SHARE

คัดลอกแล้ว

จับตา บอร์ดกสทช. ประชุม 9 พ.ย.นี้ เตรียมเคาะจ่ายค่าลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดบอลโลก หลัง ‘พล.อ.ประวิตร’ ให้ กกท. ประสานใช้เงินกองทุน กทปส. ขณะที่ ‘ก้าวไกล’ เปิดเหตุผลทำไมไทยต้องจ่ายแพงกว่าประเทศอื่นกว่า 1,600 ล้านบาท

มีรายงานว่า พรุ่งนี้ (9 พ.ย. 65) เวลา 9.00 น. คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ บอร์ดกสทช. จะประชุมพิจารณา การใช้เงินจากกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ (กทปส.) เป็นค่าลิขสิทธิ์ ถ่ายทอดสด ฟุตบอลโลก Qatar 2022 ระหว่างวันที่ 21 พ.ย. – 18 ธ.ค. 65 หลังจาก พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี สั่งการให้การกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) ประสานมายัง กสทช.

ขณะที่ พล.อ.ประวิตร ให้สัมภาษณ์  ที่ทำเนียบรัฐบาลวันนี้ (8 พ.ย. 65) กรณีการถ่ายทอดสดฟุตบอลโลกต้องเปลี่ยนให้เป็นเอกชนถือลิขสิทธิ์หรือไม่ เพราะมีการต่อต้านไม่ให้ใช้งบในส่วนที่ กสทช. ดูแล แต่ให้ใช้งบประมาณของเอกชนแทน ซึ่ง พล.อ.ประวิตร ตอบว่า “ก็ไม่รู้สิ ทำได้ไหม คุณไปหาสิ”

(แฟ้มภาพ)

ทางด้าน เพจเฟซบุ๊กของ พรรคก้าวไกล ได้แสดงความเห็นเรื่องนี้ ระบุว่า การตัดสินอนุญาตควบรวม True-DTAC ยังไม่เคลียร์ กสทช. ยังมีเรื่องชวนให้ตั้งคำถามไม่หยุด เพราะ กสทช. กำลังจะพิจารณาใช้เงินของรัฐกว่า 1,600 ล้านบาท หรือ 42 ล้านเหรียญสหรัฐ เพื่อซื้อลิขสิทธิ์บอลโลก เรื่องนี้ต้องคำถาม เพราะ กสทช. กำลังจะทำให้คนไทยดูบอลในราคาซื้อลิขสิทธิ์ที่แพงกว่าคนทั้งโลก

จากข้อมูลของสำนักข่าวอิศรา ประเทศในกลุ่มอาเซียนมีการซื้อลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดฟุตบอลโลกอยู่ที่ ระหว่าง 261-948 ล้านบาท

– สิงคโปร์ 948 ล้านบาท

– มาเลเซีย 261 ล้านบาท

– เวียดนาม 532 ล้านบาท

– เนปาล 57 ล้านบาท

แม้แต่ประเทศในโซนยุโรปที่มีประชากรใกล้เคียงกับไทยอย่างประเทศสเปน ยังจ่ายค่าลิขสิทธิ์เพียงแค่ 1,285.16 ล้านบาทเท่านั้น แน่นอนว่าแต่ละประเทศมีเงื่อนไขทางเศรษฐกิจและการถ่ายทอดที่ต่างกันออกไป แต่ทำไมราคาที่คนไทยจ่ายถึงแพงกว่าอย่างผิดปกติ

(แฟ้มภาพ)

สาเหตุที่คนไทยต้องจ่ายแพงกว่าทุกประเทศ น.ส. ศิริกัญญา ตันสกุล รองหัวหน้าพรรคก้าวไกล บอกว่า มาจากกฎเกณฑ์พิลึกพิลั่นของ กสทช. เอง ทั้ง “กฎmust carry” ที่ทำให้เราต้องซื้อลิขสิทธิ์ทุกช่องทาง ทั้งทีวี อินเตอร์เน็ต มือถือ ทำให้เราต้องจ่ายแพงถึง 1,600 ล้านบาท และ กฎ must have ที่ทำให้ไม่มีเอกชนหน้าไหนต้องการซื้อลิขสิทธิ์ในราคาสูงถึง 1,600 ล้านบาท เพราะเมื่อซื้อมาแล้วก็ต้องให้ลิขสิทธิ์กับฟรีทีวีได้ถ่ายทอดสดทุกช่องทางเช่นเดียวกัน กฎเหล่านี้แก้ไขได้ง่ายนิดเดียว เพียงแค่ กสทช. เปลี่ยนประกาศของตนเองเพื่อปลดล็อกให้เจรจาค่าลิขสิทธิ์ที่ถูกกว่านี้ได้ แต่ผ่านมากว่า 10 ปี กสทช. ไม่คิดทำ

