SHARE

คัดลอกแล้ว

4 สำนักข่าว เชิญองค์กรภาคประชาสังคม นักวิชาการ ตัวแทนกลุ่มผู้ป่วยร่วมตรวจสอบนโยบายสุขภาพพรรคการเมืองต่างๆ เสียงสะท้อนบอกผิดหวัง สิ่งที่ทุกพรรคเสนอขายคือสิทธิประโยชน์เมื่อเจ็บป่วย แต่ไม่มีแนวทางป้องกันดูแลสุขภาพ ละเลยปัญหาโครงสร้างความเหลื่อมล้ำ 3 กองทุนหลักประกันสุขภาพ

สำนักข่าว The Active องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธาราณะแห่งประเทศไทย(Tha iPBS) สำนักข่าว Hfocus สำนักข่าว The Better News และสำนักข่าว Today ร่วมกันจัดเวทีเสวนา “ตรวจนโยบายสุขภาพพรรคการเมือง เลือกตั้ง 66” (4 มี.ค. 2566) ร่วมกับภาคประชาสังคม นักวิชาการ ตัวแทนกลุ่มผู้ป่วยร่วมเสนอความเห็น วิพากษ์นโยบายสุขภาพพรรคการเมืองต่างๆ ที่หาเสียงในการเลือกตั้ง 2566

เภสัชกร(ภก.)เพียร เพลินบรรณกิจ นักสื่อสารนโยบายสาธารณสุข สำนักข่าว Hfocus นำเสนอภาพรวมนโยบายด้านสาธารสุขและสุขภาพที่ทุกพรรคนำเสนอในการหาเสียงเลือกตังครั้งนี้โดยแยกออกเป็น 3 ประเด็นหลักคือ นโยบายหลักประกันสุขภาพและโครงสร้างระบบสุขภาพ นโยบายด้านบุคลากร และนโยบายเพิ่มสิทธิประโยชน์

เมื่อแยกนโยบายเป็นรายพรรค พรรคเพื่อไทยนำเสนอนโยบายหลักประกันสุขภาพและโครงสร้างระบบสุขภาพ 3 นโยบายคือบัตรประชนใบเดียวรักษาฟรีทั่วประเทศ ระบบ Telemedicine และโรงพยาบาลของรัฐกระจายอำนาจในรูปแบบองค์กรมหาชนท้องถิ่น ด้านสิทธิประโยชน์ 3 นโยบายคือ ศูนย์ชีวาภิบาลดูแลผู้ป่วยติดเตียงระยะสุดท้าย วัคซีน HIV และตรวจรักษาไวรัสตับอักเสบ C แต่ไม่มีนโยบายด้านบุคลากร

พรรคพลังประชารัฐยังไม่มีนโยบายทั้ง 3 ด้าน แต่มีนโยบายด้านอื่นๆ 2 นโยบายคือ สนัลสนุนเงินเดือนละ 10,000 บาทตั้งแต่ท้อง 4 เดือนจนถึงคลอด และนโยบายช่วยเงินเลี้ยงบุตร 3,000 บาทต่อเดือนนาน 6 ปี

พรรคภูมิใจไทย ด้านหลักประกันสุขภาพมีนโยบายเดียวคือ 30 บาทรักษาทุกที่ ด้านบุคลากรคือเพิ่มค่าป่วยการอสม.เป็น 2,000 บาท ด้านสิทธิประโยชน์ มี 5 นโยบายคือ นโยบายรักษามะเร็งฟรีตั้งศูนย์ฉายรังสีทุกจังหวัด นโยบายฟอกไตฟรีตั้งศูนย์ฟอกไตทุกอำเภอ นโยบายอาการป่วย 16 โรครับยาฟรีที่ร้านยา นโยบายคัดกรองผู้สูงอายุเชิงรุกในชุมชนผ่านแอพลิเคชั่น Smart อสม. และนโยบายสิทธิประโยชน์ผู้สูงอายุ

พรรคประชาธิปัตย์ มีนโยบายด้านหลักประกันสุขภาพและระบบสาธารณสุขเพียง 2 นโยบายคือ บัตรประชาชนใบเดียวรักษาฟรีทุกที่และส่งเสริมการเป็น Medical Hub

