SHARE

คัดลอกแล้ว

กระแสโจมตี “เฟมินิสต์” ที่กำลังเกิดขึ้นในโลกออนไลน์ขณะนี้ ผ่านปรากฏการณ์ “เฟมทวิต” ฉายภาพให้เห็นชัดเจนว่า สังคมไทยยังคงเดินย่ำอยู่บนความซ้อนทับในการยึดกรอบคิดกระแสหลักในการมองโลกอยู่ สามประการ กล่าวคือ ระบบคิดแบบทวิลักษณ์ อำนาจนิยม และชายเป็นใหญ่
ประการแรก ระบบคิดแบบทวิลักษณ์ (dualism) หมายถึงการมองสรรพสิ่งแบ่งแยกออกเป็นสองขั้วตรงข้าม เช่น การใช้สองระบบการแบ่งแยก ดี-ชั่ว ผิด-ถูก บาป-บุญ หรือแม้แต่การแบ่งแยกเพศออกเป็น “ชาย-หญิง” ซึ่งมักเป็นมุมมองที่สังคมใช้ในการสร้างเส้นสกัดกั้นให้ เฟมินิสต์ (Feminist) หรือนักสตรีนิยมกลายเป็นคนนอกกระแสที่ผลิตแนวคิดสตรีนิยม (feminism) ให้เป็นความรู้นอกกระแสหลักและอยู่คู่ตรงข้ามกับความรู้ที่สังคมยอมรับ
การมองโลกแบบทวิลักษณ์ที่ฝังรากลึกมายาวนาน มีส่วนทำให้สังคมไทยยอมรับความแตกต่างหลากหลายทางความคิดและอุดมการณ์ได้ยาก ดังจะเห็นจากการอุบัติขึ้นของความขัดแย้งและความรุนแรงในสังคมมีรากที่มาของการมองโลกแบบทวิลักษณ์สนับสนุนอย่างแข็งแกร่ง การมองในระดับของการมีสองสิ่งที่แตกต่างและเป็นคู่ตรงข้ามกัน ย่อมไม่อาจนำพาสังคมไปถึงการมองเห็นความไม่เสมอภาคและความไม่เป็นธรรมในสังคมอันมีเรื่องเพศเป็นฐานรากที่สำคัญ
ประการที่สอง สังคมไทยยังคงเป็นสังคมอำนาจนิยม การโจมตีเฟมินิสต์ สะท้อนการสนับสนุนอำนาจนิยม เพราะแนวคิดสตรีนิยมนั้นมิได้เชิดชูผู้หญิงเป็นใหญ่ (Matriarchy) แต่สตรีนิยมต้องการสลายระบอบอำนาจนิยมมาสู่การนำเสนอความเท่าเทียมกันของทุกเพศ ที่สำคัญสตรีนิยมใช้การขับเคลื่อนผ่านวัฒนธรรมอำนาจร่วม (shared power) มากกว่าการใช้อำนาจเหนือ (power over)
ประการที่สาม สังคมไทยเป็นสังคมชายเป็นใหญ่ ในมุมมองสตรีนิยมไม่ได้หมายถึง “ผู้ชาย” ที่มีสรีระร่างกายเป็นชาย รวมทั้งไม่ได้หมายถึงผู้ชายในฐานะปัจเจกบุคคล แต่หมายถึงระบบคิด ความเชื่อทางสังคมวัฒนธรรมที่จัดวางบทบาทให้เพศชายมีอำนาจเหนือเพศหญิง ระบบชายเป็นใหญ่เป็นวิธีคิดที่อาจฝังติดในความเชื่อของทั้งชายและหญิงและนำมาสู่ภาคปฏิบัติการที่สะท้อนการเอารัดเอาเปรียบทางเพศ โดยผู้หญิงตกอยู่ในสถานะที่เป็นรอง ความคลาดเคลื่อนที่มองว่าเฟมินิสต์คือคนที่เกลียดผู้ชายและต้องการโจมตีผู้ชาย จึงทำให้ข้อโต้แย้งที่มีต่อเฟมินิสต์กลายเป็นวิวาทะระหว่างหญิงชายในฐานะปัจเจกมากกว่าการมุ่งแก้ไขที่ระบบคิดชายเป็นใหญ่