เรื่องที่ใหญ่กว่ากฎกสทช. คือการที่ กสทช. กำลังจะทำผิดกฎหมาย เดินตามใบสั่งของพล.อ.ประวิตร ที่จะใช้เงิน กสทช. ในการประมูล เงินที่ กสทช. ได้มาจากกองทุน “กทปส.” ที่มีไว้เพื่อวิจัยและพัฒนาระบบกระจายเสียงเพื่อประโยชน์สาธารณะ ซึ่งในจำนวนนี้รวมถึงการสนับสนุนประชาชน โดยเฉพาะผู้พิการ ผู้ด้อยโอกาส ผู้มีความหลากหลายทางสังคม ให้เข้าถึงการให้บริการด้านดิจิทัลอย่างทั่วถึง

“ที่กรณีการควบรวม True-DTAC เราขอร้องให้ กสทช. ทำตามกฎหมาย แต่กสทช. กลับไม่ทำ แต่ในกรณีนี้ กสทช.กลับรีบบิดเบือนอำนาจของตัวเองตามใบสั่งผู้มีอำนาจ” น.ส.ศิริกัญญา กล่าว พร้อมตั้งคำถามว่า การที่ กสทช. ตัดสินใจแบบนี้เกิดจากความสนิทใกล้ชิดระหว่างประธาน กสทช. กับ พล.อ.ประวิตรใช่หรือไม่ อย่าลืมว่า กสทช. ชุดนี้ มีที่มาจาก ส.ว. ที่แต่งตั้งโดย คสช. และยังเป็นการฟอกขาวตัวเองหลังจากที่ได้มีมติอัปยศอนุญาตให้ควบรวม True-DTAC

“กสทช. ต้องทำหน้าที่ของตัวเองอย่างตรงไปตรงมาได้แล้ว ไม่ควรบิดเบือนกฎหมายเพื่อเอาใจใคร หรือทำตามใบสั่งใคร ไม่อย่างงั้น ประชาชนต้องเป็นผู้รับภาระเงิน 1,600 ล้านบาทในครั้งนี้ เราอยากให้การดูฟุตบอลโลกฤดูกาลนี้เป็นการช่วงเวลาแห่งความสุข อย่าให้ที่มาของเงินในการจ่ายค่าลิขสิทธิ์ฟุตบอลโลกมาจากวิธีการที่ไม่ชอบธรรมที่เบียดบังผลประโยชน์ของประชาชนอย่างนี้เลย” น.ส.ศิริกัญญา รองหัวหน้าพรรคก้าวไกล กล่าวทิ้งท้าย

ศ.ดร.พิรงรอง รามสูต 1 ในบอร์ดกทสช.  โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Pirongrong Ramasoota ชี้ 5 ประเด็น ชวนคิด กรณีใช้เงินกองทุน กทปส. ซื้อลิขสิทธิ์ถ่ายทอดบอลโลก โดยในข้อ 4 ศ.ดร.พิรงรอง ระบุว่า การใช้เงินกองทุน กทปส. เพื่อซื้อลิขสิทธิ์บอลโลก แม้จะเป็นการอุดหนุนการเข้าถึงเนื้อหาที่ระบุไว้ในกฎ Must Have แต่ กสทช. เป็นองค์กรกำกับดูแล จึงควรดูแลให้ผู้ประกอบการทำตามกฎที่มี มากกว่าจะเข้ามาแทรกแซงตลาดโดยใช้งบประมาณจากกองทุน กทปส. ซึ่งกำหนดไว้เพื่อวัตถุประสงค์อื่นที่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะในระยะยาวและมีความยั่งยืนทางสังคมสูงกว่า

