Advertisement

SHARE

คัดลอกแล้ว

#explainer อุตสาหกรรมบันเทิงของเกาหลีใต้ เติบโตอย่างร้อนแรงที่สุดในโลก อย่างไรก็ตาม ความสำเร็จของ K-POP ไม่ได้เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ แต่ได้รับการส่งเสริมจากรัฐบาลเกาหลีใต้ อย่างเป็นระบบ

ดังนั้นในวาระที่ T-POP ของไทย เริ่มโตขึ้น เราอาจศึกษาแนวทางบางอย่างจากเกาหลีใต้ได้ และ workpointTODAY จะเล่าว่าเกาหลีทำอย่างไร ใน 19 ข้อ  เพื่อทำให้วงการบันเทิงไทย ต่อยอดได้ไกลขึ้นในทิศทางเดียวกัน

1) ในปี 1997 ช่วงวิกฤติต้มยำกุ้ง เกาหลีใต้เป็นอีกประเทศที่ได้รับผลกระทบโดยตรง ดังนั้นเพื่อสร้างรายได้ในช่องทางใหม่ๆ ให้ประเทศ รัฐบาลในยุคสมัยของประธานาธิบดี คิม ยอง-ซัม จึงสร้างนโยบายว่า ต่อไปเกาหลีใต้จะไม่พัฒนาเพียงแค่อุตสาหกรรมหนัก เช่นเครื่องจักร หรือ รถยนต์ เท่านั้น แต่จะผลักดันอีกหนึ่งอุตสาหกรรมที่สามารถใช้ส่งออกได้เช่นกันคือ อุตสาหกรรมบันเทิง

2) มีเรื่องเล่าคลาสสิค ว่าในห้องประชุมของประธานาธิบดีคิม ยอง-ซัม มีประโยคเขียนไว้บนบอร์ดว่า “รายได้จากการขายภาพยนตร์ จูราสสิค พาร์กของสตีเว่น สปีลเบิร์ก เพียงเรื่องเดียว เท่ากับยอดขายรถยนต์ฮุนได 1.5 ล้านคัน” เชื่อว่า นี่เป็นอีกหนึ่งเหตุผลที่ภาครัฐมองว่า วงการบันเทิงถ้าหากจับจุดได้ถูกต้องล่ะก็ สามารถทำรายได้ อย่างเป็นกอบเป็นกำได้เช่นกัน

3) การผลักดันของรัฐบาลทำอะไรบ้าง? ในปี 1998 กระทรวงวัฒนธรรมและท่องเที่ยวของเกาหลี กระตุ้นให้มหาวิทยาลัยทั่วประเทศ เปิดคณะการศึกษาเกี่ยวกับสายบันเทิง โดยรัฐบาลจะช่วยจัดหาอุปกรณ์การศึกษา และสร้างวุฒิขึ้นมาได้ รายงานเผยว่า ก่อนหน้านี้ ที่เกาหลีใต้มีคณะที่เกี่ยวกับงานบันเทิงไม่เกิน 10 แห่งทั้งประเทศ แต่ในช่วงเวลาไม่กี่ปี เพิ่มมาเป็น 300 แห่ง ส่งผลต่อการสร้างบุคลากรจำนวนมาก เข้าสู่วงการบันเทิง ทั้งภาพยนตร์ ทีวี และ ดนตรี

4) รายงานเผยว่า ในปี 1999 เกาหลีใต้ เพิ่มงบประมาณที่เกี่ยวข้องกับวงการบันเทิง “6 เท่า” หากเทียบกับปีก่อน

5) รัฐบาลเกาหลี วางหน้าที่ให้หน่วยงานชื่อ สถาบันส่งเสริมวัฒนธรรมและคอนเทนต์ (KOCCA) ให้มีหน้าที่ Export หรือส่งออก ผลงานชาวเกาหลีออกมาตีตลาดทั่วโลก โดยผลงานในช่วงแรก นั้นจะถูกวางขายในราคาไม่แพงนัก เพื่อให้คนต่างชาติได้ชิมลางก่อน

