Advertisement

SHARE

คัดลอกแล้ว

หากถามว่าราชธานีแห่งแรกของไทยคืออะไร

หลายคนอาจจะตอบว่า ‘สุโขทัย’

ซึ่งนั่นก็ไม่ใช่เรื่องผิด เพราะหน้าหนังสือประวัติศาสตร์สอนเราให้เชื่อเช่นนั้น

แต่เมื่อไม่นานมานี้ มีหลักฐานและข้อมูลมากมายชี้ให้เห็นว่า ในพื้นที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ยังมีราชธานีที่เก่าแก่กว่าสุโขทัยนั่นคือ ‘เมืองอโยธยาศรีรามเทพนคร’ ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งเมืองประวัติศาสตร์ที่สำคัญ เพราะเป็นเมืองต้นกำเนิดอยุธยา และเป็นเมืองต้นกำเนิดคนไทย

แต่คนไทยกลับแทบไม่รู้ที่มาและความเป็นไปของอโยธยา และอาจไม่มีโอกาสได้รู้ไปมากกว่านี้ เพราะการมาของรถไฟฟ้าความเร็วสูง เส้นกรุงเทพฯ-นครราชสีมา ที่อยู่ในระหว่างการดำเนินการ ถูกกำหนดให้วิ่งพาดผ่านเส้นทางที่ครั้งนึงเคยเป็นที่ตั้งของเมืองอโยธยา 

นั่นหมายความว่า หากรถไฟความเร็วสูงเส้นนี้สร้างเสร็จ และเปิดให้ใช้บริการเมื่อไหร่ เสาอิฐปูน ตอม่อ และแรงสั่นสะเทือนที่เป็นผลพลอยได้จากการสร้าง จะทำให้หลักฐานและวัตถุโบราณต่างๆ ที่ยังฝังอยู่ใต้ผืนดินได้รับความเสียหายจนไม่อาจประเมินค่า และอาจทำให้เราพลาดโอกาสที่จะได้เรียนรู้ประวัติศาสตร์สำคัญยุคหนึ่งของประเทศเรา 

ผลกระทบทั้งหมดทั้งมวลที่กล่าวมานี้ยังไม่รวมถึงโอกาสที่อยุธยาจะโดนถอดออกจากเมืองมรดกโลก คำถามคือ ความสูญเสียขนาดนี้ เราจะยอมแลกกันได้หรือไม่?

ภาพแสดงเส้นทางรถไฟที่พาดผ่านพื้นที่ที่เคยเป็นที่ตั้งเมืองอโยธยา

รถไฟความเร็วสูงมาจากไหน?

โครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูงที่ว่านี้เกิดจากความร่วมมือระหว่างไทย-จีน เป็นโครงการที่ผ่านมือมา 3 รัฐบาล ตั้งแต่ยุคนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ มารัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร จนเกิดรัฐประหาร และเปลี่ยนรัฐบาลมาเป็นพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ซึ่งใช้ ม.44 เร่งรัดให้เกิดโครงการนี้ 

นับตั้งแต่เริ่มต้นโครงการ การใช้ ม.44 มารวบตึงโครงการ ทำให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์มากมาย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการลัดขั้นตอน ยกเว้นกฎระเบียบบางอย่างที่เป็นอุปสรรค หรือการเปิดช่องโหว่ไม่ให้มีการตรวจสอบ แต่ถึงเช่นนั้น โครงการก็ยังคงเดินหน้าก่อสร้างต่อ

สำหรับโครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูงไทย-จีน จะแบ่งเป็น 2 ระยะ ระยะแรก กรุงเทพฯ-นครราชสีมา เดินทางผ่านกรุงเทพฯ ปทุมธานี พระนครศรีอยุธยา สระบุรี และนครราชสีมา 

ส่วนระยะที่ 2 ขอนแก่น-หนองคาย เดินทางผ่านขอนแก่น อุดรธานี และหนองคาย รวมทั้งหมด 607 กิโลเมตร ปัจจุบันอยู่ระหว่างสร้างระยะแรก โดยโครงการคืบหน้าไป 24% ติดปัญหาที่สถานีพระนครศรีอยุธยา เนื่องจากอาจกระทบกับฐานะมรดกโลก

ตรงจุดของ ‘สถานีอยุธยา’ ที่ยังเป็นประเด็น ไม่ได้ตั้งอยู่ในพื้นที่แหล่งมรดกโลกนครประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา แต่ตั้งอยู่ห่างจากพื้นที่ดังกล่าวประมาณ 1.5 กิโลเมตร ซึ่งก่อนหน้านี้ การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) บอกว่าได้มีการทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (Environmental Impact Assessment-EIA) ผ่านไปแล้วตั้งแต่ปี 2560 

