Advertisement

SHARE

คัดลอกแล้ว

รัฐบาลไทยยังเดินหน้าแผนปฏิรูปโครงสร้างภาษีอย่างต่อเนื่อง เพื่อปิดช่องโหว่ด้านภาษี และสร้างความเป็นธรรมในการจัดเก็บภาษีมากขึ้น

ตัวอย่างการปฏิรูปภาษีที่ประเทศไทยทำไปแล้ว เช่น การประกาศเก็บภาษีมรดกและภาษีที่ดินแบบจริงๆ จังๆ การปฏิรูปภาษีบุคคล นิติบุคคล และภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) การเก็บภาษีอีเซอร์วิส การเก็บภาษีคาร์บอน ฯลฯ

นอกจากนี้ รัฐบาลยังกระตุ้นให้ธุรกิจใหม่ๆ ที่มาพร้อมกับเทคโนโลยีต้องยื่นภาษีด้วย เช่น ภาษีคริปโตฯ ภาษียูทูบเบอร์ ภาษีพ่อค้า-แม่ค้าออนไลน์ ฯลฯ

ล่าสุด ที่กำลังเป็นประเด็นคงหนีไม่พ้น การเก็บภาษีขายหุ้น ที่ไม่ว่าจะมีเสียงคัดค้านยังไง รัฐบาลก็ยืนยันจะเก็บจริงในปีหน้า (2566)

TODAY Bizview ชวนทุกคนสำรวจการเก็บภาษีทั่วโลก ภาษีอะไรบ้างที่ทำเงินสูงสุดในหลายประเทศ ภาษีอะไรบ้างที่ประเทศไทยยังไม่ได้เก็บ แต่ต่างประเทศเริ่มเก็บแล้ว และเคสการเก็บภาษีแปลกๆ ที่ไม่คิดว่าชาตินี้จะเจอ

ภาษีอะไรทำเงินสูงสุดให้หลายประเทศ

เริ่มจากประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่อย่างสหรัฐ ในปีงบประมาณ 2023 (2566) ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดานับเป็นรายได้ภาษีหลักของรัฐ ด้วยสัดส่วน 51% ของรายได้ภาษีทั้งหมด รองลงมาคือภาษีเงินสมทบกองทุนประกันสังคม (Social Security Contributions: SSCs) และ Medicare คิดเป็น 39%

ขณะที่ประเทศพัฒนาแล้วในกลุ่ม OECD รายได้ส่วนใหญ่จะมาจากภาษีการบริโภค (Consumption Tax) 32.1% รองลงมาคือ ภาษีประกันสังคม 26.4% ภาษีเงินได้บุคคลธรรม 24% ภาษีเงินได้นิติบุคคล 9.2% และภาษีโรงเรือน (Property Tax) 5.6%

ส่วนประเทศในเอเชียแปซิฟิก ภาษีสินค้าและบริการ (Goods and Services Tax :GST) เป็นแหล่งรายได้หลัก 50.6% รองลงมาคือ ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา 16.0% และเงินสมทบกองทุนประกันสังคม 6.3%

สำหรับประเทศไทยในปี 2565 รายได้ส่วนใหญ่มาจากภาษีมูลค่าเพิ่ม 4.5 แสนล้านบาท รองลงมาคือ ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา 1.8 แสนล้านบาท ภาษีเงินได้นิติบุคคล 1.7 แสนล้านบาท ภาษีธุรกิจเฉพาะ 2.8 หมื่นล้านบาท

อากรแสตมป์ 8,585.99 ล้านบาท ภาษีเงินได้ปิโตรเลียม 3,845.93 ล้านบาท อื่นๆ 225 ล้านบาท และภาษีการรับมรดก 186.52 ล้านบาท

ประเทศไทยยังไม่ได้เก็บภาษีอะไรบ้าง

หากลองคิดไวๆ นอกเหนือจากที่ประกาศไปแล้ว ภาษีที่ประเทศไทยยังไม่ได้เก็บ แต่บางประเทศเริ่มเก็บ ส่วนใหญ่จะเป็นธุรกิจหรือสินค้าที่มีข้อโต้แย้งเกี่ยวกับศีลธรรมในประเทศ เช่น