ตัวอย่างเช่นในปี 2000 สถานีกาล่า ทีวี ของไต้หวัน ถ้าต้องซื้อละครญี่ปุ่น 1 ตอน ต้องจ่ายเงินค่าลิขสิทธิ์สูงถึงตอนละ 15,000 – 20,000 ดอลลาร์ แต่ของเกาหลีใต้นั้น สามารถซื้อได้ในราคา 1,000 ดอลลาร์เท่านั้น ซึ่งพอคนไต้หวันได้เห็นคุณภาพของละครเกาหลีแล้ว ในเวลาต่อมา ก็สามารถขายได้แพงขึ้นเรื่อยๆ ผ่านไปแค่ 5 ปีเท่านั้น ในปี 2005 ละครเกาหลีขายได้ช่วงราคา 7,000 – 15,000 ดอลลาร์ ต่อหนึ่งตอน ขณะที่ละครจากญี่ปุ่น ได้รับความนิยมลดลง และขายได้ในราคาตอนละ 6,000 – 12,000 ดอลลาร์ ถูกกว่าของเกาหลีเสียอีก

โดยหน่วยงาน KOCCA จะทำหน้าที่หลายอย่าง หนึ่งในนั้นคือ ติดต่อกับโปรดักชั่นถ่ายทำภาพยนต์ ให้เลือกใช้สถานที่ ที่รัฐบาลต้องการโปรโมท สิ่งที่อยู่ในหนังหรือละคร อนาคตจะถูกผลักดันเป็นแหล่งท่องเที่ยวต่อไป

6) อีกหนึ่งสิ่งที่ รัฐบาลสร้างความเปลี่ยนแปลง คือการเปลี่ยนกฎหมายเรื่องการเซ็นเซอร์ ในอดีตเกาหลีใต้จะมี Media Ratings Board เป็นหน่วยงานของรัฐบาลที่จะระบุว่า ภาพยนตร์ โฆษณา ละคร หรือเกมไหน ที่สามารถวางขายต่อสาธารณชนได้ โดยมีคณะกรรมการกลุ่มเล็กๆ ที่พิจารณาความเหมาะสม

แต่สุดท้าย มีการวินิจฉัยว่า หน่วยงานดังกล่าว ขัดรัฐธรรมนูญเพราะไปกีดกันประชาชนว่าอะไรควรดู อะไรไม่ควรดู สุดท้ายหน่วยงานนั้นจุดยุบไป แล้วมีการแต่งตั้ง KMRB บอร์ดใหม่ ที่ไม่มีอำนาจสั่งห้าม แต่ทำได้แค่ให้เรตติ้ง เพื่อแจกแจงอายุ ที่เหมาะสมของคนดูเท่านั้น

การที่กฎหมายเซ็นเซอร์ถูกกำจัดไป ทำให้ครีเอเตอร์ คนที่สร้างสรรค์งานมีกำลังใจมากขึ้น สามารถคิดงานได้อย่างอิสระ โดยไม่ต้องกลัวว่าจะไปขัดใจคนของรัฐบาล ทำให้ผลงานที่เกาหลี มีความหลากหลายมากขึ้นกว่าเดิม

7) การให้อิสระกับผู้สร้าง เป็นสิ่งสำคัญ ในอดีตสถานีโทรทัศน์ จะเป็นรูปแบบ State-protected คือมีอยู่ไม่กี่ช่อง และรัฐจะสนับสนุนช่องดังกล่าวเต็มที่ แต่ในปี 2000 รัฐบาลออกกฎหมายฉบับใหม่ ชื่อ Broadcasting Act นั่นคือเปลี่ยนการถ่ายทอดสดเป็นรูปแบบ Free trade order สามารถเปิดช่องทีวีได้อย่างอิสระ ทั้งเคเบิ้ล, ดาวเทียม, เพย์เพอร์วิว และ ทีวีท้องถิ่น นั่นทำให้สถานีช่องใหญ่ ไม่ได้ผูกขาดอำนาจอีกต่อไป คนผลิตรายการสามารถนำคอนเทนต์ของตัวเองไปฉายได้ ในช่องที่เล็กลงหน่อย ทำให้คนมีโอกาสเห็นผลงานตัวเองมากขึ้น

8 ) นอกจากนั้น รัฐบาลยุคประธานาธิบดี คิม แด-จอง ยังสร้างประวัติศาสตร์ โดยการ “ยกเลิกการแบนวัฒนธรรมญี่ปุ่น” ในปี 1998 อธิบายคือ ในอดีต ด้วยความขัดแย้งกันจากสงครามโลกครั้งที่ 2 ทำให้เกาหลีใต้ไม่เปิดรับวัฒนธรรมของญี่ปุ่นเป็นเวลา 53 ปีติดต่อกัน รายการทีวีไม่มี รวมถึงนักร้องไม่สามารถจัดคอนเสิร์ตที่เกาหลีได้ แต่คิม แด-จอง จับมือกับนายกฯ เคโซ โอบุชิ เพื่อ “นำเข้า” วัฒนธรรมญี่ปุ่น

