SHARE

คัดลอกแล้ว

ธุรกิจโรงพยาบาลถือเป็นอีกหนึ่งธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤติโควิด-19 โดยเฉพาะอย่างยิ่งการหายไปของกลุ่มคนไข้ชาวต่างชาติ ที่ในช่วง 2 ปีหลังสุดนำเม็ดเงินมาสู่ธุรกิจโรงพยาบาลในประเทศไทยกว่าปีละ 1.4 แสนล้านบาท

ในขณะเดียวกัน เทรนด์การดูแลสุขภาพแบบครบวงจร และการก้าวสู่การเป็นสังคมผู้สูงอายุ ก็นำพาโอกาสในการเติบโตมายังธุรกิจการดูแลสุขภาพเช่นเดียวกัน

ทางข้างหน้าของธุรกิจด้านสุขภาพในไทยเป็นอย่างไร วิกฤติโควิด-19 สร้างผลกระทบต่อวงการนี้รุนแรงขนาดไหน และมีโอกาสใหม่ๆ อะไรบ้างที่อาจเป็นความหวังให้กับอุตสาหกรรมด้านสุขภาพในประเทศไทย ทีมข่าว workpointTODAY ขอสรุปฟังในที่นี้

ความท้าทายที่ 1: วิกฤติโควิด-19

เริ่มที่ความท้าทายแรกที่ชัดเจนที่สุด นั่นก็คือวิกฤติโควิด-19 ซึ่งทำให้คนไข้ต่างชาติหายไปจำนวนมาก วิจัยกรุงศรีให้ข้อมูลว่าในปี 2561 โรงพยาบาลในไทยรับคนไข้ชาวต่างชาติมากกว่า 2 ล้านคน ใช้บริการรวม 3.4 ล้านครั้ง และสร้างรายได้รวมเป็นเงินกว่า 1.4 แสนล้านบาท

แต่วิกฤติโควิด-19 ทำให้จำนวนคนไข้ต่างชาติตลอดปีนี้จะลดลงเหลือไม่ถึง 5 แสนคนเท่านั้น นั่นคือหายไปมากกว่า 3 ใน 4 จากปีก่อน

นี่ส่งผลให้โรงพยาบาลที่เน้นลูกค้าชาวต่างชาติ เช่น โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ และเครือโรงพยาบาลกรุงเทพ มีผลประกอบการที่ไม่ดีนักในช่วงครึ่งปีแรกปีนี้ โดยเฉพาะโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ (บริษัท โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ จำกัด (มหาชน)) ที่รายได้กว่า 65% มาจากชาวต่างชาติ การที่ชาวต่างชาติไม่สามารถเดินทางเข้ามาในประเทศไทยได้ ทำให้กำไรไตรมาส 2 ปีนี้ของบำรุงราษฎร์เหลือเพียง 44 ล้านบาท ลดลงถึง 94% จากช่วงเดียวกันปีก่อนที่มีกำไรกว่า 725 ล้านบาท

อีกโรงพยาบาลหนึ่งคือ เครือโรงพยาบาลกรุงเทพฯ (บริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด(มหาชน)) ที่แม้จะมีสัดส่วนคนไข้ชาวต่างชาติไม่มากเท่าบำรุงราษฎร์ แต่ก็ยังมีรายได้จากคนไข้ต่างชาติคิดเป็นสัดส่วนกว่า 30% การล็อกดาวน์ประเทศช่วงที่ผ่านมาจึงทำให้เครือโรงพยาบาลกรุงเทพฯ กำไรไตรมาส 2 ปีนี้ลดลงจากปีก่อนถึง 75.5% (457 ล้านบาทปีนี้ ลดจาก 1,865 ล้านบาทปีก่อน)

ทั้งนี้ แม้จะมีการประเมินกันว่าจำนวนคนไข้ต่างชาติจะเริ่มกลับมาในช่วงครึ่งปีหลัง แต่วิจัยกรุงศรีก็ประเมินว่ากว่าที่จำนวนคนไข้ต่างชาติในไทยจะกลับมาแตะระดับ 2 ล้านคน/ปีอีก น่าจะต้องรอไปอีก 2 ปี คือในปี 2565

ดังนั้นแล้วนี่จึงเป็นความท้าทายแรกที่แวดวงธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนกำลังเผชิญอยู่ในขณะนี้ ว่าจะทำอย่างไรในสถานการณ์ที่วิกฤติโควิด-19 ทำให้กลุ่มลูกค้าชาวต่างชาติหาย และคงยังไม่กลับมาเป็นปกติได้ในเร็ววัน

