SHARE

คัดลอกแล้ว

ที่ผ่านมาคำว่า ‘ครอบครัว’ มักถูกตีความไปโดยอัตโนมัติว่าต้องมี พ่อ แม่ และ ลูก เป็งองค์ประกอบ หรืออาจเป็นภาพจำที่เข้าใจได้ง่ายที่สุดเมื่อคำๆ นี้ถูกกล่าวถึง แต่จะเป็นอย่างไรถ้าครอบครัวนั้นขาดองค์ประกอบข้อใดข้อหนึ่งไป ?

ครอบครัวที่ขาดแม่ จะยังเป็นครอบครัวอยู่หรือไม่

ครอบครัวที่มีพ่อสองคนล่ะ ถือเป็นครอบครัวหรือเปล่า

ครอบครัวที่มีแต่สามีภรรยาแต่ไม่มีลูก จะเป็นครอบครัวที่สมบูรณ์และมีความสุขได้หรือ

แม้หลายคนยังคงมองภาพจำความเป็นครอบครัวในแบบที่คุ้นเคย แต่เรากลับปฏิเสธไม่ได้เลยว่าปัจจุบันรูปแบบของครอบครัวไทยได้แผ่ขยายความเป็นไปได้ออกไปอย่างไร้ขีดจำกัด ท้าทายทั้งจิตใต้สำนึก ความเคยชิน และความเข้าใจของคนที่ไม่เคยสัมผัสกับความแตกต่างหลากหลาย

แต่ ‘ครอบครัว’ เหล่านี้เกิดขึ้นแล้ว พวกเขามีตัวตนอยู่ในสังคมนี้ร่วมกับเราทุกคน และงานเสวนา ‘ครอบครัวยุคใหม่ในนิยามของฉัน’ ที่จัดขึ้นโดย Thailand Policy Lab ห้องปฏิบัติการนโยบายประเทศไทย ก่อตั้งโดยสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติประจำประเทศไทย (UNDP Thailand) ร่วมกับกองทุนประชากรแห่งสหประชาชาติประจำประเทศไทย (UNFPA Thailand) และภาคีเครือข่าย เมื่อวันที่ 3 มิถุนายนที่ผ่านมา

ก็ได้ถูกจัดขึ้นเพื่อแบ่งปันเรื่องราว รวมถึงสร้างความเข้าใจแก่สังคม เพื่อจุดประกายสู่การผลักดัน ‘นโยบายครอบครัวหลากหลาย’ ซึ่งเกิดจากการนำนวัตกรรมมาใช้ในการออกแบบนโยบาย และข้อกฎหมายที่มีความสอดคล้องกับสภาพสังคมยุคใหม่ ที่ครอบครัวมีความหลากหลายมากขึ้น รวมถึงสร้างความตระหนักรู้ถึงสิทธิและความเท่าเทียมทางเพศต่อไป

ครอบครัวเชิงเดี่ยว หมุดหมายใหม่ของความหลากหลาย

“ครอบครัวไทยมีความแตกต่างกันในเชิงโครงสร้าง ปัจจุบันสัดส่วนของครอบครัวไทยส่วนใหญ่เป็นครอบครัวเชิงเดี่ยว ซึ่งหมายถึง ครอบครัวเล็ก ที่มีลูกคนเดียวหรือไม่มีลูกเลย ซึ่งสิ่งนี้เป็นทางเลือกและสิทธิของประชาชน โดยครอบครัวประเภทนี้ยังรวมถึงครอบครัวที่เป็น ชาย-ชาย และ หญิง-หญิงด้วย” สิริลักษณ์ เชียงว่อง หัวหน้าสำนักงาน กองทุนประชากรแห่งสหประชาชาติ (UNFPA) ประจำประเทศไทยให้ข้อมูล

ภารกิจของ UNFPA คือ การพัฒนาคุณภาพของประชากร ไม่ว่าจะเป็นเพศใด กลุ่มใด หรือวัยใด ก็สมควรได้รับสิทธิที่เท่าเทียมกัน ทั้งในเชิงนโยบายและเชิงปฏิบัติ เพราะคุณภาพของประชากรไม่ได้ขึ้นอยู่กับจำนวน ดังนั้น หากประชากรมีชีวิตที่มีคุณภาพ ย่อมหมายถึงโอกาสในการพัฒนาประเทศให้มีคุณภาพด้วยเช่นกัน

