Advertisement

SHARE

คัดลอกแล้ว

โธมัส ดาวิน ผู้แทนองค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย ตอบคำถามเรื่องสิทธิในการแสดงความคิดเห็นโดยสันติของเด็กและเยาวชน

1. ตามหลักอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก เด็กจะใช้สิทธิในการมีส่วนร่วมอย่างไร

สิทธิในการมีส่วนร่วมของเด็กระบุอยู่ในมาตรา 12 ของอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก  ซึ่งบอกไว้อย่างชัดเจนว่าเด็กควรมีสิทธิในการมีส่วนร่วมและการแสดงออกอย่างสันติซึ่งหมายความว่าพวกเขาไม่ควรต้องตกอยู่ในอันตรายหรือต้องเผชิญกับความรุนแรงและการถูกคุกคามข่มขู่ทุกรูปแบบจากการแสดงความคิดเห็นนั้น ๆในขณะเดียวกันพวกเขาก็ไม่ควรเป็นผู้คุกคามผู้อื่นหรือทำให้ผู้อื่นตกอยู่ในอันตรายจากการแสดงความคิดเห็นด้วยเช่นกัน

2. เด็กและสมาชิกครอบครัวจะพูดคุยกันอย่างไรเมื่อมีความเห็นที่ต่างกัน

สิ่งสำคัญคือคำว่าการมีส่วนร่วมเวลาเรากำลังพูดคุยแลกเปลี่ยนกับใครก็ตาม มันจะมีช่วงที่เราพูดสลับกับช่วงที่อีกฝ่ายหนึ่งพูด เราต้องสร้างพื้นที่หรือโอกาสหรือบรรยากาศให้อีกฝ่ายรู้สึกอยากจะมีส่วนร่วมในการแลกเปลี่ยน  ให้ทุกฝ่ายรู้สึกว่าไม่ว่าเขาจะพูดอะไร ก็จะได้รับการรับฟังและให้เกียรติ และแม้ว่าเราจะไม่เห็นด้วยกับเขาก็ตาม การแลกเปลี่ยนนั้น ๆ ก็จะเป็นไปอย่างเคารพและให้เกียรติซึ่งกันและกัน โดยสรุปแล้ว ความรู้สึกปลอดภัยที่จะแลกเปลี่ยนพูดคุย คือสิ่งที่สำคัญที่สุดในบทสนทนาในครอบครัว หรือบทสนทนากับใครก็ตาม

เรามักพูดกันเสมอว่า เด็กเปรียบเสมือนฟองน้ำ  พวกเขารับรู้และสัมผัสได้ว่าในครอบครัวมีพื้นที่หรือบรรยากาศที่เอื้อให้พวกเขาได้พูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นอย่างแท้จริงหรือไม่  หากรู้สึกว่าไม่มี เด็กก็อาจจะเลือกที่จะไม่พูดกับคนในครอบครัว สิ่งสำคัญคือ พ่อแม่หรือผู้มีอำนาจ มีหน้าที่ที่จะต้องสร้างพื้นที่ โอกาสและบรรยากาศที่ปลอดภัยให้แก่เด็กรวมถึงคนรุ่นใหม่ เพื่อให้เกิดการมีส่วนร่วมอย่างแท้จริงโดยไม่ต้องกลัวว่าจะถูกตัดสินหรือถูกลงโทษ

3. เด็กและสมาชิกครอบครัวที่มีความเห็นต่างทางการเมืองจนเกิดความเครียด จะรับมือกับผลกระทบด้านสุขภาพจิตอย่างไร

