SHARE

คัดลอกแล้ว

ความเคลื่อนไหวการคัดค้านการเข้าร่วม CPTPP หรือข้อตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก อยู่กับสังคมออนไลน์ไทยเป็นเวลากว่า 3 เดือน โดยล่าสุดวันที่ 5 สิงหาคม 2563 เป็นที่แน่นอนแล้วว่าประเทศไทยยื่นขอเจรจาเพื่อเข้าร่วมข้อตกลงนี้ไม่ทันในรอบปีนี้ ส่วนหนึ่งมาจากแรงกดดันของภาคประชาสังคมที่เกิดขึ้น

workpointTODAY พามาดูไทม์ไลน์ของเรื่องนี้ ควบคู่กับการเรียกร้องผ่าน #์noCPTPP ของผู้ใช้ทวิตเตอร์กัน ควบคู่กับกระแสโต้กลับจากโลกออนไลน์เป็นระลอก

CPTPP เกือบเข้าครม. แต่ถอนก่อนท่ามกลางกระแส #NoCPTPP

CPTPP เคยถูกกำหนดในวาระการประชุมคณะรัฐมนตรีในรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชาเข้ามาหลายครั้งด้วยกัน

วันที่ 26 เมษายน 2563 เป็นครั้งแรกที่ CPTPP เข้ามาอยู่กลางความสนใจของผู้ใช้โซเชียลมีเดีย มีการติด #noCPTPP เพื่อคัดค้านไม่ให้นำเรื่องนี้เข้าวาระการประชุมของครม.จนติดอันดับ 1 ใน 5 เทรนยอดนิยมในทวิตเตอร์ประเทศไทย

Wisesight ผู้ให้บริการด้านการวิเคราะห์โซเชียลมีเดียสรุปเดือนเมษายน ว่า #CPTPP เป็นประเด็นข่าวที่ได้รับความสนใจลำดับที่สองรองในเดือนดังกล่าว ยอดเอ็นเกจเมนต์ของวันที่ 27 เมษายน 2563 พุ่งขึ้นสูงถึง 964,915เอ็นเกจเมนต์

https://www.facebook.com/WisesightGlobal/posts/2948051321941834

ผู้ใช้ทวิตเตอร์มีบทบาทอย่างยิ่งในการสะท้อนเสียงครั้งนี้ นอกจากติด “แฮชแท็ก” เกิดปรากฎการณ์ผู้ใช้ทวิตเตอร์ร่วมกันกระจายข้อมูลการคัดค้าน CPTPP ผ่านสรุปย่อที่ผลิตขึ้นมาด้วยตนเองหลากหลายรูปแบบ

อินโฟกราฟฟิกโดยผู้ใช้ทวิตเตอร์
ที่มา : ทวิตเตอร์ @butterclub_th

อินโฟกราฟฟิกโดยผู้ใช้ทวิตเตอร์
ที่มา: toughpasta

อินโฟกราฟฟิกโดยผู้ใช้ทวิตเตอร์
ที่มา: Yellow Powder Studio

อินโฟกราฟฟิก โดยผู้ใช้ทวิตเตอร์ที่มา : ทวิตเตอร์ @hayreijisan

กระแสการกดดันทำให้นายจุรินทร์ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ตัดสินใจถอนเรื่องดังกล่าวออกจากที่ประชุมครม.ก่อนวันประชุมวันที่ 28 เมษายน 2563 เพียง 1 วัน

หลังจากนั้นวาระเรื่อง CPTPP ปรากฎในวาระการประชุมครม.อีกครั้งวันที่ 19 พฤษภาคม 2563 โดยครั้งนี้รัฐมนตรีกระทรวงพาณิชย์กล่าวว่าตนไม่เกี่ยวข้อง ทำให้หลายฝ่ายพุ่งความสนใจไปที่นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีในขณะนั้นว่าเป็นผู้ผลักดันวาระนี้

กระแสสังคมกลับมาให้ความสนใจ CPTPP อีกครั้ง โดย #noCPTPP กลับมาขึ้นเทรนในทวิตเตอร์ตลอดบ่ายวันที่ 18 พฤษภาคม 2563 จนถึงช่วงเช้าวันต่อมา

เมื่อถึงกำหนดประชุมพิจารณา นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ “ลาป่วย” ไม่ได้เข้าประชุมในวันดังกล่าวทำให้เรื่องนี้ไม่ถูกพิจารณาในครม.

