SHARE

คัดลอกแล้ว

สภาทนายความฯ ยื่นศาลปกครองถอนฟ้องวลพ. หลังเปลี่ยนคณะสภาทนายความฯ ชุดใหม่ ระบุพร้อมเดินหน้าแก้ไขกฎระเบียบที่เลือกปฏิบัติทางเพศ ด้านทนายความผู้ร้องสอดเผยอยากให้เป็นบรรทัดฐานแก่หน่วยงานอื่นแก้ไขตาม

วันนี้ (18 ม.ค.66) เวลา 10.30 น. ผู้แทนสภาทนายความฯ เดินทางมายังศาลปกครองกลาง เขตหลักสี่ เพื่อยื่นคำร้องถอนฟ้องคดีหมายเลขดำ 1726/2565 ที่สภาทนายความฯ ยื่นฟ้องคณะกรรมการวินิจฉัยการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศ (วลพ.) กรณีคำวินิจฉัยของวลพ.เมื่อ 27 เม.ย.2566 

ชิษณ์ชาภา พานิช นักกฎหมายหญิงข้ามเพศ ซึ่งเป็นผู้ร้องสอดกรณีสภาทนายความฯ ยื่นฟ้องคณะกรรมการวลพ.ให้สัมภาษณ์ว่า อุปนายกสภาทนายความฯ​ ได้ติดต่อมายังตนเพื่อขอถอนฟ้องคณะกรรมการวลพ.และขอให้ตนเดินทางมาเซ็นยินยอมและไม่คัดค้านการถอนฟ้อง โดยผู้แทนสภาทนายความฯ ให้เหตุผลกับ ชิษณ์ชาภาว่าคณะกรรมการสภาทนายความฯ ผู้ที่ยื่นฟ้องวลพ.เป็นคนละชุดกับคณะกรรมการสภาทนายความฯ ปัจจุบัน โดยคณะกรรมการสภาทนายความฯ ชุดปัจจุบันมีความเข้าใจ และเคารพหลักความเสมอภาคทางเพศตามพ.ร.บ.ความเท่าเทียมระหว่างเพศ 2558 ทั้งยังเล็งเห็นว่ากฎระเบียบของสภาทนายความฯ มีการเลือกปฏิบัติต่อสิทธิทางเพศจึงได้ยื่นคำร้องต่อศาลปกครองกลางถอนฟ้องวลพ.และแก้ไขกฎระเบียบของสภาทนายความฯ ตามคำวินิจฉัยของวลพ.ต่อไป

ด้าน ศ.ณรงค์ ใจหาญ ประธานคณะกรรมการวินิจฉัยการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศ (วลพ.) ให้สัมภาษณ์ว่า “มีหลายคดีที่วลพ.ถูกฟ้อง แต่คดีนี้นับเป็นคดีแรกที่วลพ.ถูกถอนฟ้อง ซึ่งสภาทนายความเห็นความสำคัญของการไม่เลือกปฏิบัติทางเพศ และเห็นว่าคำสั่งของวลพ. ที่ให้สภาทนายความฯ ปรับเปลี่ยนระเบียบเป็นคำสั่งที่สอดคล้องกับหลักการของรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 การเลือกปฏิบัติทางเพศ อาทิ การกำหนดเครื่องแต่งกายของบุคคลข้ามเพศ”

ตามคำวินิฉัย ระบุสาเหตุที่คณะกรรมการวลพ.ออกคำวินิจฉัยให้สภาทนายความฯ แก้ไขระเบียบการแต่งกาย เนื่องจากระเบียบการแต่งกายของสภาทนายความฯ บัญญัติการแต่งกายไว้สำหรับทนายความชาย และทนายความหญิงเท่านั้น

ระเบียบมรรยาทในการแต่งกายของสภาทนายความฯ หมวดที่ 5 ข้อ 20 ระบุว่า ในเวลาว่าความ ทนายความจะต้องแต่งกายเรียบร้อยตามหลักเกณฑ์ ทนายความชาย แต่งตัวตามแบบสากลนิยม เป็นชุดสีขาว หรือสีอื่นที่ไม่ฉูดฉาด เชิ้ตขาว ผ้าผูกคอสีดำหรือสีอื่นที่สุภาพไม่ฉูดฉาดแบบเงื่อนกะลาสี หรือแต่งเสื้อชุดไทยแบบแขนสั้นหรือยาว สีสุภาพไม่มีลวดลายแทนเสื้อชุดสากลก็ได้ รองเท้าหุ้มส้นสีขาว น้ำตาล หรือดำ ถุงเท้าสีคล้ายคลึงกับรองเท้า ส่วนทนายความหญิง แต่งตามแบบสากลนิยม กระโปรงและเสื้อสีสุภาพไม่ฉูดฉาด รองเท้าหุ้มส้น ซึ่งการที่ระเบียบของสภาทนายความฯ กำหนดการแต่งกายตามเพศกำเนิดชายและหญิงอาจไม่สอดคล้องกับสภาพปัจจุบันที่มีความหลากหลายทางเพศ

