Advertisement

SHARE

คัดลอกแล้ว

แม้ ‘ลาซาด้า’ จะให้บริการในไทยมาครบ 10 ปีแล้ว แต่ที่ผ่านมาตำแหน่งซีอีโอของลาซาด้า ประเทศไทย ก็เป็นชาวต่างชาติมาตลอด

จนกระทั่งล่าสุดในเดือน ก.ค. 2565 ที่ผ่านมา ที่ลาซาด้าประกาศให้ ‘ดร.วีระพงศ์ โก’ รับตำแหน่งซีอีโอ ซึ่งเป็นคนไทยคนแรกที่ได้นั่งตำแหน่งนี้

ภายใต้การบริหารของคนไทยคนแรก ‘ดร.วีระพงศ์’ วางแนวทางให้แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซนี้ไว้อย่างไร จะลดโปรโมชั่น ลดแจกคูปอง ลดค่าใช้จ่าย เพื่อมุ่งโฟกัสกำไรหรือเปล่า TODAY Bizview ชวนอ่านมุมมองของเขาไปด้วยกัน

[ ลูกหม้อคนเก่งของลาซาด้า ]

ดร.วีระพงศ์ โก หรือเรียกสั้นๆ ว่า ดร.โก ซีอีโออายุ 37 ปีรายนี้เริ่มทำงานกับลาซาด้าตั้งแต่ปี 2562 และสร้างผลงานเป็นที่ประจักษ์ตั้งแต่ 4 เดือนแรกที่เข้ามา

เขาบอกว่า โจทย์แรกที่ได้รับในตอนนั้น คือการขยายธุรกิจ LazMall จาก 300 แบรนด์ ให้เป็น 1,200 แบรนด์ภายใน 6 เดือน แต่ที่น่าทึ่งกว่าก็คือ ดร.วีระพงศ์ สามารถพิชิตโจทย์นี้ได้ภายในเวลาเพียงแค่ 4 เดือนเท่านั้น

เขาบอกว่าช่วงแรกมีความท้าทายอยู่มาก เนื่องจากแบรนด์ดังๆ ไม่อยากมาอยู่บนแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ เขาจึงอาศัยวิธีนำเรื่องประสบการณ์การช้อปปิ้งไปขายกับแบรนด์ใหญ่ จนเมื่อมีแบรนด์ใหญ่ๆ เข้ามา ก็สร้างความมั่นใจให้แบรนด์เล็กๆ อยากเข้ามาอยู่ด้วย

และจนถึงตอนนี้ LazMall มีแบรนด์สินค้าครอบคลุมมากกว่า 3,000 แบรนด์แล้ว ทั้งแบรนด์ไทยและแบรนด์ต่างประเทศ

ผลงานของ ดร.วีระพงศ์ ยังรวมไปถึงการสร้างการเปลี่ยนแปลงให้กับลาซาด้าตลอด 3 ปีกว่าที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นการทำระบบแคชแบ็ก ระบบการแจกโบนัส การทำวอลเล็ต รวมไปถึงส่วนที่สำคัญต่อธุรกิจแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซมากๆ อย่าง ‘โลจิสติกส์’

ดร.วีระพงศ์ บอกว่า โลจิสติกส์คือส่วนสำคัญส่วนหนึ่งเลยก็ว่าได้ เพราะการจัดส่งได้ไว บรรจุภัณฑ์ไม่บุบสลาย ของไม่เสียหาย เป็นส่วนที่สร้างประสบการณ์ที่ดีของการซื้อของออนไลน์ให้กับผู้ซื้อ ซึ่งถ้าเขามีประสบการณ์ที่ดี เขาก็จะกลับมาซื้อซ้ำนั่นเอง

ทุกวันนี้ นอกจากขนส่งเอกชนเจ้าอื่น ลาซาด้าก็มีระบบขนส่งของตัวเอง มีการทำคลังสินค้า และพัฒนาการขนส่งจนมีความเร็วเฉลี่ยของการจัดส่งในประเทศอยู่ที่ 2.7 วันเท่านั้น

