Advertisement

SHARE

คัดลอกแล้ว

#explainer คำเตือนจากญี่ปุ่นว่าชาติในอาเซียนอาจตกเป็นเป้าหมายของการก่อการร้าย จนนำมาสู่แฮชแท็กร้อน #การก่อการร้ายแบบพลีชีพ ที่ขึ้นเทรนด์ทวิตเตอร์ในวันนี้

เรื่องราวเป็นอย่างไร และการก่อการร้ายในเขตอาเซียน มีความน่ากังวลใจแค่ไหน workpointTODAY จะสรุปสถานการณ์ให้เห็นภาพใน 12 ข้อ

1) ย้อนกลับไปวันอาทิตย์ที่ 12 กันยายน สถานเอกอัครราชทูตญี่ปุ่นใน 6 ประเทศของอาเซียน ประกอบด้วย ไทย สิงคโปร์ มาเลเซีย อินโดนีเซีย เมียนมา และ ฟิลิปปินส์ ได้แจ้งเตือนคนญี่ปุ่นที่อาศัยอยู่ในประเทศดังกล่าวว่า ให้หลีกเลี่ยงสถานที่ที่มีผู้คนจำนวนมากมารวมตัวกัน และให้ระมัดระวังเหตุก่อการร้ายที่อาจจะเกิดขึ้น

2) นายธานี แสงรัตน์ โฆษกกระทรวงต่างประเทศ ชี้แจงว่า ญี่ปุ่นแจ้งพลเมืองของตัวเองจริงผ่านทางอีเมล์ แต่ฝั่งญี่ปุ่นไม่ได้ระบุที่มาของข้อมูลว่า จะเกิดเหตุที่ไหนอย่างไร
ด้านพ.ต.อ. กฤษณะ พัฒนะเจริญ รองโฆษกตำรวจ ระบุว่า ประชาชนไทยไม่ต้องวิตกกังวล สามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติ เพราะไม่มีสิ่งใดที่บอกเหตุว่าจะเป็นการก่อการร้าย และยังไม่ได้มีการเฝ้าระวังอะไรเป็นพิเศษ นอกจากนั้น ทางการไทยมีการแลกเปลี่ยนด้านข่าวกรองตลอดเวลา แต่ถ้าสถานกงสุล หรือสถานทูตใดต้องการร้องขอพลกำลังเพื่อดูแลความปลอดภัยเพิ่ม ก็พร้อมสนับสนุนได้ทันที

3) ไม่ใช่แค่ที่ไทย แต่หลายๆ ชาติในอาเซียนก็เกิดความสับสนกับ “การแจ้งเตือน” ครั้งนี้เช่นกัน โดยกระทรวงต่างประเทศของฟิลิปปินส์กล่าวว่า “เราอยากทำให้ทุกๆ คนในประเทศเรา ไม่ว่าจะคนฟิลิปปินส์หรือชาวต่างชาติมั่นใจว่าเราจะปกป้องทุกคนให้ปลอดภัยจากการก่อการร้าย” แต่ก็ยอมรับว่า ไม่มีข้อมูลใดๆ ที่จะเชื่อมโยงได้เลย
ส่วนที่ประเทศสิงคโปร์ กระทรวงความมั่นคง (ISD) ระบุว่า “เราไม่มีข้อมูลที่น่าเชื่อถือพอ ที่จะบอกว่าสิงคโปร์มีความอันตรายจากการก่อการร้าย”

4) แม้จะยังไม่มีหลักฐานอะไรที่เชื่อได้ว่า ต้องระวังเป็นพิเศษ แต่เหตุการณ์ก่อการร้ายด้วยองค์กรข้ามชาติในอาเซียนไม่ใช่เรื่องใหม่ ในอดีตที่ผ่านมีหลายประเทศที่เคยเผชิญปัญหาเหล่านี้มาแล้ว
ตัวอย่างเช่น อินโดนีเซีย มีปัญหากับกลุ่มเจมาห์ อิสลามิยาห์ หรือชื่อย่อ “เจไอ” มาอย่างยาวนานเกือบ 3 ทศวรรษ

โดยกลุ่มเจไอ ก่อตั้งในปี 1993 มีเป้าหมายสูงสุดคือสถาปนารัฐอิสลามบริสุทธิ์ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และต้องการนำกฎหมายชารีอะห์มาใช้อย่างสมบูรณ์แบบ ดังนั้นกลุ่มเจไอ จึงกระทำการก่อการร้ายหลายครั้ง เริ่มจากลอบวางระเบิดสถานทูตฟิลิปปินส์ที่จาการ์ตาในปี 2000 ตามด้วยระเบิดโบสถ์คริสต์ 17 แห่งในช่วงปลายปีเดียวกัน

