Advertisement

SHARE

คัดลอกแล้ว

ประเทศไทย เป็นชาติสุดท้าย ที่ได้ลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดในฟุตบอลโลก 2022 เซ็นสัญญากัน “2 วันสุดท้าย” ก่อนบอลโลกจะเริ่ม และก่อนบอลจะเริ่มเตะไม่กี่ชั่วโมง ยังมีดราม่าแย่งช่องถ่ายทอดสด มันเกิดอะไรขึ้น workpointTODAY จะสรุปทุกอย่างให้เข้าใจง่ายที่สุด ใน 19 ข้อ

1) ประเทศไทย ได้ดูฟุตบอลโลกครบทุกแมตช์ แบบ “ฟรี” มาตลอด ตั้งแต่ปี 1990 จนถึงปี 2018 ในขณะที่ประเทศอื่น ถ้าคุณอยากดูครบทั้งทัวร์นาเมนต์ ต้องจ่ายเงินแพ็คเกจพิเศษให้เคเบิ้ลทีวี แต่ในไทย สุดท้ายแล้วคุณจะได้ดูฟรีเสมอ

2) ย้อนกลับไปในปี 2012 กสทช. ออกกฎหนึ่งฉบับ ชื่อ Must Have ขึ้นมา โดยระบุว่า ถ้าเป็น 7 ทัวร์นาเมนต์กีฬา ระดับโลก เช่น ซีเกมส์, เอเชียนเกมส์, โอลิมปิก และ ฟุตบอลโลกรอบสุดท้าย คนไทยต้องได้ดูฟรีแบบไม่เสียเงินเท่านั้น ในมุมของกสทช. เป็นความพยายามปกป้องผู้บริโภคให้ได้ดูคอนเทนต์ที่สำคัญ โดยไม่ต้องควักเนื้อตัวเอง

3) เมื่อมี กฎ Must Have ทำให้ช่องเคเบิ้ลต่างๆ ที่เป็นเจ้าใหญ่ ที่ซื้อลิขสิทธิ์กีฬาเป็นประจำเช่น True Visions (พรีเมียร์ลีก, ยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ลีก) และ AIS Play (โอลิมปิก, ไทยลีก) ตัดสินใจไม่เข้ามาร่วมประมูลซื้อลิขสิทธิ์ด้วย นั่นเพราะต่อให้ซื้อมา ก็ต้องโดนบังคับให้ประชาชนดูฟรีผ่านทางฟรีทีวีอยู่ดี ดังนั้นก็ไม่สามารถขายแพ็กเกจเพื่อทำกำไรจากลูกค้าได้

เมื่อ True Visions กับ AIS Play ไม่ร่วมด้วย ก็อาจมีทางเลือกหนึ่ง คือมีสปอนเซอร์ใจดีสักเจ้า จ่ายเงินทั้งหมดให้ฟรีๆ เหมือนตอนบริษัท ทศภาค (เบียร์ช้าง) ซื้อลิขสิทธิ์ในฟุตบอลโลกปี 2002 อย่างไรก็ตาม ไม่มีสปอนเซอร์ไหน ยอมควักเงินซื้อลิขสิทธิ์แบบนั้นในคราวนี้

4) บริษัท อินฟรอนท์ ที่รับหน้าที่ขายลิขสิทธิ์ฟุตบอลโลกจากฟีฟ่า ตั้งราคาขาย ลิขสิทธิ์ฟุตบอลโลกในไทยอยู่ที่ 1,360 ล้านบาท (38 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ) และถ้าบวกภาษี การซื้อลิขสิทธิ์รายการทีวี อีก 240 ล้านบาท เท่ากับว่าคุณต้องมีเงินในมือ 1,600 ล้านบาท ถึงจะซื้อลิขสิทธิ์ฟุตบอลโลกครั้งนี้ได้ ซึ่งเป็นตัวเลขที่มหาศาลมาก

บริษัท อินฟรอนท์ จะตั้งราคาซื้อขาย โดยอิงจากมูลค่าการตลาดของแต่ละประเทศ รวมถึงราคาซื้อขายที่เกิดขึ้นในฟุตบอลโลกครั้งก่อน (2018) ซึ่งในคราวนั้น ไทยจ่ายค่าลิขสิทธิ์รวมภาษี อยู่ทั้งสิ้น 1,400 ล้านบาท