พรรคก้าวไกล เสนอรวมทั้งหมด 13 ประเด็น ด้านหลักประกันสุขภาพและระบบสาธาณสุข 2 ประเด็นคือ Telemedicine และส่งต่อ-หาเตียงด้วยระบบเชื่อมข้อมูลสุขภาพ ด้านบุคลากร 2 ประเด็นคือ ลดความเหลื่อมล้ำกระจายแพทย์สู่ชนบท และลดชั่วโมงการทำงานของบุคลากรทางการแพทย์ ส่วนด้านสิทธิประโยชน์ 8 ประเด็น คือ ตรวจสุขภาพประจำปีฟรี คัดกรองมะเร็ง 6 ชนิดฟรี วัคซีนไข้เลือดออกและปอดอักเสบ รักษาสุขภาพดีมีรางวัล กองทุนดูแลผู้สูงอายุ ผู้ป่วยติดเตียง ตั้งศูนย์ดูแลผู้ป่วยแบบประคับประคองในชุมชน เพิ่มวันลาดูแลพ่อ-แม่ที่ป่วยระยะสุดท้าย และสิทธิจบชีวิตสำหรับผู้ป่วยที่รักษาไม่ได้

พรรคชาติไทยพัฒนา มีนโยบายสุขภาพดีมีเงินคืน 3,000 บาทเพียงประเด็นเดียว พรรคเสรีรวมไทยก็ฌมรนโยบายบัตรประชาชนใบเดียวรักษาฟรีเพียวประเด็นเดียว พรรครวมไทยสร้างชาติมี 2 ประเด็นคือ Telemedicine และสร้างศูนย์สันทนาการเพื่อผู้สูงอายุ ส่วนพรรคไทยสร้างไทยมีเพียงนโยบายด้านหลักประกันสุขภาพและระบบสาธารณสุขเพียงด้านเพียวแยกเป็น 4 ประเด็น ประกอบด้วย เพิ่มคุณภาพ 30 บาทรักษาทุกโรคเป็น 30 พลัส ปฆิรูประบบสาธารณสุขด้วยเทคโนโลยี AI การพัฒนา Telemedicine และ ให้ไทยเป็น Medical Hub ทั้งแพทย์แผนปัจจุบันและแพทย์ทางเลือก การผลิตเวชภัณฑ์ เครื่องสำอาง สมุนไพร

น.ส.สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการสภาองค์กรของผู้บริโภค กล่าวว่า จุดอ่อนที่แต่ละพรรคไปไม่ถึง คือการลดความเหลื่อมล้ำในระบบประกันสุขภาพ ไม่มีใครสนใจกลุ่มผู้ประกันตน ที่มีอยู่กว่า 13 ล้านคน ให้สามารถได้รับการบริการเท่าเทียมกับอีก 48 ล้านคนในหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ทั้งที่จ่ายเงินสบทบในระบบประกันสุขภาพเพียงกลุ่มเดียว ขณะที่สิทธิอื่นๆ ทั้งข้าราชการและบัตรทอง ได้รับงบประมาณจากแผ่นดินหมดเลย ไม่ว่าจะเป็นข้าราชการ ซึ่งขณะนี้อยู่ 16,000 บาทต่อหัว หรือบัตรทอง 4,000 กว่าบาท สิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องล้าหลังมาก ไม่มีใครมองในเชิงระบบเลย จะทำอย่างไรให้ผู้ประกันตนได้รับสิทธิประโยชน์เหมือนกับคนอื่น ทุกพรรคควรสนับสนุนให้โรงพยาบาลเอกชนมาอยู่ในระบบสุขภาพทั้งหมด ไม่เฉพาะแต่ผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤติ อยากเห็นการเยียวยาคนพิการ เสียชีวิตจากการไปใช้บริการ การลดความเหลื่อมทั้ง 3 ระบบ เป็นหัวใจในเรื่องระบบประกันสุขภาพ

ด้านนายสมชาย กระจ่างแสง กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ มองว่า ผิดหวังนโยบายของแต่ละพรรคที่ออกมา เพราะส่วนใหญ่เป็นเรื่องสิทธิประโยชน์ไม่ใช่นโยบาย เช่น มะเร็งรักษาทุกที่เป็นเรื่องที่ทำอยู่แล้ว อยากเห็นนโยบายที่ให้สิทธิแก่ผู้ประกันตน ซึ่งเป็นกลุ่มเดียวที่จ่ายเงินในระบบหลักประกันสุขภาพเท่าเทียมกับสิทธิกลุ่มอื่นๆ ควรรวมทุกกองทุนหลักประกันสุขภาพทุกกองทุนเป็นกองทุนเดียว เครื่องมือที่จะทำเรื่องนี้ถูกกำหนดไว้ในหลักประกันสุขภาพในมาตรา 9 10 และ 11 ให้บอร์ดสปสช.ปรึกษาหารือกับกรมบัญชีกลางและประกันสังคม เพื่อทำสิทธิประโยชน์ในมาตรฐานเดียวกันเป็นอย่างน้อย