พัฒนาการข้อเรียกร้อง: สิทธิเลือกตั้ง-งานและค่าแรง-ขยายจินตนาการบทบาททางเพศ

ขบวนการเคลื่อนไหวของกลุ่มเฟมินิสต์เพื่อเสริมพลังของผู้หญิงในเรื่องความเป็นธรรมทางเพศ เริ่มตั้งแต่ทศวรรษ 1900s สตรีนิยมคลื่นลูกที่ 1 เกี่ยวข้องกับการเรียกร้องสิทธิในการเลือกตั้งของผู้หญิง ซึ่งเริ่มต้นในสหรัฐอเมริกา ในปี 1845 และขยายอาณาบริเวณไปยังหลายประเทศ สตรีนิยมคลื่นลูกที่ 2 เป็นขบวนการเคลื่อนไหวเพื่อปลดปล่อยผู้หญิงให้เป็นอิสระ ซึ่งเป็นการต่อสู้ที่มากไปกว่าการเรียกร้องสิทธิในการเลือกตั้ง เริ่มในประเทศอังกฤษ สหรัฐอเมริกา และอีกหลายประเทศในทศวรรษ 1960s สตรีนิยมคลื่นลูกที่ 2 ขยายพื้นที่ของการปลดปล่อยผู้หญิงไปสู่มิติทางสังคมและวัฒนธรรม ซึ่งรวมถึงการสร้างภาพที่ผิดเพี้ยนไปจากความเป็นจริงเกี่ยวกับผู้หญิงในงานโฆษณาและสื่อมวลชน ค่าตอบแทนที่ไม่เป็นธรรม การเข้าถึงโอกาสในอาชีพของผู้หญิง
ส่วนสตรีนิยมคลื่นลูกที่ 3 เกิดขึ้นตั้งแต่ 1980-ปัจจุบัน เป็นการทำงานเชิงลึกโดยตั้งคำถามถึง บทบาทตามเพศ (gender roles) ของผู้คนในสังคม การเรียกร้องที่สำคัญของสตรีนิยมคลื่นลูกที่ 3 คือ การมีบทบาทตามเพศที่ตายตัวมีส่วนสร้างความไม่เท่าเทียมในสังคมและเป็นการจำกัดทางเลือกและอิสรภาพในการแสดงความคิดเห็นของปัจเจกบุคคลในเรื่องเพศ ทำให้โลกนี้มีแต่เพศชายและหญิง ไม่ยอมรับความเป็นเพศหลากหลาย คลื่นลูกที่ 3 จึงให้ความสำคัญของความหลากหลายในสังคม ทั้งมิติเพศสภาพ ชนชั้น เชื้อชาติ วัฒนธรรมที่หลากหลาย