1. ภาษีผู้ค้าบริการทางเพศ (Prostitution/Sex Worker Tax) ซึ่งถูกเก็บในหลายประเทศที่รองรับให้อาชีพดังกล่าวถูกกฎหมาย ไม่ว่าจะเป็นเนเธอร์แลนด์ เยอรมนี กรีซ เม็กซิโก สวิตเซอร์แลนด์ เดนมาร์ก ตุรกี ฯลฯ

แม้จะไม่มีรายงานว่า ผู้ค้าบริการทางเพศสร้างภาษีให้รัฐบาลแต่ละประเทศเท่าไหร่ เนื่องจากส่วนใหญ่เป็นการยื่นภาษีรวมในหมวดอาชีพอิสระ (Self-employment Tax)

แต่ผลการศึกษาใน กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. พบว่า ผู้ค้าบริการทางเพศจะสร้างรายได้ภาษีบุคคลธรรมดาให้รัฐสูงถึง 4,906.39 ดอลลาร์สหรัฐ (ราว 170,000 บาท) ต่อหัวเลยทีเดียว

2. ภาษีการพนัน (Gambling Tax) แม้จะขัดกับศีลธรรมในสายตาคนบางกลุ่ม แต่รัฐบาลหลายประเทศกลับเห็นว่า ธุรกิจดังกล่าวมีเม็ดเงินหมุนเวียนในระดับที่สูง น่าจะเป็นโอกาสในการจัดเก็บภาษีมาพัฒนาประเทศ

ยกตัวอย่างเช่น สหรัฐ ซึ่งมีหลายรัฐที่รองรับให้ธุรกิจกาสิโน (Casino) ถูกกฎหมาย ก็สามารถจัดเก็บภาษีได้ในระดับสูง ไม่ว่าจะเป็นเพนซิลเวเนีย 2,016.10 ล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 70,000 ล้านบาท) นิวยอร์ก 1,097.29 ล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 38,000 ล้านบาท) และเนวาดา 1,023.20 ล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 35,000 ล้านบาท)

ขณะที่ ‘มาเก๊า’ เมืองกาสิโน ก็ยังจัดเก็บภาษีจากธุรกิจการพนันได้ในระดับสูงที่ 3 พันล้านปาตากา (ราว 374 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 13,000 ล้านบาท) แม้ทางการจะรายว่าเป็นระดับที่ต่ำที่สุดของปีนี้ และยังไม่ฟื้นตัวจากโควิด-19 ก็ตาม

3. ภาษีบุหรี่ไฟฟ้า (E-Cigarettes and Vaping Tax) แม้จะเป็นสินค้าที่มีความเสี่ยงต่อสุขภาพของประชาชน แต่หลายประเทศเริ่มหันมาเก็บภาษีสินค้าดังกล่าวด้วยเหตุผลที่แตกต่างกันออกไป เช่น

สหราชอาณาจักร (UK) ผลักดันให้บุหรี่ไฟฟ้ากลายเป็นสินค้าถูกกฎหมายเพื่อเป็นเครื่องมือหนึ่งในการเลิกบุหรี่มวนแบบเก่าที่มีอัตราสูงกว่า ส่งผลให้มีรายได้ทางการคลังเพิ่มขึ้น 310 ล้านปอนด์ (ราว 13,000 ล้านบาท) จากการเก็บภาษีบุหรี่ไฟฟ้า

ส่วนรัฐบาลฟิลิปปินส์ เริ่มเก็บภาษีหรี่ไฟฟ้าเพื่อลดแรงจูงใจของผู้สูบหน้าใหม่ ล่าสุด ทางการคาดว่าจะมีรายได้เพิ่มขึ้นประมาณ 25,000 ล้านเปโซ (ประมาณ 500 ล้านดอลลาร์ หรือ 17,000 ล้านบาท) จากการเก็บภาษีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และบุหรี่ไฟฟ้า