[ อยากให้อีคอมเมิร์ซไทยโตเท่าจีน ]

ดร.วีระพงศ์ บอกว่า แม้อีคอมเมิร์ซไทยจะเติบโตต่อเนื่องตลอดหลายปีที่ผ่านมา แต่ถ้าเทียบกับจีนแล้ว ก็ยังถือว่าเล็กอยู่มาก

กล่าวคือ มูลค่าตลาดอีคอมเมิร์ซของจีนมีสัดส่วนอยู่ราว 42-46% จากตลาดค้าปลีกทั้งหมด สหรัฐอเมริกาอยู่ที่ประมาณเกือบ 40% ขณะที่อีคอมเมิร์ซไทยอยู่ที่ราวๆ 12-15% เท่านั้น

เขาบอกว่า จากผลสำรวจของลาซาด้าพบว่า 76% ของผู้บริโภคซื้อของออนไลน์อย่างน้อยเดือนละ 1 ครั้ง แต่ยังซื้อของกระจุกกระจิก ราคาไม่ได้แพงมากอยู่ ต่างจากผู้บริโภคชาวจีนที่ซื้อสินค้าใหญ่ๆ ราคาแพง เช่น เครื่องใช้ไฟฟ้า สินค้าไอที ก็ซื้อบนออนไลน์

ส่วนคนไทยส่วนใหญ่ยังมองว่าการซื้อของชิ้นใหญ่ควรไปซื้อที่ร้าน ได้จับของ ได้ลอง ได้สัมผัสก่อน ถึงจะได้สินค้าที่ถูกใจจริงๆ

ดร.วีระพงศ์ บอกว่า เป้าหมายของเขาคืออยากให้อีคอมเมิร์ซไทยเติบโตเท่าจีน ซึ่งดูแล้วก็ยังมีโอกาสเติบโตอยู่ เพียงแต่ต้องพยายาม ‘ละลายพฤติกรรมผู้บริโภค’ ให้หันมาซื้อของชิ้นใหญ่บนแพลตฟอร์มออนไลน์มากขึ้น

บนความพยายามดังกล่าว สิ่งที่ลาซาด้าทำไปแล้ว คือการให้บริการแบบ O2O (Online to Offline) อย่างเช่นการไปร่วมกับงานคอมมาร์ท หรืองานโมบายล์เอ็กซ์โป ให้ลูกค้าไปจับไปลองของที่งาน แล้วสั่งบนลาซาด้าได้

หรือร่วมกับร้านขายยางรถยนต์ ให้ลูกค้าซื้อยางบนออนไลน์ แล้วไปรับบริการเปลี่ยนยางที่ร้านได้ เป็นต้น

[ ลงทุนแบบระมัดระวัง และยังไม่โฟกัสกำไร ]

ปี 2564 ที่ผ่านมา ลาซาด้าเป็นแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซเจ้าเดียวในไทยที่ทำกำไรได้แล้ว

โดยตัวเลขกำไรของบริษัท ลาซาด้า จำกัด อยู่ที่ 226.9 ล้านบาท ส่วนปี 2565 นี้ลาซาด้ารายตัวเลขกำไรต่อกรมพัฒนาธุรกิจการค้าที่ 413 ล้านบาท ขณะที่ปี 2563 ขาดทุนไปถึง 4,000 ล้านบาท

ตัวเลขกำไรสะท้อนได้ดีว่าลาซาด้าไม่ได้ประสบวิกฤตเหมือนคู่แข่งรายอื่น ดร.วีระพงศ์ บอกว่า ลาซาด้ายังไม่มีการปลดพนักงาน และยังมีการลงทุนอยู่ตลอด โปรโมชั่นหรือแคมเปญต่างๆ ก็ยังคงจัดอย่างต่อเนื่อง