เฟมินิสต์คลื่นลูกที่ 4 มาถึงแล้ว

ในปัจจุบันการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี (Disruptive Technology) เป็นปัจจัยสนับสนุนข้อมูลข่าวสารไม่ว่าจะอยู่ในลักษณะใดก็สามารถอ่านและส่งผ่านได้อย่างรวดเร็วด้วยเครื่องคอมพิวเตอร์ ได้กลายเป็นส่วนหนึ่งสายธารของสตรีนิยมคลื่นลูกที่ 4 เป็นความเคลื่อนไหวบนเครือข่ายออนไลน์ ประเด็นเฟมินิสต์ทั่วโลกของยุคปัจจุบันอยู่ที่ การคุกคามทางเพศ การต่อต้านวัฒนธรรมการข่มขืน การเหยียดเรือนร่าง ที่มาพร้อมกับการรณรงค์ ด้วยแฮชแทก # และเครื่องมือผ่านสื่อสังคมออนไลน์ต่างๆ การรณรงค์ที่สำคัญและทรงพลังของคลื่นลูกที่ 4 ได้แก่ #HeforShe โดย UN Women เพื่อให้ผู้ชายเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการเคลื่อนไหวเพื่อสร้างความเท่าเทียมทางเพศ และ #metoo ที่ชูธงเรื่องการต่อต้านการล่วงละเมิดทางเพศ กระแสเฟมินิสต์เติบโตจนกลายเป็นคำศัพท์แห่งปี 2017 จาก Merriam-Webster ระบุว่ามีการสืบค้นออนไลน์คำว่า “Feminist” ล้นหลามหลังปรากฏการณ์ #metoo ในประเทศไทยการใช้สื่อสังคมออนไลน์อย่างทวิตเตอร์ ขับเคลื่อนประเด็นความเท่าเทียมระหว่างหญิงชาย ผ่าน เฟมทวิต ถือเป็นการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลแบบคลื่นลูกที่ 4 ในการขับเคลื่อนขบวนการสตรีนิยมเพื่อความเป็นธรรมทางเพศ ทว่ามีเสียงโต้กลับและกลายเป็นประทุษวาจาออนไลน์

สงครามเฟมินิสต์ เรื่องเก่าในแพลตฟอร์มใหม่

อันที่จริง กระแสโจมตี “เฟมินิสต์” ไม่ใช่เรื่องใหม่ เพียงแต่ปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นในขณะนี้ เป็นแค่การเปลี่ยนแพลตฟอร์มในการโต้เถียง คัดค้าน และผลักไส จากยุคสิ่งพิมพ์ อะนาล็อก สู่ดิจิทัล ในประเทศไทยกระแสการโจมตีสิทธิสตรีเริ่มตั้งแต่ช่วงปลายสมัยรัชกาลที่ 5 เป็นต้นมา เมื่อมีการเปิดตัวของหนังสือพิมพ์กุลสัตรี (2449-2450) ซึ่งจัดเป็นตัวแทนของนิตยสารสตรีหัวก้าวหน้าในยุคปลายสมบูรณาญาสิทธิราชย์ นำเสนอแนวคิดสิทธิสตรีตามแนวทางเสรีนิยม (Liberal Feminism) ที่กระตุ้นให้สังคมไทยขณะนั้นมอบโอกาสให้ผู้หญิงได้เรียนหนังสือ ประกอบอาชีพ และแก้ไขกฎหมายที่ไม่เป็นธรรมต่างๆ ท่ามกลางการตั้งคำถามจากสังคมและเคลือบแคลงว่าการเคลื่อนไหวของนิตยสารสตรีนี้ไม่ใช่เป็นการจัดทำโดยผู้หญิง เพราะไม่เชื่อในศักยภาพของผู้หญิงในพื้นที่สาธารณะ จนบรรณาธิการกุลสัตรีต้องออกมาตอบโต้ว่า “อนึ่งข้อที่ท่านสงไสยว่า หนังสือนี้เกรงว่าจะไม่ใช่ฝีปากผู้หญิง ถ้าเปนฝีปากผู้หญิงจริงก็จะรับ ถ้าไม่ใช่ฝีปากผู้หญิง หรือหญิงปลอมก็จะบอกเลิก การที่ท่านสงไสยนั้นก็ควร เพราะเหตุที่ท่านยังไม่เคยได้พบเห็นหญิงที่องอาจสามารถทำการได้ดังนี้” (กุลสัตรี พ.ศ.2449)

หนังสือพิมพ์กุลสัตรี (พ.ศ.2449-2450)