ระเบิดห้ามสรรพสินค้าเอเทรียม ในจาการ์ตา ในปี 2001 ตามด้วยระเบิดพลีชีพที่ไนท์คลับในเมืองบาหลี ในเดือนตุลาคมปี 2002 จนมีผู้เสียชีวิต 202 คน ผู้บาดเจ็บอีก 209 คน ซึ่งนี่เป็นเหตุก่อการร้ายที่รุนแรงที่สุด นับจากเกิดเหตุเครื่องบินชนตกเวิลด์เทรดเซ็นเตอร์ ที่นิวยอร์กเป็นต้นมา

กลยุทธ์ของกลุ่มเจไอ คือเลือกไปโจมตีสถานที่ท่องเที่ยว ที่มีการป้องกันเบาบาง ต่างจากศูนย์ราชการที่จะมีการดูแลเข้มข้นกว่า นอกจากนั้นการโจมตีสถานที่ท่องเที่ยวยังสร้างความหวาดกลัวให้กับประชาชนทั่วไปได้เป็นอย่างมาก เพราะไม่รู้ว่าระหว่างที่ตัวเองกำลังเดินเที่ยวอยู่อาจกลายเป็นเหยื่อของการก่อการร้ายก็ได้
12 ตุลาคม 2002 เกิดเหตุระเบิดพลีชีพ ที่ไนท์คลับในเมืองบาหลี ประเทศอินโดนีเซีย มีคนเสียชีวิตทั้งหมด 202 ศพ นี่เป็นเหตุการณ์ก่อการร้ายที่รุนแรงที่สุดนับจากเกิดเหตุ เครื่องบินชนตึกแฝดเวิลด์เทรดเซ็นเตอร์ที่นิวยอร์ก

5) กลุ่มเจไอ ไม่ได้ก่อการร้ายที่อินโดนีเซียอย่างเดียว แต่เคยวางแผนจะถล่มรถไฟฟ้า MRT และสถานทูตหลายแห่งในประเทศสิงคโปร์ เมื่อเดือนธันวาคมปี 2001 ด้วย แต่ทางการสิงคโปร์จับกุม 15 คนร้ายเอาไว้ได้ก่อนที่จะไปก่อเหตุ ซึ่งทั้ง 15 คน คือกลุ่มเจไอสาขาสิงคโปร์

6) ที่ฟิลิปปินส์ ก็มีปัญหาการก่อการร้ายเช่นเดียวกัน โดยกลุ่มกองทหารอิสลาม อาบูไซยาฟ ที่มีฐานที่มั่นอยู่ในเกาะมินดาเนาตะวันตก และเขตเกาะซูลู ทำการจับชาวต่างชาติมาเรียกค่าไถ่ พร้อมทั้งก่อเหตุร้ายแรงอย่างต่อเนื่อง เช่นในปี 2004 ก่อเหตุระเบิดเรือซูเปอร์เฟอร์รี่ 14 จนมีผู้เสียชีวิตมากถึง 116 คน และนี่คือเหตุการณ์ก่อการร้ายที่มีคนตายมากที่สุดบนท้องทะเล
ตามด้วยในปี 2016 ระเบิดตลาดกลางเมืองในเมืองดาเวาซิตี้ มีคนตาย 15 คน และเหตุระเบิดมหาวิหารโจโล มีคนตาย 18 คน ซึ่งฟิลิปปินส์เอง ก็ทำการต่อสู้กับอาบูซายาฟมาอย่างดุเดือด เป็นเวลาหลายปีติดกัน

7) สำหรับประเทศไทยนั้น ภัยก่อการร้ายเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องในเขตสามจังหวัดชายแดนใต้ จนถึงปัจจุบันมีเหตุความไม่สงบเกินขึ้นติดต่อกันมาแล้ว 17 ปี มีคนเสียชีวิตมากกว่า 7 พันศพ ขณะที่ในเขตกรุงเทพมหานคร เคยมีการวางระเบิด 6 จุด ในปี 2006 มีผู้เสียชีวิต 3 ศพ รวมถึงเหตุการณ์ซ่อนระเบิดทีเอ็นที ที่ศาลพระพรหม ราชประสงค์ จนมีผู้เสียชีวิตรวม 20 ศพ