ด้านนายธนพลธ์ ดอกแก้ว นายกสมาคมเพื่อนโรคไตแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ถ้าทำระบบสุขภาพของไทยเป็นมาตรฐานเดียวจะควบคุมค่ารักษาพยาบาลได้ การซื้อยารวมของประเทศซื้อโดยกองทุนเดียวสามารถต่อราคาได้ติดเพดาน และลดความเหลื่อมล้ำได้ชัดเจน แล้วเงินที่เหลือก็สามารถเอาไปส่งเสริมป้องกันสุขภาพ เพิ่มสิทธิใหม่ๆ และเพิ่มบุคลากรที่ขาดในหน่วยบริการนั้นๆ

“ผมยกตัวอย่างง่ายๆ ถุงทวารเทียม บัตรทองซื้อราคาหนึ่ง ประกันสังคมซื้อราคาหนึ่ง สิทธิข้าราชการซื้ออีกราคาหนึ่งทั้งที่อยู่ในโรงพยาบาลเดียวกัน หรือโรคไต ประกันสังคมและบัตรทองฟอกในราคา 1500 บาท สิทธิราชการฟอก 2000 บาท ทำไมต้องจ่ายแพงกว่า 500 บาท เพราะอะไรทั้งที่อยู่ในโรงพยาบาลเหมือนกัน บริการเหมือนกัน” นายธนพลธ์กล่าว

น.ส.ธนพร วิจันทร์ เครือข่ายแรงงานเพื่อสิทธิประชาชน กล่าวว่า หนึ่งในปัญหาสำคัญของระบบสาธารณสุขคือ การรับบริการที่ผู้รับบริการต้องใช้เวลานานแทบทั้งวัน ต้องลางาน บางคนต้องเสียรายได้ กลายเป็นมีต้นทุนมากทั้งที่ผู้ประกันตนเป็นกลุ่มเดียวที่ต้องจ่ายเงิน ขณะเดียวกันสิทธิประโยชน์ก็ต่ำกว่าสิทธิอื่นๆ  เช่น เรื่องยา มองว่าสิทธิประโยชน์ไม่ครอบคลุม และอยากเห็นการปรับวิธีคิดและโครงสร้างของกระทรวงสาธารณสุขให้ความสำคัญกับการส่งเสริมป้องกันและมทำให้ระบบหลักประกันสุขภาพเหลือระบบเดียว มีความเท่าเทียมกัน ที่สำคัญรัฐมนตรีที่เข้ามาดูแลต้องมีความรู้ด้านสุขภาพ

รศ.กฤตยา อาชวนิจกุล นักวิชาการ สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล เห็นด้วยว่าสิ่งที่แต่ละพรรคนำเสนอมาเป็นเรื่องเล็กน้อย แต่พรรคการเมืองมีหน้าที่ต้องทำเรื่องกฎหมายให้แก้ปัญหาเชิงโครงสร้างให้ได้ ศูนย์กลางชีวิตมนุษย์คือสุขภาพ และระบบสาธารณสุขที่ดีต้องสร้างความเป็นธรรมในสังคม หากประเทศไทยยังปล่อยให้มี 3 กองทุนในระยะยาว ถ้าคิดในเชิงสถิติจะเจ๊ง โดยเฉพาะกองทุนข้าราชการกลืนกินระบบเศรษฐกิจประเทศไทยโดยรวม เรื่องนี้เป็นระยะยาวที่ต้องแก้ไขให้เกิดหลักประกันสุขภาพมาตรฐานเดียว ขณะนี้มีปัญหาคือเรื่องการส่งเสริมป้องกันสุขภาพ 2 กองทุนคือประกันสังคมและข้าราชการไม่ครอบคลุม เป็นการริดรอนสิทธิทำให้เกิดความไม่เท่าเทียมกัน โดยไม่เห็นพรรคการเมืองพูดถึงเรื่องนี้เลย