ผลการดำเนินงานที่เห็น เป็นผลมาจากการใช้จ่ายอย่างระมัดระวังของลาซาด้าตลอด 1-2 ปีที่ผ่านมา ที่ก่อนจะลงทุนอะไรสักอย่าง จะมีการวิเคราะห์ก่อนตลอด

ซึ่งแนวทางต่อจากนี้ของลาซาด้าก็ยังคงเป็นแบบเดิม คือ ยังไม่โฟกัสกำไรในช่วงนี้ ไม่ลดคอสต์ ไม่ได้ชะลอการลงทุน แต่จะเป็นการลงทุนแบบระมัดระวัง

ดร.วีระพงศ์ บอกว่าผลประกอบการที่ได้กลับมา ก็จะนำไป Re-Invest ในส่วนต่างๆ ของลาซาด้า ไม่ว่าจะเป็นด้านโลจิสติกส์ โปรดักต์หรือแพลตฟอร์มของลาซาด้าเอง รวมไปถึงระบบเพย์เมนต์ (ที่ในอนาคตเตรียมเปิดตัวบริการซื้อก่อนจ่ายทีหลัง)

แต่โดยรวมคือตอนนี้ลาซาด้ายังโฟกัสไปที่ “การสร้างประสบการณ์ที่ดีให้กับผู้บริโภค” เพื่อเพิ่มจำนวนแอคทีฟยูสเซอร์บนแพลตฟอร์มให้ถึงตามเป้าหมาย 45 ล้านคน/วัน จากปัจจุบันอยู่ที่ 30 ล้านคน/วัน

ส่วนในเรื่องของการแข่งขัน เขามองว่าในสนามอีคอมเมิร์ซไทยตอนนี้ การมีคู่แข่งยังคงเป็นเรื่องที่ดีกว่า เพราะการแข่งขันจะทำให้แต่ละแพลตฟอร์มพัฒนาตัวเองให้ดีขึ้น และพัฒนาให้ระบบนิเวศอีคอมเมิร์ซไทยเติบโตและแข็งแรงกว่าเดิม

[ ดันร้านค้าไทยไปโกลบอล ]

อย่างที่บอกว่าลาซาด้าอยากให้อีคอมเมิร์ซไทยเติบโต และดิจิทัลอีโคโนมีของไทยแข็งแรง นั่นทำให้ลาซาด้ากำลังจะเปิดตัว LazGoGlobal ดันผู้ประกอบการไทยให้นำสินค้าไปขายในอาเซียนได้

ดร.วีระพงศ์ บอกว่า คนอาเซียนมองว่าสินค้าของไทยน่าสนใจ โดยเฉพาะในกลุ่มสินค้าแฟชั่น ซึ่งสิ่งที่ลาซาด้าจะต้องลงทุนพัฒนาคือเรื่องระบบหลังบ้าน ให้พ่อค้าแม่ค้าไม่ต้องเปิดหลายช็อป คือเปิดช็อปเดียวบนแพลตฟอร์มก็สามารถ manage ได้ในทุกประเทศเลย นอกจากนี้ก็ต้องช่วยเรื่องโลจิสติกส์ให้กับพ่อค้าแม่ค้าด้วย

สำหรับปัจจุบันโปรเจ็กต์ดังกล่าวยังอยู่ในช่วง pilot และคาดว่าจะประกาศอย่างเป็นทางการหลังช่วงช้อปปิ้ง 11.11

และนี่ก็คือมุมมองวิสัยทัศน์ของซีอีโอคนไทยคนแรกของลาซาด้าประเทศไทย กับเป้าหมายสำคัญที่อยากให้อีคอมเมิร์ซไทยเติบโต และอยากให้ ‘ลาซาด้า’ เป็นแพลตฟอร์มแรกๆ ที่คนนึกถึงเวลาจะซื้อของออนไลน์

ส่วนเขาจะทำได้ตามเป้าหมายไหม? คงเป็นเรื่องที่เราต้องติดตามกันต่อไป

podcast

LATEST
OUR PICKS
HOT
กำลังโหลดบทความถัดไป...

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า