5) ตามจริงมีอีกกลยุทธ์ ที่สามารถซื้อลิขสิทธิ์ได้ นั่นคือให้เอกชนรวมตัวกัน ลงขันเงิน เหมือนในบอลโลกปี 2018 ที่ 9 บริษัทเอกชน รวมเงินกัน 1,400 ล้านบาท จ่ายให้บริษัท อินฟรอนท์ แต่ในบอลโลกคราวนี้ หลายบริษัทที่เคยจ่าย ก็ขอถอนตัวออกไป เพราะปัญหาเศรษฐกิจหลังช่วงโควิด หลายบริษัทก็ไม่อยากควักเนื้อ กับทัวร์นาเมนต์ที่แข่งขันแค่ 1 เดือนเท่านั้น

6) เวลากระชั้นเข้ามาทุกที จนเหลือแค่ 1 เดือนเท่านั้น ไม่มีบริษัทเอกชนไหน ที่คิดจะซื้อ และมีโอกาสที่ไทยจะไม่มีฟุตบอลโลกดู เป็นครั้งแรกในรอบ 32 ปี ทำให้รัฐบาลต้องลงมาเป็นตัวกลางในการแก้ปัญหา และมอบหมายให้ การกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) เป็นคนรวบรวมเงิน 1,600 ล้านบาท เพื่อเอาไปจ่ายให้บริษัท อินฟรอนท์ ให้ได้

7) กกท. ไปติดต่อหา กสทช. เพราะพวกเขาจะมีกองทุนหนึ่งชื่อ “กองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ” หรือชื่อย่อว่า กทปส. โดยกองทุนนี้จะมีงบประมาณสำหรับซื้อลิขสิทธิ์ต่างๆ ถ้าเห็นว่าเป็นประโยชน์ต่อสังคมส่วนรวม โดยกกท. บอกว่า ฟุตบอลโลกเป็นอีเวนต์สำคัญ ถ้ามีถ่ายทอดสด จะเป็นแรงบันดาลใจให้เยาวชน ใส่ใจเรื่องกีฬาอย่างมหาศาล นอกจากนั้นยังเป็นการช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างดี ในช่วง 1 เดือนของทัวร์นาเมนต์อีกด้วย

สรุปคือ บอร์ด กสทช. อนุมัติให้เอางบจาก กทปส. ไปซื้อลิขสิทธิ์ฟุตบอลโลกได้ แต่ยอมจ่าย 600 ล้านบาทเท่านั้น ที่เหลืออีก 1,000 ล้านบาทที่ขาดไป ทางกกท. ก็ต้องไปจัดการหาเงินเอาเอง โดย นายก้องศักด ยอดมณี ผู้ว่ากกท. ยอมรับว่า “ผิดคาดที่เราได้เงิน 600 ล้าน เพราะถ้าพูดจริงๆ ก็หวังว่าจะได้มากกว่านี้”

8 ) เมื่อขาดเงินมหาศาลถึง 1,000 ล้านบาท ทำให้ กกท. ต้องไปไหว้วานเอกชน ให้เข้ามาเป็นสปอนเซอร์ให้ โดย ผู้ว่าก้องศักด กล่าวว่า “พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ประธานบอร์ดกกท. เป็นคนกลางในการเจรจากับสปอนเซอร์ จนมีผู้สนับสนุนเข้ามาช่วยจำนวนหนึ่ง”

สามแบรนด์ที่เข้ามาสนับสนุน โปรเจ็กต์ของกกท. ประกอบด้วย True, ปตท. และ ไทยเบฟ มีการประเมินว่า 3 แบรนด์ดังกล่าวจ่ายเงินรวม 500 ล้านบาท เท่ากับว่าตอนนี้ กกท. มีเงินจากกสทช. รวมกับเงินจากสปอนเซอร์ รวมแล้ว 1,100 ล้านบาท

9) อย่างไรก็ตาม 1,100 ล้านบาท ก็ยังไม่เพียงพอ เพราะทางบริษัท อินฟรอนท์ ต้องการเงิน 1,360 ล้านบาท (หรือ 38 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ) โดยทางกกท. ได้คุยกับบริษัท อินฟรอนท์ หลายครั้งเพื่อเจรจาขอลดราคา แต่ก็ได้รับคำยืนยันว่า ลดราคาได้เพียงแค่ 35 ล้านบาท (1 ล้านดอลลาร์) เท่านั้น โดยผู้ว่าก้องศักด กล่าวว่า “ถ้าเขาไม่ยอมลดราคาจริงๆ คงต้องทำความเข้าใจกับประชาชน เพราะมันเป็นราคาที่สูงเกินไป เราคงรับไม่ได้ และอาจจะไม่มีการถ่ายทอดสดเกิดขึ้น”