สารพัดภาษีบาป ซ่อนมูลค่าไว้ขนาดไหน

ยกตัวอย่างบุหรี่ไฟฟ้า มีการคาดการณ์ว่ามูลค่าการซื้อขายของตลาดบุหรี่ไฟฟ้าอาจสูงถึง 1,900-6,400 ล้านบาทต่อปี คิดเป็น 3-4% ของมูลค่าตลาดยาสูบในประเทศ ด้วยอัตราการเติบโตเปลี่ย 100%

นอกจากนี้ ยังมีการคาดการณ์ว่า หากประเทศไทยมีการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตจากบุหรี่ไฟฟ้า จะทำให้ภาครัฐมีรายได้เพิ่มขึ้นประมาณ 2,700 ล้านบาทต่อปี ซึ่งอาจเป็นอีกตลาดที่ภาครัฐให้ความสนใจ

ล่าสุด กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ได้ทำหนังสือถึงคณะกรรมการควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบแห่งชาติ เพื่อขอให้ทบทวนมติห้ามนำเข้าและขายบุหรี่ไฟฟ้า รวมถึงสนับสนุนให้เปิดเสรีเพื่อสร้างรายได้ภาษีให้รัฐบาล

ส่วนข้อถกเถียงเกี่ยวกับอันตรายของบุหรี่ไฟฟ้า ในงานวิจัยล่าสุดที่ได้รับการเผยแพร่ในฐานข้อมูลของคอเครน (Cochrane Library) ระบุว่า

บุหรี่ไฟฟ้าแบบมีนิโคติน หรือ ‘เวป’ (Vapes) ช่วยให้คนเลิกบุหรี่ได้อย่างมีประสิทธิภาพกว่าการใช้นิโคตินทดแทน (Nicotine Replacement Therapy: NRT) แบบดั้งเดิม อย่างการใช้แผ่นแปะหรือหมากฝรั่งนิโคติน

นอกจากนี้ ผู้ใช้บุหรี่ไฟฟ้าแบบมีนิโคตินมีโอกาสเลิกบุหรี่ได้มากกว่าผู้ใช้บุหรี่ไฟฟ้าที่ปราศจากนิโคตินหรือผู้ที่ไม่พยายามเลิกบุหรี่เลย

อย่างไรก็ตาม นักวิจัยระบุว่า งานวิจัยนี้ยังต้องมีหลักฐานเพิ่มเติม โดยเฉพาะบุหรี่ไฟฟ้ารุ่นใหม่ๆ ที่สามารถให้นิโคตินได้ดีกว่ารุ่นก่อนๆ ว่าสามารถช่วยให้ผู้สูบบุหรี่เลิกบุหรี่มากขึ้นได้หรือไม่ อีกทั้งยังต้องมีข้อมูลเรื่องผลกระทบในระยะยาวในการสรุปเรื่องนี้อีกด้วย

ครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ ไว้หนวดต้องเสียภาษี

นอกจากจะเป็นเครื่องมือการหารายได้ของรัฐแล้ว การเก็บภาษีบางประเทศก็อาจทำไปเพื่อจุดประสงค์เฉพาะบางอย่าง เช่น การเก็บภาษีเหล้า บุหรี่ เพื่อลดแรงจูงใจให้คนดื่มหรือสูบน้อยลง

เช่นเดียวกับเรื่องราวการเก็บภาษีแปลกๆ เหล่านี้ ที่ก็มีวัตถุประสงค์เฉพาะในการเก็บเหมือนกัน

เริ่มจาก ‘ภาษีหนวด’ ของรัสเซียในยุคจักรพรรดิปีเตอร์ที่ 1 แห่งรัสเซีย (ปีเตอร์มหาราช) เป็นส่วนหนึ่งของนโยบายเปลี่ยนผ่านรัสเซียสู่ความเป็นตะวันตก

ใครก็ตามที่ต้องการไว้หนวด (ยกเว้นนักบวช) จะต้องจ่ายภาษีในระดับที่ค่อนข้างแพง แต่ปัจจุบันภาษีหนวดถูกยกเลิกไปนานแล้ว

