Advertisement

SHARE

คัดลอกแล้ว

หากพูดถึงเทรนด์เทคโนโลยีมาแรง เป็นไปไม่ได้เลยที่จะไม่พูดถึง NFT หรือการลงทุนในรูปแบบการซื้อและสะสมผลงานศิลปะ 

เชื่อว่าทุกคนคงเคยได้ยินคำว่า NFT ผ่านหูกันมาบ้าง ผ่านข่าวสารต่างๆ เช่น ข่าวศิลปินลงงานศิลปะ NFT สามารถทำเงินได้หลายล้านดอลลาร์ อย่างรูปภาพ Everydays: The First 5000 Days รวมงานคอลลาจ 5,000 ชิ้นของศิลปิน Beeple ทำสถิติยอดประมูลสูงสุดที่ราคากว่า 2,000 ล้านบาท หรือศิลปินรุ่นเยาว์อายุ 14 ปี ใช้นามแฝงว่า PeachSunday โพสต์งานดิจิทัลอาร์ตของตัวเองขายได้กว่า 14 ล้านบาท และ FEWOCIOUS ศิลปินอายุ 18 ปี ขายงานแนว Surrealism ทุบรายได้ประมูลไปกว่า 67 ล้านบาท  

ไม่ใช่แค่ผลงานศิลปะจัดๆ เท่านั้นที่ขายในรูปแบบ NFT ได้ เพราะแม้แต่ภาพถ่ายภาพแรก ซึ่งเป็นที่มาของมีม Disaster Girl ที่เราคุ้นตากันในรูปเด็กผู้หญิงยืนยิ้มอยู่หน้าบ้านที่กำลังไฟไหม้ ก็สามารถประมูลขายได้ถึง 5 แสนดอลลาร์หรือกว่า 16 ล้านบาท ทั้งที่เป็นเพียงรูปถ่ายธรรมดาๆ เท่านั้น 

ที่กล่าวมาทั้งหมดเป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งของความบ้าคลั่งในโลก NFT ที่ทำให้ทั่วโลกต้องหันมาจับตามอง เพราะนี่อาจจะเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของวงการศิลปะเลยก็ว่าได้

ศิลปินไทยเองก็ไม่ได้ตกขบวน จนถึงตอนนี้มีคนไทยหลายรายที่กระโดดเข้ามาในโลก NFT และเริ่มสร้างผลงานมาประมูลกันแล้ว ในบทความนี้เราจะมาพูดถึงปรากฏการณ์ NFT ความนิยมและโอกาสใหม่ของศิลปินไทย  

ก่อนจะเข้าเรื่องความนิยม NFT ในไทย เรามาทบทวนกันก่อนว่า NFT คืออะไร และมีวิธีการทำงานอย่างไรบ้าง

ทบทวน NFT 101 กำเนิดจากฟินเทค แต่ผงาดในวงการศิลปะ 

NFT ย่อมาจาก Non-Fungible Token เป็นเหรียญคริปโทเคอร์เรนซีประเภทหนึ่งเช่นเดียวกับ Bitcoin, Ethereum, Litecoin, Binance Coin แต่ NFT จะต่างออกไปตรงที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ซึ่งแปลตรงตัวจากคำว่า Non-Fungible คือไม่สามารถทำซ้ำได้ และไม่สามารถทดแทนกันได้  ดังนั้น NFT แต่ละชิ้น จึงมีเพียงชิ้นเดียวและมีมูลค่าในตัวเอง 

ตัวงานที่จะนำมาสร้างเป็น NFT ได้นั้น ครอบคลุมทุกรูปแบบ ตั้งแต่ภาพ เสียง วิดีโอ กราฟิก หรือสื่ออื่นๆ ในรูปแบบดิจิทัล ก็สามารถเปลี่ยนให้เป็นเหรียญภายใต้ระบบบล็อกเชนได้ 

