาเสียงไม่จำเป็นต้องจัดเวทีใหญ่โตให้สิ้นเปลืองอะไรนัก เพราะวัตถุประสงค์มันคือการเข้าถึงคนให้ได้ทุกระดับ อย่างที่เขาทำในวันสุดท้ายก่อนเลือกตั้ง เพียงแค่นำกล่องเล็กๆ มาใบหนึ่งใช้เป็นเวทีขึ้นไปพูดแถวสถานีรถไฟฟ้าใต้ดินที่มีคนเดินผ่านไปผ่านมา เพียงเท่านี้ก็สามารถเข้าถึงประชาชนทั่วไปได้แล้ว และสิ่งสำคัญอีกเรื่องก็คือต้องไม่ลืมว่าโลกทุกวันนี้เปิดกว้างและไปไกลมาก การแปลนโยบายเป็นภาษาอังกฤษเพื่อให้เข้าถึงสื่อมวลชนและชาวต่างชาติก็เป็นเรื่องที่ไม่ควรมองข้าม 

⚫️ เมื่อพูดถึงเรื่องนโยบายแล้ว อ.ชัชชาติเล่าว่า นโยบาย 216 นโยบายของเขาตอนนี้ไม่ได้เยอะเลย แม้นักการเมืองส่วนใหญ่ในอดีตจะชูนโยบายเด่นๆ เพียงแค่ 1-2 นโยบายเท่านั้น แต่สำหรับอ.ชัชชาติแล้ว เขามองว่าสิ่งสำคัญก็คือเราควรมีนโยบายที่มาตอบโจทย์ความต้องการของประชาชนได้ทุกระดับ เพื่อที่จะได้ปรับปรุงคุณภาพชีวิตของคนได้อย่างทั่วถึง ซึ่งในอนาคตเขาอาจมีนโยบายออกมาอีกเรื่อยๆ 

⚫️ อ.ชัชชาติยังเล่าต่อว่า เขาเลือกใช้วิธีการประกาศนโยบายทั้งหมดออกมาอย่างชัดเจนบนอินเทอร์เน็ต ซึ่งเป็นข้อดีทั้งกับเขาและประชาชน เนื่องจากประชาชนทั่วไปจะสามารถเข้ามาดูนโยบายที่เกี่ยวข้องกับพวกเขาได้เลย ในขณะเดียวกันเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องก็สามารถเข้ามาดูนโยบายการทำงานของพวกเขา และมีการเตรียมการก่อนมาร่วมงานกับผู้ว่าฯ คนใหม่ ซึ่งทำให้การทำงานของ อ.ชัชชาติ ในช่วงแรกๆ ง่ายขึ้นมาก เพราะเมื่อเริ่มทำงาน เจ้าหน้าที่ก็สามารถทำงานกันได้อย่างต่อเนื่องเลย

⚫️ อ.ชัชชาติได้ยกตัวอย่างการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นหลังจากรับตำแหน่งผู้ว่าฯ เขาได้เข้าไปพัฒนาแพลตฟอร์มรับคำร้องเรียน เพื่อตัดทอนกระบวนการเดิมซึ่งใช้เวลานาน ทำให้ปัญหาต่างๆ ได้รับการแก้ไขเร็วขึ้น โดยในวันแรกที่มีการเปิดใช้งานแพลตฟอร์มดังกล่าว มีเรื่องร้องเรียนเข้ามามากกว่า 43,000 เรื่อง ซึ่งผลที่ตามมาก็คือคนที่อยู่หน้างานสามารถรับรู้ปัญหาและเข้าไปแก้ไขได้ทันทีโดยไม่ต้องรอการสั่งการใดๆ เพียงส่งรายงานกลับมาว่ามีการแก้ไขเรียบร้อยแล้ว 

⚫️ อ.ชัชชาติกล่าวว่า กรุงเทพฯ ยังมีปัญหาเล็กๆ น้อยๆ ซ่อนอยู่อีกเยอะมาก เพราะที่ผ่านมามัวแต่มุ่งลงทุนในโครงการใหญ่ๆ มีการทุ่มงบประมาณมหาศาลไปกับ การก่อสร้างรถไฟฟ้า อุโมงค์ป้องกันน้ำท่วม หรือโรงงานขยะ แต่เส้นทางสัญจร ทางเดินเท้าของประชาชนกลับอยู่ในสภาพที่ไม่ดีนัก บริเวณของประชาชนบางแห่งยังคงยังเต็มไปด้วยสิ่งปฏิกูลสกปรกไม่น่ามอง ปัญหาเล็กๆ น้อยๆ เหล่านี้จะได้รับความสนใจมากขึ้น เพื่อให้ประชาชนได้มีคุณภาพชีวิตดีขึ้นกว่าเดิม

⚫️ อ.ชัชชาติตั้งใจว่า เขาจะลงพื้นที่แต่ละเขตทั่วกรุงเทพฯ ทุกวันอาทิตย์ เพื่อเข้าไปรับรู้ปัญหาความต้องการของประชาชนอย่างใกล้ชิด ขณะเดียวกันก็จะสื่อสารกับประชาชนอย่างสม่ำเสมอผ่านช่องทางที่สามารถเข้าถึงผู้คนได้ง่ายสุด อย่างการไลฟ์ผ่านเฟซบุ๊ก ซึ่งเขามองว่าเป็นช่องทางที่มีประสิทธิภาพในการสื่อสารให้ประชาชนได้รับรู้ว่าในขณะนี้กำลังทำอะไรอยู่ 