ความท้าทายที่ 2: เศรษฐกิจโตช้า ทำคนไทยกำลังซื้อน้อย

ความท้าทายที่ 2 เกิดจากกำลังซื้อของคนในประเทศเองที่หดตัว วิจัยกรุงศรีให้ข้อมูลว่านับตั้งแต่ปี 2557 เป็นต้นมา ธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจไทยที่เติบโตช้า สะท้อนให้เห็นจากจำนวนคนไข้ที่มาใช้บริการโรงพยาบาลน้อยลง โดยคนไข้นอกลดลงจากประมาณ 48 ล้านคนในปี 57 เหลือเพียงไม่ถึง 45 ล้านคนในปี 61 ส่วนคนไข้ในก็ลดลงจากประมาณ 2.5 ล้านคน เหลือเพียงไม่ถึง 2 ล้านคนในช่วงเวลาเดียวกัน

แต่ก็ใช่ว่าผู้ประกอบการโรงพยาบาลต่างๆ จะไม่ปรับตัว โดยโรงพยาบาลหลายแห่งหันมาทำตลาดกับผู้ป่วยที่ใช้สิทธิ์ประกันสุขภาพถ้วนหน้าและสิทธิ์ประกันสังคมมากขึ้น เช่น เครือโรงพยาบาลเกษมราษฎร์ (บริษัท บางกอก เชน ฮอสปิทอล จำกัด (มหาชน)) ที่ปัจจุบันมีสัดส่วนรายได้จากประกันสังคมสูงถึง 35% หรือกลุ่มโรงพยาบาลจุฬารัตน์ (บริษัท โรงพยาบาลจุฬารัตน์ จำกัด (มหาชน)) ที่รายได้จากคนไข้สิทธิ์ประกันสุขภาพถ้วนหน้าและสิทธิ์ประกันสังคมรวมกัน เพิ่มขึ้นจาก 37.1% ในไตรมาส 2 ปี 61 เป็น 46.1% ในไตรมาส 2 ปีนี้ การปรับตัวในลักษณะนี้ยังทำให้โรงพยาบาลกลุ่มนี้สามารถประคองตัวด้านรายได้ในวิกฤติโควิด-19 ได้ดีด้วย

แต่สำหรับโรงพยาบาลอื่นๆ ที่ยังคงพึ่งพารายได้หลักจากคนไข้ชาวไทยอยู่ นี่ถือเป็นอีกความท้าทายที่จะต้องก้าวข้าม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคโควิด-19 ที่นำมาซึ่งวิกฤติทางเศรษฐกิจ และส่งผลกระทบถึงเงินในกระเป๋าคนไทยจำนวนมากด้วย

ความท้าทายที่ 3: การแข่งขันจากโรงพยาบาลต่างชาติ

ปัจจุบันไม่ได้มีเพียงประเทศไทยเท่านั้น ที่หวังจะเป็นศูนย์กลางการรักษาพยาบาล (medical hub) ของอาเซียนและเอเชีย แต่กลุ่มโรงพยาบาลที่มีศักยภาพจากหลายประเทศ ไม่ว่าจะเป็นสิงคโปร์ จีน มาเลเซีย อินเดีย และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ต่างกำลังพัฒนาศักยภาพด้านการแพทย์ และพยายามขึ้นมาเป็นศูนย์กลางทางการแพทย์แข่งกับไทยทั้งสิ้น

ยกตัวอย่างเช่น กลุ่มพาร์คเวย์ แพนไทย ซึ่งเป็นเครือโรงพยาบาลเอกชนของสิงคโปร์ ได้เปิดโรงพยาบาลขนาด 250 เตียงในเมียนมาในปีนี้ ส่วนมาเลเซียเองก็มีศูนย์กลางทางการแพทย์ขนาดใหญ่ที่ดึงดูดชาวอินโดนีเซียและกลุ่มอิสลาม ในขณะที่อินเดียก็เสนอบริการทางการแพทย์ที่มีคุณภาพแต่ราคาถูกกว่าไทยเป็นจุดขาย ในขณะที่จีนก็ได้วางมณฑลไห่หนานให้เป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ เพื่อดึงดูดชาวจีนที่ไปรักษาต่างประเทศให้กลับมาใช้บริการทางการแพทย์ในประเทศแทน ส่วนสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ก็กำลังทำตัวเองให้เป็นศูนย์กลางทางการแพทย์ เพื่อรองรับกลุ่มผู้ป่วยจากรัสเซีย จีน และประเทศในอ่าวอาหรับ