นอกจากนี้ ชิษณ์ชาภา พานิช นักกฎหมายหญิงข้ามเพศ ยังได้ขอให้คณะกรรมการวลพ.ออกคำวินิจฉัยไปยังสำนักฝึกอบรมวิชาว่าความ แห่งสภาทนายความ ซึ่งวลพ.ขอให้ผู้ร้องทั้งสองแห่งเปลี่ยนระเบียบ ข้อบังคับ และแนวทางให้สอดคล้องกับความเท่าเทียมทางเพศเช่นกัน

“…ผมคิดว่าตอนที่เรา(วลพ.) สั่งไปแล้ว แต่สภาทนายความฯ ฟ้องกลับมาก็คงแปลได้ว่าเขาไม่สามารถที่จะปฏิบัติตามคำสั่งของเราได้ เนื่องจากระเบียบเดิมเป็นแบบนั้น ฉะนั้นทางสภาทนายความฯ จึงฟ้องศาลปกครองว่าคำสั่งของวลพ. อาจจะไม่ถูกต้อง โดยการใช้ดุลยพินิจที่ไม่ถูกต้องตามกฎเกณฑ์ แต่พอเปลี่ยนนายกสภาทนายความฯ ท่านใหม่ ท่านได้มาประชุม และเห็นความสำคัญตรงนี้ เพราะว่าท่านเองก็ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ด้วย ก็เลยมีมติถอนฟ้องซึ่งก็ต้องขอบคุณสภาทนายความฯ ชุดใหม่ที่เห็นตรงกับทางวลพ. การฟ้องเพื่อจะเพิกถอนคำสั่งจึงไม่มีความจำเป็นต่อไป ผมจึงคิดว่าเป็นนิมิตหมายที่ดีครับ และก็คิดว่าทางวลพ.เองมีความรู้สึกว่า ถ้าเป็นอย่างนี้แล้วเราก็ได้ให้ความคุ้มครองคนที่มีเพศสภาพ ซึ่งจะสามารถใช้สิทธิของตันเองตามมาตรฐานสากลได้”  ศ.ณรงค์ ใจหาญ ประธานวลพ.กล่าว

ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความฯ กล่าวกับสำนักข่าว TODAY ว่า หลังตนมารับตำแหน่งนายกสภาทนายความฯ เล็งเห็นว่าการฟ้องคณะกรรมการวินิจฉัยการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศเป็นสิ่งที่ไม่ควร เนื่องจากคำวินิจฉัยของวลพ.มีอำนาจตามกฎหมาย คณะกรรมการสภาทนายความฯ จึงมีมติให้ดำเนินการถอนฟ้อง ขณะเดียวกันสภาทนายความฯ ก็ต้องแก้ไขข้อบังคับของสภาทนายความฯ ว่าด้วยการแต่งกาย ซึ่งขณะนี้อยู่ในระหว่างการยกร่างข้อบังคับคาดว่าจะเสร็จในเร็ว ๆ นี้ พร้อมกับกรณีของทนายหญิงที่ต้องการใส่กางเกงว่าความในศาล

“…เราเห็นว่าเดี๋ยวนี้เราจะไปปฏิบัติเหมือนอย่างแต่ก่อนไม่ได้แล้ว ในกฎหมายคนต้องมีความเสมอภาคกัน เราจึงมีแนวคิด และแนวทางในลักษณะดังกล่าว ตอนนี้หลายหน่วยงานเห็นความสำคัญในเรื่องนี้ ซึ่งผมเองก็คิดตั้งแต่ก่อนการเลือกตั้งแล้วว่าหากเราได้เข้าไปแล้วเราจะไปถอนฟ้องให้” ดร.วิเชียร นายกสภาทนายความฯ กล่าว