โดยวิธีเปลี่ยนชิ้นงานให้กลายเป็นเหรียญนั้น เรียกว่า Minting หรือการนำชิ้นงานขึ้นสู่ระบบบล็อกเชน สามารถทำได้ผ่านแพลตฟอร์ม NFT อย่างเช่น Opensea, Bekerywap, foundation โดยแพลตฟอร์มพวกนี้จะทำหน้าที่คล้าย eBay, Amazon ที่เราสามารถสร้างงาน กำหนดราคา และโพสต์ขาย

ส่วนนักสะสมก็เข้าไปกดประมูลซื้อได้ง่ายๆ โดยมีข้อแม้คือทั้งคนขายและคนซื้อ NFT จะต้องมีกระเป๋าเงิน คริปโทเคอร์เรนซี เงินในกระเป๋าคริปโทเคอร์เรนซี และบัญชีผู้ใช้งานตามแพลตฟอร์มที่จะเข้าไปโพสต์ซื้อขายนั่นเอง 

เมื่อมีคนซื้อ NFT ชิ้นใดไป คนๆ นั้นจะกลายเป็นเจ้าของเหรียญหรือชิ้นงานนั้น ถือครองสิทธิ์ความเป็นเจ้าของผลงาน สามารถเก็บสะสมไว้หรือขายต่อทำกำไรได้ 

จะเห็นได้ว่า NFT มีคอนเซปต์ที่ตรงกันกับงานศิลปะ คือมีเพียงหนึ่งเดียว และมีคุณค่าในตัวเอง NFT จึงกลายเป็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ของศิลปินยุคใหม่ โดยเฉพาะสายดิจิทัลอาร์ต ที่จะสร้างผลงานและสร้างรายได้ให้ตัวเอง ทดแทนรายได้ที่หายไปจากวิกฤติโควิด-19 ที่ศิลปินไม่สามารถนำผลงานไปแสดงตามแกลเลอรี่ต่างๆ ได้ 

ศิลปินไทยตัวท็อปในโลก NFT

ด้วยเหตุผลที่เล่ามาทั้งหมด ทำให้ศิลปินไทยทั้งหน้าเก่าหน้าใหม่ เข้ามาโลดแล่นในโลก NFT กันมากขึ้น ในส่วนนี้จะยกตัวอย่างศิลปินไทยที่สร้างผลงาน NFT เป็นอีกช่องทางรายได้ และถือเป็นตัวท็อปของวงการ NFT ไทยมาให้รู้จักกัน 

  • Riety หรือ ปั๋น ดริสา การพจน์ ยูทูเบอร์สายอาร์ต

Riety เป็นศิลปินสร้างชื่อเสียงและเอกลักษณ์ในตัวเองผ่านคอนเทนต์เรื่องศิลปะบน YouTube โดยเธอสร้างผลงานวิดีโอ The Witch and her Serpents โพสต์ลงในแพลตฟอร์มชื่อดังอย่าง Opensea และมีการประมูลขายในราคา 389 ETH หรือราวๆ 50 ล้านบาท!!! ขึ้นแท่นตัวท็อปของศิลปินไทยไปเรียบร้อยแล้ว 

  • Kitanan Iamchan ศิลปินที่ใช้ชื่อว่า Line Censor 

Line Censor เป็นศิลปินที่ขายงานศิลปะชื่อว่า ‘Chaos’ หรือความโกลาหล โพสต์ขายบนแพลตฟอร์ม Foundation ราคาประมูลที่ 77.77 ETH หรือกว่า 10 ล้านบาท

  • BitToon เพจการ์ตูนแก๊ก

BitToon เป็นเพจการ์ตูนแก๊กที่โพสต์เนื้อหาเกี่ยวกับโลกคริปโต เริ่มขายผลงานชื่อว่า Mission To The Moon! ผ่านแพลตฟอร์ม Foundation ราคาประมูลล่าสุดอยู่ที่ 4.55 ETH หรือกว่า 6 แสนบาท

  • เดอะดวง วีระชัย ดวงพลา นักวาดการ์ตูนชื่อดัง

เดอะดวง เป็นนักวาดที่ลงผลงาน GANGSTER ALL STAR งานอาร์ตสีจัดพร้อมกราฟิกเคลื่อนไหว ลงขายเป็นผลงานชุดใหญ่หลักหลายสิบ โดยแต่ละรูปไม่ซ้ำกันเลย