ณ เวลานั้น วัฒนธรรมญี่ปุ่นคืออันดับ 1 ในเอเชีย ทั้งการ์ตูน, เกม, ละคร, หนัง และ ดนตรี ดังนั้นถ้าเกาหลีใต้อยากจะพัฒนา ก็ต้องให้ประชาชนเข้าใจก่อนว่าอันดับ 1 เป็นยังไง โดย คิม แด-จอง ให้สัมภาษณ์ว่า “การยกเลิกการแบน จะช่วยพัฒนาวัฒนธรรมของเกาหลีใต้ให้เดินต่อ”

9) การที่ทุกๆ องค์ประกอบรวมกัน ทั้งการเพิ่มงบประมาณ สร้างความรู้ สร้างบุคลากร สร้างช่องทาง และ สร้างโอกาสในการไปขายต่างแดน ทำให้วงการบันเทิงเกาหลีใต้ เกิดการแข่งขันกันสูงมาก ต้องเป็นสินค้าที่มีคุณภาพเท่านั้น ที่จะยืนหยัดอยู่ได้ในวงการ คนที่ผลิตผลงานมาแล้วขายไม่ได้ ก็ต้องพัฒนาให้ดีขึ้นกว่าเดิมอีก เป็นบรรยากาศที่ช่วยเอื้อต่อการพัฒนา

ฮอง ซ็อก-คยอง ศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัยโซล อธิบายว่า “รัฐบาลเกาหลี ลงทุนหนัก สนับสนุนหนัก และ ตั้งใจทำให้เป็นสินค้าสำหรับส่งออก”  (Invested hard, Supported hard, Made it for export) สิ่งต่างๆ ไม่ได้เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ แต่เกิดจากการวางแผนไว้แล้ว

10) สิ่งสำคัญคือสร้างบรรยากาศที่ดี ที่เอื้อต่อความคิดสร้างสรรค์มากที่สุด พร้อมทั้งให้คุณค่ากับงานศิลปะ งานแสดง งานบันเทิง สังเกตได้จาก ประธานาธิบดีทุกคน จะให้ความสำคัญกับวงการบันเทิงเสมอ ไม่มีใครคิดว่าเป็นเรื่องไร้สาระ และไม่สำคัญ

11) หลังจากเริ่มสนับสนุนไปได้สักระยะ เกาหลีใต้เริ่มขายผลงานได้มากขึ้น ยอดขายละครส่งออกในปี 1998 ของเกาหลีใต้อยู่ที่ 7.7 ล้านดอลลาร์ แต่ผ่านไปแค่ 12 ปีเท่านั้น ในปี 2010 ยอดขายละครส่งออกอยู่ที่ 171 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นมหาศาลแบบคนละเรื่อง นี่ยังไม่นับในเวลาต่อมาที่ เกาหลีใต้สร้าง Squid Game ให้กลายเป็นซีรีส์ที่มีคนดูมากที่สุดตลอดกาลใน Netflix

12) เช่นเดียวกับวงการดนตรี ในปี 1998 เพลงเกาหลี ส่งออกได้รายได้แค่ 8.6 ล้านดอลลาร์ แต่ผ่านไป 20 ปี สามารถทำรายได้ 564 ล้านดอลลาร์ในปี 2018 และพร้อมจะไต่เพิ่มขึ้นไปมากกว่านี้อีกด้วย ศิลปินวงดังๆ อย่าง BTS และ Blackpink ถือกำเนิดขึ้นมา และคว้ารางวัลมากมายในระดับโลก

13) ขณะที่ในวงการภาพยนตร์ ชื่อเสียงของหนังเกาหลี กลายเป็นที่รู้จัก Parasite ได้รางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยม และ บง จุน-โฮ ได้รับรางวัลผู้กำกับยอดเยี่ยม จากงานออสการ์

14) ในทุกวันนี้ รัฐบาลยังเดินหน้าสนับสนุนงานบันเทิงอย่างต่อเนื่อง กระทรวงการคลังมอบงบประมาณ 13.5 ล้านดอลลาร์ ให้ค่ายหนังขนาดกลาง และ เล็ก ในการผลิตภาพยนตร์ขึ้นมาแข่งขันกับค่ายใหญ่