ในคดีระเบิดศาลพระพรหม ทางการไทยจับตัวคนร้ายได้แล้ว โดยผู้ต้องหาคือ นายอาเด็ม คาราดัก และ นายเมียไรลี่ ยูซุฟู นี่คือหนึ่งในชาวอุยกูร์จากแคว้นซินเจียงที่ต่อต้านรัฐบาลจีน โดยมีข้อสันนิษฐานว่า เป็นการตอบโต้รัฐบาลไทยที่ส่งผู้ลี้ภัยชาวอุยกูร์ให้กับจีน

8 ) ความซับซ้อนในการก่อการร้ายที่อาเซียน คือในปัจจุบันผู้ก่อการร้ายอาจจะไม่ได้มีสังกัดหรือองค์กร แต่มีโอกาสที่จะเป็นประเภท Lone Wolf (หมาป่าเดียวดาย) กล่าวคือได้รับอิทธิพลศาสนา หรือความเชื่อสุดโต่ง มาจากโลกออนไลน์ และซึมซับอุดมการณ์เอาไว้ จนตัดสินใจก่อเหตุด้วยตัวเอง โดยอาจไม่ได้สังกัดเป็นสมาชิกกลุ่มก่อการร้ายใดๆ เลยก็ได้

ตัวอย่างเช่นเหตุระเบิดพลีชีพที่โบสถ์คริสต์ ในเมืองมากัสการ์ที่อินโดนีเซีย ในเดือนมีนาคม 2021 ผู้ก่อเหตุคือสองสามีภรรยา ที่ได้รับการฝึกฝนทำระเบิดผ่านทางออนไลน์ โดยไม่เคยบินไปฝึนฝนวิชาทหารที่ตะวันออกกลางเลยด้วยซ้ำ

9) ความจริงแล้ว ประเทศสมาชิกอาเซียน เมื่อเจอสถานการณ์ก่อการร้ายเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ก็ไม่ได้มีความนิ่งนอนใจนัก ในการประชุม Asean Regional Forum หรือ การประชุมอาเซียนว่าด้วยความร่วมมือด้านการเมืองและความมั่นคงในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก มีการแสดงความร่วมมือระหว่างกันอย่างเป็นรูปธรรม ทั้งการแลกเปลี่ยนข่าวสารของผู้ก่อการร้าย รวมถึงการระงับช่องทางการเงินระหว่างประเทศของผู้ก่อการร้าย

10) ในภาพรวม ประเด็นก่อการร้ายแบบพลีชีพ ตามที่รัฐบาลญี่ปุ่นเตือนคนในชาติอาเซียน 6 ประเทศ ก็เป็นข้อควรระวังอย่างหนึ่ง ประเทศที่ Take Action อย่างจริงจัง ล่าสุดมีเพียงอินโดนีเซีย ที่ไปจับกุมสมาชิกกลุ่มเจไอ จำนวน 4 คน แต่กับประเทศอื่นยังคงจับตาดูสถานการณ์อยู่

11) ที่ประเทศไทย สถานการณ์ล่าสุด กระทรวงต่างประเทศระบุว่า ฝ่ายความมั่นคง ยังไม่ได้มีการแจ้งเตือนในเรื่องนี้ว่าต้องรักษาความปลอดภัยเป็นพิเศษ แต่ฝั่งกระทรวงก็ระมัดระวังตัวตลอดเวลา เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเหตุร้ายใดๆขึ้น

12) ขณะที่ในทวิตเตอร์ มีความเห็นแบ่งเป็นสองฝ่าย กลุ่มหนึ่งระบุว่าสื่อมวลชนเสนอข่าวน้อยเกินไป ทั้งๆที่ น่าจะนำเสนอให้ใหญ่มากกว่านี้เพราะเป็นเรื่องเกี่ยวกับความเป็นความตาย แต่อีกกลุ่มหนึ่งระบุว่า สื่อมวลชนนำเสนอได้เหมาะสมแล้ว เพราะข้อมูลที่ญี่ปุ่นส่งให้ ก็มีอย่างจำกัดมาก ถ้าประโคมข่าวหนักเกินไปในเรื่องที่เปราะบางแบบนี้ อาจเป็นการสร้างความตื่นตระหนกให้ประชาชนได้เช่นกัน

podcast

LATEST
OUR PICKS
HOT
กำลังโหลดบทความถัดไป...

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า