แต่ต่อมา ในเดือนกันยายน 2563 ศูนย์มรดกโลกแสดงความกังวลว่าการสร้างรถไฟฟ้าความเร็วสูงในเส้นทางดังกล่าวจะส่งผลกระทบต่อพื้นที่มรดกโลก และแจ้งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องของไทยทำรายงานประเมินผลกระทบต่อแหล่งมรดกโลก (Heritage Impact Assessment-HIA) ซึ่งถือเป็นการทำ HIA ครั้งแรกในไทยด้วย

ซึ่งกระบวนการทำ HIA จะมีทั้งการพิจารณาในไทยและต่างประเทศ โดยร่าง HIA ที่ทาง รฟท. มอบหมายให้คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร เป็นผู้จัดทำ จะต้องนำเข้าที่ประชุมคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยอนุสัญญาคุ้มครองมรดกโลก แล้วส่งต่อไปศูนย์มรดกโลกที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส พิจารณาว่าขัดต่อเกณฑ์การเป็นมรดกโลกหรือไม่

เสริมเพิ่มเติม ตามกฎหมายแล้ว การก่อสร้างขนาดใหญ่ต้องทำการประเมิน EIA จึงจะก่อสร้างได้ แต่ HIA จะศึกษาเฉพาะในพื้นที่มรดกโลก และหากไม่ผ่านการประเมินดังกล่าว สิ่งก่อสร้างยังเดินหน้าโครงการต่อไปได้ ไม่จำเป็นต้องถูกรื้อถอน แต่จะถูกถอดถอนฐานะมรดกโลก ซึ่งเคสดังๆ ที่โดนถอดออกจากมรดกโลกก็คือ เขตเมืองเก่า Dresden ของเยอรมนี ถูกถอดออกเพราะการก่อสร้างสะพานวัลท์ชเลิสเชิน (Waldschlösschen)

รถไฟความเร็วสูงจะมาพร้อมอะไรบ้าง?

รฟท. ระบุว่าการสร้างรถไฟฟ้าความเร็วสูงจะช่วยพัฒนาพื้นที่ กระตุ้นเศรษฐกิจ สร้างงาน-สร้างอาชีพให้กับประชาชน นอกจากนี้ยังยกระดับขีดความสามารถในด้านการแข่งขันของประเทศ ซึ่งจะสร้างประโยชน์ต่อพื้นที่ที่รถไฟความเร็วสูงวิ่งผ่านในระยะยาว

หากว่ากันตามจริง การสร้างเส้นทางขนส่งที่มีประสิทธิภาพ และสร้างประโยชน์ให้กับประเทศเช่นนี้ย่อมไม่มีใครอยากปฏิเสธ เช่นเดียวกับนักวิชาการ และนักอนุรักษ์กลุ่ม Save อโยธยา ที่เปิดเผยกับสำนักข่าว TODAY ว่า พวกเขาเองเห็นประโยชน์ของการสร้างรถไฟความเร็วสูง และไม่ได้ต้องการที่จะขัดขวางโครงการ แต่ที่ออกมาตั้งคำถามถึงการดำเนินการ และเสนอแนะข้อมูลต่างๆ เพื่อให้โครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูงก่อสร้างขึ้นโดยสร้างประโยชน์ให้กับทุกฝ่าย และไม่สูญเสียอัตลักษณ์ใดอัตลักษณ์หนึ่งไป เพียงเพราะไม่ได้พิจารณาอย่างถี่ถ้วน

กณวรรธน์ ราษฎรนิยม สมาชิกเครือข่าย Save อโยธยา

กณวรรธน์ ราษฎรนิยม หนึ่งในสมาชิกเครือข่าย Save อโยธยา บอกว่า แท้จริงแล้วการพัฒนากับการอนุรักษ์สามารถทำควบคู่กันได้ “คนส่วนใหญ่มองแต่มูลค่าด้านวัฒนธรรม แต่ไม่เอาเรื่องนี้มาเป็นมูลค่าด้านเศรษฐกิจ ถ้าจะให้จับต้องได้ ต้องเป็นเรื่องเดียวกัน”

พื้นที่เมืองอโยธยา และนครประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา เป็นพื้นที่ที่มีคุณค่าใช้เชิงประวัติศาสตร์ และวัฒนธรรม ซึ่งนครประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยาในฐานะเมืองมรดกโลก สามารถต่อยอดและสร้างประโยชน์ให้กับชุมชนชาวอยุธยาและประเทศได้อีกมาก โดยเฉพาะในด้านการสร้าง Soft Power ที่สามารถทำให้แข็งแรงขึ้น และชุมชนมีส่วนร่วม เพื่อการกระจายรายได้อย่างเท่าเทียม แต่นี่เป็นจุดที่ภาครัฐอาจจะยังไม่ได้ส่งเสริมมากพอ และการมาของรถไฟความเร็วสูงที่พาดผ่านพื้นที่ประวัติศาสตร์อาจส่งผลกระทบทางลบต่อโอกาสที่ไทยมีตรงนี้