ความนิยมของ NFT ในกลุ่ม นักวาด นักออกแบบในไทย ยังก่อให้เกิดคอมมูนิตี้ใหม่ๆ เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารและแชร์ผลงานกัน อย่างเช่น กลุ่ม NFT Marketplace Thailand ใน Facebook เป็นกลุ่มที่เพิ่งเปิดในเดือน เม.ย.ที่ผ่านมา จนถึงตอนนี้มีสมาชิกเกือบ 6 หมื่นราย

และกลุ่ม NFT and Crypto Art Thailand สร้างขึ้นเดือน ก.พ. มีสมาชิกในกลุ่มแล้วกว่า 170,000 ราย และเมื่อดูจากเทรนด์ NFT ที่กำลังมาแรงไม่มีแผ่วนี้ คาดว่าเราจะได้เห็นคอมมูนิตี้ศิลปินที่ขยายตัวมากขึ้นเรื่อยๆ 

NFT กับโอกาสทางธุรกิจของสตาร์ทอัพไทย 

เมื่อเทรนด์ NFT มาแรงขนาดนี้ มีหรือที่สตาร์ทอัปไทยจะอยู่เฉย ในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา เราเห็นความคึกคักของสตาร์ทอัปและบริษัทต่างๆ เข้าสู่วงการ NFT เปิดมาร์เกตเพลสขาย NFT ในไทย 

เริ่มจาก NFT1 Market ก่อตั้งโดย NFT1 Global ค่ายผลิตสินทรัพย์ดิจิทัล NFT มีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่สิงคโปร์ เลือกประเทศไทยเป็นตลาดแรกในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ 

บน NFT1 Market จะรวมผลงาน NFT จากศิลปินและบุคคลที่คนไทยรู้จักอย่าง MAMAFAKA,  แต้ว ณฐพร รวมถึงธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ กับโปรเจกต์งานศิลปะเพื่อการกุศล รายได้จากการประมูลจะนำไปสนับสนุนกองทุนด้านสิทธิมนุษยชนในประเทศไทย 

NFT1 Market ยังคัดผลงานของศิลปินสายเพลงมาลงผลงานขายด้วยไม่ว่าจะเป็น YOUNGOHM, Milli และเกิร์ลกรุ๊ปวง 4EVE  ถือเป็นการคอลแลบและการรวมกลุ่มศิลปินไว้มากที่สุดในวงการ NFT ประเทศไทย 

ตัวแพลตฟอร์ม NFT1 Market จะเปิดตัวอย่างเป็นทางการในวันที่ 25 ต.ค.นี้ ซึ่งเราจะได้สัมผัสกันว่า ผลงานเพลงหรืองานศิลปะที่ศิลปินสร้างมาจะอยู่ในรูปแบบใดและสร้างความน่าตื่นตาตื่นใจได้ขนาดไหน 

นอกจาก NFT1 Market ยังมี Coral แพลตฟอร์ม NFT น้องใหม่ ประกาศเปิดตัวสดๆ ร้อนๆ โดย Coral เกิดจากการก่อตั้งของบริษัท KASIKORN X ในเครือ KBTG บริษัทเทคโนโลยีผู้เป็นกำลังสำคัญให้แก่ธนาคารกสิกรไทย 

ความน่าสนใจของโปรเจกต์ Coral คือ ธนาคารไทยเริ่มขยับเข้ามาเล่นในตลาด NFT แล้ว โดย Coral ได้จับมือกับศิลปิน นักวาดที่มีชื่อเสียงอย่าง Lactobacillus, Tikkywow, ทรงศีล ทิวสมบุญ, เอกชัย มิลินทะภาส, ปัณฑิตา มีบุญสบาย, Benzilla, Pomme Chan, IllustraTU, และ Jiggy Bug  เข้ามาโพสต์งานขาย และจะเปิดให้บริการแก่นักสะสมอย่างเป็นทางการภายในปีนี้ 