แน่นอนว่าหนึ่งในปัจจัยที่ส่งผลต่อคุณภาพของประชากร ย่อมเริ่มต้นจากการเลี้ยงดู บทบาทของสถาบันครอบครัวจึงมีความสำคัญมาก ในการฟูมฟักประชากรที่ดีและมีคุณภาพ โดยครอบครัวที่ดีควรมอบความรัก ความอบอุ่น และความเข้าใจซึ่งกันและกัน โดยปราศจากความรุนแรง ทั้งทางด้านร่างกายและจิตใจ

ด้านเรอโน เมแยร์ ผู้แทนโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติประจำประเทศไทย เผยว่า เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา ประเทศไทยมีความก้าวหน้าในการขับเคลื่อนเกี่ยวกับสิทธิของกลุ่มคนหลากหลายทางเพศมากขึ้น แต่ก็ยังคงมีส่วนที่ต้องพัฒนาต่อเพื่อให้เกิดขึ้นจริง โดยเฉพาะการผ่านกฎหมายสมรสเท่าเทียม ดังนั้น กระบวนการและกิจกรรมที่จัดขึ้น จึงดำเนินการโดยมีความหวังว่า จะสามารถผลักดันไปเป็นข้อเสนอเชิงนโยบาย เพื่อให้เกิดความยั่งยืนในทางกฎหมายขึ้นอย่างแท้จริง

“จุดสำคัญของกระบวนการนี้ คือ การทำให้เนื้อหามีความครอบคลุม และเกิดการมีส่วนร่วมอย่างทั่วถึง โดยการใช้เครื่องมือ อย่าง การรับฟังเสียงของสังคม เพื่อสร้างข้อเสนอเชิงนโยบายที่ทุกคนที่เกี่ยวข้องได้มีส่วนร่วม ไม่ใช่แค่การนำนโยบายไปใช้ แต่รวมไปถึงการพูดคุยถึงปัญหา และออกแบบ นิยามใหม่ของคำว่าครอบครัวด้วย”

เมื่อ ‘ครอบครัว’ ของเราไม่เท่ากัน

“เราโตมากับแม่สองคน เลยมองว่าครอบครัวเป็นสิ่งสำคัญมาก นิยามครอบครัวของเราคือ เป็นพื้นที่ปลอดภัย ปรึกษาได้ ไม่ใช่แค่ในเรื่องของเพศ แต่รวมไปถึงตัวตนของเราเอง หรือสิ่งที่เกิดขึ้นกับร่างกายของเราด้วย” ภาวิดา มอริจจิ ตัวแทนคนรุ่นใหม่ นักร้อง และ Spotify’s Thailand’s EQUAL Ambassador กล่าว

มัจฉา พรอินทร์ ตัวแทนผู้ปกครองจากครอบครัวที่มีความหลากหลายทางเพศ เล่าว่า “เราเป็นครอบครัว LGBTQIA+ ที่มีลูกสาว สิบกว่าปีที่แล้ว กระบวนการสมรสเท่าเทียม ยังไม่ได้เป็นที่กล่าวถึงในปัจจุบัน เราเลยต้องเผชิญหน้ากับการถูกเลือกปฏิบัติ และต้องผ่านช่วงเวลาที่ต้องทำความเข้าใจกับครอบครัวของเราพอสมควร รวมถึงต้องตอบคำถามกับสังคมในฐานะแม่ด้วย”