กลุ่ม Save อโยธยา จึงมีข้อเสนอให้ย้ายเส้นทางรถไฟความเร็วสูงไปอยู่บริเวณถนนสายเอเชีย ซึ่งเป็นเส้นทางที่สามารถรองรับการขยายตัวของเมืองในอนาคต อีกทั้งยังเป็นที่ตั้งของกลุ่มอุตสาหกรรมโรจนะ และใช้โอกาสนี้ต่อยอดด้วยการทำบริการระบบขนส่งเสริม (Feeder System) เพื่อยกระดับการคมนาคมในต่างจังหวัด ซึ่งเป็นจุดที่กลุ่ม Save อโยธยาอยากผลักดันให้ภาครัฐดำเนินการ ไม่ใช่แค่ในอยุธยา แต่ในพื้นที่ต่างจังหวัดอื่นๆ เพื่อให้ทั่วประเทศมีระบบขนส่งที่เป็นมาตรฐานเดียวกัน

กณวรรธน์พูดถึงการดำเนินการอนุมัติการสร้างรถไฟความเร็วสูงด้วยว่า ที่ผ่านมาชุมชนในพื้นที่อยุธยา รับรู้ข้อมูลเกี่ยวกับการสร้างรถไฟความเร็วสูงน้อยมาก โดยเฉพาะทางเลือกอื่นๆ ที่รถไฟสามารถวิ่งผ่านได้โดยไม่กระทบแหล่งโบราณสถาน และอาจสร้างประโยชน์ได้มากกว่าเส้นทางนี้ ซึ่งเป็นเส้นทางเดิมของรถไฟที่สร้างตั้งแต่สมัย ร.5

ช่องโหว่ด้านข้อมูลตรงนี้ ส่วนหนึ่งกณวรรธน์มองว่าเกิดจากปัญหาการใช้กฎหมาย ม.44 ที่ลัดยกเว้นกฎหมายจัดซื้อจัดจ้าง 7 ฉบับ ทำให้ไม่สามารถตรวจสอบได้ ทั้งที่เป็นกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับประชาชนจำนวนมาก “การใช้กฎหมาย ม.44 มันซุกปัญหาไว้ใต้พรมจำนวนมาก มันละเลยการตรวจสอบ  และการศึกษาของความเป็นปกติของสังคม ซึ่งรัฐละเลยตรงนี้มาก” 

“ให้ตอบตรงๆ ว่าสิ่งที่เราเรียกร้อง มันเป็นยอดภูเขาน้ำแข็งที่โผล่มาไหม

เรามองว่า ใช่ มันเป็นปัญหาที่มันแดงออกมา และจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องได้รับการศึกษา

ได้รับการพูดถึง เราจึงจำเป็นต้องทำตรงนี้ 

แต่ว่ามันยังมีปัญหาอีกมากมายตลอดเส้นทางการสร้างทางรถไฟ

มันมีมากมาย ที่ตัวโคราชเอง เราก็เคยเรียกร้องเหมือนกัน 

อันนั้นก็ถูก Save ไว้แล้ว มีการจัดการที่ดี

แต่อยุธยา เราคิดว่า เราอยากมีความหวังกับมัน ให้มันสำเร็จและถูกรักษาไว้ได้”

ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ นักวิชาการ อาจารย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์และโบราณคดี

ปัญหา ม.44 เป็นหนึ่งในข้อน่ากังวลที่ อ.ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ นักวิชาการ อาจารย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์และโบราณคดี เองก็พูดถึง โดย อ.ศิริพจน์ ตั้งข้อสังเกตว่าโครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูงริเริ่มมาตั้งแต่สมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร แต่ถูกตีตกไป จนในสมัยรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้นำโครงการกลับมาและใช้ ม.44 ตัดกระบวนการที่ทำให้โครงการล่าช้า และอนุมัติการสร้างอย่างรวดเร็ว แถมยังตัดโอกาสในการตรวจสอบเรื่องที่ควรตรวจสอบ

แต่นอกจากความน่ากังวลในเรื่อง ม.44 อีกหนึ่งประเด็นที่ อ.ศิริพจน์ ตั้งคำถามคือเรื่องการทำ HIA อาจารย์ระบุว่า หลังจาก UNESCO ตรวจพบว่าการสร้างรถไฟฟ้าความเร็วสูงสถานีอโยธยาอาจขัดต่อเกณฑ์ความเป็นมรดกโลก จึงมีการทำจดหมายไปถึงรัฐบาลให้ตรวจสอบเรื่องนี้ พร้อมเสนอแนะให้ทำ HIA 