กระแสสังคมนำไปสู่การตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญของสภาผู้แทนราษฎร

วันที่ 27 พฤษภาคม 2563 นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีแถลงว่ารัฐบาลได้มอบหมายให้วิปรัฐบาลประสานงานกันสภาผู้แทนราษฎรจัดตั้งกรรมาธิการวิสามัญเกี่ยวกับ CPTPP และกล่าวว่า”คณะรัฐมนตรีจะไม่หยิบประเด็น CPTPP เข้ามาพิจารณาจนกว่า กมธ.จะได้ข้อยุติ”

ระหว่างนี้มีภาคเอกชนหลายแห่งออกมาแสดงจุดยืนกันต่อเรื่องการเข้าร่วม CPTPP นี้ หนึ่งในนั้นคือสมาคมผู้ส่งออกทางเรือที่ออกมาสนับสนุนเมื่อต้นเดือนมิถุนายนให้ไทยเข้าร่วมเจรจา CPTPP โดยเชื่อว่าจะทำให้เศรษฐกิจไทยดีขึ้น

กระแสสังคมในโซเชียลมีเดียแสดงท่าทีตอบโต้กับความเคลื่อนไหวนี้อีกครั้งทันที ทำให้ในวันดังกล่าว #NoCPTPP พุ่งขึ้นมาอีกรอบ มีการใช้ #คัดค้านCPTPP เพิ่มขึ้นมาด้วย

ขณะเดียวกันภาคเอกชนบางภาคส่วนก็ออกมาแสดงความไม่เห็นด้วย เช่นสมาคมโรงแรมไทย กล่าวว่า “รายได้จากการท่องเที่ยวที่จะมาให้ผู้ประกอบการคนไทยจะต้องไปให้ต่างชาติเกือบหมด”

เมื่อเรื่องมาถึงรัฐสภา ในช่วงแรกเรื่อง CPTPP อยู่ในความรับผิดชอบของกรรมาธิการการต่างประเทศ โดยวันที่ 4 มิถุนายน 2563 เชิญกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กรมวิชาการเกษตร กรมทรัพย์สินทางปัญญา สภาหอการค้า สภาอุตสาหกรรม โดยจะเชิญ FTA Watch และ BIOTHAI ซึ่งเป็นภาคประชาสังคมที่แสดงความเห็นคัดค้านในสัปดาห์ต่อมา

อย่างไรก็ดี วันที่ 10 มิถุนายน 2563 สภาผู้แทนราษฎรมีมติให้ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อพิจารณาการเข้าร่วม CPTPP โดยมีนายวีระกร คำประกอบเป็นประธาน กำหนดกรอบเวลาพิจารณาศึกษา 30 วัน

ระหว่างที่เรื่องอยู่ในการดำเนินการของคณะกรรมาธิการวิสามัญแล้วประเด็น CPTPP ก็ยังอยู่ในความสนใจของสาธารณะ วันที่ 16 มิถุนายน 2563 ศ.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกสำนักนายกรัฐมนตรีออกมาเน้นย้ำว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีกล่าวในที่ประชุมครม.ว่ารัฐบาลจะเจรจาเรื่อง CPTPP เพื่อประโยชน์สูงสุดของประชาชน หากเจรจาแล้วไม่ได้ประโยชน์ก็จะไม่ลงนามในข้อตกลงนี้

โฆษกรัฐบาลย้ำว่านายกฯจะรอผลการศึกษาของกรรมาธิการ แต่ฝ่ายที่คัดค้านมองว่านี่คือหนึ่งในการส่งสัญญาณของนายกรัฐมนตรีเพื่อปูทางสู่การเจรจาตกลงเข้าร่วม

เลื่อนกรอบการพิจารณาของกรรมาธิการวิสามัญฯ : ส่อเค้ายื่นเจรจาไม่ทัน แต่สังคมยังไม่วางใจ

วันที่ 24 มิถุนายน 2563 นางสาวเพชร​ชมพู​ กิจ​บูรณะ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรครวมพลังประชาชาติไทย ในฐานะ​โฆษก​คณะกรรมาธิการ​ CPTPP แถลงว่าคณะกรรมาธิการขอต่อระยะเวลาการศึกษาออกไปอีก 30 วัน จากเดิมที่จะครบกำหนด 10 กรกฎาคม 2563 เป็นครบกำหนดการศึกษาในช่วงต้นเดือนสิงหาคม ประเด็นนี้จะทำให้ไทยไม่สามารถหาข้อสรุปได้ทันวันที่ 5 สิงหาคม 2563 ซึ่งเป็นเดทไลน์การยื่นเรื่องขอเจรจาการเข้าร่วม CPTPP กับนิวซีแลนด์

“แต่ในการทำงานของกรรมาธิการ​จะไม่นำกรอบเวลานี้มาเป็นข้อผูกมัดตัวเอง​ ไม่เร่งรีบพิจารณา​จนถึงขั้นทำให้มีประเด็น​สำคัญ​ต้องตกหล่นไป​ เรื่องใดก็ตามที่เป็นผลประโยชน์​ของประเทศชาติ​ เราต้องพิจารณา​ให้ละเอียด​รอบคอบที่สุด”