ยูนิเซฟเชื่อว่าครอบครัวคือเสาหลักสำหรับความเป็นอยู่ที่ดีของเด็ก  ผมคิดว่าก่อนที่จะหาความช่วยเหลือหรือคำแนะนำจากคนภายนอก คนในครอบครัวควรจะมีการพูดคุยกันและสร้างบรรยากาศให้เด็ก ๆ รู้สึกปลอดภัยและมั่นใจในการเปิดใจพูดคุยถึงประเด็นต่าง ๆ ที่อยู่ในใจเขา จริง ๆ แล้ว ประเด็นด้านสุขภาพจิตหรือความเครียดส่วนใหญ่สามารถจัดการได้ในระดับครอบครัวโดยการเปิดใจพูดคุยรับฟังและหาทางออกร่วมกัน ซึ่งจะทำให้เด็ก ๆ รู้สึกปลอดภัย ได้รับการปกป้อง และอย่างน้อยก็ไม่รู้สึกว่ากำลังเผชิญกับปัญหาความเครียดเหล่านั้นอย่างโดดเดี่ยว แต่หากสิ่งที่เกิดขึ้นนั้นเกินกว่าที่ผู้ปกครองจะรับมือได้ ก็มีช่องทางต่าง ๆ ที่สามารถให้ความช่วยเหลือด้านสุขภาพจิต รวมถึงโครงการที่ยูนิเซฟให้การสนับสนุน เช่น lovecarestation.com ซึ่งเป็นช่องทางออนไลน์ที่เด็กและเยาวชนสามารถพูดคุยขอคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญได้โดยไม่ต้องเปิดเผยตัวตน และสามารถส่งต่อเคสไปยังบริการที่ความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านในกรณีที่จำเป็น และยังมีช่องทางอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็น สายด่วน 1300, ไลน์แอด @Khuikun หรือ จะเป็นคลินิกสุขภาพจิตที่โรงพยาบาลทั่วไปด้วยเช่นกัน

4. ยูนิเซฟได้ทำอะไรไปแล้วบ้างในสถานการณ์ตอนนี้

หลายคนคงจะได้เห็นแถลงการณ์ที่เราส่งออกไปเมื่อวันที่ 18 สิงหาคม ซึ่งเราได้แสดงถึงข้อกังวลและเรียกร้องให้ทุกฝ่ายเคารพพื้นที่ของเด็กและเยาวชนในการแสดงความคิดเห็นอย่างสันติ ซึ่งควรเป็นไปโดยปราศจากความกลัว การถูกคุกคามข่มขู่ หรือความรุนแรงทุกรูปแบบ จากประสบการณ์ของยูนิเซฟจากทั่วโลกในสถานการณ์ที่คล้ายคลึงกัน รัฐบาลซึ่งเป็นผู้มีอำนาจหน้าที่ต้องให้ความสำคัญกับการปกป้องคุ้มครองเด็กตลอดเวลา เรายึดมั่นในสิ่งที่เราสื่อสารออกไปในแถลงการณ์ เพราะเป็นสิ่งที่ตั้งอยู่บนหลักการของอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก ซึ่งประเทศไทยเป็นประเทศแรก ๆ ที่ลงนามและให้สัตยาบัน 

นอกเหนือไปจากแถลงการณ์ฉบับนั้น เราได้รีบเข้าพบกับภาคีต่าง ๆ ของเรา เพื่อให้ความช่วยเหลือไปถึงเด็ก ๆ ที่กำลังได้รับผลกระทบโดยเร็ว ทั้งทำงานกับกระทรวงศึกษาธิการเพื่อประเมินและปรับปรุงระเบียบแนวทางที่มีอยู่ เพื่อให้หลักประกันต่อสิทธิการแสดงความคิดเห็นของเด็ก ๆ ในโรงเรียนและสถานศึกษาต่าง ๆ รวมทั้งการสร้างกลไกที่ช่วยให้เด็กนักเรียน หรือบุคลากรสามารถร้องเรียนเมื่อเกิดการละเมิดสิทธิได้ ซึ่งก็รวมถึงสายด่วนการศึกษา 1579 ของทางกระทรวงฯ

เราได้เข้าพบกับกลุ่มนักเรียนต่าง ๆ เพื่อรับฟังความคิดเห็นและสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นในสถานศึกษา ว่าเสียงของพวกเขาถูกรับฟังหรือไม่ พวกเขาถูกปฏิบัติด้วยอย่างไร และมีอะไรที่เราสามารถที่จะช่วยสนับสนุนเพิ่มเติม เพื่อปกป้องสิทธิของเด็ก ๆ ในสถานศึกษาได้

