Advertisement

SHARE

คัดลอกแล้ว

ทำไมธุรกิจ Food Delivery ถึงอยากเป็นมากกว่าแอปส่งอาหาร

ถ้าลองหยิบโทรศัพท์มือถือขึ้นมาดู เชื่อว่าหลายคนน่าจะมีแอปพลิชัน Food Delivery โหลดไว้ติดเครื่องอยู่แล้ว และคงมีโอกาสเรียกใช้บริการอยู่บ่อยๆ ซึ่งแวดวงธุรกิจ Food Delivery ของไทยเราตอนนี้ค่อนข้างคึกคักเลยทีเดียว

แต่ก็ใช่ว่าแอป Food Delivery จะมีแต่บริการส่งอาหารเท่านั้น ส่วนใหญ่มักมีบริการอื่นๆ พ่วงมาด้วยเสมอ TODAYBizview ชวนทุกคนมาดูเหตุผลว่าทำไมธุรกิจ Food Delivery ถึงมีบริการที่เป็นมากกว่า ‘สั่งอาหาร’

เจาะลึกธุรกิจ Food Delivery

ถ้าเราย้อนไปในช่วง 2 ปีกว่าๆ ช่วงที่โควิด 19 ระบาด ธุรกิจ Food Delivery บูมขึ้นมาก เพราะคนอยู่บ้านมากขึ้น บริการสั่งอาหารผ่านแอปพลิเคชันได้รับความนิยมและเติบโต จนกลายเป็นเทรนด์พฤติกรรมของผู้บริโภคยุคใหม่มาจนถึงทุกวันนี้ ส่วนทางฝั่งของคนทำงาน ก็เกิดอาชีพยอดฮิตอย่าง ‘ไรเดอร์’ ซึ่งเป็นพาร์ทที่สำคัญมากของธุรกิจ Food Delivery โดยเป็นตัวกลางรับส่งอาหารระหว่างร้านค้าและลูกค้า สร้างรายได้และขับเคลื่อนเศรษฐกิจในระบบ Gig Economy ซึ่งกำลังมาแรงมากๆ ในยุคนี้

และด้วยความต้องการของผู้บริโภคที่ต้องการความสะดวกสบาย จึงทำให้แพลตฟอร์มสั่งอาหาร เกิดขึ้นอย่างหลากหลาย ยกตัวอย่างเช่น LINEMAN, Grab, Robinhood, Foodpanda, GET Food, Airasia Food และอีกมากมาย

และถ้าสังเกตดีๆ แอป Food Delivery เหล่านี้ มักมาจากบริษัทเทคสตาร์ทอัปหรือบริษัทต่างชาติ ส่วนของไทยจะอยู่ภายใต้เครือบริษัทใหญ่ที่ทำธุรกิจอื่นๆ ด้วย สรุปแล้วแอป Food Delivery เหล่านี้ จัดว่าเป็นกลุ่มบริษัทที่ต้องมีทุนหนา สานป่านยาว เพราะต้องใช้เทคโนโลยีในการดำเนินการ สร้างระบบต่างๆ

ปัจจุบันแอปเจ้าใหญ่ๆ ที่ครองส่วนแบ่งการตลาดในไทย ยังไม่มีกำไรจากธุรกิจส่งอาหารโดยตรง เนื่องจากช่วงแรกมีการลงทุนเยอะไปกับการพัฒนาระบบแอป โปรโมท ทำการตลาดและอัดโปรโมชัน เพื่อสร้างฐานลูกฐานให้ได้มากที่สุด ถึงจะยังไม่ได้กำไร แต่พาร์ทธุรกิจ Food Delivery สามารถสร้างประโยชน์ให้กับบริษัทได้อย่างมากมาย สิ่งสำคัญคือ Data หรือข้อมูลผู้ใช้งาน ที่บริษัทสามารถเอาไปต่อยอดได้อีกมาก ใช้ขยายฐานลูกค้า

ซึ่งพอบริษัทมีฐานลูกค้าลูกค้าที่มาจากแอป Food Delivery ไม่ว่าจะเป็นบรรดาร้านค้า ร้านอาหาร ผู้บริโภคที่ใช้งานแอป รวมถึงกลุ่มไรเดอร์ บริษัทสามารถผลักดันให้ลูกค้าทั้งหมดนี้ ลิงก์เข้าไปสู่ธุรกิจอื่นๆ ของบริษัทหรือนำเสนอผลิตภัณฑ์ใหม่ให้ได้ง่ายยิ่งขึ้น

