ภาพของยายจูงมือหลานหาซื้อสมาร์ทโฟนทำให้สังคมตั้งคำถามว่าการเรียนออนไลน์จะเป็นอุปสรรคกั้นระหว่างเด็กกับการศึกษาที่จำเป็นได้รับหรือไม่
เวิร์คพอยท์ทูเดย์เปิดสถิติจากสำนักงานสถิติแห่งชาติปี 2561 ที่รวบรวมว่าครัวเรือนที่มีเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปีในประเทศไทยยังขาดการเข้าถึงอุปกรณ์และอินเตอร์เน็ตมากน้อยเพียงใด
จากข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่าเด็กส่วนใหญ่ไม่มีคอมพิวเตอร์ในบ้านไม่ว่าจะอยู่ในเมืองหรือนอกเมือง จากข้อมูลที่สำรวจครัวเรือนที่มีเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปีพบว่าครัวเรือนในเขตเทศบาลมีคอมพิวเตอร์ใช้ 30.2% ครัวเรือนที่ไม่มีคอมพิวเตอร์ใช้คิดเป็น 69.8% ส่วนครัวเรือนนอกเขตเทศบาลเป็นเจ้าของคอมพิวเตอร์เพียง 14.6% ส่วนเด็กในครัวเรือนอีกกว่า 85.4% ไม่มีคอมพิวเตอร์ใช้
คอมพิวเตอร์ในนี้นี้หมายรวมทั้งคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะ คอมพิวเตอร์พกพาและแทปเลต
หากไม่มีคอมพิวเตอร์ก็อาจเข้าถึงอินเตอร์เน็ตผ่านเครือข่ายโทรศัพท์มือถือได้อยู่ แต่สำหรับเด็กบางคนครัวเรือนของเขาไม่มีการใช้อินเตอร์เน็ตเลย
ข้อมูลการใข้อินเทอร์เน็ตในครัวเรือนที่มีเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปีบอกเราว่าครัวเรือนที่มีการใช้อินเทอร์เน็ตในเขตเทศบาลมีอยู่ 89.5% นอกเขตเทศบาล 80.6%
หมายความว่าเด็กที่อยู่ในครัวเรือนที่ไม่มีการใช้อินเตอร์เน็ตเลยมีอยู่ 10.5% สำหรับเขตเทศบาล และ 19.4% สำหรับนอกเขตเทศบาล
สุดท้ายเรามาดูว่าครัวเรือนที่มีเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปีและไม่มีการเชื่อมต่ออินเตอร์เน็ตเป็นเพราะอะไร สำนักงานสถิติแห่งชาติชี้ว่าเหตุผลส่วนใหญ่คือมองว่าไม่มีความจำเป็นต้องใช้ ร้อยละ 59.5 รองลงมาคือเหตุผลด้านค่าบริการที่ตัวเลขอยู่ที่ร้อยละ 22.1% นอกจากนั้นเป็นการให้เหตุผลเรื่องการหาใช้จากที่อื่น ความปลอดภัย การไม่มีบริการอินเตอร์เน็ตในพื้นที่และไม่ตรงตามความต้องการ
c
การเปิดภาคการศึกษาของนักเรียนนักศึกษาได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 จนเลื่อนไปเป็นช่วงเดือนกรกฎาคม แต่ก็มีแนวโน้มว่าเมื่อเปิดภาคการศึกษาก็อาจจะต้องใช้มาตรการเรียนออนไลน์ในบางพื้นที่ จากสถิติข้างต้นที่แม้จะเป็นสถิติปี 2561 แต่ก็ชี้ให้เห็นว่าหากไม่มีมาตรการจัดการที่เหมาะสมในการจัดให้ทุกคนเข้าถึงบทเรียนได้ ลำพังการใช้อินเตอร์เน็ตเป็นสื่อกลางย่อมทำให้มีผู้ตกหล่นจากการเรียนการสอนผ่านอินเตอร์เน็ต และอาจกลายเป็นผู้ตกหล่นจากการศึกษาในที่สุด