และเรายังได้ทำงานร่วมกับกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมุนษย์ กระทรวงสาธารณสุข และองค์กรภาคประชาสังคม ในการที่จะรับมือกับความเครียดและความรุนแรงที่อาจเกิดขึ้นในครอบครัวหรือชุมชนที่เกิดจากความเห็นต่างทางการเมือง ซึ่งเราก็พยายามดูว่าสายด่วนร้องเรียนที่มีอยู่ เด็กและเยาวชนเข้าถึงได้ไหม และมีประสิทธิภาพในฐานะเครื่องมือแจ้งเตือนและให้การคุ้มครองต่อเด็กที่อยู่ในภาวะเสี่ยงเพราะจุดยืนทางการเมืองหรือไม่  เราทราบว่ามีสายด่วนอยู่หลายช่องทาง เช่น 1579 ของกระทรวงศึกษาธิการ และ 1300 ของกระทรวงพัฒนาสังคมฯ  ซึ่งบางครั้งเด็กอาจจะไม่แน่ใจว่าจะโทรไปที่ไหนดี แต่เราก็เชื่อว่าการมีหลายช่องทางร้องเรียน ก็อาจจะช่วยเพิ่มโอกาสที่จะเด็กจะถูกรับฟังและเข้าถึงความช่วยเหลือได้มากขึ้น และเราก็ยังคงทำงานร่วมกับกระทรวงเพื่อดูว่าสายด่วนเหล่านี้มีการใช้งาน หรือมีประสิทธิภาพมากน้อยขนาดไหน เวลาที่เด็กโทรเข้ามาขอความช่วยเหลือ

ยูนิเซฟ เป็นองค์กรหนึ่งของสหประชาชาติ มีบทบาทเป็นผู้พิทักษ์อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก หน้าที่ของเราคือการย้ำเตือนรัฐต่าง ๆ ในเรื่องพันธสัญญาของรัฐที่มีต่อสิทธิเด็ก และช่วยสนับสนุนรัฐในการปกป้องสิทธิเหล่านี้ ซึ่งรวมถึงสิทธิในการแสดงความคิดเห็นด้วย

อย่างไรก็ตาม เราไม่ใช่รัฐบาลซึ่งเป็นผู้มีอำนาจหน้าที่หลักในการดูแลเรื่องสิทธิต่าง ๆ ของเด็ก เราอยู่เพื่อช่วยสนับสนุนรัฐบาลและภาคประชาสังคมในการชี้ช่องว่างในเรื่องสิทธิเด็ก และช่วยหาหนทางแก้ไขปัญหาร่วมกัน ซึ่งตั้งอยู่บนหลักของกฎหมายและสนธิสัญญาระหว่างประเทศเรื่องสิทธิเด็กและสิทธิมนุษยชน  แต่รัฐบาลไทยมีอำนาจอธิปไตยในการตัดสินใจ เพราะท้ายที่สุดรัฐบาลคือผู้มีอำนาจหน้าที่หลักในเรื่องสิทธิเด็กของประเทศนั้น ๆ และบทบาทของเราคือการช่วยเหลือสนับสนุน ให้คำปรึกษาว่าทำอย่างไรจึงจะพิทักษ์สิทธิของเด็ก ๆ ได้ ซึ่งนั่นก็เป็นสิ่งที่รัฐบาลได้ให้คำมั่นไว้แล้วจากการให้สัตยาบันต่ออนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก

5. ยูนิเซฟจะปกป้องคุ้มครองเด็กและเยาวชนที่แสดงความคิดเห็นได้อย่างไร

เราได้ติดตามสถานการณ์และผลกระทบที่เกิดขึ้นกับเด็กและเยาวชนอย่างใกล้ชิด และทราบว่ามีหลายกรณีที่เด็ก ๆ ต้องเผชิญกับการถูกคุกคามข่มขู่ ถูกให้ออกจากโรงเรียน หรือในบางกรณีที่ถูกไล่ออกจากบ้าน  โดยเราได้ทำงานกับกระทรวงต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องเพื่อให้มีการดำเนินการอย่างจริงจังตามแนวทางเพื่อส่งเสริมความปลอดภัยของเด็ก รวมถึงการมีกลไกการร้องเรียนต่าง ๆ ที่สามารถรองรับและให้การคุ้มครองเด็กและเยาวชนได้อย่างทันท่วงที ผ่านช่องทางต่างๆ เช่น สายด่วน 1579 ของกระทรวงศึกษาธิการ และ สายด่วน 1300 ของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และเราได้ทำงานต่อเนื่องกับพันธมิตรภาคประชาสังคมอย่างมูลนิธิแพธทูเฮลท์ เพื่อขยายช่องทางและขอบเขตความช่วยเหลือผ่านทาง lovecarestation.com ซึ่งเป็นช่องทางที่เด็กสามารถขอคำปรึกษาโดยไม่ต้องเปิดเผยข้อมูลส่วนตัว

ด้วยความที่เราเป็นองค์กรที่ไม่เลือกปฏิบัติและไม่เกี่ยวข้องกับปัจจัยทางการเมือง เราจึงไม่สามารถอยู่ในการชุมนุมใด ๆ ได้ เราใช้การทำงานอย่างใกล้ชิดกับหน่วยงานอื่น คือ สำนักงานข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (OHCHR) ซึ่งมีบทบาทหลักในการติดตามสถานการณ์ชุมนุมและรายงานเกี่ยวกับประเด็นต่าง ๆ ที่กระทบสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองของประชาชน เราพยายามมีบทบาทอย่างสร้างสรรค์โดยเน้นย้ำให้ทุกฝ่ายคำนึงถึงสิทธิเด็ก และได้ทำงานร่วมกับหน่วยงานภาครัฐและภาคประชาสังคมเพื่อมุ่งเน้นให้สิทธิของเด็กได้รับการคุ้มครองและมุ่งให้เด็ก ๆ ได้รับความช่วยเหลืออย่างทันท่วงทีเมื่อเกิดการละเมิดสิทธิ์ รวมถึงสนับสนุนให้ผู้มีหน้าที่สามารถดำเนินการเพื่อปกป้องคุ้มครองสิทธิของเด็กและเยาวชนได้ดียิ่งขึ้น

6. สำหรับยูนิเซฟแล้ว การไม่เลือกปฏิบัติและไม่เกี่ยวข้องกับปัจจัยทางการเมืองหมายความว่าอย่างไร

การไม่เลือกปฏิบัติและไม่เกี่ยวข้องกับปัจจัยทางการเมือง หมายถึงการไม่เลือกเข้าข้างใด และหมายถึงการไม่บ่งชี้ว่าเราเห็นด้วย หรือไม่เห็นด้วย กับฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง  บทบาทของเราคือการเป็นผู้พิทักษ์หลักการของอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก และการตั้งคำถามว่าสิทธิของเด็กนั้นได้รับการเคารพหรือไม่ รวมถึงการส่งสัญญาณที่เหมาะสม เพื่อให้ทุกฝ่ายให้หลักประกันว่าสิทธิต่าง ๆ ของเด็กจะได้รับการปกป้องและส่งเสริมอย่างเต็มที่

และนั่นก็คือสิ่งที่เราพยายามทำในแถลงการณ์ของเราเมื่อวันที่ 18 สิงหาคมที่ผ่านมา  เพื่อที่จะย้ำเตือนทุกคนถึงสิ่งที่อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กได้ระบุไว้เกี่ยวกับสิทธิในการมีส่วนร่วมและการแสดงความคิดเห็นของเด็ก

เราทราบดีว่าบางท่านอาจจะมองว่าท่าทีดังกล่าวเป็นจุดยืนทางการเมือง ซึ่งจริง ๆ แล้วไม่ใช่ และเราไม่ได้มีเจตนาเช่นนั้น เราเพียงพยายามจะย้ำเตือนว่าไม่ควรมีเด็กหรือเยาวชนคนใดที่ต้องเป็นเหยื่อของการคุกคาม หรือความรุนแรงในรูปแบบใดก็ตามจากการที่พวกเขาแสดงความคิดเห็น ไม่ว่าจะเป็นความคิดเห็นเรื่องอะไร