รศ.กฤตยา กล่าวว่า จำเป็นต้องมีนโยบายเฉพาะ เช่น ผู้สูงอายุ ผู้หญิง และนโยบายตัดขวาง เช่น โรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NDCs) นโยบายระบบฉุกเฉิน อยู่บนคอนเซปต์ ผู้ป่วยปลอดภัย ผู้ทำงานสาธารณสุขปลอดภัยด้วย ซึ่งเป็นคอนเซปต์ใหม่ของ WHO หลังโควิด ซึ่งเห็นด้วยกับการลดเวลาการทำงานของบุคลากรทางการแพทย์ ส่วนข้อเสนอเรื่องเทเลเมดิซีนถือเป็นเรื่องที่ดี

ขณะที่ภญ.อรทัย วลีวงศ์ สำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ (IHPP) กล่าวว่า 70 % ของไทยเสียชีวิตด้วยโรคไม่ติดต่อ เป็นเหตุผลที่ต้องลงทุนด้านสุขภาพเพื่อลดผู้ป่วย แต่งบที่ใช้ในการป้องกันโรคปัจจุบัน 7% และเมื่อลงลึกจริงๆ งบส่วนนี้ยังอยู่ในระหว่างก่อนป่วย คัดกรองหรือให้วัคซีน ซึ่งสิ่งที่คาดหวังและยังไม่เห็นจากนโยบายพรรคการเมืองคือการทำสภาพแวดล้อมให้เอื้อต่อการมีสุขภาพดี เช่น ภาษีสุขภาพ ประเทศไทยมีภาษีเหล้า ภาษีน้ำตาล แต่จริงๆ ยังพัฒนาได้อีก และมาตรการทางภาษีถือเป็น 3 WIN คือลดการบริโภค ลดผลกระทบต่อสุขภาพ รัฐบาลได้เงินเอาไปใช้ในการเพิ่มคุณภาพชีวิตได้อีก โดยสามารถใช้มาตรการภาษีกับสินค้าที่มีผลต่อสุขภาพ เช่น โซเดียม ก่อนหน้านี้เคยมีการเสนอให้ทำฉลากอาหารโชว์เขียว เหลือง แดง ตามสารหวานมันเค็ม เกินกำหนดหรือไม่ แต่มีผู้เสียประโยชน์จากนโยบายนี้ ต้องท้าทายนักการเมืองว่ากล้าปกป้องสุขภาพประชาชนเหนือผลประโยชน์ของคนบางกลุ่มหรือไม่

ภญ.อรทัย กล่าวว่า สิ่งที่อยากเห็นคือการแพทย์ทางไกลซึ่งทุกพรรคมีนโยบายเรื่องนี้เหมือนกันหมด ดังนั้นอยากเห็นความชัดเจนภายใน 6 เดือน รวมทั้งนโยบายกฎหมายที่ปกป้องสุขภาพประชาชน แก้ปัญหาโครงสร้างอิทธิพลทางการค้าที่มีผลต่อสุขภาพประชาชนให้ได้ภายในหนึ่งปี

ด้านนายกฤษฎา ศุภวรรธนะกุล ตัวแทนกลุ่มผู้ป่วยซึมเศร้า กล่าวว่า เมื่อพูดถึงเรื่องป้องกันส่งเสริมไม่ใช่แค่เรื่องร่างกายเท่านั้น แต่ปัญหาสุขภาพจิตที่เกิดขึ้นเกี่ยวข้องกับสภาพแวดล้อมหลายๆ อย่าง และปัญหาที่รอการรักษาไม่ได้ ควรให้มีระบบการดูแลรักษาที่เป็นมิตร ไม่ต้องใช้เวลาหรือขั้นตอนในการรอพบแพทย์นานถึง 2-4 เดือน เพราะคนป่วยอาจรอไม่ได้ รวมทั้งต้องให้ความสำคัญกับผู้ดูแลด้วย และต้องมีระบบฟื้นฟูให้กลับสู่สังคมด้วย

