Advertisement

SHARE

คัดลอกแล้ว

ประเด็นเรื่องการเก็บภาษีบริษัทในเครือ GAFA – Google, Amazon, Facebook และ Apple เป็นประเด็นสำคัญ เพราะ 4 บริษัทนี้มีรายได้มหาศาล และส่งผลกระทบกับคนทั่วโลก

ในการประชุม G20 ที่ผ่านมา ก็มีข้อตกลงว่าภายในปี 2020 จะมีการวางกฎระเบียบให้ชัดเจนขึ้น แต่ความเคลื่อนไหวของฝรั่งเศสในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ก็สร้างแรงกระเพื่อมในวงการไม่น้อย

ความตึงเครียดระหว่างรัฐบาลสหรัฐฯ และฝรั่งเศสค่อยๆ บ่มเพาะมาได้เกือบเดือนแล้ว หลังจากที่ประธานาธิบดีของฝรั่งเศสอย่างนายเอ็มมานูเอล มาครอง (Emmanuel Macron) วางแผนที่จะเรียกเก็บภาษีกับบริษัทให้บริการดิจิทัลที่เข้ามาในฝรั่งเศส โดยมุ่งหมายไปที่บริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ของสหรัฐฯ

บทวิเคราะห์ของ Financial Times ชี้ว่า เหตุการณ์ได้เดินทางมาถึงจุดสุกงอมเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา หลังจากที่เจ้าหน้าที่ของสหรัฐฯ ได้ออกมาวิพากษ์วิจารณ์แผนการเก็บภาษีดิจิทัลดังกล่าวของฝรั่งเศส ว่าส่งผลกระทบและสร้างความไม่เป็นธรรมอย่างมากต่อบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ของสหรัฐฯ ทั้งนี้หากเจ้าหน้าที่ของสหรัฐพบว่าแผนการเก็บภาษีดังกล่าวส่งผลร้ายต่อสหรัฐฯ พวกเขาพร้อมที่จะดำเนินการขึ้นภาษีกับสินค้าของฝรั่งเศส ถือเป็นการตอบโต้ที่ดุเดือดและสร้างบรรยากาศระหว่างสองประเทศให้อึมครึมขึ้นมา

ท่าทีหนักแน่นของสหรัฐที่มีต่อฝรั่งเศส

การตอบโต้กลับของสหรัฐฯ ต่อการขึ้นภาษีดิจิทัลของฝรั่งเศส ไม่ได้มาจากทวีตของทรัมป์อย่างที่แล้วๆ มา แต่เป็นจากทางฝั่งนายโรเบิร์ต ไลท์ไฮเซอร์ (Robert Lighthizer) ผู้แทนการค้าสหรัฐฯ เองที่บอกว่า จะเริ่มใช้มาตรการ 301 มาตรวจสอบเรื่องการดำเนินการทางภาษีที่จะมาสร้างความไม่เป็นธรรมทางการค้าต่อสหรัฐฯ โดยสหรัฐฯ ได้นำมาตรการนี้มาใช้กับจีนในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งสามารถสะท้อนให้เห็นถึงความรุนแรงของความตึงเครียดที่เกิดขึ้นได้เป็นอย่างดี

ไลท์ไฮเซอร์และทีมงานกำลังใช้เวลาอีกสักระยะหนึ่ง เพื่อประเมินความเสียหายจากการขึ้นภาษีดังกล่าวต่อกลุ่มธุรกิจเทคโนโลยีของสหรัฐฯ ไล่เลี่ยกับช่วงเวลาการพิจารณาร่างกฎหมายของฝรั่งเศส ซึ่งถ้าหากฝรั่งเศสผ่านร่างกฎหมายดังกล่าว (ซึ่ง ณ ตอนนี้ได้ผ่านร่างกฎหมายจากวุฒิสภาแล้ว) สามารถทำให้สหรัฐฯ นำมาเป็นข้ออ้างในการขึ้นภาษีสินค้าของฝรั่งเศสได้ตามที่ฝั่งสหรัฐฯ ได้ออกข่าวไป แต่สหรัฐฯ อาจต้องใช้เวลาอย่างน้อยหลายปีในการดำเนินการตามขั้นตอนดังกล่าว ทำให้การขึ้นภาษีของสหรัฐฯ จะไม่เกิดขึ้นเร็วๆ นี้