จะเห็นได้ว่าธุรกิจ Food Delivery สามารถสร้างประโยชน์ให้กับบริษัทได้อย่างมากมาย โดยเฉพาะ ‘ฐานลูกค้า’ ที่มีอยู่ในมือ บริษัทจะสร้างต่อยอดจากสิ่งล้ำค่านี้ได้อย่างไร ยิ่งพฤติกรรมของผู้บริโภคในปัจจุบัน ชื่นชอบความสะดวกสบาย พึ่งพาเทคโนโลยีในชีวิตประจำวัน ดังนั้นคำตอบจึงอยู่ตรงนี้ คือการต่อยอดให้ตัวเองกลายเป็น ‘Super App’ หรือแอปพลิเคชันที่มีบริการต่างๆ ครบครัน ดึงดูดให้ลูกค้าไม่หนีไปไหน และยังคงอยู่ในวนเวียนอยู่ในธุรกิจของตัวเอง

เปิดเหตุผล ทำไมใครๆ อยากเป็น Super App

จากแอป Food Delivery สู่การเป็น Super App ที่ทำบริการต่างๆ ออกมามากมาย ข้อดีของมันคืออะไร และทำไมใครๆ ถึงอยากเป็น Super App เรายกตัวอย่างให้เห็นภาพชัดเจนมากขึ้น

ยกตัวอย่างเช่น Grab บริษัทสตาร์ทอัปสัญชาติสิงคโปร์ ซึ่ง Grab ในช่วงแรก เป็นแพลตฟอร์มเรียกรถโดยสาร ก่อนที่จะได้รับเงินทุนสนับสนุนและขยายธุรกิจ เติบโตไปทั่วอาเซียน กระทั่ง Uber เองก็ได้ขายธุรกิจในภูมิภาคนี้ให้กับ Grab ด้วย โดยได้เข้ามาดำเนินธุรกิจในไทย Grab ในปี 2013

Grab ตั้งเป้าจะเป็น Super App มานานแล้ว ตอนนี้ถ้าเราไปเปิดดูฟีเจอร์ของ Grab จะพบว่ามีบริการหลากหลาย นอกเหนือจากบริการเรียกรถโดยสาร GrabCar, GrabTaxi และ GrabBike ยังมีบริการ Grabfood ส่งอาหาร, GrabExpress ส่งพัสดุ, GrabFresh ส่งสินค้าจากซูเปอร์มาร์เก็ต ไปจนถึงวางแผนพัฒนาโปรดักส์แผนที่ดิจิทัล ทำมาแข่งกับ Google Map ในอนาคตด้วย

ที่น่าสนใจอีกอย่าง Grab มีบริการด้านการเงินอย่าง Grab Financial ทำ Wallet สำหรับใช้จ่ายและรับเงินบนแพลตฟอร์ม พร้อมทั้งให้บริการกู้ยืมสำหรับผู้ประกอบการร้านอาหาร, กลุ่มคนขับ รวมถึงมีสินเชื่อรถยนต์และรถจักรยานยนต์

รายต่อมาคือ LINE MAN ที่เกิดขึ้นภายใต้การพัฒนาของ LINE ประเทศไทย เปิดให้บริการในประเทศไทยเมื่อปี 2016 หลังจากนั้นในปี 2020 ได้ควบรวมกิจการกับ Wongnai แอปรีวิวร้านอาหาร กลายเป็น LINE MAN Wongnai และตั้งเป้าสู่การเป็นแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ มีบริการครบวงจร ทั้ง Food Delivery, บริการสั่งของสด-ของใช้, บริการแท็กซี่, บริการเมสเซนเจอร์, รีวิวร้านอาหาร และโซลูชันสำหรับร้านอาหาร