นายจำรอง แพงหนองยาง รองผู้อำนวยการมูลนิธิเพื่อนพนักงานบริการ (SWING) กล่าวว่า สุขภาพคนไทยไม่ควรอยู่แค่ในมือแพทย์ แต่ควรให้ความสำคัญกับองค์กรหรือชุมชนที่สามารถให้บริการสุขภาพ เช่น กลุ่ม SWING ที่สามารถดูแลคัดกรอง ช่วยลดภาระแพทย์ได้มากโดยไม่ต้องไปแออัดอยู่ในโรงพยาบาล ถ้าจะมีนโยบายเป็นเมดิคัล ฮับ ต้องดูแลคนในประเทศให้ได้ก่อน และไม่ใช่จำกัดแค่เฉพาะคนเชื้อชาติไทย เพราะสุดท้ายแล้วคนต่างชาติที่เข้ามาทำงานก็จะส่งผลต่อสุขภาพคนไทยอยู่ดี

พญ.ศรีเวียง ไพโรจน์กุล หัวหน้าศูนย์การุณรักษ์ โรงพยาบาลศรีนครินทร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวในประเด็นผู้สูงอายุ และการดูแลผู้ป่วยประคับประคองว่า ประเทศไทยเข้าสู่ภาวะสังคมสูงวัยแล้ว ซึ่งประชากร 20 % เป็นผู้สูงอายุ ซึ่งเป็นเรื่องที่จะส่งผลต่อระบบสุขภาพต่อไป โดยเฉพาะการดูแลผู้ป่วยในระยะสุดท้ายหรือผู้ป่วยประคับประคอง

พญ.ศรีเวียง กล่าวว่า ข้อเสนอนโยบายสำหรับกลุ่มผู้สูงอายุที่เริ่มติดเตียงกับผู้ป่วยประคับประคองต้องมีหน่วยงานดูแล ต้องพัฒนาระบบให้ดูแลผู้ป่วยกลุ่มนี้ที่จะมีจำนวนเพิ่มขึ้นมาก หมอพยาบาลที่มาทำงานด้านนี้ในปัจจุบันเป็นงานฝาก ไม่มีแพทย์พยาบาลทำงานเต็มเวลาหรือมีน้อยเพราะไม่มีหน่วยงาน ไม่มีตำแหน่งที่ชัดเจน ต้องมีรูปแบบที่ชัดเจนให้ประชาชนได้เข้าถึงการดูแลแบบนี้ ที่สำคัญไม่มีใครอยากใช้เวลาสุดท้ายของชีวิตในโรงพยาบาลจะทำอย่างไรให้มีบริการที่บ้านหรือชุมชน ซึ่งสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) กำลังผลักดันให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น(อปท.)ดำเนินการ แต่ปัญหาคืองบที่สปสช.จ่ายรายหัว 6,000 บาทต่อปีไม่เพียงพอ ซึ่งควรจะนำงบประมาณของแต่ละหน่วยงานทั้ง อปท. กระทรวงมหาดไทย กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์มารวมกันเพื่อเป็นหลักประกันสุขภาพสำหรับผู้ป่วยระยะสุดท้าย

นางทัศนัย ขันตยาภรณ์ ที่ปรึกษาเครือข่าย RSA มองในประเด็นทางเลือกของผู้หญิงท้องไม่พร้อมว่า ควรเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงบริการด้านสิทธิการทำแท้งที่ปลอดภัย รวมทั้งการให้คำแนะนำปรึกษา ซึ่งปัจจุบันระบบโทรศัพท์ให้คำปรึกษาเข้าถึงยากมาก ต้องคำนึงถึงสิทธิของผู้หญิงในการพัฒนาคุณภาพชีวิตตัวเองให้สามารถเรียนจนจบ ทำงานที่มั่นคง มีความก้าวหน้าในอนาคต อยากให้พรรคการเมืองมองความสำคัญเรื่องนี้ ลูกที่โตจากแม่ที่มีคุณภาพและมีความสุข เราจะมีสังคมที่มีความสุข บางพรรคพูดถึงสวัสดิการเด็กในการเลือกตั้งปี 2562 เคยพูดจะได้ 3,000 บาทครั้งนี้เพิ่มเป็น 10,000 บาทแล้วจะเป็นจริงได้หรือ