มีการวิเคราะห์ว่า ถ้าบริษัท อินฟรอนท์ ยอมลดราคาให้ไทยได้ง่ายๆ อนาคตต่อไป คนที่จะซื้อลิขสิทธิ์ก็จะมารอจนวันสุดท้าย แล้วค่อยจ่ายราคาถูกๆ เพื่อหักคอเอาแบบนี้ ดังนั้นทางบริษัทก็ต้องยึดราคาที่ตั้งใจเอาไว้ให้มากที่สุด

10) เมื่อสถานการณ์เป็นแบบนี้ ทำให้หลายๆ ภาคส่วน ต้องเข้ามาช่วยเหลือ ตัวอย่างเช่น คุณหญิงปัทมา ลีสวัสดิ์ตระกูล ไอโอซีเมมเบอร์ ได้เข้าไปคุยกับฟีฟ่า เพื่อแสดงเจตจำนงว่าฟุตบอลโลกมีความสำคัญกับคนไทยมาก และเป็นการกระตุ้นความฝันของเยาวชน ให้รักฟุตบอล รักกีฬา เช่นเดียวกับ สมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทย ก็ส่งจดหมายไปหาฟีฟ่าเช่นกัน โดยชี้ว่า การขายลิขสิทธิ์ เป็นการป้องกันคนไทย ไม่ให้ไปหาช่องทางดูบอลเถื่อน

ผู้ว่าก้องศักดิ อธิบายว่าการเจรจาหลังบ้านของไทย มีส่วนสำคัญให้ฟีฟ่า ไปตกลงกับ บริษัท อินฟรอนท์อีกครั้ง และสุดท้ายยอมลดราคาอีกครั้ง โดยคราวนี้ ลดมาเหลือ 1,180 ล้านบาท หรือ 33 ล้านดอลลาร์

มูลค่าทั้งหมดที่ต้องจ่ายคือ 1,180 ล้านบาทให้ฟีฟ่า และ 220 ล้านบาท เป็นค่าภาษีให้รัฐไทย ในการนำเข้าลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสด รวมแล้วเป็น 1,400 ล้านบาท โดยผู้ว่าก้องศักด กล่าวว่า “ตัวเลขจริงๆ คือ 1,180 ล้านบาท เพราะ 220 ล้านบาทนั้น จริงๆ มันก็คือเงินภาษี ทางกกท. ก็ต้องไปชี้แจงให้รัฐบาลช่วย Waive เงินตรงนี้ไป เพราะเราซื้อลิขสิทธิ์มาก็เพื่อประชาชน ไม่ควรจะต้องมาเก็บเงินกันเอง”

11) เมื่อ บริษัท อินฟรอนท์ ลดราคาเหลือ 1,180 ล้านบาท ทำให้ทางกกท. ที่มีเงินอยู่ในมือ 1,100 ล้านบาทแล้ว ทำการเร่งระดมทุนจากภาคเอกชนอย่างรวดเร็ว และมีบริษัทหลายแห่งที่ร่วมเป็นสปอนเซอร์ด้วย สรุปแล้ว สามารถหาเงินได้ครบ 1,180 ล้านบาทจริงๆ และทำเรื่องจ่ายเงินให้บริษัท อินฟรอนท์ ได้ในวันที่ 18 พฤศจิกายน เพียงแค่ 2 วันเท่านั้นก่อนฟุตบอลโลกจะเริ่ม และเป็นชาติสุดท้ายในโลก ที่ได้ลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดในปีนี้ด้วย

12) ทางกสทช. ออกมารับลูก กับสถานการณ์นี้เช่นกัน โดยระบุว่า จากนี้ไปจะนำ ฟุตบอลโลกรอบสุดท้าย ออกจากลิสต์ของ Must Have เพื่อให้ช่องทีวีที่ต้องเสียเงินดู เช่น True Visions หรือ AIS Play เข้ามาซื้อลิขสิทธิ์ แต่ก็แปลว่า ในฟุตบอลโลกครั้งต่อไป อาจจะไม่มีการดูฟรีครบทั้ง 64 แมตช์อีกต่อไปแล้ว