ถัดมาภาษี ‘เรอ-ตด-ฉี่’ ของวัว แกะ แพะ ฯลฯ ซึ่งเป็นแผนจัดเก็บภาษีใหม่ล่าสุดที่รัฐบาลนิวซีแลนด์ประเทศเตรียมจะเก็บกับเจ้าของฟาร์มปศุวัตว์ในปี 2025 (2568) เป้าหมายเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

อย่างไรก็ตาม การเก็บภาษีดังกล่าวสร้างความไม่พอใจให้กับเจ้าของฟาร์มต่างๆ เป็นอย่างมาก เพราะมีส่วนทำให้ต้นทุนการทำฟาร์มเพิ่มขึ้น ซึ่งต้องติดตามต่อว่ารัฐบาลนิวซีแลนด์จะได้เก็บภาษีตามที่ตั้งใจหรือไม่

นอกจากที่กล่าวไปข้างต้นแล้ว ยังมีภาษีแปลกๆ อีกนับไม่ถ้วน ทั้งในประวัติศาสตร์ที่ตอนนี้ถูกยกเลิกไปแล้ว และที่ยังบังคับใช้อยู่ในปัจจุบัน เช่น ภาษีขี้คลาดของอังกฤษ (ยกเลิกแล้ว) ภาษีการตั้งชื่อลูกของสวีเดน ฯลฯ

ที่มา:

  • https://fiscaldata.treasury.gov/americas-finance-guide/government-revenue/
  • https://www.oecd-ilibrary.org/taxation/revenue-statistics_2522770x
  • https://www.oecd.org/tax/tax-policy/revenue-statistics-asia-pacific-brochure.pdf
  • https://govspending.data.go.th/dashboard/5
  • https://www.nswp.org/sex-work-laws-map
  • https://academic.oup.com/eurpub/article/30/Supplement_5/ckaa165.673/5915976
  • https://www.statista.com/statistics/187869/tax-revenue-from-us-commercial-casinos-since-2014/
  • https://www.scmp.com/business/companies/article/3201691/macau-casinos-revenues-set-hit-record-low-2022-after-revenues-slump-56-cent-november
  • https://movendi.ngo/news/2022/06/07/alcohol-tobacco-taxes-provide-resources-for-the-philippines-government-to-provide-healthcare-to-people-during-pandemic/
  • https://www.conveniencestore.co.uk/your-business/how-much-is-the-vaping-category-worth-in-the-uk/674034.article
  • https://www.bworldonline.com/opinion/2022/11/27/489566/why-we-should-raise-taxes-on-vapes
  • https://www.ox.ac.uk/news/2022-11-17-latest-cochrane-review-finds-high-certainty-evidence-nicotine-e-cigarettes-are-more
  • https://resourcecenter.thaihealth.or.th/article/ข้อเท็จจริงของบุหรี่ไฟฟ้า
  • https://kukrdb.lib.ku.ac.th/proceedings/KUCON/search_detail/result/382795
  • https://digital.library.tu.ac.th/tu_dc/frontend/Info/item/dc:186550
  • https://www.mdes.go.th/news/detail/5484–ชัยวุฒิ–ร่อน-หนังสือ-คกก-ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบฯ-ทบทวนมติห้ามนำเข้า-ขายบุหรี่ไฟฟ้า-ชี้เปิดเสรีนำเข้าถูกกฏหมายเก็บภาษีเข้ารัฐ
  • https://turbotax.intuit.com/tax-tips/fun-facts/the-weirdest-tax-laws-from-history/L6gj9t7Yyhttps://www.cnbc.com/2014/02/14/top-12-weirdest-tax-rules-around-the-world.htmlhttps://www.smithsonianmag.com/smart-news/why-tsar-peter-great-established-beard-tax-180964693/https://edition.cnn.com/2022/10/11/asia/new-zealand-farmers-cow-sheep-burps-climate-intl-scn/index.html

podcast

LATEST
OUR PICKS
HOT
กำลังโหลดบทความถัดไป...

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า