ซึ่งผู้จัดทำ HIA  คือ รฟท. โดย รฟท. จ้างคณะโบราณคดีให้เป็นผู้ทำ HIA ซึ่งนี่เป็นจุดที่น่ากังวล ข้อแรก รฟท.อยู่ในฐานะคู่กรณีของ UNESCO ดังนั้น รฟท. ไม่ควรเป็นผู้จัดทำ HIA แต่ควรเป็นหน่วยงานอื่นๆ ของรัฐ เช่น กระทรวงวัฒนธรรม หรือรัฐบาล 

ข้อสอง คณะโบราณคดี และ รฟท.ทำงานกันในฐานะลูกจ้าง-นายจ้าง หากคณะโบราณคดีทักท้วง และทำ HIA ไม่เป็นไปตามกรอบของ รฟท. – รฟท.ในฐานะนายจ้างก็สามารถไม่ให้ HIA ผ่าน และส่งกลับไปแก้ไขจนกว่าจะตรงความต้องการ ซึ่ง HIA ดังกล่าวอาจไม่ได้รับการยอมรับโดย UNESCO และลงเอยด้วยการที่อยุธยาโดนถอดถอนออกจากมรดกโลก

นอกจากประเด็นเรื่อง HIA การทำ EIA ซึ่งมีผลทางกฎหมายก็มีจุดที่น่าสังเกตหลายข้อ โดยเฉพาะส่วนที่ข้อมูลทางโบราณคดีคลาดเคลื่อน ที่แม้จะเป็นจุดเล็กๆ แต่ก็แสดงให้เห็นว่าการทำ EIA นั้นมีช่องโหว่ และมีข้อผิดพลาด แต่ปัจจุบัน การทำ EIA ก็ได้รับการอนุมัติไปแล้ว

ทั้งนักวิชาการและเครือข่าย Save อโยธยา ต่างยืนยันว่าพวกเขาไม่ได้ขัดขวางการสร้างรถไฟฟ้าความเร็วสูง แต่ ‘ความผิดปกติ’ ต่างๆ เหล่านี้ทำให้พวกเขาไม่อาจเพิกเฉย เพราะอาจทำให้ประชาชนอีกมากมายเสียโอกาสไปโดยที่ยังไม่ได้มีส่วนร่วมในการตัดสินใจ และพวกเขาหวังว่า หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จะทบทวนการดำเนินการโครงการรถไฟความเร็วสูงในพื้นที่อยุธยาอีกครั้ง 

อ.ศิริพจน์ ยังเปิดเผยด้วยว่าอนาคตของอยุธยาในฐานะเมืองมรดกโลกจะเป็นอย่างไรต่อไปนั้นขึ้นอยู่กับการให้ความสำคัญของคนไทยว่าจะให้คุณค่ากับแหล่งโบราณสถานนี้หรือไม่ พร้อมแนะนำว่าเราไม่ควรมองพื้นที่ตรงนี้ในฐานะเมืองเก่าอย่างเดียว แต่ให้มองเป็น Soft Power มองเป็นพลัง ที่สามารถต่อยอดไปใช้ประโยชน์ได้อีกมหาศาล

พร้อมหน่วยงานรัฐและรัฐบาลที่ดูแลเรื่องนี้ไว้ว่า “เมืองอโยธยาคือรากเหง้าของกลุ่มคนที่พูดภาษาไทย ที่เราเรียกตอนหลังว่าคนไทย มันเป็นหลักฐานที่น่าจะเก่าที่สุดว่ามันมีคนไทย ถ้าพูดถึงคุณค่าในแง่ประวัติศาสตร์มันสำคัญมาก มันสำคัญมากสำหรับคนไทยทุกคน”

“ปัญหาอยู่ที่รัฐบาลที่บอกจะใช้ Soft Power สามารถที่จะเอาคุณค่าทางประวัติศาสตร์มาทำให้เกิดมูลค่า มาทำให้ชาวบ้านสามารถได้ประโยชน์จากตรงนั้นหรือเปล่า ซึ่งผมเชื่อว่ารัฐบาลคุณเศรษฐาที่โปรโมทเรื่อง Soft Power หนักมากจะเห็น”

“อย่างน้อยที่สุดเราน่าจะสามารถทำมันออกมาให้ได้รับผลกระทบน้อยที่สุดได้”

 

อ้างอิงจาก

https://prachatai.com/journal/2023/04/103862

https://siamrath.co.th/n/447409

https://www.isranews.org/article/isranews-other-news/121282-isranews-1000-463.html

https://www.matichonweekly.com/column/article_667006

https://www.matichon.co.th/prachachuen/news_2775539

https://www.thairath.co.th/news/974158

https://www.matichon.co.th/columnists/news_4148724

 

podcast

LATEST
OUR PICKS
HOT
กำลังโหลดบทความถัดไป...

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า