นี่จึงถือเป็นอีกความท้าทายสำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับกลุ่มโรงพยาบาลในไทยที่เน้นจับกลุ่มคนไข้ชาวต่างชาติ เช่น บำรุงราษฎร์ และเครือโรงพยาบาลกรุงเทพ

แต่ท่ามกลางความท้าทายสำคัญ 3 ข้อข้างต้น แวดวงธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนในประเทศไทยยังมีโอกาสอีก 2 ข้อ รออยู่ข้างหน้าเช่นกัน

โอกาสที่ 1: สังคมผู้สูงอายุ

สภาพัฒน์ฯ ประเมินว่าประเทศไทยจะก้าวเข้าสู่การเป็นสังคมผู้สูงวัยอย่างสมบูรณ์ นั่นก็คือมีคนอายุ 60 ปีขึ้นไปในสัดส่วน 20% ของประเทศ ในปีหน้า (2564) และจะเพิ่มขึ้นไปเรื่อยๆ จนเป็นกว่า 32% ในอีก 20 ปีข้างหน้า (2583)

การที่ไทยก้าวสู่สังคมผู้สูงอายุ หมายถึงการขยายตัวของค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพของคนไทย และเป็นโอกาสทางธุรกิจของโรงพยาบาลด้วย โดยธนาคารแห่งประเทศไทยได้เคยประเมินไว้ว่าผู้สูงอายุกว่า 60% จะมีปัญหาด้านสุขภาพ นอกจากนี้ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ยังได้เคยประเมินเอาไว้ด้วยว่า ในอีก 12 ปีข้างหน้า ค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพเมื่อไทยกลายเป็นสังคมผู้สูงอายุเต็มรูปแบบจะสูงกว่าค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพในปัจจุบันกว่า 3 เท่า

นี่ถือเป็นโอกาสครั้งใหญ่ของธุรกิจด้านสุขภาพ ที่จะมีเม็ดเงินเข้ามาอีกมหาศาลเมื่อบริการด้านสุขภาพที่เกี่ยวข้องกับผู้สูงอายุเป็นที่ต้องการมากยิ่งขึ้นในอนาคต

โอกาสที่ 2: กลุ่มลูกค้าชาวต่างชาติกลุ่มใหม่

ที่ผ่านมา แม้กลุ่มคนไข้ชาวต่างชาติจากบางพื้นที่จะลดลง ซึ่งเป็นผลจากการที่หลายประเทศในตะวันออกกลางตัดสวัสดิการการรักษาพยาบาลนอกประเทศ เช่น สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ที่ลดงบสนับสนุนการรักษาพยาบาลนอกประเทศจาก 90% เหลือ 50% ทำให้คนไข้จากกลุ่มประเทศตะวันออกกลางที่มารักษาในประเทศไทยลดลงไปด้วย

แต่ปัจจุบันก็มีกลุ่มคนไข้ต่างชาติจากประเทศใหม่ๆ เดินทางมาใช้บริการทางการแพทย์ในไทยเพิ่มขึ้น เช่น จากกลุ่มประเทศ CLMV จีน รัสเซีย และอาฟริกา เป็นต้น

ทั้งนี้ หากผู้ประกอบธุรกิจด้านการแพทย์ในไทยสามารถจับความต้องการของคนไข้ต่างชาติกลุ่มใหม่กลุ่มนี้ได้ โอกาสการเติบโตย่อมรออยู่ข้างหน้า เช่น กลุ่มคนจีนจำนวนมากมารับการรักษาอาการมีบุตรยากในไทย ซึ่งปัจจุบันก็มีโรงพยาบาลหลายแห่งที่เปิดศูนย์รักษาผู้มีบุตรยากเพื่อรองรับกลุ่มลูกค้าชาวจีนที่นิยมทำเด็กหลอดแก้วแล้ว เป็นต้น

ทั้งหมดนี้คือ 3 ความท้าทาย และ 2 โอกาสใหญ่ ที่ธุรกิจด้านสุขภาพในไทยกำลังเผชิญอยู่ในขณะนี้

อ้างอิงข้อมูลจาก:
https://www.krungsri.com/…/IO_Private_Hospital_200902…
https://inv4.asiaplus.co.th/asps/research-inside.php?id=9

 

podcast

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า