ด้าน ศิริวรรณ พรอินทร์ ตัวแทนลูกจากครอบครัวที่มีความหลากหลายทางเพศ วัย 20 ปี เล่าย้อนถึงประสบการณ์ในการเติบโตมาในครอบครัวที่มีแม่ 2 คนว่า เธอรู้สึกว่าครอบครัวนี้คือที่ปลอดภัย และทำให้เธอเติบโตมาได้อย่างเป็นตัวของตัวเอง แต่เพราะความแตกต่างทำให้เธอถูกคนรอบข้างเลือกปฏิบัติในวัยเด็ก ศิริวรรณเริ่มตระหนักรู้ถึงปัญหาในตอนที่ต้องกรอกเอกสารของโรงเรียน แต่ไม่สามารถตอบคำถามครูได้ว่าพ่อแม่คือใคร ทำไมถึงใส่ข้อมูลพื้นฐานในเอกสารไม่ได้ รวมถึงออกหนังสือเดินทางไปต่างประเทศไม่ได้ เนื่องจากแม่ไม่ใช่ผู้ปกครองทางกฎหมาย และนี่คือจุดเริ่มต้นของความคับข้องใจ ที่ทำให้เธอเริ่มศึกษา และหันมาเคลื่อนไหวด้านสิทธิในการก่อตั้งครอบครัว

“เด็กและเยาวชนจำนวนมากจะไม่ต้องทนทุกข์ถ้าเรานิยามว่าครอบครัวคือพื้นที่ให้ความอบอุ่น ใครก็สามารถเป็นครอบครัวให้กันได้ แค่เราปกป้อง คุ้มครอง และสนับสนุนให้เขาเติบโตอย่างมีคุณภาพและเป็นตัวอย่างที่ดีให้กับเขา แต่พอเป็นกลุ่ม LGBTQIA+ ปัญหาที่พบคือ สังคมไม่ยอมรับ และ ไม่มีกฎหมายรองรับ” มัจฉา เสริม

ดร. พงศ์สิริ เตชะวิบูลย์ ตัวแทนคุณพ่อเลี้ยงเดี่ยว เผยว่า “ผมเติบโตมาในครอบครัวที่อบอุ่น และมองว่าสถาบันครอบครัวคือความสบายใจ ส่วนตัวอยากสานต่อสิ่งนี้ ไม่อยากให้จบแค่ที่รุ่นตัวเอง แต่สถานการณ์คือ ผมไม่ได้แต่งงาน แค่ต้องการมีลูก แต่เพราะที่ไทยไม่มีกฎหมายด้านนี้รองรับ เราเลยไปมีที่อเมริกา โชคดีที่การกรอกเอกสารไม่ได้แบ่งแยกเพศเป็น ‘บิดา’ และ ‘มารดา’ แต่ใช้คำว่า ‘ผู้ปกครอง’ เราเลยไปทำเรื่องกับศาลสูงที่นั่น ขอสิทธิ์การเป็นผู้ปกครองเพียงคนเดียว”

พงศ์สิริ เล่าว่า แม้ช่วงแรกจะมีทั้งคนเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย โดยเฉพาะคนรุ่นอายุมากกว่า จะมีความสงสัย เพราะตามยุคสมัยของเขาคือ ‘แม่’ ต้องเป็นคนดูแลลูก ถ้ามีลูกแล้วไม่มีแม่ จะเกิดคำถามว่าใครเป็นคนดูแล แต่เวลาก็ได้เป็นเครื่องพิสูจน์แล้วว่า เขาได้พยายามทำสิ่งนี้อย่างดีที่สุดในการเป็นทั้งพ่อและแม่ของเด็กหนึ่งคน

หนทางที่ไม่สวยหรู ของการเป็น ‘ครอบครัว’ 

แม้ในทางปฏิบัติครอบครัวหลากหลายจะเกิดขึ้นแล้วในสังคม แต่ข้อกฎหมายที่มีอยู่เพื่อรองรับคุณภาพชีวิตกลับยังตามไม่ทัน

“ถ้าเรายังอยู่แบบไม่มีคู่ชีวิต เราจะไม่รู้เรื่องกฎหมายต่าง ๆ เลย เช่น การซื้อที่ดินแล้วกู้ร่วมไม่ได้ ทรัพย์สินที่มีร่วมกัน หากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจากไป แล้วกฎหมายไม่คุ้มครอง ก็จะไม่รู้ว่าจะตกเป็นของใคร การทำประกันชีวิตก็จะมอบให้กับคนที่ไม่ใช่คนในครอบครัวไม่ได้ เราเจอปัญหาเรื่องการธุรกรรมต่าง ๆ เกี่ยวกับลูก เช่น การเดินทางไปต่างประเทศ นี่ไม่ใช่แค่ปัญหาที่เกิดกับเรา แต่ยังรวมถึงครอบครัว LGBTQIA+ ในอีกหลายประเทศทั่วโลก” มัจฉา กล่าว