การเลื่อนกำหนดระยะเวลาการศึกษาออกไปทำให้หลายฝ่ายคาดการณ์ว่าสภาผู้แทนราษฎรจะไม่สรุปความเห็นเรื่อง CPTPP ได้ทันก่อนกรอบเวลากำหนด อย่างไรก็ดี หลายฝ่ายยังแสดงความกังวลว่าฝ่ายบริหารจะ “ลักไก่” ยื่นขอเข้าเจรจาโดยไม่รอผลการศึกษา มีการจับตาการประชุมครม.เศรษฐกิจในแต่ละครั้งว่าจะมีวาระเรื่อง CPTPP ขึ้นมาในที่ประชุมเพื่อเร่งรัดกระบวนการหรือไม่

ล่าสุดเมื่อถึงกำหนดวันที่ 5 สิงหาคม 2563 นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์เปิดเผยในที่ประชุมกรรมาธิการ CPTPP ว่าฝ่ายบริหารไม่ได้มีการดำเนินการยื่นให้ครม.อนุมัติเพื่อพิจารณาการเจรจาขอเข้าร่วม เนื่องจากต้องรอฟังความเห็นของคณะกรรมาธิการวิสามัญตามกลไกรัฐสภา ทำให้ปีนี้ประเทศไทยเจรจาขอเข้าร่วมไม่ทันตามกำหนด

สำหรับปีนี้เมื่อเข้าร่วมไม่ทันแล้ว จะมีการพิจารณาเข้าร่วมในรอบอื่น ๆ หรือไม่ นายวีระกร คำประกอบ ประธานกมธ.เปิดเผยกับ ฐานเศรษฐกิจ  ว่าจะเข้าร่วมเมื่อสังคมพร้อมเท่านั้น

FTA Watch ยกเครดิต “คนรุ่นใหม่ทำให้การตรวจสอบโดยรัฐสภาเกิดขึ้นได้จริง”

ที่เครือข่าย FTA Watch ซึ่งมีบทบาทในการคัดค้านตลอดหลายเดือนที่ผ่านมากล่าวในเฟซบุ๊กว่ายังมีอีกหลายเรื่องที่ประเทศไทยต้องดำเนินนโยบายด้วยหลักความมีส่วนร่วม “ต้องไม่ใช่เป็นการกำหนดของบรรดาชนชั้นนำด้านธุรกิจและการเมืองเท่านั้น แต่ต้องมาจากการตัดสินใจร่วมกันของคนทั้งสังคมด้วยฐานข้อมูลความรู้”

https://www.facebook.com/ftawatch/posts/3474756285868500

เช่น การเตรียมพร้อมปรับปรุงคุณภาพมาตรฐานด้านต่างๆที่เหมาะสมกับอุตสาหกรรมและผู้ประกอบการในประเทศ การแก้ไขและพัฒนากฎหมายและกฎระเบียบที่ล้าหลัง แต่ต้องไม่ทำลายการคุ้มครองประชาชนคนเล็กคนน้อย เน้นการพึ่งตัวเองได้ และพัฒนาความมั่นคงทางอาหารและสาธารณสุข

นอกจากนี้ FTA Watch ยังกล่าวว่าการผลักดันการคัดค้านการเข้าร่วม CPTPP ครั้งนี้สำเร็จได้ด้วยการมีส่วนร่วมของ “ประชาชนคนรุ่นใหม่ ทำให้กระบวนการตรวจสอบของฝ่ายนิติบัญญัติเกิดขึ้นได้จริง”

“พวกเขาใฝ่หาข้อมูล ความรู้ สนใจความเป็นไปของบ้านเมือง และใช้การรณรงค์สื่อสารในช่องทางที่พวกเขาถนัดและสร้างสรรค์ อันนำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้”

ขณะที่การแสตอบรับของโลกทวิตเตอร์ต่อข่าวนี้เป็นไปด้วยความคึกครื้น โดยเชื่อว่ากระแสในโลกออนไลน์เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้รัฐบาลตัดสินใจไม่เข้าร่วม CPTPP

ผู้ใช้ทวิตเตอร์รายหนึ่งแสดงความคิดเห็นว่า “ในที่สุด #NoCPTPP สำเร็จแล้ว! หลังจากที่พยายามแชร์ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ลงสตอรี่ไอจีบ่อยๆให้ทุกคนได้รับรู้ว่ามันเป็นเรื่องใกล้ตัวมากๆ วันนี้สำเร็จแล้ว

อ่านเพิ่มเติม:  CPTPP คืออะไร อ่านที่เดียวจบ รายละเอียด-ทำไมมีการค้านเข้าร่วม

podcast

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า