ผลกระทบจากกฎหมายการเก็บภาษีของฝรั่งเศส

เมื่อวันพฤหัสที่ผ่านมา ฝรั่งเศสได้ผ่านร่างกฎหมายใหม่เกี่ยวกับการเก็บภาษีผู้ให้บริการดิจิทัลแล้ว โดยจะเรียกเก็บภาษี 3% จากบริษัทดิจิทัลใดๆ ที่มีชาวฝรั่งเศสเป็นผู้บริโภค โดยบริษัทนั้นต้องมีรายได้รวมจากทั่วโลกมากกว่า 750 ล้านยูโร และมีรายได้ในฝรั่งเศสอยู่ที่มากกว่า 25 ล้านยูโร สำหรับเป้าหมายสำคัญของการเก็บภาษีครั้งนี้ ก็คือ บริษัทดิจิทัลที่นำข้อมูลส่วนตัวของผู้ใช้งานไปในการขายโฆษณาทางออนไลน์ ซึ่งจะส่งผลต่อบริษัทจำนวนกว่า 30 แห่งด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นบริษัทจากสหรัฐฯอย่างอัลฟาเบท (Alphabet) แอปเปิล (Apple) เฟซบุ๊ก (Facebook) และอเมซอน (Amazon) รวมทั้งบริษัทจากจีน เยอรมัน สเปน อังกฤษ แม้กระทั่งบริษัทของฝรั่งเศสเองก็โดนด้วย 1 บริษัท นั้นคือ คริทีโอ (Criteo) 

เฟซบุ๊กทำรายได้ได้จากทั่วโลก

ฝรั่งเศสระบุว่า กฎหมายภาษีดังกล่าวเป็นแค่มาตรการชั่วคราวเท่านั้น ซึ่งจะใช้จนกว่าสมาชิกของสหภาพยุโรปจะสามารถบรรลุข้อตกลงในเรื่องกฎหมายภาษีดิจิทัลได้ โดยฝรั่งเศสได้เร่งขั้นตอนการพิจารณากฎหมายนี้และนำหน้าประเทศอื่น หลังจากที่ล้มเหลวในการผลักดันให้เกิดกฎหมายการเก็บภาษีดิจิทัลขึ้นในสหภาพยุโรป ซึ่งถูกทักท้วงจากไอร์แลนด์ สวีเดน และเดนมาร์ค นอกจากนี้ ทางการฝรั่งเศสยังระบุด้วยอีกว่า กฎหมายการเก็บภาษีนี้จะช่วยให้ฝรั่งเศสสามารถมีรายได้ถึง 500 ล้านยูโร ในปี 2019 และจะยิ่งเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ในปีต่อๆ ไป

อังกฤษประเทศถัดไปที่จะจัดเก็บภาษีดิจิทัล?

อังกฤษดูเหมือนจะตามหลังฝรั่งเศสมาติดๆ ในเรื่องแผนการจัดเก็บภาษีดิจิทัล โดยเมื่อวันพฤหัสที่ผ่านมา ได้มีการเผยแพร่ร่างกฎหมายการเก็บภาษีดิจิทัล ซึ่งจะเรียกเก็บภาษีในอัตรา 2% จากรายได้รวมของบริษัทที่ทำธุรกิจเกี่ยวกับแฟลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย บริการค้นหาข้อมูลทางอินเทอร์เน็ต และตลาดออนไลน์ที่มีชาวอังกฤษเป็นผู้บริโภค โดยบริษัทนั้นจะต้องมีรายได้รวมทั่วโลกมากกว่า 500 ล้านปอนด์ และ 25 ล้านปอนด์สำหรับในอังกฤษ การดำเนินการผ่านร่างกฎหมายดังกล่าว ดูจะไม่วุ่นวายและยุ่งยากเท่ากับกรณี Brexit ทั้งนี้ ร่างการเก็บภาษีจะเริ่มใช้ในเดือนเมษายน 2020 และคาดว่าจะได้รับรายได้กว่า 400 ล้านปอนด์ในปี 2022 

ดูเหมือนว่า ร่างกฎหมายเก็บภาษีดิจิทัลจะได้รับความสนับสนุนอย่างมากจากสมาชิกรัฐสภาและคาดว่าจะสามารถผ่านร่างกฎหมายได้อย่างไม่มีปัญหา โดยเหล่ารัฐมนตรีของอังกฤษคาดการณ์ว่า แม้จะถูกคุกคามจากสหรัฐฯ อย่างแน่นอนถ้ากฎหมายฉบับนี้ผ่านได้เมื่อไหร่ แต่พวกเขาก็ยังคงตัดสินใจที่จะผลักดันกฎหมายนี้ต่อไปให้สำเร็จ 