ด้าน นพ.อานนท์ กุลธรรมานุสรณ์ จากสำนักงานพัมนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ (IHPP) กล่าวว่า มองภาพอนาคตสิ่งที่อยากได้คือระบบบริการสุขภาพที่เป็นธรรม ทั้งจำนวนเงินที่ใส่ในระบบ วิธีการจ่ายเงิน เรื่องบริการ สิทธิประโยชน์ที่เท่ากัน รูปแบบบริการที่เหมือนกัน ซึ่งในระยะสั้นต้องแก้พรบ.ประกันสังคมให้เกิดความเป็นธรรมต้องทำให้แต่ละกองทุนมีประสิทธิภาพเช่นจัดระบบปฐมภูมิสำหรับกองทุนข้าราชการ  ไม่ใช่ทุกคนวิ่งเข้าโรงพยาบาลใหญ่ และดูแลเรื่องยานอกบัญชียาหลักแห่งชาติ สำหรับนโยบายส่งเสริมสุขภาพอยากให้มองว่าอย่าทำนโยบายที่ไม่ส่งเสริมสุขภาพ เพราะสี่ปีที่ผ่านมามีพรรคการเมืองบางพรรค ทำนโยบายที่ไม่ส่งเสริมสุขภาพ

ปิดท้ายการเสวนาโดยภก.เพียรได้สรุปภาพรวมข้อเสนอของเวทีเสวนา โดยนโยบายด้านหลักประกันสุขภาพและโครงสร้างระบบสุขภาพ วงเสวนามีข้อเสนอ 6 ประเด็นประกอบด้วย การลดความเหลื่อมล้ำในระบบสุขภาพ โดยเฉพาะผู้ประกันตนในระบบประกันสังคมให้ได้สิทธิเท่ากับสิทธิประกันสุขภาพถ้วนหน้า-ข้าราชการ เรื่องการส่งเสริมป้องกันโรคยังไม่เท่ากับสิทธิอื่น การส่งเสริมให้โรงพยาบาลเอกชนเข้ามาอยู่ในระบบประกันสุขภาพ การไม่เรียกเก็บเงินเพิ่มจากการรักษาพยาบาล การบริหาร หารรอคิว การไม่ได้ค่าจ้างเมื่อลางาน การเก็บภาษีสินค้าที่ส่งผลต่อสุขภาพเช่น แอลกอฮอร์ ยาสูบ โซเดียม และการอุดหนุนราคาอาหาร-สินค้าสุขภาพให้ประชาชนเข้าถึงได้

ด้านบุคลากร มีข้อเสนอ 2 ประเด็น คือเพิ่มบุคลากรทางการแพทย์โดยเฉพาะจิตแพทย์ซึ่งปัจจุบันมีเพียง 1.3 คน ต่อประชากร 100,000 คน และการพัฒนาเครือข่ายการดูแลผู้ป่วยในชุมชน การสร้าง ผู้ดูแล( Care Giver) การพัฒนาหน่วยปฐมภูมิจากในชุมชน

ด้านสิทธิประโยชน์มีข้อเสนอ 11 ประเด็น ประกอบด้วยการเพิ่มนโยบายและงบประมาณการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค สิทธิประโยชน์สุขภาพผู้หญิงเช่นการทำ Ultrasound ขยายเรื่องการเยียวยาจากการใช้บริการทางการแพทย์ นโยบายเรื่องผู้สูงอายุ ระบบฉุกเฉินต้องไม่มีการเก็บเงินเพิ่ม และการหาเตียงหลังจากใช้บริการระบบการแพทย์ฉุกเฉินแล้ว การเพิ่มสิทธิประโยชน์โรคจากการทำงาน สิทธิประโยชน์และนโยบายที่เกี่ยวข้องกับคนพิการ สิทธิประโยชน์กับผู้ป่วยจิตเวชและนโยบายสุขภาพจิต แก้ปัญหาการรอคิวนานสำหรับการรักษาโรคซึมเศร้า การสนับสนุนผู้ดูแลผู้ป่วยจิตเวช การป้องกันผู้ป่วยจิตเวช สิทธิประโยชน์สำหรับ LGBTQ และกลุ่มอาชีพขายบริการทางเพศ (Sex Worker) การดูแลสุขภาพในระดับชุมชน การสนับสนุนงบประมาณสำหรับหน่วยบริการปฐมภูมิระดับชุมชน การดูแลประคับประคองในผู้ป่วยระยะท้าย ทั้งร่างกายและจิตใจโดยเฉพาะเรื่องคุณภาพบริการ การดูแลในชุมชนโดยผู้ป่วยไม่ต้องไปโรงพยาบาล

podcast

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า