13) สำหรับแง่ดีในการซื้อลิขสิทธิ์นั้น มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย คาดการณ์ว่า ในประเทศไทยจะมีเงินสะพัดในช่วง 1 เดือนของฟุตบอลโลก ถึง 18,561 ล้านบาท โดยกระจายไปในการซื้ออาหาร ซื้อเครื่องใช้ไฟฟ้า ไปปาร์ตี้สังสรรค์ รวมถึงสร้างความคึกคักให้ร้านอาหาร ผับ บาร์ เนื่องจากฟุตบอลโลกครั้งนี้ จัดแข่งขันในช่วงเวลาที่ดีมาก นั่นคือ 17.00, 20.00, 23.00 และ 02.00 ตามเวลาไทย ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่เหมาะกับการพักผ่อน

นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย อธิบายว่า เม็ดเงินที่ต้องจ่ายค่าซื้อลิขสิทธิ์คุ้มค่าในแง่การหมุนเวียนเศรษฐกิจ

14) สำหรับเสียงวิจารณ์ในการซื้อลิขสิทธ์ฟุตบอลโลกก็มีเช่นกัน เนื่องจาก ในราคา 1,180 ล้านบาทที่จ่ายไป เป็นเงินจากภาครัฐ ถึง 600 ล้านบาท (จากกองทุน กทปส.) ในโลกออนไลน์มีบางส่วนตำหนิว่า เงิน 600 ล้านบาทก้อนนี้ สามารถนำไปจัดสรรใช้จ่ายเรื่องอื่นได้ เพราะคนในประเทศ ก็ไม่ได้ดูฟุตบอลกันหมด และอย่าลืมว่าฟุตบอลโลกครั้งนี้ ก็ไม่มีไทยลงแข่งด้วยเสียหน่อย ไม่เหมือนกับกีฬาโอลิมปิก ที่มีนักกีฬาไทยลงด้วย

15) หลังจากซื้อลิขสิทธิ์ได้เรียบร้อยในวันที่ 18 พฤศจิกายน คำถามต่อมาคือ แล้วทั้ง 64 แมตช์ ใครจะถ่ายทอดสดบ้าง โดยมีสถานีโทรทัศน์จำนวนมาก ขออยากจะมีส่วนร่วมด้วย เพราะการได้ถ่ายฟุตบอลโลก หมายถึงเรตติ้งที่จะเข้ามา

กกท. จัดสรร ให้ถ่ายลง True4U จำนวน 32 คู่ ส่วนอีก 32 คู่จะกระจายแบ่งกันให้ อีก 17 ช่องที่เหลือ โดยผู้ว่าก้องศักด อธิบายว่า ที่ต้องแบ่งแบบนี้ เพราะ True เป็นหนึ่งในผู้สนับสนุนในการซื้อลิขสิทธิ์ฟุตบอลโลก โดยจ่ายเงินมากถึง 300 ล้านบาท ดังนั้นจึงได้สิทธิ์การเลือกคู่ และ ได้จำนวนที่มากกว่าสถานีช่องอื่นๆ

นั่นทำให้ประเทศไทย กลายเป็นประเทศที่ใช้ ช่องโทรทัศน์ในการถ่ายทอดสดทางโทรทัศน์มากที่สุดในโลก ถึง 18 ช่อง คนดูจำเป็นต้องเตรียมพร้อมว่าแต่ละแมตช์ฟุตบอลจะไปถ่ายลงในช่องไหน

16) ดราม่าของเรื่องนี้ ยังไม่จบ เพราะสมาคมทีวีดิจิทัล นำโดย นายอธิศักดิ์ ลิมปรุ่งพัฒนกิจ กรรมการสมาคมฯ และ ที่ปรึกษา บริษัท เนชั่น กรุ๊ป ออกมาโจมตีว่า ช่องทีวีดิจิทัล 17 ช่อง ที่ต้องการร่วมถ่ายทอดสด ก็มีสิทธิ์จากเงินกองทุน 600 ล้านบาท ของกทปส. ดังนั้น จึงไม่เห็นชอบที่ให้ True ได้ถ่ายผ่าน True4U มากถึง 32 แมตช์ แถมได้เลือกคู่ที่ตัวเองต้องการอีกด้วย
โดยในวันจันทร์ที่ 21 พฤศจิกายนนี้ แม้ฟุตบอลโลกจะเริ่มไปแล้ว แต่สมาคมทีวีดิจิทัล จะยื่นจดหมายให้กสทช. เพื่อให้วินิจฉัยว่า กกท. มอบสิทธิ์อย่าง “ทั่วถึง และ เท่าเทียม” หรือไม่

