อีเวนต์ใหญ่ต้นปีที่รวมตัวผู้นำโลกทั้งการเมือง ซีอีโอบริษัทใหญ่ เหล่าผู้กำหนดนโยบาย และผู้เชี่ยวชาญชั้นนำ ในงานประชุม World Economic Forum (WEF) ประจำปี 2566 ที่จัดขึ้นวันที่ 16-19 มกราคม 2566 ที่เมืองดาวอส ประเทศสวิตเซอร์แลนด์สัปดาห์ที่ผ่านมา
ธีมหลักของการประชุมปีนี้คือ “ความร่วมมือในโลกที่แตกแยก” หัวข้อพูดคุยหลัก ยังคงพูดถึง
-
ปัญหาภูมิรัฐศาสตร์
-
การแบ่งขั้วทางการเมือง
-
ประเด็นเศรษฐกิจของมหาอำนาจ ระหว่างสหรัฐ ยุโรป จีน
-
นโยบายการเงิน ปัญหาเงินเฟ้อทั่วโลก
-
ปัญหาการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ Climate Change
ในฝั่งของเทคโนโลยี หัวข้อที่ร้อนแรงของการประชุม คือ การอภิปรายถึง สถานการณ์ปัญญาประดิษฐ์ AI ประเภท Generative ที่กำลังจะเป็นอนาคตของโลก หลังโลกได้รู้จัก ChatGPT AI ที่ประมวลผลและสร้างเนื้อหาจากข้อมูลได้แทบจะทุกรูปแบบและทำงานได้อย่างรวดเร็วมาก
บรรดาซีอีโอบริษัทเทคโนโลยีต่างหันมาพูดถึงหัวข้อ AI Generative แซงหน้าเรื่อง Crypto และ Web3 ที่เคยแห่แหนพูดกันมากมายเมื่อต้นปี 2565 โดยสองประเด็นดังกล่าวปีนี้กลับเงียบลงมาก วงการเทคโนโลยีหันมาพูดเรื่อง ChatGPT กันหมด
ChatGPT คือ AI สร้างเนื้อหา และ Dall-E คือ AI วาดรูปด้วยคำสั่งเสียง จัดเป็น AI ประเภท Generative ที่กำลังถูกพูดถึงว่ามันจะมาเป็นอนาคตและทดแทนกูเกิ้ลได้
ตอนนี้ ChatGPT กำลังสร้างความฮือฮาในแวดวงการศึกษาในสหรัฐอเมริกาทั้งประโยชน์ของมัน และผลกระทบแบบร้ายๆก็ถูกพูดถึงด้วย หลังจากพบว่ามีนักศึกษามหาวิทยาลัยใช้ ChatGPT เขียนรายงานส่งอาจารย์ในระดับที่ได้ผลงานออกมายอดเยี่ยม
ในงาน World Economic Forum บรรดาผู้นำทางธุรกิจ ซีอีโอบริษัทเทคโนโลยี นักการศึกษา ต่างสัมมนาและอภิปรายถึงศักยภาพและข้อผิดพลาดของ AI Generative กันอย่างคึกคัก โดยเฉพาะประเด็นที่ว่า
ตกลงเราจะใช้ความฉลาดของมันอย่างไรดีให้ถูกที่ถูกทาง
กลายเป็นหัวข้อที่ถูกพูดแซงแทนที่เรื่องกระแส Crypto และ Web3 ที่เคยฮิตในที่ประชุมของผู้บริหารระดับสูงและผู้กำหนดนโยบายเมื่อต้นปีก่อน
“AI Generative มีศักยภาพมหาศาลมาก” ฮิโรอากิ คิตาโนะ ซีอีโอของ Sony Computer Science Laboratories ให้ความเห็น
เขาบอกว่า “AI Generative คือวิวัฒนาการต่อเนื่องจากความสามารถของ AI ทั่วไป”
เรื่องนี้ชัดเจนมาก เพราะยักษ์ใหญ่ Microsoft วางเดิมพันมหาศาลกับเม็ดเงินหลายพันล้านกับ AI Generative ด้วยความหวังว่ามันจะมาเปลี่ยนแปลงโลกและธุรกิจ
อ่าน : Open AI ผู้สร้าง ChatGPT บริษัทที่ Microsoft วางเดิมพันเพื่อแข่งกับ Google
ด้วยระบบการเรียนรู้ของ AI ชนิดนี้คือระดับ Deep Learning หรือเรียนรู้เชิงลึกมาก ทำให้มันสามารถ ‘รับข้อมูลเข้า’ และ ‘สร้างเนื้อหาใหม่’ ได้อย่างรวดเร็ว และเราสามารถใช้มันสร้างทุกอย่างตั้งแต่ช่วยเขียนรายงานส่งอาจารย์ไปจนถึงสร้างงานศิลปะชิ้นเยี่ยม
ลองจินตนาการภาพของ การใช้ AI Generative อย่าง ChatGPT มาช่วยในการเรียนรู้ของเด็กๆในอนาคต ที่เหมือนเราใช้กูเกิ้ลในยุคนี้
ในวงประชุม WEF จึงเริ่มเป็นห่วงว่ามันน่าจะมีผลต่อการเรียนรู้ของเด็กๆแน่นอน นอกเหนือไปจากที่ว่าเทคโนโลยีนี้เพิ่มความเสี่ยงใน ‘การโกง’ และ ‘การลอกเลียนผลงาน’ ด้วย
ความกังวลนี้ยังพูดถึงด้านมืดของ AI ด้วย กับข้อสงสัยทางกฎหมายและจริยธรรม ที่ระบบการทำงานของ AI Generative เข้าข่ายละเมิดลิขสิทธิ์ผลงาน ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาของครีเอเตอร์ที่ผลิตผลงานไว้บนเครือข่ายดิจิทัลแบบสาธารณะ ไปจนถึงละเมิดสิทธิคนในวงการเทคโนโลยีเอง เช่น โปรแกรมเมอร์โอเพ่นซอร์สที่เขียนโค้ดสาธารณะด้วย
อ่าน : ระหว่าง AI กับมนุษย์ ใครคือเจ้าของลิขสิทธิ์ทรัพย์สินทางปัญญากันแน่
ยิ่งไปกว่านั้นอาจมีแฮกเกอร์ร้ายๆใช้ AI Generative ไปทำการบิดเบือนข้อมูลออนไลน์ หรือเข้าไปแฮกฯ ChatGPT เพื่อสร้างมัลแวร์พันธุ์ใหม่ๆขึ้นมาอีก
อย่างไรก็ตามมีนักลงทุนบางส่วนประเมินว่า ความตื่นเต้นกับ ChatGPT และความเห่อเรื่อง AI Generative ของบริษัทเทคฯยักษ์ใหญ่ตอนนี้ อาจนำไปสู่อาการคล้ายจะเป็น ‘ฟองสบู่’ ในอนาคตได้ เพราะเมื่อถีงจุดที่บริษัทยักษ์ใหญ่อื่นๆ ต่างก็กระโจนลงมาในเรื่องนี้มันก็ไม่ใช่เรื่องใหม่อีกต่อไป
อ่าน : เทียบ ChatGPT แบบฟรีและแบบ Pro จ่ายเดือนละพันกว่าบาท ได้อะไรบ้าง
ถือเป็นความเคลื่อนไหวของ AI Generative เรื่องใหม่ของโลกที่กำลังอยู่ในความสนใจของเหล่าผู้บริหาร-ซีอีโอสายเทคโนโลยีในการประชุม World Economic Forum ที่เรื่องนี้แซงหน้า Crypto และ Web3 ที่แผ่วลงไปแล้ว