SHARE

คัดลอกแล้ว

ยังไม่ทันที่ผู้คนจะทำความเข้าใจคริปโทเคอร์เรนซีและ NFT ได้อย่างถ่องแท้ โลกก็มีสิ่งใหม่เกิดขึ้นและกลายเป็นเทรนด์ที่น่าสนใจอีกแล้ว นั่นก็คือ GameFi ซึ่งถ้าใครเคยได้ยินมาบ้างก็จะรู้ว่า มันคือเกมที่เล่นแล้วได้เงิน หรือเกมในรูปแบบ Play-to-Earn

แต่ไหนแต่ไรมา เราคุ้นเคยกับการเล่นเกมแล้วเสียเงิน ไม่ว่าจะเป็นเสียเงินเพื่อซื้อเกม หรือเสียเงินเพื่อซื้อไอเท็มในเกม โดยเราเสียเงินเพื่ออัพเกรดความสามารถและไอเท็มของเราในเกม ซึ่งเราเสียเงินไปเพื่อเราต้องการเอาชนะ หรือ Pay-to-Win 

แต่ GameFi อาจจะขัดกับสิ่งที่เราคุ้นเคย และอาจเปลี่ยนจุดประสงค์ของการเล่นเกมของเราไปอย่างสิ้นเชิง  เพราะมันคือเกมที่เล่นแล้วได้เงิน หรือ Play-to-Earn  ซึ่งเงินที่ได้ไม่ใช่เงินจริง แต่เป็นเงินคริปโตนั่นเอง 

ในบทความนี้ เราจึงจะมาเล่าให้ฟังคร่าวๆ ว่า GameFi คืออะไร ทำไมเล่นแล้ว ถึงได้เงิน รวมถึงความเป็นไปได้ที่ GameFi จะมาเป็นเทรนด์หลักของการเล่นเกม

เมื่อโลกคริปโตกับเกมผสานกัน จนกลายเป็น GameFi 

GameFi ย่อมาจาก Game+Defi โดย Defi นั้นย่อมาจาก Decentralized Finance หรือระบบการเงินไร้ตัวกลาง ที่เราสามารถทำธุรกรรมได้ทุกอย่างเหมือนธนาคารเพียงแต่ว่าไม่มีธนาคารอยู่ในนั้น โดยธุรกรรมต่างๆ จะเกิดขึ้นบนบล็อกเชน สกุลเงินดิจิทัล หรือ คริปโทเคอร์เรนซี ที่เราเห็นเพื่อนๆ เราเล่นและเทรดกันนั้น ก็เป็น Decentralized Finance แบบหนึ่ง

ในบทความที่แล้ว เราพูดถึง NFT (Non-Fungible Token) หรือการประมูลซื้อขายผลงานศิลปะโดยใช้เหรียญคริปโต ซึ่งทั้งหมดนี้เกิดขึ้นบนระบบบล็อกเชน GameFi ก็คล้ายกัน คือเป็นการเล่นเกมบนระบบบล็อกเชนนั่นเอง 

ซึ่ง GameFi จะมีความคาบเกี่ยวกับ NFT ตรงที่ ตัวละคร สิ่งของ และไอเท็มในเกมมีสถานะเป็น NFT ซึ่งมีความโดดเด่น และมีมูลค่าในตัวเอง ผู้เล่นสามารถพัฒนาตัวละครให้มีพลังที่เจ๋งมากขึ้น เพิ่มไอเท็มให้เก่งขึ้น ซึ่งวิธีที่จะได้มาคือ ต้องเล่นเกม หรือซื้อ NFT ของคนอื่นมาใช้ 

ดังนั้น จะเห็นได้ว่า ถ้าตัวละครเราเจ๋งพอ ไอเท็มเราแข็งแกร่งมากพอที่จะทำให้เราไต่แรงค์ไปอยู่ลำดับสูงๆ ก็จะมีคนมาสนใจซื้อไป และนั่นคือวิธีที่ทำให้เราได้เงินมา และที่สำคัญ รายได้กระจายลงมาที่เกมเมอร์มากขึ้น จากเดิมมีแต่บริษัทสร้างเกมที่ได้เงินไป 

ความเคลื่อนไหวสำคัญในวงการ GameFi ที่ต้องจับตามอง 

แม้ GameFi ยังเป็นเรื่องใหม่และยังคาดเดาอนาคตของมันได้ยาก แต่ GameFi ก็มีความเคลื่อนไหวสำคัญๆ ที่ต้องจับตามอง  อย่างเช่น Axie Infinity เกมแนว GameFi  ที่คนเล่นเยอะที่สุดตอนนี้มียอดขายสินทรัพย์ในเกมรวมกว่า 1 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ 