17) สำหรับประเด็นนี้ ความเห็นแตกเป็นสองฝ่าย ฝ่ายแรกบอกว่า True จ่ายเงินสนับสนุน 300 ล้านบาท ก็คิดเป็นแค่ 25% ของเงินค่าซื้อลิขสิทธิ์ 1,180 ล้านบาทเท่านั้น ดังนั้นก็ควรได้สิทธิ์ในการถ่ายลง True4U แค่ 16 คู่ หรือ 25% ของโปรแกรมทั้งหมด ไม่ใช่ 32 คู่ ที่คิดเป็น 50% ของโปรแกรมทั้งหมด

การให้สิทธิพิเศษมากเกินกว่าตัวเงินที่จ่ายไป แสดงถึงความไม่ยุติธรรมที่เกิดขึ้น กับทีวีช่องที่เหลือ ที่อยากมีส่วนร่วมเหมือนกัน แล้วเงินจากกองทุน กทปส. ก็มาจ่ายเงินที่ทีวีดิจิทัลช่วยกันจ่ายทั้งนั้น

นอกจากนั้น True 4U ก็ไม่ใช่ช่อง HD เท่ากับว่าเป็นการบีบให้คนอยากดูชัดๆ ต้องไปจ่ายเงินให้ True Visions เพื่อซื้อแพ็คเกจ HD อีกหรือเปล่า เป็นการหารายได้ให้องค์กรทางอ้อม

18) อย่างไรก็ตาม อีกฝ่ายออกมาปกป้อง True โดยระบุว่า พวกเขาเป็นสปอนเซอร์เจ้าแรก ที่สนับสนุนโปรเจ็กต์ฟุตบอลโลก และควักเงินถึง 300 ล้านบาท ดังนั้นการได้สิทธิพิเศษแบบนี้ ก็ชอบธรรมดีแล้ว ช่องอื่นๆ ไม่ได้ควักเงินจ่ายแต่แรก แต่พอเขาซื้อลิขสิทธิ์กันเสร็จแล้ว ก็เรียกร้องอยากจะขอร่วมถ่ายด้วย พอได้ถ่ายไม่กี่คู่ ก็ไม่พอใจ

การที่ True จ่ายเงินให้ 300 ล้านเขาก็ต้องมีเงื่อนไขแบบนี้กับทางกกท. ไว้อยู่แล้ว ที่สำคัญทำไมสมาคมทีวีดิจิทัล ไม่รวมตัวกันออกเงินตั้งแต่แรก ถ้าคุณควักเงินจ่ายค่อยมีสิทธิ์มีเสียงที่จะพูด

19) เรื่องราวถ่ายทอดสดที่เหมือนจะจบ ก็เลยยังไม่จบเสียที แม้ฟุตบอลโลกจะเตะกันวันนี้แล้วก็ตาม ยังต้องรอดูการวินิจฉัยของกสทช. อีก ว่าจะรับเรื่อง ที่สมาคมทีวีดิจิทัลไปร้องเรียนหรือไม่ ดังนั้นโปรแกรมการแข่งที่ระบุออกมาตอนนี้ ก็อาจเปลี่ยนแปลงได้อีกรอบ ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของกสทช.

บทสรุปของเรื่องนี้จะเห็นว่า ประเทศไทย คือดินแดนแห่งความดราม่าเรื่องการถ่ายทอดสดอย่างแท้จริง การเจรจาที่ซื้อลิขสิทธิ์ได้ชาติสุดท้ายของโลก และคงเป็นชาติเดียวในโลกด้วย ที่บอลโลกจะเตะกันวันนี้อยู่แล้ว ยังมีเรื่องดราม่ากันไม่จบเลยกันอยู่เลย

podcast

LATEST
OUR PICKS
HOT
กำลังโหลดบทความถัดไป...

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า