*หมายเหตุ แพลตฟอร์ม Coral ได้รับอนุญาตจาก ก.ล.ต. หรือ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ เนื่องจากบริการไม่เข้าข่าย Crypto Currency และตัว Coral ก็ไม่ได้เปิดให้ซื้อขายผ่านโทเค็น แต่ซื้อได้ผ่านเงินปกติ (ตามคำแถลงของบริษัท)

ตลาด NFT ในไทยแม้จะเพิ่งเริ่มต้น แต่ก็เริ่มต้นอย่างคุกรุ่น สัมผัสได้ถึงการแข่งขันดุเดือด ที่ขีดความสามารถในการเป็นเจ้าตลาดอยู่ที่ว่าใครจะสามารถดึงครีเอเตอร์มือดีมาขายงาน NFT บนแพลตฟอร์มของตัวเองได้มากที่สุด จึงไม่แปลกใจที่แพลตฟอร์มสื่อและความบันเทิง จะต้องเริ่มแตะๆ เข้ามาในวงการนี้ 

กรณีที่ต้องจับตามองคือ TPOP Incorporation ผู้พัฒนาแอปพลิเคชัน “T-POP” แพลตฟอร์มตัวกลางระหว่างศิลปินไทยและแฟนคลับทั่วโลก ก่อตั้งและพัฒนาโดย เวิร์คพอยท์และ SCB 10X บริษัทในเครือธนาคารไทยพาณิชย์ ทางบริษัทเล็งจะพัฒนาแอป T-POP ให้รองรับเทคโนโลยี NFT ด้วยในอนาคต

ซึ่งถือเป็น Move ที่น่าสนใจ เพราะ T-POP มีครบทั้งครีเอเตอร์หรือศิลปิน T-POP และเทคโนโลยีจาก SCB 10X บริษัทที่เป็นกำลังสำคัญทางเทคโนโลยีการเงินให้กับ SCB ถือเป็นปัจจัยที่มากพอที่จะทำให้ T-POP แข่งขันในโลก NFT ไทยได้ 

บทสรุปส่งท้าย

อ่านมาถึงตรงนี้ เชื่อว่าผู้อ่านคงจะรู้สึกตื่นเต้น และอยากรู้อยากเห็นว่าอนาคต NFT จะเดินไปในทิศทางไหน แต่ต้องไม่ลืมว่า NFT ก็คือ coin ประเภทหนึ่งซึ่งเป็นโลกที่มีความผันผวนสูง เช่นเดียวกับการลงทุนในทุกประเภทที่ผู้ลงทุนต้องยอมรับความเสี่ยงให้ได้ 

และด้วย NFT เป็นตลาดที่มีมูลค่าสูงและตัวบริการอยู่บนออนไลน์ทั้งหมด ความเสี่ยงจากแฮ็กเกอร์และมิจฉาชีพย่อมตามมาเป็นเงาตามตัว ซึ่งกรณีที่เกิดขึ้นแล้วคือ มีมิจฉาชีพสวมรอยเป็นศิลปินตัวจริง ขโมยผลงานไปลงขาย NFT และในโลกของบล็อกเชน การตามจับมิจฉาชีพยังเป็นได้ยาก 

แม้ตลาดในประเทศไทยจะยังเล็กมากเมื่อเทียบกับโมเมนตัมในต่างประเทศ และศิลปินอาจมองว่ามีค่าใช้จ่ายในการดำเนินการสูงรวมถึงการนำงานขึ้นระบบบล็อกเชนก็ไม่ง่ายเท่าไรนัก 

แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้อยู่ดีว่า NFT คือประตูแห่งโอกาสของศิลปินทุกแขนง ที่ศิลปินสามารถแสดงผลงานสะท้อนตัวตนได้เต็มที่ มีคนเห็นทั่วโลก 

ที่มา

podcast

LATEST
OUR PICKS
HOT
กำลังโหลดบทความถัดไป...

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า