สิ่งเหล่านี้จะไม่เกิดขึ้นเลย ถ้าเพียงกฎหมายยอมรับว่ามนุษย์มีความหลากหลาย เราไม่ได้แค่กำลังพูดถึงสิทธิในการก่อตั้งครอบครัว แต่รวมไปถึงเรื่องใหญ่กว่านั้น คือ การที่คนทุกคนเท่าเทียมกัน

“การเป็นคุณพ่อสิทธิ์จะน้อยกว่าคุณแม่ ติดปัญหาตั้งแต่ที่อเมริกาในการพาลูกกลับไทย แต่โชคดีลูกเราเกิดที่อเมริกา จึงได้สัญชาติมาเลย ถ้าไปเกิดที่ประเทศอื่น และไม่มีกฎหมายรองรับ คงเป็นเรื่องที่ยุ่งยากกว่านี้” ดร. พงศ์สิริ เสริม

ด้าน สายสุนีย์ จ๊ะนะ ตัวแทนคุณแม่เลี้ยงเดี่ยว และนักกีฬาวีลแชร์ฟันดาบทีมชาติไทย เหรียญทองกีฬาพาราลิมปิกส์ แบ่งปันเส้นทางการสร้างครอบครัวของเธอกับลูกสาวว่า ถูกกีดกันมาตั้งแต่แรกจากแพทย์ที่ไม่เห็นด้วยกับการตั้งครรภ์ เนื่องจากสภาพร่างกายไม่พร้อม มีการชักจูงให้เอาเด็กออก เธอจึงเริ่มรู้สึกถึงการรุกรานสิทธิ์ของตนเอง ซึ่งมันเป็นสิทธิของเธอในการเลือกว่าจะมีครอบครัวหรือไม่

“ช่วงแรกยอมรับเลยว่าค่อนข้างลำบากในการคลอดรวมถึงดูแลทารก แต่เพราะมีสามีช่วยจึงผ่านมาได้ แต่ตอนที่เราตัดสินใจแยกทางกับสามี มาเป็นคุณแม่เลี้ยงเดี่ยว เราก็ต้องถามลูกด้วย ว่าด้วยสภาพร่างกายแบบนี้ เขาจะสามารถช่วยเราได้ไหม ลูกจะยอมรับเราที่เป็นแบบนี้ได้ไหม และลูกเราโอเค เขามีความสุข และไม่ได้มองเราแปลก ไม่ได้คิดว่าแม่มีความแตกต่าง เพราะเราเข้าใจเขา เขาเข้าใจเรา และเราเข้าใจตัวเอง ทำให้ผ่านวิกฤตมาได้”

ให้ทุกคนสร้าง ‘ครอบครัว’ ได้ อย่างเท่าเทียม

ดร. พงศ์สิริ เผยว่า “ตอนนี้ยังคงติดปัญหาเรื่องขอสัญชาติไทยให้ลูกอยู่ เนื่องจากต่อให้ได้ใบรับรองจากศาลสูงของอเมริกามาเพื่อดำเนินเรื่องที่ไทยแล้ว แต่พอนำไปยื่นที่เขต เขตก็ไม่รู้ว่าต้องทำอย่างไรต่อ ขั้นตอนจะยุ่งยาก และต้องจ้างทนายความทุกขั้นตอน ผมคิดว่าถ้าประเทศเรามีสมรสเท่าเทียมแล้ว สิ่งที่เราเผชิญอยู่คงค่อยๆ มีกฎหมายรองรับตามมา”

“ครอบครัวของเรา กว่าจะมาถึงจุดที่เข้าใจกันก็ผ่านการทะเลาะมาไม่น้อย อย่างที่ทราบกันว่าแฟนเราเป็นผู้หญิง ช่วงแรกก็ต้องมีการปรับและพูดคุยพอสมควร มันเป็นเรื่องปกติที่พ่อแม่จะสงสัยได้ เราเข้าใจเขาว่ามันเป็นโลกใหม่ของเขา มันคือการปรับกันทั้งคู่และมาเจอกันตรงกลาง ใช้ความใจเย็น เรายังมองว่าไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น คนที่เราควรจะหันไปหาได้คือครอบครัว ดังนั้น มันควรเป็นพื้นที่ที่เราสามารถเปิดใจและรับฟังซึ่งกันและกันทุกเรื่องจริงๆ” ภาวิดา กล่าว