เงินจากกองทุน กทปส. ในส่วนบัญชีกองทุนเพื่อการเข้าถึงที่เท่าเทียมด้านกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์ เป็นแหล่งที่มาส่วนหนึ่งของเงินที่ถูกอ้างว่า จะนำไปใช้สนับสนุนในการซื้อลิขสิทธิ์ถ่ายทอดฟุตบอลโลกในปีนี้ ทาง กสทช. ด้านกิจการโทรทัศน์กำลังอยู่ระหว่างดำเนินการยกร่างประกาศตามมาตรา 52 พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ พ.ศ. 2553 ที่กำหนดว่า หากรายการใดเป็นประโยชน์ต่อสังคมหรือสมควรส่งเสริมให้มีการผลิตรายการ หรือผู้ประกอบการรายใดปฏิบัติตามมาตรการในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิของคนพิการและคนด้อยโอกาสตามมาตรา 36 คณะกรรมการอาจพิจารณาให้การสนับสนุนค่าใช้จ่ายจากกองทุนได้ ตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการประกาศกำหนด

ร่างประกาศนี้จะมุ่งเน้นให้มีการส่งเสริมการผลิตรายการที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมใน 3 รูปแบบ คือ รายการสำหรับเด็กและเยาวชน รายการที่ส่งเสริมความหลากหลายในสังคมในมิติต่าง ๆ อาทิเช่น รายการสำหรับกลุ่มชาติพันธุ์ ศาสนา กลุ่มผู้ที่มีอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมที่แตกต่าง หรือ กลุ่มผู้มีรายได้น้อย เป็นต้น และรายการที่เป็นการร่วมผลิตกับผู้ผลิตที่มีศักยภาพในต่างประเทศ หากนำเงินจำนวน 1.6 พันล้านบาท ที่จัดเก็บจากผู้ประกอบการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์ตามกฎหมายไปใช้เพื่อซื้อลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดฟุตบอลโลกหมดในคราวเดียว โอกาสที่จะได้ส่งเสริมเนื้อหาที่มีคุณค่าทางสังคมแต่ขาดทุนสนับสนุน และการเสริมศักยภาพผู้ผลิตเนื้อหาของไทยให้สามารถเรียนรู้และแข่งขันได้ในระดับนานาชาติก็จะต้องสูญหายไปด้วย

นอกจากนี้ การใช้เงินจำนวน 1.6 พันล้านบาท เพื่อซื้อลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดฟุตบอลโลก ย่อมจะกระทบสภาพคล่องของกองทุน กทปส. และอาจส่งผลให้เกิดภาวะสุญญากาศในการสร้างองค์ความรู้ การพัฒนาบุคลากรในกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์หรือกิจการโทรคมนาคม ตลอดจนการพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีที่ควรจะได้ดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง เพื่อรับมือกับสภาวะดิจิทัลดิสรัปชั่นที่ส่งผลต่อวงการการสื่อสารของประเทศอย่างกว้างขวาง
เมื่อเปรียบเทียบว่าเงินจำนวนราว 1.6 พันล้านบาท ที่ให้การสนับสนุนเพื่อซื้อลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดฟุตบอลโลก จะสามารถนำมาใช้จ่ายตามวัตถุประสงค์การจัดตั้งกองทุน กสทช. ตามกฎหมาย โดยเทียบกับโครงการที่กองทุนฯ ให้การสนับสนุนที่ผ่านมาจะสามารถ

– ให้การสนับสนุนสถานพยาบาล/โรงพยาบาลในโครงการต่อสู้สถานการณ์ “ไวรัสโคโรนา” สายพันธุ์ใหม่ 2019 ได้มากกว่า 166 โครงการ คิดเป็นสามเท่าของทุนที่ให้การสนับสนุน

– ให้ทุนแก่ชุมชนหรือองค์กรวิชาชีพเพื่อดำเนินโครงการตามวัตถุประสงค์กองทุนฯ โครงการละ 1 ล้านบาท ได้มากถึง 1,600 โครงการ

– ผลิตรายการสำหรับเด็กปฐมวัย (3 -5 ปี) ความยาว 5 นาที และออกอากาศทางทีวีได้ 14,953 ตอน

– ส่งเสริมการผลิตรายการที่เป็นประโยชน์ต่อกลุ่มชาติพันธุ์ ผู้มีอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมที่แตกต่าง กลุ่มผู้มีรายได้น้อยฯลฯ

https://www.facebook.com/pirongrong.ramasoota/posts/pfbid0321MwifQe3maAQqnypjnz8m58gkqMiLWcAbUzVyD4vkF5BTsYxjc6a6qASbXkBaWBl

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :  

‘พล.อ.ประวิตร’ มอบความสุขแฟนบอลไทย ให้ กกท.ประสานถ่ายถอดสดฟุตบอลโลก

podcast

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า