⚫️ ขณะเดียวกัน การเปิดข้อมูลให้เป็น Open Data ก็มีความสำคัญ อ.ชัชชาติเล่าว่า ข้อมูลเกี่ยวกับงบประมาณทั้งหมดที่จากเดิมจะถูกเก็บไว้เป็นความลับ หรือหากมีการเปิดเผยก็จะอยู่ในรูปของไฟล์ pdf ซึ่งยุ่งยากสำหรับการนำไปใช้ต่อ ตอนนี้จะถูกนำมาใส่ไว้บนเว็บไซต์เพื่อให้สะดวกในการเข้าถึงและนำข้อมูลไปใช้ 

⚫️ เรื่องการผ่อนคลายของประชาชนก็จะไม่ใช่เรื่องที่ถูกละเลยอีกต่อไป เพราะกรุงเทพฯ เป็นเมืองหลวงที่คนส่วนใหญ่เข้ามาหางานทำ นอกจากจะเพิ่มการสื่อสารกับภาคเอกชนมากขึ้นในเรื่องของการสร้างงานแล้ว ผู้ว่าฯ คนใหม่ยังมุ่งเน้นไปที่การสร้างความสุขให้กับชาวเมือง ด้วยการวางแผนจัดกิจกรรมเพื่อความผ่อนคลาย สลับสับเปลี่ยนไปยังสถานที่ต่างๆ ทั่วกรุงเทพ อย่างในเดือนนี้มีการจัดดนตรีในสวนสาธารณะให้ผู้คนเพื่อสร้างบรรยากาศแห่งความสุขสนุกสนาน

⚫️ อ.ชัชชาติย้ำว่า การจะทำให้กรุงเทพเป็นเมืองที่น่าอยู่นั้นต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกคน ไม่ใช่ตัวเขาเพียงคนเดียว ทุกครั้งที่มีการลงพื้นที่มักจะมีคนมาบอกกับตัวเขาว่า ฝากกรุงเทพฯ กับเขาด้วย แต่เขาก็ย้ำอยู่เสมอว่า สิ่งสำคัญก็คือทุกคนต้องเป็นหนึ่งเดียว คอยช่วยเหลือและร่วมมือกัน แล้วกรุงเทพฯ ของเราจะต้องดีขึ้นกว่าเดิมอย่างแน่นอน  

⚫️ในช่วงท้ายของการกล่าวปาฐกถา และตอบคำถามสื่อมวลชน อ.ชัชชาติกล่าวว่า เขาไม่เพียงแต่จะดูแลคนไทยที่อาศัยอยู่ในกรุงเทพฯ เท่านั้น แต่แรงงานข้ามชาติที่เข้ามาทำงานในกรุงเทพฯ ก็จะได้รับการดูแลในเรื่องระบบประกันสุขภาพและบริการพื้นฐานต่างๆ อย่างเท่าเทียม ขณะเดียวกันก็มั่นใจว่ากรุงเทพจะสามารถเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจของภูมิภาคนี้ได้ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ต้องขึ้นอยู่กับหลายภาคส่วน แต่ถ้าพูดถึงเรื่องความโปร่งใสและปัญหาคอรัปชัน รวมถึงกฎเกณฑ์ต่างๆ แล้วเขายืนยันว่าในตอนนี้กรุงเทพฯ มีการปรับปรุงในเรื่องเหล่านี้ดีขึ้นมากแล้ว ส่วนปัญหาเรื่องมลพิษทางอากาศและความปลอดภัยบนท้องถนน อ.ชัชชาติระบุว่าจะเริ่มทำการศึกษาเรื่องมลพิษอย่างจริงจังร่วมกับสถาบันต่างๆ เพื่อหาแนวทางแก้ไขที่มีประสิทธิภาพด้วยความร่วมมือกับทุกภาคส่วนในสังคม 

⚫️ สำหรับการชุมนุมทางการเมืองที่เกิดขึ้นอยู่เป็นประจำในพื้นที่ของกรุงเทพฯ อ.ชัชชาติกล่าวว่า กรุงเทพฯ เปิดกว้างสำหรับการแสดงออกทางการเมือง และมีความเป็นไปได้ที่จะกำหนดพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่งขึ้นมาให้เป็นพื้นที่แสดงออกทางการเมืองและจัดการชุมนุมได้อย่างสงบแต่ต้องอยู่ภายใต้กฎหมาย ในขณะเดียวกันยังมีการกล่าวถึงนโยบายเรื่องการอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรมอันเป็นเอกลักษณ์ของกรุงเทพฯ โดยจะมีการกำหนดพื้นที่อนุรักษ์ขึ้นมาเพื่อดูแลสถานที่สำคัญๆ ทางประวัติศาสตร์

⚫️ อ.ชัชชาติปิดท้ายปาฐถกาว่า ในวันนี้กล่าวได้ว่าเขาประสบความสำเร็จมาแล้วในระดับหนึ่ง จากการเริ่มต้นที่ดี มีนโยบายที่ชัดเจนมาตั้งแต่แรก แต่หากจะวัดผลงานกันจริงๆ ขอให้รอดูไปอีก 4 ปี พร้อมกับย้ำว่า ตอนนี้เขาโฟกัสกับงานในระดับท้องถิ่นมากกว่าการเมืองระดับประเทศ แต่ยืนยันว่าจะทำงานร่วมกับรัฐบาลให้มากที่สุดเพื่อประโยชน์ของชาวกรุงเทพฯ 

คำบอกเล่าข้างต้น ดูเหมือนจะเป็นสัญญาณดีที่เริ่มส่องประกายการเปลี่ยนแปลงให้กับการเมืองไทยในน้ำมือของคนรุ่นใหม่ ช่วงเวลา 4 ปีหลังจากนี้จะเป็นเวลาแห่งการพิสูจน์ตัวตนในฐานะผู้ว่ากรุงเทพมหานครของชายที่ชื่อ ‘ชัชชาติ สิทธิพันธ์ุ’ 

podcast

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า