YouTube เป็นหนึ่งในกว่า 30 บริษัทที่ BBC คาดว่าจะได้รับผลกระทบถ้านโยบายภาษีดิจิทัลเริ่มนำมาปรับใช้

สหภาพยุโรปเข้าใกล้ความสำเร็จในการผลักดันกฎหมายดิจิทัล

รัฐบาลของสมาชิกสหภาพยุโรปกลุ้มใจที่ไม่สามารถเรียกเก็บภาษีจากบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ได้ ซึ่งสาเหตุมาจากขอบเขตทางกฎหมายในแต่ละประเทศ โดยนายฟิลิป แฮมมอนด์ (Philip Hammond) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังของอังกฤษ ได้ออกมาแสดงความไม่พอใจในรายงานงบประมาณประจำปีก่อนว่า ขั้นตอนในการผ่านกฎหมายนั้นช้ามาก ดังนั้นมันถึงเวลาแล้วที่จะออกมาเริ่มต้นลงมือทำด้วยตัวเอง เพราะเราไม่สามารถเอาแต่พูดคุยได้ตลอดไป

หลังจากที่ความพยายามในการผลักดันร่างกฎหมายเรื่องการเก็บภาษีดิจิทัลในสมาชิกของสหภาพยุโรปไม่เป็นผล เป้าหมายที่แท้จริงกลับเป็นการผลักดันให้เกิดการเห็นพ้องต้องกันต่อข้อตกลงเรื่องภาษีในระดับโลก ภายใต้แรงสนับสนุนจากประเทศกลุ่ม G20 และองค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ หรือ OECD สิ่งเหล่านี้เองทำให้ในการประชุม G20 เมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา บรรดารัฐมนตรีการคลังของประเทศสมาชิก G20 ได้ทำข้อตกลงร่วมกันที่จะเพิ่มแรงสนับสนุนในการผลักดันให้เกิดทางออกเรื่องการเก็บภาษีดิจิทัลขึ้นภายในปี 2020 แต่ความยาก ก็คือ เหล่าประเทศสมาชิกต่างล้มเหลวที่จะทำข้อตกลงในการจัดสรรรายได้จากกำไรของบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่

 ความไม่พอใจจาก Silicon Valley 

แน่นอนว่าบรรดาบริษัทของสหรัฐฯ ต่างต้องโกรธเกี้ยวกับสิ่งที่ประเทศในยุโรปกำลังจะเรียกเก็บภาษีจากธุรกิจตน โดยผู้บริหารคนหนึ่งจากบริษัทเทคโนโลยีข้ามชาติบอกว่า เมื่อดูจากโมเดลธุรกิจของเราแล้ว บอกได้ยากว่าเราต้องเสียภาษีจริงๆ ที่ไหนบ้าง สมมติว่าถ้าเกิดเราต้องเสียภาษีให้กับประเทศในยุโรปจริงๆ มันก็ไม่เป็นไรหรอก แต่ถ้าเป็นแบบนี้จริง เราเองก็สมควรที่ได้รับสิทธิในการลดจำนวนเงินที่ต้องเสียภาษีให้กับประเทศของเราด้วยสิ

ขณะที่บริษัทในอุตสาหรรมดิจิทัลส่วนใหญ่ต่างภาวนาให้เจ้าหน้าที่ของสหรัฐฯ สามารถเจรจาต่อรองกับฝรั่งเศสในเรื่องการจัดเก็บภาษีได้ แต่บางบริษัทกลับต้องมานั่งกลุ้มใจกับท่าทีของสหรัฐฯ ต่อการลุยเดี่ยวในการพูดคุยกับ OECD ต่อประเด็นเรื่องการจัดเก็บภาษีดิจิทัล นอกจากนี้ ผู้บริหารหลายๆ คนต่างกังวลว่าธุรกิจของตนจะติดร่างแหไปกับสงครามการค้าที่ไม่มีจุดสิ้นสุด หลังประเทศต่างๆ เริ่มปกป้องสิทธิประโยชน์ของตนมากขึ้นเรื่อยๆ 

podcast

LATEST
OUR PICKS
HOT
กำลังโหลดบทความถัดไป...

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า