ส่วนกรณีที่มีการตั้งข้อสังเกตว่าในการอบรม หรือบรรยายแก่เหล่านักกฎหมายมีแต่เพศชายนั้น ดร.วิเชียร กล่าวว่า สำหรับตนนั้นเปิดกว้างหากว่าหัวเรื่องที่จะบรรยาย หรืออบรมมีความเกี่ยวข้องกับเรื่องอื่นใดที่จำเป็น และเกี่ยวข้องกับเพศสภาพ ตนก็ยินดี

ก่อนหน้านี้สภาทนายความฯ​ ได้รับคำวินิจฉัยของวลพ.ที่วินิจฉัยให้สภาทนายความฯ​ แก้ไขระเบียบ ข้อบังคับ กฎระเบียบ ประกาศ หรือแนวปฏิบัติเพื่อรับรองสิทธิของบุคคลที่มีการแสดงออกทางเพศแตกต่างจากเพศโดยกำเนิดให้สามารถแต่งกายตามเพศสภาพของตนได้ ไม่ว่าจะเป็นการแต่งกายในการเข้าอบรม ฝึกงาน การเข้าสอบข้อเขียน สอบสัมภาษณ์ สอบวัดผลอื่น ๆ หรือการเข้ารับประกาศนียบัตรใบอนุญาตประกอบวิชาชีพทนายความเมื่อสำเร็จการอบรม โดยสภาทนายความฯ ต้องดำเนินการแก้ไขระเบียบดังกล่าวภายใน 90 วันหลังออกคำวินิจฉัย อย่างไรก็ดี สภาทนายความฯ นำโดยคณะกรรมการชุดที่ดำรงตำแหน่งในปี 2565 ตัดสินใจยื่นฟ้องวลพ. ต่อศาลปกครองแทนการปฏิบัติตามกรอบเวลาที่กำหนด

อย่างไรก็ดี การเลือกตั้งเลือกคณะกรรมการใหม่ของสภาทนายความฯ เกิดขึ้นกลางเดือนกันยายน 2565 เปลี่ยนคณะกรรมการมาเป็นคณะปัจจุบันนำโดยชุดที่ดำรงตำแหน่งในปี 2565 ยื่นฟ้องคณะกรรมการดร.วิเชียร ชุบไธสง จึงได้ดำเนินการถอนฟ้อง

สำหรับขั้นตอนต่อไปสภาทนายความฯ จะต้องปรับเปลี่ยนระเบียบ ข้อบังคับต่าง ๆ ให้รับรองสิทธิของบุคคลที่มีการแสดงออกทางเพศแตกต่างจากเพศกำเนิดตามคำวินิจฉัยของคณะกรรมการวลพ. ซึ่งจะส่งผลให้ทนายความที่เป็นบุคคลข้ามเพศสามารถแต่งกายตามเพศสภาพเข้าสอบ และอบรม แต่เนื่องจากการสภาทนายความฯ ไม่ได้ปฏิบัติตามคำวินิจฉัยของคณะกรรมการวลพ.ภายใน 90 วันหลังออกคำวินิจฉัย สภาทนายความฯ จึงจำเป็นต้องเจรจากับคณะกรรมการวลพ.เพื่อกำหนดวันและเวลาในการดำเนินการปรับเปลี่ยนระเบียบดังกล่าวให้แล้วเสร็จตามที่ได้ตกลงไว้

ชิษณ์ชาภา พานิช นักกฎหมายหญิงข้ามเพศ กล่าวว่า ตนรู้สึกโล่งใจ หลังต้องอยู่ระหว่างการฟ้องร้องกว่าปีครึ่ง และอยากให้การถอนฟ้องของสภาทนายความฯ ครั้งนี้เป็นบรรทัดฐานแก่หน่วยงานอื่น ๆ ให้เปลี่ยนแปลงกฎระเบียบต่าง ๆ ที่กีดกัน และแบ่งแยกสิทธิทางเพศออกจากทรัพยากรที่ทุกคนควรได้รับตามกฎหมาย เพราะมิเช่นนั้นก็จะมีการฟ้องร้องกันเกิดขึ้นอีกไม่จบสิ้น จึงอยากให้หน่วยงานอื่น ๆ เห็นพ้องและเปลี่ยนกฎระเบียบเพื่อให้สอดรับกับความหลากหลายทางเพศ โดยอยากให้คดีนี้เป็นคดีสุดท้าย 

 

podcast

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า