แม้แต่ในยุคที่ถูกมองว่าประชาธิปไตยเบ่งบาน สิทธิสตรีก็พลอยเติบโตไปด้วย ระหว่างปี พ.ศ. 2516-2519 หนังสือพิมพ์ไทยรัฐเคยขึ้นพาดหัวข่าวโดยโหนกระแสสิทธิสตรีเพื่อโจมตีเหล่าผู้หญิงที่เป็นเฟมินิสต์ว่า “สาวยุคสิทธิสตรีก่อประเพณีวิตถาร ครองสองผัว หมุนเวียนบ้านบำเรอรัก”(ไทยรัฐ 26 กรกฎาคม 2518) หนังสือพิมพ์ดาวสยาม (27 กุมภาพันธ์ 2519) เคยวาดการ์ตูนล้อเลียนเฟมินิสต์ ว่าเป็นหญิงนักสู้ที่ใส่รองเท้ายาง ผมยุ่ง ใส่เสื้อยืด นมยาน พุงยื่น… เป็นต้น

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ (26 กรกฎาคม พ.ศ.2518)

หนังสือพิมพ์ดาวสยาม (27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2519)

การโต้เถียงที่มีต่อเฟมินิสต์ครั้งแล้วครั้งเล่าในสายธารประวัติศาสตร์ กลับยิ่งเป็นการเสริมพลังไม่ให้สตรีนิยมหยุดนิ่ง เพราะสตรีนิยมไม่ได้เป็นแค่ทฤษฎีแต่คือขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคม ไม่ว่าจากยุคสิ่งพิมพ์ถึงดิจิทัล เนื้อหาข้อโต้แย้งไม่เคยเปลี่ยน และอำนาจที่กำกับอยู่เบื้องหลัง คือ ทวิลักษณ์ อำนาจนิยม และชายเป็นใหญ่ ก็ยังคงเป็นปัจจัยหนุนหลังที่ทรงพลัง
แต่กระนั้นโลกใบนี้ยังจำเป็นต้องมีเฟมินิสต์ เพราะสตรีนิยมเป็นการเปิดพื้นที่ให้ความจริงชุดใหม่ได้มีที่ยืนในสังคม การเข้าไปสู่รากเหง้าของการตั้งคำในความรู้แบบเดิม การเผยให้เห็นอคติที่อยู่เบื้องหลังความรู้ชุดเดิม สั่นสะเทือนให้องค์ความรู้ชุดใหม่อันเกิดจากฐานประสบการณ์ชีวิตของผู้หญิง หรือประสบการณ์ของคนที่ไม่ใช่ประสบการณ์แบบชายเป็นใหญ่ เช่น กลุ่มหลากหลายทางเพศ รวมทั้งประเด็นชนชั้น สีผิว ชาติพันธุ์ ฯลฯ ได้ปรากฎขึ้นมา
ที่สำคัญสตรีนิยมนี้เองที่พูดถึงความเสมอภาคทางเพศ ซึ่งเป็นความเสมอภาคในระดับฐานรากที่สุด หากแก้ปัญหาความไม่เท่าเทียมทางเพศได้ก็จะนำไปสู่ความยุติธรรมในพื้นที่อื่นต่อไป แต่การกระเพื่อมความรู้ใหม่นี้โดยเฟมินิสต์สร้างความหวั่นวิตกให้ความรู้กระแสหลัก เพราะการยึดติดในพื้นที่ปลอดภัย (comfort zone) มาเป็นเวลานานขององค์ความรู้ดั้งเดิมได้สร้างกรอบคุ้นชินจนอาจยอมรับระเบียบโลกใหม่ที่เชิดชูความเสมอภาคทางเพศได้โดยยาก แม้เป้าหมายคือสันติ แต่สงครามเฟมินิสต์ยังไม่จบ ตราบใดที่ยังอยู่ในโครงสร้างระบบแบบเดิม สตรีนิยมคลื่นลูกต่อไปกำลังจะมา

 

podcast

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า