7. เมื่อเด็กเข้าสู่กระบวนการทางกฎหมาย ต้องมีอะไรบ้าง

ในประเทศไทย พระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัวค่อนข้างชัดเจนอยู่แล้ว กฎหมายนี้ให้การคุ้มครองเด็กและเยาวชนโดยใช้แนวทางที่จะช่วยให้เด็กเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมอย่างสร้างสรรค์ โดยไม่ได้มองเด็กเป็นอาชญากร และให้หาทางเลือกอื่นให้มากที่สุดแทนการดำเนินคดี กฎหมายนี้กล่าวชัดเจนว่าเด็กมีสิทธิที่จะมีที่ปรึกษากฎหมายและจะต้องได้รับการปกป้องคุ้มครองเป็นพิเศษตลอดกระบวนการทางกฎหมาย ซึ่งจะแตกต่างจากกรณีของผู้ใหญ่อย่างชัดเจน และตามหลักการของอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กแล้ว การกักขังเด็กควรเป็นทางเลือกสุดท้ายและทำด้วยระยะเวลาที่สั้นที่สุด

8. โรงเรียนจะเป็นพื้นที่ปลอดภัยสำหรับการมีส่วนร่วมของเด็กได้อย่างไร

ยูนิเซฟเชื่อว่าโรงเรียนและสถาบันการศึกษาควรเป็นพื้นที่ปลอดภัยสำหรับเด็กเสมอ ทั้งปลอดภัยในการเล่น การเรียน และการแสดงความคิดเห็น นั่นคือจิตวิญญาณของโรงเรียนอย่างที่ควรจะเป็น สิ่งนี้สะท้อนอยู่ในแนวทางการคุ้มครองเด็กในโรงเรียน ที่กระทรวงศึกษาธิการประกาศออกมาหลังจากมีรายงานว่ามีการคุกคาม ข่มขู่เด็กที่แสดงความคิดเห็น หรือไล่เด็กออก

ยูนิเซฟทำงานกับกลุ่มนักเรียนและกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อติดตามว่าแนวทางที่ประกาศมานี้มีการบังคับใช้จริงและ มีการสร้างพื้นที่ปลอดภัยสำหรับเด็กหรือไม่ ตลอดจนมีกลไกสำหรับนักเรียนในการร้องเรียนหากแนวทางเหล่านี้ไม่ถูกปฏิบัติตามหรือไม่ ตัวอย่างเช่น หากมีนักเรียนที่ถูกคุกคาม หรือข่มขู่โดยครู เพราะเรื่องความคิดเห็น เด็ก ๆ ควรจะสามารถที่จะร้องเรียนไปทางระบบช่องทางของฝ่ายการศึกษา หรือฝ่ายกฏหมายได้ ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับรูปแบบของการคุกคามนั้น ๆ

ในลักษณะเดียวกัน เวลาที่เราพูดถึงเสรีภาพในการแสดงออก หรือการมีความคิดเห็น หลักการนี้ต้องใช้กับทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน ในขณะที่นักเรียนกลุ่มหนึ่งรู้สึกว่าการชุมนุมประท้วงเป็นวิธีที่พวกเขาจะแสดงความเห็นเกี่ยวกับสิ่งที่เกิดขึ้นในสังคม แต่ก็อาจจะยังมีเด็กและเยาวชนอีกกลุ่มหนึ่งที่ไม่อยากเข้าร่วมชุมนุมหรือไม่เห็นด้วยกับสิ่งที่ผู้ชุมนุมเสนอ จึงควรมีพื้นที่สำหรับเด็ก ๆ กลุ่มนี้เช่นกัน ให้เขาสามารถมีสิทธิที่จะไม่เห็นด้วยหรือมีความคิดเห็นที่ต่างไป สิทธินี้ควรได้รับการเคารพ และปกป้องอย่างเท่าเทียมกัน และพวกเขาก็ไม่ควรถูกรังแกหรือข่มขู่เช่นกัน