ส่วนบริการทางการเงิน แม้แอป LINE MAN จะยังไม่ได้มีบริการนี้โดยตรง แต่สำหรับแอป LINE แพลตฟอร์ม Social Media ยอดฮิตของคนไทย ที่มีผู้ใช้งานมากกว่า 47 ล้านราย ได้ทำบริการ LINE BK ร่วมกับ KBank ให้บริการ Social Banking ให้บริการทางการเงินแบบเต็มรูปแบบ มีทั้งบัญชีเงินฝาก, บัญชีเงินออมดอกพิเศษ, บัตรเดบิต, และวงเงินให้ยืม รวมถึงบริการสินเชื่อแก่กลุ่มฟรีแลนซ์หรือคนไม่มีรายได้ประจำ สามารถเข้าถึงได้ง่ายขึ้น ผู้ที่สนใจสามารถใช้บริการผ่านแอป LINE ได้อย่างสะดวกสบาย อนุมัติเร็ว

ปิดท้ายกันที่ Robinhood แอปพลิเคชันที่เพิ่งเปิดตัวเมื่อปี 2020 ภายใต้เครือ SCB หรือธนาคารไทยพาณิชย์ บริการเสริมที่เข้ามาช่วยคืนกำไรให้สังคม เป็น CSR ของบริษัท ไม่มีหักค่า Gross Profit (GP) แต่ร้านค้าจะต้องมีบัญชีธนาคาร SCB และใช้แอปพลิเคชัน SCB EASY

บริการหลักของ Robinhood คือแอปสั่งอาหาร นอกจากนี้ยังมี Robinhood Travel บริการจองที่พัก, จองตั๋วเครื่องบิน, แพ็กเกจทัวร์, บัตรเข้าชมกิจกรรมต่างๆ, รถเช่า และประกันภัยการเดินทาง ขณะเดียวกันมีบริการทางการเงินด้วย ในฐานะที่เป็นบริษัทที่อยู่ในเครือธนาคาร ผู้ใช้บริการอย่างร้านค้า ผู้ประกอบการสามารถเข้าถึงสินเชื่อของธนาคารเพื่อขยายธุรกิจได้ง่ายขึ้น เช่น สินเชื่อมณีทันใจ เพื่อธุรกิจสำหรับร้านค้า Robinhood และล่าสุดปล่อยผลิตภัณฑ์ MoneyThunder ให้กลุ่มไรเดอร์กู้สินเชื่อออนไลน์ได้ เป็นต้น

จากตัวอย่างดังกล่าว สรุปได้ว่าการที่แอป Food Delivery เหล่านี้ ต้องการพัฒนาตัวเองไปเป็น Super App เพราะมีข้อดีหลายอย่างสำหรับตัวธุรกิจเอง ไม่ว่าจะเป็น การรักษาฐานลูกค้าให้คงอยู่ และขยายฐานลูกค้าใหม่ๆ นอกจากนี้ เวลาที่บริษัทขยายไลน์ผลิตภัณฑ์ มีโปรดักส์ใหม่ๆ ก็สามารถส่งต่อไปยังลูกค้าที่มีอยู่เดิมได้เลย ไม่ต้องเสียเวลาไปหาลูกค้าใหม่ ช่วยลดต้นทุนได้มากเลยทีเดียว

Super App กับบริการด้านการเงิน ยกสินเชื่อไปไว้บนมือถือ

จากตัวอย่างแอปพลิเคชันที่ได้ยกตัวอย่างมา ไม่ว่าจะเป็น Grab, LINE MAN และ Robinhood นอกจากจะมีฟีเจอร์ส่งอาหาร เมสเซ็นเจอร์ส่งของ และเรียกรถโดยสารแล้ว บางแอปพลิเคชันยังได้พัฒนาบริการจองโรงแรม จองตั๋วเครื่องบิน ฯลฯ ซึ่งเราน่าจะได้เห็นอีกหลายบริการเพิ่มขึ้นในอนาคต

และถ้าสังเกตดีๆ มักมีบริการหนึ่งที่แทรกเข้ามาด้วยเสมอ นั่นก็คือบริการทางการเงิน ให้ลูกค้าที่เป็นร้านค้า ไรเดอร์ รวมถึงบุคคลทั่วไปที่ใช้แอป สามารถกู้ยืมเงินได้ผ่านแอปพลิเคชัน สะดวกสบาย ง่ายแค่ปลายนิ้ว นี่คือมิติใหม่ของวงการการเงิน ผสมผสานเทคโนโลยีเข้ามาช่วย ฉีกภาพการกู้ยืมเงินแบบเดิมๆ ที่ต้องผ่านธนาคารเท่านั้น ซึ่งมีขั้นตอนเยอะ ค่อนข้างวุ่นวาย แต่ตอนนี้มันได้เปลี่ยนไปแล้ว ว่าแต่ทำไมบริษัทเทคที่ทำ Super App เหล่านี้ ต้องการกระโดดเข้าสู่ Financial Sector ด้วย?