Ubisoft บริษัทเกมที่ใหญ่ที่สุดรายหนึ่ง เริ่มเข้าสู่ตลาด GameFi ด้วยการเข้าลงทุนในสตาร์ทอัพสายคริปโทเคอร์เรนซีอย่างเช่น Horizon Blockchain Games, NonFungible

ในไทยเองก็มีความเคลื่อนไหวที่น่าสนใจแล้วคือ GuildFi ร่วมมือกับ Bitkub ร่วมกันพัฒนาแพลตฟอร์ม Web3 ที่ช่วยสนับสนุนชุมชนเหล่าเกมเมอร์และสามารถทำงานร่วมกันในโลก Metaverse 

โดย Newzoo บริษัทวิเคราะห์ข้อมูลตลาดเกมคาดการณ์ว่า GameFi จะเข้ามา disrupt ในตลาดเกมทั่วโลกที่มีมูลค่าถึง 175 พันล้านเหรียญสหรัฐ  

Stratis แพลตฟอร์มบล็อกเชน ทำการสำรวจนักพัฒนาเกมในสหรัฐฯและอังกฤษ 197 ราย พบกว่ากว่าครึ่ง 58% กำลังเริ่มใช้​​เทคโนโลยีบล็อกเชนในการพัฒนาเกม และ 47% ได้เริ่มรวบรวมโทเค็นหรือ NFT เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาเกมของพวกเขา 

ข้อมูลทั้งหมดข้างต้น ยิ่งเป็นการตอกย้ำว่า GameFi เป็นเทรนด์ใหม่ของการเล่นเกม ที่อาจเข้ามาเปลี่ยนวิธีการเล่นเกมแบบดั้งเดิมไปอย่างสิ้นเชิง 

เข้าสู่โลก GameFi ได้ ต้องมีอะไรบ้าง 

ตอนนี้มีเกมบล็อกเชนเกิดขึ้นใหม่หลายเจ้า นอกเหนือจากเจ้าดังอย่าง Axie Infinity แล้ว ยังมีอีกหลายเกมที่มาแรงไม่แพ้กัน เช่น Alien Worlds เป็นเกมแนวขุดหาทรัพยากรหายากจากต่างดาว ผู้เล่นต้องทำตามภารกิจในเกม และสร้างรายได้จากการปล่อยเช่าที่ดินให้กับผู้เล่นคนอื่น, Splinterlands เป็นเกมการ์ดดิจิทัลโดยการ์ดมีสถานะเป็น NFT, CryptoBlades เป็นเกมแนว RPG  ผู้เล่นสร้างตัวละครเพื่อต่อสู้กับปิศาจ, CryptoKitties เกมสะสมการ์ดรูปแมวที่อยู่ในรูปแบบของ NFT 

จะเห็นได้ว่า เกมมีหลากหลายแนว กฎกติกาของเกมไม่ซับซ้อน เลือกเล่นได้ตามความสนใจของตัวเอง ซึ่งการที่เราจะเริ่มเล่น GameFi ได้นั้น  ต้องมีสิ่งเหล่านี้ก่อน

  • สร้างวอลเลต Web 3.0 หรือวอลเล็ตเก็บเหรียญที่จะใช้ในการเล่นเกม ตัววอลเล็ตจะทำหน้าที่เป็นบัญชีของเรา ความคืบหน้าใดๆ จะถูกบันทึกไว้ในวอลเล็ต ในแต่ละเกมก็จะใช้เหรียญแตกต่างกันไป ผู้เล่นจึงต้องศึกษาข้อมูลให้ดีว่าแต่ละเกมใช้วอลเล็ตอะไรและเหรียญประเภทไหนบ้าง ยกตัวอย่างเช่น ถ้าจะเล่น Axie Infinity ต้องใช้วอลเลต Web 3.0 ที่เข้ากันได้กับ Ethereum เป็นต้น
  • ผู้เล่นต้องเป็นเจ้าของสินทรัพย์ในเกมก่อนถึงจะเล่นได้ ซึ่งจำนวนสินทรัพย์ขึ้นอยู่กับกฎของแต่ละเกมจะกำหนด อย่างเช่น Axie Infinity กำหนดไว้ว่าต้องเป็นเจ้าของตัว Axie อย่างน้อย 3 ตัวเก็บไว้ในวอลเลต และเกมอื่นๆ อาจต้องการให้เราซื้อสกุลเงินดิจิทัลในเกมก่อน ถึงจะเข้าเล่นได้ เป็นต้น
  • เข้าสู่ระบบผ่านวอลเล็ต Web 3.0 โดยเกม GameFi ที่นิยมกันส่วนใหญ่เล่นผ่านเบราว์เซอร์ ดังนั้น เราจึงต้องเข้าสู่ระบบโดยใช้วอลเล็ต Web 3.0 ที่สร้างไว้ก่อนหน้านี้เพื่อเข้าร่วมเล่น