โรงเรียนควรเป็นพื้นที่ปลอดภัยสำหรับเด็กในการแสดงสิทธิในการมีส่วนร่วม และมีเสรีภาพในการแสดงออกโดยไม่ต้องกลัวว่าจะมีการข่มขู่ ถูกกลั่นแกล้ง หรือใช้ความรุนแรง ไม่ว่าพวกเขาจะสนับสนุนการชุมนุมหรือไม่

9. เราจะรับมือการบูลลี่ และประทุษวาจาได้อย่างไร

การบูลลี่สามารถเกิดขึ้นได้ในหลายรูปแบบ โดยทั่วไปมันคือการที่เรารู้สึกว่า เราไม่มีอำนาจหยุดความคิดเห็นเชิงลบ หรือการกดดันที่มุ่งโจมตีชีวิต หรือความเชื่อของเรา รวมถึงปฏิสัมพันธ์ที่ส่งผลกระทบเชิงลบกับเรา เช่น ความรุนแรงที่กระทบต่อสภาพจิตใจของเรา ไม่ว่าผู้ที่ระรานรังแกเราจะเป็นเพียงคนเดียวหรือเป็นกลุ่มบุคคล และไม่ว่าการถูกกลั่นแกล้งนั้นจะเกิดขึ้นในการสื่อสารทางโลกออนไลน์หรือในชีวิตประจำวันของเรา ผู้ถูกบูลลี่จะรู้สึกถึงอำนาจที่ไม่เท่ากันเสมอ

การถูกบูลลี่เกิดขึ้นเป็นประจำกับเยาวชนและผู้คนทั่วไปในสังคมปัจจุบัน อาจเป็นรูปแบบการบังคับให้ใครบางคนทำอะไรบางอย่างที่เขาไม่อยากทำ หรือ บังคับให้ใครพูดถึงอะไรบางอย่างที่เขาไม่อยากพูด หรือบังคับให้ใครพูดคุยเกี่ยวกับประเด็นบางอย่างหรือเข้าร่วมกิจกรรมที่เขาไม่ต้องการจะเข้าร่วม หรือในทางตรงข้าม เขาอาจรู้สึกว่าไม่มีเสรีภาพในการเสนอหรือแสดงความคิดเห็น แม้ว่าเขาอยากจะทำก็ตาม

ปัจจุบัน เราได้พบเห็นการบูลลี่กันในทั้งสองฟากฝั่งทางการเมือง ซึ่งนั่นเป็นสิ่งที่เราต้องระวัง และในแถลงการณ์ของเราเมื่อวันที่ 18 สิงหาคม เราก็หวังที่จะย้ำเตือนทุกฝ่ายในเรื่องของการมีพื้นที่ในการแสดงความคิดเห็นที่ปลอดภัย และนั่นก็คือสิทธิที่ทุก ๆ คนที่ควรได้รับการปกป้องจากความรุนแรง การข่มขู่คุกคามทุกรูปแบบ ซึ่งรวมถึงการบูลลี่ด้วย

เช่นเดียวกัน ประทุษวาจาเป็นสิ่งที่ยอมรับไม่ได้ ผมเชื่อว่าเราควรจะมุ่งสร้างให้เกิดการสนทนาเชิงสร้างสรรค์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสถานการณ์ปัจจุบันที่ประชาชนในประเทศไทยมีมุมมองที่ต่างกัน

สิ่งที่ยูนิเซฟกำลังพูดถึงก็คือ ทุกอย่างต้องตั้งอยู่บนหลักเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น ซึ่งเสรีภาพนั้นเริ่มต้นจากความรู้สึกปลอดภัย ประทุษวาจาส่งผลเชิงลบต่อการพยายามสร้างการสนทนาเชิงสร้างสรรค์ และเป็นสิ่งที่ไม่ควรจะเกิดขึ้น ไม่ควรมีอยู่เลย ไม่ควรที่จะต้องทนแบกรับ ไม่ควรเป็นที่ยอมรับ และเป็นสิ่งที่ทุกคนควรจะต่อต้าน