เพื่อให้เห็นภาพชัดเจนยิ่งขึ้น เรามาลองเทียบภาพบริษัทเทคเหล่านี้ กับสถาบันการเงินในยุคก่อน จะเห็นจุดร่วมที่น่าสนใจ นั่นก็คือ การหาลูกค้า ปกติแล้วธนาคารจะปล่อยสินเชื่อเพื่อให้ได้กำไรจากดอกเบี้ยที่มากขึ้น ก็ต้องหาลูกค้าให้มากขึ้นตามไปด้วย แต่ธนาคารมักจะมีกฏเกณฑ์ต่างๆ ควบคุมค่อนข้างมาก ดังนั้นลูกค้ารายย่อยจะเข้าถึงสินเชื่อจากธนาคารจึงไม่ใช่เรื่องง่าย

แต่พอเราตัดภาพมาในยุคนี้ ยุคที่คนเข้าถึงเทคโนโลยีได้ง่ายขึ้น และเรื่องการเงินมันไปอยู่บนโทรศัพท์มือถือ คนไม่จำเป็นต้องหันหน้าไปพึ่งพาธนาคารเสมอไป เพราะมีทางเลือกที่หลากหลายมากขึ้นและง่ายกว่าเดิม จึงทำให้บริษัทเทคมากมาย ต้องการกระโดดเข้าไปในวงการนี้ กระทั่งธนาคารเองก็ต้องหาทางปรับตัวตามเทรนด์การเปลี่ยนแปลงนี้ด้วยเช่นกัน

นี่คือธุรกิจการเงินที่เข้าถึงกลุ่มลูกค้าโดยการเปลี่ยนท่าใหม่ ซึ่งแยบยลและใกล้ชิดผู้คนมากกว่าเดิม นอกจากนี้ยังได้ข้อมูลลูกค้ากลุ่มใหม่ๆ มาอยู่ในมือด้วย พร้อมทั้งได้เห็นพฤติกรรมและประสบการณ์ของผู้บริโภค เพื่อใช้เป็นฐานข้อมูลในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่ตอบโจทย์ต่อไปในอนาคต

แต่ก็ใช้ว่าทุกบริษัท Food Delivery ต้องการผันตัวไปเป็น Super App ไปเสียหมด อย่าง ‘Foodpanda’ แอปส่งอาหารที่มีส่วนแบ่งการตลาดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มากถึง 22% และค่อนข้างได้รับความนิยมในไทย กลับไม่ได้ต้องการจะเป็น Super App เหมือนเจ้าอื่นๆ

ทาง Jakob Angele CEO ของ Foodpanda เคยให้สัมภาษณ์ไว้ ถึงตอนนี้ผ่านไป 10 ปีแล้ว นับตั้งแต่ก่อตั้งบริษัท Foodpanda ก็ยังคงเป็นแอปที่ทำแต่บริการ Food Delivery ขณะเดียวกัน Foodpanda ได้หันไปพัฒนาระบบหลังบ้าน เพื่อให้ตอบโจทย์และสร้างความชัดเจนกับผู้บริโภคมากที่สุด แม้ตลาดนี้จะแข่งขันไปไกลมากแค่ไหนก็ตาม

นี่คือหลากหลายแง่มุมของธุรกิจ Food Delivery สมรภูมินี้ทั้งในระดับภูมิภาคอาเซียนและประเทศไทย แข่งขันดุเดือดขึ้นทุกวัน มีแอปใหม่ๆ เกิดขึ้นมากมาย อย่างไรก็ตาม ตัวเลขกำไรของธุรกิจนี้อาจไม่ได้สะท้อนความสำเร็จทั้งหมด แต่ต้องดูให้ลึกกว่านั้นว่ามันคือเครื่องมือต่อยอดทางธุรกิจที่สำคัญ ในยุคที่ข้อมูลลูกค้ามีค่าดุจทองคำ

podcast

LATEST
OUR PICKS
HOT
กำลังโหลดบทความถัดไป...

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า