มัจฉา เล่าว่า “เรามีเพื่อนที่ไม่เคยเรียกคู่ชีวิตเราว่าแฟนหรือภรรยาของเราเลย แต่เรียกว่าเราเป็นเพื่อนกัน มันคืออาการ Homophobia หรืออาการที่ไม่ยอมรับคนที่จะไม่อยู่ในบรรทัดฐานที่สังคมวางไว้ และนี่คือสิ่งที่สังคมทำกับเรา รัฐทำกับเรา ซึ่งเรามองว่ามันต้องเปลี่ยน การที่ LGBTQIA+ อยากจะมีครอบครัว มีลูก อยากรับบุตรบุญธรรมได้ก็ต่อเมื่อสังคมโอบอุ้มความหลากหลายได้ แต่เราอยู่ในรัฐอนุรักษ์นิยมที่ทำตามหลักการทางกฎหมาย ทำให้คนมากมายไม่สามารถเข้าถึงสิทธิ์ได้อย่างเท่าเทียม”

เราตระหนักได้ในขณะที่เราต่อสู้ไปเรื่อย ๆ ว่า นี่มันไม่ใช่แค่เรื่องของ LGBTQIA+ แล้ว มันเป็นเรื่องของประชาธิปไตย

บทสรุปของงานเสวนา ‘ครอบครัวยุคใหม่ในนิยามของฉัน‘ ที่ถือเป็นการแบ่งปันเรื่องราวและปัญหาที่ต้องเผชิญของครอบครัวยุคใหม่ที่มีความหลากหลาย คือการเน้นย้ำว่าสิทธิของการมีครอบครัวควรเป็นของคนทุกคน รวมถึงทุกเพศ และไม่ใช่เพียงแค่ความเข้าใจเพียงอย่าวเดียวที่จำเป็น แต่ยังรวมถึงระบอบ กฎหมาย และนโยบาย ก็ควรมีการผลักดันให้เกิดการปรับปรุง ปรับเปลี่ยน เพื่อรองรับครอบครัวทุกครอบครัว อย่างเท่าเทียมและปราศจากอคติ นี่จึงจะทำให้สิทธิในการสร้างครอบครัวของทุกคนเกิดขึ้นอย่างแท้จริง

หลังจากกิจกรรมนี้ Thailand Policy Lab ยังเตรียมจัดนิทรรศการ ‘ครอบครัวในฝันของคุณคือไอศกรีมรสอะไร’ เพื่อสะท้อนนิยามของครอบครัวที่หลากหลาย จุดเริ่มต้นและเส้นทางในการสร้างครอบครัวในนิยามของตัวเอง ที่สยามเซ็นเตอร์ ชั้น G ระหว่างวันที่ 26-30 มิถุนายนนี้ เพื่อเปิดให้ประชาชนได้เข้าร่วมทำแบบสอบถามเกี่ยวกับครอบครัวในฝัน รวมถึงข้อกฎหมาย และนโยบายเกี่ยวกับการสร้างครอบครัว ที่อาจเป็นประโยชน์

คำถามดังกล่าวได้ถูกถามแก่ผู้เข้าร่วมเสวนาในวันนี้เช่นกัน

Q: ครอบครัวในฝันของคุณคือไอศกรีมรสอะไร?

      • มัจฉา: รวมมิตร
      • ศิริวรรณ: วนิลา
      • พงศ์สิริ: ช็อคโกแลต และ สตรอเบอร์รี่
      • ภาวิดา: ม็อคค่าอัลมอนต์
      • สายสุนีย์: เผ็ด เปรี้ยว หวาน หลายรสชาติผสมผสานกัน

 

แล้วครอบครัวในฝันของคุณล่ะ คือ ไอศกรีมรสอะไร?

 

podcast

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า