10. เราเห็นดาราหลายคนถูกกดดันให้ออกมาแสดงจุดยืน คุณคิดอย่างไรกับเรื่องนี้

เรากลับมาที่หลักการเดิม เรื่องสิทธิและเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น ผมเข้าใจว่า ขณะนี้สถานการณ์ทางการเมืองมีผลกระทบต่อความรู้สึกของผู้คนจำนวนมาก และหลายคนตระหนักถึงพลังของดาราที่จะเข้าถึงผู้คนเป็นล้าน การมีความเชื่ออย่างหนักแน่นเป็นสิ่งที่ดี แต่การใช้สิทธิเสรีภาพของเราก็ต้องไม่ล้ำเส้นคนอื่น เช่น การบูลลี่บุคคลสาธารณะให้ออกมาแสดงจุดยืน เพราะพวกเขาก็มีสิทธิที่จะแสดงออกหรือเลือกไม่แสดงออกเช่นกัน  ในความคิดของผม การขู่ที่จะบอยคอท ก็คือการบูลลี่อย่างหนึ่ง ผมคิดว่าเราไม่ควรทำ เพราะมันก็คือการที่เราใช้วิธีการบางอย่าง ที่เราเองก็คงไม่อยากเป็นฝ่ายถูกกระทำจากวิธีการนั้น

เรายึดถือในหลักเสรีภาพทางความคิด และสิทธิในการแสดงความคิดเห็น  เราไม่สามารถขอให้คนอื่นเคารพความคิดเห็นของเรา หรือเคารพเสรีภาพในการแสดงความเห็นของเรา หากตัวเราไม่ใช้หลักการเดียวกันนี้กับคนอื่น ๆ ไม่ว่าเขาเหล่านั้นจะเป็นศิลปินดาราหรือไม่ก็ตาม ผมเข้าใจดีว่าดาราสามารถเป็นกระบอกเสียงให้คนจำนวนมากได้  แต่มันก็กลับมาที่หลักการเดิม เรื่องสิทธิในการแสดงความคิดเห็น เสรีภาพทางความคิด สิทธิในการตัดสินใจ ซึ่งมันก็ต้องครอบคลุมถึงทุกคนอย่างเท่าเทียม และไม่ควรมีใครต้องถูกบีบบังคับให้แสดงความคิดเห็น ถ้าเขาไม่ได้อยากจะทำ

ทีนี้ เรื่องที่ Friends of UNICEF บางท่าน อาจจะรู้สึกว่าต้องออกมาสนับสนุนจุดยืนของยูนิเซฟอย่างชัดเจนหรือไม่นั้น นั่นไม่ใช่สิ่งที่จำเป็นสำหรับเรา นั่นเป็นเสรีภาพในการตัดสินใจของเขา Friends of UNICEF มีสิทธิที่เท่าเทียมและเราเคารพในสิทธิการแสดงความคิดเห็นของพวกเขา ซึ่งเราเสียใจที่พวกเขาหลายคนอาจรู้สึกกดดันจากกระแสเรียกร้องในสังคมออนไลน์  แน่นอนว่าเราสามารถถามความคิดเห็นของดาราเกี่ยวกับเหตุการณ์ได้ แต่ก็เป็นสิทธิของเขาว่าจะตอบสนองอย่างไรหรือไม่ สำหรับยูนิเซฟแล้ว เส้นเพดานของเราคือ การไม่เห็นพ้องต่อหลักการที่ยูนิเซฟยึดมั่น ถ้าเป็นเช่นนั้นแล้ว ความร่วมมือกับพันธมิตรนั้น ๆ อาจจะต้องถูกพิจารณาใหม่ นอกเหนือจากนี้แล้วเราเคารพต่อการเลือกและการตัดสินใจของพันธมิตรแต่ละท่าน

podcast

LATEST
OUR PICKS
HOT
กำลังโหลดบทความถัดไป...

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า