15) รวมไปถึงมีการก่อตั้ง Korea Foundation of International Culture Exchange เพื่อทำการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมกับประเทศอื่น แสดงให้เห็นว่าเกาหลีใต้ไม่ได้คิดแต่จะส่งออกอย่างเดียว แต่ยังพร้อมเปิดใจรับวัฒนธรรมของประเทศอื่นด้วย พร้อมจะนำเข้าและส่งออกไปในเวลาเดียวกัน

16) ขณะที่ประชาชนในประเทศ ก็มองเห็นว่าวงการบันเทิงสามารถเติบโต และทำรายได้ดี ความรู้สึกที่มีต่อวงการนี้ก็เปลี่ยนไป ในปี 1999 เด็กประถมในเกาหลีแค่ 9% เท่านั้น อยากทำงานในวงการบันเทิง แต่ในปี 2012 เด็กประถม 38.8% อยากอยู่ในวงการนี้

17) การบูมของอุตสาหกรรมบันเทิง ผลักดันให้ธุรกิจต่างๆ ของเกาหลีได้รับความนิยมตามไปด้วย แบรนด์สินค้าต่างๆ เครื่องใช้ไฟฟ้า เครื่องสำอางค์ เสื้อผ้า รวมถึงอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ขณะที่ชาวต่างชาติ นิยมเรียนภาษาเกาหลีเพิ่มขึ้นเป็นอันดับ 1 ทุกอย่างเจริญเติบโตไปพร้อมๆ กัน

เกาหลีใต้กลายเป็นคนกำหนดเทรนด์ของโลก เมื่อศิลปิน นักแสดง นักร้อง ใช้สิ่งไหน หรือเที่ยวที่ไหน สิ่งนั้นก็จะถูกพูดถึงและได้รับความนิยมไปด้วยโดยปริยาย

18) จากสิ่งที่เราเห็นคือ การพัฒนาของอุตสาหกรรมบันเทิงนั้น ภาคเอกชนเมื่อสู้เต็มที่ ก็อาจสร้างผลงานดีๆ ได้ แต่ถ้าต้องการเปลี่ยนแปลงในภาพกว้างกว่านี้ ถึงขั้นไปตีตลาดต่างประเทศได้ล่ะก็ รัฐบาลต้องเข้ามาร่วมวางนโยบาย ในระดับเป็นวาระแห่งชาติ

ผู้นำประเทศ ต้องเห็นคุณค่าของอุตสาหกรรมบันเทิง และเข้าใจในเทคโนโลยี และวัฒนธรรมที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว รวมถึงกระทรวงวัฒนธรรมก็ต้องส่งเสริมความหลากหลาย ไม่ใช่เพียงแต่ยึดถือวัฒนธรรมเดิมให้คงอยู่ตลอดไป โดยไม่ปรับตัวกับโลก

19) T-Pop ของไทยตอนนี้ เริ่มมีความแข็งแรงขึ้น ศิลปินไทยเป็นที่รู้จักในระดับนานาชาติ Milli ไปแสดงที่โคเชลล่า, 4MIX มีฐานแฟนที่แข็งแรงในเม็กซิโก หรือ 4EVE เป็นศิลปินไทยกลุ่มแรกที่ได้รับเลือกให้ขึ้นบิลบอร์ดยักษ์ใจกลางไทม์สแควร์ ที่นิวยอร์ก

แต่การจะไปยกระดับให้ทั้งอุตสาหกรรมไปได้ไกลที่สุด ต้องได้รับการสนับสนุนที่ดีจากภาครัฐ ช่วยกันส่งเสริม ผลักดัน และเห็นความสำคัญว่า T-POP สามารถก้าวต่อไปได้ไกลกว่านี้จริงๆ

T-POP Concert Fest เทศกาลดนตรี T-POP ขนาดใหญ่ใจกลางเมือง ที่ศูนย์สิริกิติ์ 2 วัน 3 เวที 4 ฮอลล์ รวมศิลปิน T-POP มาทั้งวงการ

คอนเสิร์ต 2 วัน 29 และ 30 ตุลาคมนี้ รีบหาซื้อบัตรก่อนที่หมด ได้ที่เว็บและแอพพลิเคชั่น The Concert มารันวงการ T-POP ไปด้วยกัน

ซื้อตั๋วได้ทางนี้เลย https://www.theconcert.com/p/1752 เหลืออีกไม่มากแล้ว

 

podcast

LATEST
OUR PICKS
HOT
กำลังโหลดบทความถัดไป...

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า