สรุปส่งท้ายกับข้อถกเถียงในวงการ GameFi 

อย่างไรก็ตาม มีข้อคิดเห็นด้วยเช่นกันว่า GameFi จะกระทบเกมแบบดั้งเดิมขนาดไหน เพราะ GameFi ในตอนนี้อาจเรียกได้ว่าอยู่ในระยะแรกเริ่ม ในแง่ความสนุกยังเทียบเกมจากนักพัฒนาเกมมืออาชีพได้ยาก อาจเป็นปัจจัยหนึ่งที่ GameFi จะยังไม่ดึงดูดเกมเมอร์เท่าที่ควร แต่ในอนาคต หากบริษัทเกมลงมาพัฒนาเกมบล็อกเชนด้วยตัวเอง ก็จะสามารถพลิกโฉมวงการ GameFi ได้อีกครั้ง ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องติดตามกันต่อ 

อีกประเด็นที่เป็นที่ถกเถียง ด้วยโมเดลการสร้างรายได้แบบ GameFi นั้น ทำให้เกิดความสงสัยว่า แล้วอย่างนี้ GameFi จะเข้าข่ายแชร์ลูกโซ่หรือไม่ 

Nuuneoi อินฟลูเอนเซอร์ในวงการเทคโนโลยี วิเคราะห์ไว้ว่า “พื้นฐานของเกม NFT เป็น แชร์ลูกโซ่ หรือ Ponzi โดยเงินในเกม NFT ก็มาจากคนที่เข้ามาใหม่เอาเงินมาลง หรือไม่ก็คนเก่าเอาเงินมาลงเพิ่ม และจนถึงตอนนี้ ยังไม่มีเกมไหนที่สร้างรายได้จากภายนอกเพื่อ Feed เข้าระบบเลย แต่เป็นการเอาเงินลงทุนจากคนใหม่ไปจ่ายให้คนเก่าทั้งสิ้น”

ด้านคุณดนัย อรุณกิตติชัย นักวิชาการอิสระ เขียนวิเคราะห์ไว้ในกรุงเทพธุรกิจ ซึ่งมีความเห็นต่างออกไปว่า GameFi ไม่เข้าข่ายแชร์ลูกโซ่เสียทีเดียว โดยให้เหตุผลว่า GameFi คือการเก็งกำไรประเภทหนึ่ง แต่แชร์ลูกโซ่ ไม่มีพื้นฐานเรื่องการเก็งกำไรแต่อย่างใด

โดยการเก็งกำไรในเกม มีคนทำมานานแล้วในรูปแบบการสะสมของเก่า หรือการสะสมการ์ดนักฟุตบอล สมัยก่อนบางเกมมีแม้กระทั่งการประมูล (Auction House) โดยผู้เล่นสามารถตั้งร้านค้าขายในเกม เอาอุปกรณ์มาขายเป็นเงินสด การมาถึงของเทคโนโลยีบล็อกเชนทำให้การซื้อขายง่ายขึ้น มีประสิทธิภาพมากขึ้นและไม่สามารถทุจริตได้ 

ส่งท้าย

อย่างที่ได้กล่าวไปแล้วว่า GameFi  กำลังเป็นเทรนด์ใหม่ที่ส้รางความตื่นเต้นแก่โลกการเงิน และเทคโนโลยีไม่น้อย ดึงดูดคนรุ่นใหม่ให้เข้าสู่วงการนี้มากมาย แต่ตราบใดที่ GameFi ยังผูกติดกับโลกคริปโต ความเสี่ยงจึงยังอยู่ ซึ่งก่อนจะเข้าเล่นเกมใดๆ ควรอ่าน White Paper ของเกมนั้นอย่างถี่ถ้วน และพึงระวังเรื่องความผันผวนในโลกคริปโตอยู่เสมอ  

ที่มา

podcast

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า